วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๕๙ / วันที่ ๔ มิ.ย. ๕๕


สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันจันทร์ที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงครับ ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรงนะครับ สำหรับการทักทายและไถ่ถามเข้ามาในรายการนะครับ ให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/HowfarBooks

วันนี้วันเกิดของพระพุทธเจ้านะครับ วันวิสาขบูชา ปกติถ้าหากว่าเป็นญาติผู้ใหญ่หรือว่าเป็นบุคคลที่เราเคารพรัก ก็จะมีการเอาของขวัญไปมอบให้แก่ท่านกันนะครับ แล้วก็ทำอะไรที่เป็นเรื่องที่ท่านจะมีความสดชื่น มีความรื่นเริง หรือว่ามีความเบิกบานใจ ถ้าถามว่าพระพุทธเจ้าท่านทรงโปรดอะไร เวลาที่มีคนอยากจะถวายเป็นพุทธบูชา หรือว่าอยากจะทำให้ท่านมีความสำราญพระทัย ท่านตรัสว่า ท่านชอบที่สุดก็คือการได้เห็นคนปฏิบัติธรรมเพื่อที่จะนำมาบูชาเป็นบรรณาการแด่ท่าน ถ้าหากว่ามีการปฏิบัติประพฤติธรรมจนเกิดความสว่างไสวไปทั่ว แล้วก็มีเจตจำนงร่วมกันที่จะถวายแด่ท่าน ท่านก็จะมีความปีติโสมนัส มีความรู้สึกที่ดี มีความรู้สึกที่เหมือนได้ของขวัญ ถ้าหากว่าเราประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วตั้งใจร่วมกันที่จะถวายเป็นพุทธบูชา เรียกว่าได้ทำในสิ่งที่สมควรจะทำในวันวิสาขบูชาร่วมกัน เพราะฉะนั้นวันนี้พิเศษนิดหนึ่ง ขอให้เรามานั่งสมาธิ ก็ผมจะนำนั่งสมาธิ ถ้าหากว่าอยู่ในอิริยาบถที่ไม่สะดวกก็ไม่เป็นไร ฟังไว้เฉยๆหรือว่ามาทำตามทีหลัง แต่ก็เชื่อว่ายังมีสัก ๑๐-๒๐ คน อย่างน้อยก็น่าจะพร้อมที่จะนั่งสมาธิร่วมกันถวายเป็นพุทธบูชาในขณะนี้นะครับ

เริ่มต้นขึ้นมาเพื่อที่จะให้เกิดสมาธิได้ง่ายที่สุด อย่าไปตั้งใจว่า เราจะทำให้เกิดสมาธิ เราจะทำให้เกิดความสงบ หรือว่าความฟุ้งซ่านที่อยู่ในหัวมันจงหายไป ปลาสนาการไปทันทีนะครับ ตรงกันข้าม เราทำให้จิตใจของเราให้มันมีความผ่อนคลายมากที่สุด คือไม่ไปบังคับ ไม่ไปกะเกณฑ์อะไรทั้งสิ้นนะครับ ถ้าหากว่าเราฟุ้งซ่านอยู่ เราก็ยอมรับไปตามจริงว่าเราฟุ้งซ่าน เราก็หลับตา นั่งตัวตรง หลังอาจจะพิงกับพนักก็ได้ แล้วก็เอาฝ่ามือวางไว้บนหน้าตัก ถ้าหากว่าตอนนี้เรากำลังนั่งอยู่บนเก้าอี้ เท้าก็จะห้อยลงไปที่พื้นนะครับ แล้วก็ลองสังเกตดูว่าเท้าที่สัมผัสวางราบกับพื้น มีความเกร็งหรือเปล่า มีความงองุ้มอยู่หรือเปล่านะ ถ้าหากว่ามีอาการงอมีอาการงุ้ม ก็ให้วางแบสบายๆเสีย เราจะมีความรู้สึกขึ้นมาทันที อาการกำอาการเกร็งของใจมันลดลง นี่แสดงว่าพื้นจิตพื้นใจของเรานี้สามารถที่จะดูได้จากฝ่าเท้านั่นแหละ มันเป็นตัวส่งผลสะท้อนได้อย่างดีเลยว่าจิตใจเรากำลังอยู่ในภาวะที่สงบ มีภาวะที่ตึง มีภาวะที่เกร็งอยู่นะครับ หรือว่ามีภาวะที่สงบอยู่ ถ้าหากว่ามีภาวะที่สงบสบายอยู่ ฝ่าเท้าก็จะมีอาการผ่อนคลายตามไปด้วย ถ้าหากว่าเราสำรวจ สังเกตแล้วว่าฝ่าเท้ามีอาการวางราบดีแล้ว สบายแล้วนะครับ ก็ให้ขึ้นมาสังเกตว่าฝ่ามือ มีอาการเกร็งอยู่หรือเปล่า มีอาการกำอยู่หรือเปล่า ถ้าหากว่าวางราบอยู่กับหน้าตักได้อย่างดีนะครับ ไม่มีอาการกำ ไม่มีอาการเกร็ง เราก็จะรู้สึกสบายขึ้นมาครึ่งตัว

สำรวจต่อมานะครับ ถ้าบนใบหน้าของเรามีส่วนใดส่วนหนึ่งที่มีอาการขมวดไหม มีส่วนใดส่วนหนึ่งที่มีอาการตึงไหม บางทีหน้าผากอาจจะขมวดอยู่ หรือว่าขมับอาจจะตึงอยู่จากการทำงาน จากการที่มีการเคร่งเครียดมาทั้งวันนี้ สำรวจดูแล้ว ถ้าหากว่าเราทำให้หัวคิ้วผ่อนคลายไปได้ ขมับเลิกตึงได้นะ คล้ายๆกับยื่นหน้าขึ้นไปมองท้องฟ้า มีความรู้สึกเปิดกว้าง มีความรู้สึกสบายผ่อนคลายทั่วทั้งใบหน้าแล้วนี่ ถึงตรงนี้นะครับ คุณจะรู้สึกสบายขึ้นมาทั้งตัว

การที่เรามีความผ่อนคลาย สบายขึ้นมาทั้งตัว สำรวจไปทั้งฝ่าเท้า ฝ่ามือ แล้วก็ทั่วทั้งใบหน้านี้ มีความสบายขึ้นมาทั้งตัว แล้วจิตใจจะพร้อมเป็นสมาธิ โดยไม่ต้องไปบังคับเลย โดยไม่ต้องไปสั่งเลยว่าจงเป็นสมาธิ จงมีความสงบ จงมีความตั้งมั่น หรือว่าความฟุ้งซ่านจงหายไปนะ ไม่จำเป็นต้องไปสั่งเลย มันมีความสบายขึ้นมาเอง ความสบายนั่นแหละ จะทำให้เกิดความไม่อยากคิดมาก ถ้าหากว่าร่างกายเป็นฐานที่ตั้งที่พร้อมจะทำให้เกิดสมาธิแล้ว

ขั้นต่อมา ก็แค่สำรวจเฉยๆนะครับ ดูตามจริงไป ฟุ้งซ่านหรือเปล่า ยังมีความกระวนกระวาย ยังมีการคิดถึงสิ่งโน้นสิ่งนี้หรือเปล่า ยังมีความห่วง ยังมีความข้องพะวงอยู่หรือเปล่า ถ้าหากว่ามีความข้องมีความพะวงนะ นั่นมันก็จะสะท้อนขึ้นมาทันที ฝ่าเท้านี้อาจจะตึงขึ้นมาใหม่ อาจจะเกร็งขึ้นมาใหม่ อาจจะงอขึ้นมาใหม่ แล้วก็จัดการให้มันวางราบแบสบายเสีย เมื่อฝ่าเท้าแบสบายนะ วางราบกับพื้นเราก็จะรู้สึกว่าความฟุ้งซ่านหรือว่าอาการข้องพะวงนี่มันลดลงตามไปด้วย มันมีความผูกกันอย่างนี้ระหว่างใจกับร่างกายนะครับ ถ้าหากว่าสำรวจไปเรื่อยๆเป็นระยะๆว่าฝ่าเท้า ฝ่ามือ แล้วก็ทั่วทั้งใบหน้ามีส่วนใดส่วนหนึ่งที่กล้ามเนื้อตึงหรือว่าเกร็งผิดปกติขึ้นมาเราผ่อนเสีย เราทำให้มันผ่อนคลายเสีย มีความสบายนี้นะครับ จิตใจมีความสว่างขึ้นมาทันที จิตใจมีความสบายขึ้นมาทันที เอาอาการสบายของใจนั่นแหละ มาสำรวจ สังเกต

ขณะนี้ร่างกายต้องการที่จะดึงลมเข้า หรือว่าต้องการที่ระบายลม ที่อยากได้ลมหายใจ ถ้าหากว่าร่างกายยังไม่ได้อยากได้ลมหายใจ ก็ไม่ต้องไปเร่ง ไปสูดมันเข้ามา ถ้าหากว่าร่างกายยังลากลมหายใจเข้าไปยังไม่สุด ก็ยังไม่ต้องระบายออกมา สำรวจสังเกตเอาตามความสบายของกายเป็นหลักเลย ถ้าหากว่าเรามีความพร้อมทางร่างกายอยู่แล้ว มีความผ่อนพักอยู่แล้วนี้ ลมหายใจจะเข้าออกตามจังหวะจะโคนที่มันเป็นไปตามธรรมชาติของมัน แล้วใจของเราจะอยู่ในฐานะผู้รู้ ผู้ดู ไม่ใช่ผู้บังคับลมหายใจต่อไปนะครับ ดูไปเรื่อยๆเดี๋ยวมันก็เข้า เดี๋ยวมันก็ออกนะครับ ถ้าหากว่าเราสามารถเห็นได้แล้วว่า ลมหายใจเดี๋ยวก็เข้า ลมหายใจเดี๋ยวก็ออก มันจะมีความสามารถที่จะสังเกตในขั้นต่อไป

ถ้าหากว่าใจมันมีความสว่างมันมีความสบายนี้ แล้วสังเกตว่า เดี๋ยวก็เข้า เดี๋ยวก็ออก มันจะมีความสามารถขั้นต่อมา คือเห็นลมหายใจมันไม่เที่ยง มันมีความยาวบ้าง มีความสั้นบ้าง นอกจากเข้าแล้วออก เข้าแล้วออกนี้ แสดงความไม่เที่ยงอยู่ตลอดเวลา แล้วมันยังแสดงความไม่เที่ยงต่อไปอีกชั้นหนึ่ง คือเดี๋ยวก็ยาว เดี๋ยวก็สั้น ตามความต้องการของร่างกาย ที่ไม่ได้ต้องการที่จะดึงลมเข้า แล้วก็ระบายลมออกนี้ยาวเสมอไป บางครั้งมันต้องการระบายสั้นๆมันต้องการที่จะดึงเข้าสั้นๆนะครับ เราก็เอาตามจังหวะ ตามธรรมชาตินั่นแหละมาดู ไม่ใช่ไปพยายามบังคับให้ยาวตลอดเวลา บางคนนี้บังคับให้ลมหายใจยาวตลอดเวลา มันกลายเป็นการสร้างความอึดอัดไป สร้างอาการเกร็ง สร้างอาการฝืนให้กับร่างกายไป มันเป็นความทุกข์ทั้งกายทั้งใจไป แต่ถ้าหากว่าเราดูอยู่ เรารู้อยู่ ทั่วทั้งกายทั้งใจตามที่มันปรากฏให้เห็น ตามที่มันเป็นอยู่ตามปกติธรรมดา ในที่สุดมันจะเกิดความรู้สึก มันจะมีความสุข มีสติอยู่กับอะไรที่แสดง มีความเปลี่ยนแปลงให้ดูอยู่ตลอดเวลา

เอาละครับ ลองทดลองฟังไปด้วย แล้วก็อาจจะนั่งสมาธิต่อไปด้วยก็ได้นะครับ ถ้าหากว่าใจของเรา มีศูนย์กลางเป็นการรับรู้ลมหายใจเป็นแบบสบายๆไม่ไปเพ่งฝืน ไม่พยายามระงับอาการฟุ้งซ่าน เดี๋ยวมันก็จะเห็นเองว่าการฟุ้งซ่านมาแล้วก็ไป มาแล้วก็ไป ไม่ต่างจากลมหายใจ เข้าแล้วก็ต้องออกเป็นธรรมดา พอมันไม่มีการยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาแล้วนี้ ใจก็จะเกิดอาการรู้ มีความตั้งมั่น มีความสว่าง มีความสงบอีกแบบหนึ่ง เป็นสงบแบบพุทธ สงบแบบตื่นรู้ ไม่ใช่สงบแบบนิ่งทื่อ



๑) วันนี้เรามาปฏิบัติธรรมเป็นพุทธบูชาในวันวิสาขบูชากัน ถามว่าในขณะเข้ากรรมฐาน การสังเกตการเกิดดับของรูปขันธ์ เข้าใจว่าคงจะถามว่า รูปขันธ์ นามขันธ์ เป็นอย่างไร? และทำอย่างไร?

เอาเลย ก็ตรงนี้แหละ พอดีเลย ดูเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้เลยแล้วกัน

ลมหายใจที่เข้า พัดเข้านี้นะ ทางพุทธ เราเรียกว่าเป็น ‘ธาตุลม’

ธาตุลม ไม่ไช่มีความเป็นบุคคล ไม่ใช่มีความเป็นชาย ไม่ใช่มีความเป็นหญิง มีแต่อาการพัดไหว พัดเข้า พัดออก พัดเข้า พัดออกอยู่อย่างนี้นะครับ

ถ้าหากว่าเราไม่เห็น เราลากลมหายใจเข้าตามปกติ มันจะเกิดความยึดมั่นถือมั่นขึ้นมาทันที เกิดอุปาทาน ความสำคัญผิด มั่นหมายผิดทันที เราเป็นผู้หายใจ ลมหายใจเป็นของเรา ต่อเมื่อ เรามานั่งสมาธิ ในแบบที่เฝ้ารู้ เฝ้าดูตามจริง ว่าลมหายใจเดี๋ยวก็เข้า เดี๋ยวก็ออก เดี๋ยวก็เข้า เดี๋ยวก็ออก ตอนแรก ก็จะยังมีอุปาทานอยู่นั่นแหละ ว่านี่คือ ลมหายใจของเรา เรากำลังหายใจอยู่ กำลังหายใจเข้า กำลังหายใจออกอยู่ ต่อเมื่อถึง จุดหนึ่งที่จิตไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่า นี่เรากำลังคิด นี่เรากำลังดึงลมหายใจ นี่เรากำลังระบายลมหายใจอยู่ มีแต่ความรู้สึกว่า ลมหายใจเดี๋ยวก็เข้า เดี๋ยวก็ออก เดี๋ยวก็เข้า เดี๋ยวก็ออก อยู่ในภาวะท่ามกลางภาวะรู้ ท่ามกลางภาวะตื่น ท่ามกลางภาวะความสงบความสว่าง มันจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาทันที สักแต่ มีแต่ มีอาการพัด มีอาการไหว เดี๋ยวก็เข้า เดี๋ยวก็ออกมา นี่ตรงนี้แหละเริ่มเห็นธาตุลมแล้ว

ความเป็นธาตุลม เรียกว่า รูปขันธ์หนึ่ง เป็นหนึ่งในรูปขันธ์ นี่ก็คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม

อย่างธาตุดินนี้นะ ก็ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง นะครับ นี่เป็นของแข็งก็เลยเรียกว่าเป็น ธาตุดิน ส่วนธาตุลม นี่ก็ลมหายใจ ชัดๆเลยนะครับ ธาตุไฟ ได้แก่ไออุ่น บางคนนั่งสมาธิแล้วเกิดความรู้สึกว่าตัวร้อน นี่แหละธาตุไฟเกิดกำเริบขึ้นมา แล้วถ้าหากว่า เราสามารถรับรู้ ถึงธาตุน้ำ คือ อยู่ในปากของเรานี้เป็นน้ำลาย หรือว่าอาจจะมีน้ำตาเวลาที่นั่งสมาธิเกิดปีติ บางทีมีน้ำตาซึมออกมาที่ขอบตา อย่างนี้เรียกว่า เป็นการรับรู้ถึงความเป็นธาตุน้ำนะครับ

ทีนี้นี่ ถ้าเรารู้สึกถึงลมหายใจอย่างเดียวนี้ ก็เรียกว่าเหมารวมและดูเป็นรูปขันธ์ ที่มันกำลังเข้าออกอยู่ในความเข้มแข็งที่ประกอบขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง ที่ประกอบขึ้นเป็นท่านั่งอย่างนี้นะครับ แล้วก็ในท่านั่งนี้มีไออุ่นอยู่ ในไออุ่นนี้นะ บางทีเราก็มีความรู้สึกถึงน้ำลายในปากบ้าง ว่ามีความรู้สึกถึงน้ำตาที่อยู่ที่ขอบบ้างที่เรียกว่า เห็นรูปขันธ์ผ่านศูนย์กลางนะครับ คือ ธาตุลม ถ้าหากว่าเราสามารถที่จะรู้สึกถึงธาตุลมได้ เรียกว่าเป็นการเห็นรูปขันธ์แสดงความไม่เที่ยงอยู่ตลอดเวลาได้แล้วนะครับ

จิตมีความนิ่ง จิตมีความสว่าง ถ้าจิตไม่นิ่ง เรียกว่าไม่สามารถจะเห็นความเป็นรูปขันธ์ได้หรอก คือ ต่อให้มีความกำหนดนึกมีการเค้นคิดว่านี่คือรูปขันธ์นะ นี่คือธาตุลมนะ แต่ใจก็ไม่ยอมรับมันจะมีแต่อาการสำคัญผิด ทึกทักว่าลมหายใจ นี่คือเรา ลมหายใจนี่ของเรา ต่อเมื่อจิตมีความสงบ มีความว่างจากความฟุ้งซ่าน แล้วเห็นว่าลมมันพัดเข้าพัดออกอยู่ ปราศจากความเป็นบุคคล ปราศจากมโนภาพว่านี่ชายนี่หญิง นี่ตรงนี้แหละที่รูปขันธ์เริ่มปรากฏแสดงว่ามันไม่เที่ยง แต่ละครั้งที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกอยู่นี่ เราก็สามารถรับรู้ได้ว่ากำลังมีความเป็นสุข หรือมีความอึดอัดเป็นทุกข์ ถ้าหากว่ามีความเป็นสุข จะผ่อนคลาย จะสบาย เหมือนกับที่ผมให้สังเกตดูนะครับ ถ้าฝ่าเท้า ฝ่ามือและก็ทั่วทั้งใบหน้าของเรามีความผ่อนคลาย กล้ามเนื้อไม่มีอาการตึง อาการเกร็งนี่ อย่างนี้เรียกว่ามีความสุข อย่างนี้เรียกว่ามีความสบาย

แล้วแต่ละลมหายใจนี่ ถ้าเรายังมีความรู้อยู่กับลม ไม่ขาดสาย ในที่สุดเราสามารถมีความรับรู้เข้ามาว่า ความสุขนี่มันไม่เที่ยงหรอก มันไม่ได้สบาย มันไม่ได้ผ่อนคลายอยู่ตลอดเวลา บางครั้งมันก็เกิดความเกร็งขึ้นมาใหม่ เกร็งเท้า เกร็งมือ เกร็งหน้าก็ตาม ถ้ามีสติไหวทัน เราก็ทำให้มันผ่อนคลายเสีย มันก็กลับสบายขึ้นมาใหม่ แต่ถ้าหากว่ารู้ไม่ทัน มีอาการกำ มีอาการเกร็งขึ้นมา หรือว่ามีอาการฟุ้งซ่านขึ้นมาในหัว แล้วไปตามความฟุ้งซ่านนั้น เกิดอาการขมวดขึ้นมา เริ่มต้นจากภายใน หรือว่าจะเริ่มต้นที่ภายนอกก็ตาม
อย่างนี้เรียกว่าความทุกข์เกิดแล้ว ความทุกข์ ความสุขนี้ หรือว่าความอึดอัด ความสบายนี้นะ แสดงความไม่เที่ยงอยู่เรื่อยๆต่อให้เรานั่งสมาธิแล้วมีความสุขมาก ความสุขนั้นก็อาจจะตั้งอยู่ได้นาน แต่มันก็แสดงความไม่เที่ยงจนได้

เรื่องของเรื่องก็คือ เวลาที่เรากำลังเป็นทุกข์เพราะความฟุ้งซ่านอยู่นี่ อย่าไปยึดว่านี่ความทุกข์ของเรา เราอยากจะให้ความทุกข์ของเรานี้ มันถูกทำลายทิ้งไป มันหายไปจากตัวเรา แล้วพอเวลามีความสุขเราก็เกิดความหวง เกิดความกังวลว่าทำอย่างไร ถึงจะรักษาความสุขนี้ไว้ได้นานๆ พอมันเปลี่ยนไป ไม่อยู่ได้นานตามใจ ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา เกิดความทุรนทุรายอยากได้ความสุขกลับคืนมา

บางคนเคยทำสมาธิได้อย่างดี อีกวันทำไม่ได้ เกิดความรู้สึกสมเพชตัวเองเหลือเกิน สงสารตนเองเหลือเกิน แสวงหาอุบายวิธี ทำอย่างไรถึงจะทำความสุขกลับมาสู่กายสู่ใจเราได้ นี่เป็นอุปาทานที่ผิด เป็นความสำคัญผิด เป็นความเข้าใจผิดที่มีมาช้านาน ชั่วกัปชั่วกัลป์ ถ้าหากว่าเรามีความเข้าใจที่ถูกแล้วนะ ไม่ต้องเกิด ไม่ต้องตาย ไม่ต้องหลงผิดไปลงนรก ไม่ต้องหลงผิดไปเป็นเดรัจฉาน ไม่ต้องหลงผิดไปเป็นเปรต ไม่ต้องหลงผิดมาเป็นมนุษย์ที่มีความทุกข์ ไม่ต้องหลงผิดมาเป็นคนจนบ้าง คนอกหักบ้าง มาเป็นคนเจ้าน้ำตาบ้าง มาเป็นคนที่มีชะตาชีวิตที่ระหกระเหินลำบากลำบนนะครับ ถ้าไม่มีความหลงผิดตัวเดียว ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นตัวเดียว

ใจเรานี่นะครับ จะมีความอยากจะให้ ออกเป็นทาน มีความอยากจะสละออก มีความรู้สึกเหมือนกับว่าตัวตน หรือว่าอาการหวงของใจ ไม่อยากให้มันมีเลย เพราะว่ามันทำให้เสียความสุขไป สภาพของความสุขที่แท้จริงนี่ มันต้องมีอาการเปิด มันต้องมีอาการสบายมันต้องมีอาการผ่อนคลาย แต่พอทำเพื่อตัวเพื่อตนขึ้นมาปุ๊บนี่ เกิดความโลภ เกิดความอยากจะดึงดูดอะไรต่างๆเข้ามาหาตัว เพื่อที่จะเป็นเจ้าของ เพื่อที่จะครอบครอง อันนี้เกิดความทุกข์ เกิดความอึดอัดขึ้นมาแล้ว ตั้งแต่เริ่มอยากขึ้นมาทีเดียว ถึงแม้ว่าจะได้มาแล้วเกิดความดีใจ เกิดความสะใจ แต่มันก็เกิดความพะวง เกิดความหวง

เหมือนกับตอนที่เรานั่งสมาธิแล้วมีความสุข มันอยากให้ความสุขกลับมาอีก อยากให้มีความสุขที่ตั้งมั่นอยู่ติดตัวของเราตลอดไป นี่ความโลภ แต่ถ้ามีความเข้าใจที่ถูก มองอยู่ เฝ้าดูอยู่ ว่าความทุกข์ ความสุขนี่นะครับ หรือที่เรียกว่า เวทนาขันธ์นี้ มันไม่เที่ยง ไม่มีใครรักษาให้ความสุขหรือความทุกข์นี่มันอยู่ติดตัวได้ตลอดไป เมื่อหมดกำลังส่งของความสุข มันก็กลายเป็นความทุกข์ เมื่อหมดกำลังส่งของความทุกข์มันก็กลายเป็นความสุข เห็นอยู่อย่างนี้ไม่ต่างจากเห็นลมหายใจเข้าบ้างออกบ้าง ถ้าดูลมหายใจเข้าออกเป็นนะ ก็จะดูความสุขความทุกข์ไม่เที่ยงเป็นเหมือกัน มันประกบติดมาทีเดียว มันมาด้วยกันทีเดียว เวทนาขันธ์กับรูปขันธ์ เราเห็นอยู่ว่าลมหายใจไม่เที่ยง ก็จะเห็นเช่นกันว่า ความสุข ความทุกข์ ไม่เที่ยงในแต่ละระลอกลมทีเดียว

จากนั้น พอจิตของเรามีความตั้งมั่น มีความละเอียดขึ้น สามารถเห็นได้และเชื่อแล้วว่าสุขกับทุกข์นี้ อย่างไรก็รักษาไว้ไม่ได้หรอก มีแต่สร้างเหตุปัจจัยขึ้นมา ถ้ามีเหตุปัจจัยของสุขมากก็ตั้งอยู่ได้นาน แต่ถ้าหากว่าเหตุปัจจัยของความสุขนี้มีเพียงเล็กน้อย ความสุขก็หายไป เสื่อมไป มันเกิดความเห็นที่ชัดเจน เกิดปัญญาขึ้นมา

จากนั้น ก็จะมีความเห็นที่ละเอียดเข้าไปกว่านั้น อย่างเวลาที่เกิดความฟุ้งซ่านขึ้นมา ก่อนที่จะฟุ้งซ่านนี้มันมีความสงบ มันมีความรู้อยู่ มันเหมือนกับที่โล่งว่าง ที่ลมสงบ ไม่ไหวติง แล้วอยู่ๆก็มีอาการพัดไหว มันก็มีอาการไกวตัวขึ้นมา มันมีอาการกระเพื่อมตัวขึ้นมา ตอนที่เกิดอาการกระเพื่อมตัวขึ้นมายังไม่รู้หรอกว่าคืออะไร แต่พอมีก้อนความคิดนี่ กลุ่มความคิดเข้ามากระทบใจ จะจำได้ขึ้นมาทันทีว่า เรื่องนั้นเกี่ยวกับความคิด เกี่ยวกับเรื่องอะไร ตรงนั้นเรียกว่าสัญญาขันธ์

สัญญาขันธ์นี่ก็ไม่เที่ยง ความจำได้หมายรู้ จำได้ว่าเรากำลังคิดเรื่องอะไร จำได้ว่านี่จิตกำลังมีความสงบ สว่างอยู่ จำได้ว่านี่เป็นตัวเรา ชื่ออะไร เพศอะไร ความจำแบบนี้ ถ้าหากว่ามันเที่ยงแล้ว จะต้องมีความจำ ช่วงใดช่วงหนึ่ง วินาทีใดวินาทีหนึ่ง ตรงอยู่ตลอดเวลา แต่นี่พอเกิดความสุข เราคิดถึงเรื่องหนึ่ง เกิดความทุกข์เราคิดถึงอีกเรื่องหนึ่ง ความจำเกี่ยวกับเรื่องต่างๆนี้ ที่มาพร้อมกับอาการปรุงแต่งของใจมันไม่เหมือนเดิม มันเป็นกุศลสัญญาบ้าง เป็นอกุศลสัญญาบ้าง ถ้าเห็นอยู่ในสมาธิว่า ความทรงจำเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆมันไม่เที่ยง บางทีมันลืมไปแล้ว มันไม่นึกว่ามันมีเรื่องราวแบบกลับเข้ามาในหัว มันก็กลับเข้ามา โดยที่เราไม่ได้เชื้อเชิญ อยู่ๆบางทีนิ่งๆอยู่ๆว่าง เรื่องราวสมัยตั้งแต่เด็กๆตั้งแต่สมัยไหนมันกลับเข้ามาในหัวโดยที่เราไม่ได้เชื้อเชิญ แบบนี้ก็เป็นการแสดงตัวของความไม่เที่ยงแห่งสัญญาได้เหมือนกัน

เราสามารถเห็นว่าสัญญาขันธ์ผุดขึ้นมาโดยไม่ได้เชื้อเชิญนะ หรือว่าสัญญาขันธ์ผุดขึ้นมา เพราะมีอาการกระทบอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น นั่งสมาธิอยู่แล้วเกิดมีเสียงโหวกเหวก หรือว่ามีเสียงที่เป็นเสียงรบกวน ให้เกิดความรู้สึกไม่ชอบ ไม่ปรารถนานะ อย่างนี้อกุศลสัญญามันก็เกิดขึ้น คือมีความรู้สึกหงุดหงิด มีความรู้สึกไม่ชอบ ความรู้สึกไม่ชอบนี้ มันจะนำมา ด้วยตัวความรับรู้ก่อนว่า เสียงนั้น คือเสียงของใคร เสียงอะไร ลักษณะการปรุงแต่ง ที่เป็นชอบ เป็นชังนะ ลักษณะที่ปรุงแต่งอยากจะทำอะไรขึ้นมา คิดเป็นดีเป็นร้าย เรียกว่าสังขารขันธ์ ตัวปรุงแต่งให้จิตใจเป็นดีบ้าง ตัวปรุงแต่งให้จิตใจเป็นร้ายบ้าง เดี๋ยวก็มืด เดี๋ยวก็สว่าง เรียกว่าสังขารขันธ์ ไม่เที่ยงเหมือนกัน มันมาพร้อมกันกับสัญญาเลย ถ้าอกุศลสัญญาเกิดขึ้น ส่วนใหญ่จะคิดไม่ดี จะตั้งใจไม่ดี จะคิดร้าย แต่ถ้าหากว่ามีกุศลสัญญาขึ้นมา ส่วนใหญ่เราก็จะคิดดี

ยกตัวอย่างเช่น พอเรากำลังนั่งสงบๆอยู่ มีเสียงหมาเห่า อย่างนี้เราก็จะจำได้ขึ้นมาว่า นี่คือเสียงหมาน่ารำคาญ ก็เกิดความคิดว่า อยากจะเอาก้อนหินไปปามันสักโป๊กหนึ่งนะ หรือเกิดความรู้สึกว่า อยากจะลุกขึ้นไปด่ามัน ว๊ากมัน อย่างนี้เรียกว่าเป็นเสียงที่มากระทบหู ที่ก่อให้เกิดอกุศลสัญญา แล้วก็ก่อให้เกิดสังขารขันธ์อันเป็นอกุศลนะครับ ทำให้เกิดความคิดไม่ดี อยากจะก่อวจีทุจริต ถึงขั้นกายทุจริต

หรือว่านั่งสมาธิได้ผล มีความสว่าง ความสุข มีความรู้สึกว่า สามารถดูลมหายใจได้ตลอดเวลา เดี๋ยวก็เข้า เดี๋ยวก็ออก เดี๋ยวก็เข้า เดี๋ยวก็ออก แล้วก็สามารถเห็นได้ด้วย บางครั้งก็ยาว บางครั้งก็สั้น เกิดความไม่ยึดมั่นถือมั่น นี่คือลมหายใจของเรา เห็นสักแต่เป็นธาตุลมที่ผ่านเข้าผ่านออกอยู่ในธาตุดินนะครับ ที่ประกอบขึ้นมา ประชุมขึ้นมา เป็นรูปนั่ง เกิดความสุขยิ่งใหญ่ เกิดความสุขไพศาล ว่าจิตมันมีความนิ่ง จิตมีความตั้งมั่น และเปิดกว้างออก อย่างนี้ก็เกิดกุศลสัญญาขึ้นมา เกิดความจำได้หมายรู้ขึ้นว่า อันนี้ดี อันนี้น่าชอบใจ นี่ตัวชอบใจเกิดนี่ นี่ก็คือสังขารขันธ์เกิดแล้ว เป็นกุศลสังขาร

ถ้าว่าเราสามารถรับรู้ได้ว่าอะไรๆที่ปรุงแต่งขึ้นมา เป็นภาวะเดี๋ยวก็หายใจเข้า เดี๋ยวก็หายใจออกอย่างนี้ เดี๋ยวก็หายใจยาว เดี๋ยวก็หายใจสั้นแบบนี้ แล้วนำมาซึ่งความสุขความสบาย นำมาซึ่งกุศลสัญญา นำมาซึ่งความตั้งใจที่ดี เช่นอยากจะนั่งไปนานๆแล้วก็พิจารณาธรรม ในเกิดความเห็นแจ้งว่า มันไม่เที่ยงมันมีความเปลี่ยนแปลง มันมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา
ตัวนี้นะ ไปถึงจุดหนึ่ง จิตตั้งมั่นแล้ว ก็จะรู้ละเอียดเข้าไปอีกว่า สิ่งที่รู้ ภาวะทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นภาวะรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ หรือสังขารขันธ์นี่นะครับ ตัวที่รู้ก็คือจิต เป็นวิญญาณขันธ์ รู้เป็นขณะๆ วิญญาณขันธ์เกิดขึ้นเป็นขณะๆ ไม่ได้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ตั้งอยู่ตลอดเวลา มันขึ้นอยู่กับว่า จะมีอะไรกระทบอายตนะไหน

เช่น ถ้าหากว่าเรารู้สึกถึงลมหายใจเข้า รู้สึกถึงลมหายใจออก ตัวที่รับรู้อยู่นี่นะ เรียกว่าเป็นตัวกายวิญญาณ คือ มีการกระทบกระทั่งทางกาย มีลมกระทบกายแล้วเกิดความรับรู้ขึ้นมา ว่านี่ลมกระทบกาย อย่างนี้เรียกว่า วิญญาณขันธ์ ถ้าหากว่า ลมหายใจหยุดไปมันก็ไม่มีความรับรู้ว่าลมหายใจกระทบ เรียกว่า ถ้าหากว่าไม่ได้ไปสนใจส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ร่างกายตั้งอยู่ในท่านั่งอย่างไร อย่างนี้ วิญญาณขันธ์ ที่เป็นกายวิญญาณนี้ ก็จะหายไป แล้วไปปรากฏส่วนอื่นแทน เช่น ถ้าหากว่าเราตั้งใจที่จะฟังเสียง ฟังอย่างเดียวเลย ได้ยินอย่างเดียวเลย อย่างนี้เรียกว่า เป็นโสตวิญญาณ เกิดขึ้นอย่างเดียว

วิญญาณนี้พระพุทธเจ้าตรัสเปรียบเทียบไว้ว่าเหมือนกับลิง ที่กระโดดเกาะกิ่งไม้จากกิ่งหนึ่งแล้วเปลี่ยนไปอีกกิ่งหนึ่งตลอดวันตลอดคืน ไม่หยุดไม่หย่อน ท่านถึงตรัสว่า โดยเหตุเพียงเท่านี้นะ คือ การรับรู้ อะไรต่อมิอะไรต่างๆนี้ มันเกิดขึ้นแล้วดับไปอยู่ตลอดวันตลอดคืน นี้ท่านเคยตรัสไว้ว่า สำคัญว่า ถ้าหากสำคัญผิดว่ากายนี้ ยึดมั่นถือมั่นว่ากายนี้เป็นตัว ยังจะดีเสียกว่า ว่าจิตเป็นตัวเรา เพราะว่ากายบางที กว่าจะเปลี่ยนให้เห็น บางทีเป็นวัน บางทีเป็นเดือน บางทีเป็นปี แต่ว่าจิตมันเปลี่ยนไปตลอดวันตลอดคืน ถ้าเราสังเกตนะ ถ้าเราสามารถเห็นเข้ามาได้เป็นขณะๆว่านี่ตาเรากำลังเห็นรูปอยู่ หูกำลังได้ยินเสียงอยู่ นี่ใจกำลังมีความคิดเข้ามากระทบ ให้เกิดการรับรู้อยู่ อย่างนี้เรียกว่าเป็นการเห็นวิญญาณขันธ์

แต่ปกติวิญญาณขันธ์มาตั้งใจดูกันง่ายๆไม่ได้ จิตต้องเป็นสมาธิ จิตต้องมีความตั้งมั่น จิตต้องมีความสว่างแล้วระดับหนึ่ง ผ่านการเห็นรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ โดยการเป็นของเกิดดับมาสักพักหนึ่ง แล้วมันจะเห็นเข้าไปละเอียด จิตมีความใหญ่พอที่จะเห็นได้ว่าการรับรู้แต่ละขณะๆนี่ มันรู้แป๊บหนึ่ง แล้วมันก็กระโดดไปรู้อย่างอื่น ไม่มีจิตดวงไหนเลย ไม่มีวิญญาณขันธ์ใดเลย ที่สามารถตั้งอยู่ได้นานตลอดวันตลอดคืน มีแต่เปลี่ยนไปตลอดเวลานะครับ


เอาล่ะ ถือว่าคืนนี้มาปฏิบัติธรรมเจริญสติเป็นพุทธบูชากันจริงๆ หวังว่าความสว่างของพวกเราที่เกิดขึ้นนี้ คงจะถวายเป็นพุทธบูชา เป็นกุศล เป็นมหากุศล ร่วมกันได้ในคืนนี้นะครับ
ก็ขอให้มีความสุขทุกท่านนะครับ ราตรีสวัสดิ์ครับ ขอให้เจริญในธรรมทุกท่านครับ


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น