วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๖๖ / วันที่ ๒๐ มิ.ย. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันพุธที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง เพื่อจะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการนะครับ ให้เข้าไปที่เฟสบุ๊ค http://www.facebook.com/HowfarBooks



๑) ขอทราบเหตุแห่งใจที่เด็ดเดี่ยว มีความเพียรในการเจริญสติครับ?

เหตุแห่งความมีใจเด็ดเดี่ยวนะ ถ้าเอาเฉพาะตรงที่ว่า มีความมุ่งมั่น มีความเข้มแข็งที่จะประพฤติหรือว่ากระทำอะไรอย่างต่อเนื่องซักอย่างนึงเนี่ยนะ ประการแรกเลย เราต้องนึกถึง สิ่งที่เรียกว่าอิทธิบาท ๔ คือ เป็นผู้ที่มีความชอบใจ มีใจที่รักอะไรชอบอะไรแล้วเนี่ย มีความเพียรพยายามในสิ่งนั้นอย่างต่อเนื่อง แล้วก็จะต้องมีความรู้สึกฝักใฝ่ จิตใจฝักใฝ่นึกถึงแต่เรื่องนั้นๆงานนั้นๆ จนกระทั่งพอมีความต่อเนื่องแล้ว มีความฉลาด มีความรอบรู้รอบด้านเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ปัจจัยที่มันจะเสริมกัน คือ ด้วยใจรัก แล้วก็ทำอย่างต่อเนื่อง มีจิตใจฝักใฝ่ และมีความฉลาดในการที่จะเล็งเห็นปัญหา อุปสรรค และสามารถผ่านไปได้ มีทัศนวิสัยหรือว่ามีวิชั่นมากพอที่จะฟันฝ่า ที่จะผ่านด่านอุปสรรคไปได้ อันนี้รวมกันแล้วเรียกว่า เป็นผู้มีอิทธิบาท ๔ ถ้าหากว่า อิทธิบาท ๔ แก่กล้า คนๆนั้นก็จะดูมีพลัง มีความสามารถที่จะทำงานอะไรซักอย่างด้วยความเข้มแข็ง แล้วก็มีความขยัน มีใจรักนะครับ

ถ้ามองดูแล้วว่ามันเริ่มมาจากไหน ส่วนใหญ่คนก็จะนึกถึงว่ามีบุญเก่า เหมือนอย่างใครจะถนัดหรือว่ามีความชำนาญในงานด้านใดเนี่ย คนก็มักจะมองว่าเป็นผู้มีพรสวรรค์ พอเริ่มต้นขึ้นมาเนี่ย ดูมีแวว ก็เริ่มที่จะเก่ง มีความถนัด มีความเชี่ยวชาญได้ง่ายนะครับ ดูจับต้องนิดๆหน่อยๆเนี่ย ก็เหมือนจะเป็น เหมือนจะเก่ง เหมือนจะแตกฉานได้ อันนั้นก็เรียกว่า อธิบายตามหลักกรรมวิบากก็คือ ‘เป็นผู้มีบุญเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ เกี่ยวกับด้านนั้นๆมา’

อย่างเช่น คนเล่นดนตรีเก่งตั้งแต่อายุ ๓ หรือ ๔ ขวบ ส่อแววอัจฉริยะ เล่นดนตรีเครื่องนั้นเครื่องนี้ได้เก่ง พวกนี้จะเคยเก่งมาก่อนอยู่แล้ว และก็ให้วิทยาทาน ‘คำว่าบุญนี่ มันจะต้องให้กับคนอื่น จะต้องทำประโยชน์ ทำคุณประโยชน์เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆมา’

อย่างพวกคีตกวีเอก ที่มักจะยกเป็นตัวอย่างกันบ่อยๆอย่างที่เห็นกันบ่อย ที่เห็นกันง่ายๆ เช่น พวกโมสาร์ท (Wolfgang Amadeus Mozart) หรือว่าบีโธเฟน (Ludwig van Beethoven) พวกนี้ตั้งแต่อายุน้อย ก็จะแสดงอัจฉริยภาพทางดนตรีออกมาโดยที่ไม่ต้องไปเสี้ยมสอนมาก ไม่ต้องไปคะยั้นคะยอหรือว่าเคี่ยวเข็ญมาก ก็จะเก่ง มีพรสวรรค์ แล้วก็มีไอเดียในการสร้างดนตรีของพวกเขาขึ้นมาเอง โดยที่ไม่มีใครเคยทำได้เพราะเท่ามาก่อน

อันนี้ก็เหมือนกัน การเจริญสติเนี่ย ถ้าหากว่ามองดูนะครับ เด็กบางคนแค่อายุไม่เท่าไหร่ ยังไม่ถึง ๑๐ ขวบ สมัยพุทธกาลมีกันเยอะมากเลย ๗ ขวบ ๘ ขวบเนี่ยนะ บวชแล้วก็ตั้งใจปฏิบัติกันจนถึงอรหัตตผลเลย ไม่ใช่ทำกัน เหยาะๆแหยะๆ อันนี้ก็ถูกมองกันว่ามีพรสวรรค์หรือว่ามีบุญเก่ามาก่อน อย่างที่ฉายชัดๆเลย ก็มีเทวดาบางองค์ ในอดีตชาติเคยเป็นพระ แล้วก็ตายในผ้าเหลือง ขณะที่ยังปฏิบัติธรรมเจริญสติอยู่นั่นเอง พอไปเกิดเป็นเทวดาก็ไม่ยินดีในทิพยสมบัติ อยากจะมาเกิดใหม่เพื่อที่จะได้บำเพ็ญบารมีต่อ เจริญสติต่อ เนี่ยพวกนี้ก็จะลงมากันเร็ว ขึ้นไปยังไม่ทันไร ก็จะรีบร้อนลงมา เพราะอยากจะได้อรหัตตผลไวๆไม่อยากเสียเวลาเสวยทิพยสมบัติ อย่างนี้พอเกิดมาปุ๊บ ด้วยจิตที่มีกำลังบุญเก่าอยู่แล้ว และก็มุ่งมั่นที่จะมาเอาของดี คือ เสียสละของดีชั่วคราวมาเอาของดีที่มันถาวร พวกนี้ก็จะดูเหมือนกับลงมามีความพร้อมเลยที่จะเจริญสติ ไม่ว่าจะเป็นพื้นฐานครอบครัว ความเชื่อของพ่อแม่ หรือว่าการได้แรงบันดาลใจให้ไปสู่การเจริญสติ และเด็กพวกนี้ ถ้าหากว่าได้เรียนรู้ ก็จะเป็นเร็ว อันนี้เคยเจอมาหลายคนเหมือนกัน เอาเฉพาะในที่เห็นๆกันในแวดวง แล้วความเป็นผู้มีแรงดัน เป็นผู้มีแรงบันดาลใจเกี่ยวกับการเจริญสติ มาตั้งแต่อายุยังน้อยๆเนี่ย ก็เป็นเหตุให้ไม่วอกแวก อยากจะบวชตั้งแต่ต้นวัย หรือบางคนไม่บวช แต่ก็เจริญสติมาเรื่อย อันนี้มีนะ มีตัวตนอยู่จริงๆ

หากถามว่า ถ้าหากไม่มีบุญเก่ามา ทำยังไงจะให้มีความเด็ดเดี่ยว ทำยังไงจะให้เกิดฉันทะ ทำยังไงจะให้เกิดความพึงพอใจที่จะเจริญสติได้อย่างต่อเนื่อง อันนี้นะ ‘เราจะปลูกฉันทะได้ ไม่ใช่ด้วยการบังคับตัวเอง ไม่ใช่ด้วยการที่จะมาสั่งตัวเองตามอำเภอใจว่า จงมีความเด็ดเดี่ยวในการเจริญสติ พากเพียรต่อไปจนกว่าจะบรรลุมรรคผล จิตมันไม่ได้สั่งกันง่ายๆอย่างนั้น ลักษณะนิสัยของสัตว์โลกเนี่ย จะมุ่งมั่นทำอะไรจริงๆอย่างหนึ่ง ก็ด้วยความพึงพอใจที่เกิดขึ้นเอง ที่มีเหยื่อล่อ ที่มีขนมหวาน’ ขนมหวานในที่นี้คืออะไร คือ การที่รู้สึกนะว่าเจริญสติแล้วเราทำได้ เราเห็นผล และมันเกิดความชื่นใจ เกิดความมีปีติ เกิดความสุข ความสบายใจ

ความสุข ความสบายใจ หรือว่าปีตินี่มันเป็นแรงผลักดัน มันเหมือนน้ำพุที่มันพุ่งขึ้นฟ้าได้ เพราะมีแรงดันมากพอ ไม่ใช่ว่าอยู่ๆเนี่ย น้ำจะไหลขึ้นที่สูงได้เอง ปกติน้ำจะไหลลงต่ำ พระพุทธเจ้าก็ตรัสอย่างนั้นว่าจิตมีธรรมชาติไหลลงต่ำ การที่จะมีแรงดันผลักขึ้นสูงได้นั้น ต้องมีของหวาน ต้องมี ‘แรงบันดาลใจ’ ตัวแรงบันดาลใจที่สำคัญที่สุดก็คือ การประสบความสำเร็จในการเจริญสติจนเกิดปีติ

ทีนี้ถามว่าทำยังไงถึงจะเกิดปีติ ถึงจะเกิดความรู้สึกเป็นสุขที่จะได้พากเพียร และเห็นผลต่อๆไปยิ่งๆขึ้น อันนี้พระพุทธเจ้าท่านก็ให้สังเกต ให้หลักการไว้อยู่แล้ว นั่้นก็คือให้สังเกตดูว่า ลมหายใจเข้าออกเนี่ย ในแต่ละครั้งเนี่ยนะ ในตอนแรกๆ มีสติรู้อยู่เฉยๆว่าหายใจเข้า มีสติรู้อยู่เฉยๆว่าหายใจออก ตอนแรกๆมันจะรู้อยู่เท่านี้ แต่รู้ไปเรื่อยๆท่านให้สังเกตต่อไปอีกว่า เออ เดี๋ยวมันก็ยาว เดี๋ยวมันก็สั้น เพราะร่างกายมันต้องการลมไม่เท่ากันในแต่ละจังหวะ ในแต่ละขณะ พอมีความสามารถที่จะเห็นได้ว่า เออ เดี๋ยวมันก็ยาว เดี๋ยวมันก็สั้น ไม่ได้มีความคงเส้นคงวา ไม่ได้มีความเป็นตัวเป็นตน ตรงนั้นน่ะนะจิตมันจะเริ่มเป็นอิสระจากอุปาทานขึ้นมาชั่วขณะ พอจิตเป็นอิสระจากอุปาทานขึ้นมาชั่วขณะ ตรงนั้นจะเกิดความรู้สึกเป็นสุขขึ้นมาอ่อนๆ เพราะอะไร เพราะปกติเนี่ยเปรียบเสมือนเราถูกยึดมือยึดเท้าอยู่เนี่ย ถ้าเราถูกพันธนาการอยู่ เราจะอึดอัด มันจะมีความรู้สึกหนัก มันจะมีความรู้สึกไม่เป็นอิสระ แต่พอคุ้นกับการถูกพันธนาการก็นึกว่า เออ มันไม่เป็นไร ทีนี้พอวันนึงเอาพันธนาการออก มือไม้ได้เป็นอิสระ มันมีความรู้สึกว่าเบาเหลือเกิน มันมีความรู้สึกว่า เนี่ยอิสระมันเป็นอย่างนี้ ก็เกิดความสุข ก็เกิดความรู้สึก เออ มันดีจริงๆที่ได้เป็นอิสระ ตัวความรู้สึกดีนั่นแหละ จะทำให้เกิดปีติ

เหมือนกัน เราสังเกตลมหายใจไป เดี๋ยวเข้าเดี๋ยวออก เดี๋ยวยาวเดี๋ยวสั้น จนกระทั่งรู้สึกว่ามันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน พ้นจากอุปาทานขึ้นมาชั่วขณะได้ นั่นแหละมันเกิดปีติขึ้นมา ท่านก็ให้สังเกตว่าหายใจเข้ามีปีติ หายใจออกมีปีติ แล้วพอสังเกตไปเรื่อยๆ มันมีความสุขมากขึ้น มันมีความตั้งมั่น มันมีความสงบระงับทั้งกายทั้งใจมากขึ้น นี่ตัวนี้แหละที่จะเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญ เพราะถ้าหากทำได้ครั้งนึง มันจะทำได้อีกเรื่อยๆเพราะเราสามารถจะรู้หลักการ แล้วทำได้ตลอดทั้งวัน นึกขึ้นมาได้เมื่อไหร่ก็ทำขึ้นมาเมื่อนั้น แล้วถ้าไม่รีบร้อน ถ้าไม่ไปหวังผล นับหนึ่งใหม่ทุกครั้ง เราสังเกต เออ เดี๋ยวก็หายใจออก เดี๋ยวก็หายใจเข้า จะกี่นาทีก็แล้วแต่ เราสังเกตอยู่แค่นี้ จนกระทั่งเรามีความสามารถสังเกตต่อว่า เออ เดี๋ยวก็ยาว เดี๋ยวก็สั้น แล้วจิตมันเป็นอิสระขึ้นมาเองไม่ได้ไปเร่งมัน ทุกครั้งก็จะมีความสุข ทุกครั้งก็จะรู้สึกว่าลมหายใจไม่มีตัวตน นี่ตัวปีติตรงนี้สามารถเห็นผลได้อย่างงี้ง่ายๆนะครับ คนในยุคพุทธกาลทำกันไม่กี่วัน แล้วก็สามารถจะเห็นผลได้ เพราะเชื่อพระพุทธเจ้า มีหลักการที่จะดูลมหายใจอย่างถูกต้อง มันเกิดแรงบันดาลใจ มันเกิดปีติ มันเกิดความรู้สึกว่า เออ เราสามารถทำได้ และเราจะทำต่อไปเรื่อยๆด้วยความพอใจนั้นแหละ และยิ่งทำด้วยความพอใจ มันก็ยิ่งเห็นผลมากขึ้นเรื่อยๆตามจำนวนครั้งที่ได้เกิดความเป็นอิสระจากอุปาทาน เนี่ยตัวนี้แหละที่มันจะทำให้เกิดความเด็ดเดี่ยว จำไว้เป็นหลักสรุปง่ายๆก็คือว่า ‘จิตไม่สามารถบังคับให้มีความเด็ดเดี่ยว ให้มีความพึงพอใจอะไร มันต้องมีขนมหวานล่อ แล้วขนมหวานที่ดีที่สุดในการเจริญสติก็คือ การประสบความสำเร็จ ได้เห็นผล ได้เป็นอิสระ มีปีติขึ้นมา’



๒) ทำไมบางคนสามารถทำให้คนกลัวได้ ทั้งๆที่เค้าไม่มีอำนาจคะ? เค้าคนนี้มักคิด พูด ทำร้ายๆกับคนอื่นๆกระทั่งคนที่อยู่ระดับหัวหน้า ยังไม่กล้าทำอะไร แถมทุกคนยังดีกับเค้าอีกด้วย หนูอยากจะไม่กลัวคนแบบนี้ แต่แค่เค้ามาอยู่ใกล้ๆหนูก็สั่น ทำอะไรไม่ถูกแล้ว

อธิบายคำถามนี้แล้วกันนะครับ ว่ามันเกิดขึ้นมาจากอะไร แล้วจะทำยังไงไม่ให้โดนคุกคามได้ อันนี้เค้าเรียกว่า ‘ตบะบารมี’ คนมีตบะบารมีนี่นะครับ บางทีเค้าแค่ปรากฏตัวให้เห็น เราก็รู้สึกกลัวได้ พวกนี้จะมีส่วนผสมของอะไรหลายๆอย่าง หนึ่งประการแรกเลยที่เราต้องพูดถึงก็คือ ของเก่า ทุนเก่า เด็กบางคนนี่ แค่อยู่ ป. ๑ ป. ๒ หรือว่าเอาซักประมาณ ป. ๕ ป. ๖ อะไรมันจะชัดเจนขึ้น มันมีความน่าเกรงขามสำหรับเพื่อนๆลองนึกดู ทุกคนจะต้องเจอ ตอนสมัยเด็กๆนี่ ยังไม่ได้สร้างบารมีอะไรในชาตินี้กันเท่าไหร่ แต่ดูมีความเป็นนักเลง ดูเหมือนกับว่าเพื่อนจะมีความรู้สึกเกรงกลัวหรือให้ความเกรงใจเป็นพิเศษเหมือนพี่ใหญ่ของห้อง ทั้งๆที่ก็อยู่ในวัยเดียวกัน โตมาด้วยกัน โตมาพร้อมๆกัน อายุเท่าๆกัน อันนั้นถ้าอธิบายตามคำพูดแบบเอาปัจจุบัน ก็เหมือนกับว่า คนๆนั้นหรือเด็กคนนั้นมีลักษณะบางอย่างที่เหนือกว่าเด็กธรรมดาทั่วไป ซึ่งก็มักจะไปลงว่า จัดสรรด้วยความบังเอิญ บังเอิญว่าเกิดมาแบบนั้น หน้าตาแบบนั้น บางทีไม่ได้หล่อเหลา ไม่ได้สูงใหญ่อะไรนะครับ บางคนผอมๆด้วยซ้ำ แต่มีรังสีอำมหิตออกมา ในแบบที่เพื่อนๆรู้สึกถูกคุกคามได้ เห็นจ้องตา ทำตาขวางหน่อยเนี่ย เพื่อนๆเกิดความรู้สึก ที่ภาษาเด็กๆเค้าชอบเรียกกันว่าขี้หดตดหาย อะไรแบบนั้น มันเกิดความรู้สึกเหมือนกับจะโดนทำร้ายด้วยสายตาได้ตั้งแต่โดนจ้องด้วยความโกรธแล้ว

พวกนี้ถ้าพูดถึงเรื่องของตบะเก่าหรือว่าบารมีเดิมนี่นะ จะเป็นพวกที่คิดแรง พูดแรง ทำแรง คือคิดอะไรจริง ทำอะไรจริง พูดอะไรจริง พูดอะไรแล้วทำตามที่พูด แล้วก็จะเป็นพวกที่พูดง่ายๆว่าใจเนี่ยเอาจริงและมุ่งไปทางทิศไหนแล้วแรง ไม่ได้วอกแวกง่ายเหมือนคนทั่วไป พวกนี้เลยดูมีตบะ มีอำนาจในตัว มีความน่ากลัว เพราะว่ากระแสของใจนี่ เวลามันพุ่งไปใส่ใครแล้ว มันพุ่งเป็นลำตรง มันมีแรงกระแทกมากกว่าคนธรรมดาทั่วไป

ถามว่าทำยังไงถึงจะไม่กลัวคนพวกนี้ ก็คือเราแผ่เมตตาเฉยๆ บางทีใจเราแผ่เมตตาด้วยกำลังอ่อนๆเนี่ย มันก็สู้ไม่ไหวหรอก แต่ถ้าเราเมตตาจริงๆ คือ ตั้งใจว่าจะไม่เบียดเบียนใคร และมีความคิดอยากช่วยเหลือคนอื่น แล้วทำจริง เอาจริง คือไม่มีการลังเล แต่ละครั้งเนี่ย ถ้าหากว่าเราคิดช่วยใคร เราคิดช่วยจริง ไม่หวังผลตอบแทน อยากอภัยให้ใคร อภัยจริงๆ ไม่ได้มาคิดติดค้างอะไร ไม่ได้มากลับลำ วันนึงโกรธ วันนึงอยากอภัย เดี๋ยวกลับไปกลับมาเรื่อยๆเนี่ย อย่างนี้จิตมันจะไม่พุ่งเป็นลำ ไม่มีทิศทางที่ชัดเจน แต่ถ้าอภัยแล้วอภัยจริงๆ ไม่ย้อนกลับไปคิดอีก หรือถ้าคิดนะ เราก็จำสัญญาที่ให้ไว้กับตัวเองได้ว่าเราจะอภัยไม่คิดเอาความ อย่างนี้ในที่สุด จิตมันก็ออกมาเป็นเมตตาจริง ไม่เบียดเบียนใครจริง ฉะนั้นเวลาแผ่เมตตาให้ใคร มันก็จะมีกระแสของเมตตาออกมาจริงๆ ไม่ใช่ออกมาเล่นๆ ไม่ซัดส่าย มันก็จะข่มความกลัวในใจเราไปได้ ไม่ใช่ไปข่มให้เค้าเกิดความคร้ามเกรงนะ คือตัวเค้าก็จะมีความรู้สึกว่า เออ ตัวเราเนี่ยไม่น่าเข้ามาเบียดเบียน ไม่น่าเข้ามายุ่งด้วย จะมีความเมตตาให้เป็นพิเศษ มากกว่าคนอื่นๆ

ลักษณะของคนที่มีตบะบารมีน่ากลัวนี่ โดยมากจะเคยเป็นนักรบมาก่อน เป็นพวกนักรบที่อาจจะเคยคิดมุ่งมั่นเสียสละเพื่อชาติมาจริงๆ เป็นหัวหมู่ เป็นนายกอง เป็นแม่ทัพอะไรแบบนั้น พวกนี้จะมีจิตใจที่เข้มแข็งและห้าวหาญ และมันติดตัวข้ามภพข้ามชาติได้ เพราะว่าความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวนี่มันเป็นสิ่งที่สืบนิสัยได้ เป็นสิ่งที่เป็นกรรมเก่าที่บันดาลให้เกิดผลให้เกิดในฤกษ์เกิดแบบที่ดวงมีความเข้มแข็ง หรือว่าจิตมีความเข้มแข็ง มีพลังใหญ่ ก็อันนั้นเป็นเรื่องของของเก่า ส่วนเรื่องของของใหม่ เราจะไม่กลัวใครได้ ก็คือมีเมตตาที่ชัดเจนนั่นเอง ตั้งใจไม่เบียดเบียนแล้ว ก็ไม่เบียดเบียนกันจริงๆ



๓) รู้ตัวว่าเป็นคนชอบคิดแย้ง ประมาณว่าเราก็มีเหตุผลของเราบ่อยครั้ง จนต้องพยายามห้ามปากไม่ให้เถียงออกไป ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง บางทีงัดเหตุผลออกมาเถียงจนชนะ แล้วพอใจที่ทำให้ข้อสงสัยของคนที่เราคุยด้วยคลี่คลาย แต่สิ่งที่กลัวคือการเถียงพ่อเถียงแม่ พยายามแล้วแต่บางครั้งก็งัดเหตุผลของเรามา เพราะอยากทำให้ท่านเข้าใจเรา แต่กลายเป็นทำให้ท่านอารมณ์เสีย มีอุบายสอนใจ ทำอย่างไรให้เลิกเถียงคะ? ทั้งเถียงในใจ ทั้งการพูดออกมา มันโพล่งออกมายั้งไม่ทัน ไม่อยากข้ามภพไปเป็นเปรตเลย

อย่างนี้นะ คือต้องทำความเข้าใจไว้อย่างนี้ว่า จริงๆการเถียงคนนี่ ไม่ว่าจะเถียงใครก็ตามนะ เถียงกับตัวเอง หรือเถียงกับเพื่อน หรือเถียงกับครูบาอาจารย์ หรือว่าเถียงกับพ่อแม่เนี่ยนะ ถ้าเถียงอย่างมีเหตุผล ถ้าระดับของการเถียงเนี่ยเป็นการแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้งกัน ที่ไม่ส่งเสริมไม่สนับสนุนกันเนี่ย ตรงนั้นยังไม่ตัดสินนะว่า เราทำบาปหรือว่าไม่บาป ‘บางทีเนี่ย แสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้งออกไปนี่นะ เป็นบุญก็มีนะ และมีเยอะด้วย คือบางทีเค้าเป็นมิจฉาทิฎฐิอยู่ ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะอะไรกับเราก็แล้วแต่ ถ้าเค้าเป็นมิจฉาทิฎฐิอยู่ เราพิจารณาเห็นว่า นั่นน่ะมันเป็นโทษ ไม่ใช่เป็นคุณ เราขัดแย้งออกไปสามารถโน้มน้าว สามารถชักจูงให้เค้าเห็นคล้อยตามในทางที่ดีขึ้นได้ ในทางที่จะไม่เบียดเบียนกันได้ แบบนี้ถือเป็นบุญนะ’

เอาง่ายๆเลย ถ้าพิจารณาเหตุการณ์ในบ้านเมือง มีคนขัดแย้งกันเนี่ยนะ บางทีคนในบ้านนี่ทะเลาะกัน ทะเลาะกันเพราะไม่เห็นด้วยในทิศทางที่อีกฝ่ายคิด ไม่สนับสนุนพรรคที่ตัวเองชอบ นี่แหละแค่นี้ทะเลาะกันแล้ว แล้วก็มักจะใช้วิธียกเอาข้อดีของข้างตนมาข่ม แล้วเอาความชั่วของอีกฝ่ายหนึ่งมาแฉ มากระทืบซ้ำอะไรแบบนี้ นี่ผมยกให้เป็นภาพที่ชัดเจน การขัดแย้งส่วนใหญ่ จะใช้วิธีการแบบนี้กัน เอาข้อดีของตัวเองมาข่ม แล้วก็เอาข้อเสียของอีกฝ่ายมากระทืบ มาย่ำยีกัน มันก็เลยแพ้ด้วยกันทั้งคู่ คือ มีความโกรธ มีความโมโห ด้วยอารมณ์ของคนที่จะเอาชนะคะคานกัน

แต่ถ้าหากว่าเราสามารถที่จะเปลี่ยนใจอีกฝ่ายหนึ่งให้เห็นว่า เออ ไม่ว่าจะเป็นใครมานะ มันมีข้อเสียด้วยกันทั้งนั้นแหละ มันมีข้อดีด้วยกันทั้งนั้นแหละ มีความตั้งใจดี และก็มีความตั้งใจร้ายด้วยกันทั้งนั้นแหละ สามารถทำให้เห็นได้นะว่า เนี่ยถ้าหวังดีจริงนะ หน้าตาต้องดีสิ หน้าตาต้องสว่างสิ หน้าตาต้องดูไม่มีความช้ำเลือดช้ำหนองแบบคนที่คิดอกุศล แต่นี่เพราะว่ามันคิดอกุศลกันบ้าง คิดกุศลกันบ้าง ปะปนกันมั่วๆบางทีมันก็ดูดี แต่ส่วนใหญ่มันจะดูแย่ เห็นแบบนี้เนี่ยมันเห็นไปตามกรรม เห็นแบบที่จะก่อให้เกิดความรู้สึกว่า ‘ใครทำยังไงมันก็ได้แบบนั้นน่ะ ไม่ต้องไปเดือดร้อนกับใครเขา ไม่ต้องไปเชียร์ใครเค้ามาก’ ถ้าทำให้คู่สนทนาของเราคล้อยตามไปในทางที่เห็นดีเห็นงามตามแนวทางกรรมวิบาก เห็นดีเห็นงามตามแนวทางของการทำใจให้ไม่โกรธ ไม่ต้องแบ่งข้างกัน ไม่ต้องตีกัน นี่เรียกว่าเราชนะอย่างแท้จริง

แต่ก่อนจะชนะอย่างแท้จริงได้เนี่ย ใจของเราจะต้องเป็นอย่างนั้นจริงๆซะก่อน ‘ถ้าหากว่าเราเปลี่ยนคำว่าเถียงเป็นคำว่า ‘อธิบาย’ เพื่อให้เกิดผลดี ถ้าตั้งไว้อย่างงี้ในใจนะครับ เถียงไปเถอะ ระดับการเถียงของเราจะไม่ก่อให้เกิดความเกลียดความชังอะไรขึ้นมาได้หรอก เพราะว่าใจที่มีความปรารถนาดีอย่างแท้จริง ไม่ได้ตั้งใจจะเอาชนะ แต่ตั้งใจจะทำให้เค้าเห็นถูกเห็นชอบเนี่ย มันมักจะมีเมตตารินออกมา นำออกมา ไปปรุงแต่งน้ำเสียง ไปปรุงแต่งสีหน้าสีตา ให้มีความสงบเย็น ให้มีความรู้สึกดี’ อีกฝ่ายนึงเห็นหน้าเราแล้วรู้สึกดี ฟังเสียงเราแล้วรู้สึก อืม มันมีความนุ่มนวล มันมีความน่าฟัง มันมีความอยากเชื่อ ด้วยเจตนาดี ด้วยความเป็นกุศลของจิตน่ะ ถ้าตั้งต้นขึ้นได้แล้ว มีความเป็นฐานที่ยืนของคำพูดแล้ว คำว่าเถียงมันจะหายไป กลายเป็นคำว่าอธิบาย หรือว่าโน้มน้าวให้เกิดความเห็นถูกเห็นชอบ พระพุทธเจ้าท่านใช้วิธีนี้ตลอด ใครพูดอะไรมานะ ท่านมักจะแก้ แก้เป็นตรงข้ามบ้าง หรือว่าเสริมให้มันมีความถูกต้องยิ่งขึ้นบ้าง นั่นเพราะอะไร เพราะท่านรู้ดี รู้ดีจริงๆในสิ่งที่มันดี มันควร มันถูก มันงาม แล้วท่านก็สามารถมองเห็นได้ว่า ใครยังเห็นไม่ทั่วตลอด ยังเห็นไม่จะแจ้ง ด้วยความสามารถที่ท่านเห็นว่าใครเค้ายังไม่รู้อะไร แล้วท่านเสริมตรงที่เค้ายังไม่รู้ด้วยเจตนาที่มันเป็นไปในทางดีนะ คนเปลี่ยนใจตามท่านกันนับไม่ถ้วน นี่ก็ขอให้เอาเป็นตัวอย่าง ขอให้มองเป็นหลักการคิดนะว่า ‘ที่เราจะไม่ขัดแย้งกับคนอื่นมันเป็นไปไม่ได้ ที่เราจะไม่ต้องเถียงกับคนอื่นมันเป็นไปไม่ได้ แต่มันเป็นไปได้ ที่เราจะตั้งจิตไว้ เริ่มต้นด้วยความปรารถนาดี พูดด้วยความปรารถนาดี ยิ่งพูดยิ่งเกิดความเข้าใจ ไม่ใช่ยิ่งเกิดผู้แพ้ผู้ชนะ พอเราสร้างนิสัย สร้างความเคยชินที่จะเป็นผู้อธิบาย ไม่ใช่ผู้เถียงชนะ ในที่สุดจิตของเราจะมีความปรุงแต่งเป็นแบบหนึ่ง มีความเป็นกุศลในการพูดอยู่ตลอดเวลา เราจะรู้สึกว่าวาจาของเราเนี่ย จัดเข้าข่ายวจีสุจริต พูดทีไรเนี่ย มีคนเค้าเกิดความรู้สึกดี เค้าเกิดความอยากที่จะทำความเข้าใจ ตามแบบที่เราเข้าใจมากขึ้นทุกที’ ถ้าไม่ลองฝึก ถ้าไม่ได้ตั้งใจไว้ ถ้าไม่ได้เจตนาไว้ล่วงหน้า คนเราจะไม่มีความคิดอย่างนี้นะ มีแต่การพูดเพื่อเอาชนะกันท่าเดียว อันนี้ก็พูดง่ายๆนะครับ เพื่อให้เกิดความสบายใจ เราเปลี่ยนคำว่า ‘เถียง’ ให้กลายเป็น ‘คำอธิบาย’ ซะ


เอาละครับ คิดว่าวันนี้ก็คงต้องล่ำลาไปก่อนนะครับ ราตรีสวัสดิ์ ขอให้เจริญในธรรมด้วยกันทุกท่านนะครับ


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น