วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๗๒ / วันที่ ๔ ก.ค. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันพุธที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และ ศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง เพื่อจะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการนะครับ ให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/HowfarBooks นะครับ



๑) หลังจากสวดมนต์ไหว้พระ นั่งสมาธิก่อนนอน พอหลับตาก็เห็นภาพท้องทุ่งกว้าง ต้นไม้สวยงาม และอะไรต่างๆนานานะ นอนดู พลิกดู กายก็ขยับเขยื้อน แต่ความรู้สึกเหมือนว่าเรากำลังลืมตาดูอยู่ด้านในของจิต ดูไปเรื่อยๆจนหลับ อันนี้หมายถึง ตาปิดสนิทแต่ยังไม่หลับนะ แต่จิตและสมองบอกว่าตา ดวงตาเปิดอยู่ โดยเห็นลูกตา มองไปมองมาจากเบ้าตา ของหัวกะโหลกของตนเอง?

อันนี้ก็ขอให้มองว่า เรายังมีสติรู้อยู่ว่ากายขยับไปขยับมา อันนี้เป็นตัวอ้างอิงความเป็นปัจจุบัน ภาวะความเป็นปัจจุบัน ภาวะความเป็นจริง ซึ่งเรารู้ได้แน่ว่ามีอยู่ ไม่ใช่ของปรุงแต่งขึ้นเอง ไม่ใช่อุปาทานหลอกหลอน ไม่ใช่สิ่งที่เกิดจากการคิดไปเองหรือว่ามองจากความรู้สึกอะไรต่างๆนะ เพราะกายนี่ เป็นของที่ขอให้จำไว้เลยนะ เป็นตัวอ้างอิง เป็นแกนอ้างอิง โลกความจริงที่อยู่ในปัจจุบันเกิดขึ้นในวินาทีนี้ ถ้าหากปราศจากกายเป็นเครื่องยืนยันแล้ว เราจะไม่สามารถทราบได้แน่ชัดว่า อะไรจริง อะไรไม่จริง อะไรที่เกิดจากการปรุงแต่งของจิตไปเอง หรือว่าอะไรที่มันเกิดจากความฝันนะครับ กายนี่ไม่ใช่ความฝันแน่นอน กายเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ที่มาประชุมกันด้วยเหตุคือกรรม มาผูกเข้าด้วยกันไว้ กายนี้แสดงรูปมนุษย์ชั่วคราวไม่เกินร้อยปี และในที่สุดก็จะต้องแยกสลายหายสูญไป ตามแบบตัวใครตัวมัน ดินก็ส่วนดิน ไฟก็อยู่ส่วนไฟ น้ำก็อยู่ส่วนน้ำ แล้วก็ ลมก็อยู่ส่วนลม ถ้าหากว่าเราสามารถรู้ได้ถึงกาย เราก็สามารถรู้ได้ถึงที่ตั้งของกรรม ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ด้วย เพราะว่า จะคิด จะพูดนี่ มันก็ต้องอิงอาศัยสมอง อาศัยปาก แล้วถ้าจะขยับไปกระทำการใดๆก็ต้องอาศัยมือไม้ ซึ่งอยู่ติดตัวเรามาตั้งแต่อ้อนแต่ออกนะครับ ถ้าหากว่าเรารู้สึกถึงกายได้ ก็รู้สึกถึงความเป็นปัจจุบันได้ ขอให้ระลึกไว้อย่างนี้เป็นสำคัญ

ทีนี้ถ้าหากว่าผู้ถามสามารถที่จะมองเห็นได้อีกว่า กายอยู่ส่วนกาย ขยับอยู่ส่วนขยับ แต่ว่ามีความรับรู้ถึงอาการปรุงแต่งของจิต เห็นเป็นทุ่งกว้าง เห็นเป็นสิ่งสวยงาม ก็ขอให้มองว่าอันนั้นเป็นการปรุงแต่งจิตของกุศลกรรม เพราะอะไร เพราะสิ่งสวยงาม สิ่งที่เป็นการปรุงแต่งของจิตไปในทางที่เป็นมงคล สิ่งที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดความเจริญใจ เจริญกับความรู้สึกที่มันมีความเป็นของสว่าง ความเป็นของที่เข้ากันได้กับกุศลผลบุญนะ ตรงนั้นนี่ขอให้มองไปเลยว่า เป็นการปรุงแต่งของจิตที่กำลังเป็นกุศล ที่กำลังเป็นบุญอยู่ มีกำลังบุญอยู่ ไมใช่การปรุงแต่งของจิตที่เกิดจากบาปแน่นอน

ถามว่าทุ่งกว้างต้นไม้สวยงามเกิดจากอะไร? เกิดจากบุญแบบไหน? ก็อย่าไปเจาะจงว่ามันจะต้องเป็นแบบใดแบบหนึ่ง แต่ขอให้มองว่า ทั้งหมดที่เราทำอยู่ ของใหม่อันเป็นปัจจุบันนี่ ไม่ว่าจะเป็นการให้ทาน ไม่ว่าจะเป็นการตั้งใจรักษาศีล หรือว่าเป็นการตั้งใจศึกษาธรรมะ เป็นการตั้งใจที่จะเจริญสติ ทุกสิ่งทุกอย่างที่มันทำให้จิตใจสว่างได้ รวมกันแล้วมันก่อให้เกิดภาพนิมิตอะไรที่มันดีๆขึ้นมา เรามองอย่างนั้นก็แล้วกันว่า เป็นสภาพการปรุงแต่งอันเกิดจากกรรมที่เป็นปัจจุบัน ถามว่ามีประโยชน์ไหม? มีประโยชน์ถ้าหากว่า เรามีความเข้าใจขั้นพื้นฐาน พูดง่ายๆว่า โดยพื้นฐานเรายืนอยู่บนความเป็นสัมมาทิฏฐิ มีการพิจารณาเอาไว้ล่วงหน้าว่าการปรุงแต่งของจิตทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นการปรุงแต่งขึ้นด้วยบุญหรือว่าด้วยบาป ออกมาเป็นนิมิต ออกมาเป็นสิ่งที่เราสามารถเห็นได้ด้วยใจ รู้ได้ด้วยจิต สิ่งเหล่านั้นเรียกว่าเจตสิก เรียกว่าเป็นการปรุงแต่งอาการของใจชั่วคราว ชั่วขณะ ไม่สามารถที่จะเห็นทุ่งกว้าง ต้นไม้สวยได้ตลอดเวลา เราไม่สามารถที่จะสั่ง บงการ ให้จิตเขาเห็นเป็นนิมิตท้องทุ่งอยู่ตลอดเวลา เป็นต้นไม้สวยงามได้ตลอดเวลา ต่อให้เป็นบุญแบบเดิมๆ บางทีมันก็จะมีนิมิตใหม่เกิดขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น บางที ถ้าเราเกิดความคุ้น คุ้นที่จะเห็นท้องทุ่งนี่ จิตเขาเริ่มเบื่อของเขาเมื่อไหร่ เราก็จะมีความรู้สึกเหมือนกับว่า อาการทางใจที่มองไปข้างหน้านี่ มันจะมองสูงขึ้น มันจะมองเลยไปนะ หันซ้าย หันขวาบ้าง หรือว่าต้นไม้นานาพรรณที่เราเคยเห็นนี่จะดูแปลกไป จะดูแตกต่างไปเรื่อยๆนี่คืออาการธรรมดา

นี่คือธรรมชาติของจิตนะ ที่มันปรุงแต่งไม่เหมือนเดิม เขาเรียกว่า เป็นความไม่เที่ยงของเจตสิก เป็นความไม่เที่ยงของอาการปรุงแต่งทางใจ ต่อให้เป็นบุญเก่าๆที่เราทำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ถ้าหากสั่งสมมากๆแล้ว กำลังของบุญก็ต้องต่างไป มีกำลังบุญมากขึ้น นิมิตที่เกิดมันก็ต้องแตกต่างไป นี่เป็นธรรมดา นี่เป็นเรื่องที่ว่า เราทำอะไรไว้อย่างไร มันก็สะท้อนขึ้นมาที่นิมิตของจิต นิมิตของจิตนี่แตกต่างไปได้เรื่อยๆบางทีไม่ใช่ว่าจะเป็นไปในทางที่ว่ามีความสว่างมีความรุ่งเรืองอย่างเดียว บางทีมีความเสื่อม กำลังของบุญ ก็เหมือนกำลังสิ่งของทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ไม่ว่าจะมีมากแค่ไหน ในที่สุด มันจะต้องมีอาการลดน้อยถอยลงเมื่อเหตุหมด ผลก็ย่อมหมดเป็นธรรมดา เมื่อเรามีความเข้าใจไว้อย่างนี้ล่วงหน้าเป็นพื้นฐาน แล้วเกิดการเห็นใดๆขึ้นมา เราก็จะมีความเข้าใจเข้าไป ณ ขณะที่เห็นในขณะนั้นๆว่า เรากำลังเห็นสิ่งปรุงแต่งชั่วคราวอยู่ คือจิตมันจะเหมือนมีฐานของการรับรู้ มีฐานของการตั้งมุมมอง เมื่อถึงเวลาจะต้องมองจริงๆก็จะเกิดการเห็น ไม่ใช่แค่เกิดการรับรู้สิ่งที่เป็นนิมิต แต่เกิดการมองเห็น มีความรับรู้ มีความรู้สึกขึ้นมา มีเหมือนกับตัวบอกอยู่ข้างในว่า นี่ไม่เที่ยง

คือเริ่มๆนี่มันจะมาจากการระลึก แต่พอทำไปๆนี่มันจะอยู่ในรูปของปัญญาเห็นแจ้ง เห็นจริง คือมีความรู้สึกประกอบอยู่อย่างชัดเจนชัดแจ้งในขณะนั้นๆ มีความสว่างของจิตนี่ปรากฏพร้อมกับนิมิต ว่าทั้งหลายทั้งปวงเป็นของปรุงแต่งชั่วคราว มันไม่ใช่อาการนึกคิด มันไม่ใช่อาการรู้สึกไปเอง แต่มันมีความรู้สึกว่าเรารู้จริง รู้แจ้งนะ จิตมันจะมีความเบ่งบาน จิตมันจะมีความสว่าง จิตจะมีกำลังความฉายชัด มีกำลังพร้อมๆกับที่เราเห็นนิมิตอย่างชัดเจนนี่ มันมีกำลังของความชัดเจนที่จะมีความแจ่มแจ้งที่จะเห็นว่าทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นนิมิตก็ดี ทั้งหลายทั้งปวงแม้กระทั่งอาการทางใจที่รู้ที่เห็นก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นของปรุงแต่งชั่วคราวทั้งสิ้น และเราจะรู้สึกว่า เออ มันไม่น่ายึดมั่นถือมั่น ความรู้สึกไม่น่ายึดมั่นถือมั่นนี่ ไม่ใช่แค่ฟังสืบๆกันมา ไม่ใช่จำเขามาพูด ไม่ใช่เห็นท่านพูด ดูเก๋ดี แล้วเราเอามาพูดต่อ แต่ว่ามันเป็นความรู้สึกชัดแจ้ง ออกมาจากจิตตรงนั้นจริงๆ ว่าเออ!มันไม่เที่ยง เพราะว่าทั้งหลายทั้งปวงนี่นะ มันปรุงแต่งชั่วคราว ต้นเหตุมีแค่ไหน ผลลัพธ์มันก็จะออกมาสอดคล้องกันแค่นั้น ไม่มีอะไรที่ตั้งอยู่เอง ไม่มีอะไรที่ตั้งอยู่นานตลอดไป ตรงนี้แหละที่เราจะได้ประโยชน์จากนิมิต อันเกิดจากการอยู่ในอาการครึ่งหลับครึ่งตื่นแบบมีสตินะครับ



๒) การมีสติเวลาหลับควรจะเริ่มฝึกอย่างไรดีคะ และสงสัยว่าทำไมตอนตื่นถึงไม่เหนื่อยคะ?

ที่ตอนตื่นไม่เหนื่อยเพราะว่ามันมีความพอ ที่มีอาการพอที่ใจเป็นหลักนะ ถ้าหากว่าใจ ถ้าหากว่าจิตนี่ มีความอิ่มเต็ม มีความสดชื่น มีความพร้อมที่จะเปิดกว้าง ที่จะมีความแจ่มใสนะ ร่างกายก็จะถูกกระตุ้น สารต่างๆนานาที่มันเป็นสารดีๆมันจะหลั่งออกมา สารที่เสียๆมันก็จะถูกขจัดออกไป นี่คือลักษณะที่เราตื่นขึ้นมาแล้วไม่เหนื่อยนะ การที่จะตื่นขึ้นมาไม่เหนื่อยได้ ใจมันต้องหลับอย่างดี ใจมันต้องหลับอย่างมีความสุข ถามว่าใจจะหลับอย่างดี ใจจะหลับอย่างมีความสุขได้อย่างไร พระพุทธเจ้าให้หลักการไว้สองข้อ หนึ่งคือ มีสติขณะหลับ สองคือมีเมตตา ใจมีเมตตาเป็นปกติ

คำว่าใจมีเมตตานี่ คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดกันมากเลย นึกว่าไปแผ่เมตตา สองนาที ห้านาที แล้วก็แล้วกัน จบแล้ว หมดหน้าที่แล้ว ไม่ต้องทำอะไรต่อ ถือว่ามีเมตตาแล้ว อันนั้นไม่ใช่เลย ความมีเมตตาที่แท้จริงนี่คือ ความสามารถที่จะให้ทาน ในทานที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ ในเวลาที่เหมาะสม คือพูดง่ายๆว่า พร้อมจะหยิบยื่นความช่วยเหลือให้คนอื่น มีความเอื้ออารี เอื้อเฟื้อ คือมีความไม่ตระหนี่ถี่เหนียวนะ เห็นใครเดือดร้อนก็ช่วยได้ก็ช่วย ถ้ามีเศษเงินเหลือนะ ก็มีความอยากจะให้เป็นทาน ให้แก่คนที่เขาไม่มี ให้แก่คนที่เขาอดอยาก หรือมีเรื่องอะไรกับใคร หรือเขามาทำให้เราเกิดความเดือดร้อนรำคาญใจ เราก็มีความสามารถที่จะให้อภัยเขาได้ ไม่อยากไปผูกใจเจ็บ ไม่อยากจะไปเอาเรื่องเอาราว ให้มันมากมายนะ ยกเว้นแต่ว่า มันเหลือวิสัยจริงๆถ้าขืนปล่อยไปจะเกิดความเดือดร้อนในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของเราเองหรือว่าชีวิตของคนรอบตัวรอบข้าง ถ้าหากว่าเราให้อภัยได้ ก็จะให้อภัย แต่ถ้าอภัยไม่ได้จริงๆก็จะเอาเรื่องโดยที่ไม่ได้ประกอบด้วยโทสะ แบบนี้เรียกว่าเป็นคนที่มีเมตตาจริงนะครับ

ถ้าหากว่าให้แต่ทาน แต่ว่าอภัยไม่เป็น ไม่รู้ว่าเรื่องไหนควรอภัย ไม่รู้ว่าเรื่องไหนไม่ควรอภัย แบบนี้ก็เรียกว่ายังให้ทานไม่เป็นอยู่ นอกจากนั้น ก็จะต้องมีความสามารถที่จะห้ามใจตัวเอง ไม่ให้เบียดเบียนเพื่อนร่วมโลกด้วยการที่เราสามารถงดเว้นจากบาปทั้งปวง การถือศีลห้านี่ก็คือการให้ทานแบบชนิดที่พระพุทธเจ้าเรียกว่าเป็นมหาทาน คือไม่ต้องเบียดเบียนใครเขาด้วยชีวิต ไม่ต้องเบียดเบียนใครเขาด้วยความโลภ การไปเห็นใครเขามีของดี แล้วอยากจะเอามาเป็นของของเราบ้างอะไรแบบนี้ ถ้าหากว่าถือศีลห้าได้ เรียกว่าทำให้จิตเริ่มมีเมตตา รินออกมาโดยไม่ต้องไปฝืน ไม่ต้องไปแผ่ พยายามแผ่เมตตาทั้งๆที่จะไม่มีความสุขจะแผ่ การที่เราสามารถให้ทานได้ มันมีความชุ่มชื่น การที่เราสามารถรักษาศีลได้ มันมีความสะอาด ความชุ่มชื่นที่สะอาดนั่นแหละนะ มีความพร้อมที่จะเป็นสุขแล้ว และคนที่พร้อมจะเป็นสุขนั้นก็มีความพร้อมที่จะแผ่เมตตา นี่เรียกว่า การมีเมตตาอย่างแท้จริงในชีวิตประจำวันนะครับ

และถ้าหากว่าเรามีความสามารถที่จะตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ มาแผ่เมตตาหลังสวดมนต์ อิติปิโส ภะคะวา อะระหังสัมมา…ได้ นี่ยิ่งมีความสุขเข้าไปใหญ่นะ ลักษณะของคนที่มีความสุขนั้นเกิดจากการมีเมตตาจิตจริงๆจะทำให้เป็นผู้สามารถหลับสบาย หลับแล้วไม่มีความรู้สึกว่า ตัวเองจะถูกเบียดเบียนด้วยเหตุใดๆ คือคนที่ไม่เบียดเบียนคนอื่น ก็จะไม่ถูกโลกเบียดเบียน เห็นได้จากอาการทางใจเลย เหมือนกับรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลาว่า ไม่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจ ไม่ต้องถูกเบียดเบียนด้วยการปรุงแต่งของจิตของตน ไม่ต้องถูกเบียดเบียนด้วยวิญญาณร้ายจากภายนอก ไม่ต้องถูกเบียดเบียนจากการที่เราเคยทำบาปไว้ แล้วบาปนี่ย้อนมาเล่นงานเราด้วยประการใดๆ มันมีความรู้สึกสบายใจ ความสบายใจที่ประกอบกับการมีสติในขณะหลับ ตัวนี้แหละที่จะทำให้ใจเป็นสุขในขณะหลับ แล้วตื่นขึ้นมาอย่างมีเรี่ยวมีแรง

การมีสติขณะหลับนี่เอาง่ายๆเลยนะ คือถ้าฟุ้งซ่านอยู่ รู้ตัวว่าฟุ้งซ่าน ถ้าเกิดมีความกังวลไปในอนาคตข้างหน้า รู้ตัวว่ามีความกังวลไปในอนาคต อาการใดๆ เกิดขึ้นในขณะจิตก่อนหลับ จะเป็นส่วนเสีย จะเป็นส่วนที่มันแย่อย่างไรก็แล้วแต่นะ เราสามารถรับรู้ได้ตามจริง ยอมรับตามจริงว่ามันมีอาการนั้นๆ ยู่ แล้วเราก็หาที่พึ่ง ที่ยึดเหนี่ยว ที่ดีให้กับจิตใจ อย่างเช่น ลมหายใจ หายใจเข้า ว่าหายใจเข้า หายใจออกรู้ว่าหายใจออก ถ้ายังฟุ้งซ่านอยู่ก็รู้ว่า หายใจเข้าทั้งฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านอยู่อีกก็รู้ว่า เออ หายใจออกก็ยังฟุ้งซ่านอยู่ จากนั้นนี่เราจะเกิดความรับรู้ที่แตกต่างไป คือเห็นว่าในแต่ละครั้งที่หายใจเข้า แต่ละครั้งที่หายใจออกนี่ความฟุ้งซ่านไม่เท่ากัน คือไม่ใช่ไปเพ่งๆเพ่งๆเอานะว่านี่หายใจเข้าอยู่ นี่หายใจออกอยู่ เพื่อให้เกิดสมาธิ แบบนั้นมันมักจะเกิดความฝืน มันมักจะเกิดความรู้สึกว่าอึดอัด มันมักจะทำให้เกิดความรู้สึกว่า เออ เราทำไม่ได้ แต่ถ้าหากเราฝึกยอมรับตามจริง ตามแนวทางของพระพุทธเจ้านะ รู้ตัวว่าฟุ้งซ่านอยู่ หายใจเข้าฟุ้งซ่าน หายใจออกฟุ้งซ่าน มันจะค่อยๆเห็นขึ้นมาตามจริงว่า แต่ละครั้งที่ฟุ้งซ่านนี่นะ แต่ละระลอกลมหายใจที่ฟุ้งซ่านนี่ มันไม่เท่ากัน ระลอกลมหายใจแรกฟุ้งซ่านมาก แต่พอรู้ๆไปเล่นๆ นะ ระลอกลมหายใจที่สอง หายใจเข้าฟุ้งซ่านไม่เท่าเดิมแล้ว เบาบางลง แล้วพอเดี๋ยวๆนี่สติมันเริ่มเบลอไป มีความรู้สึกเหมือนกับไม่รู้เหนือรู้ใต้ขึ้นมา ประสาคนใกล้จะหลับ ก็จะเห็นขึ้นมาอีกว่า เออ!มันกลับมาฟุ้งซ่านเยอะอีกแล้ว เห็นไปอย่างนี้นะ ว่าฟุ้งซ่านแต่ละครั้งนี่ไม่เท่ากัน ไม่ใช่ไปยินดีกับไอ้ตอนที่ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ใช่ไปยินร้ายกับตอนที่มันฟุ้งซ่านจัดขึ้นมา แต่ยินดีที่จะรู้ว่าบางระลอกลมหายใจ เราฟุ้งซ่านจัด บางระลอกลมหายใจเราฟุ้งซ่านแค่เบาบาง ยินดีที่ได้รู้นะ ว่าความฟุ้งซ่านไม่เที่ยงในแต่ระลอกลมหายใจ นี่ตรงนี้เรียกว่ามีสติก่อนหลับแล้ว

ตรงนี้เรียกว่า ก้าวลงสู่ความหลับด้วยอาการของคนที่ไม่หลงแล้ว ถ้าหากมีโอกาสที่จะฝึกอย่างนี้สักสิบวัน ภายในอาทิตย์เดียวผมรับประกันว่า เราจะเริ่มเห็นผล เห็นชัดๆตอนตื่นนอนขึ้นมานี่มันมีสตินำขึ้นมาก่อน ลมหายใจจะปรากฏชัดสืบเนื่องจากตอนก่อนนอน มันจะเกิดความรู้สึกว่าจิตใจของเรามีความวิเวก จิตใจของเรามีความไม่แล่นไปข้างหน้า แล้วก็ไม่ย้อนกลับไปข้างหลัง แต่มีความสุขอยู่กับปัจจุบัน ที่มีการหายใจเข้าบ้าง หายใจออกบ้าง ความสุขที่เกิดจากสติอันเป็นปัจจุบันนั้น ประกอบกับฐานของเมตตาที่มีอยู่กับจิตตลอดเวลา จะทำให้เราไม่เป็นผู้ที่เหนื่อยอ่อนในการตื่นนอน ไม่เป็นผู้ที่ท้อแท้ ไม่เป็นผู้ที่ไม่อยากตื่น ไม่รู้จะตื่นขึ้นมาทำไม เพื่อเจอความเหน็ดเหนื่อย เพื่อเจอความน่าหน่ายแหนงของชีวิต แต่จะกลายเป็นผู้ตื่นมา ด้วยความรู้สึกสดชื่น กระตือรือร้น ที่จะอยู่กับชีวิตที่มีความสุข เป็นสุขจริงๆไม่ใช่สักแต่พูดว่าพยายามให้เป็นสุข มีความเมตตาจริงๆไม่ใช่สักแต่ว่า มาท่อง สัพเพ สัตตา อะเวราโหนตุ…



๓) เป็นคนที่ไม่ค่อยชอบใส่บาตรพระเช้าๆตามที่ที่พระท่านมายืนแถวที่ทำงาน หรือที่ที่พระมายืนที่ประจำของท่าน คือโดยสรุปคือ ไม่ค่อยศรัทธา และไม่ค่อยแน่ใจว่าท่านเป็นสมมติสงฆ์ หรือท่านเป็นพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ คำถามคือจะมีข้อสังเกตอย่างไร หรือต้องทำจิตใจแบบไหน?

คือ ต่อให้ท่านเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ แต่ถ้าหากว่ายังไม่ได้บรรลุธรรม เป็นพระโสดาบันขึ้นไปนี่นะ ก็เรียกว่า สมมติสงฆ์ อยู่ดีนะครับ พระพุทธเจ้า ท่านไม่ได้ให้เราคอยสอดส่องในขณะใส่บาตร ว่าพระองค์ไหนดี องค์ไหนไม่ดี พระองค์ไหนปฏิบัติชอบ หรือปฏิบัติไม่ชอบ แต่ท่านให้มุ่งจะทำทานนะครับ จะถวายเป็นสังฆทาน ถวายภัตตาหาร ให้แก่ผู้ที่นุ่งห่มจีวร ครองจีวร อย่างถูกต้อง คือถ้าขอแค่เราไม่ถึงขนาดไปรับรู้นะ ว่าเบื้องหลังของผู้ที่นุ่งห่มจีวรนี่ ที่แท้ไม่ได้บวชมา ถ้าเราแค่รู้ว่าท่านบวชมาอย่างถูกต้อง เอาเถอะนะครับ เรามองที่จีวร แล้วให้คิดว่า จีวรนั้น ท่านเรียกกันว่า เป็นธงชัยพระอรหันต์ เวลาเราให้ทานเราไม่ได้ให้ที่บุคคล แต่ให้แด่สงฆ์ ถวายสงฆ์ ถวายแด่ผู้มาสืบทอดคำสอนของพระศาสดา ที่ท่านอุบัติขึ้นมานี่เพื่อก่อตั้งพระพุทธศาสนานี่ เป็นศาสนาของผู้ที่มีสิทธิ์ที่จะบรรลุธรรม มีสิทธิ์ที่จะพ้นทุกข์ จากสังสารวัฏ การที่เราถวายแบบไม่เจาะจง ว่าจะต้องเป็นบุคคลที่ดีตามสเปคของเราแค่ไหน แต่เราถวายด้วยอาการเจาะจงแห่งใจว่า นี่เราจะถวายเพื่อให้พุทธศาสนา มีกำลังโดยรวม ยังมีพุทธศาสนาอยู่ในประเทศไทยต่อไป คิดอย่างนี้ มองเฉพาะที่จีวรอย่างนี้ แล้วใจจะเกิดความรู้สึกเป็นกุศลขึ้นมา

ความรู้สึกเป็นกุศลมันสะท้อนออกมาอย่างไร มันจะมีความรู้สึกว่า ตัวเองมีกำลังใจที่จะรักษาศาสนา เราเป็นหนึ่งในกำลังของพระศาสนา เราเป็นผู้ถวายปัจจัยแด่พระผู้ไม่มีสิทธิ์ที่จะมาสร้างอาหาร มาสร้างปัจจัย ให้ตัวท่านเอง เมื่อท่านมีกำลังแล้วท่านก็ปฏิบัติธรรมตามสมควรแต่อัตภาพ ท่านรู้แค่ไหนท่านก็ไปปฏิบัติแค่นั้น แล้วก็สามารถที่จะเอามาโปรด เอามาเทศนา เอาคำสอนของพระศาสดามาเผยแพร่ต่อได้ เผยแผ่พระสัทธรรมต่อได้ การคิดอย่างนี้จะทำให้สายตาของเรามีมุมมองที่จำกัดลงมาที่จีวร จำกัดลงมาที่นิมิตหมายอันเป็นกุศล มหากุศล แล้วใจเปิดกว้าง ตามันปิดแคบลงมา ตามันแคบลงมาที่กุศล แล้วใจเปิดกว้าง ด้วยกำลังของกุศล ที่ไม่คิดเรื่องพระสงฆ์รูปเดียว แต่คิดถึงคณะสงฆ์ หรือว่ากองทัพธรรมที่จะต้องเดินไปด้วยท้อง พระก็เป็นมนุษย์เหมือนกันนะครับ อย่างไรท่านก็ไม่สามารถที่จะมีเรี่ยวแรงถ้าหากปราศจากภัตตาหารในยามเช้านะ คิดอย่างนี้ แล้วก็ทำใจไว้อย่างนี้ ต่อให้ท่านไม่ใช่พระปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบอะไรมากมาย เราก็มีจิตที่เป็นมหากุศล โดยกำลังของเราเอง โดยมุมมองของเราเองทุกเช้านะครับ



๔) กรณีที่มีผู้มาชวนทำบุญประเภทสังฆทาน วิหารทาน ธรรมทาน ใส่ซองกฐิน จะทำทันทีโดยไม่ลังเล ถ้าเป็นอย่างนี้จะร่ำรวยวิหารทาน แต่ไม่มีอาหารรับประทานหรือเปล่า?

หมายความว่าไม่ศรัทธาในพระที่บิณฑบาต แต่มีกำลังใจเต็มที่เวลาที่จะทำทานในเรื่องของวิหารทานนะครับ

เรื่องจะมีอาหารทาน ไม่มีอาหารทาน ขึ้นอยู่กับว่า เรามีจิตที่เป็นทาน แล้วก็มีความสามารถรักษาศีลแค่ไหน แต่ว่าการที่เราจะมีศรัทธาย่อหย่อน หรือว่ามีศรัทธาที่กล้าแข็งเฉพาะเรื่องนี่ ก็จะทำให้กำลังของการทำบุญในด้านนั้นๆมีความแข็งแรงกว่ากัน แต่ไม่ใช่ว่า ไม่ค่อยศรัทธาเรื่องการใส่บาตร แล้วจะไม่มีข้าวกิน นั่นมันไม่เกี่ยวกันนะครับ ขอให้มองเป็นว่ากำลังของเรานี่อาจจะมีความหนักแน่นในด้านหนึ่ง แต่ย่อหย่อนในอีกด้านหนึ่ง ซึ่งเราก็สามารถที่จะเพิ่มเติมความแข็งแรงให้กับกำลังในด้านที่เราย่อหย่อนด้วยหลักการคิด ด้วยวิธีที่จะมองอย่างที่ผมกล่าวไปแล้ว


เอาละครับ คืนนี้ราตรีสวัสดิ์นะครับ ขอให้เจริญในธรรมด้วยกันทุกท่านครับ


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น