วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๘๕ / วันที่ ๓ ส.ค. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันศุกร์ที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณ เป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธและศุกร์ เวลาสามทุ่มตรงนะครับ

ตอนนี้ก็คงจะได้ข้อสรุปแน่นอนว่า วันจันทร์คงเป็นสามทุ่มเหมือนเดิม เพราะว่าหลายท่านก็บอกว่าจะสะดวกช่วงนั้น คือไม่ใช่ไม่แคร์คนที่อยู่ช่วงอื่นนะ แต่ว่าดูจากจำนวนแล้วเนี่ย คิดว่าช่วงสามทุ่มของวันจันทร์ น่าจะมีคนต้องการฟังมากที่สุดนะครับ อันนี้ก็ขออภัยด้วยสำหรับช่วงเวลาอื่น ที่ไม่เคยสะดวกช่วงสามทุ่มเลย ก็คงจะนัดใหม่ให้ตรงเวลากันไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามวิทยุออนไลน์ มันก็ดีกว่าวิทยุจริงตรงนี้แหละ คือไม่ว่าจะออกไปแล้วกี่ตอน สามารถติดตามฟังได้เสมอทุกตอนครับ เข้าไปที่ http://www.dungtrin.net ผมยังไม่ได้เช็กว่า ตอนนี้เข้าได้หรือยัง มีปัญหาเรื่องการถ่ายโอนโดเมนนิดหน่อย ถ่ายโอนผู้ให้บริการนะครับ



๑) พักนี้รู้สึก หดหู่ เบื่อหน่าย เซ็งบ่อยๆ มันขึ้นมาเป็นพักๆ โดยเฉพาะตอนก่อนอ่านหนังสือ อยากรู้ว่าเบื่อนี้เป็นอาการเบื่อหรือหดหู่แบบโลกๆใช่ไหม?

น้องก็คงจะถามเป็นการเปรียบเทียบระหว่างเบื่อแบบโลกๆ กับเบื่อแบบในทางธรรม ที่เจริญสติแล้วเบื่อหน่ายเกิด ‘นิพพิทา’ อะไรแบบนั้น เข้าใจว่าประเด็นคำถามคงจะเป็นไปในทำนองนั้นนะ

สำหรับความเบื่อแบบโลกๆ กับเบื่อแบบนิพพิทา อันเกิดจากการเจริญสติเห็นโทษ เห็นภัย เห็นทุกข์ เห็นธรรมในกายใจนี้แตกต่างกันอย่างไร ความเบื่อสองอย่าง สองประเภท

ถ้าเบื่อแบบโลกๆนะ เอาง่ายๆ เลย เราจะมีความทุกข์ จิตใจจะปั่นป่วน มีความฟุ้งซ่าน นี่เรียกว่าเบื่อแบบโลกๆ ถ้าเบื่อแบบทางธรรมนะ จิตมันจะมีความนิ่งอยู่ คือเป็นมาตรวัดแบบคร่าวๆ แบบง่ายๆนะ เพราะอะไรทำไมถึงกล่าวเช่นนั้น เพราะว่าการจะเกิดนิพพิทา หรือความเบื่อหน่ายกายใจนะ แบบที่ใกล้เคียง ใจมันจะวาง ใจมันจะถอน จากอุปาทานจริงๆ เนี่ยนะ ต้องมาตามทางมรรค ๘ มรรคมีองค์ ๘ ถ้าหากว่าเราดูจากองค์ประกอบของมรรคมีองค์ ๘ แล้วเนี่ย สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ สติกับสมาธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเราพิจารณาถึงเรื่องความเพียร สัมมาวายมะ ความมีวิริยะในการดูกายใจ ในการเจริญสติ รับรู้ความเป็นจริงที่ปรากฏอยู่ต่อหน้าต่อตา ในขอบเขตกายใจนี้ ก็จะได้ข้อสังเกตที่จะเห็นได้ชัดถึงความแตกต่าง เบื่อแบบในทางโลกเนี่ย เราจะเกิดความรู้สึกว่า เอ๊ะ อะไรๆมันไม่น่าเอาเหมือนกันนะ แต่ว่าฟุ้งซ่าน แล้วก็จิตใจกระสับกระส่าย ไม่สามารถที่จะหยุดคิดได้ แล้วก็หงุดหงิดไปหมด ถ้าอะไรมากระทบกระทั่งนิดนึงเนี่ย เราจะเหมือนกับเป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมาได้ ถึงแม้ว่าจะไม่โมโหโกรธา ไม่อาละวาด แต่อารมณ์มันก็จะไม่สงบนิ่ง มันมีความรู้สึกเหมือนกับไม่พอใจ มีความอยากจะให้เกิดความสงบระงับอะไรขึ้นมาเนี่ย มันเบื่อแบบนั้น

ส่วน ‘นิพพิทา’ คือเห็นด้วยความนิ่ง เห็นด้วยความสุขสงบ ว่ากายว่าใจนี้ มันไม่มีอะไรสักอย่างหนึ่งที่เที่ยง มีแต่แสดงความแปรปรวน มีแต่แสดงความเปลี่ยนแปลง ไม่หยุดไม่หย่อน แล้วก็ความเปลี่ยนแปลงนี้ มันน่าเบื่อหน่ายซะเหลือเกิน มันช่างเป็นสิ่งที่ไม่น่าเอา ไม่น่าเป็น คือแม้กระทั่งเกิดความรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจ เป็นสุขกับการได้อะไรมา อย่างนี้เวลาเบื่อนะไม่ได้เบื่อสิ่งของนะ แต่เบื่ออาการอิ่มอกอิ่มใจ เบื่ออาการที่มันเป็นสุข แล้วการเบื่อเนี่ยไม่ใช่มีความทุรนทุราย ไม่ใช่มีความรู้สึกเป็นทุกข์ แต่ว่ามีความรู้สึกเหมือนกับใจดูอยู่ห่างๆ ถอน อยากจะมีอิสระจากการเกาะกุมของการมีการเป็น ไม่ว่าจะภาวะไหนๆทั้งสิ้น จะภาวะสูงส่ง จะภาวะต่ำต้อย จะภาวะขาว จะภาวะดำ จะภาวะที่มันน่าดีใจ จะภาวะที่มันน่าเสียใจ ทั้งหลายทั้งปวง นี่จิตเค้าเห็นอยู่แล้ว รู้อยู่แล้วอยู่ตลอดเวลา ไม่แตกต่างกับที่เห็นลมหายใจเข้าออก ว่าเดี๋ยวมันเข้ามาแล้ว ก็ต้องออกไปเป็นธรรมดา ไม่มีลมหายใจสักลมเดียวที่จะอยู่กับเรา หรือว่าเป็นสัญลักษณ์แทนความเป็นตัวเราได้ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสัญลักษณ์ของอนัตตาทั้งสิ้น

ถ้าพิจารณาอย่างนี้นะครับ ก็คงจะได้คำตอบว่า ตอนที่จะอ่านหนังสือ หรือว่าความเบื่อเกิดขึ้น เราก็รู้ไปเลย ฟันธงไปเลยว่า นั่นแหละเป็นความเบื่อแบบโลกๆ นั่นแหละเป็นอาการที่จุดชนวนขึ้นมาด้วยโทสะ มีมูลเป็นโทสะ โทสะคืออะไร คือความไม่พอใจ อยากที่จะถอยห่าง อยากที่จะผลักออกพ้นตัวนะ หรือว่าอยากจะทำลายให้สิ้นไป นี่เรียกว่าเป็นอาการของใจที่มีความขัดเคือง ใจที่มันยังสามารถจะเป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมาได้ พูดง่ายๆนะอาการเบื่อ มันเหมือนไอของควันไฟนั่นแหละ เราเกิดความรู้สึกเร่าร้อน เกิดความรู้สึกเหมือนกับทนไม่ได้ ไม่อยากทนอะไรแบบนั้น ตีเหมาเป็นเรื่องของควัน อันเกิดจากโทสะที่เป็นมูลไปให้หมดเลยนะครับ



๒) เรามีวิธีสังเกตเวทนาที่เกิดทางใจอย่างไร? และสาเหตุของเวทนาทางใจเกิดจากอะไร? ผมสังเกตว่าสุขหรือทุกขเวทนาทางใจเกิดขึ้นจากความคิดที่ไปยึดว่ามีตัวเราเป็นผู้เกี่ยวข้องในสภาวะ ไม่ทราบว่าถูกหรือเปล่า?

เวทนานะ พระพุทธเจ้าให้แบ่งง่ายๆอย่างนี้ เวทนาที่ตอนแรกนะ สังเกตนะว่ามีความสุขมีความทุกข์ ความสุขคืออะไร มันรู้สึกสบายๆ มันรู้สึกว่าโล่งๆ มันรู้สึกว่า เออ เบา อย่างนี้เป็นลักษณะใกล้เคียง ที่เราจะสังเกตเห็นความสุข ไม่ว่าจะทางกายหรือทางใจ ทางกายมันก็จะไม่กระสับกระส่าย มันรู้สึกเหมือนกับไม่เกร็ง ไม่กำ ตรงนี้เรียกว่าเป็นสุขเวทนาทางกาย ส่วนทางใจนี่ก็คือสบายใจ มีความโล่งใจ มีความปลอดโปร่งอย่างนี้นะครับ ก็คิดง่ายๆเลยว่า ถ้าเบา อย่างนั้นคือโน้มเอียงที่จะเป็นสุข

ถ้าหากว่าทึบ ถ้าหากว่าหนัก ถ้าหากว่าเกร็ง ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่งของกาย นั่นจัดเหมาให้เป็นความทุกขเวทนาทางกายให้หมดเลย ส่วนความรู้สึกกระสับกระส่าย เกิดความทุรนทุราย เกิดความเร่าร้อน เกิดความมีอาการฟุ้งขึ้นมาใดๆ อย่างนั้นก็จัดให้เป็นทุกขเวทนาทางใจให้หมด อันนี้เป็นการแบ่งแยกแบบง่ายๆ ง่ายที่สุด สุขกับทุกข์

ทีนี้ท่านก็ให้สังเกตต่อไปอีกว่า ระหว่างสุขกับทุกข์นี่นะ มันไม่ใช่มีแค่ความสุข ความทุกข์ขึ้นมาเองเฉยๆ บางทีเนี่ย มันมีเหยื่อล่อแบบโลกๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างเช่น ถ้าหากว่าเราไปนอนอยู่บนโซฟาสบายๆ ที่โซฟาตัวโปรด อย่างนี้เรียกว่ามีเหยื่อล่อแบบโลกๆ แต่ถ้าหากว่าเราอยู่เฉยๆ เราเจริญสติอยู่ แล้วเกิดความรู้สึกว่า นี่มันไม่เที่ยง แล้วก็เกิดความอิ่มใจ มีความสุขขึ้นมาว่า เราเห็นความไม่เที่ยงแล้ว นี่อย่างนี้เรียกว่าไม่มีเหยื่อล่อแบบโลกๆ แต่เป็นการที่เราฝึกจิต แล้วก็มีเหตุใกล้นะ เป็นธรรมะที่ก่อให้เกิดความสุข อันนี้พระพุทธเจ้าก็ให้แยกประเภทไว้เป็นสุขเวทนา ประเภทที่ไม่มีเหยื่อล่อแบบโลกๆ สุขเวทนาแบบไม่มีอามิส

ทุกข์ก็เหมือนกัน ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากว่ามีผัสสะแบบโลกๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ให้จัดว่าเป็นทุกข์ที่มีอามิส แต่ถ้าเป็นทุกข์ไม่มีอามิสนะ คือไม่มีเหยื่อล่อแบบโลกๆเนี่ย ท่านให้เหมามาในทางธรรม ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากว่าปฏิบัติธรรมเจริญสติภาวนาแล้ว เกิดความรู้สึกอยากได้มรรคผล แล้วเกิดความรู้ตัวซ้อนขึ้นมาอีกว่า โอ้ย ไม่ได้เร็วๆนี้หรอกนะ เกิดความรู้สึกท้อถอยขึ้นมา อันนี้ก็เรียกว่าเป็นทุกขเวทนาไม่มีอามิส คือไม่มีเหยื่อล่อแบบโลกๆเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือแม้กระทั่งว่าเราอยากที่จะสงบจากความฟุ้งซ่าน พยายามทำสมาธิแล้วมันสงบไม่ได้ เกิดความทุกข์ขึ้นมา เกิดความกระสับกระส่าย กระวนกระวายขึ้นมา อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นทุกขเวทนาไม่มีอามิสเช่นกัน

สรุปง่ายๆเลยนะ อาการเวทนาทางใจเนี่ย เราดูตรงที่ว่า มีความคิดแบบใดมากระทบ หรือมีความรู้สึกที่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่เจืออยู่ด้วยเรื่องแบบโลกๆ แต่จริงๆแล้วเนี่ย ช่วงต้นๆเนี่ย ไม่จำเป็นต้องไปพยายามแยกแยะหรอก เอาแค่ว่ารู้ทัน ว่ากำลังมีความปลอดโปร่ง หรือว่ามีความทึบหนักอยู่ แค่นี้พอแล้ว การที่สติมันมีความคมและก็มีความว่องไว แล้วเห็นเหตุปัจจัยว่าอะไรทำให้เกิดสุข อะไรทำให้เกิดทุกข์เนี่ย มันจะตามมาเอง เพียงแต่ว่านี่เป็นประกัน มีพระพุทธพจน์เป็นประกันว่า เราเห็นอย่างนั้นถูกต้องแล้ว ถ้าหากว่ามีเหยื่อล่อ ก็เรียกว่ามีอามิส ถ้าไม่มีเหยื่อล่อ ก็เรียกว่าไม่มีอามิส เอาง่ายๆแค่นี้



๓) สอบถามเรื่องการสวดอิติปิโส ได้ปฏิบัติธรรมตามที่พี่ตุลย์แนะนำ คือ ตื่นเช้ากว่าเดิมเพื่อสวดอิติปิโส ตอนนี้ทำได้ ๑๑ วันแล้ว แต่ยังไม่รู้สึกถึงความสุข หรือความเมตตาที่อยู่ในตัวเลย?

ต้องแยกนิดนึงนะ คือจริงๆแล้ว ตอนที่สวดมันมีความสุขนะ มันมีความสงบ มันมีความเย็น อย่างน้อยที่สุด เราก็เกิดความรู้สึก มีกำลังของกุศลมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ให้สังเกตง่ายๆแค่นี้ก่อน ถึงแม้ว่าเราจะรู้สึกเหมือนกับยังไม่มีเมตตา ยังโกรธได้ เหมือนกับที่ผู้ถามได้บอก

ยังโกรธง่าย รวมทั้งยังคิดวกวนถึงคน และเรื่องที่ทำให้ไม่พอใจอยู่ไม่เลิก แต่มีสิ่งหนึ่งที่ต่างไปคือ มันคิดแต่มันไม่ค่อยร้อนรนเหมือนเมื่อก่อน ความรุ่มร้อนเนี่ย มันลดกำลังลงไป เหมือนมันคิดเฉยๆ แต่ไม่มีไฟเข้าไปด้วย แล้วก็รู้สึกว่า คนรอบข้างที่เคยร้อนๆใส่เรา ก็ดีกับเราอย่างไม่ทราบสาเหตุ ไม่ทราบว่าคิดไปเองหรือเปล่า หรือว่าเป็นเพราะบทสวดอิติปิโสช่วยให้เย็นขึ้นโดยไม่รู้ตัว

เอาง่ายๆนะ ที่บอกว่ายังคิดวกวนถึงเรื่องที่ทำให้ไม่พอใจอยู่ไม่เลิกเนี่ย ตัวนั้นเค้าเรียกว่าความฟุ้งซ่าน แต่ที่บอกว่าสิ่งที่เห็นต่างไป คือมันคิดแต่มันไม่ร้อนรน มันไม่เกิดความรุ่มร้อนขึ้นมา ตรงนี้ก็เมตตาแล้ว ตรงนี้เนี่ยคือเชื้อของเมตตาแล้ว การที่เราเกิดความคิดถึงเรื่องไม่น่าพอใจ หรือบุคคลที่ทำให้เราสามารถจุดชนวนให้เราเกลียดได้ มันเป็นตัววัดที่ดีเลย ถ้าเดิมคนที่เราเคยเกลียด มันสามารถที่จะเอาแค่มโนภาพเค้าเท่านั้นเนี่ย ยังไม่ต้องมีตัวตนเค้าเข้ามา เข้าหูเข้าตาเราเลย เอาแค่มโนภาพของเค้าที่อยู่ในใจเราเนี่ย เราสามารถที่จะเป็นฟืนเป็นไฟได้แล้ว แล้วมาทดลองปฏิบัติแบบนี้ดู ปรากฏว่าความร้อนรนมันหายไป ตรงนี้เนี่ยเชื้อของเมตตา มันเกิดขึ้นแล้ว มันก่อตัวขึ้นแล้ว

ส่วนที่ถามว่า คนรอบข้างที่เคยร้อนๆใส่เรา ก็ดีกับเราอย่างไม่น่าเชื่อ ไม่ทราบสาเหตุ ไม่รู้ว่าคิดไปเองหรือเปล่าเนี่ย ก็ไม่ได้คิดไปเองหรอกนะครับ อย่างที่เราคุยกันว่า ถ้าหากเราตั้งใจตื่นนอนขึ้นมาเร็วขึ้นครึ่งชั่วโมง แล้วก็สวดอิติปิโสด้วยความตั้งใจว่า เราจะสวดอย่างมีความสุข เพื่อเริ่มวันใหม่ด้วยการสั่งสมเมตตา ไม่ให้ไอร้อนมันออกจากตัวเราเหมือนที่ผ่านๆมาเนี่ยด้วยเจตนานี้และการทำจริงอย่างมีวินัยต่อเนื่อง เพียงแค่ ๑๑ วัน อันนี้คือ ๑๑ วันนั้นมันมากพอนะ ที่จะเห็นผลบางอย่าง ถึงแม้ว่าเราจะยังไม่รู้สึกว่าตัวเองมีเมตตาเป็นแม่พระ แต่ว่าความร้อนมันหายไป พอความร้อนมันหายไป คลื่นรบกวนคนรอบข้างของเรา มันก็หายไปด้วยนะครับ โดยที่เราไม่ทันสังเกตหรอก แต่ว่าคนอื่นเค้ารู้สึกได้ ถึงแม้เราไม่สังเกต แต่คนอื่นรู้สึกได้ และความรู้สึกได้มันก็มีปฏิกิริยาตอบสนองกลับมา ในรูปของการที่เค้าอยากจะดีกับเรา เค้าอยากจะทำอะไรๆ ในทางที่ทำให้เราเป็นสุข มันตอบแทนกันนะ มันเป็นปฏิกิริยาตอบแทนกัน คือเราไม่ร้อน ไม่ส่งคลื่นความร้อนใส่คนรอบข้าง คนรอบข้างก็จะไม่มีปฏิกิริยาเป็นความร้อนโต้ตอบกลับมา มันไม่มีเหตุระคายให้เค้าอยากจะมีคลื่นตอบกลับนะ ในทางเดียวกันนะ ถ้าหากว่าการสวดของเราเป็นการสวดที่ดีพอ เป็นการสวดที่สงบพอ เป็นการสวดที่สว่างพอ คนรอบข้างจะเกิดความรู้สึกเหมือนกับว่าเข้าใกล้เราแล้วมีความสุขมากขึ้น

การที่คนเรานะ รู้สึกเป็นสุขเพราะใคร โดยธรรมชาติ โดยสัญชาตญาณ มันจะอยากตอบแทน ด้วยการมอบความสุขกลับคืนมาบ้าง นี่เป็นเรื่องที่เราประสบอยู่ในชีวิตประจำวัน อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่ไม่สังเกต บางคนสังเกตแต่ไม่รู้ ว่าเหตุผลเนี่ยวันไหนทำไมเราถึงมีคลื่นรบกวนออกไป วันไหนเรามีคลื่นความสงบ มีความสงบสุข มีความสว่างแผ่ออกไป มันไม่รู้ว่ามันมาจากไหน พอไม่รู้ก็เลยอยู่กันไปแบบสามวันดีสี่วันไข้

ตอนช่วงผมวัยรุ่นเนี่ย แปลกใจจริงๆเลย บางวันก็อยู่ๆ มีความรู้สึกเดินไปไหน คนมาดีด้วยมายิ้มมาแย้ม แล้วก็มาทักทายเหมือนกับเราเป็นที่รักที่ใคร่ แต่หลายวันมันไม่ใช่แบบนั้น มีแต่คนหน้าหงิกใส่ ตอนหลังๆก็เพิ่งรู้ มันไม่ใช่ด้วยความบังเอิญนะ มันมีเหตุ มันมีอะไรที่เป็นเหตุ เป็นผลชัดเจน แล้วก็จับต้องได้ เราสามารถพิสูจน์ทราบได้ จากกระแสในตัวเนี่ยแหละ บางวันนะตอนผมช่วงวัยรุ่น ตอนเรียนมัธยม ตอนเรียนมหาลัยอะไรแบบนี้เนี่ย ก็จะไปยึดบทสวด คิดว่าถ้าสวดมนต์แล้วจะเป็นที่รักของมนุษย์และเทวดา ก็ไปเลือกบทสวดที่เค้าจาระไนสรรพคุณว่าดีอย่างงั้น ดีอย่างงี้ แต่ไม่รู้นะ ไม่รู้ตัวว่าตอนสวดเนี่ย คือมันเต็มไปด้วยอัตตา เต็มไปด้วยความโลภ เต็มไปด้วยความอยากได้ใคร่ดี อยากจะถูกหวย อยากจะให้มีคนมาชอบมากๆ แต่ก่อนนี้เป็นคนที่ค่อนข้างเงียบเหงา ไม่ค่อยมีเพื่อน แล้วก็เหมือนกับไม่เข้าใจตัวเอง คือเป็นคนที่ค่อนข้างจะมีโลกส่วนตัวสูง แล้วคนที่มีโลกส่วนตัวสูง ก็จะก่อกระแสความรู้สึกคับแคบ เหมือนกับไม่อบอุ่นออกไป คนก็รู้สึกว่าไม่อยากเข้าใกล้ คนก็รู้สึกเหมือนกับเราเป็นความอึดอัด เราเป็นอะไรที่พร้อมจะก่อความร้อน หรือก่อความกระวนกระวายอะไรแบบนั้น แต่ถ้าวันไหนใจเราโล่งๆ ใจเราสบาย คือสวดมนต์ สวดด้วยความรู้สึกที่ใจมันเปิดกว้าง แต่ตอนนั้นมันไม่รู้เหตุผลนะ คือเปิดกว้างโดยที่ไม่เข้าใจ ว่าทำไมมันถึงเปิดกว้าง ตอนนี้เข้าใจแล้วก็คือเราสวดด้วยความไม่คาดหวัง สวดด้วยอาการที่ใจเนี่ย ไม่มีอะไรมากไปกว่ารู้สึกเคารพ ศรัทธาพระพุทธเจ้า แล้วก็อยากจะสรรเสริญพระคุณท่านด้วยการสวดอิติปิโส คือตอนนั้นก็สวดอิติปิโสไปด้วย สวดบทอื่นไปด้วย แล้วก็จะเห็นว่าคนที่เค้าเข้ามาเนี่ยมัน เอ๊ะ มันเข้ามาตามกระแสเมตตาแบบหนึ่ง ซึ่งเรารู้นะเค้ามาตามกระแสแบบนั้น แต่เราไม่รู้ สังเกตไม่ออกว่ามันมาจากไหน

ทีนี้ก็อย่างที่เคยพูดว่า ถ้าหากเราสวดอิติปิโสด้วยใจที่มันเปิด ด้วยใจที่มันสว่าง ด้วยใจที่มีความอบอุ่นนะ แล้วเกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจนขึ้นมาว่า ทุกเช้าตื่นขึ้นมาพร้อมกับความสว่าง พร้อมกับความรู้สึกเคารพในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พร้อมกับความรู้สึกว่าตัวเรามีทุนพอที่จะเย็น มีทุนพอที่จะไม่เป็นที่ตั้งของความโกรธ สำหรับผู้ถาม ๒ เดือนน่าจะเห็นเลยว่า ใจมันมีเมตตา ใจมันมีความสุข อะไรที่จะไปเผื่อแผ่คนอื่นเค้าอย่างไม่จำกัด อย่างนี้ ๑๑ วันที่เห็นผลเนี่ยนะ ก็เรียกว่าเป็นน้ำจิ้ม เป็นหนังตัวอย่างให้เราพอเชื่อได้ ถึงแม้ว่าจะยังสังเกตตัวเองไม่ออกแบบชัดเจน ว่าอะไรเป็นอะไร แต่ทำไปเรื่อยๆ เถอะไม่เกิน ๒ เดือนรับรองว่าเห็นผล



๔) เวลาไหว้พระหรือทำบุญหากเราจะอธิษฐานว่า ขอให้ข้าพเจ้าได้เห็นธรรมที่พระพุทธเจ้าเห็นจะได้ไหม?

อธิษฐานอย่างนั้นก็ได้ เพื่อเป็นทิศทาง การอธิษฐานก็เหมือนกับการตั้งเส้นทางนะ ว่าเราจะไปทางทิศไหน แทนที่จะเดินดุ่ม เดินไปแบบไม่รู้เหนือ รู้ใต้นะครับ เราก็ประกันตัวเองว่าเราจะขึ้นเชียงใหม่นะ เราจะไม่ลงไปทางใต้นะ แบบนี้ก็เกิดความชัดเจนว่า ยิ่งเดินเราก็จะยิ่งขึ้นเหนือ อันนี้ถ้าเวลาทำบุญนะครับ แล้วอธิษฐานว่า อยากจะได้เห็นธรรมตามที่พระพุทธเจ้าเห็น ก็เป็นสิ่งที่ไม่ได้น่าตำหนิอะไร แล้วก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดด้วย เป็นแค่เหมือนกับการบอกตัวเองว่า เราจะดำเนินรอยตามพระบาทของพระศาสดานะครับ

ถ้าหากว่าจิตมีความรู้สึกอิ่ม จิตมีความรู้สึกสว่างอยู่ในบุญกุศล แล้วก็มีการสำทับ มีการกำกับเข้าไป เหมือนกับคนที่คอยบอกทางกับคนขับ แล้วคนขับนั้นมีกำลัง คนขับนั้นกำลังขับยานพาหนะที่มีประสิทธิภาพสูงอยู่นะ ว่าให้ไปที่เชียงใหม่นะครับ คนขับก็จะรู้สึกว่าเต็มใจพร้อมรับ แล้วก็รถยนต์ก็สามารถจะวิ่งไป แล่นไปด้วยสมรรถนะที่เต็มกำลัง เต็มพิกัดของมันอยู่นะ บุญมีความแรงแบบนั้นแหละ ถ้าหากว่ามีความอิ่ม มีความเต็มแล้วนะ เหมือนกับเราได้คนขับชั้นดี แล้วก็พาหนะชั้นเลิศมา ส่วนที่ว่าเราจะพุ่งไปทางไหน นี่แหละก็คือการอธิษฐานแบบนี้แหละ อธิษฐานต้องอธิษฐานด้วยความเข้าใจนะว่า บุญนั้นไม่ได้ส่งให้เราได้เห็นธรรมตามพระพุทธเจ้า เป็นแค่ทิศทาง เป็นแค่ที่เราจะมั่นใจว่าเรากำลังขึ้นเหนือ แต่การที่เราจะได้เห็นธรรมตามพระพุทธเจ้าก็ต้องปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ เจริญสติตามที่พระพุทธองค์ประทานแนวทางไว้ ถ้าหากว่าไม่ปฏิบัติ พูดง่ายๆนะ คือไม่เห็นเข้ามาในกายใจโดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน อย่างไรๆจะทำบุญจะอธิษฐานอีกแค่ไหน กี่กัปกี่กัลป์ก็ตาม ไม่มีสิทธิ์ที่จะให้ได้เห็นธรรมตามพระพุทธเจ้าแน่นอน แต่ถ้าทำตามนะก็ชาตินี้แหละ ไม่ไกลเกินเอื้อมหรอก พระพุทธเจ้าตรัสรับรองไว้ ใครก็ตามที่เจริญสติปัฏฐานเต็มที่นะ อย่างช้า ๗ ปี ได้เป็นพระอรหันต์หรืออย่างน้อยที่สุดก็ได้เป็นพระอนาคามี เรื่องพระโสดา พระสกทาคา ท่านไม่พูดถึงเลย เราว่ากันที่ความเป็นอรหันต์ ความเป็นอนาคามีกัน



๕) คนที่เดินทางศึกษาทางธรรม ผ่านด่านทดสอบหลายๆ ด่าน จากตึงบ้าง หย่อนบ้าง จนผ่านมาได้รู้ว่าไม่มีอะไรเที่ยง จะต้องถูกทดสอบจิตตลอดเวลาเลยหรือเปล่า? ทำไมบางครั้งรู้สึกว่าทั้งที่ชีวิตมีความสุขมาก แต่จิตกลับไม่มีความสุขเลย วิตกกังวล แบบอาการเหมือนคนโดนทดสอบ ต้องทำอย่างไร?

จำไว้นะครับการทดสอบ มันมีจริงๆก็ตอนที่เราตั้งใจจะถอยห่างออกจากชีวิตแบบเดิมๆ ยกตัวอย่างเช่นคนที่เคยทุศีลมาตลอด ตั้งใจถือศีลขึ้นมาเนี่ย ช่วงนั้นนะจะมีการระดมกำลังมาทดสอบ มาให้เรารู้ใจตัวเองว่า เราผ่านไปได้หรือเปล่า อย่างเช่น ยุงจะรุมกันเข้ามากัด รุมกันเข้ามา แล้วเราก็จะเกิดข้ออ้างว่า โอ๊ย ถ้าไม่ตบมันบ้าง ไม่ตอบโต้บ้าง มันก็ทำร้ายเราข้างเดียวละสิอะไรแบบนี้ แต่ถ้าหากว่าผ่านด่านไปได้ คือหลบเลี่ยง หรือว่าปัดมันนะ หรือถ้าไหนๆ มันกัดไปแล้ว ก็ยอมให้มันอิ่มไป แล้วก็ค่อยปัดไล่อะไรแบบนี้เนี่ย ทำอยู่สักช่วงนึง ๗ วัน หรือบางทีบางคนก็อาจจะ ๗ เดือนนะ จะพบเลยนะ การรบกวนจากรอบข้างเนี่ยจะหายไป หรือว่าเบาบางลงมากจนไม่เป็นทุกข์ ไม่เกิดความระคาย แต่ประเภทที่ว่ามานึก มาเข้าใจเอาว่า นี่กำลังถูกทดสอบอยู่ จริงๆแล้วนี่ หลายๆครั้งเป็นเรื่องของวิบากนะครับ วิบากกรรมจากหนหลังส่งคนมารบกวน หรือวิบากกรรมที่เกิดจากความคิดวิธีคิด มันก็อาจจะเป็นคลื่นรบกวนทางใจที่กระเพื่อมขึ้นมา โดยที่ไม่มีปี่มีขลุ่ยนะครับ แบบนั้นเนี่ยก็ขอให้มองเป็นกรรมทางความคิดนะ ที่กำลังส่งผลเป็นคลื่นกระเพื่อม เป็นคลื่นรบกวนตัวเองอะไรไป

โดยสรุปแล้ว ใจความก็คือให้สังเกตว่า ความทุกข์ทางใจ ความกระสับกระส่าย ความกระวนกระวายทั้งหลาย จะเป็นด้วยสาเหตุจากภายนอกหรือภายในก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมา เพื่อให้เรารู้อยู่ เห็นอยู่ ว่าเดี๋ยวมันก็ค่อยๆลดระดับลง หรือไม่ก็หายไปให้เห็นทันที เราดูอยู่แค่นั้น ไม่ต้องไปสงสัยว่าจะโดนทดสอบอีกแค่ไหนเท่าไหร่ มันไม่มีการตั้งระยะอะไรแบบนั้นหรอก ถ้าพูดถึงการทดสอบ มันทดสอบไปตลอดชีวิต จนกว่าจะตายนั่นแหละ แต่ถ้าหากว่าเรามองเป็นเครื่องฝึก เครื่องรู้ เครื่องดูนะครับ เราก็จะเห็นว่า เราได้รู้ เราได้ดู น่าพอใจที่ได้เห็นทุกวันเช่นกัน


เอาละครับ คืนนี้คงต้องล่ำลากันที่ตรงนี้ สวัสดี ราตรีสวัสดิ์ และขอให้เจริญในธรรมด้วยกันทุกท่านนะครับ


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น