สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันจันทร์ที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง
วันนี้เราใช้สไกป์ (Skype) กัน คุณสามารถแอดผมในสไกป์ หาชื่อ ‘Dungtrin’ นะครับ ถ้าเห็นผมออนไลน์ไฟเขียวเมื่อไร ก็สามารถวอยซ์คอลกันเข้ามาได้ ผมจะรอรับสายแรกด้วยการออนไลน์เลยนะครับ
๑) ก่อนไปทำบุญ ขณะทำบุญ และหลังทำบุญ ควรจะคิดอย่างไรให้เกิดความศรัทธาและรักษาความศรัทธาได้นานๆ?
คำถามคือ ก่อนทำบุญ ขณะทำบุญ และหลังทำบุญ ควรจะทำใจไว้อย่างไร ควรจะคิดอย่างไร เพื่อที่จะให้เกิดศรัทธา เกิดปีตินั่นเอง เพราะหลายคนบอกว่า พอทำบุญไปเรื่อยๆแล้ว ปรากฏว่าปีติหายไปไหนก็ไม่ทราบ เหมือนกับมีความเคยชิน เหมือนกับความรู้สึกชื่นใจที่ได้ทำบุญหายไปเฉยๆ
คำตอบง่ายๆก็คือว่า วิธีที่เราจะคิด วิธีที่เราจะไปทำบุญ อย่าไปทำตามความเคยชิน จริงๆแล้วถ้าเราไปทำอย่างสม่ำเสมอดีนะ เพราะว่าเป็นการสร้างความแข็งแรง สร้างความตั้งมั่นให้กับการทำทาน การไปวัด การไปทำบุญกับพระสงฆ์องค์เจ้าอย่างสม่ำเสมอ เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าสรรเสริญ แต่เราไม่ต้องกะเกณฑ์ตัวเองว่าจะต้องไปเมื่อนั่นเมื่อนี่แน่ๆก็ได้ ทำอย่างที่เหมือนกับที่มีความรู้สึกขึ้นมาว่า อยากทำบุญ
ตัวอยากทำบุญนี่แหละที่ทำให้เกิดปีติ ตัวอยากที่จะให้ ตัวอยากที่สงเคราะห์ ถ้าตัดคำว่าอยากทำบุญทิ้งไป อยากได้บุญทิ้งไป เหลือแต่ความรู้สึกอยากอนุเคราะห์ อยากให้พระสงฆ์องค์เจ้ามีของใช้ มีปัจจัยสี่ เพื่อที่จะสืบทอดพระศาสนา เพื่อที่จะปฏิบัติธรรมถวายเป็นพุทธบูชา เพื่อทำกิจของสงฆ์ให้ลุล่วงตามที่ตกลงกับพระพุทธเจ้าไว้ว่า เราบวชเข้ามาเพื่อที่จะทำมรรคผลนิพพานให้แจ้ง
ถ้าหากว่าใจเรารู้สึกอยากให้ อยากถวาย อยากทำ อยากอนุเคราะห์พระสงฆ์ ด้วยความรู้สึกออกมาจากแก่นของใจแล้วจริงๆ จะเกิดปีติเสมอ ปีติที่อยากทำแล้วได้ทำ เป็นสิ่งที่เรียกว่าใจมีทานจิต มีลักษณะของทานจิตครบวงจร อยากให้แล้วก็ได้ให้ สมใจอยาก เหมือนกับคนที่คาดหวังว่าจะได้รับอะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วได้รับตามความคาดหมาย ก็เกิดความสมใจ เกิดความดีใจ อันนี้เป็นในทางกลับขั้วกัน คือเราเกิดความอยากให้นำขึ้นมาก่อนแล้วก็ได้ให้สมใจ นั่นแหละจะเกิดปีติ จะเกิดความรู้สึกที่ดีขึ้นมา
อีกทางหนึ่งคือ พยายามทำบุญให้หลากหลาย บางคนทำรูปแบบเดิมซ้ำๆกัน มีข้อดีเหมือนกันคือ ทำให้บุญประเภทนั้นๆ หรือทานประเภทนั้นๆ มีความตั้งมั่น มีความสม่ำเสมอ มีความแน่นอน เวลาที่กรรมเผล็ดผลก็จะเผล็ดผลแน่นอน มีสิ่งอื่นที่เข้ามากีดขวางหรือเข้ามาขัดขวางผลของบุญได้ยาก แต่ใจของเรา ณ ขณะปัจจุบันที่ได้ทำบุญ จะเกิดความรู้สึกเฉยๆ จะเกิดความรู้สึกชินๆ ซึ่งเป็นธรรมชาติของจิต ทำอะไรบ่อยๆ ทำอะไรทุกวัน ทำอะไรซ้ำๆ โดยที่ไม่ได้เกิดความรู้สึกยินดีตั้งแต่ต้นว่าอยากให้ ในที่สุดก็เกิดความรู้สึกเฉยๆ เป็นธรรมดาขึ้นมา
แต่ถ้าหากเราสลับขาหลอกกิเลสมัน สลับลักษณะของการทำบุญให้ครบวงจร เช่น แทนที่จะไปวัดอย่างเดียว ลองไปสถานสงเคราะห์คนอนาถาดูบ้าง ลองไปที่สถานสงเคราะห์เด็กอนาถาไม่มีพ่อไม่มีแม่ เด็กกำพร้า แล้วก็คนชราที่ลูกเต้าไม่เลี้ยงดูไม่เหลียวแล เราไปเหลียวแลแทน เราไปทำให้เด็กดีใจ ไปทำให้คนแก่มีกำลังใจ
การที่เราได้ทำบุญหลากหลาย การที่เราได้ทำบุญแบบครบวงจร ไม่ใช่ให้เฉพาะพระ ให้คนธรรมดาด้วย แล้วก็ให้สัตว์ด้วย ให้เศษอาหารกับหมาแมวข้างทาง แค่นี้มีผลมากนะ เพราะว่าเราทานเสร็จบางทีก็จะเกิดความรู้สึกเสียดายของในจาน บางทีมันน่าจะให้หมาแมว แล้วเกิดความรู้สึกว่า น่าจะนำไปให้หมาแมวสักตัวหนึ่งที่อยู่ระหว่างทางแบบไม่เจาะจง แค่คิดอย่างนี้มันรู้สึกดีแล้ว พอได้ให้จริงๆ มันรู้สึกอิ่มใจ รู้สึกปลื้ม มันเริ่มต้นขึ้นมาจากความอยากให้ ไม่จำกัดว่าจะต้องถวายพระเท่านั้น แม้แต่ให้ของสัตว์ก็ได้ความรู้สึกที่ดีมากแล้ว
พระพุทธเจ้าก็ยืนยันนะว่า บุญแม้กระทั่งด้วยการให้สัตว์เดรัจฉาน ถือเป็นบุญใหญ่ ถือเป็นทวีคูณ ให้เศษกระดูกนั้นเราได้คืนมาเป็นไก่ทั้งตัว นี่คิดแบบเทียบง่ายๆ เป็นอัตราส่วนที่ให้เห็นภาพ นอกจากนั้นเราอาจจะไปปล่อยนกปล่อยปลา ปล่อยสัตว์ที่กำลังจะถูกฆ่า ลองทำบุญให้ครบวงจรดู แล้วเวียนกลับมาทำบุญกับพระอีกที เราจะเกิดความรู้สึกชัดเจนขึ้นมาว่า ทำบุญกับพระเป็นบุญระดับสูงนะ คนที่ได้รับ ผู้ที่ได้รับมีจิตวิญญาณที่สูงส่งกว่าเด็กอนาถาหรือว่าคนชรา หรือว่าคนธรรมดาทั่วไป เพราะว่าพระมีศีล รักษาศีล ๒๒๗ ข้อ มีการปฏิบัติธรรม เจริญสติ ซึ่งเป็นบุญขั้นสูงสุดในพุทธศาสนา
ปกติเวลาเราไปทำบุญกับพระโดยตรง ก็จะรู้สึกว่าได้ทำบุญใหญ่ ได้มีความอิ่มใจ แต่ไม่มีตัวเปรียบเทียบให้เกิดความชัดเจน ต่อเมื่อเราทำบุญครบวงจร ทำทั้งกับสัตว์ ทำทั้งกับเด็กอนาถา ทำทั้งกับคนชรา ทำทั้งกับเพื่อน ทั้งกับคนรอบๆ ตัวที่มีฐานะใกล้เคียงกัน เราจะรู้สึกเลยว่าเวลาให้ผู้รับแต่ละระดับจะมีความแตกต่างกัน คือความอิ่มใจในการให้เท่ากัน แต่ว่าความรู้สึกถึงกระแสของผู้รับที่มีความสูงส่ง ที่มีความรู้สึกว่าสะท้อนกลับมาเป็นบุญใหญ่ สะท้อนกลับมาเป็นความสว่างอย่างใหญ่ มันจะค่อยๆเลื่อนระดับขึ้นมา
เริ่มจากสัตว์ก็จะเริ่มรู้สึกว่าสะท้อนกลับมาแบบหนึ่ง เราทำบุญกับสิ่งมีชีวิตระดับบุญแบบนี้ แล้วก็ขยับขึ้นมาเป็นเด็กอนาถา ขยับขึ้นมาเป็นคนชรา และขยับขึ้นมาเรื่อย จนเป็นพระ และเป็นพระก็มีหลายระดับอีก พระนวกะเพิ่งบวชเข้าไป หรือพระที่ท่านบวชเข้ามาตามประเพณีตามธรรมเนียม แล้วก็ขึ้นมาถึงพระที่ท่านเข้าใจจริงๆ ว่าการบวชคืออะไร การปฏิบัติธรรม การทำกิจในพระพุทธศาสนาคืออะไร เราก็จะได้ความรู้สึกหลากหลายแตกต่างกันไป และทำให้เราเลิกที่จะเกี่ยงงอนว่าจะต้องทำบุญกับพระดี จะต้องทำบุญกับพระอริยเจ้าเท่านั้น เราจะมีความรู้สึกว่าการทำบุญครบวงจรนั่นแหละดีที่สุด เพราะได้ความอิ่มใจเรื่อยๆ เป็นความอิ่มใจที่มีการหมุนเวียน ไม่ใช่ความอิ่มใจที่ซ้ำไปซ้ำมา แล้วก็เกิดความรู้สึกชาชิน จนกระทั่งสงสัยว่า แบบนี้ได้บุญหรือเปล่า ทำไมได้บุญใหญ่ได้บุญเยอะแล้วถึงเกิดความรู้สึกเฉยๆ ที่เฉยก็เพราะว่ามันทำซ้ำๆ จนชิน ไม่ใช่ว่าทำแล้วไม่ได้บุญ
๒) ปกติกลัวผีมากมาตั้งแต่เด็ก ไม่กล้านอนคนเดียว แล้วประมาณเดือนก่อน เพื่อนๆ คุยกันเรื่องผี ทำให้กลัวมาก จนตอนนี้ผ่านมาเดือนหนึ่งแล้วก็ยังคิดถึงอยู่ ในหัวมีจินตนาการว่าเราจะเจอขนาดนี้ขนาดนั้น ก่อนหน้านี้ก็เคยได้ยินว่าถ้าใจเราผูกติดกับเรื่องผีหรือคนที่ตาย เดี๋ยวเขาจะมาหาเราด้วย ก็ยิ่งกลัวไปกันใหญ่ แต่ในใจไม่ยอมหยุดจินตนาการ ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรดี?
สรุปคำถามก็คือว่า มันมีการกระตุ้นขึ้นมาด้วยการคุยกับเพื่อนเรื่องผี แล้วเกิดความไปปรุงแต่งต่อนั่นเอง ปรุงแต่งเสร็จแล้วมีความกลัวแทรกซ้อนเข้ามาอีกด้วย คือเคยไปได้ยินมาว่าคิดถึงผีเดี๋ยวผีจะมาหา เดี๋ยวผีจะได้ช่องทางเข้าถึงตัว ซึ่งเอาเฉพาะความเข้าใจตรงนี้ก่อน
สมมติก่อนแล้วกันว่า ผีมีอยู่จริงๆ แล้วผีแรงจริง เป็นกรณีนี้ก่อนนะครับ ก็เป็นไปได้ที่กระแสจิตของเราที่มีความกลัวมาก ที่เราเล็งไปที่ผีมากๆ จะไปดึงดูดเขามา ไปสะกิดเรียกเขามา ผมขอให้คิดถึงตอนที่คุณกำลังกลัวว่าใครเขาจะมาเห็นคุณ แล้วความกลัวนั้นไปเรียกให้เขาหันมาจริงๆ หรือเอาง่ายๆ ที่เป็นประสบการณ์สามัญในชีวิตประจำวัน เวลาที่คุณจ้องใครนานๆ เขาจะเกิดความรู้สึกเหมือนกับมีใครกำลังจ้องอยู่ แล้วหันมาสบตาคุณเป๊ะเลย อะไรทำนองนั้น แต่ว่าลักษณะที่ความกลัวไปเรียกผีมา มันจะชัดเจนกว่านั้น
ถ้าสมมติว่ามีผีอยู่จริงๆ แล้วเป็นผีประเภทที่มีบาปมีกรรมติดตัว ชอบหลอกชอบหลอน ชอบทำให้คนเกิดความกลัว เขาจะมีเรดาร์ของเขา จิตของเขาจะคล้ายๆ กับจิตที่ควานไปเรื่อย ถ้าสัมผัสได้ถึงความกลัว ก็อาจจะนึกสนุกอยากมาล้อเล่น อยากที่จะมาทำให้เรากลัวหนักเข้าไปอีก เหมือนคนที่เป็นอันธพาล เห็นใครกลัวยิ่งชอบ เข้าไปทำท่าข่มขู่หรืออยากที่จะรังแกมากกว่าคนที่มีความกล้าหาญให้สัมผัสได้
แต่โชคดีอย่างหนึ่ง ผีประเภทที่ชอบเสพความกลัว ชอบเข้ามารุกรานคน ไม่ใช่หาได้ง่ายๆ เพราะว่าเขาจะต้องมีบุญมีฤทธิ์ มีบุญมากพอที่จะมีฤทธิ์ สามารถที่จะมาหยอกล้อ เล่นกับคนได้ สามารถที่จะตระเวนไปอย่างเป็นอิสระ แล้วหาความกลัว สัมผัสความกลัว เข้าไปตอกย้ำ เข้าไปส่งเสริมแบบในลักษณะที่ ยิ่งกลัวก็ยิ่งมาอะไรแบบนั้น ไม่ใช่หาง่ายๆ คือเดิมจะต้องเป็นคนที่มีบุญ แต่ว่าจะต้องเป็นคนที่มีบุญประเภทชอบกลั่นแกล้งคน มีใจเป็นนักเลง ส่วนใหญ่คนที่มีบุญ ตายไปแล้วถ้าไม่ไปเกิดเป็นคนอีก ก็ไปเกิดเป็นเทวดา โอกาสที่จะมีบุญด้วยแล้วก็ชอบกลั่นแกล้งคน แล้วไปเป็นผี โอกาสเรียกว่าหนึ่งในหมื่น หนึ่งในแสน
พวกที่เป็นผีแล้วชอบหลอกคนจะจัดอยู่ในภูมิของเปรต อสุรกายก็เป็นส่วนหนึ่งของเปรตนะครับ ถ้าไม่เป็นเปรตก็เป็นอสุรกาย ลักษณะของเปรตจะมีความหนาวเย็น มีความเยือก ยะเยือก มีลักษณะของสัตว์ที่หิว มีลักษณะของสัตว์ที่เต็มไปด้วยความกระวนกระวาย หวาดกลัว ส่วนพวกอสุรกายก็จะเป็นพวกที่ค่อนข้างจะมีสติดีกว่าพวกเปรต มีความคิดความอ่าน มีความดุร้าย มีโทสะเป็นเจ้าเรือน
แต่ละประเภทของผี ถ้าเราทำความเข้าใจว่าที่มาที่ไปของเขาเป็นอย่างไร ความกลัวมันจะลดลงได้ แล้วถ้าหากจะคิดในลักษณะปรุงแต่ง อย่าคิดในแบบที่เหวี่ยงแห อย่างที่ถามมาก็คือว่า เราคิดแบบสะเปะสะปะ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผีจริงๆ เป็นอย่างไร ปรุงแต่งไปมีแต่ความน่ากลัวๆๆ ใจมันก็เลยมืด คิดไปต่างๆนานาในทางที่เป็นอัปมงคล ในทางที่เป็นนิมิตหลอกหลอน ในทางที่มันเป็นอะไรที่เคยเจอในหนัง ยิ่งพอไปฟังเขามาว่า ยิ่งคิดถึงผีมากเดี๋ยวผีจะยิ่งคลำมาหาตัวได้ถูก อะไรแบบนั้น ยิ่งไปกันใหญ่เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่มีจิตที่ค่อนข้างแรง คนที่มีตัวกิเลสแรงๆ เอาเฉพาะเจาะจงเลยก็คือ ถ้าหากว่าเราเป็นคนที่มีโทสะแรง เป็นคนที่หงุดหงิดง่าย ลักษณะความยึดมั่นถือมั่นในทางกลัว มันจะรุนแรง เพราะว่าตัวโทสะเป็นมูลของความกลัว
ความกลัวมีมูลเป็นโทสะ ถ้าคนมีโทสะเป็นเจ้าเรือนอยู่แล้ว เวลากลัวขึ้นมาจะยึดมั่นถือมั่นรุนแรง ทำนองเดียวกับที่เราโกรธแล้วเราห้ามใจยากนั่นแหละ ทำนองเดียวกันกับการที่เราโมโหใครแล้วอยากด่า มันจะยั้งปากยาก อันนี้ก็เหมือนกัน พอกลัวผีแล้วโอกาสที่จะถอนความยึดติดหรือว่าหลงเข้าไปสู่ที่มืดกับความกลัว มันก็ยิ่งยาก
ทางหนึ่งนอกจากจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องผีให้ดี เราควรจะซ้อมไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เช่นปกติก็สวดมนต์อยู่แล้ว แต่สวดให้มีความตั้งใจว่า เราจะให้กระแสเมตตารินออกมา ถ้ากระแสเมตตายังไม่รินออกมา เราจะยังไม่เลิกสวด ลองตั้งใจอย่างนี้ดู แล้วบทสวดที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ผีกลัวมากที่สุด ผีอยากเป็นมิตรด้วยที่สุด คือบทอิติปิโส สวดไปเถอะ ‘อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา…’ เราจะรู้สึกว่าจิตพร้อมเป็นมิตรกับวิญญาณทุกดวงในสากลจักรวาล
เมื่อไรที่จิตมีลักษณะของเมตตา มีลักษณะของความสว่าง มีลักษณะของความนุ่มนวล และพร้อมที่จะแผ่ พร้อมที่จะหลั่งรินน้ำใจออกมา ตรงนั้นเราจะรู้สึกเลยว่า สามารถญาติดีกับวิญญาณทุกดวง ไม่ว่าจะมาร้ายหรือมาดีขนาดไหน อย่างน้อยที่สุดเราจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า ความใจดีมีเมตตานั่นแหละ ลดความกลัวลงไปได้มากกว่าครึ่งแล้ว หรือถ้าหากว่ากำลังใจดีมีเมตตาเต็มๆ ก็หายกลัวได้เต็มๆ เพราะคนใจดีมีความเมตตา ถ้าหากว่าเต็มดวง ถ้าหากว่าความเมตตาแก่กล้าเต็มขั้น ต่อให้คนตัดมือตัดเท้าเราอยู่ เราก็จะไม่โกรธเขาเลย
แบบที่พระพุทธเจ้าท่านเคยประสบความสำเร็จมาในขณะที่ท่านยังท่องเที่ยวเกิดตายเป็นพระโพธิสัตว์ เป็นมหาโพธิสัตว์อยู่ พระเทวทัตในสมัยนั้นโกรธแค้นท่านด้วยเรื่องราวต่างๆนานา จับท่านตัดมือตัดเท้า แถมข่มขืนภรรยาท่านให้ดูต่อหน้าต่อตาด้วย ใจท่านไม่มีความโกรธเลย ใจท่านไม่มีความขัดเคืองเลย มีแต่อาการพร้อมจะแผ่เมตตา พร้อมที่จะหลั่งรินกระแสของอภัยทานออกไป ในที่สุด ท่านตายไปในสภาพที่สยดสยองมาก ลองนึกดูคนโดนตัดมือตัดเท้า คนโดนย่ำยีจิตใจด้วยประการต่างๆ เอาภรรยามาข่มขืนให้ดูต่อหน้า คนปกติจะคุมอารมณ์ได้ไหม แต่เพราะท่านฝึกไว้ก่อน เพราะท่านมีเมตตาอยู่เปี่ยมล้นก่อน ท่านจึงเอาชนะความเกลียด เอาชนะความโกรธได้ ที่ไปของท่านในครั้งนั้นก็คือพรหมโลก หลังจากที่ขาดใจตายไปจากความเป็นมนุษย์ ท่านก็ได้ไปสู่พรหมโลก
ถ้าเรานำมาประยุกต์ใช้ คงไม่ต้องถึงกับหายกลัวได้เด็ดขาดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยที่สุด ถ้าเราซ้อมไว้ สวดอิติปิโสด้วยความตั้งใจว่า ถ้ายังไม่เกิดความรู้สึกเมตตา ถ้ายังไม่เกิดความรู้สึกเป็นสุขที่ได้สวด เราจะยังไม่เลิกสวด สวดให้เต็มเสียง เปล่งเสียงออกมา แก้วเสียงของผู้หญิงส่วนใหญ่ก็เพราะอยู่แล้ว สวดให้เพราะ สวดให้เราได้ยินกับตัวเลยว่า ตอนที่ใจมีความรู้สึกเป็นกุศลเต็มที่เต็มกำลัง แก้วเสียงเพราะขนาดไหน แล้วแก้วเสียงที่เพราะนั้นก็จะไปปรุงแต่งให้จิตเกิดความรู้สึกที่เหมือนกับแก้วใส เหมือนอะไรที่พร้อมจะหลั่งรินออกมาเป็นความสุข หลั่งรินออกมาเป็นความขาวอย่างใหญ่ ความขาวอย่างใหญ่จะขับไล่ความมืด ความมืดจากความกลัวไม่สามารถเข้าแทรกแซงได้ ณ เวลาที่ใจเราสว่างเต็มที่
สรุปก็คือ หนึ่ง ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของผีให้ดี รู้จักผี อย่างน้อยที่สุดมีความรู้สักนิดหนึ่ง ไม่ใช่มีแต่จินตนาการ สอง คือหมั่นสวดมนต์ อิติปิโส ด้วยความตั้งใจว่า ใจยังไม่เป็นเมตตาฉันใด เราจะยังไม่หยุดสวดฉันนั้น
ถ้าใครเห็นผมออนไลน์แล้วให้เรียกเข้ามาได้เลย เสียงที่คุณได้ยินจะช้าไปประมาณ ๑๐ วินาที ตอนนี้ถ้าหากว่าไม่มีอะไรขัดข้อง น่าจะได้ยินที่ผมกำลังออกอากาศอยู่ ถ้าเรียกเข้ามาพร้อมกัน ผมจำเป็นต้องรับสายแรกนะครับ สายอื่นๆก็ต้องขอตัดทิ้งไปก่อน
ช่วงที่ผ่านมา เราได้ยินเสียงบ่นกันบ่อยว่า เหมือนกับโลกรอบข้างเปลี่ยนแปลงไปในทางร้อนรุ่มขึ้นทุกที นอกจากอากาศแล้วก็จิตใจผู้คน เดี๋ยวนี้เป็นอะไรกันก็ไม่ทราบ การพูดการจาหรือการที่จะคุยกันดีๆ มีน้อยลง เราก็มาอาศัยเวลาช่วงนี้นะครับที่จะพูดกันดีๆ คุยกันดีๆ คุยกันอย่างสว่าง
๓) สอบถามเกี่ยวกับสมาธิครับ ผมมีปัญหาเรื่องจิตรวมแล้วมันถอนออกมา ขอเล่าย่อๆ เคยถามครูบาอาจารย์มาสององค์ องค์แรกบอกว่า จิตมันจะออกมาเจริญปัญญา แต่อย่าเลิก อย่าหยุด ให้ทำสมาธิต่อไป องค์ที่สองบอกว่า ให้พิจารณาว่าทำไมมันถึงเข้า ทำไมมันถึงถอนออก ให้ฝึกเข้าบ่อยๆ แล้วถ้ามันเข้าไปได้ให้ประคองเอาไว้ ถ้ามันออกมาแล้ว ให้พิจารณากรรมฐาน ๕
คำถามแรกคือ จิตรวมไม่บ่อยเหมือนตอนที่เคยบวช นานๆ ทีจะรวม จะทำอย่างไรให้รวมถี่ขึ้น?
คำถามที่สอง เวลารวมก็ประคองไว้แล้ว แต่จิตมันค่อยๆ ถอนตัวออกมาแบบแนบเนียน มีนิวรณ์เข้ามาแทรกแบบเนียนๆ ทำอย่างไรให้ทรงตัวอยู่ได้? …
ผมขอขัดนิดหนึ่งนะครับ แค่คำถามเดียวก่อนนะ เดี๋ยวผมจะตอบคำถามนี้นะว่า เรื่องที่จิตรวมแล้วถอน ขอตรงนี้ก่อน จะได้เป็นประเด็นที่ชัดเจน คือลักษณะดั้งเดิมของจิตเรา (ผู้ถาม) ขอให้พิจารณาอย่างนี้นะว่า เราเป็นคนค่อนข้างจะจริงจัง แล้วก็เป็นคนที่พูดง่ายๆ ว่า ถ้าพูดถึงตัวกิเลสเราก็เป็นคนแรงล่ะ อาจจะมีโทสะจริต บางทีเราอาจจะคุมอารมณ์ได้ แต่ว่าลักษณะความหงุดหงิดหรือว่าคิดมากกับเรื่องที่กำลังโกรธขึ้งอยู่ มันจะยังอยู่ในหัว เพราะฉะนั้นเราต้องดูว่า ลักษณะของจิตเราเดิมทีไม่ได้พร้อมที่จะเยือกเย็น ตรงนี้เข้าใจประเด็นนะครับ ความเยือกเย็นกับอาการรวมตัวของจิตนั้นเป็นไปด้วยกัน ฉะนั้นถ้าเราพิจารณาจากพื้นนิสัยเดิม พื้นจิตเดิมของเรา มันไม่ได้พร้อมที่จะรวม ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อนนะครับ
อย่างที่สองคือ เราปลีกวิเวกไป ไปบวชหรือไปปฏิบัติธรรมที่ไหนก็แล้วแต่ มักจะไปในที่ที่สงบ ที่ตะล่อมให้ใจกลมกล่อมมีความเยือกเย็นลงโดยธรรมชาติที่อยู่รอบข้าง แล้วถ้าเราออกจากสถานที่ปฏิบัติธรรมกลับมาอยู่ที่บ้าน มาเจอเครื่องกระตุ้นให้เกิดความอยากแบบโลกๆ หรือว่าให้เกิดโทสะแบบเดิมๆ ที่เหมือนเป็นความเคยชินในนิสัยตามจิตของเรา มันก็จะเป็นไปอีกแบบหนึ่ง
พิจารณาอย่างนี้นะครับว่า ซึ่งจะพูดโดยรวมสำหรับคนทั่วไป ถ้าหากว่าเป็นคนที่ค่อนข้างจะมีอาการคิดมากอยู่ เป็นคนที่ค่อนข้างจะจริงจังกับชีวิต หรือมีพื้นเป็นพวกที่โมโหง่าย หรือคิดในเรื่องที่โมโหไม่เลิก มันจะเป็นคนละพวกกันกับนิสัยทางจิตที่จะเป็นสมาธิ
นิสัยทางจิตที่จะเป็นสมาธินะครับ จะต้องเป็นพวกที่มีความเยือกเย็นอยู่โดยตัวเอง หมายความว่าถึงแม้จะมีของกระทบร้อนๆ เข้ามากระแทกใจบ่อยๆ ก็จะน้อยครั้งมากที่จิตใจพลุ่งพล่านตอบออกไป ปฏิกิริยาทางใจของคนที่จิตใจเยือกเย็นดูง่ายๆ เลย ถ้ามีอะไรมากระทบร้อนๆ จะสวนกลับไปด้วยความเย็น ใจจะมีความรู้สึกสบาย ใจจะมีความรู้สึกนุ่มนวลอยู่ได้เป็นปกติ นั่นแหละเรียกว่าจิตของคนที่มีเมตตาเป็นธรรมดา เป็นจิตที่พร้อมจะอภัยเป็นธรรมดา มันดีกับสมาธิอย่างนี้ ดีตรงที่ว่า เมื่อเราจะเข้าสู่ความสงบ จะไม่มีคลื่นรบกวนมาก จะไม่มีลักษณะมาดึงให้จิตถอนตัวออกไปได้ง่ายนัก
ขอให้พิจารณาว่า เรื่องของการทำทาน เรื่องของการให้อภัย เรื่องของการรักษาศีล มันไม่ใช่แยกเป็นต่างหากหรือเป็นเอกเทศกับการทำสมาธิ มันเป็นจิตดวงเดียวกันนั่นแหละ ถ้าหากว่าเรามีน้ำใจมาก ใจก็เย็นมาก ถ้าหากว่าเรามีความสะอาด รักษาศีล ตั้งใจงดเว้นบาปได้เด็ดขาด ใจก็โล่งๆ ไม่มีความเดือดร้อน นั่นแหละตรงนั้นที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ท่านจะไม่แปลกใจเลยถ้าหากว่าใครถือศีลอย่างดีแล้วจะไม่มีความเดือดเนื้อร้อนใจ เป็นเหตุให้สมาธิตั้งมั่นอยู่ได้ง่าย
ทีนี้ถ้าหากว่าเราไปสู่ที่ปฏิบัติธรรมซึ่งมีความวิเวก ก็เป็นธรรมดาที่อารมณ์หงุดหงิดแบบเก่าที่เราอยู่ในเมืองมันจะลดลง แต่ทำอย่างไรล่ะที่กลับมาจากสถานที่ปฏิบัติธรรมแล้ว กลับสู่เมืองแล้ว จะยังรักษาความสงบรักษาความเย็นได้
ประการแรกคือ ห้ามเด็ดขาด ไม่ให้คาดหวังว่าเราจะสงบได้เท่ากับตอนที่ไปอยู่สถานที่วิเวก อันนี้เป็นอันดับแรกเลย เพราะความอยากนี่แหละจะยิ่งไปกระตุ้นโทสะให้มากขึ้น เมื่อไม่ประสบความสำเร็จอย่างใจ ประการที่สองคือ เราต้องยอมรับตามจริงให้ได้ว่า ขณะนี้กำลังโกรธอยู่ ขณะนี้กำลังร้อนรุ่มกลุ้มใจอยู่ ขณะนี้กำลังคิดมากอยู่ ขณะนี้กำลังเครียดอยู่ ไม่ว่าอาการทางใจเกิดแบบไหน ต้องยอมรับตามจริงให้หมด ไม่ใช่ไปต่อต้าน ไม่ใช่ไปปฏิเสธ เพราะอาการปฏิเสธจะทำให้ยิ่งเกิดความรู้สึกร้อนรุ่ม เหมือนกับเวลาที่เรารบกับใคร ไม่มีทางหรอกที่จะเย็นได้ แต่ถ้าหากเราไม่รบกับศัตรู เราอยู่ในที่ที่ศัตรูเข้าไม่ถึงตัว แล้วดูศัตรูอยู่เฉยๆ อย่างนั้นเราจะใจเย็นลง อย่างนั้นจะไม่มีความกระวนกระวาย
ขอให้เข้าใจหลักการอย่างนี้คือ เราต้องยอมรับตามจริง เพื่อที่จะอะไร เพื่อที่จะได้เห็นว่า ศัตรูของเราเข้ามาตอนแรกกระเหี้ยนกระหือรือมาก อยากจะทำร้ายเรามาก มาด้วยความแรงราวกับพายุบุแคม แต่พอหาตัวเราไม่เจอ เราอยู่ในลักษณะล่องหน เป็นอากาศธาตุ มีแต่สภาพรู้อยู่เฉยๆ ไม่มีอาการแข็งขืนโต้ตอบ ในที่สุดศัตรูที่กระเหี้ยนกระหือรือตอนแรกก็กลายเป็นอ่อนกำลังลง กลายเป็นรู้สึกเบื่อหน่าย แล้วก็ถอยกลับไปเอง มันจะเห็นแบบนี้เลย
เวลาที่มองโทสะด้วยอาการยอมรับตามจริง มองด้วยความรู้สึกเฉยๆ มองด้วยความรู้สึกไม่คาดหวัง แล้วใจที่เห็นตามจริงๆ ได้บ่อย ยอมรับตามจริงได้บ่อยๆ นั่นแหละ มันจะลดโทสะลงเอง แล้วเป็นฝักเป็นฝ่ายเป็นพวกเดียวกันกับสมาธิจิตไปเอง เราจะรู้สึกว่าพอรวมแล้วมันรวมได้นานขึ้น เหมือนกับเครื่องถอนมันหายไป มีแต่เครื่องอยู่
เหลือเวลาครึ่งนาที คงต้องล่ำลากันก่อน เดี๋ยววันพุธเราพบกันใหม่ แต่ก็คงจะเปิดโอกาสให้ท่านที่ไม่สามารถเล่นสไกป์ บางทีอยู่ต่างจังหวัด บางทีใช้โทรศัพท์มือถือ คืนนี้ราตรีสวัสดิ์ไปก่อนนะครับ ขอให้เจริญในธรรมทุกท่านครับ
« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น