สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันจันทร์ที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง เพื่อจะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการนะครับ ให้เข้าไปที่เฟสบุ๊ค http://www.facebook.com/HowfarBooks
๑) อยากทราบว่าวิธีอภัยและอโหสิกรรมให้คนที่เรารู้ว่าเค้าไม่ชอบเรา จะต้องทำอย่างไร?
ไม่ได้มีวิธีตายตัวนะครับ แต่ขอบอกไว้เป็นสากลเลย เป็นหลักการนะครับ ที่เราจะไม่ต้องไปมีเวร ไม่ต้องไปมีภัยอะไรกับเค้า นั่นก็คือว่า ‘ใจของเราอย่าผูกอยู่กับเค้าด้วยความรู้สึกเจ็บใจ’ เท่านั้นแหละ เนี่ยแค่เรามีปฏิกิริยาโต้ตอบกับสิ่งที่ไม่น่าชอบใจ หรือคนที่ทำไม่ดีกับเรา หรือกระทั่งคิดไม่ดีกับเรานะครับ `วิธีที่ดีที่สุด ก็คือ อย่าผูกใจไว้กับเค้า แค่ไม่ผูกใจไว้ เรียกว่าเป็นการให้อภัยแบบอ่อนๆแล้ว’ แต่ถ้าหากว่ารู้สึกเมตตา อยากให้เขามีความสุข คือเราเองต้องมีความสุขก่อนนะ ไม่งั้นมันเหมือนแกล้งอยากให้เค้ามีความสุข ถ้าหากว่าใจเรามีความปลอดโปร่ง ใจเรารู้สึกว่าไม่ได้ผูกใจเจ็บกับใคร มีความสว่าง มีความเบิกบาน มีความไม่อยากเอาเรื่องเอาราว ลักษณะแบบนั้นแหละ เป็นใจที่ไม่เดือดร้อน แล้วใจที่ไม่เดือดร้อนของมนุษย์ โดยธรรมดา โดยธรรมชาติดั้งเดิม ก็จะมีความสุขอ่อนๆ อยู่ก่อนแล้ว อยู่โดยดั้งเดิมนะครับ
ยิ่งถ้าหากว่า เรารู้สึกถึง ‘คลื่นความไม่ชอบใจ’ ที่พุ่งเข้ามาปะทะเรา เวลาที่เค้าเจอหน้าเราแล้วมันมีอะไรดำๆ มันมีอะไรทึบๆ หนักๆ เข้ามาอัด บางคนเนี่ยนะ ถ้ามีความไม่ชอบขั้นรุนแรงถึงขั้นเกลียด เราจะรู้สึกได้เลยถึงแรงอัด เกิดความรู้สึกอึดอัด มันเกิดความรู้สึกเหมือนกับว่าจิตสว่างอยู่ดีๆ มันมืดหม่นลง โลกดูหม่นหมองลง ที่เคยหูตากว้างขวาง มันกลายเป็นดูโลกมันคับแคบลงถนัดตา อะไรแบบนี้เนี่ยเป็นสิ่งที่ทุกคนสัมผัสกันได้ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่ว่าถ้าสัมผัสบ่อยเกินไป มันชวนให้นึกว่าโลกมันเป็นแบบนี้เป็นปกติ แต่จริงๆไม่ใช่ ถ้าหากว่าเราสามารถที่จะเอาใจออกห่างจากโลกแห่งความเกลียด หรือเขตแห่งความมืดอันเกิดจากจิตมนุษย์ที่มันมีความชิงชังกัน เราสามารถที่จะถอนใจออกมาจากวงจรแห่งภัยเวร เราก็จะรู้สึกเหมือนกับว่า เรามีโลกอีกโลกหนึ่ง อยู่ในโลกอีกใบนึง แตกต่างไปจากเดิม ไม่มีความมืด ไม่มีความทึบ ไม่มีความคับแคบ จิตใจเนี่ยกว้างขวางอยู่ตลอด เห็นอะไรแล้วรู้สึกสว่างอยู่ตลอด ต่อให้กำลังโพล้เพล้อยู่ แต่เกิดความรู้สึกเหมือนกับโลกนี้สว่าง
บางคนชอบพรรณนานะครับว่า เวลาที่มีเธอ เวลาที่มีความรัก เวลาที่มีความสุขเนี่ย โลกมันเหมือนสว่างสดใส อันนั้นไม่ใช่ว่าโลกสว่างขึ้น ไม่ใช่พระอาทิตย์ฉายแสงแรงขึ้นนะครับ แต่ว่าเป็นเพราะจิตใจของเราสว่างออกมาจากข้างใน ลองดูเถอะ ถ้าหากว่าคุณเคยมีประสบการณ์นั้น หลงไปอยู่กับพวกที่ชอบด่าไปวันๆ หรือว่าชอบจ้องจับผิดไปวันๆ มันจะมีความรู้สึกเหมือนกับโลกทั้งใบ คล้ายๆกับระอุอยู่หรือว่ามีความคุกรุ่นอยู่ด้วยไอมืด ไอร้อนอะไรบางอย่าง ราวกับว่าภูเขาไฟจะระเบิดขึ้นมาได้ทุกที่ แต่ถ้าหากเมื่อไหร่ที่ใจของเราเนี่ย เข้ามาอยู่ในเขตความสงบ อยู่ในเขตความสว่างแห่งการเมตตากัน แห่งการไม่ถือสาเอาความกัน โลกต่างไปทันที มันจะมีความรู้สึกว่า ในแต่ละวันเกิดความรู้สึกดีๆกับผู้คน แม้กระทั่งว่าเขาจะรู้สึกไม่ดีกับเรา คิดไม่ดีกับเรา เรามีแก่ใจที่จะอยากให้เขามีความสุขมากกว่าเดิมได้ นี่แหละ ตรงนี้แหละที่เมตตามันเอ่อออกมา
เอาละ สรุปก็คือ วิธีอภัย วิธีอโหสิกรรมเนี่ย มันไม่ได้มีการผูกขาดหรอกว่า วิธีใดวิธีหนึ่งจะต้องเอาไปใช้กับคนที่เค้าไม่ชอบเรา แต่มาลงที่ใจตัวเองเถอะ มาเอาที่ใจตัวเองเถอะ ถ้าหากว่ารู้ตัวว่ายังมีความผูกใจ ยังมีความขุ่นใจ ยังมีความรู้สึกว่า มีคิดเล็กคิดน้อยได้กับใครได้ อันนั้น ตรงนั้นน่ะให้จัดการซะนะครับ วิธีจัดการก็ง่ายๆเลย ถ้าหากรู้ตัวขึ้นมาว่ามีความขุ่นเคือง มีความข้องใจ มีความรู้สึกคาใจอยู่กับใคร อันนั้นล่ะให้รู้ว่า หน้าตาของอาการผูกใจมันเป็นอย่างนั้น ผูกใจเนี่ย มันมีตั้งแต่ผูกใจเฉยๆ ในลักษณะคาใจธรรมดา กับผูกใจแล้วเจ็บด้วย คือคำว่า ‘ผูกใจเจ็บ’ นี่ คนที่คิดใช้ขึ้นมาเนี่ย เค้าเห็นอาการทางใจ มันไปผูก มันไปโยงกับใจอื่น แล้วอาการนั้นเนี่ย มันผูกแบบควั่นเกลียว มันผูกแล้วทำให้หน้าอกหน้าใจเรามันคันขยิกนะครับ มันเกิดอาการที่ทุรนทุราย มันเกิดอาการที่ แหม อยากจะเข้าไปทำอะไรซักอย่างนึงกับใบหน้าของเค้า ส่วนใหญ่ถ้าผู้หญิงก็จะเป็นอาการมันเขี้ยว ผู้ชายก็อยากต่อย อยากอะไรแบบนี้ ผู้หญิงก็อาจจะอยากตบอยากตีอะไรก็ว่ากันไป ลักษณะที่ใจของเราผูกอยู่กับใบหน้าของเขามากๆ แล้วอยากไปทำอะไรซักอย่างให้ใบหน้าของเขามันยับเยิน ตัวนี้แหละที่เค้าเรียกว่าผูกใจเจ็บแล้ว มันอยากให้เจ็บไง มันอยากให้ฝ่ายเค้าเกิดความปวดแสบ ปวดร้อน แต่หารู้ไม่ว่าอาการอยากให้เขาปวดแสบปวดร้อนนั่น ใจของเราเนี่ย เริ่มก่อนแล้ว ปวดแสบปวดร้อน มันเริ่มมาจากอาการปวดแสบปวดร้อนของเรานั่นแหละ มันเริ่มมาจากอาการทำร้ายตัวเองนั่นแหละ เอาจิตเอาใจของเราไปผูกกับคนอื่น แล้วตัวเราเองเป็นทุกข์ไม่มีความสุข นั่นแหละก็เลยเหมือนกับมีแรงผลักดันอยากจะไปทำให้เค้าปวดแสบปวดร้อนบ้าง นี่ตัวนี้แหละ เรียกว่า การผูกใจเจ็บ ถ้าหากถอนออกมาจากอาการผูกใจไว้ได้ เท่านี้เองนะครับ เรียกว่าเป็นการอภัย เป็นการอโหสิแล้วโดยพฤตินัยของจิต
แต่ถ้าหากว่ามือใหม่ ก็มือใหม่หัดอโหสิเนี่ยนะ ก็มักจะมีเป็นคำพูด ท่องหรือเปล่งเป็นวาจาว่า ‘อโหสิให้ เอาละ ยกโทษให้’ หรือว่ามีคำแนะนำให้ไปสวด ‘สัพเพ สัตตา’ แล้วแผ่เมตตาให้ศัตรูซะ จริงๆ แล้วเนี่ย มันเป็นแค่คำพูดนะ ส่วนใหญ่ ใจมันไม่เอาด้วย ใจมันไม่ไปตามคำ จริงๆคำว่า ‘อโหสิ’ เนี่ยไม่ได้แปลว่ายกโทษนะครับ ‘อโหสิ คือ หมายถึงว่า การหมดการให้ผลของกรรม’ ซึ่งไทยเราเอามาใช้ในความหมายที่ว่าเลิกแล้วต่อกันนะครับ
๒) เคยได้ยินมาว่า ถ้าพระสงฆ์ขออะไร แล้วเราไม่ให้ ถึงเวลาให้ผล หมายถึงว่ากรรมที่ไม่ให้ตามพระขอ เกิดเผล็ดผลขึ้นมา ก็จะทำกิจการอะไรไม่ค่อยรุ่งเรือง คำถามคือ ถ้าพระสงฆ์ขอให้เราปลูกต้นไม้ แต่เรามีปัญหาเรื่องหลังและเข่า ไม่สามารถนั่งยองๆได้ และไม่มีเก้าอี้ให้นั่ง ถ้าเราปฏิเสธจะมีผลกรรมอะไรไหม?
ลักษณะที่ท่านขอ ถ้าหากว่าเอาตามแบบที่มีบันทึกในพระคัมภีร์เลย อย่างถ้าสมมุติว่าท่านเห็นว่าเรากำลังหุงหาอาหารอยู่ แล้วท่านโคจรบิณฑบาตมา ในยุคพุทธกาลเนี่ย มาหยุดยืนหน้าบ้านเพื่อที่จะขอภิกขาจาร ด้วยความหวังว่าญาติโยมมีศรัทธาในพุทธศาสนา แล้วจะเห็นค่าของพระภิกษุสงฆ์ผู้สืบทอดพระศาสนา แล้วจะได้เอาข้าวมาเลี้ยง อะไรแบบนี้เนี่ย แล้วเราเห็นเข้าก็ไล่ให้ไปพ้นๆ คือเกิดความรู้สึกหงุดหงิดรำคาญ ชั้นจะทำกินของชั้นเอง นิมนต์ไปป้ายหน้าเถอะ อะไรแบบนั้น นี่ตรงนี้ ผลที่ออกมาตามที่พระคัมภีร์ว่าไว้ก็คือ ทำให้เป็นผู้ที่อยากได้อะไร แล้วไม่ได้อย่างใจ คือ ‘ไม่ให้สิ่งที่ควรให้กับผู้ที่ควรได้รับ’ นะครับ อย่างพระสงฆ์เนี่ยเค้าเรียกว่าเป็น ‘นาบุญ’ คือเป็นผู้ที่ทำกิจที่มีความสว่างไสว แล้วก็ถ้าหากว่าให้กำลังแก่ท่าน ให้ท่านไปสืบทอดความดี ความสว่าง ความงามของพระศาสนาเนี่ย ก็จะเป็นคุณใหญ่กับโลก และเราอยู่ในขอบข่ายที่จะทำได้ ณ เวลานั้นแล้ว ท่านมาขอแล้ว แต่เรากลับปฏิเสธ กลับบ่ายเบี่ยง ทั้งๆที่เรากำลังทำครัวอยู่ กำลังมีอาหารอยู่ในมือนั่นน่ะ ท่านได้กลิ่นออกมาจากครัว เรากำลังทำอยู่ชัดๆ แต่เรากลับนิมนต์ท่านให้ไปป้ายหน้าซะ อย่างนี้ก็ได้ผลเป็นการที่ไม่ได้ในสิ่งที่อยากจะได้นะครับ ก็อันนั้นเป็นสิ่งที่มีมาในพระคัมภีร์
ที่นี้ ถ้าอย่างกรณีอื่น เวลาพระสงฆ์ขอ ถ้าท่านขอในสิ่งที่ไม่ควรจะขอ แล้วเราพิจารณาว่า นี่ไม่ใช่สิ่งที่เป็นประโยชน์อะไรกับพระศาสนา ไม่ใช่เป็นเรื่องของสงฆ์โดยรวม แต่เป็นเหตุผลส่วนตัว อยากได้นั่น อยากได้นี่ ซึ่งพระพุทธเจ้าเนี่ยท่านเคยตรัสไว้เลย ผิดวินัยนะถ้าหากว่าญาติโยมไม่ได้ปวารณาตัวไว้ว่าจะให้ ว่าขออะไรแล้วจะสนองตอบตามประสงค์นี่ แล้วอยู่ๆ ไปขอเอาดื้อๆนี่ ผิดพระวินัยนะครับ ผลเนี่ยมันไม่เท่าไหร่หรอก ก็คือเหมือนกับเป็นคนขอกันส่วนตัวเนี่ย เรื่องส่วนตัวแบบโลกๆ เนี่ย ขอไอ้นั่นหน่อย ขอไอ้นี่หน่อย แล้วเราไม่พร้อมที่จะให้ หรือว่าเราไม่สะดวกใจที่จะให้ ก็ไม่เป็นไร มันไม่ได้มีผลมากมายอะไร
อย่างกรณีที่เรามีปัญหาเรื่องหลังกับเรื่องเข่าเนี่ย เราก็บอกท่านไปตามตรงเลย ว่าเรามีปัญหาเรื่องนี้อยู่ ไม่สะดวกที่จะทำให้ อย่าไปเกรงใจ คือบางทีเนี่ยคนไทยนะครับ คนที่ไม่เชื่อ ไม่นับถือพระสงฆ์องค์เจ้าเนี่ย ก็เข้าขั้นไม่ชอบไปเลย หันหลังให้ไปเลย หรือว่าทำเชิดใส่ไปเลย หรือมีปฏิกิริยาทางใจไม่ดี เป็นอคติกับพระสงฆ์องค์เจ้าไปเลย ส่วนคนที่เชื่อก็เชื่อมากเกินไป เหมือนกับว่าท่านทำอะไรต้องเห็นดีเห็นงามตามไปหมด อะไรแบบนั้น เอาที่ตรงกลางก็แล้วกัน ก็คือว่า พระสงฆ์บางทีท่านก็เป็นสมมุติสงฆ์ ต่อให้ท่านปฏิบัติธรรมขั้นไหนก็แล้วแต่ เป็นพระดีปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบด้วยเนี่ย บางทีก็ไม่ใช่ว่าจะมีความคิดที่ถูกต้องเสมอไปนะครับ ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าท่านก็ได้อนุญาตแล้วก็สนับสนุนญาติโยมที่มาฟ้องด้วย ว่าพระสงฆ์ทำอย่างนั้น พระสงฆ์ทำอย่างนี้ ไม่เหมาะกับสมณสารูปเลย พระพุทธเจ้าพอได้ยินคำฟ้องจากญาติโยมเนี่ย ถ้าเห็นว่าเป็นที่ติฉินนินทาของฆราวาสหรือที่เรียกว่า ‘โลกวัชชะ’ จริงๆเนี่ย ท่านบัญญัติวินัยเดี๋ยวนั้นเลย ต่อให้เป็นพระอรหันต์นะครับ
อย่างเคยมีกรณีที่พระอรหันต์ท่านไปเทศนาธรรมกับเหล่าภิกษุณีจนกระทั่งโพล้เพล้ ชาวเมืองเห็น เอ๊ะ นี่ออกมาจากสำนักของภิกษุณี เวลานี้มันล่วงเย็นเข้าไปแล้วนี่ ก็รู้สึกไม่ดีกัน ก็ไปทูลพระพุทธเจ้าบอกว่า โอ เห็นแบบนี้แล้วรู้สึกไม่ค่อยดีเลย พระพุทธเจ้าตรัสตำหนิทันทีเลยนะครับ ว่าแบบนี้เป็นสิ่งที่ชาวโลกเค้าติเตียน แล้วท่านก็บัญญัติห้ามทันทีว่า ห้ามไม่ให้ภิกษุ แม้แต่จะเข้าไปหรือออกมาจากสถานที่ที่มีภิกษุณีอยู่ ต่อให้เป็นการไปเทศนาธรรมก็ไม่มีการยกเว้น ห้ามเด็ดขาด
ก็สรุปว่า ไม่ใช่พระสงฆ์ขออะไรเราต้องให้หมด ไม่ใช่อย่างนั้น แล้วอย่าไปกลัวบาปกลัวกรรมว่า อุ๊ย เดี๋ยวจะทำให้เราไม่ได้รับอะไรที่ควรจะได้ มันไม่ใช่อย่างนั้นนะครับ เราให้ในสิ่งที่สมควรจะให้ แล้วปวารณาตัวต่อผู้ที่เราเห็นแล้วว่าท่านปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เราเห็นแล้วว่าใจของเราลงให้ท่าน ยอมรับท่าน คือแม้แต่ผมเอง พระขออะไร ไม่ใช่ว่าให้หมดนะครับ อย่างบางทีมาขอในสิ่งที่เรารู้เลยว่า นี่มันกิเลสส่วนตัวนะ ไม่ใช่จะเป็นประโยชน์แก่วงการสงฆ์ หรือแม้แต่ตัวท่านเอง อะไรแบบนี้ ผมก็ปฏิเสธ ปฏิเสธด้วยอาการนิ่งไปเฉยๆ นั่นแหละ แต่ถ้ารูปไหนบางทีถ้าไม่ได้ขอ แต่เรารู้สึกว่าอยากทำให้ท่านเนี่ย เต็มที่เลย ก็ปวารณาตัว ถ้าปวารณาตัวแล้วท่านขอขึ้นมา นี่แหละที่จะมีผล พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้กับพระอานนท์ว่า พ่อค้าแม่ขายที่ค้าขายของได้กำไรเนี่ย เพราะว่าในอดีตเคยไปปวารณาตัวไว้ กล่าวเหมือนกับอนุญาตให้ท่านขอ พอท่านขอขึ้นมาก็จัดให้ตามประสงค์ของท่านทุกประการครบถ้วน พวกนี้จะค้าของได้กำไรตามใจนึก คือ คาดเก็งเอาไว้ว่าจะได้กำไรซัก ๕๐ เปอร์เซ็นต์ มันก็จะได้ประมาณนั้น หย่อนไปก็ ๔๐ สูงกว่านั้นก็ ๖๐ ๗๐ อะไรประมาณนั้นนะครับ แต่ถ้าท่านขอ ๑ เราให้ ๒ ท่านขอ ๒ เราให้ ๑๐ อะไรแบบนี้นะครับ ก็จะมีผลเป็นว่า เก็งกำไรไว้ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ มันได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เก็งกำไรไว้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ มันได้ ๑,๐๐๐ เปอร์เซ็นต์ นี่คือที่ท่านตรัสไว้ ส่วนประเภทที่ไปปวารณาตัวไว้ แล้วพอถึงเวลาท่านขอขึ้นมา เราไม่เอาไปให้ อย่างนี้ก็จะไม่ได้กำไรตามประสงค์หรือว่าขาดทุนไปเลยนะครับ
ก็เอาเป็นคร่าวๆ ว่าอย่าไปกลัวบาปกลัวกรรมเสมอไป ประเภทที่ท่านขออะไรแล้วต้องให้ทุกอย่าง มันมีหลักการพิจารณาคร่าวๆนะครับ หนึ่ง คือ พิจารณาแล้วว่าควรให้ สอง คือ เราไปปวารณาตัวไว้ก่อนหรือเปล่า สองตัวนี้เป็นจุดหลักที่สำคัญนะครับ
๓) จะรับมืออย่างไรกับคนอวดเก่ง ประมาณว่าเป็นคนดีแต่พูด คือเอาแต่พูดแต่ทำไม่ได้เลย ควรจัดการตนเองอย่างไร?
อันนี้จะออกแนวถ้าเรารู้ว่าปฏิกิริยาทางใจของเราออกแนวไหน ก็ให้จัดการกับปฏิกิริยาที่แนวนั้นแหละ พวกที่อวดเก่ง อวดดี มักจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางใจของเราเป็นความรู้สึกหมั่นไส้ เป็นความรู้สึก แหม มันทำตัวน่าเกลียดจริงๆ มันทำตัวเหมือนกับพูดจาโอ้อวด พูดจาโอหัง แต่เราลองย้อนคิดดู อาการที่พูดอะไรเกินตัวนี่ ทุกคนเหมือนกับได้เคยทำมาบ้าง อย่างน้อยก็ครั้งสองครั้งในชีวิต อย่างพวกที่มีนิสัยไม่อวดตัว ไม่มีความรู้สึกอะไรเว่อร์ๆ เกี่ยวกับภาพลักษณ์ของตัวเองเนี่ยนะ ก็จะน้อยหน่อย คือไม่ใช่ไม่มีเลยนะ บางคนต่อให้อ่อนน้อมถ่อมตน ก็มีอารมณ์หลงตัวขึ้นมา ก็มีอารมณ์อยากยกตนขึ้นมา เราก็นึกถึงว่า เออ ถ้าเรามี เค้าก็มีได้เหมือนกัน กระทั่งว่าเราอ่อนน้อมถ่อมตนแล้ว เราก็ยังมีอารมณ์เป็นวูบๆขึ้นมา มันเห็นเข้าไปในใจเขาใจเรา ในกิเลสของมนุษย์ ความเป็นคนธรรมดาคนนึงเนี่ย มันมีกิเลสเหมือนกันได้หมดนั่นแหละ รากเหง้าของความมีกิเลสชนิดที่จะมองตัวเอง ตีค่าตัวเองสูงเกินจริงเนี่ย ก็มาจากเรื่องของอัตตามานะ เรื่องของมโนภาพในใจ ว่าเงาของตัวเองสูงอย่างนั้นสูงอย่างนี้ มีความน่านับถือ น่าเลื่อมใส หรือว่ามีความเป็นที่น่านิยมชมชื่นของใครต่อใคร ถ้าคนอื่นไม่แสดงความนิยมชมชื่น ก็อาจจะออกมาในรูปของการพูดจาโอ้อวดไว้ก่อน ทำได้หรือทำไม่ได้ไม่รู้ล่ะ แต่ขอคุยไว้ก่อน ขอโม้ไว้ก่อน
ถ้าหากว่าเราเล็งเห็นเข้าไปในอาการ ซึ่งเป็นกลไกธรรมดาของจิตมนุษย์ที่มีอัตตามานะ ที่มีความอยากได้ความสำคัญ อยากได้การยอมรับนับถือจากคนอื่น ก็ให้มองว่าแต่ละคนเนี่ย สะสมอัตตามานะชนิดนี้เข้มข้นแตกต่างกัน และก็จะได้รับผลบนเส้นทางที่ไม่เหมือนกัน ตามแต่ดีกรีของการหลงตัวนั่นแหละนะครับ ยิ่งหลงตัวมากเท่าไหร่ เราดูเข้าไปนะ เค้าจะยิ่งตัวเล็กลงมากเท่านั้น ลองมองดูซิ คนที่มีอาการโป้งป้าง มีอาการคุยโต เราจะรู้สึกว่าเค้าตัวเล็กกว่าความเป็นจริง มันเหมือนกับอะไรตลกๆ น่ะนึกออกไหม ต่อให้เป็นคนรูปร่างสูงใหญ่นะ แต่ถ้าคุยโม้โอ้อวด มันจะดูเหมือนตอนพูดดูตลกๆยังไงชอบกล เป็นเพราะเรารู้สึกถึงความขัดแย้ง ตัวตนภายในของเขามันเล็กลง มันมีลักษณะที่ไม่สมตัว ไม่ได้ใหญ่ตามคำพูด ถึงแม้ว่ารูปร่างสูงใหญ่ มันก็สูงใหญ่แต่ภายนอก มันเลยดูขัดแย้งกัน กลายเป็นความตลก อะไรก็แล้วแต่ที่มันขัดแย้งกัน มันจะดูตลกเสมอ
ถ้าหากว่าเรามองว่าสิ่งที่เค้าทำอยู่มันสร้างความตลกให้ตัวเอง มันสร้างความต่ำต้อยให้ตัวเค้าเองเนี่ย เราก็จะเกิดความเมตตา เราก็จะเกิดความรู้สึกว่า เออ ไม่อยากให้เค้าทำอย่างนี้ แทนที่จะเกิดความหมั่นไส้ มันกลายไปเป็นความรู้สึกเมตตาแทน หรือบางทีกลายเป็นความรู้สึกสงสาร ไม่ใช่ความสงสารในลักษณะเจอด้วยความสมเพทนะครับ แต่เป็นความสงสารที่ไม่อยากให้เค้าเป็นแบบนั้น แล้วใจของเราก็จะมีความเย็นกระจายออกมาให้เค้ารู้สึกได้ ว่า เออ คนนี้เค้ามองเรานิ่งๆ มองเราเย็นๆนะ แล้ววันนึงก็จะเกิดความเข้าใจเราขึ้นมา ที่เราเย็นนี่เราเย็นเพราะความเข้าใจ เย็นเพราะความเห็นใจ เย็นด้วยความรู้สึกในด้านดี ว่าไม่อยากให้เค้าเป็นอย่างนี้ ในที่สุด ความเย็นอันประกอบด้วยความเข้าใจของเรา มันก็อาจจะไปกระตุ้นความเข้าใจของเขา หรือว่าทำให้อัตตาของเขาเบาบางลงได้ นี่แหละตัวนี้แหละที่เราควรให้เป็นปฏิกิริยาโต้ตอบกับผู้ที่มีความหลงตัวมากๆนะครับ
๔) ผมนั่งสมาธิมาระยะหนึ่งแล้ว ไปดูหนังตลกแล้วรู้สึกตลกเลย เพราะอะไรครับ? และจะแก้อย่างไรดี?
ก็ไม่แน่นะ หนังมันอาจจะไม่ตลกก็ได้ ไม่ใช่ว่าการนั่งสมาธิแล้วมันจะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป คือบางทีถ้าอารมณ์ของเรามันกำลังนิ่งอยู่ ก็เลยไม่รับสัมผัสเต็มที่ เพราะว่าพวกที่นั่งสมาธิ โดยเฉพาะช่วงใหม่ๆที่สมาธิยัง ไม่ได้อิ่มตัว ไม่ได้ตกผลึกเต็มที่ บางทีมันมีความรู้สึกเป็นอุเบกขาติดออกมาเยอะ มันมีความรู้สึกเหมือนใจนี่มันอยู่ออกห่างมาจากโลก มันเหมือนกับสัมผัสอะไรที่มาจากโลก มันเข้าไม่ถึงจิตถึงใจ พูดง่ายๆว่า ความสนุกที่เคยถึงใจ มันไม่ถึงซะแล้ว มันมีความรู้สึกราวกับว่ามีอะไรไปกั้นไว้ มีแรงสะท้อนกลับที่ทำให้รู้สึกว่าจิตใจมันเย็นชา แต่พอทำสมาธิไปถึงจุดหนึ่งที่การรับรู้มันเป็นไปตามปกติ ความรู้สึกเป็นอุเบกขา มันอาจจะอยู่ตรงแก่นกลางของใจอยู่ แต่ว่าการปรุงแต่งที่มันรับรู้ทางหูทางตา มันเป็นเหมือนคนปกติ เหมือนคนทั่วไป ยังหัวเราะได้ โดนอะไรบางอย่าง คำพูดบางคำ หรือว่าท่าทีตลกๆของบางคน มากระตุ้นต่อมฮาได้ มาทำให้เราหัวเราะก๊ากๆได้ แต่ใจมันพร้อมที่จะหยุด เบรกเอี๊ยดแบบนั้น แต่มันเหมือนกับว่าข้างในของเรามีความนิ่งความว่าง มีความเป็นอุเบกขา และความนิ่งความว่างนั้นไม่ได้ถูกทำให้สะเทือน ถ้าหากว่านั่งสมาธิเดี๋ยวก็รู้เองแหละ ถ้าใจของเรา ใจมันจะไม่ไปเกาะกับความเป็นอุเบกขา ความเป็นอุเบกขาจะเป็นหลักตั้ง เป็นหลักตั้งของสติ เป็นฐานของสติ แต่ไม่ใช่อะไรทั้งหมดที่จิตเข้าไปเกาะ ออกมารับรู้เรื่องราวทางหูทางตา เหมือนคนปกติในโลกทุกอย่าง เพียงแต่ว่าสิ่งที่มากระทบแล้วก่อให้เกิดการปรุงแต่งของจิต มันจะเกิดขึ้นเป็นคราวๆ เนื่องจากว่า ถ้าเรามีมุมมองที่ถูกต้องว่า ปฏิกิริยาทางใจจะต้องเกิดขึ้นเมื่อหูกระทบเสียง โดยเสียงเข้ากระทบ หรือว่าตาโดนรูปเข้ากระทบ มันต้องเป็นปฏิกิริยาอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เป็นชอบบ้างเป็นชังบ้าง ถ้าเราไม่สังเกต ใจเราก็จะไปเกาะอยู่กับอารมณ์สมาธิ อารมณ์ที่มันเป็นอุเบกขา แต่ถ้าหากสังเกตแล้ว มีการเสพผัสสะอย่างจังๆ มันก็จะรับรู้เหมือนคนในโลกทุกอย่างเลย มันก็ทำให้เกิดสัญญา จำได้ว่าลักษณะแบบนี้มันผิดปกติ น่าขำ แล้วก็จะเกิดอาการหัวเราะ ไม่แตกต่างจากชาวบ้านเขา เพียงแต่ว่า ลักษณะการขำขันนั้น มันจะไม่มั่วหรือว่าทำให้จิตใจยุ่งเหยิง ทำให้จิตใจเกิดความฟุ้งซ่าน เกิดตวามคิดทะลึ่งลามก อะไรต่อมิอะไรต่างๆ ที่ถูกยั่วยวน ที่ถูกยั่วยุทั้งจากภาพและเสียง
คิดว่าคืนนี้ก็คงจะได้เวลาอันสมควรนะครับ ก็ขอกล่าวคำว่าราตรีสวัสดิ์ ณ ที่ตรงนี้ แล้วก็ขอให้เจริญในธรรมด้วยกันทุกท่านนะครับ
« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น