วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๓๓ / วันที่ ๔ เม.ย. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันพุธที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงเศษ ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง เช่นเคยครับวันนี้เราใช้เฟสบุ๊คคุยกัน และเพื่อที่จะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการนะครับให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/HowfarBooks



๑) เป็นคนดื้อมาก แม้สมองเข้าใจธรรมะครูบาอาจารย์ แต่จิตก็ยังไม่เชื่อฟัง จะทำอย่างไรดี?

ปัจจุบันนี้ คุณก็อยู่บนเส้นทางของคนที่พัฒนาตัวเอง แล้วก็พร้อมที่จะดื้อน้อยลงแล้ว เพราะว่าคำถามนี้บอกอยู่ในตัวของมันเองหลายประการคือ คุณมีใจที่อยากจะดื้อน้อยลง รู้ว่าคำสอนของครูบาอาจารย์ดี รู้ว่าใจของตัวเองดื้อแพ่งแข็งขืนไม่ยอม ขอให้ทราบว่าคำถามที่ตั้งใจถามนี้ก็เพราะว่าอยากที่จะพัฒนาตัวเอง อยากที่จะหัวอ่อนว่าง่าย หมายถึงว่าง่ายในทางธรรม ว่าง่ายในทางที่จะสว่างขึ้น และหัวอ่อนให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หัวอ่อนให้กับครูบาอาจารย์ที่เราเคารพรัก มันเป็นเส้นทางของคนที่กำลังจะดื้อน้อยลงอยู่แล้ว ไม่ต้องเป็นห่วง

ที่ผมบอกว่าเป็นเส้นทางของคนที่กำลังจะดื้อน้อยลง เพราะว่าการที่คนๆหนึ่งที่มีความดื้อมากๆมีความรั้นมากๆ ไม่มีทางเลยที่จะใช้อุบายใดอุบายหนึ่ง หรือว่าใช้คำ ใช้โวหาร ใช้อะไรที่มันเป็นของแหลมทิ่ม โพละเดียวแตก อาการดื้อรั้นมันไม่ใช่สิ่งที่จะอ่อนลงได้จากเหตุปัจจัยภายนอก แต่ว่าจะต้องอ่อนกำลังลง ละลายลงด้วยความมีปัญญาจากภายในเท่านั้น และปัจจุบันนี้ ปัญญาที่ว่ามันเกิดขึ้นแล้ว ก็คือมีความต้องการที่จะดื้อน้อยลงไม่ใช่สิ่งที่มันจะเกิดขึ้นเองได้ลอยๆ ไม่ใช่สิ่งที่มันเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ แต่ต้องมีเหตุปัจจัย ผลักดันให้เห็นทุกข์เห็นโทษจากความดื้อรั้น

หลายครั้งที่ผ่านมาเราอาจจะเห็นโทษของอาการดื้อรั้น ของอาการไม่ฟังครูบาอาจารย์ หรือว่าไม่ยอมก้มหัวให้ใครๆมาบ้างแล้ว และก็ความทุกข์มันได้สอนเราว่า ดื้อไปไม่มีประโยชน์อะไรเลย แต่ตัวใจที่มันถูกปรุงแต่งด้วยนิสัย หรือความเคยชินที่จะรั้น ที่จะตั้งกำแพงขวางความเจริญให้กับตัวเองมันยังอยู่ เหมือนกับคนที่รู้แล้วแหละว่าตัวเองถูกขังคุก เหมือนกับคนๆหนึ่งที่เริ่มตาสว่าง เห็นแล้วแหละว่าตัวเองอยู่ในที่มืด แต่ว่าความมืดมันยังไม่หายไป เพราะว่าแสงสว่างมันยังเข้ามาไม่พอ หรือว่าเราเห็นอยู่แล้วแหละว่ากำแพงมันกั้นเราจากโลกภายนอกที่มันสว่างกว่านี้ ที่มันดีกว่านี้ ที่มันมีความเจริญมากกว่านี้ แต่เรายังไม่มีกำลังมากพอที่จะปีนออกไป อย่างไรก็ตาม เราคิดไว้แล้วว่าเดี๋ยวจะปีนออกไป หรือจะต้องทำลายกำแพงให้ได้

วิธีที่จะทำลายกำแพงความดื้อง่ายๆที่สุดเลย พอเรามีความต้องการที่อ่อนลงแล้ว ทุกครั้งที่เกิดความดื้อ เราเห็นให้ชัดเลยว่ามันจะมีกำแพงอัตตา กำแพงทิฐิมานะ ความรู้สึกไม่อยากก้มให้ใคร ไม่อยากอ่อนให้ใครปรากฏขึ้นในใจ มันจะเหมือนกับมีอาการตั้งท่า มีอาการแบบที่งูมันชูคอขึ้นฟ่อๆ คือชูขึ้นไว้ก่อนโดยอัตโนมัติด้วยนิสัย ด้วยความเคยชินที่สั่งสมมาว่า อะไรเข้ามาใกล้จะต้องระแวงภัยไว้ก่อน หรือว่าจะต้องป้องกันตัวไว้ก่อน อันนี้ก็เหมือนกัน

ความดื้อนี่นะ คนเราพอมันเคยแผลงฤทธิ์ เคยมีความรู้สึกว่าตัวเองไม่ต้องไปฟังใคร จะเอาอะไรต้องเอาอย่างใจให้ได้ แล้วก็ได้อย่างใจมาโดยตลอดแบบนี้ มันกลายเป็นความรู้สึกที่เหมือนกับตัวเรามีความเป็นใหญ่ เพื่อที่ตัวจะเล็กลงจำเป็นที่ชีวิตจะต้องเคยกดดันเรามา ผ่านความทุกข์ ผ่านความเดือดเนื้อร้อนใจอะไรก็แล้วแต่ แล้วมาเจอธรรมะ รู้สึกว่าธรรมะเป็นของที่ดีกว่าตัวเดิมของเรา ธรรมะเป็นอะไรที่ใหญ่กว่าชีวิตของเรา ธรรมะเป็นอะไรที่สว่างกว่าห้องมืดที่เราเคยอยู่มา ตัวนี้แหละที่มันจะทำให้ทุกครั้งที่เรารู้สึกตัวว่าดื้อขึ้นมา เห็นเลยว่าอันนี้เป็นของเก่าที่มันไม่ดี และสติที่มันเกิดขึ้น ณ เวลานั้นมันจะทำให้เกิดการเปรียบเทียบว่า ถ้าอ่อนลงมันจะดีขึ้น

ถ้าหากว่าเราค้อมศีรษะลงศิโรราบ จิตวิญญาณเราจะเชิดสูงขึ้น เหมือนกับความรู้สึกตอนที่เรากราบพระปฏิมา ตอนที่เรามีความรู้สึกว่าเป็นสุขที่สุด ก็คือตอนที่เรากราบด้วยอาการอ่อนน้อมจริงๆ ถ้านึกไม่ออกว่าอาการกราบพระปฏิมามีความสุขอย่างไร ก็ขอให้ลองซ้อมดูด้วยความตั้งใจไว้ล่วงหน้าว่า ตื่นเช้ามาให้ไปที่หน้าหิ้งพระ แล้วก็กราบลงด้วยอาการอ่อนโยนที่สุด ด้วยอาการนอบน้อมที่สุด แล้วจำไว้ว่าตอนที่ศีรษะของเรา หน้าผากของเราลงไปแนบจรดพื้น ความรู้สึกในอัตตามานะตรงนั้นมันหายไป กลับกลายเป็นความรู้สึกเบ่งบานที่มีความสุข ที่เราได้กำจัดอัตตาออกไปแทนที่ขึ้นมา เหมือนกับพอตัวตนมันเหลือศูนย์ มันเล็กลง ใจมันก็เกิดความยิ่งใหญ่จากความอ่อนน้อม จากความเยือกเย็นที่ได้ก้มศีรษะลงศิโรราบให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์

อาการเดียวกันนั้น ถ้าเรารู้สึกว่ามันดี มันมีความสุข มันเยี่ยม มันวิเศษกว่าความดื้อ มันวิเศษกว่าความรั้นที่ผ่านมา ก็ให้จดจำไว้ว่า ถ้าเมื่อใดเราดื้อรั้นกับธรรมะ เมื่อใดรู้ทั้งรู้ด้วยความคิดว่า อันนี้ฟังแล้วจะดีขึ้น รับแล้วจะมีแต่ความเจริญ มีความสุข มีความรุ่งเรือง แล้วมันยังมีอาการแข็งขืนอยู่ ก็ให้นึกถึงตอนที่เรากราบพระปฏิมา ถ้ากราบทุกเช้าได้จะยิ่งดี เพราะว่ามันมีเครื่องเตือนความจำ ตื่นเช้ามาพอกราบแล้ว มันได้ตัวอย่างของจิตที่อ่อนน้อมที่สุดในชีวิตแล้วสำหรับวันนั้น พอระหว่างวันที่เหลือ ถ้าหากว่าเราจะต้องมีอันไปดื้อดึง หรือว่าอย่างตอนนั่งรถไปทำงานตอนเช้า อาจจะฟังธรรมะไปด้วย แล้วเกิดจิตที่มันมีความดื้อแพ่งขึ้นมาอีก เราก็นึกถึงตัวอย่างตอนเช้าที่เราได้กราบพระปฏิมาจนอัตตามานะมันเหลือศูนย์ไว้แล้วเป็นตัวอย่าง

ตรงนี้ก็จะค่อยๆพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ ขึ้นต้นขึ้นมาเรามีความปรารถนาที่จะเลิกดื้อแพ่งอย่างไร้สาระ จะสวนทางกับของเก่าของเราแล้ว อันที่สองคือเรารู้จักสังเกตอาการดื้อๆอาการแข็งๆของจิต ณ เวลาที่เกิดขึ้น มันเหมือนกำแพง มันเหมือนความมืด มันเหมือนอะไรที่กั้นเราไว้จากความสุข ความเจริญ ความสว่าง และอันที่สามคือเราสร้างตัวอย่างขึ้นมาชัดๆเลยในแต่ละวัน ตอนเช้าช่วงเรายังไม่ตั้งท่าดื้อกับใครนั่นแหละ เอาตัวอย่างเป็นความอ่อนน้อม เป็นความอ่อนโยนที่สุดในชีวิตไว้เป็นทุน แล้วก็ใช้ทุนนั้นต่อยอดไปในระหว่างวัน



๒) มีคนรักแต่ละคน อายุน้อยกว่าทุกครั้ง แล้วก็มักจะโกหก เอาเปรียบ และนอกใจ ทำอย่างไรให้พ้นกรรมนี้ไปได้? ทำอย่างไรให้พบความรักที่ดี?

คำถามนี้มันข้ามรายละเอียดไปนิดหนึ่ง แต่ขอให้สังเกตดูก็แล้วกันว่า ก่อนที่เราจะมีคนรักได้ เราต้องมีความพอใจก่อน คือไม่ใช่ขึ้นต้นมาเราเห็นว่าอายุน้อย เราเล็งไว้เราจะชอบคนๆนี้ มันเป็นไปไม่ได้ แต่ว่ามันมีความชอบใจนำหน้าขึ้นมา เราไปเจอคนๆหนึ่งแล้วเกิดความรู้สึกชอบขึ้นมา แล้วค่อยรู้ว่าเขาอายุน้อยกว่า หรือโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว คบๆกันไป รู้แล้วแหละว่าอายุน้อยกว่า น้องคนนี้เขาน่ารักดี แล้วรู้สึกถูกใจขึ้นเรื่อยๆ เด็กก็มาชอบเรา ส่วนเราก็มีใจยินดีไปด้วย ตอนนั้นเราไม่ได้คำนึงว่าอายุเท่าใด หรือว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร มันเกิดขึ้น ณ เวลาที่ชอบใจ

ถามว่าความชอบใจนั้นมันมาจากไหน? ถ้าเอาที่ไล่ไปจากความรู้สึกที่มันตามได้ง่ายก่อน คืออย่าไปพูดถึงเรื่องของอดีตชาติ หรือบุพเพสันนิวาสที่เราระลึกไม่ได้ แต่เอาตรงเงาทางความรู้สึกที่มันสามารถที่จะมองเห็นว่า การที่เราพอใจคนที่อ่อนกว่า มันมีความรู้สึกอะไรอยู่เบื้องหลัง มันมีความรู้สึกว่าเขาปลอดภัยกว่า เขาให้ความนับถือเรามากกว่า หรือว่าให้เกียรติเรามากกว่า เราอาจจะมีความชอบใจในเรื่องตรงนั้นก่อนเป็นอันดับแรก เพราะว่าเจอคนที่อายุมากแล้วรู้สึกว่าโดนข่ม เราไม่ชอบ เรารู้สึกว่าอยากจะอยู่เหนือกว่านิดๆ ขึ้นต้นมาก็มีการให้เกียรติกัน มีการเรียกพี่เรียกเชื้อให้เรารู้สึกว่ามันมีความต่าง และเราเป็นฝ่ายที่เหนือกว่าอยู่นิดหนึ่ง หรือจะมีเหตุผลอื่นใดก็ตามที่ทำให้เราเกิดรู้สึกว่า การอยู่กับคนที่มีอายุน้อยกว่ามันปลอดภัยสำหรับเรา มันเป็นความรู้สึกดีสำหรับเรา

ปกติผู้หญิงจะชอบผู้ชายที่อายุมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นผู้ใหญ่กว่าได้ ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีความอบอุ่น มีความปลอดภัย มีความมั่นคงได้ จะชอบที่สุดเลย นี่พูดถึงธรรมชาติธรรมดาทางนิสัย ทางความรู้สึกของผู้หญิงนะ แต่ถ้าหากว่ามันกลับไปเป็นตรงกันข้าม คือเราอยากจะได้คนที่อายุน้อยกว่า และก็รู้ทั้งรู้ว่าไม่มีความมั่นคง เขาต่างวัยกับเรา เดี๋ยวเขาก็ไปชอบผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า หรืออย่างน้อยที่สุดก็อายุไล่เลี่ยกัน ในที่สุดก็จากเราไป รู้ทั้งรู้ แต่ทำไมใจเรายังถึงแกว่งไปหาคนที่อ่อนกว่าได้

ตรงนี้แหละที่เป็นปม เป็นปัจจัยที่เราสามารถอนุมานเอาว่า กรรมเก่าของเรามาประมาณไหน เราอาจจะเคยสร้างความชอบใจ ลองนึกถึงการที่เราอยู่กับใครแล้วเราเหนือกว่า หรือว่าอยู่กับใครแล้วยอมใครไม่ได้ที่จะไม่ให้เกียรติ ไม่มองเราด้วยความเคารพนับถืออะไรแบบนั้น มันไม่จำเป็นต้องเป็นกรรมบาปอะไรที่ร้ายแรง หรือว่าอดีตชาติเคยไปทำร้ายจิตใจใครเขาไว้ มันไม่ต้องถึงขนาดนั้น แต่มันอาจจะเป็นเรื่องของความชอบใจ ในขั้นพื้นฐานที่เราเกิดความรู้สึก อาจจะมาจากคนใกล้ตัวหรือปมในวัยเด็กอะไรก็แล้วแต่ เราไม่ต้องไปพูดถึง เรามาพูดถึงตรงนี้ดีกว่าว่า ทำไมเราถึงต้องมาอยู่กับคนที่พร้อมจะนอกใจเราด้วย

อันนี้ฟังดีๆนะ ไม่ได้พูดว่าจะเกิดขึ้นเสมอไป แต่โดยแนวโน้มแล้ว ถ้าผู้ชายอายุน้อยกว่า โอกาสที่เขาจะเบื่อเรา หรือหาคนรุ่นเดียวกัน หรือผู้หญิงที่อ่อนกว่า มันค่อนข้างมีความเป็นไปได้สูง ตรงนี้มันก็อาจจะเป็นแรงดันของของเก่าที่บังคับ หรือบีบให้เราต้องมาชอบใจคนที่พร้อมจะทิ้งเราไป หรือพร้อมจะรู้สึกว่า อยู่ไปเรื่อยๆแล้วมันยิ่งเห็นความห่าง มันยิ่งเห็นความแตกต่าง มันยิ่งรู้สึกว่าเหมือนอยู่กับพี่สาว เหมือนอยู่กับคนที่แก่กว่าอะไรแบบนั้น แล้วเขาก็แหนงหน่ายไป

ก็มองอย่างนี้ก็แล้วกัน ถ้าที่ผ่านมามันผ่านไปแล้วก็แล้วไปเถอะ แต่ต่อไปเราก็ตั้งใจว่าการที่เราจะพร้อมที่จะทำตัวเป็นอื่น หรือว่าไปนอกใจกับคนที่ตัวเองรัก มันจะไม่เกิดขึ้นกับตัวเรา สมมติว่าในอดีตเราเคยทำให้ใครเขารู้สึกว่าตัวเราไม่แน่นอนสำหรับเขา และพร้อมที่จะเปลี่ยนใจได้ มันก็อาจจะมีแรงดัน มีแรงขับให้มาต้องชอบคนที่พร้อมจะทิ้งเราไป แต่ไม่ใช่ว่าทำกรรมนี้แล้วจะต้องมาเจอคนอายุน้อยกว่าเสมอไป อันนี้เราพูดถึงปมทางใจก่อน อันดับแรกขึ้นมาเราอาจจะต้องการความนับถือ แต่ถ้าพูดถึงกรรม ถ้าพูดถึงของเก่าก็อาจจะมีแรงดันให้เราต้องมาชอบคนที่พร้อมจะทิ้งเราไป

และวิธีแก้ก็คือ ต่อไปให้เราคิดว่าถ้ามีคนรัก ไม่ว่าจะอายุมากกว่า หรือน้อยกว่าก็ตาม เราจะมีความซื่อสัตย์ และทำตัวเองให้มีศักยภาพที่จะอยู่กับเขาได้ตลอดไป แต่ว่าการที่เราทำกรรมอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง และจะไปดึงดูดคนที่จะอยู่กับเราไปตลอดชีวิตมาหา มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ มันมีของเก่า มีปัจจัยเก่าต้องให้การสนับสนุนอยู่

อย่างเช่นว่า เราเคยอยู่กับใครมาสักคนจริงๆตลอดชีวิต และก็มาเกิดในชาติเดียวกัน ชาตินี้ด้วย มันมีปัจจัยซับซ้อน ไม่ใช่ว่าเราใช้อุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง เสร็จแล้วจะเจอเนื้อคู่อย่างรวดเร็วทันใจ ไม่ใช่ว่าเราอธิษฐาน หรือว่าไปทำบุญ หรือว่าทำอะไรก็แล้วแต่ การที่จะเจอเนื้อคู่นี่มันเป็นอะไรที่น่าเหนื่อยใจที่สุดแหละ มันเป็นเหมือนกับเราไม่สามารถไปเรียกร้องตัวเองในอดีต ไม่สามารถย้อนเวลากลับไปขอให้ตั้งใจมั่นอยู่กับใครสักคนหนึ่ง และก็อดทนอยู่กับเขาให้ได้ตลอดชีวิต แถมคนๆนั้นเขาต้องมีใจร่วมกับเราด้วย มีใจตรงกับเราด้วย และก็สามารถที่จะอยู่กันได้ตลอดรอดฝั่งจริง สร้างสมความผูกพันเหนียวแน่นมากันจริง จนกระทั่งชาตินี้ได้มาเจอกันอีก และก็ความเหนียวแน่นในครั้งหลังได้มาดลใจของทั้งคู่ ให้เกิดความรู้สึกอยากผูกไมตรีกันอีกตลอดชีวิต

แบบนี้นี่มันไปเรียกร้องเอาจากอดีตชาติไม่ได้ แต่มันสามารถที่จะตั้งใจได้ว่า ถ้าเรามีคู่เราจะไม่ทำให้เขาผิดหวัง เราจะทำตัวเป็นความมั่นคงให้เขารู้สึกอุ่นใจ ไม่ใช่พร้อมจะทิ้งเขาไป



๓) จะปฏิบัติตามรู้ตามดูความโกรธให้ถูกต้องได้อย่างไร?

ที่ผ่านมาโดยสิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือ คุณอาจพยายามที่จะดึงความรู้สึกกลับมาอยู่ที่กาย จะได้มีหลักตั้ง ซึ่งก็ใช้ได้ ไม่ใช่เรื่องที่ผิดพลาดอะไร จะให้เริ่มต้นขึ้นมาแล้วรู้สึกถึงความโกรธได้ เห็นความโกรธเป็นของไม่เที่ยงได้ มันไม่ใช่ของง่าย เอาอย่างนี้ ผมขอเล่าประสบการณ์ส่วนตัวที่ผ่านมาเลยก็แล้วกัน

อย่างช่วงแรกๆผมตามความโกรธไม่ทันหรอก แต่ผมตามความทุกข์อันเกิดจากความคิดได้ทัน ช่วงเริ่มต้นสนใจพุทธศาสนา ช่วงนั้นผมมีความยึดมั่นถือมั่นแรงมากๆ คือเป็นคนที่ขัดเคืองง่าย และกว่าที่จะคลายออกไป มันใช้เวลาเป็นชั่วโมง หรือว่าบางทีเป็นวันๆ จิตใจมันหดหู่ จิตใจมันเต็มไปด้วยความเก็บกดอาฆาต และคิดถึงเรื่องที่ใครทำให้เราไม่พอใจยืดยาว และก็ปรุงแต่งเก่งมาก เป็นคนที่เหมือนกับคิดได้เป็นตอนๆว่าเราจะไปเอาคืนได้อย่างไร

คือมันมีสองตัวอยู่ในคนเดียวกัน ใจหนึ่งมันมีความรู้สึกไม่อยากให้อภัย อยากเอาคืน แต่อีกใจหนึ่งมันไม่อยากมีเรื่อง มันอยากอยู่สงบๆ ต่อให้เป็นนักเลงโต คือถ้ารู้จักจริงๆเลย พวกที่แบบมีเรื่องกันเป็นประจำนี่ ลองไปถามใจลึกๆของเขาดูเถอะ เขาไม่อยากมีเรื่องหรอก มันเหนื่อย มันเปลืองเวลา มันเสียเวลา แต่เวลาโกรธขึ้นมา พอสั่งสมความวู่วามเข้าไปแล้วสักครั้งสองครั้ง มันอดไม่ได้ มันห้ามใจไม่อยู่ มันต้องไปมีเรื่องอีก เสร็จแล้วก็ต้องเหนื่อยแล้วๆเล่าๆ

การที่เราไม่สามารถจะห้ามใจได้ ไม่สามารถจะข่มใจได้แล้วก็ไปมีเรื่อง มันสอนเราได้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการไปมีเรื่องในระดับที่รุนแรง หรือว่าในระดับที่ปะทะกันทางวาจา หรือว่าสีหน้าจะต้องมาต่อตากัน ใครจะหลบก่อน หรือว่าใครจะหงอให้กับเสียงของอีกฝ่าย ของแบบนี้ถ้าเกิดขึ้นแล้วๆเล่าๆมันน่าเบื่อ มันมีความรู้สึกว่าทำอย่างไรเราถึงจะไม่ต้องมาเหนื่อยกับอะไรแบบนี้อีก

แต่ด้วยความที่คนเราต้องทำงาน ต้องเจอกับผู้คน ต้องคุยกับผู้คน ต้องขัดแย้งกับผู้คน มันก็เกิดขึ้นอีกเรื่อยๆก็เพราะว่าเรายังไม่มีเหตุผลมากพอที่จะระงับความโกรธ หรือว่าที่จะไม่ต้องไปมีเรื่องกับใครเขา คนเราถ้ายังไม่เห็นเหตุผลที่ชัดเจนว่า ทำอย่างไรจะไม่ต้องโกรธ ทำไมถึงจะยังต้องโกรธอยู่ มันก็จะตามเหตุผลดิบๆของใจ ของสัญชาตญาณไปว่า ถ้าขืนไม่เอาเรื่องเขา เดี๋ยวเขาจะได้ใจ เดี๋ยวมันจะเกิดขึ้นอีกและอีก คือเหตุผลตรงนี้ มันเพียงพอแล้วที่จะขับดันให้โทสะมันลุกโพลงขึ้นมา และก็กลายเป็นวาจาประทุษร้ายกัน

แต่ทีนี้ถ้าเราพิจารณาว่าตอนที่เราจะพูด มีแรงดันที่จะออกมาทางปาก ถ้าหากตอนนั้นเราเห็นว่า ถึงแม้เราจะพูดไปด้วยความโกรธ เขาก็ยังไม่ดีขึ้น เขาก็จะยังเหมือนเดิมอยู่ดี อาการโกรธมันไม่สามารถที่จะไปลบล้างนิสัยเลวๆของเขาได้ พอเราพิจารณาอย่างนี้ได้ ก็จะรู้สึกว่าใจมันมีเหตุผลที่จะเยือกเย็นลง คือมันมีเหตุผลจริงๆว่า ถ้าเราพูดแบบวู่วาม มีอารมณ์ร้อนแล้วก็พูดทันที เราจะไม่ได้สิ่งที่ต้องการหรอก แค่นั้นมันก็สามารถระงับอก ระงับใจ ปิดปากรอเวลา รอจังหวะให้ใจมันเย็นลงก่อนแล้วค่อยพูดได้ อันนี้เป็นจุดเริ่มต้นนะ คือถือว่าเป็นปัญญาอย่างหนึ่ง ปัญญาที่จะระงับความโกรธ เรามีเหตุผลมากพอที่จะเย็นลง เย็นลงเพื่อให้ได้ปัญญา พูดแบบที่จะได้สิ่งที่ต้องการคือ เขาดีขึ้น

จากนั้นพอมีเหตุผลที่จะใจเย็นก่อนพูด สติของเรามันจะค่อยๆเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆโดยที่ไม่จำเป็นต้องไปข่มมัน ไม่จำเป็นต้องไปพยายามที่จะกดทับแบบบอกจิตตัวเองไม่ได้ว่า เรามีเหตุผลอะไรต้องมาข่มกันแบบนี้ ต้องมาอดกลั้นอดทนกันขนาดนี้ คนเราพอมันมีเหตุผลแล้ว ไม่ต้องข่ม เหตุผลนั้นมันข่มให้ มันเอาชนะกิเลสให้เอง มนุษย์เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผล ดีกว่าสัตว์เดรัจฉานก็ตรงนี้แหละ แล้วพอเรามีความรู้สึกว่าใจเย็นลงก่อนพูดได้หลายๆครั้งเข้า ความโกรธ ความวู่วาม หรือว่าความร้อนที่มันจะเผาผลาญจนกระทั่งสติของเรามันไม่เหลือหลอนี่ มันก็จะหายไป มันกลายเป็นว่ามีแค่ความขัดเคือง มีแค่ความร้อนขึ้นมาอุ่นๆและก็พร้อมที่จะดับลงไปได้เอง

ตรงนี้แหละที่มันมีประโยชน์กับการเจริญสติ ถ้าใครไม่ดูไม่พิจารณาไว้ก่อนว่า โทสะไม่เที่ยง มันก็จะมองไม่เห็น คือได้แต่ใจเย็นแบบโลกๆ คือเห็นว่าอารมณ์สงบลงแล้วถึงพูด ก็ได้ประโยชน์แบบโลกๆไป เป็นสติแบบโลกๆแต่ถ้าหากว่าเรามีความใจเย็น มีอารมณ์ที่เยือกเย็นก่อนพูดได้แบบโลกๆอย่างนี้แล้ว เราเอามาต่อยอดทางธรรมได้ก็คือ เห็นว่าสิ่งที่มันทำให้จิตใจของเราสงบเยือกเย็นลงได้ มันต่อยอดเป็นความเห็นว่า เมื้อกี้โทสะมันร้อนอยู่ชัดๆ มันมีความขัดเคือง มันมีความรู้สึกอัดอั้น มันมีแรงดันที่อยากจะขับคำพูดแย่ๆออกมา อยากจะแสดงสีหน้าสีตาที่มันเหมือนมีอาการมุทะลุดุดันออกไป จะต้องข่มกัน ตรงนั้นมันหายไป มันกลายเป็นความรู้สึกที่วูบขึ้นมาแล้ววาบหายไป ตรงนั้นแหละที่เราจะต่อยอดเป็นสติ เป็นปัญญาในแบบของพุทธิปัญญาได้

จากประสบการณ์ตรงของผม คิดว่าน่าจะตอบโจทย์ได้ และต้องเข้าใจนะว่า ที่เล่ามาไม่ใช่ว่าทำกันแป๊บๆนะ คือเวลาเล่ามันเหมือนกับง่าย แค่ครึ่งนาที สองนาที แต่ที่เล่ามามันใช้เวลาหลายปีกว่าที่ใจมันจะสงบ ใจมันจะเย็นลงได้ คำว่าใจเย็นลงได้ ไม่ใช่ว่าหายร้อนเลยนะ ทุกวันนี้มันก็ยังขัดเคืองได้อยู่ มันก็ยังมีโทสะได้อยู่ เพียงแต่ว่ามันอยู่ตัว มันมีความเคยชินที่จะไม่เอาเรื่องเอาราวใคร ถ้าดูตามสายตาชาวโลก ก็จะต้องมีคำถามต่อไปว่า ถ้าไปยอมเขา ถ้าไม่เอาเรื่องเอาราวเขา เขาก็ว่าโง่สิ เขาก็มาเอาเปรียบเราร่ำไป

อันนี้ก็บอกไว้เลย คือไม่ใช่ยอมตะพึดตะพือ ไม่ใช่เหมือนกับไปหงอให้ ตัวงอให้กับคนที่เขามาทำร้ายเรา คือเราโต้ตอบได้ เราใช้วิธีการที่เหมาะสมที่จะไม่ให้เขาได้ใจได้ แต่ไม่จำเป็นที่ใจของเราจะต้องมีความโกรธปนอยู่ด้วย ความต่างมันแค่ตรงนี้เอง คือเราใช้ความใจเย็นในการที่จะโต้ตอบ ในการที่จะไม่ยอม ในการที่จะทำให้เขามีความรู้สึกตัวขึ้นมาบ้างว่า ทำแบบนี้เราไม่ให้นะ แต่ใจของเราไม่จำเป็นต้องมีความโกรธ หรือถ้ามีความโกรธก็ไม่ใช่ในระดับที่จะต้องไปด่าว่ากัน หรือว่าทำร้ายกันนะครับ



๔) นั่งสมาธิในห้องพระแล้วกลัว นั่งสมาธิในห้องนอนจะได้ผลแตกต่างกันออกไปไหม?

อันนี้ก็เคยได้ยินหลายคนเหมือนกันบอกว่า ถ้าอยู่ในห้องพระแล้วสวดมนต์ หรือนั่งสมาธิจะรู้สึกกลัว อาจจะเป็นเพราะว่าเคยไปดูหนังผีกันไว้มาก คือใจมันไปโยงว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์หมายถึงว่าจะต้องเกี่ยวพันกับสิ่งลี้ลับ หรือว่าจิตวิญญาณอะไรที่เขาจะมาขอส่วนบุญ เขาจะมาขอกันในห้องพระนั่นแหละ

จริงๆแล้วถ้าเราสร้างบรรยากาศทางใจไว้ว่า อยู่กับพระไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องผีสางเทวดา หรือว่าอะไรที่มองไม่เห็น มีแต่สิ่งที่เรารู้สึกได้ สัมผัสได้ด้วยใจว่าพระปฏิมาเป็นความสว่าง พระปฏิมาเป็นมงคล มันก็จะเกิดความสว่างเยือกเย็น เกิดความรู้สึกอบอุ่น มีความรู้สึกปีติ ไม่ใช่พอไปนั่งในห้องพระแล้วจิตมันไปนึกโยงโดยที่บางทีก็อธิบายไม่ได้ทำไมถึงกลัว บางคนก็อธิบายได้นะ บางคนนี่คุณพ่ออาจจะสะสมพระแบบที่ดูขลัง แทนที่ดูแล้วเหมือนเป็นที่พึ่ง คือโต๊ะหมู่บูชาก็ไม่ได้มีแต่พระพุทธรูป แต่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาอื่นเข้ามาปนอยู่ด้วย หรือว่าแม้กระทั่งพระพุทธรูปเอง บางทีก็ดูไม่ใช่มีความสวยงามประณีต หรือว่าน่าจะเป็นที่เคารพรัก แต่กลายเป็นหน้าตาดุอะไรแบบนั้น มันก็เป็นไปได้ทั้งนั้น

ไม่ว่าจะเหตุผลใดก็ตาม เราจะสั่งสมมาจากหนังผี หรือว่าเรามาเห็นพระพุทธรูปที่เรารู้สึกว่าน่าเกรงขามอย่างไรก็แล้วแต่ ถ้าจิตของเราไม่เลื่อมใส ไม่นึกถึงความสว่าง ไม่นึกถึงความเย็น ก็จะเกิดความปรุงแต่งแกว่งไปอีกทางหนึ่งได้เป็นธรรมดา เพราะว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มักจะคู่กับความลี้ลับ พอนึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ใจจะจัดเข้าพวกไปเป็นสิ่งลี้ลับ หรือว่าสิ่งที่แตะต้องไม่ได้ เป็นนามธรรมที่จับต้องยาก หรือว่ามีความน่าเกรงขามยิ่งใหญ่ ซึ่งใจของเราปรุงแต่งไปได้เป็นต่างๆ ที่ผมพูดมาทั้งหมดก็จะบอกว่า มันเป็นลักษณะความปรุงแต่งของใจ ซึ่งถ้าเราเห็นเหตุผลความปรุงแต่งทางใจได้ ความกลัวมันลดลงแล้วทันทีครึ่งหนึ่ง ขอให้จำไว้นะ อะไรก็แล้วแต่ที่เราอธิบายไม่ได้ว่าที่มาที่ไปคืออะไร เราจะมีความกลัวสิ่งนั้นซ่อนอยู่ลึกๆเหมือนกับที่คนโบราณไม่สามารถจะอธิบายได้ว่า ฟ้าร้องฟ้าผ่าได้อย่างไร ก็กลัว นึกว่าเป็นเทพเจ้าบันดาล

ทีนี้ถามว่าปฏิบัติในห้องพระกับปฏิบัติในห้องนอน สวดมนต์ หรือว่านั่งสมาธิอย่างไรก็แล้วแต่ อันไหนได้บุญมากกว่ากัน? อยู่ในที่ ที่ใจของเราสบายแล้วมีความเลื่อมใส นั่นแหละที่ ที่ได้บุญที่สุด เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านเคยตรัสไว้ มีคนถามว่า ‘ทำทานตอนไหนได้บุญมากที่สุด?’ ท่านตรัสตอบว่าตอนที่ใจของเรามีความเลื่อมใสในการให้ทาน มีความอยากให้ทาน มีความปลาบปลื้มในการให้ทาน จังหวะนั้นแหละที่จิตเกิดโสมนัส และก็ปรุงแต่งให้บุญกุศลเกิดขึ้นเต็มเม็ดเต็มหน่วย วัดกันที่ใจ อย่าวัดกันที่ห้อง วัดกันที่ความรู้สึก อย่าวัดกันที่ว่าคนเขาสืบๆความเชื่อกันมา ว่าต้องอยู่ตรงไหนถึงจะได้บุญเป็นพิเศษ

ถ้าหากว่าเราสวดมนต์นั่งสมาธิในห้องนอน แล้วจิตใจสบายได้กุศล ประสบความสำเร็จในการสวดมนต์ หรือว่านั่งสมาธิแล้วใจนิ่ง ใจมีความสว่าง ใจมีความเบิกบาน นั่งไปเลย สวดไปเลย เอาที่ห้องนอนนั่นแหละ อย่าเพิ่งมาที่ห้องพระ ทีนี้ถ้าหากว่าเราสวดมนต์ หรือว่านั่งสมาธิจนกระทั่งเกิดความนิ่ง เกิดความสว่าง เกิดความเบิกบาน แล้วใจข้ามพ้นจากอาการกลัวไปได้ ค่อยกลับมาที่ห้องพระ แล้วเราสังเกตความรู้สึกมันจะต่างไป

ใจของเรานี่แหละเป็นต้นตอความกลัว ใจของเรานี่แหละเป็นต้นตอความมีปีติ มีความเบิกบาน มีความสุข ใจของเรานี่แหละถ้าตั้งมั่นแล้ว อยู่ที่ไหนมันก็ได้เหมือนเดิม แบบเดิมๆความรู้สึกเดิมๆ ได้ความคงเส้นคงวาทางใจแบบเดิมๆ กระแสก็เป็นกระแสแบบเดิมๆ คือมีความรู้สึกว่าใจของเรา ถ้าสวดมนต์แล้วก็แปลว่าไปผูกไปเล็งอยู่กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คือความสว่าง ใจของเราผูกอยู่กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ด้วยความคงเส้นคงวา มันก็มีความสว่างคงเส้นคงวา เหมือนกันทุกที่ ไม่ว่าจะอยู่ในโบสถ์วิหาร ไม่ว่าจะอยู่หน้าหิ้งพระ หรือว่าจะอยู่ในห้องนอนของเราเอง ไม่มีความแตกต่างกัน

อย่าไปตั้งโจทย์ว่าอันไหนได้บุญมากกว่ากัน คนไทยนี่พอพูดถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พอพูดถึงการทำบุญแล้วนี่ มักจะมีการเทียบวัดเสมอเลยว่า อย่างไหนได้บุญมากกว่ากัน? ทำอย่างไร? ที่ไหน? ด้วยอุปเท่ห์ของสำนักใดแล้วจะเกิดบุญกุศลขั้นสูงสุด เราไปรู้สึกได้หรือเปล่าล่ะ เราเอาความคาดคะเนไปเทียบวัดได้หรือเปล่าล่ะ บุญนี่มันไม่ใช่ชั่งตวงกันได้แบบตวงข้าวสารนะ มันต้องใช้ความรู้สึกเอา อย่างไหนที่ทำให้เราปลาบปลื้ม ความปลาบปลื้มนั้นแหละ ศัพท์ทางธรรมะเรียกว่าเป็นโสมนัส ถ้าหากว่าปลาบปลื้มมาก มีความสว่างจัดจ้ามาก มีความเป็นกุศลมาก ท่านก็เรียกว่าเป็นมหาโสมนัส นั่นแหละเป็นต้นแหล่ง ต้นกำเนิดของบุญใหญ่อย่างแท้จริง และไม่ต้องไปเปรียบหรอกว่าอันไหนได้บุญมากกว่ากัน

เราสั่งสมบุญวันละเล็กวันละน้อย จะมากบ้างน้อยบ้างอย่าไปเกี่ยง ขอให้สั่งสมเถอะ และในที่สุดมันจะเกิดความตั้งมั่น คือเราวัดได้ด้วยใจนี่แหละ ถ้าใจของเรามีความสบายใจอยู่เนืองๆ คำว่าเนืองๆก็หมายความว่าเสมอๆ ถ้าหากว่ามันมีความโล่ง มีความเย็น มีความสว่างอยู่เป็นปกติ นั่นแหละเป็นการแผลงฤทธิ์ของบุญที่เห็นได้ทันตาอยู่ในปัจจุบัน ถ้าเราสั่งสมบุญมาดีจริง มันต้องอยู่ตัว มันต้องอิ่มตัว โอกาสที่จะเกิดความคิดที่เป็นอกุศล เกิดความเว้าแหว่ง เกิดความมืด เกิดความรู้สึกกระวนกระวายมันจะลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดเลย ถ้าเทียบกับในอดีตอาจจะมีความฟุ้งซ่านจัด แต่ปัจจุบันฟุ้งซ่านน้อย นั่นก็ถือว่าเราทำบุญได้ผลแล้ว บุญแผลงฤทธิ์แล้วนะครับ


ขอราตรีสวัสดิ์ ณ ที่นี้นะครับ ขอให้เจริญในธรรมทุกท่านครับ


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น