วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๒๖ / วันที่ ๑๙ มี.ค. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันจันทร์ที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง เผลอแป๊บเดียวนะครับใกล้จะสิ้นไตรมาสแรกของปีแล้ว ปี ๒๐๑๒ หรือ ๒๕๕๕ นี้ น่าจะได้ชื่อว่าเป็นปีติดจรวด ก็หวังว่าจะเป็นจรวดที่พาความทุกข์ความโศกทั้งหลายให้ผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็วนะครับ



๑) ถ้ามีคนคนหนึ่งเคยรับรู้เรื่องการตัดสินใจทำแท้งของคนที่เรารู้จัก แล้วก็ไม่ได้ยับยั้ง แถมยังเฝ้ารอจนกระทั่งเขาทำแท้งเสร็จ แล้วก็พากลับบ้าน ต่อมาคนที่เขารับรู้เรื่องนี้ก็ต้องสูญเสียหลานคนแรกไปค่ะ เธอแท้งหลานไปในขณะที่ยังท้องได้ ๒ เดือน ก็เลยทำให้คนที่รับรู้เรื่องการทำแท้งคนนี้ต้องเสียใจ แล้วก็ปวดร้าวหัวใจมาก เธอร้องไห้ตลอดเวลาเลยค่ะ เธอก็คิดว่าคงเป็นเพราะกรรมที่เธอมีส่วนเข้าไปในการทำแท้งครั้งนั้น ก็เลยจะขอเรียนถามคุณดังตฤณว่า การที่เธอสูญเสียหลานไป เป็นกรรมจากการที่เธอมีส่วนในการรับรู้การทำแท้งในครั้งนี้ใช่หรือไม่? และถ้าใช่ ทางแก้ของเธอควรจะทำอย่างไรดี ถึงจะได้หมดกรรมนั้นไป เพราะเธอก็กลัวที่จะสูญเสียหลานคนต่อๆไปอีกค่ะ?

สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจเป็นอันดับแรก เวลาที่กรรมจะให้ผล ไม่ใช่ทำปุ๊บแล้วให้ผลได้ปั๊บ มันอาจจะทำให้เหตุการณ์ที่ผ่านมา ที่มันใกล้ๆกันอาจจะทำให้ใจเราเชื่อมโยง คือไปนึกถึงว่าจะเป็นเพราะเราทำอย่างนั้นอย่างนี้ไว้รึเปล่า ถ้าหากว่าสิ่งที่เกิดขึ้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีผลกระทบกับจิตใจคุณอย่างแรง หรือว่ามีผลมีอิทธิพลกับชีวิตคุณอย่างใหญ่หลวง ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นผลของกรรมจากอดีตชาติ ไม่ใช่ผลของกรรมในปัจจุบัน

คือก่อนอื่นให้เข้าใจอย่างนี้ว่า คำว่า วิบากกรรม หรือว่าผลของกรรมที่ทำไว้ในกาลก่อน ไม่ใช่อะไรที่ว่าเราทำปุ๊บแล้วมันจะเห็นผลปั๊บ เป็นสิ่งที่จะต้องรอเวลากันนิดหนึ่ง ไม่ว่าจะทำดีหรือทำชั่วก็ตาม คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่า การที่เราทำอะไรลงไปแล้วตามผล ตามหลักของกฎแห่งกรรมนี่ จะต้องให้ผลทันที ถ้าไม่ให้ผลทันทีหรือทันใจนี่ ก็แปลว่ากฎแห่งกรรมไม่มีจริง หรือว่ากรรมวิบากเป็นแค่เรื่องหลอกเด็กเป็นนิทานหลอกเด็กขู่ให้กลัวเพื่อที่จะได้มีกำลังใจทำดีกัน แล้วก็ไม่มีความกล้าที่จะทำชั่ว แต่จริงๆแล้ว เรื่องของผลแห่งกรรมวิบาก ผลแห่งกรรม หรือ ว่าวิบาก พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่าเป็นเรื่อง อจินไตย คือว่าไม่สามารถคะเน หรือ ไม่สามารถคำนวณ แม้กระทั่งว่าอย่างในกรณีนี้ เราไปคะเนเอาว่าคงเป็นเพราะเคยไปสนับสนุนแบบอ้อมๆ คือไม่ได้สนับสนุนโดยตรง แต่ว่าการไปนั่งเป็นเพื่อน หรือการไปส่งอะไรต่างๆนี่ มันน่าจะเป็นการก่อกรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่นะครับ คือ มันเป็นไปไม่ได้นะ ที่เราเพิ่งไปส่ง แล้วก็จะมีผลอะไรกับลูกกับหลาน มันมีอยู่หลายข้อเลยที่อาจจะเป็นความเข้าใจผิดพลาดนะครับ คือเรื่องของการให้ผล เวลาในการให้ผลของกรรมด้วย สิ่งที่เราทำไปเขาเรียกว่าเป็นกตัตตากรรม คือ เราไม่ได้ตั้งใจให้เป็นเช่นนั้น ไม่ได้มีความยินดี ไม่ได้เป็นฝ่ายริเริ่ม ไม่ได้เป็นฝ่ายสนับสนุน แต่ทำไปด้วยความตกกระไดพลอยโจน หรือ เรื่องที่ทำไปตามหน้าที่ หรือ ตามที่เขาขอมา มันจะเป็นกรรมที่มีกำลังอ่อน เป็นการใช้กำลังใจที่อ่อน แล้วเวลาที่มันให้ผลมันจะให้ผลน้อย ไม่ใช่ให้ผลใหญ่ สิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นความบังเอิญที่ว่า เราจะต้องเสียใจ แล้วก็ไปมีใจเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่เพิ่งทำไปกับผลที่มันเกิดขึ้นนะครับ



๒) ตอนนี้คุณแม่ป่วยเป็นโรคไต ในเรื่องของการป่วยเป็นโรคไตเขาจะจำกัดน้ำ หรือจำกัดอาหารที่ไม่เหมาะกับการเป็นโรค หรืออาหารที่มันจะทำให้โรคร้ายแรงขึ้น แต่คุณแม่เป็นคนที่ค่อนข้างที่จะดื้อ แล้วก็จะเป็นคนที่จะทำอะไรตามใจตัวเองตลอดเวลา ในเรื่องของการกิน เธอก็อยากจะกินน้ำอัดลม น้ำแข็ง หรืออาหารที่ไม่ปลอดภัยต่อตัวเธอเองค่อนข้างที่จะบ่อย ซึ่งมันจะเป็นปัญหาที่ทำให้เราสองคนแม่ลูกค่อนข้างที่จะมีปัญหากัน คือเราก็ด้วยความที่เป็นลูก ก็ไม่อยากจะให้คุณแม่ทานอะไรที่ไม่ดีต่อร่างกาย แต่คุณแม่ก็ดึงดันที่อยากจะทาน ก็เลยอยากจะเรียนถามว่าเราควรจะปฏิบัติต่อคุณแม่อย่างไร? ถ้าเกิดเราให้คุณแม่ทานตามใจของคุณแม่นี่ มันจะเป็นการทำร้ายเธอด้วยรึเปล่า? หรือในกรณีที่เราไม่ให้ทาน มันจะเป็นบาปหรือไม่? อยากจะเรียนถามว่าเราควรจะปฏิบัติต่อคุณแม่อย่างไรดี

เรื่องเกี่ยวกับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บ หรือว่าเกี่ยวกับการรักษาตัว แล้วผู้ใหญ่อาจจะมีความรู้สึกเหมือนถูกคุมขัง หรือว่าถูกเข้มงวด บังคับกะเกณฑ์ ต่างๆนานา อะไรต่างๆนี่นะ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เอาอย่างนี้เรามาพูดกันเรื่องของว่ามันเป็นกรรมอย่างไร ถ้าเราจะปฏิบัติกับท่านในแบบที่ตามคำสั่งของหมอเป๊ะเลย ถ้าหากว่าเราปฏิบัติกับท่านอย่างเคร่งครัดตามคำสั่งคำแนะนำของคุณหมอ ก็ได้ชื่อว่าเราเป็นผู้ดูแลรักษาบิดามารดาที่ให้กำเนิดเรามา ท่านเคยดูแลด้วยความห่วงใยกับเราอย่างไร เราตอบแทนคุณท่านด้วยการคอยระมัดระวังไม่ให้สุขภาพท่านย่ำแย่ไปกว่าที่ท่านเป็นอยู่ นี่เรียกว่าเป็นบุญ ถามว่าถ้าเราตามใจท่าน ทำให้ท่านมีความสุข นี่พูดคนละข้อแล้วนะ พูดคนละประเด็นกันแล้ว เราตั้งใจทำให้ท่านมีความสุข เราตามใจท่านพอสมควรแก่อัตภาพ อย่างนี้เป็นบุญหรือเป็นบาป ก็เรียกว่าเป็นบุญเช่นกัน

เอาล่ะสิทีนี้ ถ้าหากว่าบุญสองอย่างมันไปด้วยกันไม่ได้ มันมีความขัดแย้งกันอยู่ แล้วเราจะเลือกที่จะทำบุญแบบไหน ก็เอาแบบที่ว่า ประการแรกที่เราจะเกิดความ เราจะมองเห็นภาพได้ชัดเจนที่สุดก็คือ ทำอย่างไร? อันดับแรกที่สุดเลย คุณแม่ท่านอายุมากแล้ว แล้วก็โอกาสที่ท่านจะอยู่กับเราอาจจะน้อยลง อาจจะไม่มากนักเหมือนแต่ก่อน เพราะว่าเราต้องยอมรับ ไม่มีใครอยู่ยั้งค้ำฟ้า เราสมควรจะให้อะไรเป็นความสำคัญอันดับแรก ระหว่างสุขภาพทางกายที่ดีกับสุขภาพจิตที่ดี พูดง่ายๆ เราเล็งกันว่าอะไรที่สมควรมาก่อน ระหว่างจิตใจ จิตวิญญาณ กับร่างกาย ถ้าเราเล็งกันในแง่นี้ มันจะได้เกิดความชัดเจนขึ้นว่า ทิศทางที่เราควรจะปฏิบัติกับท่าน มันควรมีหนักมีเบา มันควรมีผ่อนสั้นผ่อนยาวอย่างไร จะพบว่าคนที่สูงอายุ ถ้าหากว่าจิตใจท่านเต็มไปด้วยความทุกข์ มันเสี่ยงนะ มันอันตรายนะ เพราะว่าวันใดวันหนึ่งเราไม่รู้ว่าท่านจะถึงเวลาของท่านที่จะต้องทิ้งโลกนี้ไป หรือว่าที่จะต้องไปเสวยบุญของท่าน เพราะฉะนั้นอะไรที่ทำให้มีความสบายใจ อะไรที่ทำให้ท่านไม่ต้องกระวนกระวายได้ เราควรทำอันนั้นก่อน

ฟังดีๆนะ ผมไม่ได้บอกว่าควรจะยุยงส่งเสริมให้ท่านได้ทำตามใจท่านทุกๆประการนะครับ แต่พูดอย่างนี้ก่อน ให้เห็นภาพรวมก่อน อะไรก็ตามที่จะทำให้ท่านมีความสุข มีความสบายใจได้ เราควรทำให้มากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าหากว่าลองนึกภาพอย่างนี้ว่านี่เป็นช่วงท้ายๆในชีวิตของท่าน แล้วเราทำให้ท่านต้องกระวนกระวายใจกับการไม่ได้ทำตามใจตัวเองอยู่เรื่อย หรือไม่ก็มีความรู้สึกขัดแย้งขัดเคืองกันกับลูกกับหลาน ลองนึกภาพนั้นดูว่ามันจะเป็นนิมิตในทางที่ดี หรือ เป็นนิมิตในทางที่ไม่ค่อยจะดีนัก พอเราเห็นภาพตรงนี้ได้ เราก็จะได้ใจเย็นลง เรื่องสุขภาพสำคัญ สุขภาพทางกายสำคัญเหมือนกัน แต่สุขภาพทางใจสำคัญกว่า ถ้าหากวันหนึ่งท่านอยากจะกินมากๆ เราดูความอยากของท่าน แล้ววันนี้ถ้าท่านไม่ได้กินจะกระวนกระวายสุดขีดแน่ๆละ ก็ผ่อนสั้นผ่อนยาว ลองให้ท่านได้กินบ้าง แต่ว่าอาจจะจำกัดจำนวน จำกัดปริมาณนะว่าตรงนี้นี่ปรึกษาหมอแล้ว แล้วหมอบอกว่าพอจะอะลุ่มอล่วยได้ แต่บางวันถ้าหากท่านไม่ได้กระวนกระวายไปถึงขนาดที่ไม่ได้กินแล้วจะเป็นทุกข์นี่ เราก็คุยกับท่านดีๆ ทุกครั้งควรจะคุยกับท่านดีๆ เรานึกภาพไว้ว่า สมมติไว้ ว่านี่ถ้าเป็นช่วงท้ายๆของท่าน ท่านควรจะกระวนกระวายกับการถกเถียง หรือว่ามีความขัดแย้งกับลูกสาวตัวเองไหม ถ้าหากว่าเรานึกถึงภาพนั้นออก เราก็จะมีแก่ใจว่า จะใจเย็นอธิบายดีๆมีเหตุผล เพราะว่าคนเราพอไม่ได้นึกภาพอะไรไว้เป็นหลัก บางทีมันก็จะมีความรู้สึกอยากจะพูด อยากจะใส่อารมณ์อะไรแรงๆเข้าไปตามสถานการณ์ที่เข้ามากระทบ อย่างพอเราเป็นห่วงเป็นใยเหลือเกิน ความเป็นห่วงเป็นใยมันทำให้จิตยึดมั่นถือมั่นมากเลยนะ แล้วคุณแม่ไม่ทำตามที่เรายึดไว้ ว่านี่ท่านจะต้องเคร่งครัด นี่ท่านจะต้องทำตามคำสั่งหมอ ใจเราก็เกิดความขัดเคืองเป็นธรรมดา ความขัดเคืองนี้จะไปกระตุ้นไปเร่งเร้าให้เราผลิตคำพูดอะไรที่มันแรงๆออกมาแบบอดไม่ได้ ถ้าหากว่าเรารู้ต้นสายปลายเหตุไว้อย่างนี้แล้ว มันก็จะช่วยได้ในระดับหนึ่งล่ะ

นอกจากผ่อนสั้นผ่อนยาวแล้วเรายังสามารถที่จะพูดด้วยความมีใจเย็น แล้วก็มีจิตที่เป็นกุศลจริงๆ ไม่ใช่ห่วงแม่ ทำบุญด้วยการพูดไม่ดี ไม่ใช่ทำบุญด้วยการแอบสร้างบาปเล็กๆ ขอให้ทำไว้ในใจอย่างนี้ก็แล้วกัน ถ้าทำไว้ในใจอย่างนี้แล้ว ถึงแม้ว่าเราจะช่วยคุณแม่ไม่ได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งทางเรื่องทางสุขภาพกาย แล้วก็สุขภาพใจ แต่ที่แน่ๆใจเราเป็นบุญมากขึ้น แล้วก็นิมิตมงคลในช่วงที่ผู้ใหญ่ ผู้เป็นแม่เราสูงอายุแล้ว ก็จะเกิดมากขึ้น นิมิตมงคลนี่สำคัญที่สุด ถ้าหากว่าชีวิตของคนเราในช่วงบั้นปลาย มีนิมิตมงคลเกิดขึ้นมาก โอกาสที่ใจจะเป็นกุศลมันก็สูงนะครับ ยิ่งสะสมความสว่างไว้มากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งดีมากขึ้นเท่านั้น



๓) บางทีมันจะมีจิตใจที่หดหู่ ตื่นขึ้นมามันก็หดหู่ไปเลยเรื่อยๆ คือมีพี่ที่รู้จักกันเขาบอกว่าอันนี้บางทีมันเป็นวิบาก แล้วมันก็ไม่หายไปหรอก ก็ต้องอดทนรับไป มันใช่ด้วยหรือเปล่าคะ? แล้วมันมีอย่างอื่นด้วยหรือเปล่า? แล้วเวลามีอะไรเกิดขึ้น มักจะคิดว่าจะทำอย่างไรให้หาย มันจะต้องทำอย่างไรถึงจะหายคะ?

อย่างนี้นะ ตอบคำถามนี้ก่อนว่า ตื่นเช้าขึ้นมาแล้วจิตใจหดหู่ มีความซึมเศร้า มีความรู้สึกแย่ๆกับตัวเอง มันเป็นวิบากเก่าๆได้รึเปล่า ก็เอาประเด็นนี้ก่อน มันเป็นไปได้ที่จะเป็นวิบากเก่า แต่วิบากที่เราค่อยๆไล่กันไป วิบากที่ใกล้ก่อน ถ้าหากว่าเราเป็นคนคิดมาก ถ้าหากว่าเราเป็นคนที่เหมือนกับค่อนข้างจะจุกจิก คิดโน่นคิดนี่หยุมหยิม แล้วก็กังวลห่วงไปในอนาคต หรือว่าคาดหวังอะไรที่มันค่อนข้างจะเป็นไปไม่ได้ หรือว่าค่อนข้างที่จะรู้ๆอยู่ รู้อยู่แก่ใจว่ามันจะไม่เป็นอย่างนั้น แต่เราก็อดคาดหวังไม่ได้ สะสมความเป็นคนคิดมาก หรือว่าคาดหวังมากไว้ในชาตินี้ เอาแค่ในปัจจุบันชาตินี่นะในชีวิตนี้นี่ แค่สักปีสองปี มันมีโอกาสที่จะตื่นมาแล้วเกิดความซึมเศร้า มีความรู้สึกหดหู่ มีความรู้สึกย่ำแย่ได้แล้ว

การที่เราจะพิจารณาว่ามันเป็นวิบากจากการกระทำเมื่อครั้งไหน สิ่งที่จะมีความชัดเจนมากที่สุด คือสิ่งที่เราระลึกได้ สิ่งที่เราเห็นได้ สิ่งที่เราสามารถที่จะชี้ชัดลงไปว่าต้นตอของปัญหามันมาจากตรงนั้น ถ้าหากว่าเรามองอย่างนี้ก่อนว่า เออ มันอาจจะมาจากการที่เราสะสมความคิดมากมา หรือว่าคาดหวังอะไรที่มันไม่ค่อยจะเป็นไปได้ เราก็จะมองย้อนกลับไปด้วยว่า นิสัยแบบนี้มันสืบมาจากไหน แน่นอนว่ามันไม่ใช่เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ มันต้องเริ่มต้นสะสมมาจากจุดใดจุดหนึ่งสักแห่งหนึ่ง อาจจะเป็นเพราะว่า อันนี้สมมตินะ ไม่เกี่ยวกับตัวน้องนะครับ อันนี้พูดโดยแบบเป็นยกตัวอย่าง สำหรับคนคิดมาก หรือว่าคนคาดหวังมากนี่ ตอนสมัยเด็กๆเราอาจจะต้องแข่งขันกับคนอื่น มีคนมาทำให้เราเกิดความรู้สึกว่าตัวเองอยู่นิ่งกับที่ไม่ได้ ต้องรุดไปข้างหน้า ต้องคว้าความเป็นหนึ่งความเป็นเลิศ หรือว่าจะต้องมีความไม่พอใจในสิ่งที่มีอยู่ แล้วก็คาดว่าหวังว่าอะไรๆมันคงจะดีขึ้น คงจะมีของใหม่ คงจะมีคนใหม่ คงจะมีอะไรที่มันทำให้ชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นมา แล้วพอสะสมเหตุการณ์เหล่านั้นมากๆเข้า โดยที่จิตใจของเรามีแนวโน้มที่จะคิดแบบเดิมๆ คิดมากและก็คาดหวังมาก ตรงนี้มันก็ถึงจุดหนึ่งทำให้เราตื่นขึ้นมาแล้วหดหู่ได้ ถามว่าเหตุการณ์เหล่านั้น ที่ทำให้เราคิดมาก หรือว่าคาดหวังอะไรเกินกว่าที่มันจะเป็นไปได้จริง มันเริ่มต้นมาจากไหน ถ้าหากอธิบายกันตามหลักของกรรมวิบาก ก็โอเคครับ เป็นไปได้ครับ ที่ในอดีตเราอาจจะก็เหมือนกับสร้างบุญไว้เยอะ แต่ว่าในขณะเดียวกันก็อาจไปสร้างความผิดหวังให้กับใครต่อใครเขาไว้ไม่น้อยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นในปัจจุบัน มันเลยเหมือนกับว่าอยู่ในฐานของคนที่สามารถคาดหวังอะไรได้ไกล ฝันอะไรได้มาก แต่ว่าความฝันมันมักไปไม่ถึงดวงดาว มันอาจจะคาดไว้สิบมันได้แค่แปดหรือได้แค่เก้า แล้วรู้สึกว่ามันไม่ได้อิ่มสักที มันยังไม่ถึงใจสักที ก็เลยสะสมมาเป็นคนคิดมากโดยไม่รู้ตัวตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา

แต่อันนี้ ที่พี่พูดนี่คือ เป็นการพูดโดยตอบโจทย์ว่า เราตื่นขึ้นมาตอนเช้ามันมีจิตใจหดหู่มันเป็นวิบากกรรมเก่าหรือเปล่า แต่ว่าถ้าเราพิจารณาอย่างนี้ว่า เมื่อมีโจทย์ของชีวิต มีปัญหาของชีวิตเกิดขึ้นก็คือ ตื่นเช้ามาแล้วมันไม่มีความสุข ทำอย่างไรจึงจะเป็นสุขมากกว่าที่เป็นอยู่ ทำอย่างไรจึงจะตื่นเช้าขึ้นมาแล้วมีความสุขสดชื่นได้ ตรงนี้ต่างหากที่สำคัญกว่า เพราะว่าที่มาที่ไป เรารู้อยู่แล้ว ว่ามันอาจจะเชื่อมโยงกันระหว่างความคิดมากของเรากับการตื่นขึ้นมาแล้วหดหู่ แต่ถ้าหากว่าเราไม่มีวิธีการที่ชัดเจน อาการคิดมากหรืออาการที่ตื่นขึ้นมาด้วยความหดหู่นี้ ก็จะยังคงอยู่ต่อไป ไม่ว่าเราจะรู้จริงหรือรู้ไม่จริงเกี่ยวกับเรื่องของกรรมเก่า ไม่ว่านี่จะใช่วิบากของอดีตกรรมหรือเปล่า ถ้าเราแก้โจทย์ไม่ได้ ถ้าเราตีโจทย์ไม่แตก ถ้าเราไม่พบวิธีที่จะออกจากปัญหา ปัญหามันก็จะคาราคาซังต่อไป และที่สำคัญก็คือ ปกติแล้วคนที่ตื่นขึ้นมาแล้วมีอาการหดหู่ทางจิต มีแนวโน้มที่จะก่อกรรมไม่ค่อยจะดีในระหว่างวัน เริ่มต้นขึ้นมาพอหดหู่ก็จะคิดมากแล้ว มันก็จะมีความรู้สึกที่เป็นลบกับตัวเอง พอมีความรู้สึกที่เป็นลบกับตัวเอง โอกาสที่จะมีความรู้สึกเป็นบวกกับโลกและคนอื่นรอบๆตัวนี่แทบจะเป็นศูนย์เลย ดังนั้นเราเห็นอย่างนี้แล้วว่า ความทุกข์ในการตื่นนอนขึ้นมา มันเป็นโอกาสที่จะก่อกรรมใหม่ ซึ่งมันเป็นไปในทางลบได้ สิ่งที่เราจะต้องเร่งแก้ก็คือ ทำอย่างไรจึงจะตื่นขึ้นมาด้วยความสดใสแล้วมีพลัง มีความรู้สึกชื่นบานมากพอ ที่จะเปลี่ยนแนวโน้มของกรรมที่จะก่อขึ้นใหม่ในวันนั้น ส่วนใหญ่ที่พี่ให้คำแนะนำไปในการตื่นนอนขึ้นมาอย่างมีความสุข ก็อาจจะยากสำหรับคนส่วนใหญ่ เพราะว่าคนส่วนใหญ่ไม่ยินดีที่จะเอาชนะความขี้เกียจในเรื่องของการออกกำลังกาย ถ้าหากว่าเราตื่นขึ้นมาทุกเช้า ออกกายบริหาร หรือว่ายิ่งถ้าหากออกท่าออกทาง ยืดเส้นยืดสาย ในแบบที่เหงื่อจะออกได้สักนิดหนึ่งจะดีที่สุดเลย เพราะว่าเห็นชัดๆ ทางแพทย์ยืนยันว่ามันจะมีการหลั่งสารดีๆออกมา การหลั่งสารดีๆออกมาเอาชนะโรคซึมเศร้าหรือว่าความรู้สึกหดหู่ได้ เนื่องจากสารดีๆมันก็เหมือนกับเราได้ไปสูดอากาศบนยอดเขา ถ้าหากว่าเรากำลังกลุ้มใจ เรากำลังเครียด หรืออะไรที่มันเป็นไปในทางลบแล้วได้สูดอากาศที่มีความสดชื่นมากกว่าเดิม แน่นอนว่าความเครียดหรือว่าอาการเก็บกดทั้งหลาย มันจะคลี่คลายออกไป ถ้าเราดูหลักฐานทางการแพทย์ที่เขายืนยันกันแล้วว่าการออกกำลังกายทำให้เกิดการหลั่งสารดีๆ เราก็ควรที่จะมีแก่ใจยอม สละความขี้เกียจ เอาชนะความขี้เกียจให้ได้ ตื่นเช้าขึ้นมาปุ๊บ สิ่งแรกที่จะคิดคือลุกขึ้นมาออกกำลังกาย ถ้าหากว่าเราออกกำลังกายได้สิบนาทีทุกเช้าแล้วสำรวจตัวเอง อาจจะใช้วิธีจดไดอารี่ไว้ก็ได้ ตื่นแต่ละเช้า ออกกำลังกายไปสิบนาที มีผลอย่างไร วันนี้มีความสุขมากขึ้นมั้ย รู้สึกดีขึ้นมั้ย ความคิดมีแนวโน้มเป็นไปในทางบวกมากขึ้นรึเปล่า ถ้าหากว่าเราจดไดอารีไว้ทุกวัน แล้วผลปรากฏว่า ทุกอย่างดีขึ้น มันจะมีแก่ใจ มันเหมือนได้เห็นหลักฐาน เพราะบางที ถ้าเราไม่จดไว้ หรือเราไม่มีหลักฐานไว้บอกตัวเอง ยืนยันกับตัวเองว่ามันดีขึ้นจริงๆ เราก็จะค่อยๆคล้อยตามความเคยชินแบบเก่าๆ ความเคยชินแบบเก่าๆมันจะกวักมือเรียกหาให้นอนอยู่กับที่สักแป๊บหนึ่ง หรือว่าตื่นขึ้นมาแล้วก็คิดอะไรเรื่อยเปื่อย โดยที่ไม่มีทิศทางชัดเจน แต่ถ้าหากว่าตื่นขึ้นมาปุ๊บ มีความรู้สึกทันที ว่าเราต้องลุกขึ้นมาทำอะไรอย่างหนึ่งเป็นการยืดเส้นยืดสาย แบบนี้แหละ ความเคยชินแบบเก่าๆมันจะหายไปทันที นี่เป็นกรรมใหม่ เป็นความตั้งใจที่จะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น นี่ถือเป็นบุญ นี่ถือเป็นกุศล

แล้วถ้าหากว่าการออกกำลังกายของเรา มันช่วยให้เรามีแก่ใจ นึกอยากจะสวดมนต์ได้ นึกอยากจะนั่งสมาธิได้ นั่นยิ่งกลายเป็นความสว่างที่เกิดความชัดเจนขึ้นมา ร่างกายสว่าง จิตใจก็พร้อมจะสว่างตาม ร่างกายสว่างหมายถึง มันหลั่งสารดีๆออกมา แล้วทำให้เกิดปีติ ทำให้เกิดความสุข แล้วจิตใจที่มีความสุขจากร่างกายที่สมบูรณ์มากขึ้น กระชุ่มกระชวยมากขึ้น แล้วกระปรี้กระเปร่ามากขึ้นแล้ว มันก็พร้อมที่จะทำอะไรดีๆตามไปได้ อย่างเช่น ถ้าไม่เคยคิดว่าเราจะสวดมนต์ตอนเช้าได้ ลองสวดดู มันก็ไม่เหนื่อย มันก็ไม่ได้ฝืน ออกกำลังกายยืดเส้นยืดสายเรายังทำได้ ถ้าสวดมนต์ สวดอิติปิโสตอนเช้าทุกเช้า มันเกิดความรู้สึกว่าทั้งร่างกายและจิตใจได้รับความชุ่มชื่น ความชุ่มชื่นที่เกิดขึ้นนี่แหละเป็นวิบากเป็นผล ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ที่สุดเลยในการทำบุญของเราที่อยากจะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นในช่วงเช้า ผลที่ออกมามันไม่ต้องใช้เวลานาน มันไม่ต้องข้ามชาติ อาทิตย์เดียวรับรองเลย ถ้าจดไว้มันจะเห็นเลย ดีขึ้น ดีขึ้น ดีขึ้น ถึงแม้ว่าบางวันจะขี้เกียจ หดหู่ด้วยความขี้เกียจ แล้วก็ทรมานใจว่า เราจะต้องมาลำบากขนาดนี้ทีเดียวเหรอเพื่อที่จะทำให้ชีวิตมันดีขึ้น แต่พอมันกลายเป็นความเคยชินไปแล้ว เขามีการวิจัยบอกว่า ถ้าทำอะไรเป็นประจำอย่างต่อเนื่องสองอาทิตย์ มันจะกลายเป็นนิสัย มันจะกลายเป็นความเคยชิน แต่ถ้าทำน้อยกว่านั้น มันจะเป็นความไม่แน่นอนอยู่ ก็ขอให้ตั้งเป้าไว้ละกัน สองอาทิตย์เปลี่ยนชีวิต สองอาทิตย์ที่เราจะตื่นขึ้นมา ด้วยความตั้งใจออกกำลังกายและสวดมนต์ ลองดูว่ามันจะแก้โรคนี้ได้รึเปล่า แล้วอย่างไรก็มาเล่าให้ฟังก็แล้วกัน

เรื่องของการออกกำลังกายนี่นะ เป็นเรื่องคอขาดบาดตายของชีวิตทีเดียว ถ้าหากว่าเรามีความรู้สึกว่ามันเป็นภาระของชีวิต ความคิดแบบนั้นแหละจะสร้างภาระอย่างใหญ่หลวงให้กับเราในภายหลังนะครับ



๔) เวลานอนหลับ ผมชอบดูลมหายใจไป แล้วมันนอนไม่หลับครับ? คำถามคือจะทำอย่างไรให้ความเคยชินแบบที่มันดีๆของเราคือการดูลม มันเป็นไปในทางช่วยให้การหลับดีขึ้น ไม่ใช่กลายเป็นตัวขวางไม่ให้นอนหลับ

การเจริญสติดีทุกเมื่อ แต่ถ้าหากว่าเราเจริญสติในแบบที่มันไม่ถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ สตินั้นมันอาจจะกลายเป็นการเพิ่มความเครียด หรือว่าจะเป็นการบังคับให้ตัวเองเข้าสู่ภาวะที่กดดัน เข้าสู่ภาวะที่แข็งค้าง อย่างเช่น ในกรณีที่น้องได้อาศัยลมหายใจเป็นเพื่อนก่อนนอนนะครับ นั่นน่าจะดีแล้ว นั่นน่าจะเป็นมหากุศล นั่นน่าจะเป็นการเจริญสติในอิริยาบถนอน ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ในทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นกับคนหลายๆคน ก็คือยิ่งรู้สึกถึงลมหายใจมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งรู้สึกแน่น หรือรู้สึกเกร็ง หรือรู้สึกเครียด หรือรู้สึกว่าตามันค้างนอนไม่หลับ อันนี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับแค่คนสองคน แต่เกิดขึ้นเยอะเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพวกที่จะไปทำสมาธิเอาตอนนอนกันท่าเดียว ขอแนะนำอย่างนี้ก็แล้วกัน ประการแรกช่วงเวลาเย็นๆหรือว่าก่อนนอน ควรจะทำอะไรให้เกิดความเหนื่อยสักนิดหนึ่ง อย่างเช่น อาจจะออกกำลังหรือว่าอาจจะทำงานอะไรก็ได้ ที่มันจะต้องใช้กำลังงานทำให้เรามีความเพลียแล้วนิดๆ จากนั้นพอเวลาก่อนที่จะเข้าห้องนอน แนะนำให้สวดมนต์สักนิดหนึ่ง เพื่อเป็นการเตรียมจิต เพื่อเป็นการอุ่นเครื่อง เพื่อเป็นการทำให้ทั้งร่างกายและจิตใจมีความอ่อนสลวย การสวดมนต์มันมีประโยชน์ตรงที่ทำให้ร่างกายผ่อนคลายนะครับ ถ้าเราสวดไปเรื่อยๆ อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ… มันคล้ายๆได้ร้องเพลง แต่ดีกว่าร้องเพลงตรงที่ว่า เราไม่ต้องเปล่งเสียงมาก เราไม่ต้องใช้กำลังงานมากเกินไป มันใช้กำลังงานพอดีๆ ที่จะทำให้เกิดความเพลิดเพลิน เกิดความรู้สึกว่ามีความสุข เกิดความรู้สึกว่าใจเราผูกกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ ใจเราผูกกับความสว่างได้ ตอนที่ร่างกายกับจิตใจมีความอ่อนสลวยแล้ว มีความอ่อนโยนแล้ว แล้วเราสังเกตถึงลมหายใจ เราจะมีความรู้สึกว่า ลมหายใจนั้นมีความไหลลื่น มีความนุ่มนวล มีความยาวมากกว่าปรกติ ขอให้สังเกตตรงนี้เลยนะ ณ เวลาที่เรานั่งสวดมนต์ก่อนที่จะเข้านอน ขอให้สังเกตอย่างนี้เลยว่า จิตใจของเราอ่อนโยนอย่างไร เวลารู้ลมหายใจด้วยความอ่อนโยนอย่างนั้น ลมหายใจจะมีความอ่อนโยน มันจะมีความนุ่มนวลตามไปด้วย มันจะไม่เกิดความรู้สึกเหมือนกับฝืน ไม่เกิดความรู้สึกเหมือนกับแข็ง ไม่เกิดความรู้สึกว่าร่างกายไม่พร้อมจะหยุดพัก ถ้าเกิดความรับรู้แล้วว่า หน้าตาของความสงบสุข ความอ่อนโยนทั้งร่างกายและจิตใจเป็นอย่างไร ก็ค่อยเอาความอ่อนโยนแบบนั้นนี่นะไปดูต่อในท่านอน ถ้าหากว่าเราเริ่มต้นดูด้วยความรู้สึกอ่อนโยนออกมาจากใจ จากร่างกายที่มันมีความไม่เกร็งไม่กำ มันจะกลายเป็นจุดสังเกตเริ่มต้นว่าถ้าให้ดีต้องเป็นอย่างนี้ ร่างกายต้องมีความไม่เกร็งไม่กำ จิตใจต้องมีความนุ่มนวล ลมหายใจต้องมีความอ่อนโยนมีความยืดยาว เราได้ตัวอย่างดีๆมาแล้วเกิดอะไรขึ้น เราจะสังเกตเห็นในขณะนอนในท่านอนนั่นแหละว่าความนุ่มนวลที่มันเกิดขึ้นมันไม่เที่ยง พอรู้สึกถึงลมหายใจ รู้สึกถึงอาการนอนไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันจะค่อยๆแข็งขึ้น ตามความเคยชินที่เราเคยเพ่งลมหายใจมาไว้มาก ข้อสำคัญมันอยู่ที่ตรงนี้ มันมีข้อเปรียบเทียบตั้งต้น ตอนที่มันยังดีๆ ตอนที่มันยังนุ่มนวล ตอนที่มันยังสลวยอยู่ หน้าตาเป็นอย่างไรแล้วค่อยๆเปลี่ยนไป เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลง

แต่ถ้าหากขึ้นต้นมาเรายังไม่ได้มีตัวอย่างของดีเลย พอเจริญสติด้วยการดูลมหายใจขณะนอน มันจะเข้าสู่ความเคยชินแบบเดิมๆ คือไปเพ่งเอาเพ่งเอา หรือไม่ก็มีอาการที่ไม่ถูกต้องอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วพอเราเห็นถึงความไม่เที่ยงของมันบ่อยๆ คือพอเริ่มรู้สึกแล้วว่า ความเกร็ง ความรู้สึกเหมือนกับฝืนๆ มันเริ่มต้นขึ้นตรงไหน สติที่เกิดขึ้นในบัดนั้นมันจะทำหน้าที่ช่วยคลายให้เอง ไม่ต้องไปบังคับ ไม่ต้องไปฝืน ไม่ต้องไปแกล้งให้มันสบาย ตัวสติที่รับรู้อาการเกร็งขึ้นมาของร่างกาย หรือว่าอาการแข็งๆขึ้นมาของจิต ตัวสติตัวนั้นมันจะช่วยคลายให้เอง ขอให้เราเป็นเพียงผู้สังเกต แล้วยิ่งเห็นบ่อยเท่าไหร่ จิตของเราก่อนนอน มันจะยิ่งมีทั้งสติ มีทั้งเมตตา มีความนุ่มนวล มีความอ่อนโยน พัฒนามากขึ้นเรื่อยๆด้วย ตรงนี้พูดง่ายๆเลยก็คือ ขึ้นต้นด้วยการทำให้จิตใจและร่างกายมีความอ่อนโยน ลดความแข็งกระด้างลงให้ได้ซะก่อน แล้วจากนั้นค่อยเอาความอ่อนโยนเอาความนุ่มนวลที่มันเกิดขึ้นแล้วทั้งกับร่างกายและจิตใจ มาเจริญสติต่อ โอกาสที่จะตาค้าง หรือความรู้สึกแข็ง หรือเกิดความรู้สึกฝืนมันจะน้อยลงมาก หรือไม่เกิดขึ้นอีกเลยนะครับ



๕) พ่อผมเสียครบ ๑ ปีมาเมื่อประมาณอาทิตย์ก่อนน่ะครับ แล้วผมกับแม่ก็ไปไหว้พ่อตามประเพณีจีน แม่บอกว่าเขาลืมเอาน้ำเปล่าไปไหว้ด้วย ผมก็บอกแม่ว่าไม่เป็นไรหรอก เพราะผมไม่ค่อยเชื่อธรรมเนียมพวกนี้ ผมคิดว่าแล้วผมจะทำบุญให้พ่อตามหลังตามหลักของพระพุทธศาสนา เพราะผมเคยเห็นพี่บอกว่าชีวิตหลังความตายไม่จำเป็นต้องอาศัยธาตุทั้ง ๔ เหมือนเราๆ แต่พอผ่านมา ๒ วันให้หลัง แม่ไปคุยกับทางป้า ทางป้าบอกว่าป้าเขาฝันเห็นพ่อมาขอน้ำเขากิน แม่เขาก็เลยยิ่งปักใจเชื่อว่าเป็นเพราะไม่ได้ใส่น้ำเข้าไปในของของที่ไหว้ด้วย ผมอยากทราบว่า จริงๆแล้วชีวิตหลังความตายต้องทานข้าวทานอาหารมั้ยครับ?

สิ่งแรกที่จะต้องคุยให้คุณแม่เข้าใจ อาจจะคุยผ่านการเอาหนังสือ หรือว่า การเอาซีดีธรรมะของครูบาอาจารย์ไปเปิดให้ท่านฟัง เลือกเฉพาะตรงที่ครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ทำกรรมไว้อย่างไร ย่อมได้เสวยผลอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าทำกรรมไว้อย่างไรแล้วจะอาศัยกรรมของคนอื่นช่วยส่งไปให้ หรือว่าอุทิศไปให้ กรรมหลักๆ ที่ทำมาสั่งสมมาไว้จะเป็นตัวที่ไปสร้างภพสร้างภูมิ สร้างภาวะ คำว่าภพก็คือภาวะนั่นเอง สภาพนั่นเอง ที่จะเป็นสิ่งแวดล้อมให้ได้อยู่ดีกินดี อุดมสมบูรณ์ หรือว่า ขาดแคลน ยากจน การที่เราเข้าใจเอาว่า ญาติผู้เป็นที่รักสิ้นชีวิตไปแล้ว เรามีหน้าที่ต้องส่งบุญไปให้เขาถึงจะมีกินมีใช้ อย่างนี้ถือว่าเป็นการตั้งกฎแห่งกรรมขึ้นมาเองนะครับ ขอให้คุณแม่เข้าใจอย่างนี้ เลือกเอาซีดีของพระ เพราะบางทีคนเป็นลูกอธิบายมันจะยากนิดหนึ่ง แต่ถ้าเอาพระมาเทศน์ พระที่ท่านมีชื่อเสียง มีเครดิต น่าเชื่อถือหน่อย แล้วก็พูดเฉพาะเจาะจงในเรื่องเกี่ยวกับอะไรแบบนี้แหละ ชีวิตหลังความตาย สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ไม่ใช่เป็นไปตามที่เราญาติส่งไปให้ทีหลัง คุณพ่อจะมีกินมีใช้แค่ไหนขึ้นอยู่กับกรรมของเขาเป็นหลัก ไม่ใช่ว่าเราแค่ไปทำบุญแล้วลืมส่งน้ำไป คุณพ่อถึงขั้นอดอยาก มันผิดหลักเกณฑ์ของกฎแห่งกรรมวิบาก ผิดหลักเกณฑ์ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม การที่เราสามารถจะเอาความเชื่อที่ถูกต้องตรงตามหลักที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ใครทำกรรมอย่างไรย่อมได้รับผลอย่างนั้น เอาไปปลูกฝังไว้ในใจคุณแม่ได้ ถือว่าเป็นลูกกตัญญู ที่ได้ทำให้คุณแม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง เป็นสัมมาทิฏฐิ ถือว่าได้เป็นการตอบแทนพระคุณของแม่เลยทีเดียว เปลี่ยนจากความเข้าใจผิดให้เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องได้นี่ มันมีผลใหญ่หลวง

คือคิดง่ายๆเลยนะ ถ้าคุณแม่เชื่อ คุณแม่ศรัทธาในข้อนี้ ที่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ท่านก็จะไม่หวังพึ่งคนข้างหลัง ถ้าสมมติว่าถึงเวลาของท่านนี่นะ ท่านจะไม่หวังว่าใครจะทำอะไรส่งไปให้ท่านรึเปล่า แต่ท่านจะหวังเอาเดี๋ยวนี้เลย ในขณะที่กำลังมีชีวิตนี่นะ ทำอย่างไรที่เราจะตั้งจิตให้อยู่ในศรัทธาที่มั่นคง ทำอย่างไรจะตั้งจิตให้อยู่ในทานที่มั่นคง ทำอย่างไรจะตั้งจิตให้อยู่ในศีลที่มั่นคง เพราะนี่แหละคือที่พึ่งที่แท้จริงที่พระพุทธเจ้าตรัส ลองไปหาที่พระพุทธเจ้าตรัสดูในอินเทอร์เน็ตง่ายๆเลย กรรมที่เราจะตอบแทนพระคุณบิดามารดาได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ ไม่ใช่การแบกพวกท่านไว้บนบ่าให้อึให้ฉี่บนบ่าของเราตลอด ๑๐๐ ปี แต่เป็นการเปลี่ยนจากความเข้าใจผิดของพวกท่านให้กลายเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องได้ และความเข้าใจที่ถูกต้องคืออะไร คือการทำให้ตัวเองมีที่พึ่งอย่างถาวร ที่พึ่งถาวรก็คือ มีศรัทธาที่ตั้งมั่น มีทานที่ตั้งมั่น แล้วก็มีศีลที่ตั้งมั่น ถ้าหากว่าเรามีความมั่นใจอย่างนี้แล้ว เราก็จะไม่ห่วงพะวงกับความเชื่ออะไรเล็กๆน้อยๆ ประเภทที่ว่าลืมถวายน้ำกับพระแล้ว เดี๋ยวบุญจะส่งไปไม่ถึงพ่อ การที่คุณป้าหรือว่ามีญาติฝันเห็นคุณพ่อมาขอน้ำ มันอาจจะเป็นเรื่องบังเอิญ เป็นเรื่องความฝันของเขาเองก็ได้นะ หรือถ้าสมมติว่า พูดแบบสมมตินะ อย่าตีความเป็นจริงเป็นจังนะ ถ้าหากว่าคุณพ่อตัวจริงจะมาขอในฝัน มันก็ไม่เกี่ยวกับเรานะที่ลืมถวายน้ำแด่พระ แล้วไม่ได้อุทิศไปให้ท่าน ไม่เกี่ยวกัน มันเป็นกรรมของท่านเอง ถ้าท่านจะต้องอยู่ในสภาพแบบนั้น การที่เราส่งไปไม่ใช่ไม่มีผลเลย มีนะครับแต่ว่ามันมีชั่วคราว ถ้าหากว่าบุญที่ส่งไปมันถึงกันได้จริงนะ ภาวะของท่านจะต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างเปรตที่ยังจำสภาพความเป็นมนุษย์ได้ ยังผูกพันกับญาติบนโลกได้ แล้วก็เทวดาที่มีความสามารถจะอนุโมทนายินดีปลาบปลื้มไปกับผลบุญอย่างใหญ่ของญาติที่ยังอยู่ในโลก ถ้าพ้นไปจากนี้แล้วโอกาสที่จะส่งบุญไปแบบเป็นครั้งเป็นคราวนี่มันเป็นไปไม่ได้เลย ปิดประตูเลย อย่างถ้าท่านมาเกิดเป็นมนุษย์ ท่านไม่มีโอกาสที่จะมาปลื้มมายินดีกับผลบุญของเราได้แน่ๆ ไม่มีสิทธิที่จะล่วงรู้ได้แน่ๆ ว่าญาติในอดีตที่เคยอยู่ด้วยกัน ทำบุญส่งมา



« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น