วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๒๘ / วันที่ ๒๔ มี.ค. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

๑) หมอดูทักคุณแม่ว่าอีก ๕ ปีคุณแม่อาจจะไม่อยู่แล้ว กังวลกันมาก ควรจัดการใจตัวเองและแนะนำคุณแม่อย่างไรดี? วิธียืดอายุที่พอจะทำได้ในทางพุทธ?

เป็นปัญหาที่เกิดจากการไปดูหมอ ถ้าหากว่าหมอดูสามารถล่วงรู้อนาคตได้จริงๆ แล้วนำมาเปิดเผยมันก็มีข้อเสียอยู่อย่างนี้ โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องที่คอขาดบาดตาย เป็นเรื่องที่จะทำให้เกิดความไม่สบายใจอย่างรุนแรง จะเป็นความตาย หรือว่าจะพิการ หรือว่าจะมีอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งที่สูญเสียไปก็ตาม พอรู้แล้วมันก็เหมือนกับจิตใจหดหู่ห่อเหี่ยวไปล่วงหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ารู้ล่วงหน้าไป ๕ ปี ไม่ได้หมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างใน ๕ ปีจะดีขึ้น แต่ว่าเราจะต้องมีทุกข์ล่วงหน้าไปถึง ๕ ปี อันนี้เป็นผลข้างเคียงของการรู้อนาคต รู้จริงหรือรู้ไม่จริงขอยกไว้ก่อน การนั่งทางในก็มีหลายทาง หลายตำรา หลายวิชา หลายความสามารถ หลากหลายมิติ และทางพุทธเราก็มีการพูดถึงเรื่องความสามารถในการทายทักอนาคตกันด้วย แต่โดยปกติ ถ้าหากเป็นพระผู้รู้แจ้ง ผู้รู้จริงที่สามารถเห็นกรรมเก่าของคนว่าจะผลิดอกออกผล จะเผล็ดผลเมื่อไหร่ ปีไหน เดือนไหน ถ้าท่านพิจารณาแล้วว่า พูดไปแล้วมีแต่จะเสีย พูดไปแล้วมีแต่จะทำให้เขาไม่สบายใจและช่วยแก้ไขอะไรไม่ได้ ท่านก็จะไม่พูด เพราะเท่ากับทำให้คนๆหนึ่งเป็นทุกข์ไปล่วงหน้า แทนที่จะไปทุกข์เมื่อถึงเวลานั้น ก็ทุกข์ตั้งแต่วันนี้เลย นับไปอีก ๕ ปี ซึ่งไม่ใช่วิสัยของผู้ที่รู้แจ้ง ผู้รู้จริงที่ท่านจะทำกัน ที่ไปดูมา เรามองกันด้วยมุมมองอย่างนี้ก่อน

มุมมองต่อไปที่อยากจะบอกคือ ในทางพุทธแล้ว ความตายที่ชัดเจนที่แน่นอน คือสมมุติว่าเคยทำกรรมหนักจริงๆอย่างเช่น ไปเผาคนทั้งเมืองแล้วตั้งใจย่างสดให้ตกตายแบบชนิดที่ว่าขุดฆ่าล้างโคตร ซึ่งเป็นกรรมที่หนักมากๆ ใช้กำลังใจในการฆ่าที่หนักแน่นมากๆนี่ เวลาที่กรรมผลิดอกออกผล ก็อาจจะให้ผลเป็นการตายที่ชัดเจนแน่นอน และไม่มีการหลีกเลี่ยงได้ แต่ส่วนใหญ่ คราวถึงฆาต หรือจะต้องพิการ หรือจะต้องมีอันเป็นไป ถ้ากรรมของคนทั่วไปที่ไม่ได้ทำไว้หนักเกิน จะสามารถผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ หรือไม่ก็สามารถที่จะให้งดไปเลยก็ได้

ยกตัวอย่างกรณีของพระพุทธเจ้าที่ท่านตรัสไว้เป็นนัยๆกับพระอานนท์ คือท่านรู้แล้วว่า พอท่านมีพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ท่านจะต้องเสด็จดับขันธปรินิพพาน แต่ท่านก็เปรยกับพระอานนท์ว่า หากมีการเจริญอิทธิบาท ๔ ซึ่งหมายถึงอิทธิบาท ๔ ในการเข้าไปรู้ เข้าไปดูขันธ์ เข้าไปบำรุงขันธ์ เข้าไปพยาบาลขันธ์ ก็มีสิทธิ์ที่จะอยู่ไปได้ตลอดกัป ความหมายของกัปในที่นี้คือถึง ๑๒๐ ปี หมายถึงว่าช่วงอายุคนในครั้งพุทธกาลอยู่ได้ถึง ๑๒๐ ปีสบายๆ ท่านตรัสเป็นนัยๆอยู่ ๓ ครั้ง แต่ด้วยความที่มีอะไรบางอย่างทำให้พระอานนท์ไม่ทันคิด ก็เลยไม่ได้ทูลอาราธนาไว้ สรุปคือพระพุทธเจ้าก็ปลงอายุสังขารว่าจะเสด็จดับขันธ์ตามกำหนดคือครบพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษาก็ดับขันธปรินิพพาน แสดงให้เห็นว่า ถ้ารู้หลักการซึ่งจะเป็นหลักการอะไรก็แล้วแต่ มันยืดอายุได้ และที่เคยเห็นจากประสบการณ์ตรงก็คือ บางคนกำลังจะตายอยู่แล้ว แต่หันมาสนใจธรรมะ ด้วยความคิดว่าจะใช้ช่วงเวลาสุดท้ายในชีวิตทำประโยชน์สูงสุดเท่าที่เคยทำมาทั้งชีวิต นั่นก็คือการปฏิบัติธรรม การเจริญสติเพื่อให้จิตถอนออกจากความยึดมั่นถือมั่นว่า กายใจนี้เป็นตัวเรา มีแต่ความไม่เที่ยง รู้มาทั้งชีวิตแต่รู้แบบจำคนอื่น ฟังคนอื่นเขา ไม่ได้พยายามทำให้เต็มที่ แต่พอรู้ตัวว่าจะตาย อันนี้รู้ด้วยวิธีทางการแพทย์ ก็ตั้งจิตว่า ชีวิตที่เหลือจะปฏิบัติธรรมเต็มที่ ปรากฏว่าไม่ตายตามกำหนด ยืดอายุไปได้เรื่อยๆ และมีความผ่องใสมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นหลายคนที่เรียกว่าอายุของกายจะหมดลงแน่ๆ แต่ด้วยความที่มีกุศลสูงสุดเท่าที่มนุษย์จะทำได้มาเป็นพลังต่ออายุเสียก่อน จึงไม่ตาย อยากให้เป็นตัวอย่าง

ในสมัยพุทธกาลก็มีเป็นเรื่องเล่า ไม่ใช่เรื่องเล่าในชั้นพระไตรปิฎก แต่น่ารับฟังไว้ คือพระอานนท์ท่านถูกทักว่ากำลังจะสิ้นอายุ ท่านถามเทวดาที่ทักท่านว่า ท่านจะทำอย่างไร เทวดาบอกว่าให้ปล่อยชีวิตสัตว์เพื่อที่จะได้ยืดอายุ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรไม่แน่ใจ เพราะไม่ได้มีหลักฐานในชั้นพระไตรปิฎก แต่มีหลักฐานในแง่ของประสบการณ์ตรงของหลายๆคนที่เป็นคนร่วมยุคร่วมสมัย ที่มีโรคภัยไข้เจ็บ ทำท่าจะตาย หรือทรมานอึดอัดเหมือนกับระบบหายใจรวนเร รู้สึกอึดอัด อยากตายให้พ้นๆ ก็มีคนแนะนำให้ทำทานด้วยการปล่อยสัตว์ ปล่อยวัว ปล่อยควาย ปล่อยนก ปล่อยปลาเป็นเวลาหลายปีต่อกัน แล้วก็ปล่อยเป็นหมื่นๆตัว ปล่อยอย่างมากมาย ปรากฏว่าช่วยได้จริงๆ

คิดง่ายๆ ความสุข ความมีปีติที่ได้จากการปล่อยสัตว์ ที่ได้จากการช่วยชีวิตสัตว์ที่กำลังจะตายให้รอดต่อ ความสุขแบบนั้น ถ้าทำต่อเนื่อง ถ้าอยากจะช่วยชีวิตสัตว์จริงๆ ด้วยความรู้สึกว่ามีความปลื้มปีติจริงๆที่ได้ต่อชีวิตเขา แค่ความสุขตรงนั้น โรคภัยไข้เจ็บก็เกือบจะแพ้แล้ว และถ้าทำต่อเนื่อง ก็ยิ่งสบาย

กรณีของคุณ วกกลับมาถามว่าเราควรจะทำใจอย่างไร? ก่อนทำใจ ลองแนะนำคุณแม่ตามที่ผมพูดมา นี่เป็นเรื่องที่อยู่ในพุทธศาสนา ใช้หลักเกณฑ์ของพุทธศาสนา ก็คือสมมุติว่าวันตายจะมีจริง หมายความว่าจะต้องมีปาณาติบาตกรรม บาปอันเกิดจากปาณาติบาตบางอย่างมาเบียดเบียนให้เกิดความตายก่อนวัยอันควร ถ้าเราคิดถึงบาปเก่าโดยความเป็นพลังมืด เราก็มีสิทธิ์ที่จะใช้พลังความสว่างเข้าไปต่อต้านได้ ความสว่างที่สูงสุดในชีวิตมนุษย์คนหนึ่งก็คือความสว่างในการเจริญสติ หากจะต้องตาย ก็ลองเจริญสติทำชีวิตช่วงสุดท้ายที่เหลือให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หรือถ้าคิดว่า หมอดูแม่น จะตาไม่เห็น หรือจะว่ามืดอะไรก็แล้วแต่ เราก็เร่งสร้างความสว่างทางใจไว้แทนความมืดทางตาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อย่าปล่อยเวลา ๕ ปีให้สูญเปล่าไปกลับความทุกข์ จมอยู่กับความหดหู่เศร้าซึมแบบเสียเปล่า ไม่มีประโยชน์อะไร

ขอทิ้งท้าย หมอดูประเภทที่ไปทำนายทายทักให้คนเขาใจเสีย แล้วไม่ให้ทางออก ไม่ให้คำอธิบาย ไม่ให้เหตุผลที่ชัดเจนว่า ไปทำอะไรมาถึงจะต้องประสบเคราะห์กรรมแบบนั้น แล้วก็ไม่สามารถแนะนำทางออกให้เขาสบายใจได้ว่า เขามีวิธีต่อสู้กับบาปกรรมเก่าได้อย่างไร จะได้ไม่ต้องเกิดเคราะห์กรรมอย่างที่เขารู้เขาเห็น ถ้าไปให้คำทำนายมั่วแบบนี้ และทำให้คนอื่นเป็นทุกข์ทางใจบาปจะตกกับตัวคุณเอง คือที่เขาต้องทนทุกข์ทรมานอยู่กับความหดหู่ซึมเศร้า ๕ ปี ทั้งๆที่อาจจะไม่เกิดอะไรขึ้น ถ้าคูณระยะเวลา ๕ ปีเข้าไปเป็นวิบากที่คุณจะต้องรับนี่ ผมว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัว ฝากบอกหมอดูไว้ อะไรก็แล้วแต่ที่จะทำให้คนไม่สบายใจ จะทำให้คนรู้สึกเป็นทุกข์ ถ้าคุณจะพูด คุณต้องพูดในแบบที่เป็นทางออกให้เขาด้วย ไม่ใช่ไปพูดเหมือนสาปแช่งทิ้งไว้ แล้วไม่ช่วยอะไรเลย



๒) ได้ซองผ้าป่ามาแต่เลยกำหนดทำบุญแล้ว กลัวเป็นบาปเหลือเกิน ทำอย่างไรดี? คำแนะนำในการทำบุญให้เกิดอานิสงส์อันไพศาล?

ดูเจตนาแล้วกันว่า คนที่ฝากทำบุญมาเขามีเจตนาอะไร ถ้าเขาเจตนาที่จะบำรุงพระศาสนา เจตนาที่จะทำบุญกับพระ แต่สำหรับซองผ้าป่าก็คงมีการเจาะจงว่า จะทำกับวัดไหน เอาเป็นว่าถ้าเราไปทำกับวัด ไม่ได้เอาเข้าตัวเราใช่ไหม ก็คือการบำรุงพระศาสนา น่าจะสมกับความตั้งใจดั้งเดิมของเขา เขาก็อยากจะได้ต่ออายุพระศาสนากัน นั่นเป็นหลัก นั่นคือสิ่งที่ควรจะเป็นเกณฑ์ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ถ้าจะทำบุญ อย่าเจาะจงกับท่านองค์เดียว เวลาจะทำบุญให้ทำด้วยความคิดว่าจะถวายสงฆ์ทั้ง ๔ ทิศ อย่างนี้ได้บุญมากกว่าทำบุญเฉพาะเจาะจงกับท่านอีก อย่างพระบางรูปที่ท่านไปรับภัตตาหาร นำขบวนพระไปตั้ง ๘-๙ รูป ไปรับภัตตาหารที่บ้านของอุบาสิกานางหนึ่ง ท่านรู้ว่าอุบาสิกานี้ทำบุญเมื่อไร ก็จะเจาะจงคิดว่าจะถวายแก่ท่านเท่านั้น คือมีความศรัทธา มีความเคารพในองค์ท่านด้วยความเป็นส่วนตัว เป็นพิเศษ ท่านก็แนะนำว่า ถ้าจะให้ได้บุญมากกว่านี้ ขอให้คิดเถอะว่าจะถวายทานแก่สงฆ์ไม่เลือกหน้า แทนที่จะคิดว่าถวายเจาะจงให้องค์ใดองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นจิตใจที่คับแคบไป

เราถวายทานแก่สงฆ์โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นรูปใดรูปหนึ่ง ความคิดจะเปิดกว้างขึ้น เวลาเราคิดว่าจะถวายแด่ท่านองค์นี้ จิตใจจะเล็งไปเฉพาะองค์นี้ เราอาจจะเชื่อว่าท่านเป็นพระอริยบุคคล เป็นพระอรหันต์ หรือเป็นพระปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ลองดูความรู้สึกเป็นสุข ความกว้าง ความแคบที่เกิดขึ้นในรัศมีของใจนี้ มันสู้ความรู้สึกตอนที่เราคิดว่าจะถวายสังฆทานแก่สงฆ์โดยไม่เลือกหน้าไม่ได้ เราไม่ได้คิดว่าจะถวายแก่รูปใดรูปหนึ่ง แต่คิดว่าจะถวายเป็นสังฆบูชาแก่พระภิกษุสงฆ์ที่ทำหน้าที่สืบทอดพระศาสนา เราช่วยบำรุงให้ท่านได้มีสังขารที่อำนวยกับการปฏิบัติธรรมต่อไปได้ แค่คิดอย่างนี้ ใจก็กว้าง โล่ง เกิดความรู้สึกปลอดโปร่ง ไม่มีความคับแคบ ไม่มีความเพ่งเล็ง นี่ก็เหมือนกัน ถ้าซองผ้าป่าจะมุ่งไปวัดไหนอย่างไรไม่ทราบ เพราะคำถามไม่ได้ระบุรายละเอียดไว้ แต่ที่คุณตั้งใจจะนำไปทำบุญที่วัดแทน ถ้าตั้งใจว่าจะถวายทานแก่สงฆ์ ไม่ได้เอาเข้าตัวไว้ แล้วจะเป็นบาปเป็นกรรมได้อย่างไร เป็นการทำนุบำรุงพุทธศาสนาเหมือนกัน ให้คิดว่าพุทธศาสนาเป็นกองภูเขา เราเอาดินไปถมที่ไหนก็เข้าที่ภูเขานั้นเหมือนกัน ไม่ได้แตกต่างกัน อาจจะแตกต่างกันในแง่ที่ว่า ผู้รับจะมีพลังขยายผลได้มากแค่ไหน ท่านปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบหรือเปล่า ปฏิบัติตรงทางที่พระพุทธเจ้าสอนไว้หรือเปล่า ได้คุณธรรมวิเศษอะไรแล้วหรือยัง นั่นอาจจะมีผลบ้าง แต่ตอนที่เราคิดว่า จะถวายทานแก่สงฆ์ นั่นเป็นสิ่งประเสริฐที่สุดแล้ว

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าถวายทานแก่สงฆ์ที่มาจากทั้ง ๔ ทิศ คือไม่จำกัดว่าจะต้องรูปใดรูปหนึ่ง ก็ได้บุญมากกว่าถวายทานกับท่านอีก เราจะไปมัวเกี่ยงอยู่ทำไมว่า จะต้องเอาไปทำบุญเฉพาะวัดนั้นวัดนี้ เราเอาไปถวายที่วัดไหนก็ได้บุญเหมือนกัน ไม่ได้บาป และก็ไม่มีวิบากที่ไม่ดีอะไรทั้งสิ้น คำถามไม่ได้ระบุว่า เราไปผิดสัญญาใครไว้หรือเปล่า ตั้งใจจะไปถวายที่ไหน เวลาใด ไม่ทันหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ เอาเป็นว่า เราคิดดีก็แล้วกันว่า อย่างไรก็เป็นของของสงฆ์อยู่ดี ไม่ใช่ของของเรา



๓) ในการตามดูตามรู้จิต หากกำลังเริ่มมีความคิดอกุศล ควรตามดูตามรู้ไปเรื่อยๆโดยไม่ต้องสนใจว่าเป็นความคิดที่เป็นบาปเลยหรือ?

คิดง่ายๆ ถ้าเราไปพยายามที่จะห้ามไม่ให้ความคิดมีความก้าวร้าว มีความหยาบคาย มีความดุดันต่างๆ เสร็จแล้วมันไม่หยุด ถ้ามันไม่หยุดแล้วเราอึดอัด ก็เท่ากับว่าความคิดเดิมที่แย่อยู่แล้ว เราไปเพิ่มความคิดอึดอัดเข้าไปอีก มันก็คูณความมืด หรือว่าคูณบาปอกุศลเข้าไปสองเท่า ขอให้จำไว้ว่า ความอึดอัด ความรู้สึกแย่ ความรู้สึกที่เป็นทุกข์นั้น จะไปขยายวิธีคิด จะไปเปิดช่องให้ความคิดร้ายๆกรูกันเข้ามามากขึ้น แทนที่มันจะมาขบวนเดียว ก็มาหลายขบวน แทนที่จะมาแค่นาที สองนาที ก็มาเป็นสิบ ยี่สิบนาที หรือมาเป็นชั่วโมง นี่คือธรรมชาติของจิต

ถ้าจิตมีความทุกข์ มีแนวโน้มที่จะดิ่งลงเหว มันจะลากจูงความคิด หรืออะไรที่เป็นประสบการณ์ร้ายๆของเราให้ไหลมาต่อเนื่อง แต่ถ้าเราไม่สนใจมัน ไม่มีความทุกข์กับมัน ถึงแม้ว่าความคิดแย่ๆจะยังอยู่ในหัว แต่มันลงไปไม่ถึงหัวใจ มันอยู่แค่ที่หัวสมอง ที่คลื่นความคิดโดยที่เราไม่อาจห้าม สังเกตจากความรู้สึกที่ยังสบายอกอยู่ เหมือนยังโล่งๆอยู่ เคยได้ยินใช่ไหมที่ว่า โล่งเหมือนยกภูเขาออกจากอก ก็คือการที่พิษของความคิดร้ายๆลงไปไม่ถึงหัวใจ แค่เข้ามาเป็นหมอกพิษปกคลุมสมองเราชั่วคราว ถ้าเราไม่ได้ไปจริงจังกับมัน แค่ดูเฉยๆ ยอมรับตามจริงไปว่า ตอนนี้มันเกิดขึ้นนะ วัดได้เลยว่าในอกจะไม่รู้สึกหนัก จะไม่รู้สึกว่ามีอาการบีบเค้น ถ้าเรารู้สึกทรมานใจราวกับมีใครเอามือไปบีบหัวใจ ไปเค้นหัวใจ ตรงนี้เรียกว่าพิษของความคิดที่ร้ายๆ มันซึมเข้าสู่หัวใจแล้ว มันถึงหัวใจแล้ว แต่ถ้าเรารู้หลักของการเจริญสติ ยอมรับความจริงเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น ไม่ไปปฏิเสธ ไม่ไปส่งเสริม แค่ดูเฉยๆ รู้เฉยๆ ความรู้สึกว่าหมอกพิษที่ห่อหุ้มสมองเราอยู่ ก็สามารถแสดงความไม่เที่ยงให้เราเห็นได้มากบ้าง น้อยบ้าง คือบางทีอาจจะอยู่เป็นชั่วโมงก็จริง แต่ในชั่วโมงนั้นให้ลองสังเกตดูดีๆว่า พอห้านาทีผ่านไปมันจะเริ่มเบาบางลง นาทีที่สิบอาจจะคุกรุ่นขึ้นมาใหม่ อาจจะเป็นเมฆหมอกหนาทึบขึ้นมาใหม่ แต่ความรู้สึกกลางอกของเราก็ยังเบาอยู่ดี ไม่ได้หนัก ไม่ได้ปั่นป่วน เพราะเรามีแต่ความรู้สึกยอมรับตามจริง ไม่ใช่ความรู้สึกอยากต่อต้าน หรืออยากเข้าไปประสมโรงด้วย ขอให้สังเกตดูอย่างนี้แล้วจะสบายใจ ถ้ากลางอกของเรายังไม่หนักอึ้ง ยังไม่รู้สึกเหมือนมีอะไรมาบีบเค้น ตอนนั้นบาปยังไม่เข้าถึงใจหรอก มันจะวิ่งวนอยู่ในหัวสมอง มันจะผลิตคลื่นไฟฟ้าอะไรแย่ๆขึ้นมา แต่ใจของเรายังนิ่ง ยังสบาย เรารู้หลักของการยอมรับตามจริงว่า มันเกิดขึ้น เดี๋ยวก็ค่อยๆแปรระดับไป เดี๋ยวเพิ่ม เดี๋ยวลด แค่นี้ แล้วเราจะเห็นว่าใจไม่เปื้อนบาปหน้าตาเป็นอย่างไร คือมีความโล่ง มีความสบาย



๔) อยากทราบเกี่ยวกับแสงสีออร่ารอบร่างกาย มันสะท้อนสภาพจิตจริงๆหรือไม่? วิธีการอ่านจิตของผู้อื่นตามแนวทางพุทธ? วิธีฝึกอ่านออร่าของผู้อื่น และข้อควรระวัง?

เรื่องออร่าก็มีเรื่องของการเห็นเข้าไปในสีของสภาพร่างกาย ออร่าเป็นอะไรที่ครึ่งๆกลางๆระหว่างจิตกับกาย มีเรื่องของสนามแม่เหล็กที่แผ่ออกมารอบๆ เรื่องของคลื่นไฟฟ้า และสีของออร่าไม่ใช่สีของจิต และเป็นสิ่งที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า ถ้าอยากจะอ่านจิต ไม่ใช่อ่านที่ออร่า คนละเรื่องกัน อย่างเวลาที่ถ่ายรูปออกมาด้วยกล้องออร่า เขาใช้หลักการคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ใช้หลักการที่ว่ารอบๆตัวเรา รอบๆมนุษย์ รอบๆสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย แม้แต่พืชก็มีการกระจายคลื่นไฟฟ้าออกมา ซึ่งสามารถที่จะนำมาตีค่าเป็นสีได้ถ้าใช้เทคนิคในการถ่ายภาพที่ตรงกัน คนที่คิดได้ ชื่อเกอร์เลี่ยน จึงเรียกว่ากล้องเกอร์เลี่ยน ที่จะสื่อถึงสภาพจิตแบบตรงๆเลยมันไม่ได้ ออร่าก็เหมือนเป็นกำแพงหลอกใจ บางคนมีออร่าที่สว่างมาก แต่จิตข้างในมีความดำมืด มันเป็นสิ่งที่มองกันยาก แต่ถ้าเอาตามหลักของพุทธศาสนา มาพูดกันถึงเรื่องอ่านจิตดีกว่า อย่าไปพูดเรื่องออร่า เพราะถ้าพูดเรื่องออร่านี่ ต้องพูดกันเป็นชั่วโมงๆ แต่ถ้าพูดถึงการอ่านจิตตามหลักของพุทธศาสนา คุยกันสักพักก็รู้เรื่อง

พระพุทธเจ้าท่านให้เตรียมความพร้อมที่จะอ่านจิตให้ได้ก่อน นั่นคือรู้จักที่จะมีสมาธิอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อย่างเช่นลมหายใจที่เป็นประโยชน์ เดี๋ยวก็ยาว เดี๋ยวก็สั้น เดี๋ยวก็เข้า เดี๋ยวก็ออก ท่านให้ดูไปเรื่อยๆจนกระทั่งจิตมีความสามารถที่จะเป็นผู้รู้ ผู้ดู คือแยกออกมา ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าลมหายใจเป็นตัวเรา ไม่เห็นว่ามีตัวเราอยู่ในลมหายใจ มีแต่วาโยธาตุที่มันพัดเข้า พัดออก เดี๋ยวก็ยาว เดี๋ยวก็สั้น เดี๋ยวก็มีความหยาบ เดี๋ยวก็มีความละเอียด ดูไปเรื่อยๆจนกระทั่งจิตมีความตั้งมั่น จิตที่มีความตั้งมั่นในการเห็นลมหายใจโดยความเป็นวาโยธาตุ เป็นของไม่เที่ยง เป็นจิตที่มีความฉลาด เป็นจิตที่มีความสามารถที่จะอ่านสภาพของตัวเองถูก สภาพของตัวเองที่มีความเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง มีความสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิบ้าง บางครั้งก็ฟุ้งซ่านซัดส่ายกระจัดกระจาย เห็นโดยความเป็นอย่างนี้เรื่อยๆ พระพุทธเจ้าก็ให้รุกคืบเข้าไปอีกว่า เมื่อไรจิตเป็นกุศลให้รู้ว่าจิตเป็นกุศล เมื่อไรจิตเป็นอกุศลให้รู้ว่าจิตเป็นอกุศล

ตอนแรกคนจะจับไม่ถูกว่า อกุศลหรือกุศลเป็นอย่างไร ท่านก็เจาะจงลงไปในรายละเอียด ใน ‘จิตตานุปัสสนา’ ท่านให้รู้อย่างนี้ว่า เมื่อราคะมีอยู่ในจิตให้รู้ เมื่อราคะหายไปจากจิตให้รู้ เมื่อโทสะมีอยู่ในจิตให้รู้ เมื่อโทสะหายไปจากจิตให้รู้ เมื่อโมหะมีอยู่ในจิตให้รู้ และเมื่อโมหะหายไปจากจิตก็ให้รู้ ถ้าเรารู้อยู่อย่างนี้ เราจะเข้าใจว่า เวลาเกิดราคะขึ้นมา จะมีความรู้สึกมืด โดยเฉพาะถ้ากำลังมีราคะอย่างแรงกล้า อะไรๆมันหายไปหมดเลย เหมือนทุกอย่างถูกปิดไว้ มีแต่ความรู้สึกมืด มีแต่ความรู้สึกอยากพุ่งเข้าไปหา ลักษณะของจิตที่มีความมืดแบบนั้น พอดูไปเรื่อยๆ มีสติรู้ขึ้นมา เราจะเห็นความมืดหายไป เราจะเห็นอะไรที่ปิดไว้หายไป ที่รู้สึกว่าโลกคับแคบลงชั่วขณะจิตหนึ่งกลายเป็นกว้างขึ้น นี่เรียกว่าราคะหายไปจากจิตแล้ว อ่านจิตตัวเองออกแล้วว่ามีราคะ ไม่มีราคะ เปรียบเทียบกันว่าเป็นอย่างไร

ตอนโกรธใคร ซึ่งทุกวัน ทุกคนต้องโกรธ ต้องมีความหงุดหงิด ต้องมีความขัดเคือง ถ้าเห็นตอนที่กำลังขัดเคืองว่า มีความพลุ่งพล่าน ร้อนเร่ากระสับกระส่าย กระวนกระวาย อยากทำร้ายใคร อยากด่าใคร รู้สึกถึงแรงที่พุ่งออกไปจากอก รู้สึกถึงพลังความร้อนที่พุ่งออกไปจากทางสายตา อย่างนี้เห็นแล้วว่าโทสะมีอยู่ในจิต เพราะจิตคือความรับรู้นั่นแหละ จิตคือตัวที่เป็นต้นแหล่งที่จะมีความขัดเคืองเข้ามากระทบกระทั่งได้ ถ้าใจเราปรุงแต่งเป็นความร้อนออกไป แล้วมีสติรู้ว่าความร้อนกำลังปรากฏอยู่ในขณะนั้น ตรงนี้เห็นอกุศลจิตแล้ว เป็นการเห็นที่จะค่อยๆลดระดับความร้อนลงได้ เพราะว่าธรรมชาติของสติมีความสว่าง มีความเป็นกุศล เมื่อเรายอมรับตามจริงอยู่ในขณะนี้ว่า จิตกำลังมีความร้อน จิตกำลังมีความเป็นอกุศล ความเป็นอกุศลนั้นจะค่อยๆถูกแทนที่ไปด้วยกำลังกุศลของสติ แต่ต้องยอมรับ ไม่ใช่แกล้งบอกว่าเราไม่ได้โกรธ หรือไปพยายามต่อต้าน พยายามที่จะระงับความโกรธให้ได้ทันที บอกว่าฉันต้องเก่ง ฉันต้องมีความสามารถที่จะเอาชนะความโกรธได้แบบฉับพลันทันที ถ้าทำได้ทันทีถือว่าเก่ง นี่เป็นความเข้าใจผิด

แต่ถ้ายอมรับตามจริง ยอมรับแบบซื่อๆ คนที่ไม่ได้มีความสามารถอะไร ยังไม่ได้เป็นพระอนาคามี ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ของมันโกรธกันได้ ก็ยอมรับว่าโกรธไป แล้วพอยอมรับไป สติเกิดแล้วความโกรธจะค่อยๆลดระดับลงเอง เราจะเห็นว่าโทสะเมื่อครู่เกิดอยู่ในจิต ตอนนี้ค่อยๆลดระดับลงแล้ว หรือกระทั่งหายเป็นปลิดทิ้งแล้ว เหมือนกับไอความร้อนที่เราเห็น พออากาศเย็นลงมันก็กลายเป็นอากาศสงบนิ่งปลอดโปร่งไป เห็นแบบนั้น เห็นโดยความเป็นราคะ โทสะ โมหะ

โมหะ ก็อย่างตอนที่เรากำลังสำคัญตัวผิด กำลังหลงตัว กำลังมีความรู้สึกว่าตัวพอง ตัวใหญ่ หรือไม่ก็ตัวเล็กลีบเป็นหนู เวลาที่เกิดประสบการณ์เทียบเขาเทียบเรา เจอคนใหญ่กว่า ตัวเราเล็กลง หรือเจอคนที่ตัวเล็กกว่า เราก็กระหยิ่มยิ้มย่อง หรือตัวพองขึ้นเหมือนอึ่งอ่าง นี่เป็นลักษณะของโมหะ หรือแม้กระทั่งรู้อยู่ว่าอะไรถูกอะไรควร ก็แกล้งเลือกให้ผิด จะเอาแบบนี้ ใครจะทำไม นี่ก็เป็นโมหะ ถ้าเราเห็นได้ว่าโมหะมีอยู่ขณะใดในจิต ในชั่วอึดใจต่อมา โมหะตรงนั้นจะค่อยๆคลายลง เรียกว่าเห็นจิตของตัวเองมาเป็นขั้นๆ เทียบได้ว่าอะไรเป็นอกุศล อะไรเป็นกุศล ถ้าเป็นอกุศลอยู่ จะมีลักษณะมืด กระวนกระวาย ตื่นเต้น รุ่มร้อน แต่ถ้าเป็นกุศลแล้ว ตรงข้าม จะสว่าง สบาย สงบ มีความรู้สึกโปร่งโล่ง เห็นเทียบอย่างนี้ไปเรื่อยๆ มีประโยชน์อย่างยิ่ง สามารถเห็นความไม่เที่ยงได้จริงๆว่า นี่เรียกว่ากุศล นี่เรียกว่าอกุศล และเมื่อเราสามารถเห็นความเป็นกุศล และอกุศลของจิตตัวเองได้ ก็สามารถที่จะสัมผัสรู้ว่าในขณะนี้ จิตแบบใดแบบหนึ่งกำลังปรากฏอยู่ในคนอื่น

ในสติปัฏฐานสี่พระพุทธเจ้าสอนให้ดูด้วย ท่านสอนไม่ใช่เพื่อที่จะไปล้วงความลับใคร แต่เพื่อที่จะเห็นความจริงว่า จิตของเราเป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง เปลี่ยนไปเรื่อยๆ กลับไปกลับมา ของคนอื่นก็เช่นกัน บางทีก็สว่างเบา บางทีก็มืดหนักทึบ และกลับไปกลับมา เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเอาแน่นอนไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะมีอะไรไปกระทบ ยกเว้นแต่พระผู้ฝึกแล้ว โยคาวจร หรือฆราวาสผู้ฝึกแล้ว ฝึกจนกระทั่งจิตมีความตั้งมั่นอยู่ในกุศล ตั้งมั่นในทาน ในศีล ในศรัทธา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือตั้งมั่นในการรู้การดู การเจริญสติเห็นกาย เวทนา จิต และธรรมโดยความเป็นของไม่เที่ยงอยู่เรื่อยๆ ถ้าใครตั้งมั่นอยู่อย่างนี้ จะเห็นเลยว่าจิตของเขามีความปลอดโปร่งในทุกสถานการณ์ อาจจะมีอะไรมากระทบให้เกิดความกระเพื่อมหรือมืดขึ้นมาบ้าง แต่สักครู่จะสงบลงแล้วสว่างขึ้น

เราจะเห็นโดยความเป็นอย่างนี้ ย้อนกลับมาดูจิตเรา ยังไม่เท่าเขา ก็จะเห็นตามจริงว่า เวลาจิตของเราเกิดความกระเพื่อมร้อน มีไฟโทสะขึ้นมา มันลุกนานไม่รู้กี่นาที หรือบางครั้งก็มืดอยู่ทั้งวันด้วยความคิดแค้นอาฆาตพยาบาท กว่าจะค่อยๆซาลง ค่อยๆสว่างขึ้นด้วยความมีสติระลึกได้ว่า นี่เป็นอกุศลจิต นี่จิตมืด นี่เป็นพวกเดียวกับนรก เมื่อฟื้นคืนสติได้ จิตค่อยสว่างขึ้นมา ก็จะเห็นว่า เรายังสู้ท่านที่ปฏิบัติมานานแล้วไม่ได้ ของท่านใช้เวลาน้อย ของเราเป็นวัน เกิดการเทียบเขาเทียบเราในแบบที่จะเป็นประโยชน์ คือไม่ได้ทำให้เกิดมานะอัตตา แต่ทำให้เกิดความมีแก่ใจว่าเราจะทำให้ดีขึ้น หรือถ้าเราเห็นคนที่แย่กว่าเรา เราจะได้เกิดความรู้สึกสลดใจ ไม่เอาแบบเขา นี่เป็นเรื่องของการเห็นจิตแบบที่จะเป็นประโยชน์

การเห็นจิตแบบที่อ่านแสงสีออร่านี่ ถ้าใครอยากฝึกก็จะแนะนำส่งไปเลย ถ้าอยากฝึกอ่านออร่าจริงๆไม่ยาก มีวิธีฝึกที่ตอนนี้แพร่หลาย ถ้าใครมีไอโฟนหรือไอแพด ก็เข้าไปดาวน์โหลดแอปที่ชื่อว่า Aura Trainer ได้เลย แอนดรอยด์ก็น่าจะมี ไม่ว่าจะให้หลักการวิธีที่ค่อนข้างชัดเจนและได้ผลเร็ว แต่ขอให้ลองเปรียบเทียบดูว่า เมื่อคุณสามารถเห็นสีหรือออร่าที่อยู่รอบๆตัวคนได้ จะมีความหลากหลายวิจิตรพิสดารขึ้นเรื่อยๆ

เห็นสีไม่ยากหรอก ทำตาให้สามารถเห็นสีรอบตัวมนุษย์ แต่ตีความสีนี่ลำบาก แต่ละตำรา แต่ละสำนัก บางครั้งตีความไม่เหมือนกัน บางครั้งถ้าเราถูกแนะนำให้มองสีนี้ว่าเป็นตัวแทนของอารมณ์แบบหนึ่ง เป็นตัวแทนของบุคลิกแบบหนึ่ง บางทีเราอาจจะต้องเสียเวลาเป็นปีๆกว่าจะพบว่า จริงๆไม่ใช่อย่างที่เขาระบุเจาะจงตายตัวไว้ หรือถ้าจะแข่งกันอ่านออร่า ในที่สุดมันจะไปเจอกำแพงอีกชั้นหนึ่งคือ ไม่รู้ว่าสีแบบนี้เพิ่งเคยเจอ เกิดมาเพิ่งเคยเจอสีแบบนี้ อ่านออร่ามาได้ตั้งยี่สิบสามสิบปี แต่สีแบบนี้ไม่รู้จะตีความอย่างไร ไม่เคยเจอ นี่ก็เรียกว่ากำแพงที่มาหลอกให้หลง คือสามารถที่จะอ่านกันได้ไม่ยากหรอก แต่พออ่านได้แล้ว หลงไปไกล หลงไปแบบหาความสิ้นสุดไม่ได้ คล้ายๆกับตำราโหราศาสตร์ หาความสัมพันธ์ของดวงดาว หาความหมายที่ดวงดาวบอกไว้ว่าใครจะเป็นอย่างไร เกิดมาจากไหน และจะไปไหน มีวิชาที่ลึกซึ้งพวกนี้ แต่มันไม่รู้จบ คือยิ่งค้นคว้า ยิ่งศึกษา ยิ่งไปไกลเรื่อยๆ และไม่เข้ามาหาตัวเองสักที ไม่เข้ามาหาความจริงสูงสุดที่อยู่ภายใน มีแต่ความจริงอันไม่สิ้นสุดภายนอก สุดท้ายก่อนตายอาจจะต้องถามตัวเองว่า ห้าสิบหกสิบปีที่ศึกษาพวกนี้มาได้อะไร แทนที่จะต้องไปถามตนเองตอนใกล้ตาย ก็ถามตอนนี้เลยดีกว่าว่า รู้ศาสตร์แต่ละอย่างไปเพื่ออะไร ได้ไปแล้วมีประโยชน์จริงๆกับเราตอนไหนบ้าง เอาไปใช้อะไรได้บ้าง



« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น