วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๖๕ / วันที่ ๑๘ มิ.ย. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันจันทร์ที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง เพื่อจะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการนะครับ ให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/HowfarBooks



๑) เห็นจิตทำงานตามปัจจุบัน สังเกตว่ามีความเจริญงอกงามตรงที่ยอมรับว่าจิตเดี๋ยวปรุงดี เดี๋ยวปรุงชั่วตามธรรมชาติของจิต ความคิดจะให้ค่ากับความรัก ความดี ความเกลียด ความชั่วน้อยลง อย่างนี้ควรทำต่อไปเรื่อยๆจนกว่าผลจะเกิดเมื่อพร้อมใช่มั้ยครับ?

ประเด็นคำถามก็คือ ตรงที่กำลังทำอยู่เนี่ย เหมือนกับมีการยอมรับความจริง ไม่สนใจว่าจะปรุงดีหรือปรุงร้ายนะครับ ซึ่งตรงที่เราจะไปยอมรับตามจริงได้เนี่ย มันฝืนกับนิสัยทางธรรมชาติของใจคนทั่วไป ถ้าหากว่าทำได้จริงๆ ยอมรับได้จริงๆ ว่าเดี๋ยวจิตมันก็ดีเดี๋ยวจิตมันก็ร้าย ไม่สามารถบังคับได้ ไม่สามารถบัญชาได้ตามต้องการ แค่นี้เนี่ย ถือว่าต่างจากธรรมชาตินิสัยเดิมๆของปุถุชนแล้วนะครับ

ทีนี้เรื่องที่จะให้มันมีความก้าวหน้า มีการพัฒนาต่อไปบนเส้นทางของการเจริญสติมากขึ้นไปเรื่อยๆเนี่ย เราต้องนอกจากยอมรับตามจริงแล้ว เราต้องสังเกตว่าทุกครั้งที่ยอมรับความจริงได้เป็นปกติ เราจะรู้สึกว่ามันผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แสดงความไม่เที่ยงด้วย ถ้าไม่สังเกตที่ตรงนี้ มันจะติดอยู่ตรงความรู้สึกนึง ว่าเราเห็นสภาวะเรา ตัวเราเห็นภาวะความเป็นกุศลบ้าง ตัวเราเห็นภาวะความเป็นอกุศลบ้าง มันจะมีตัวเราอยู่ แต่ถ้าหากเราสังเกตว่า ‘ภาวะทั้งดีทั้งชั่วนั้นน่ะ มันผ่านมาแล้วก็ผ่านไป’ พอเวลาที่เห็นมันผ่านไป ณ จุดที่เห็นมันผ่านไปเนี่ยนะครับ เห็นอย่างเป็นธรรมชาตินะ ไม่ใช่แกล้งเห็น ไม่ใช่จงใจเห็นนะ เห็นเอง เห็นว่ามันผ่านไป ความรู้สึกว่าเป็นตัวเรา เป็นผู้เห็น เนี่ยมันจะหายไปด้วย ลองสังเกตตรงนี้ด้วยก็แล้วกัน

พูดง่ายๆก็คือว่า ‘เราจะมีการเจริญสติได้ก้าวหน้าอย่างแท้จริงเนี่ย ตอนที่รู้สึกว่าอะไรๆที่มันปรากฏอยู่ในจิตของเราเนี่ย ไม่ว่ามันจะดี ไม่ว่ามันจะร้าย มันปรากฏเดี๋ยวนึงแล้วก็หายไป แล้ว ณ จุดที่เราจะรู้สึกว่ามันหายไปได้จริงๆเนี่ย มันไม่ใช่สภาวะนั้นหายไปอย่างเดียว แต่ความรู้สึกในตัวตนของเราหายไปด้วย’ ความเป็นผู้ดู ความเป็นผู้ปฏิบัติ ความเป็นโยคาวจรนะครับ ผู้ที่เพ่ง ผู้ที่เจริญสติ ตามดูตามรู้อะไรอยู่เนี่ย มันหายไปด้วย เหลือแต่จิตที่ไม่มีความรู้สึกเป็นตัวเราตัวเขา ไม่ได้มีความรู้สึกว่านี่บุคคล ไม่ได้มีความรู้สึกว่านี่คือใครทั้งสิ้น ตรงนี้ขอให้สังเกตด้วยก็แล้วกัน

มันจะเริ่มมีความก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ ทุกครั้งที่เราสามารถยอมรับตามจริง ไม่ได้หวังแต่จะเอาภาวะดีๆไว้ดู ไม่ได้มีความรังเกียจเดียดฉันท์นะว่าเวลาอารมณ์ขุ่นมัว หรือว่าอารมณ์โกรธ อารมณ์แค้นอะไรมันพลุ่งพล่านขึ้นมาเนี่ย ไม่ได้มีความรู้สึกว่าเสียหน้า โอ ปฏิบัติมาตั้งนาน อุตส่าห์โกรธอีก ยังอุตส่าห์โกรธได้เนี่ย เราไม่มีความรังเกียจแบบนั้น เราไม่มีการตั้งแง่แบบนั้น ยอมรับไปเรื่อยๆได้เนี่ย จิตมันจะมีความเป็นกลางจริงๆ จิตจะมีความเป็นอุเบกขาจริงๆ แล้วทุกครั้งเนี่ยก็จะทำให้เราค่อยๆเห็นการหายไปของทั้งดีทั้งชั่ว ที่มันเกิดขึ้นจากการประกอบจากจิตเรา ขอให้สังเกตตรงนี้นะครับ



๒) เวลามองตัวเองในกระจก บ่อยครั้งรู้สึกกลัวตัวเองขึ้นมา ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใด? รบกวนขอคำแนะนำด้วยครับ ไม่แน่ใจว่าเอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้างหรือเปล่า?

หลายคนเป็นอย่างนี้นะครับ ก็เป็นสัญญาเก่าๆนั่นแหละ ไปดูหนังมาก ไปดูหนังผี ไปดูหนังอะไร บางทีเราลืมไปแล้วนะ เราอาจจะไม่ได้คิดถึงหนัง ไม่ได้คิดถึงไอ้ว่าเราเคยไปดูอะไรสยองขวัญมา แต่ว่าทุกครั้ง ถ้าหากว่านะครับ ได้มุมพอดี ได้มุมเหมาะ ได้จังหวะที่แสงมันกำลังสลัวๆ เตือนให้เกิดระลึกถึงอะไรที่มันสยองๆ ที่เราเคยหวาดกลัวขึ้นมา หรือบางทีไม่ได้เกี่ยวกับหนัง แต่ว่าเป็นสถานการณ์ เป็นเหตุการณ์ เป็นคืนเดือนมืดที่เราไปพบอะไรน่าผวาดผวาหรือน่าตกใจมาเนี่ยนะ พอมันเห็นเงาตัวเองในกระจกกระทบตา แล้วก็อาจจะไปเตือนให้นึกถึงความทรงจำสยองๆที่เคยผ่านพบมา ก็เลยเกิดความกลัวขึ้นมาได้

หรืออีกทีนึง อันนี้ก็เป็นไปได้ที่ว่า จิตใจของเราเองมันมีสภาพที่กำลังขุ่นมัวอยู่ คือ ขุ่นมัวโดยไม่รู้ตัวนะว่า ขุ่นมัวมีอาการที่พร้อมจะคิดไม่ดี พร้อมจะคิดร้าย คือบางทียังไม่ทันต้องคิดร้ายนะครับ แต่ว่าสภาพของจิตเนี่ยมีความพร้อมจะเป็นอกุศลอยู่ พอมองเงาตัวเองในกระจก มันมีความรู้สึกมืดๆขึ้นมา ไอ้ความรู้สึกมืดๆเนี่ย ก็ไปกระตุ้นความกลัวขึ้นมาได้ เพราะเวลาจิตของคนเราเศร้าหมอง จิตของคนเราเป็นอกุศลเนี่ย มันจะปรุงแต่งหน้าตาให้มันดูน่ากลัว หรือว่าส่งกระแสที่มันเหมือนกับทำให้รู้สึกหนาวเย็นขึ้นมาอะไรแบบนั้นนะครับ มีได้หลายสาเหตุ แต่สรุปโดยใจความก็คือว่าตาเราเห็นรูปแล้วเกิดความรู้สึกหวาดกลัวขึ้นมา เกิดการปรุงแต่งขึ้นมา

ถ้าจะเอามาใช้ประโยชน์ในการเจริญสติ ก็คือ ให้เห็นว่าเนี่ย ให้บอกเองว่าเนี่ย ตาเรากำลังเห็นเงาตัวเองในกระจกอยู่ รูปคือเงาในกระจกของตัวเอง จะด้วยเหตุผลกลใดก็แล้วแต่ ตาประจวบรูปนั้นแล้วเกิดความหวาดกลัวขึ้นมา เกิดความสยองขึ้นมา ถ้าหากว่าเราเกิดความกลัวแล้วไม่ทำอะไรเลย นอกจากพยายามจะทำใจ ปลุกใจ หรือว่าหลบหนีจากภาพในกระจกไปเนี่ย ความกลัวมันก็จะเกาะใจอยู่หยั่งงั้น ไม่เกิดปัญญา ไม่เกิดความรู้อะไรขึ้นมา แต่ถ้าหากว่าเราแค่บอกตัวเองว่า พากย์ไปนะ พากย์ไปสั้นๆเลยว่า นี่ตอนนี้ตาของเราประจวบกับรูปอยู่ แล้วรูปนั้นกระทบให้ใจเกิดปฏิกิริยาเป็นความกลัวขึ้นมา พอเราสามารถเห็นได้ว่านี่ปฏิกิริยาความกลัวหน้าตาเป็นแบบนี้นะ มันก็จะเกิดความรู้ขึ้นมาชั่วขณะนั้นน่ะว่า ความกลัวไม่ได้เกาะใจเราอยู่มาตั้งแต่เริ่มต้น มันมาเกาะใจเราตั้งแต่ตอนที่ตาไปประจวบกับรูป

ความรู้ตรงนี้สำคัญมาก ความรู้ที่เป็นประสบการณ์ตรงสู่จิตเนี่ย ไม่ใช่คำอธิบายที่ผมกำลังพูดให้คุณฟังอยู่แบบนี้นะ แต่เป็นการรับรู้ตรงๆ ณ ขณะที่ความกลัวมันเกิดขึ้นเลย มันเห็นเลยว่าเนี่ยตาไปเล็งอยู่กับกระจกเงา แล้วเห็นภาพตัวเองขึ้นมา เกิดความกลัว ไอ้ความกลัวนั้นน่ะ พอถูกรู้ปุ๊บว่าเออมันไม่ได้เกิดขึ้นมาก่อน มันเพิ่งมาเกิดขึ้นเมื่อตอนที่ตาไปประจวบกับรูป มันจะเห็นว่าความกลัวนั้นเป็นปฏิกิริยาทางใจ อันเกิดจากการที่ตาไปเล็งกระจกเงานะครับ ไอ้ความรู้ตรงนี้สำคัญมาก มันจะไม่รู้สึกว่าความกลัวเป็นสิ่งที่จะเกาะติดอยู่กับเราตลอดไป แล้ว ‘ความกลัวทั้งหลายทั้งปวงนะ มันก็คืออาการปรุงแต่งของใจเท่านั้นเอง ไม่ได้มีอะไรที่มันเล่นงานเราอย่างแท้จริง นอกจากความกลัวเล่นงานจิตใจ’ เนี่ยตรงนี้แหละ ที่มันจะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง เวลาที่จะเอามาใช้ในการเจริญสติ ทุกอย่างเนี่ยมันสามารถที่จะเอามาใช้ในการเจริญสติได้หมดแหละ สักแต่ว่าเราดูเป็นรึเปล่านะครับ ถ้าหากว่าเราดูเป็นทุกอย่างมีประโยชน์หมด ทุกอารมณ์มีประโยชน์หมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอารมณ์ที่ใจไปให้ความสำคัญกับมัน

พอดีว่ามีอะไรขัดข้องทางนี้นิดหน่อย ผมขอเวลาสิบนาทีนะครับ เดี๋ยวผมจะไม่ตั้งไว้เป็นสเตตัสใหม่ขึ้นมา ขอเวลาสิบนาที เดี๋ยวผมจะออนแอร์อีกทีนะครับ

มาต่อกันนะครับ อันนี้ผมไม่ได้ตั้งสเตตัสใหม่ ก็เข้าใจว่าหลายคนคงต้องเข้ามาฟังทีหลังเอา เมื่อกี้ขัดข้องนิดหน่อยนะครับ ก็ขออภัยด้วย เพราะว่านี่ก็เรียกว่าเป็นการจัดกันแบบบ้านๆจริงๆ มีปัญหาอะไรในบ้านในเรือน บางทีก็ต้องขอตัวไปทำธุระชั่วครู่นะครับ เมื่อครู่นี้ คำถามเกี่ยวกับเรื่องของความกลัวเงาตัวเองในกระจกนะครับ ก็มีเสียงขานรับมาในสเตตัสปัจจุบันเลยทีเดียวว่าเป็นเหมือนกันนะครับ จริงๆแล้วเงาตัวเองในกระจกมันบอกได้อย่างดีเลยว่าตัวเรา นั่นไม่ใช่นะครับ เงาที่เห็นเนี่ยมันเป็นแค่สิ่งที่บอกว่าอนัตตาที่อยู่ติดตัวของเราเนี่ยมันเป็นยังไงอยู่ อยู่ในสภาพที่น่ากลัวหรือว่าน่ารัก ถ้าหากว่าจิตเป็นกุศล ถ้าหากว่าจิตมีความสว่างอยู่นั้น ไม่มีทางกลัวหรอก แต่จิตมีแนวโน้มที่จะเป็นอกุศลหรือว่าสภาพปรุงแต่งรอบด้านนะครับ รวมทั้งร่างกายหน้าตามันพร้อมที่จะเป็นอกุศล ก็เลยก่อให้เกิดความรู้สึกกลัวขึ้นมา ความกลัวเนี่ย โดยหลักแล้ว โดยมูลเหตุของความกลัวเนี่ยนะครับ ก็คือความโกรธนั่นแหละ ถ้าหากว่าไม่มีโทสะ ถ้าหากว่าเราปราศจากสิ่งขุ่นข้องหมองใจ ไม่มีอกุศลอยู่ในจิตใจแล้วเนี่ย ไม่สามารถปรุงแต่งใจได้แล้ว ความกลัวไม่มีทางปรากฏเลย

ลองสังเกตเถอะ ถ้าหากว่าจิตใจของเรากำลังสบายอยู่ จิตใจของเรากำลังสว่างอยู่ จิตใจของเรากำลังมีความเป็นบุญมีความเป็นกุศลอยู่เนี่ย มันจะรู้สึกว่ามีความสุข มีความอบอุ่นใจ มีความรู้สึกว่าเราเนี่ย มีความสามารถจะเผื่อแผ่ความความสุข ความปลอดภัยที่อยู่ในใจเนี่ย ออกไปกว้างๆ ออกไปให้ใครที่อยู่ในโลกรอบด้านก็ได้ นี่คือลักษณะของใจที่เป็นกุศล ถ้าหากว่าเราเห็นเงาตัวเองในกระจกแล้วเกิดความกลัว ให้สันนิษฐานว่าใจของเราพร้อมที่จะเป็นอกุศลอยู่ ก็บอกตัวเองไปก็แล้วกันว่าอนัตตากำลังปรากฏโดยความเป็นอกุศลนะครับ เราดูให้มันเข้าใจ เราดูให้มันเห็นว่าตาประจวบกับรูปที่ไม่น่าอุ่นใจแล้วเนี่ย ก็เกิดความกลัวขึ้นมา เกิดความร้อยรัด เกิดความรู้สึกบีบหัวใจขึ้นมา เกิดความรู้สึกมืดๆขึ้นมา อะไรก็แล้วแต่ที่มันปรากฏพร้อมกับความกลัวเนี่ย ที่สุดแล้วมันก็มาลงที่จิตใจเนี่ยแหละ จะเป็นความตื่นเต้น จะเป็นลักษณะอะไรที่มันชวนให้นึกถึงสิ่งสยองขวัญอะไรทั้งหลายเนี่ย มันมาลงที่เดียว ที่ใจนี่แหละ



๓) ต้องไปสอบในมหาวิทยาลัยรัฐ ซึ่งการแข่งขันสูง รู้สึกเครียด แต่ก็มีความรู้สึกมั่นใจในตัวเองที่จะเดินตามความตั้งใจ รู้สึกเกรงใจและเห็นใจคุณแม่ถ้าจะต้องเรียนต่อค่าเทอมแพง เลยรู้สึกกดดันค่ะ

คำแนะนำก็คือ ถ้าหากว่าเรารู้ตัวอยู่แล้วว่าเราเป็นคนคิดมาก ผู้หญิงหลายคนเลย คือบางเรื่องเนี่ยจะทำให้เสียความมั่นใจ ความรู้สึกศรัทธาในตัวเอง หรือเกรงว่าจะต้องไปรบกวนคนอื่น โดยเฉพาะพ่อแม่ที่อุตส่าห์เลี้ยงมาตั้งนาน อะไรต่างๆเนี่ย แล้วเกิดความกังวล เกิดความคิดมากไป ก็หาทางที่จะลดความคิดมากนั้นเป็นเรื่องๆ ดูว่าตอนนี้เราเกรงใจแม่อยู่ ก็ตั้งใจว่าถ้าหากเรียนจบ เรียนสำเร็จตามความตั้งใจ หรือว่าไปประกอบอาชีพการงานอะไรได้เงินมาเนี่ย เราก็จะมาตอบแทนคุณแม่ ไม่ใช่มาใช้หนี้นะ แต่มาตอบแทนท่านอย่างเต็มที่ คือถ้าเราคิดว่าจะเอามาใช้หนี้เนี่ย มันกลายเป็นการผูกพันธะ ว่าเราจะต้องใช้ท่านเท่านั้นเท่านี้ แต่ถ้าเราตั้งใจว่าจะมาตอบแทนคุณท่าน อย่างนี้มันไม่มีที่สิ้นสุด แล้วเราจะสบายใจ เพราะว่าการตอบแทนนี้มันมากเกินกว่าที่ท่านให้เรามาแน่ๆ

ลองคิดถึงว่า สมมุติว่าจะต้องไปเบียดเบียนคุณแม่สักแสนนึงอย่างนี้เนี่ยนะครับ แต่ชีวิตที่เหลือมันหาได้มากกว่าแสนอยู่แล้ว แล้วก็เอาที่เหลือ ชีวิตที่เหลือเนี่ยก็หาเงินเพื่อจะมาตอบแทนคุณแม่ให้แม่สบายบ้าง ให้แม่ไม่ต้องทำงาน ให้แม่ไม่ต้องกังวลเรื่องเงินบ้าง พอคิดอย่างนี้ได้ จากจุดเริ่มต้นเล็กๆอย่างนี้ มันก็คิดต่อไปได้อีกว่า เออ คุณแม่ไม่ได้ให้แค่เงินเรามานะ ให้ก้อนเลือดก้อนเนื้อ ให้ชีวิตจิตใจกับเรามาทีเดียว ถ้าไม่มีแม่ ไม่ได้อยู่ในท้องแม่เก้าเดือนมาเนี่ย ไม่มีทางออกมาเป็นตัวเป็นตนแบบนี้ได้เลย

มันก็จะคิดต่อไปอีก ต่อยอดต่อไปอีก ว่า ที่ผ่านมาเรากังวลเรื่องโน้นเรื่องนี้ เราคิดเรื่องแฟน คิดเรื่องงาน คิดเรื่องบ้าน คิดเรื่องความเป็นอยู่อะไรต่อมิอะไรทั้งหลายเนี่ย แต่มันไม่ค่อยจะมีเครื่องกระตุ้นให้ย้อนกลับไปคิดถึงพระคุณแม่สักเท่าไหร่ ทีนี้ถ้าหากว่าเราจะต้องมาเบียดเบียนท่าน ในช่วงเวลาที่กำลังจะถึงต่อไปนี้เนี่ยนะครับ มันก็เป็นเครื่องกระตุ้นอย่างดีว่า เราเบียดเบียนท่านมาตั้งแต่อยู่ในท้องเก้าเดือน เบียดเบียนท่านตั้งแต่ตอนที่เราตัวเล็กๆให้ท่านเลี้ยงดูวันต่อวัน ยากลำบาก ยากจริงๆเลี้ยงลูกเนี่ยนะครับ มันจะยังมีเรื่องค่าใช้จ่ายตอนโตขึ้นมาอีก ซึ่งอันนั้นถ้าโดยความรู้สึกนึกคิดของคนทั่วไป มันเป็นหน้าที่ของพ่อ มันเป็นหน้าที่ของแม่ ต้องรับผิดชอบเรา ออกเรามาแล้ว

แต่ถ้าหากว่าเรามาพิจารณาดูนะครับในฐานะของคนที่ศึกษาพุทธศาสนามาด้วยความศรัทธา ก็จะเห็นว่าพ่อแม่นี่มีบุญคุณใหญ่หลวง ไม่ใช่ว่าท่านทำให้เราเกิดมานะ ตัวเรานั่นแหละที่เกิดมาด้วยความยังมีอวิชชา ความยังไม่รู้แจ้งแดงตลอด ยังสั่งสมบุญ ยังสั่งสมบาปเป็นชาติๆกันอยู่ ก็ต้องมาหาที่พึ่ง มาหาที่เกิด มาหาท้องของผู้หญิงสักคนนึง ทำให้ท่านลำบากมา มันจะมีแก่ใจ มีความรู้สึกว่า เออ เงินที่เราจะหามาได้ต่อไป ก็คือเพื่อที่จะมาตอบแทนท่าน แล้วไม่ใช่ตอบแทนเป็นเงินอย่างเดียว แต่ตอบแทนด้วยความรู้สึกที่เป็นสุข ความรู้สึกที่มันมีธรรมะ ความรู้สึกที่มันสว่าง คือพูดง่ายๆเรากำจัดความเครียดตัวนี้ออกไปซะ ด้วยการคิดถึงเรื่องการตอบแทนท่าน ตอบแทนด้วยทรัพย์เนี่ยมันเป็นเรื่องธรรมดาที่ลูกควรมีให้พ่อแม่ แต่ตอบแทนด้วยความสว่าง ตอบแทนด้วยความเย็น ตอบแทนด้วยความรู้ความเข้าใจ ตอบแทนด้วยการที่ถ้าท่านมีบุญของท่านอยู่แล้ว เข้าใจศาสนาของท่านอยู่แล้ว ตอบแทนก็ตอบแทนด้วยการที่เรามีกำลังวังชาเนี่ยก็พาท่านไปวัดบ่อยๆ ถ้าหากว่าเราตอบแทนด้วยกำลังความสว่าง ด้วยความเย็น ด้วยความรู้ความเข้าใจในธรรมะได้เนี่ยนะครับ นี่เรียกว่าเป็นการตอบแทนถึงที่สุด เป็นการตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ‘การตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อให้กับพ่อแม่ มีได้ก็คือ ทำให้ท่านเกิดความรู้สึกศรัทธาในพุทธศาสนา ในเรื่องของกรรมวิบาก แล้วก็ทำให้ท่านมีแก่ใจทำทาน มีแก่ใจรักษาศีล มีความตั้งมั่น ในการที่จะศรัทธาในการทำทาน แล้วก็ในการรักษาศีลได้’ ทีนี้ถ้าหากว่าเราตั้งใจไว้อย่างนี้ คิดไว้อย่างนี้ ความเครียดความกังวลที่กำลังมีอยู่เนี่ย มันจะหายไปทันที มันรู้วิธีตอบแทน มันรู้วิธีว่า ไอ้ความเครียดตรงนี้มันจะระบายออกไปยังไง มันระบายออกด้วยความสว่างด้วยความเย็นนะครับ ไม่ใช่ด้วยความเอาแต่ครุ่นคิด เอาแต่คิดมากไป แล้วก็ความคิดมากนั้น ก็ไปทำให้ท่านเกิดความทุกข์ขึ้นมาอีก เกิดความรู้สึกบีบคั้นขึ้นมาอีก ไม่มีใครได้ประโยชน์เลย ตัวเราเองเป็นทุกข์ก่อน แล้วตัวเราเองจะทำให้คุณแม่เป็นห่วง มีความรู้สึกกังวล มีความรู้สึกทุกข์ตั้งแต่บัดนี้ แล้วก็ในภายภาคหน้าท่านก็ไม่มีโอกาสที่จะได้รับความสว่าง ความเย็น ความสบายจากเรา ซึ่งมีธรรมะดีแล้วนะครับ ลองคิดอย่างนี้ก็แล้วกัน



๔) เราจะฝึกตนเองอย่างไรให้มีไหวพริบปฏิภาณดีถึงที่สุดครับ?

‘การฝึกตนเองให้มีปฏิภาณ ก็คือ การไม่กลัวปัญหา ไม่กลัวที่จะออกไอเดีย’ คือคนส่วนใหญ่นะครับ ถูกเทรนมาให้กลัวความผิด กลัวความพลาด เดี๋ยวจะโดนเยาะเย้ยถากถางบ้าง เดี๋ยวจะโดนดุโดนว่าบ้าง แล้วคือผู้ใหญ่เนี่ย มักจะลืมความจริงข้อนี้ เลี้ยงลูกกันมาแบบนี้แหละ เลี้ยงลูกเลี้ยงหลานมา ลูกผิดนิด ผิดหน่อยอะไรเนี่ย ดุด่าว่ากล่าว แล้วก็ไม่ให้คำแนะนำ คือดุเฉยๆด่าเฉยๆแล้วไม่ให้คำแนะนำ ไอ้อาการแบบนี้เนี่ย มันจะฝังจิตฝังใจของมนุษย์นะครับ ให้โตขึ้นมาด้วยความกลัวผิด ความกลัวพลาด ไม่อยากโดนดุด่าว่ากล่าว ไม่อยากโดนเพื่อนเยาะเย้ย ล้อเลียน หรือว่าเอาไปประจานหรือว่าหัวเราะเยาะกันอะไรแบบนี้

ถ้าหากว่าเราเข้าใจ ‘ปมของมนุษย์’ นะครับ ว่ากลัวผิด กลัวพลาด เพราะว่าไม่อยากให้ใครดุด่าว่ากล่าวหรือมาล้อเลียนเนี่ย เราก็แก้ด้วยการที่เราตะลุยเลย คือกล้าที่จะผิด กล้าที่จะคิด กล้าที่จะออกไอเดีย ในสังคมออนไลน์ปัจจุบันเนี่ยมีเยอะแยะที่คน อย่างสมมติว่าเราจบวิศวะมา ก็มีคนมีปัญหาที่ไปถามในเรื่องเกี่ยวกับวิศวะ หรือว่าเราจบหมอมาก็มีคนไปไถ่ถามอยากได้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการรักษาเนื้อรักษาตัวอะไรเนี่ย เรามีความรู้อะไรก็แล้วแต่ ที่เรารู้จริงๆเนี่ยนะครับ เข้าไปเลย กล้าออกความเห็น กล้าช่วยเค้าแก้ปัญหา พูดง่ายๆว่า กล้าเอาตัวเองเข้าไปช่วยคนอื่นคิด มันจะดีกว่าเอาตัวเองเข้าไปคิดปัญหาให้ตัวเองนะ เพราะว่าเวลาที่เราคิดแก้ปัญหาให้ตัวเอง บางทีมันจะรู้สึกเหมือนกับทึบๆ มันจะอยากให้ปัญหานี้หมดไปทันที มันจะอยากให้ใครสักคนนึงเนี่ยเป็นซุปเปอร์แมนมาช่วยเป่าฟิ้ว แล้วก็ปัญหาหายไปเลย นี่ถ้าแก้ปัญหาให้ตัวเองมันจะรู้สึกแบบนี้ แต่ถ้าแก้ปัญหาให้คนอื่นเนี่ยบางทีมันจะมีความรู้สึกนะว่า เอ่อ ใจมันเปิดกว้างก่อน มันเห็นใจเค้าก่อน แล้วก็มีความรู้สึกอยากช่วย ไอ้ความรู้สึกอยากช่วย ไอ้ความรู้สึกอยากจะขจัดปัดเป่าปัญหาให้คนอื่นเค้าเนี่ย มันจะทำให้วิธีการคิดของเราเนี่ยนะครับ มันเห็นแนวทางมีความหลากหลายมากกว่า มันไม่กลัวผิดมันไม่กลัวพลาด

นึกออกมั้ย เวลาที่เราจะช่วยใครเนี่ย ถ้าช่วยได้เราก็จะดีใจแต่ถ้าช่วยไม่ได้มันก็ไม่ใช่เรื่องของเรา นี่ธรรมชาตินิสัยคนจะมองกันอย่างนี้นะครับ ทีนี้ถ้าเราไปฝึกที่จะช่วยทุกวัน ฝึกที่จะหาอะไรสักอย่างนึงที่เป็นประโยชน์ในตัวเราเนี่ย เอาไปหยิบยื่นให้คนอื่นเค้า ไหวพริบปฏิภาณมันจะออกมาในแบบที่ไม่ต้องเค้น ไม่ต้องบังคับ แล้วไม่กลัวผิด คือถ้าเราให้คำแนะนำไม่ถูก เดี๋ยวคนอื่นเค้าก็ให้คำแนะนำที่ถูกต้องออกมาเอง อะไรแบบนี้นะครับ พอคิดแบบนี้มันจะกล้าคิด แล้วปฏิภาณมันจะไหลลื่น มันก็ไหลลื่นออกมาจากความกล้าคิดเนี่ยแหละ แต่กล้าคิดอย่างเป็นประโยชน์นะ ไม่ใช่กล้าคิดแบบบ้าๆบอๆ

ทุกวันนี้รายการโทรทัศน์เอาอะไรออกมาเนี่ย ให้กล้าแสดงออกกล้าทำอะไรกัน แล้วเสร็จแล้ว ก็กล้ากับแบบที่มันบางที คือผมไม่ได้ดูทีวีนะ แต่ว่าก็เห็นข่าว มันไม่ค่อยจะจรรโลงใจเท่าไหร่นะครับ ก็ถ้าเรากล้าที่จะช่วยคนอื่น กล้าคิดดีเนี่ย ในที่สุดปฏิภาณมันมาเอง มันมาโดยที่ไม่ต้องไปเค้นนะครับ แล้วก็มันจะเป็นสิ่งที่คุณรู้สึกว่าเหมือนกับมันพัฒนาตัวของมันไปได้เรื่อยๆวันต่อวัน แต่ต้องใช้เวลาเป็นเดือนๆเป็นปีๆนะ ไม่ใช่แค่วันสองวันแล้วมันจะเห็นผล ต้องทำให้ออกมาจากใจจริงๆ ปฏิภาณเนี่ยแหละมาจากตรงนี้แหละนะครับ

นอกจากนั้นก็ขอให้พิจารณานะ ในหลักการของอิทธิบาท 4 เนี่ย พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสไว้อยู่แล้วว่า การที่เรามีฉันทะในเรื่องอะไรสักเรื่องนึง มีใจรักที่จะทำอะไรซักเรื่องนึง แล้วก็ทำๆๆด้วยความขยัน ทุ่มสุดตัวให้กับมัน มีจิตใจจดจ่อ มีแต่สิ่งที่มันเป็นงานอยู่ในหัวของเราเนี่ยนะครับ มันจะเกิดความหลากหลาย มันจะเกิดการเห็น มันจะเกิดการเห็นความแตกต่าง แล้วก็สั่งสมประสบการณ์มากขึ้นๆ นี่ก็เป็นทางมาของปฏิภาณเช่นกัน ปฏิภาณมาจากการเห็นความแตกต่าง แล้วรู้ว่าจะจัดการแบบไหน ให้เกิดผลอย่างไร อุปสรรคมาแบบนี้ เราจะก้าวข้ามไปได้อย่างไร ไอ้การที่เรา เราอยู่กับงานอะไรมากๆซักอย่างนึง มันจะทำให้เกิดปฏิภาณในงานนั้นๆไม่มีเลยที่อยู่ๆปฏิภาณมันจะโผล่ขึ้นมาเอง ต่อให้เคยทำบุญในเรื่องของการมีปฏิภาณมากมาเนี่ยนะ ก็ไม่ได้ช่วยนะ ถ้าหากว่าใจของเราเนี่ยขาดประสบการณ์ ขาดการที่จะเข้าไปรู้เข้าไปเห็นอะไรมากๆนะครับ ถ้าขาดประสบการณ์อย่างเดียวเนี่ย ปฏิภาณมันก็เป็นได้แค่ว่าคิดเลขเก่ง บวกเลขเก่งอะไรแบบนั้น แต่ว่าจะไม่มีปฏิภาณในการแก้ปัญหาอย่างแท้จริงนะครับ

นอกจากนั้นเนี่ยก็มีเรื่องของการเจริญสติ ที่พระพุทธเจ้าตรัสนะว่าจะทำให้เกิดปฏิภาณได้ดี ก็คือ ผู้ที่เจริญกายคตาสติอย่างเต็มที่ กายคตาสติ หมายถึงว่า เรารู้ทุกลมหายใจเข้าออกเนี่ย รู้คือ ลมหายใจเข้าออกเนี่ย มันเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เรานึกได้เมื่อไหร่ เราก็เฝ้าดูเฝ้าตามมันไป ว่านี่กำลังเข้า นี่กำลังออก นี่กำลังยาว นี่กำลังสั้น นอกจากนั้นก็ดูว่าอิริยาบถเคลื่อนไหวไปยังไงอยู่นะครับ รู้ทั่ว รู้เท่าทันไปในอาการของกาย แล้วก็จะเกิดปฏิภาณขึ้นมาได้ นี่เพราะอะไร เพราะว่าสติเนี่ย เมื่อเกิดขึ้นต่อเนื่องแล้ว ในที่สุดเนี่ย มันก็จะเกิดความว่องไว มันมาจากลักษณะของจิต คุณภาพของจิตที่มีความว่องไว ก็จะทำให้ไม่ติดขัดเวลาที่จะคิด เวลาที่จะอ่าน คือมันจะเห็นทะลุ มันจะมีความรู้สึกว่าจิตของเราเนี่ยเปิดกว้างก่อน ใจที่เปิดกว้างเนี่ยสำคัญมาก เป็นด่านแรกของปฏิภาณเลย ถ้าหากว่าใจปิดแคบเนี่ย ไม่มีทางที่ปฏิภาณเกิด ถ้าหากว่ากำลังตื่นเต้น กำลังประหม่าเนี่ย ไม่มีทางเลยที่ปฏิภาณมันจะมาแสดงตัว แต่ถ้าจิตใจเปิดกว้างแล้วมีความรับรู้อย่างต่อเนื่อง มีสติอย่างต่อเนื่อง นี่แหละตัวนี้แหละที่เป็นฐานที่เป็นที่ยืนของปฏิภาณนะครับ



๕) ขอวิธีสยบความใจร้อนและเอาแต่ใจตัวค่ะ?

คนเราที่ใจร้อนนะครับ การใจร้อนเนี่ยเราก็ต้องรู้ว่าหน้าตาความร้อนมันเป็นอย่างไร ถ้าหากว่ารู้สึกถึงความกระวนกระวาย ถ้าหากว่ารู้สึกถึงความรุ่มร้อนในอกนะครับ แล้วมีอาการความคิดแล่นจี๋ๆๆขึ้นมาเนี่ย ถ้าหากเรารู้นะ เราจะเห็นโทษของมัน แต่ถ้าหากไม่รู้ แล่นตามความร้อนไป หรือว่ามีอาการ แรงดันของการคิด การพูด การทำที่เป็นไปในทางเดียวกันกับความร้อนเนี่ย เราจะไม่มีทางที่จะจับได้ไล่ทัน ไม่มีทางที่จะรู้ลักษณะของความร้อนที่เกิดขึ้น

แต่เมื่อไหร่ที่อาการใจร้อนเกิดขึ้น หรือว่าความคิดที่มันหมุนจี๋อย่างรวดเร็วเนี่ยนะครับ มันสำแดงตัวขึ้นมาในหัวของเรา แล้วเราเกิดความมีสติ สามารถที่จะรู้สึกได้ว่าความร้อนหน้าตาเป็นอย่างไร อาการกระวนกระวายกระสับกระส่ายหน้าตาเป็นอย่างไร มันจะให้เห็นเหมือนกับมีอะไรวิ่งๆอยู่ในอก มันจะเหมือนกับมีเตาไฟอยู่ในเนื้อในตัว อยู่ใต้ผิวหนังเนี่ยนะครับ หรือว่าในหัวเนี่ยรู้สึกเหมือนกับว่ามีพายุปั่นอยู่ พายุทอร์นาโด พายุไต้ฝุ่นอะไรแบบนี้เนี่ยนะครับ ความรู้สึกเกี่ยวกับอาการใจร้อนหน้าตาเป็นอย่างไรที่มันกำลังปรากฏอยู่ แล้วเราสามารถรู้ได้ ใจจะค่อยๆเห็นโทษจริงๆ ‘เมื่อใจค่อยๆเห็นโทษของอาการปรุงแต่งแบบไหน มันจะค่อยๆคลายจากอาการยึดการปรุงแต่งแบบนั้นๆไปเอง โดยไม่ต้องพยายาม’ อันนี้จำไว้เป็นคีย์เลยนะครับ

คนส่วนใหญ่จะไปหาอุบาย หาโน่นนี่นั่นมา ซึ่งมันก็ใช้ได้เป็นคราวๆ แต่ตราบใดใจไม่เห็นโทษของความใจร้อนจริงๆ ไม่เห็นว่ามันไม่ดีอย่างไรนะครับ มันจะไม่มีทางคลาย กลไกทางจิตมีอยู่แค่นี้ ‘ยึดหรือไม่ยึด’ ถ้าหากไม่เห็นโทษมันก็ยังยึดอยู่นั่นแหละ ยึดอยู่เพราะอะไร เพราะนึกว่านั่นเป็นนิสัยของเรา นึกว่านั่นเป็นตัวเป็นตนของเรา นึกว่านั่นเป็นเอกลักษณ์ของเรา คนเราเนี่ย หวงตัวตน อะไรก็แล้วแต่ ที่เข้ากันกับตัวตนได้ เข้ากันกับอาการยึดของจิตได้ มันยึดหมด มันหวงไว้หมด แต่ถ้าหากว่าเปลี่ยนใหม่กลายเป็นมีสติ แล้วเห็นว่า เออ มันมีโทษอย่างนี้ มันทำให้กระสับกระส่าย ใจไม่เป็นสุขเลย เห็นเข้าเป็นเดือนๆ เห็นเข้าเป็นปีๆ นิสัยมันเปลี่ยนเอง เพราะอะไร เพราะใจเนี่ยมันเริ่มฉลาด มันไม่อยากยึดในสิ่งที่มันเป็นของร้อน ไม่อยากยึดในสิ่งที่มันเป็นพายุ เปรียบเหมือนคนที่ยังไม่เข็ดกับลมบ้าหมูหรือว่าพายุไต้ฝุ่นอะไรแบบนี้ที่มันจะมา ยังสนุกกะมันอยู่นะครับ จนกระทั่งเห็นชัด วันนึงเห็นชัดขึ้นมาว่ามันมาทีไร ความพินาศมาเยือนทุกครั้ง หรือว่าถ้าไม่พินาศเรายังเล่นสนุกกับมันอยู่ เราเล่นสนุกอยู่กับมันห่างๆ แล้วได้รับความเดือดร้อนไม่มากก็น้อย เดี๋ยวก็เป็นแผลเล็กแผลน้อย ถลอกอะไรบ้างเนี่ยนะครับ เห็นบ่อยๆเข้ามันเกิดความเบื่อ คือมันจะไม่นึกถึงความสนุกตอนที่พายุมา ไม่นึกถึงไอ้ความหวง ไอ้ความร้อน หรือว่าความกระวนกระวายกระสับกระส่ายที่มันเกิดขึ้น แต่จะไปนึกถึงผลของความร้อนที่มันทำให้เนื้อตัวไม่สบาย

ผลของอารมณ์ที่มันกระสับกระส่าย มีความวุ่นวาย ที่ทำให้ไม่เป็นสุข ตัวที่รู้สึก จำได้ชัดๆเนี่ยว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ไม่มีความสุขเมื่อนั้น ตัวนี้แหละที่จะทำให้จิตถอนนะครับ



๖) เห็นเงาตัวเองในกระจกแล้วรู้สึกกลัวเพราะอะไร?

นี่ก็พูดคุยกันถึงเรื่องความกลัวเงาในกระจกกันเยอะเลยนะครับ เอ่อ เล่าให้ฟังก็ได้ ผมเองก็เคยมีนะครับ มีอาการที่กลัวเงาตัวเองในกระจก แต่ช่วงนั้นเนี่ยคือชอบไปทำอะไรแปลกๆ ชอบไปศึกษาอะไรที่มันประหลาดๆนะครับ แล้วก็เอามาทดลอง เอามาเล่น แล้วก็มันมีผลติดจิตติดใจ ทำให้เกิดความรู้สึกว่าตัวเราเนี่ย มันมีอะไรที่น่ากลัวอยู่

คนทุกคนเนี่ยนะ โดยเบื้องลึกของทุกคนจะมีเงามืดอะไรอยู่เสมอ เงามืดอันเกิดจากความคิด เงามืดอันเกิดจากการพูด วิธีการพูด หรือว่าเงามืดอันเกิดจากการตกลงใจที่จะทำอะไรที่มันชั่วร้ายลงไป แล้วสิ่งนั้นมันยังเป็นเงา มันยังเป็นอะไรที่ทาบจิตทาบใจของเราอยู่ไม่ไปไหน วันนึงพอเรามองเงาตัวเองในกระจกแล้วเรารู้สึกถึงไอ้ความมืดตรงนั้นขึ้นมานะครับ มันก็เหมือนกับเห็นผี ลองนึกดูนะครับ ผีเนี่ย ในจินตนาการของเราเป็นไง มันต้องชั่วร้าย มันต้องมืด มันต้องมีความหนาวเย็น ทำให้เกิดความรู้สึกหนาวเย็น ไอ้ลักษณะของใจที่มันมีความมืดก็เป็นแบบนั้น เป็นแบบเดียวกับผีที่เราจินตนาการเอาไว้นั่นแหละ มันมีความรู้สึกไม่ดี มันมีความรู้สึกน่าอึดอัด มันมีความรู้สึกสยองๆ มันเหมือนน่าขนลุกนะครับ มันเหมือนสันหลังมันสามารถจะหนาวเย็นได้ อะไรแบบนั้น

ก็ถ้าแค่เราบอกตัวเองได้ว่า มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น มันเกิดจากจิตที่เป็นอกุศล จิตที่มืด บอกตัวเองเท่านี้ มันก็จะเกิดความเข้าใจแล้วว่า อ๋อ นี่เค้าเรียกว่า ‘อกุศลจิต’ พอรู้ว่าความน่ากลัวที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่ผี มันไม่ใช่อะไรที่จะมาทำร้ายเรา แต่ว่าเป็นสภาพทางใจ เป็นสภาพการปรุงแต่งทางจิต เป็นธรรมชาติชนิดนึงที่ก่อให้เกิดความรู้สึกหนาวเย็น ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกทึบทึม มันกลายเป็นได้ความรู้ไปแล้ว เราก็จะหายกลัวนะครับ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่สามารถเห็นอกุศลจิตของตัวเองได้เนี่ย มันจะมีแก่ใจที่จะไม่ไปสาปแช่งใครเค้า ที่จะไม่ไปด่าทอใครเค้า ที่จะไม่ไปคิดร้ายกับใครเค้านะครับ คนสมัยนี้เนี่ย แปลกอย่าง นอกจากจะขยันไปดูหนังสยองขวัญ ยังชอบที่จะไปสร้างรากเงา รากฐานของความเป็นผี ผีร้าย ด้วยการไปอาละวาดด้วยคำพูด ทางเว็บบอร์ดบ้าง หรือว่าทางอากาศนี่แหละ คือในอากาศในบ้านหรือในอากาศออฟฟิศเนี่ย เต็มไปด้วยเสียงด่า คือสมัยก่อนนี่ ถ้าคนได้ยินได้ฟังคำด่ากัน เป็นหมูเป็นหมาหรือว่าอะไรเนี่ย ก็จะได้ยินกันที่บ้านหรือว่าได้ยินตามร้านกาแฟ ตามร้านเหล้าอะไรแบบนี้ แต่ทุกวันนี้นี่ มีตามออฟฟิศ

นี่คือมีคนมาเล่าให้ฟังเยอะเลยว่า เดี๋ยวนี้เค้าไม่ได้ด่ากันธรรมดาและเวลาเจ้านายด่าลูกน้องเนี่ย ด่าเหมือนกับอยู่ในตลาดสดอะไรแบบนั้นนะครับ ใช้ภาษาสมัยพ่อขุนรามบ้าง หรือว่าด่าแบบไม่ให้ได้ผุด ไม่ให้ได้เกิดบ้าง อันนี้มันเป็นลักษณะของผีร้าย ลักษณะเดียวกันของผีร้าย คนที่ด่าใครไปมากๆเนี่ยนะครับ เวลามองเงาตัวเองในกระจกเนี่ย ลองสังเกตดูเถอะ วันไหนด่าใครไปมากๆ ด่าแบบสาดเสียเทเสียเลยเนี่ยนะครับ ลองมาสังเกตดูว่าจริงมั้ย กระแสมันออกมานะความน่ากลัวเนี่ย ความน่ากลัวที่เกิดจากจิต วิญญาณที่ปรุงแต่งนะครับ พร้อมจะไปทางต่ำแล้วเนี่ย มันจะให้ความรู้สึกออกมาเป็นอะไรที่หนาวเย็น ถึงแม้คนที่จะเจริญสติหรือว่าทำบุญทำกุศลเอาไว้มาก บางทีก็ไม่พ้น คือถึงไม่ออกมาทางปากมันก็ออกมาทางความคิด หรือถึงตอนนี้จะไม่ได้คิดนะครับ แต่เมื่อก่อนก็อาจจะคิด แล้วมันกลายเป็นเศษขยะหรือว่าอะไรที่มันร้อนๆ ที่มันหมักหมมซุกอยู่ใต้พรมไว้นาน เกิดความรู้สึกเศร้าใจ เกิดความรู้สึกห่อเหี่ยวอะไรขึ้นมาเนี่ย มันก็เกิดผุดขึ้นมาได้

สรุปแล้วก็คือว่า ‘ให้สำรวจตัวเอง’ อะไรที่มันเป็นกุศล อะไรที่เป็นความสว่างสะสมไปเถอะ มันดีแน่ๆ เวลามองเงาตัวเองในกระจกมันจะไม่เกิดความกลัวเลย มันจะมีแต่ความรู้สึกอบอุ่น มีแต่ความรู้สึกสบายใจ เออ หน้าแบบนี้ใสๆ น่าคบหานะครับ คบหากับตัวเองเนี่ย มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอด ๒๔ ชั่วโมง มันไม่มีทางเลยที่จะออกจากความเป็นตัวเองไปได้ ถ้าสร้างมิตรไว้ในใบหน้าของตัวเอง ถ้าสร้างมิตรไว้ในการคิด การทำ การพูดของตัวเองนั่นแหละครับ คุณสร้างมิตรแท้ไว้ตลอด ๒๔ ชั่วโมงสำหรับตัวเอง


สำหรับคืนนี้ครับ ราตรีสวัสดิ์ แล้วก็ขอให้เจริญในธรรมทุกท่านครับ


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น