วันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๙๒ / วันที่ ๒๐ ส.ค. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันจันทร์ที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง คืนนี้ก็ขออภัยนะครับ ล่าช้าไปประมาณ ๑๐ กว่านาที น่าจะเป็นปัญหาที่เครื่องของผมเอง เพราะเมื่อครู่นี้ลองดูทุกอย่างมันไม่สำเร็จนะ เข้าคอนโซล Spreaker.com ไม่ได้ ก็ลองบูตเครื่องใหม่ กลับมาก็เป็นปกตินะครับ ไม่มีปัญหาอะไร เพื่อจะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการนะครับ ให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/HowfarBooks



๑) วันนี้พึ่งทิ้งศาลเจ้าที่สีแดงๆสไตล์ศาลเจ้าของจีนไป ๑ ศาล โดยใส่กระสอบแล้วนำไปทิ้ง เป็นการลบหลู่หรือไม่ เราควรปฏิบัติอย่างไรดี ในกรณีที่เจ้าที่จะตั้งศาลใหม่ โดยส่วนตัวคิดว่าแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลให้ก็เป็นการดีที่สุดแล้ว ไม่ต้องตั้งศาลถูกหรือเปล่าคะ?

เรื่องเกี่ยวกับเจ้าที่เจ้าทางหรือว่า การตั้งศาลพระภูมิอะไรแบบนี้ ผมไม่ค่อยถนัด ไม่ค่อยสันทัดนะครับ ทางที่ดีลองปรึกษาคนที่รู้จะดีกว่านะ ก็บอกได้อย่างเดียวในแง่ของการให้เกียรติกัน หรือว่าการที่เราจะแน่ใจว่าไม่ได้เป็นการลบหลู่ ก็คืออธิษฐานจิตบอกนะครับ บอกกล่าวล่วงหน้า แล้วก็มีการขอโทษขอโพยนะครับ ก็ไหว้ยกมือไหว้ อะไรกันเป็นเรื่องเป็นราวนิดนึง อันนี้ก็ในแง่ของกรรมทางใจ มโนกรรมที่มีต่อกัน ก็น่าจะเป็นไปในทางที่ดี เป็นไปในทางบวกนะ จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ที่เราจะต้องทิ้งศาลเจ้านะ เราก็บอกกล่าวไปตามเหตุผลที่จำเป็น เผอิญว่าผมไม่เคยจัดการเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้เลย แล้วก็ไม่มีความรู้ตามหลักพิธีการอะไรนะครับ คงให้คำแนะนำไม่ได้



๒) การตั้งโต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูปไว้ในห้องพักแบบห้องเดี่ยว โดยที่มีการใช้ชีวิตตามปกติทุกอย่างในห้องนั้น เหมาะสมไหม? อันนี้ในกรณีที่เป็นผู้หญิงนะ ก็คงถามในแง่นั้น บางครั้งรู้สึกไม่สะดวกที่จะทำกิจกรรมบางอย่างเช่น แต่งตัวในห้องนั้น หรือใส่กางเกงขาสั้น เพราะใจพะวงว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่ในห้อง ไม่เหมาะสม ก็จะหลบไปแต่งตัวในห้องน้ำ รู้สึกไม่สบายใจค่ะ บางครั้งก็รู้สึกไม่สะดวก แต่ก็อยากมีพระไว้บูชาในห้อง สำหรับไหว้พระสวดมนต์นะครับ

ปัญหานี้มีกันมาเสมอนะ โดยเฉพาะคุณผู้หญิง แล้วก็แม้แต่ผู้ชายเองก็เถอะนะครับ เพราะว่าการที่เรามีห้องหนึ่งห้อง ไม่มีฝากั้น ไม่มีความเป็นสัดเป็นส่วนนะ ว่าไหนห้องนอน ไหนห้องพระ เพราะว่าเป็นห้องเดี่ยว เป็นหอพักก็ทราบกันว่าไม่มีฝากั้น ไม่มีอะไรที่จะมาแบ่งเป็นเรื่องเป็นราวว่า นี่เขตห้องพระ นี่เขตห้องนอน นี่เขตห้องอาหาร นี่เขตห้องแต่งตัวนะครับ ทุกห้องก็คือห้องเดียวกันหมดนะ อันนี้ก็เห็นใจกันหละ

ทางนึงที่จะช่วยได้นะ ก็คือเราหาผ้าใบมากั้น เพราะว่าตามหลักการจัดสถานที่นะ หรือว่าการตั้งโต๊ะหมู่บูชา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้ ทำความเคารพ ทำการกราบไหว้ โดยหลักการแล้ว ถ้าหากว่ามีการกั้นไว้ ไม่ให้เห็น ไม่ให้เห็นองค์พระ เหมือนกับพอเราไม่เห็นท่าน ท่านก็ไม่เห็นเราอย่างเงี้ยนะ ก็ถือว่าได้จัดการแบ่งที่แบ่งทาง จัดสัดส่วนไว้พอสมควรนะครับ คืออาจจะอาศัยมุมห้องสักมุมนึงที่กว้างที่สุด สะดวกที่สุด หาผ้าใบมากั้นนะ แล้วก็ตั้งใจไว้ว่าบริเวณนั้น มุมนั้น เราจะใช้เป็นที่สงบจิต สงบใจ สวดมนต์นะ อาจจะต้องแบ่งไว้กว้างนิดนึง อย่างน้อยที่สุดเนี่ย เราสามารถจะนั่งพับเพียบแล้วก็กราบไหว้ได้โดยไม่ติดขัดนะครับ เพื่อความสะดวกของร่างกายเนี่ย มันมีผลนะ ถ้าหากว่าสถานที่คับแคบมากเกินไปนะ กราบไหว้ไม่สะดวกเนี่ย ถ้าหากมีความอุดอู้ทางกายเนี่ย มันจะมีความอุดอุ้ทางใจไปด้วยนะ มันจะไม่มีความเป็นกุศลเต็มที่นะครับ ก็ลองจัดสัดส่วนตรงนั้นไว้ แล้วพอเราแต่งตัวหรือทำกิจวัตรอะไรที่มันรู้สึกว่าไม่สมควรที่จะทำต่อหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์เนี่ยนะ คราวนี้ก็จะรู้สึกว่าไม่เป็นไร เพราะว่าเราไม่เห็นท่าน ก็หมายความว่าท่านไม่เห็นเราเหมือนกันนะครับ มองเป็นอย่างนี้ก็แล้วกัน



๓) ถ้าเคยไหว้เทพและถวายน้ำหรือนมมาตลอด แต่วันนี้เข้าใจศาสนาพุทธอย่างแท้จริง มีเพียงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง จะทำอย่างไรกับรูปปั้นองค์เทพ ต้องถวายน้ำต่อหรือไม่คะ?

ถวายใจก็แล้วกันนะ เพราะว่าถ้าเป็นการบูชาเทพก็เหมือนกับเคารพ หรือว่าไปแสดงความนอบน้อมกับผู้ใหญ่ ผู้หลักผู้ใหญ่ คิดซะว่าเป็นมนุษย์อย่างนี้ ถ้าเป็นมนุษย์ที่ดี เป็นมนุษย์ที่มีความน่านับถือ น่าไหว้นะ เราก็จะมีใจอ่อนน้อม เราก็จะเข้าหาท่านเป็นระยะๆ แบบเดียวกันนะ ถ้าเราบูชาองค์เทพไว้ เราเคยเคารพนบนอบท่านมาเนี่ย ก็ไม่จำเป็นต้องทิ้ง คือเราก็ยังกราบไหว้ท่านอยู่ด้วยใจที่เป็นกุศลต่อท่านเหมือนเดิมนะ เพียงแต่ว่าเรามีที่พึ่งคือพระรัตนตรัยเป็นหลักตาย เป็นเรือนตายนะ พระรัตนตรัยเนี่ยตามหลักนะ สมัยพุทธกาลเนี่ย พระพุทธเจ้าท่านก็ให้แค่ถวายดอกไม้ หรือว่ามาลัยบูชานะครับ สำหรับที่จะเป็นการสะดวกชาวบ้านอะไรแบบนี้ ท่านก็ให้คำแนะนำเท่านั้น ประมาณว่า เครื่องของที่เราจะรู้สึกว่าเราได้ถวายท่านด้วยความเคารพอยากสักการะ ด้วยสิ่งที่สวยงาม ด้วยสิ่งที่มีความหอม ด้วยสิ่งที่เป็นมงคลกับโสตสัมผัส กับจักษุสัมผัสนะครับ ถ้าเราปรนนิบัติเช่นเดียวกันกับองค์เทพนะ ที่เป็นรูปปั้นเก่านะครับ ก็ถือว่าไม่ได้มีความขัดกัน เพราะเราจะคิดก็ได้ว่าใจของเราเนี่ย มีพวกท่านมาก่อนนะ เราก็ไม่จำเป็นต้องทอดทิ้ง พระพุทธเจ้าเองท่านก็เคยตรัสนะบอกว่า ถึงแม้ว่าจะเคารพบูชาท่าน ยึดท่านเป็นสรณะแล้วก็ตามเนี่ย ก็สามารถที่จะทำบุญกับศาสนาอื่นหรือว่าลัทธิอื่นได้ การทำบุญยังไงก็เป็นการทำบุญ การทำทานยังไงก็เป็นการทำทาน เป็นการให้เหมือนกัน เป็นการที่ใจเนี่ยนะ ได้แสดงท่าทีที่มีความเป็นมงคลต่อตัวเอง ต่อคนอื่นนะครับ สร้างความอ่อนน้อมอ่อนโยน ให้เกิดขึ้นกับโลกนะ

ถ้าหากว่าเรายังเคารพท่านด้วยใจ กราบไหว้ท่านด้วยใจ ไม่มีอะไรผิดเลย แต่ก็เรื่องของน้ำ เรื่องของนม อะไรต่อมิอะไร จะให้หรือไม่ให้เนี่ย มันเป็นของแถมนะ ไม่ได้แสดงว่าเรามีความเคารพท่านน้อยหรือมากขึ้น ถ้าหากว่าจะแสดงความเคารพน้อยลงหรือมากขึ้นเนี่ย มันคงเป็นเรื่องของความรู้สึกมากกว่า ตั้งต้นความรู้สึกออกมาอย่างไรนะ ต่อให้ภายนอกจะพนมมือ หรือไม่พนมมือเนี่ยนะ มันก็ไม่ได้เปลี่ยนความเป็นกุศลของใจไปได้นะ ระดับของใจที่มีความเป็นกุศลมากน้อยเนี่ย ก็ตั้งต้นออกมาจากศรัทธาที่แท้จริงนะครับ ถ้าหากว่าใจเรามีความศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เต็มร้อยแล้วเนี่ย ส่วนใหญ่มันก็จะไม่เหลือพื้นที่ให้กับองค์เทพหรือว่าศาสดาของศาสนาอื่นนะ เป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติ เป็นสากลคือ ถ้าหากว่าศรัทธาของเราเนี่ยนะ เต็มร้อยกับใครก็จะไม่มีพื้นที่แบ่งปันให้คนอื่น เหมือนกับที่คนศาสนาอื่นเค้าก็ไม่มีใจให้ศาสนาของเรา อะไรแบบนี้นะครับ มันก็เป็นอย่างนั้น

แต่ว่าอย่างไรก็ตามเนี่ย ทุกครั้งที่เราเคารพกราบไหว้องค์เทพเก่าที่เราเคยบูชามานะ ใจเราเนี่ยก็ยังระลึกถึงท่านโดยความเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ หรือแม้แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสนะ บอกว่าการบวงสรวงมีผลนะครับ ก็คือใจของเราเนี่ย ถ้าเคารพเทวดาอย่างถูกหลักถูกเกณฑ์จริงๆ มันเป็นกุศลแน่นอน เพราะว่าอะไร เพราะว่าทุกครั้งที่เราได้ระลึกถึงความเป็นเทวดาเนี่ย ตามหลักของพุทธศาสนานะ ไม่ได้อยากจะให้ท่านมาช่วยแต่ตรงกันข้ามนะ อยากจะช่วยให้ท่านเนี่ยนะ ได้รับการนอบน้อม ได้รับการสรรเสริญจากเราที่เป็นมนุษย์นะ เพื่อที่ใจของเราเนี่ยจะได้มีความรู้สึกอันดีกับผลของบุญ เมื่อเรามีความรู้สึกที่ดีกับผลของบุญว่า เนี่ยนะทำดีมันต้องได้ดี ได้ไปเป็นเทวดาเนี่ย เราก็จะมีแก่ใจที่จะทำดี มีความอดทนนะ มีความอดกลั้นต่อความชั่วที่เข้ามาปะทะ ที่เข้ามาทำให้เกิดความรู้สึกอ่อนเปลี้ย หรือว่าเพลียแรงนะ ไม่อยากทำความดี แบบนี้ก็จะได้มีกำลังใจที่จะทำความดีต่อไป เนี่ยเหตุผลนะที่ทางพุทธศาสนา ยังสนับสนุนให้เคารพบูชาเทวดาเนี่ย ก็ด้วยจุดนี้ ประสงค์นี้เลยนะครับ เห็นท่านได้ดีและเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีดีจริงเนี่ย ก็จะต้องเชื่อต่อไปตามหลักของพุทธศาสนาด้วยว่า เพราะว่าพวกท่านทำบุญมานะ แล้วก็พุทธศาสนาก็จะแจกแจงไว้ว่าทำบุญอะไร มีความละอายแก่ใจแค่ไหน แล้วก็จะต้องประพฤติสมควรแก่ธรรมอย่างไร จึงได้ไปเป็นเทวดานะครับ อันนั้นเรียกว่าเทวตานุสติ คือมีความระลึกอยู่เนืองๆว่าเป็นเทวดาเพราะอะไร แล้วก็เราสามารถเคารพกราบไหว้พวกท่านได้ ก็หมายความว่าเรามีความยินดีในบุญแบบพวกท่าน แล้วก็จะได้มีกำลังใจนะ ไม่ว่าในเรื่องของการให้ทาน ในเรื่องของการให้อภัย ในเรื่องของการรักษาศีล หรือการเจริญสติก็ตามนะครับ กำลังใจเราก็จะมาแหละ



๔) การที่เราเจริญสติโดยรู้ลมหายใจจนเป็นกิจวัตร และมีช่วงหนึ่งคล้ายกับรับรู้ถึงลมหายใจอีกกระแส และรู้อารมณ์โดยที่ไม่ใช่ของเรา เป็นไปได้รึเปล่าคะ ถ้าเกิดอาการอย่างนี้จะแก้ไขอย่างไร? เดิมคิดว่าสาเหตุมาจากไหน แต่ปัจจุบันอยู่กับมันจนคุ้นเคยและใช้ชีวิตอย่างมีสติทุกขณะค่ะ

ผมไม่เข้าใจว่า รับรู้ถึงลมอีกกระแสหมายความว่าอย่างไรนะ เอาเป็นอย่างนี้ก็แล้วกันว่า จะรับรู้อะไรก็ตามนะ มันเป็นการตีความนะ คือถ้าเอาตามประสบการณ์ เอาตามที่นักเล่นลมหายใจนะ หรือว่าผู้มีความชำนาญเกี่ยวกับเรื่องของอานาปานสติเนี่ย ก็น่าจะเคยผ่านๆกันมานะ มันจะมีลมที่ละเอียดอีกแบบหนึ่ง ที่ไม่ใช่ลมหยาบ ลมหยาบหมายความว่าไง หมายความว่าเนี่ยลมที่เข้าที่ออกอยู่ในขณะนี้นะ ที่เรากำลังพูด เรากำลังฟังกันอยู่อย่างนี้ หายใจเข้า หายใจออกอย่างเนี้ย เรียกว่าลมหยาบนะครับ แต่ว่าจะมีลมอีกแบบหนึ่งที่สามารถรู้สึกได้ เมื่อจิตมีความสงบประณีตลงไป คือลักษณะของร่างกายหยาบ กับจิตหยาบเนี่ยมันจะมาคู่กัน ถ้าจิตคิดนึกๆอยู่อย่างนี้เนี่ย มันก็จะสูดลมเข้าหยาบๆเฮือกนึง แล้วก็ระบายออกเฮือกนึงอย่างนี้ แต่ถ้าจิตละเอียดเข้าไปเนี่ย เราจะรู้สึกว่าลมหายใจมันมีความละเอียดขึ้น อย่างนี้นะ มันจะรู้สึกถึงลมหายใจของลมหายใจที่อ่อนโยน มันจะมีความเนียนสม่ำเสมอ มีความลากยาว มีความปลอดโปร่งนะ ในอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าหากว่าจิตสงบระงับลงไป จนกระทั่งรู้สึกได้ถึงอะไรอีกแบบหนึ่งนะ ส่วนใหญ่ที่เค้าเรียกกัน เค้าจะเรียกว่าเป็นลมปราณ หรือว่าเรียกปราณกันเฉยๆ อันนี้มันก็แล้วแต่ใครจะเรียกนะ เข้าใจตรงกันก็แล้วกันว่าหมายถึงลมที่ละเอียดเข้าไปกว่าลมหยาบนะ ลมหยาบเนี่ยเรารู้สึกได้ด้วยสัมผัสทางกาย แต่ลมละเอียดเนี่ยนะ มันก็เข้ามาทางกายนั่นแหละนะ บางทีบางคนเนี่ย จะรู้สึกเหมือนกับลมชนิดนี้เนี่ย ลมปราณเนี่ยนะ ไม่ได้เข้ามาทางจมูกอย่างเดียว บางทีมันเข้ามาทางผิวหนังได้ด้วย มันเหมือนกับเราหายใจแบบนึง ไม่ใช่เราหายใจด้วยลักษณะแบบเดิมนะ มันจะคล้ายๆกับลมหยาบ สงบระงับลงไปแล้วมีอะไรอีกอย่างนึงแล่นเข้า แล่นออก มีการหมุนเวียน มีการโคจรที่ต่อยอด ที่ขยายขอบเขตออกไปนอกเหนือจากเรื่องของปอด เรื่องของกระบังลมนะ มันเป็นอีกภาวะหนึ่งที่ต้อง ต้องเข้าถึงตรงนั้นนะ แล้วจะเข้าใจ

ทีนี้คำถามก็คือ จะแก้ไขอย่างไรนะ ผมยังไม่แน่ใจนะว่าในลักษณะที่ ประสบการณ์ของคุณ จะเจอลมชนิดนี้อยู่รึเปล่า หรือเจอลมอีกกระแสหมายความว่าอย่างไรกันแน่ แต่จะบอกโดยรวมก็แล้วกันว่า ทางการเจริญสตินะครับ เราไม่เน้นว่าปรากฏการณ์ทางกาย มันจะเป็นอย่างไร หรือว่ามีความละเอียดพิสดารขั้นแอดวานซ์หรือขั้นเบื้องต้น พื้นฐานอย่างไรเนี่ย เราไมได้ไปให้ความสำคัญกับตรงนั้นมาก เพราะว่าจะละเอียดหรือว่าหยาบอย่างไร แตกต่างกันแค่ไหน มันก็แค่ของที่จะผ่านมาแล้วผ่านไป ตัวที่เราเน้นกันจริงๆ คือตัวรู้ ถ้าหากว่าเรายังรู้อยู่ เรายังเห็นอยู่ ยังมีสติดูอยู่ ว่าลมหยาบก็ดี ลมละเอียดก็ดี ล้วนแล้วแต่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แล้วก็แปรปรวน สลับเปลี่ยนระหว่างหยาบกับละเอียดได้ ไม่ใช่ว่าจะละเอียดอย่างเดียว ไม่ใช่ว่าจะหยาบอย่างเดียวนะครับ เราสามารถเห็นด้วยการที่มีสติรู้ไปเรื่อยๆนั่นแหละนะ ว่าลมหายใจมันผ่านเข้ามา สักแต่เป็นเครื่องระลึกนะ เป็นเครื่องให้ระลึกว่า นี่คือการปรากฏของอนิจจังรูปแบบหนึ่ง ที่เราสามารถเห็นได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นอาการที่มันยังหยาบอยู่ หรือว่าเริ่มละเอียดขึ้นแล้ว หรือว่าละเอียดลงไปจนกระทั่งมันจับไม่ได้ด้วยความรู้สึกแบบธรรมดานะ มันเห็นการเคลื่อนไหว บางคนเนี่ยนะ รู้สึกว่าลมหายใจลากยาก แบบมันเหมือนลากยาวขึ้นมาโดยที่ไม่มีที่สิ้นสุดนะ ลากยาวแค่ไหนก็ได้ สุดแต่ว่าใจจะกำหนดให้มันยาวไปนะ ประสบการณ์ตรงนี้เนี่ย คือจะรู้สึกเหมือนกับว่ามีกายในเข้ามาอีกชั้นหนึ่ง ไม่ใช่กายหยาบๆที่เรารู้สึกอยู่อย่างนี้ ทั้งๆที่มันเหมือนกับตั้งต้นขึ้นมาเนี่ย เราใช้กายหยาบ เราใช้กายสามัญธรรมดาเนี่ยแหละ ในการฝึกหายใจ แต่พอจิตสงบ ระงับ ละเอียดเข้าไปนะ มันเหมือนกับลมเนี่ย เป็นอะไรอีกแบบหนึ่ง ซึ่งมันยาวผิดปกติ แล้วร่างกายธรรมดามันไม่น่าจะลากยาวได้ขนาดนั้น เนี่ยมันก็เลยได้ข้อสรุป ประสบการณ์ของสมาธิว่า ความรู้สึกภายในตอนมันเป็นสมาธิจริงๆแล้วเนี่ย จะมีการปรุงแต่งจิตอีกแบบหนึ่งนะ เห็นเหมือนกับมีกายเป็นกายใหม่ เป็นกายที่ละเอียด สามารถลากลมหายใจได้ยาวแบบไม่จำกัด แล้วก็สามารถพ่นลมหายใจออกมาได้แบบที่จะเป็นคลื่นเป็นสาย จะเห็นชัดขนาดนั้นเนี่ย มันจะเป็นอุปจารสมาธิ ยังไม่ถึงฌาน แต่ก็จะรู้สึกว่ากายในเนี่ย มันแยกเป็นต่างหากจากกายหยาบนะ แล้วลมภายในนะ ก็จะมีความละเอียดอีกแบบหนึ่ง ละเอียดมากนะ แล้วก็สามารถควบคุมบังคับได้ ให้มันยาวแค่ไหนก็ได้ มันสั่งแค่ไหนก็ได้เนี่ย ตรงนี้เราเข้าถึงประสบการณ์นะ ที่จะหยาบหรือละเอียดแค่ไหนก็ตาม ถ้าเราไปเผลอเพลิน ถ้าเราไปติดกับมัน เราจะค่อยๆแอดวานซ์ ค่อยๆก้าวลึกลงไปนะ ในเส้นทางแบบนั้น อย่างเช่น สามารถควบคุมลมได้ คือไม่ใช่แค่ไม่ใช่ควบคุมลมภายใน สามารถควบคุมลมภายนอกได้ พวกที่เล่นวาโยกสิณเนี่ยส่วนใหญ่ ก็จะตั้งต้นมาจาก การเห็นลมเข้าลมออกชัดเนี่ยแหละนะ พอสามารถเห็นลมหายใจโดยความเป็น ‘อุคคหนิมิต’ คือเป็นนิมิตเหมือนจริงได้ แล้วก็พัฒนาต่อไปเป็น ‘ปฏิภาคนิมิต’ คือสามารถที่จะทำให้ลมเนี่ย มันยาว มันสั้นแค่ไหนก็ได้ตามใจ มีความละเอียดแค่ไหนก็ได้ มันก็สามารถที่จะมีตาใน เห็นว่าลมภายนอกที่กำลังพัดอยู่ พัดกิ่งไม้ใบหญ้าแบบนี้แหละนะ เห็นแบบเป็นนิมิตเลย เหมือนเป็นลูกคลื่น เหมือนเป็นกระแสความสว่าง เหมือนสายน้ำที่มีรูปร่าง มีรูปพรรณสัณฐานชัดเจน แล้วก็มีความสามารถที่จะควบคุมมันได้ เนี่ยมันจะค่อยๆแอดวานซ์ไปในทางนั้น

ถ้าหากว่าเราเล่นกีฬาทางจิตมากๆ ก็อาจจะติดใจ แต่ถ้าหากว่าเราทำความเข้าใจไว้ตั้งแต่ต้นมือ ว่าจะเกิดปรากฏการณ์ทางกายทางจิต พิสดารแค่ไหนก็ตาม เราจะเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง ยกตัวอย่างเช่นนะ เราเห็นลมละเอียด เข้าไปถึงขั้นที่มันมีความพิเศษนะ ไม่เหมือนกับเป็นกายปกติ ไม่เหมือนกับเป็นลมปกติเนี่ย ตั้งต้นดูไว้ว่า ที่มันละเอียดขนาดนี้เนี่ย มันอยู่ได้นานแค่ไหนนะ แล้วที่เราสามารถควบคุมเนี่ย ควบคุมได้จริงแค่ไหนนะ ดูโดยความเป็นปัญญานะ คือเน้นที่ลักษณะของจิตเนี่ย ถ้าหากว่าจิตมันดูอยู่อย่างนี้นะว่า อะไรๆไม่เที่ยง อะไรๆมันควบคุมไม่ได้จริงนะ ควบคุมได้ระดับหนึ่ง เดี๋ยวมันก็ต้องสุด เดี๋ยวมันก็ต้องหยุดลงนะ ตัวนี้เนี่ยเราจะค่อยๆเห็นนะว่า จิตของเรามีความสว่างขึ้นมาอีกแบบนึง แทนที่จะสว่างแบบมีความเพลิดเพลิน มีความสนุก มีความยินดี มีปีตินะ มีตัวความอยากแล่นไป มีความทะยานแล่นไปเนี่ย มันจัดเป็นความสว่างอีกแบบหนึ่ง สว่างแบบโปร่งใส ไม่ยึด แล้วก็ไม่เพลิดเพลิน ไม่เผลอเข้าไปหลงติด หรือว่าเกิดอุปาทานว่าเราทำได้ เราเก่ง เราสามารถควบคุมนะ มันจะกลายเป็นว่าจิตเนี่ยนะ เกิดปัญญารู้ว่า สิ่งนี้นี่ไม่ใช่อะไรที่เราควรจะถือครอง ไม่ใช่อะไรที่เราจะไปหลงทึกทักว่ามันเป็นสมบัติของเรา หรือว่าเป็นความสามารถของเรา มันเป็นแค่ธรรมชาติของจิต ธรรมชาติของกายนะ ที่เมื่อเข้าส่วนเข้าสมดุลแล้ว เกิดภาวะอะไรขึ้นมาอย่างหนึ่ง ตามเหตุตามผล แล้วเดี๋ยวมันก็จะต้องสิ้นสุดไป ด้วยปัญญาในแบบตรงนั้นเนี่ยนะ มันจะค่อยๆเปลี่ยนเส้นทางเลยนะ ชีวิตเนี่ยมัน คือจะหักมุมเลี้ยวเข้านิพพานเลย เพราะว่ากำลังของจิต กำลังของสมาธิ ณ จุดนั้นเนี่ย มันเป็นทางสองแพร่ง คนปกติเนี่ย ร้อยละ ๙๐ พอถึงตรงนี้ จะอยากแล่นไป จะอยากออกไปเที่ยวสนุก จะอยากเพลิดเพลิน จะอยากที่จะเอาไปใช้ทำอะไรบางอย่าง คือคนเราเกิดมาพร้อมกับการมองออกข้างนอก มองไปข้างหน้า เพื่อที่ไปจะเรียกหาอะไรสนุกๆเข้าตัว มีแต่คนของพุทธเท่านั้นนะ ที่มาถึงทางสองแพร่งนี้แล้วเกิดสติเห็นว่า เราควรจะเลิกซักทีนะในการที่จะมองออกข้างนอก มองเข้ามาข้างในว่าจิตน่ะเป็นอย่างไรอยู่ ถ้าหากว่าจิตยังยึดมั่นถือมั่นอยู่ ชาวพุทธก็จะทราบว่า เป็นต้นเหตุของความทุกข์ เป็นต้นเหตุของการเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่รู้อิโหน่อิเหน่ แต่ถ้าหากว่ามันมีสติแล้วก็ย้อนเข้ามาดูตัวเอง ดูกาย ดูใจ โดยความเป็นของไม่เที่ยง ก็จะเกิดความรู้สึกขึ้นมาอีกแบบหนึ่งคือว่า ความไม่เอา การเป็นอิสระจากอุปาทาน มีความสุขกว่ากันเยอะ มีความปลอดโปร่ง มีความรู้สึกว่า สบายอก สบายใจ ปลอดภัยกว่ากันมาก ถึงความเป็นพุทธมันจะถึงกันตรงนี้ อันนี้ก็พูดยาวไปนิดนึงสำหรับคำถามนี้ เพราะว่าก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจนะ ถ้าหากว่าเราสามารถรู้อะไรได้ละเอียดแล้ว แล้วก็สำรวจตัวเองว่า จะมีความยินดีไปทางไหน ก็บอกตัวเองได้เลยว่านั่นแหละ เรากำลังจะไปทางนั้น


ฝากประชาสัมพันธ์นิดนึงครับว่า คนที่ใช้แอนดรอยด์ (Android) สามารถดาวน์โหลดแอปสปรีกเกอร์ (Spreaker) จากเพลย์สโตร์ (Play Store) ที่ฟังผ่านมือถือได้ สำหรับไอโอเอส (iOS) ก็ทำได้มาตั้งแต่ต้นนะครับ อันนี้ก็ทราบจากผู้ติดตามรายการว่าแอนดรอยด์ก็เริ่มจะทำได้แล้ว


๕) คนนับถือนิกายหินยานและมหายาน หากปฏิบัติได้ตรงตามหลักที่พระพุทธองค์ได้ทรงสอนไว้ ย่อมมีโอกาสเข้าถึงธรรมได้เหมือนกันใช่หรือไม่คะ? เปรียบทางเดินสู่นิพานเหมือนทางเดินขึ้นยอดเขา ซึ่งสามารถขึ้นได้หลายทาง

คำว่าขึ้นได้หลายทางหมายความว่า เริ่มต้นมาจากมุมมองที่แตกต่างกันได้ อย่างเช่น บางคนจากลมหายใจเป็นหลักก่อน บางคนมาทางกสิณ บางคนเนี่ยนะ อย่างพวกพราหมณ์ที่บรรลุธรรมได้ง่ายๆ สมัยเจอพระพุทธเจ้าเนี่ย ได้อรูปฌานกันนะครับ แต่ละคนเนี่ย ตั้งต้นมาจากมุมมองที่ต่างกัน แต่ว่าจะต้องเห็นเหมือนกัน คืออะไรๆที่กำลังปรากฏอยู่ในตัวในตน ภาวะใดๆก็ตามที่ปรากฏอยู่บ่อยๆ แล้วก็ยึดมั่นถือมั่นที่สุด ว่าตัวนั้นน่ะเป็นฉัน หรือว่าเกี่ยวข้องกับฉันนะ จะต้องมองให้ได้ว่า มันเป็นสิ่งปรุงแต่งชั่วคราว แล้วก็มีความไม่เที่ยง พูดแบบนี้มันฟังเหมือนง่ายนะ แต่พอไปเจอกับตอ ไปชนตอเข้าจริงๆ ไปชนกับอุปาทานเข้าจริงๆ สิ่งที่เรายึดมั่นถือมั่นอยู่ หรือว่าเป็นภาวะที่ปรากฏกับเราบ่อยที่สุด ตัวนี้มันไม่สามารถที่จะมองเห็นว่า เป็นของไม่เที่ยงได้ง่ายๆ จนกว่าเราจะรู้สึกถึงจิต รู้สึกถึงอารมณ์เกิดดับที่มันผุดอยู่ตลอดเวลานะ รู้ว่าแสดงตัวอยู่ตลอดเวลา ฟ้องตัวเองอยู่ตลอด ๒๔ ชั่วโมง จนกระทั่งเราต้องมาแจกแจงกันว่าใครมีประสบการณ์ยังไง ยึดอะไรตรงไหนแล้วถึงว่ากันเป็นจุดๆ จนกระทั่งสามารถที่จะเห็นสิ่งที่ตัวเองยึดไว้ แล้วก็ปล่อยไปได้ ตรงนั้นแหละที่มันถึงจะเข้านิพพานได้จริงนะครับ บรรลุธรรมกันได้จริง ไม่จำกัดหรอกว่าเป็นหินยาน หรือว่ามหายาน จำกัดอยู่ตรงที่ว่าจิตเนี่ย สามารถเห็นได้รึเปล่าว่าอะไรๆภายในกาย ภายในใจมันไม่เที่ยง มันไม่ใช่ตัวตน


เอาละครับ คืนนี้ราตรีสวัสดิ์นะครับ ก็ขอให้เจริญในธรรมด้วยกันทุกท่านครับ


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น