วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๗๗ / วันที่ ๑๖ ก.ค. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันจันทร์ที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ปกติก็เป็นคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มอะนะครับ แต่ว่าวันนี้พิเศษนิดนึงก็เป็น ๕ โมง

เคยจัด ๕ โมงมาแล้วครั้งนึง แล้วหลายคนก็บอกว่าอยากให้จัดในช่วงเวลานี้ ก็ลองดู คือจะทดลองดูนะครับ ว่าจะมีการตอบรับยังไง แล้วก็จะมีความพอใจไม่พอใจยังไงกับช่วงเวลานี้นะครับ เพราะว่าหลายคนบอกว่า ถ้าจัดสามทุ่มอย่างเดียวเนี่ย ไม่เคยได้ถามเลย ไม่เคยได้มีโอกาสฟังสดเลย ก็ทดลองดูนะครับ จะเป็นการทดลอง ถ้าหากว่ามีความสะดวกหรือไม่สะดวกยังไงก็คอมเมนต์ไปที่สเตตัสของผม ที่ http://www.facebook.com/HowfarBooks นะครับ ก็ไถ่ถามกันเข้ามาได้

วันนี้ก็มีถามเข้ามาเยอะพอสมควรแล้ว อันนี้ก็จะรีบตอบนิดนึงนะครับ เพราะว่าอาจจะเป็นช่วงเวลาที่หลายๆคน ยังรู้สึกว่ายังมีกำลังวังชา ยังมีความตื่นตัวที่จะฟังคำตอบอยู่อยู่นะครับ สามทุ่ม… หลายคนเลย (หัวเราะ) บอกเลยว่าเริ่มง่วงแล้ว แล้วถ้ายังไงลองคอมเมนต์เข้ามาทางสเตตัสนี้ ก็แล้วกันนะครับ



๑) จะแนะนำนักศึกษาให้มาถือศีล ๕ ได้อย่างไร?

(ถาม – ผมเป็นอาจารย์สอนคอมพิวเตอร์ อยากแนะนำให้นักศึกษาถือศีล ๕ กันเยอะๆ จะมีแนวทางแนะนำอย่างไรดี?)

ถ้าพูดตามหลักจิตวิทยานะครับ ถ้าหากว่าเรามี… ภาษาจิตวิทยาเค้าเรียก ‘Referent Power’ อะนะที่จะทำให้นักศึกษาฟังเราในเรื่องไหน ก็คงจะเป็นเรื่องของไอที เรื่องของคอมพิวเตอร์นะครับ ถ้าหากเราพูดเรื่องคอมพิวเตอร์ได้ดี แล้วก็สามารถสื่อสารกับนักศึกษาได้เข้าใจ ทำให้เค้าเชื่อเราได้อย่างหมดใจเลย ไม่ว่าจะพูดอะไรมาเกี่ยวกับเรื่องไอทีนะครับ สามารถที่จะยิงตรงเข้าถึงความเข้าใจ ความต้องการของเค้า ที่จะได้คำตอบอย่างไร เราสามารถยิงเข้าไปได้ตรงประเด็นทั้งหมด มันจะมีความรู้สึกว่า ถ้าหากว่ามีข้อสงสัยหรือมีความต้องการเกี่ยวกับเรื่องของคอมพิวเตอร์นะครับ เค้าจะนึกถึงเรา ไอ้นี่เค้าเรียกว่า ‘อำนาจที่เกิดขึ้นจากหน้าที่’ นะครับ แล้วก็เวลาที่คิดถึงใครที่จะอ้างอิงถึงเกี่ยวกับเรื่องไอที เรื่องเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เราจะผุดเด่นขึ้นมาก่อน ภาพของเราจะผุดเด่นขึ้นมา

ทีนี้ถ้าหากว่าเราจะเอาพาวเวอร์จุดเด่นตรงนี้ ไปเชื่อมโยงกับเรื่องของศีล ๕ นะครับ มันอาจจะเป็นคนละโลกกันสักนิดนึงนะครับ ไอ้ไอทีมันเป็นโลก มากๆเลย ส่วนเรื่องของศีล ๕ เป็นเรื่องทางธรรม ซึ่งคนสมันนี้จะมองว่าเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว เป็นเรื่องตกยุคไปแล้ว

ผมเคยได้ยินบ่อยเลยนะครับที่คนยุคนี้พูดว่า ‘ใครยังถือศีล ๕ อยู่ก็บ้าแล้ว!’ นะครับ เพราะต้องทำความเข้าใจด้วยว่า ที่เค้าพูดอย่างนี้ก็เพราะว่า การถือศีล ๕ จะทำให้ไม่ได้อย่างใจ ไม่ได้อะไรอย่างใจที่ต้องการนะครับ จะไปให้พูดตรงไปตรงมา หรือว่าจะพูดอะไรที่มันขวานผ่าซากเนี่ย สมัยนี้ก็อยู่กันไม่ได้ กินกันไม่ได้ นี่! ก็คิดกันอย่างนี้ แล้วก็มีความรู้สึกกันอย่างนี้จริงๆ ก็เลยมองว่าศีล ๕ เป็นเรื่องล้าสมัยนะครับ

หากว่าเราจะเอาอำนาจหน้าที่ในเรื่องความน่าเชื่อถือเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ไปเชื่อมโยงเกี่ยวกับศีล ๕ เราก็ต้องพูดในแบบที่ค่อยๆสร้างความรู้สึกเกี่ยวกับตัวตนของเราขึ้นมาว่า ตัวตนของเราไม่ใช่แค่สอนคอมพิวเตอร์ หรือรู้เรื่องเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ได้มาก มากเท่าที่นักศึกษาคาดหวังอย่างเดียวนะครับ เรายังเป็นคนที่มีความใจเย็นด้วยนะครับ เรายังเป็นคนที่ เรียกว่ามีทั้งสายตา สีหน้า และน้ำเสียงเป็นคนมีความกรุณา มีความเยือกเย็นเนี่ยนะครับ พอได้เริ่มพูดให้นักศึกษาจำนวนมากๆฟังบ่อยๆเนี่ย มันเกิดความสงบขึ้นมาได้ เป็นความสงบแบบมวลรวมนะครับ

สังเกตว่าถ้าอาจารย์สอนอยู่หน้าชั้นแล้วนักศึกษาไม่สนใจเท่าไหร่ อาจจะเป็นเพราะอาจารย์ ตัวอาจารย์จะไม่ค่อยมีความเชื่อมโยงกับนักศึกษานะครับ ถ้าหากว่าเรามีศิลปะ มีความสามารถในการเชื่อมโยงระหว่างตัวเรากับตัวนักศึกษาผ่านความเยือกเย็นได้ ผ่านทางน้ำเสียงที่มีความกรุณาได้ ผ่านความรู้สึกเมตตาที่อยากจะป้อนความรู้ให้นะครับ เค้าจะค่อยๆมีความยอมรับ หรือว่ามีความนับถือในตัวเราอีกแบบนึงนะครับ นอกเหนือจากเรื่องของไอที เรื่องของคอมพิวเตอร์

ทีนี้เวลาที่เราจะสอดแทรกเรื่องของศีลเรื่องของธรรมเข้าไปเนี่ย มันคงไม่ใช่อยู่ๆโพล่งขึ้นมาโดยไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยนะครับ เราต้องเอาไอ้ประเด็นบางอย่างในห้อง ยกตัวอย่างเช่น ที่มันเกิดขึ้นบ่อยในสมัยนี้ สมัยเนี้ยเกิดขึ้นบ่อยเลยก็คือว่า นักศึกษาไม่ค่อยสนใจฟัง ไม่ค่อยตั้งใจฟัง ไม่ค่อยจะให้ความสนใจ กับสิ่งที่เราพูดนะครับ บางคลาสเนี่ยจะเป็นกันมากๆเลย นะครับ

ถ้าหากว่าเรายังมีความใจเย็นอยู่ได้ ยังมีความหนักแน่นอยู่ได้ และน้ำเสียงของเรามีความสามารถที่จะอยู่เหนือความฟุ้งซ่านของเค้าได้ ความฟุ้งซ่านของเค้าจะค่อยๆสงบระงับลง

แล้วก็อย่างเวลาที่เราจะตักเตือน เวลาเราจะดุ หรือว่ากล่าว เวลาที่เค้าไม่ฟัง เวลาที่เค้าเสียงดังกันเกินไปแล้วเนี่ย เสียงปรามของเราเนี่ยจะเป็นตัวบอกอารมณ์ของเรามันเดือดขึ้น ถึงจุดที่เป็นคนธรรมดาทั่วๆไป หรือเป็นคนที่มีอารมณ์ที่เยือกเย็นพอที่จะควบคุมบรรยากาศของห้องเอาไว้ได้นะครับ

ถ้าหากเรามีความสามารถตรงนี้เมื่อไหร่นี่แหละ มันจะเชื่อมโยงเรามาในเรื่องของธรรมะ ก็ทำให้… เพราะธรรมะเนี่ย… ในความรับรู้ทั่วไปนะครับที่เกิดขึ้นเนี่ยกับมือใหม่ธรรมะทั้งหลาย หรือว่าคนที่ไม่สนใจธรรมะเลย อันดับหนึ่งคือ ‘ความเยือกเย็น’

ความเยือกเย็นที่ออกมาจากใจจริงๆนะ ไม่ใช่แกล้งเยือกเย็นนะครับ ตัวนี้นี่แหละ ที่มันจะค่อยๆทำให้ลักษณะของความคิด ความรู้สึกของคนที่เค้าต้องฟังเราอยู่เรื่อยๆทุกวัน มันค่อยๆเปลี่ยนไป จากอาการกระสับกระส่ายเวลาที่มานั่งในห้องนี่อยากจะคุยกันก่อนนะครับ เค้าจะอยากฟังเสียงเรา ค่อยๆอยากฟังเสียงเรามากขึ้นๆ

การที่เราสามารถตักเตือนเค้าได้ในชั้นที่ไม่ว่าจะเป็นสอนวิชาไอที ไม่ว่าจะสอนวิชาเลข ไม่ว่าจะสอนวิชาภาษาอังกฤษ อะไรก็แล้วแต่นะครับ มันต้องมีการตักเตือนกัน แล้วส่วนมากก็จะมาจากลักษณะนี้แหละนะครับ คุยกันเสียงดัง หรือทำงานกันไม่ค่อยจะมีความรับผิดชอบ หรืออาจจะมีความไม่ตั้งอกตั้งใจ หรือว่ามีการทำงานผิดอะไรซ้ำ อะไรแบบนี้เนี่ยนะครับ

ช่วงเวลาที่เราจะมีเวลาว่ากล่าวตักเตือนเค้าได้เนี่ย ถ้าหากว่าเสียงของเรามีลักษณะเป็นเสียงของการปราม แบบปราณี เค้าจะค่อยๆเชื่อว่า เสียงนี้เป็นเสียงของธรรมะ และจากนั้นเนี่ย ก็จะมีความรู้สึกเชื่อมโยงเป็นส่วนตัวนะครับ นอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ของเราที่จะถ่ายทอดวิชาความรู้เกี่ยวกับเรื่องไอทีไปเนี่ย มันยังมีความสัมพันธ์ส่วนตัวที่เค้าจะเชื่อฟังเราได้

และเรื่องของศีล ๕ เนี่ย พูดก็พูดเนี่ยนะครับ คือถ้าจะเอากันจริงๆเนี่ยนะครับ มันคงจะต้องพูดกันแบบตัวต่อตัวอะนะ พูดในลักษณะที่เราตอบคำถามเค้ามากกว่าที่จะยัดเยียดความรู้ หรือว่าความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องศีล ๕ ให้

เพราะอะไร? เพราะว่าคนเนี่ย ไม่ต้องการที่จะห้ามใจตัวเอง จำไว้เลยนะ คนในโลกไม่ต้องการที่จะห้ามใจตัวเอง มีแต่อยากจะตามใจตัวเองกันทั้งนั้น

เราต้องพูดกันเป็นคนๆว่า ปัญหาเค้าเนี่ยมีอะไรบ้าง เราต้องสร้างความสัมพันธ์กันเป็นส่วนตัวกับเค้านะครับว่า เค้ามีอะไรอยากปรึกษาเรา แล้วก็เข้ามาหาเรา เราพูดกันเป็นคนๆว่า จะแก้ปัญหาอย่างนี้จะออกจากปัญหาอย่างนี้ด้วยการควบคุมตัวเองอย่างไรบ้าง ถ้าห้ามใจแล้วที่สุดได้ความสบายใจ มันดีกว่าตามใจตัวเองแล้วทุกข์ใจในภายหลัง เปรียบเทียบกันแล้วเนี่ยนะครับ ถ้าหากเราสามารถทำให้เค้ารู้สึกว่าเห็นตามจริงได้เนี่ย คล้อยตามเราได้เนี่ย นี่แหละ ตรงนี้แหละ คือการประสบความสำเร็จ

อย่าเพิ่งคาดหวังเลยว่า จะไปยืนหน้าชั้นแล้วพูดเรื่องศีล ๕ เนี่ย ถ้าเรายืนหน้าชั้นนะครับเนี่ย วิธีหรือสิ่งเดียวที่เราจะทำได้ก็คือ แผ่กระแสความเย็นไปให้กับนักศึกษานะครับ



๒) หลับตาทำสมาธิแล้วเห็นแสงสี ลองกำหนดเป็นสีอื่นได้ด้วย ถือเป็นนิมิตไหม?

(ถาม – นั่งหลับตา ทำสมาธิ บนรถ แล้วเห็นแสงสีเขียว กำหนดให้เป็นแดง แล้วแดง กำหนดให้เป็นขาว แล้วขาว อันนี้เป็นนิมิตหรือเปล่า?)

เป็นนิมิตครับ ไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่นะครับที่เราเห็นขึ้นมาในขณะหลับตาเนี่ย ล้วนแล้วแต่เป็นนิมิตทางจิต ที่จิตเกิดการปรุงแต่งที่ทางจิตขึ้นมาทั้งสิ้น ไม่ว่าเราจะเห็นอะไรขึ้นมานะครับ เราเห็นจริงๆทั้งหมด อย่าไปเข้าใจว่าในอันนั้นเป็นแค่ของหลอกนะครับ มันเป็นการปรุงแต่งทางจิตจริงๆ

ซึ่งมีประโยชน์นะครับ ถ้าหากว่าเรารู้หลักการที่จะมองมันตามพระพุทธเจ้าเนี่ยนะครับ ท่านตรัสไว้เลยว่า อะไรก็แล้วแต่ที่ปรากฏขึ้นทางสมาธิ ล้วนแล้วแต่เป็นนิมิตที่เราควรกำหนด ‘รู้’ ว่ามันเป็น ‘ของไม่เที่ยง’ มันเป็น ‘ของปรุงแต่ง’ ขึ้น

‘ปรุงแต่ง’ หมายความว่ายังไง? หมายความว่า ‘มีเจตนานำขึ้นมา แล้วเกิดอาการทางใจ’ นะครับ เห็นเป็นนั้นเป็นนี่ หรือว่ารู้สึกไปอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็เป็นของชั่วคราว เหมือนกับหมอกควัน ที่ปรากฏขึ้นมาจริงๆเป็นกลุ่มเป็นก้อน แล้วก็สลายตัวไปอย่างรวดเร็ว แต่อันนี้มันสลายตัวไปเร็วหรือช้า ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการหน่วงนึกอยู่ในใจนะครับ

ถ้าหากว่าเรียกเป็น ‘กสิณ’ จริงๆ ก็ต้องมีการเจตนาที่จะทำให้มันเป็นแดงเป็นขาวนะครับ อย่างที่คุณทำนี่แหละ แล้วก็สามารถหน่วงนึกให้มันมีความตั้งมั่น มีความคงเส้นคงวาได้นานขึ้นมาระยะหนึ่งนะครับ อาจจะ ๑๐ วินาที อาจจะ ๓๐ วินาที แล้วมันค่อยๆเคลื่อนตัวไป หายไป เวลาที่เราสามารถที่จะหน่วงนึกไว้ได้สักระยะหนึ่งสักครู่นึง อย่าดีใจ ให้มองเห็นว่านี่คือการปรุงแต่งทางใจ มีเจตนาหน่วงนึก แล้วใจเนี่ยทำตัวเป็นจอภาพนะครับ ก่อให้เกิดภาพวงกลมขึ้นมามีเป็นสีนั้นสีนี้ เสร็จแล้วมันค่อยๆสลายหายตัวไป นี่แสดง ‘ความไม่เที่ยง’

ถ้าหากว่าเราเห็นอยู่ รู้อยู่ว่ามีการปรุงแต่งขึ้นมา แล้วมีการสลายตัวไป นี่เรียกว่า เป็นการฝึกกสิณแบบที่พระพุทธเจ้าตรัสแนะนำไว้เลย

เวลาพระพุทธเจ้าไปเจอพวกพราหมณ์ หรือว่าพวกเล่นสมาธิ พวกที่สามารถจะเดินฌานสมาบัติได้ถึงระดับที่เรียกว่าเป็น ‘อรูปฌาน’ เนี่ยนะครับ พระพุทธเจ้าให้พิจารณาง่ายๆเลย ซึ่งทำให้พวกเค้าสามารถบรรลุธรรมกันได้ง่ายๆนะครับ ก็คือ ให้เห็นว่า ณ ขณะที่มีฌานเกิดขึ้นเป็น ‘อรูปฌาน’ หรือว่า ‘ฌาน’ ก็แล้วแต่ ท่านให้มองว่าเป็น ‘การปรุงแต่งของจิต’ ประกอบด้วยองค์ต่างๆนะ อย่างเช่น วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา นะครับ หรือถ้าเป็นอรูปฌาน ท่านก็ให้เห็นว่า นี่เห็นมั้ยว่า เนี่ย มันเป็นโพรงว่างเท่าจักรวาล หรือว่ามีอาการรู้แผ่กว้างไปเท่าจักรวาลแบบนี้เนี่ย มันเป็นการปรุงแต่งขึ้นชั่วคราว มันเป็นของปรุงแต่ง มันไม่ได้มีตัวตนอยู่ ท่านตรัสเทศน์ให้กับคนที่สามารถทำได้นะครับ พราหมณ์ฟังเนี่ย บรรลุธรรมเลย เกิดความเข้าใจ เกิดความเห็นแจ้งเลยว่า เออ! มันไม่ใช่ตัวเราจริงๆ มันไม่ใช่จิตของเราจริงๆ มันเป็นแค่สภาวะทางจิตชั่วคราว ถูกปรุงแต่งขึ้นมาชั่วคราว ไม่ได้มีความน่ายึดมั่นถือมั่นว่ามีอัตตา มีตัวตนซ่อนอยู่ตรงไหนแฝงอยู่ตรงไหน ไม่ได้มีเงาอัตตา พอเห็นนะครับ พอเห็นแจ้งว่าไม่มีเงาอัตตาแฝงอยู่ในจิตแบบไหนๆ หรือว่าสมาธิแบบใดๆนี่แหละ ตรงนี้แหละ ก็เกิดความหนักแน่น รวมลงสู่ความเป็นฌานอีกแบบคือ ‘สัมมาสมาธิ’ เป็น ‘พุทธิปัญญา’ เป็น ‘พุทธิสมาธิ’ นะครับ ทำให้เกิดการเห็นว่านอกเหนือจาก ‘การปรุงแต่งของจิต’ ยังมี ‘การไม่มีปรุงแต่งอะไรเลย’ นั้นคือ ‘นิพพาน’ นี่! ตรงนี้ก็คือการได้บรรลุมรรคผลขั้นแรกนะครับได้เป็น ‘พระโสดาบัน’



๓) คุณดังตฤณมีหลักการในการรับข่าวสารทางโลกอย่างไร?

(ถาม – พี่ดังตฤณมีหลักการในการรับข้อมูลข่าวสารในโลกอย่างไร? ขอถามนอกเรื่องหน่อยนะคะ)

ไม่ใช่นอกเรื่องน้า เล่าสู่กันฟังก็แล้วกัน ผมก็ยังอ่านข่าว ข่าวออนไลน์เนี่ยแหละ ส่วนใหญ่นะครับ เดี๋ยวนี้ไม่ได้พึ่งพาข่าวสารที่มาจากกระดาษเลย ก็มาจากออนไลน์นะครับ

ข่าวออนไลน์ก็มีทั้งสำนักข่าวมาตรฐาน แล้วก็สำนักข่าวที่ไม่เป็นทางการนั่นก็คือ ข่าวสารจากชาวทวิตเตอร์ (Twitter) บ้าง จากชาวเฟสบุ๊ค (Facebook) บ้าง แล้วก็นอกจากนั้นก็ยังมีเรื่องของอีเมล (E-mail) ส่งเข้ามา เล่าอะไรต่ออะไรให้ฟังนะครับ เออ! บางที่ก็ (หัวเราะ) บางทีก็… ผมมีความรู้สึกเหมือนกับว่า บางทีนะอ่านเมลของบางคนที่ส่งมาเล่าเรื่องราวในวงการที่ตัวเองได้คลุกคลีอยู่เนี่ยคือ มันอ่านเพลินกว่า (หัวเราะ) อ่านเพลินกว่าคนที่มานั่งเขียนข่าวกันเป็นสำนักข่าวใหญ่อะไรเยอะกว่าเลย

บางทีเนี่ยคือว่าเราโตๆกันมาในสังคมแบบนี้เนี่ย จริงๆแล้วทุกคนรู้หมดแหละว่า ข่าวสารทางหน้าหนังสือพิมพ์ หรือว่าทางหน้าเว็บออนไลน์นะครับ ที่เป็นสำนักข่าวใหญ่ๆเนี่ย เค้าก็มีความรู้จำกัดน่ะแหละ เค้าก็เป็นนักข่าวอะนะ ก็มีเวลาที่จะไปศึกษาหาข้อมูลหรือว่าไปคุยกับแหล่งข่าวเนี่ยได้แค่ชั่วประเดี๋ยวประด๋าว ไม่เหมือนคนที่อยู่วงในที่อยู่ตรงนั้นมาเป็นสิบๆปี แล้วก็รู้เห็นอะไรหมดว่าอะไรเป็นตื้นลึกหนาบางอะไรเป็นอย่างไรน่ะนะครับ

อย่างข่าวสารด้านการเมืองอะไรเนี่ยนะครับ ผมไม่ค่อยอ่านเท่าไหร่หรอก จริงๆแล้วไม่ใช่รังเกียจเดียดฉันท์อะไรหรอกนะครับ แต่แค่ว่าก็รู้ว่าข่าวสารการเมืองในยุคปัจจุบันนี้ยุคไอทีเนี่ย เป็นเรื่องของการปรุงแต่งไปตามอำนาจการเข้าข้างข้างใดข้างหนึ่ง หรือไม่ก็มีการปรุงแต่งให้อยากเป็นอย่างแบบใดอย่างแบบหนึ่ง ไม่ใช่ข้อเท็จจริง ไม่ใช่ข้อมูลสิ่งที่เราเรียกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนี่ยตรงนี้มันก็เลยเป็นจุดที่… นะครับ การบริโภคข่าวสารในปัจจุบันเนี่ย ผมก็ปรับไปตามอำนาจไอ้ที่มันล้นเหลือของอินเตอร์เน็ตเนี่ยนะ ที่มันให้สิ่งที่เราต้องการจริงๆน่ะ เราต้องการความจริง!

ทีนี้ถ้าพูดถึงเรื่องการเสพข่าวสารกันในทางปฏิกิริยาทางใจนะครับ ผมเสพด้วยการรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นเพื่อไม่ให้ตกยุค ก็ทุกวันนี้ก็ยังต้องทำงานอยู่กับคนร่วมสมัยอยู่ ยังไม่ใช่คนที่สามารถปลีกวิเวกอยู่คนเดียวหลังดอยได้อะนะครับ จำเป็นต้องรับรู้ข่าวสาร แต่ว่ารับรู้ข่าวสารสักแต่ว่าเพื่อจะเอามาคุยกับคนอื่นให้รู้เรื่อง สื่อสารกับคนอื่นให้เข้าใจ แล้วก็บางทีใช้ประโยชน์ในเรื่องว่าจะเตรียมตัวอย่างไรนะครับ

ตอนนี้ จริงๆก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่มันเกิดขึ้นในโลกนี้ หลายสิ่งหลายอย่างที่มันเกิดในบ้านเมือง เราที่นี่น่าจะเจริญสติให้ก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไปเพื่อเตรียมตัวเตรียมใจนะครับ รับการเปลี่ยนแปลง เนี่ย! ครับ ตรงนี้เป็นวิธีการเสพข่าวสารของผมนะครับ คือเสพไปเพื่อที่จะได้เตรียมตัวถูก ได้เตรียมเจริญสติเพื่อที่ว่า เราจะต้องเจริญสติเพื่อเห็นอะไรบ้าง ไม่ใช่ว่าจะพร้อมตายอย่างเดียวนะครับ บางทีเราต้องพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงหลายๆสิ่งหลายๆอย่างที่มันเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือการที่เราจะไปขัดขวาง หรือว่าอยู่นอกเหนือจากการที่เราจะไปสั่งให้เป็นไปอย่างใจเนี่ยนะครับ สิ่งเหล่านั้นจะปรากฏเป็นสัญลักษณ์ของ ‘อนัตตา’ ที่ชัดเจนได้

ถ้าหากเรารู้จักวิธีที่จะพิจารณา พิจารณาอย่างไร? พิจาณาว่า นั่นเป็นของภายนอก ควบคุมไม่ได้ นั่นเป็นของภายนอกที่จะต้องเปลี่ยนแปลง ไปบังคับบัญชาให้มีความเที่ยง มีความแน่นอนตลอดไป มันไม่ได้นะครับ ถ้าหากเราฝึกเห็นอยู่อย่างนี้ เตรียมใจไว้ก่อนล่วงหน้า แล้วมันเกิดขึ้นจริงๆ เราจะไม่รู้สึกยินดียินร้ายกับมันมาก แต่ถ้าหากว่าเราไม่เตรียมใจอะไรไว้เลย คาดหวังอยู่ในใจว่ามันจะเป็นไปอย่างนี้เรื่อยๆ จริงๆนะคือถ้าเราไม่เตรียมใจเอาไว้เลยนะ มันจะมีอัตโนมัติอย่างหนึ่งของใจปรุงแต่งขึ้นมาว่ามันจะเป็นไปอย่างนี้เรื่อยๆ ถ้าดีอยู่แล้วนะครับ มันก็จะต้องดีอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ แต่ถ้าไม่ดี เราจะคาดหมายว่าวันนึงมันจะดีขึ้น นี่! ความคาดหมายมันเป็นแบบนี้ ซึ่งบางทีมันก็อาจจะตรงกับความจริง แต่หลายๆครั้งมันไม่ตรงกับสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นนะครับ

อันนี้ก็ถือว่าเล่าสู่กันฟัง ไม่ใช่คำเตือน หรือว่าวิธีเตือนภัยพิบัติอะไรทั้งสิ้นนะครับ มันเป็นสิ่งที่ถามมาว่าผมเสพข่าวสารข้อมูลในโลกอย่างไร เนี่ยนี่ก็จะเอาตามอย่างแนวนี้แหละ

นอกจากนี้ก็จะมีเรื่องแบบทั่วไปด้วยนะ เรื่องโลกๆ ตัวผมเป็นคนชอบไอที เพราะว่าตัวผมเรียนเกี่ยวกับเรื่องของไอทีมานะครับ ก็ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวทั่วไปแหละนะครับ พวกแกดเจ็ต (gadget) ทั่วไปแหละนะ ก็ชอบดูเหมือนกันว่าโลกเค้าไปถึงไหนกันแล้ว ก็จะได้เอามาใช้ประโยชน์ทั้งในเรื่องของการงาน ทั้งในเรื่องของส่วนตัวนะครับ



๔) ถ้าเราเห็นขันธ์ ๕ ทำงานอยู่ แล้วเห็นว่าไม่มีเราตรงนั้น แต่ยังไม่แจ้งในไตรลักษณ์ ควรทำอย่างไรต่อ?

อย่าถามว่าควรจะทำอย่างไรนะครับ ให้ถามว่า ‘เรามีความอยากที่เกินพอดี หรือเปล่า?

ถ้าหากว่าเห็นขันธ์ ๕ ทำงานอยู่ เห็นว่าไตรลักษณ์บางส่วนทำงานอยู่ปรากฏขึ้นมาแล้วในขันธ์ ๕ นะครับ อย่างไรก็ตามเนี่ย ถ้าเราเห็นขันธ์ ๕ ต้องเห็นไตรลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่งแหละ ถ้าไม่ใช่ความเป็น ‘อนิจจัง’ ก็ต้องเห็นความเป็น ‘อนัตตา’ เพราะว่าตัวขันธ์ ๕ เองเนี่ย โดยสาระ โดยแก่นแท้แล้วเนี่ยนะครับก็คือ การแสดงตัวของ ‘อนัตตา’ นั่นเองนะครับ อนัตตาที่แสดงความไม่เที่ยงอยู่

พระพุทธเจ้าตรัสไว้นะครับ เราเจริญสติเพื่อเห็นขันธ์ ๕ นะครับ ดูไปแล้วได้อะไร? ได้ ‘อนิจสัญญา’ นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสท่านไว้ เราเจริญสติไปเพื่อเห็นการทำงานของ ‘อายตนะ’ ไปเพื่ออะไร? เพื่อได้ ‘อนัตตสัญญา’ นะครับ นี่ก็เป็นเรื่องของการรู้จักขันธ์จริงๆ

ถ้ารู้จัก ‘ขันธ์ ๕’ จริงๆเนี่ย ถามตัวเองว่ารู้จริงแค่ไหนเนี่ย ดูตรงที่ว่าเรารู้สึกว่า ‘เห็นความไม่เที่ยงของกายในรึเปล่า?’ นี่เรียกว่าเป็นตัวเป้าหมายที่ใช้วัดได้เลย

หรือถ้าหากว่าเรารู้สึกว่านี่เป็น ‘อนัตตา’ นั่นก็เพราะว่าเห็นการทำงานของ ‘อายตนะ’

‘ตา’ ไปประจวบ ‘รูป’ แล้วเกิด อาการการร้อยรัด เกิดราคะนะครับ หรือว่า
‘ตา’ ไปประจวบ ‘รูป’ แล้วเกิดโทสะ เกิดความเร่าร้อน เกิดความรุ่มร้อนขึ้นมา

นี่! ตัวตรงนี้ ถ้าหากว่าสามารถเห็นขึ้นมาว่า มีการกระทบ แล้วมีปฏิกิริยาทางใจได้ ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่านั่นเป็นตัวเรา มีแต่ไฟเกิดขึ้น แล้วหายไป ตาม เหตุปัจจัย นี่แหละถึงเรียกว่าการเห็นที่แท้จริง

อย่าไปสำคัญมั่นหมายว่า เราจะต้องเห็นให้ลึกซึ้ง เราจะต้องได้บรรลุธรรมให้ได้เดี๋ยวนั้นนะ

‘สะสมไปเรื่อยๆ’ นี่คืออาการที่ถูกต้อง


เอาล่ะครับวันนี้ ต้องขอลาไปแต่เพียงเท่านี้ก่อนนะครับ ราตรีสวัสดิ์ ผมเคยชิน ก็ต้องล่ำลากัน ณ เวลานี้นะครับ ขอให้มีการปฏิบัติธรรมให้เจริญยิ่งๆขึ้นไปครับ


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น