วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๒๑ / วันที่ ๗ มี.ค. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

๑) อภิญญา ๖ไปนิพพานได้หรือไม่ ในนิพพานมีจิตของพระพุทธเจ้ากับพระอรหันต์อยู่หรือไม่?

ความจริงอภิญญามีแค่ห้าสำหรับโลกียะ อภิญญาที่หกเป็นอภิญญาที่ล้างกิเลสได้ เป็นความรู้แจ้ง ไม่ได้เอาไว้ไปนิพพาน คนละประเด็นกัน การไปนิพพานในความหมายของคนที่ยังไปไม่ถึง ก็จะเข้าใจก่อนว่า นิพพานคือสถานที่ คืออะไรอย่างหนึ่งที่เข้าถึงได้ด้วยการเอาความรู้สึกแบบที่เป็นมนุษย์ขึ้นไปดูว่านิพพานมีความกว้างเท่าใด หน้าตาเป็นอย่างไร มีผนัง กำแพง วิมาน หรือมีที่นั่ง ที่นอน ที่กินอย่างไร จะเปรียบเทียบเอาจากสิ่งที่รับรู้ได้ในโลกมนุษย์ หรือที่ท่านมักเปรียบเทียบกันคือ เหมือนปลาที่อาศัยอยู่ในน้ำแล้วเห็นสาหร่าย เห็นปะการัง ก็เข้าใจว่าบนบกน่าจะมีสิ่งเดียวกับที่ตนเห็น มีมวล มีความหนาแน่นแบบในน้ำบีบอัดรัดตัวอยู่ ทั้งๆที่บนบกไม่ได้มีอะไรแบบที่เห็นในน้ำหรือที่ตนเคยประสบมาชั่วชีวิต เราเป็นมนุษย์ ก็คงเปรียบเหมือนปลาที่ยังไม่เคยขึ้นบก และไม่สามารถคาดเดา ไม่สามารถจินตนาการได้ว่า นิพพานเป็นอย่างไร

การที่เราไม่สามารถจินตนาการได้ว่านิพพานเป็นอย่างไร ก็ต้องฟังจากคัมภีร์ที่ท่านอธิบายไว้แล้ว สำหรับนิพพานนั้น รู้และเห็นได้ตั้งแต่การบรรลุโสดาปัตติผลขึ้นไป การบรรลุธรรม หรือได้มรรคจิตและผลจิต หมายถึง จิตสัมผัสถึงความมีอยู่ของนิพพาน หมดข้อสงสัยอย่างสิ้นเชิงว่า นิพพานมีจริงหรือไม่ ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปยังไม่ได้ถึงอภิญญาขั้นที่หก ยังล้างกิเลสไม่ได้เด็ดขาด อภิญญาขั้นที่หกต้องเป็นพระอรหันต์แล้ว แต่การเป็นพระโสดาบันก็สามารถสัมผัสรู้ได้แล้วว่า พระนิพพานมีอยู่จริง เนื่องจากมรรคจิตและผลจิตมีนิพพานเป็นอารมณ์ กล่าวง่ายๆว่าจิตสัมผัสกับนิพพานแล้ว และถ้าถึงโสดาปัตติผลแล้ว เป็นพระโสดาบันแล้ว ก็สามารถที่จะเข้าผลญาณ ผลสมาบัติได้ คือเมื่อได้รู้จักนิพพานแล้ว จะมีความสามารถพิจารณาเข้ามาในกายใจด้วยแนวทางแบบเดิม คือพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นของที่ไม่มีผู้ครอบครอง ไม่ใช่ตัวตน เช่นนั่งดูลมหายใจว่า สักพักก็เข้า สักพักก็ออก รู้สึกถึงความไม่เที่ยง จิตเป็นอิสระจากอุปาทานว่าลมหายใจเป็นตัวตน ลมหายใจเที่ยง เมื่อหลุดออกจากความมีอุปาทานว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งในกายใจนี้เป็นตัวเป็นตน จิตก็เป็นอิสระเหมือนครั้งที่บรรลุธรรม เพียงแต่ไม่เกิดมรรคจิตขึ้นมาล้างกิเลส มีแต่สภาพที่สามารถรู้ได้ว่านิพพานมีอยู่ จิตต้องเป็นฌาน จิตขณะนั้นต้องมีความหนักแน่น เป็นอัปปนาสมาธิ เป็นมหัคคตกุศล คือมีความเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งที่ตนรับรู้ ท่านบรรยายเกี่ยวกับนิพพานไว้ว่า ไม่มีรูปร่าง ไม่มีหน้าตา ไม่มีขอบเขต ไม่มีที่ตั้ง มีแต่มหาสมุทรของความว่าง มีความสว่างโพลงทั่วถึงตลอด พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้จินตนาการว่านิพพานเป็นอย่างไร นอกจากจะได้เข้าถึงมรรคจิตและผลจิต ก็จะทราบเองว่าสภาพของนิพพานเป็นอย่างไร

ถามว่านิพพานมีจิตของพระพุทธเจ้ากับพระอรหันต์อยู่ไหม คำตอบจากพระคัมภีร์กล่าวว่า เมื่อจิตของพระอรหันต์ดวงสุดท้ายดับไป ที่เรียกว่า ‘จริมจิต’ ท่านเปรียบไว้เหมือนกับเปลวเทียนดับ ที่เรากำลังคุยกันอยู่ จิตยังมีสภาพที่เป็นเปลวเทียน ลุกโพลง มีความร้อน แต่ถ้าเป็นจิตของพระอรหันต์ ซึ่งถึงเวลาที่จะดับขันธ์เข้านิพพาน จิตจะดับเหมือนเปลวเทียน พระอนุรุทธะมีหน้าที่รายงานว่า จิตของพระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานหรือยัง เพราะท่านมีความเชี่ยวชาญเรื่องตาทิพย์ ท่านบอกว่า เวลาที่จิตของพระพุทธเจ้าดับขันธ์แล้ว เหมือนเปลวเทียนดับ พระพุทธเจ้าก็เคยตรัสว่า ในนิพพานนี้ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ได้มีอยู่ในนั้น แต่นิพพานไม่ใช่การสูญ ดังที่เคยมีพระรูปหนึ่งฟังธรรมแล้วสำคัญว่า พระอรหันต์ตายแล้วสูญ พระสารีบุตรบอกว่า ‘เธออย่าคิดอย่างนั้น เป็นความคิดที่ไม่ถูก เป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน’ แต่แทนที่ท่านจะมาพรรณนาว่า พระนิพพานเป็นอย่างไร ให้เกิดความฟุ้งซ่านตามประสาปุถุชนคนธรรมดา ท่านใช้วิธีตะล่อมถามว่า ‘เธอสำคัญว่าอย่างไร รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ความรู้สึกสุขทุกข์ คือ เวทนา เที่ยงหรือไม่เที่ยง ความจำได้หมายรู้ คือ สัญญา เที่ยงหรือไม่เที่ยง ตรงไหนที่เที่ยง ตรงไหนที่เรียกว่าเป็นตัวเป็นตนอยู่ ณ ขณะนี้ที่เรานึกว่ามีตัวมีตนอยู่’ พระรูปนั้นก็พิจารณาตามไปเรื่อยๆ โดยเอาความสำคัญผิดเป็นตัวตั้ง ตั้งแต่ตอนแรกที่ว่าพระอรหันต์ตายแล้วคงจะดับสูญไป โดยความสำคัญไว้อย่างนี้ ท่านก็นำมาพิจารณาใหม่ตามคำแนะนำของพระสารีบุตร ท่านเห็นว่า แม้กระทั่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ที่กำลังปรากฏอยู่นี้ ปรากฏโดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน มีความดับไป มีความเกิดขึ้นตลอดเวลา แล้วเราจะยึดเอาตัวใดไปเข้านิพพาน สุดท้าย ท่านก็สำเร็จธรรมด้วยการมีดวงตาเห็นธรรม หรือการรับรู้ถึงพระนิพพานที่แท้จริง ที่ทะลุออกไป ที่เกินออกไปจากความเป็นกาย ความเป็นใจแบบนี้ ลักษณะความปรุงแต่งใดๆที่กำลังปรากฏมีปรากฏเป็นอยู่หายไป แล้วท่านก็ได้เห็นนิพพาน

สรุปว่า คาดคะเนหรือกะเกณฑ์ไม่ได้ว่าสูญหรือไม่สูญ ต้องเห็นด้วยตนเอง ต้องถึง ต้องทะลุเข้าไปเห็น จึงจะหมดคำถามและไม่สงสัย ที่แน่ๆคือพระพุทธเจ้าท่านเคยตรัสไว้ว่า ‘ขอให้คิดถึงพระนิพพานโดยความเป็นบรมสุข คือไม่ต้องกลับมาทุกข์อีก ไม่ต้องกลับมามีความปรุงแต่งที่มีความไม่แน่นอน เกิดตายแบบไม่รู้เรื่องราวแบบนี้อีก’ ขอให้คิดอย่างนั้นไปก่อน แล้วพวกท่านจะยังมีความเป็นพระพุทธเจ้า หรือความเป็นพระอรหันต์อยู่ที่ไหน เราไม่ต้องไปห่วง ไม่ต้องเป็นกังวล ขอให้กังวลว่าตอนนี้เรายังไม่ดับทุกข์ เราเจริญตามรอยบาทพระศาสดาและพระอรหันตสาวกกันแล้วหรือยัง นี่เป็นสิ่งที่เราซึ่งยังอยู่บนโลกนี้ต้องคำนึงถึงให้มากที่สุด



๒) ไม่ได้ใส่บาตรนานพอสมควรตั้งแต่ปีใหม่ วันมาฆบูชาซึ่งเป็นวันสำคัญก็ไม่ได้เวียนเทียนหรือไปวัด และการฟังธรรมที่ต้องใช้ความพยายาม ส่วนมากก็ไม่ได้ไป เป็นมิจฉาทิฏฐิหรือไม่ที่คิดว่าเจริญสติอย่างเดียวดีกว่า?

บุญในพุทธศาสนามีสามระดับ บุญระดับแรกคือการทำทาน น้ำใจเสียสละ น้ำใจคิดอนุเคราะห์ น้ำใจคิดจะให้คนอื่นได้รับประโยชน์จากสิ่งที่เรามีอยู่หรือความสามารถที่เราจะเกื้อกูลเขาได้ นี่เรียกว่าเป็นบุญระดับต้น คือท่านใช้คำว่าเป็นบุญเบื้องล่าง เป็นบุญขั้นต่ำ ส่วนบุญที่ยกขึ้นมาอีกระดับหนึ่งได้แก่ การถือศีล คือการระวังรักษาใจไม่ให้สกปรก ไม่ให้แปดเปื้อนด้วยเจตนาอันเป็นบาปอกุศล คืองดเว้นการเบียดเบียนผู้อื่นอย่างเด็ดขาด คิดได้แต่ห้ามพูด ห้ามทำ เช่น มีคนมาด่าเราแล้วเราอยากจะตบ หรือเราเห็นผู้หญิงคนหนึ่งแล้วอยากฉุด โดยไม่สนใจว่าเป็นลูกหรือภรรยาของใคร อย่างนี้คิดได้ ยังไม่ผิดศีล แต่ถ้าเริ่มลงมือ แค่ตั้งความคิดว่าจะเอาจริงขึ้นมา เริ่มด่างพร้อยแล้ว และถ้าทำสำเร็จ แปลว่าศีลขาดทะลุแล้ว

ถ้าสามารถระงับใจได้ ถึงคิดก็ไม่ทำ ไม่พูด เรียกว่าเป็นคนมีความสามารถในการรักษาศีล ซึ่งโดยธรรมชาติของสัตว์โลก ไม่มีทางที่จะรักษาศีลโดยบังเอิญ เพราะว่าเกิดมาก็โดนกิเลสฉุด โดนกิเลสลากกันมาไม่รู้กี่กัปกี่กัลป์ ตามใจกิเลสก่อน ต่อเมื่อเจอพระหรือสมณะที่มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องของกรรมวิบาก เรื่องการทำจิตให้พัฒนา การปูเส้นทางไปสวรรค์และนิพพาน มาแนะนำว่าควรสมาทานศีล หรือตั้งใจงดเว้นขาดที่จะไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ผิดประเวณี ไม่โกหก และไม่กินเหล้าเมาสุรา นี่เรียกว่าเป็นการตั้งใจทำบุญที่ใหญ่กว่าการเสียสละ (การทำทาน)

ไม่ว่าจะเสียสละอะไรไปเท่าไร ถ้าจัดชั้นวรรณะกัน การตั้งใจรักษาศีลจะได้บุญมากกว่า ถ้าไม่มีสิ่งยั่วยุ และไม่ได้ตั้งใจไว้ก่อน แล้วบอกว่าฉันตั้งใจรักษาศีล ไม่ใช่แบบนั้น คือต้องมีความตั้งใจไว้ก่อนล่วงหน้า เมื่อมีเรื่องยั่วยุ (สำหรับคนตั้งใจรักษาศีล จะมีเรื่องยั่วยุกันตลอดชีวิตให้ผิดศีล) แล้วประสบความสำเร็จในการรักษาศีลได้ ทำตามความตั้งใจได้ คืองดเว้นขาด ไม่ยุ่งเรื่องเกี่ยวกับการผิดศีล นี่เรียกว่าเป็นผู้บำเพ็ญบุญที่เหนือกว่าการให้ทาน พระพุทธเจ้าตรัสว่า ‘ศีลได้ชื่อว่าเป็นมหาทาน’ ยิ่งใหญ่กว่าทานธรรมดา เพราะทำให้สัตว์โลก เพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุขของเรารอดพ้นจากภัยอันตรายอันเกิดจากน้ำมือของเรา ดังนั้น การรักษาศีลจึงได้บุญยิ่งกว่าการให้ทานทั้งปวง หมายถึง ทานที่ให้ด้วยทรัพยทาน หรือให้ด้วยอภัยทาน

หากจะเอาบุญขั้นสูงสุดเลย ก็เรียกว่าเป็นบุญที่จะทำให้ประกันว่า ไม่ต้องไปอบายภูมิแน่ๆ คือต่อให้ทำทานรักษาศีลแค่ไหน บางครั้งเกิดชาติใหม่ แล้วลืมหมดว่าเคยทำอะไรมาบ้าง เผลอหลงไปทำบาป ก็ตกนรกได้ ไปสู่อบายภูมิได้ ท่านจึงเรียกว่าบุญอันเกิดจากทานและศีล ยังถือว่าเป็นแค่บุญขั้นต้นและขั้นกลาง บุญขั้นสูงจริงๆจะทำให้หลุดจากอบายได้อย่างสิ้นเชิง ตั้งแต่เป็นพระโสดาบันขึ้นมา จะไม่ไปอบายภูมิอีกเลย แล้วสิ่งที่ทำให้เป็นอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นมาจนถึงพระอรหันต์ ก็คือบุญอันเกิดจากการเจริญสตินั่นเอง เจริญสติโดยมีความเข้าใจนำหน้าว่า กายใจนี้ไม่เที่ยง ดูๆไปจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า ไม่เห็นมีอะไรเป็นของเรา ไม่ใช่ตัวเราสักอย่าง ไม่มีอวัยวะสักชิ้นเดียวในร่างกายนี้ที่เป็นตัวตนของเรา จะบังคับบัญชาว่าให้มีอายุเท่าไร มีลักษณะอย่างไร จงหนุ่ม จงสาว จงหล่อ จงสวยอยู่ตลอด ไม่สามารถที่จะระงับความเปลี่ยนแปลงได้เลย เมื่อดูไปเรื่อยๆจนกระทั่งเห็นแจ้ง จะเกิดการบรรลุมรรคผลขึ้นตามลำดับ จึงกล่าวได้ว่า ‘การเจริญสติเป็นบุญขั้นสูงสุด’ นี่ไม่ใช่ตามมติของพุทธศาสนา ไม่ใช่ตามมติของพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์สาวก แต่ตามธรรมชาติ

ถ้าเราสามารถที่จะเข้าใจเรื่องการเจริญสติได้ และเจริญสติตามวิธีที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้จนสามารถเห็นได้ว่า กายใจนี้ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน เพียงเห็นเท่านี้ก็เรียกว่า ได้ทำบุญยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว เมื่อตายไป อย่างต่ำก็ได้ถึงสวรรค์แน่นอน และคนที่เจริญสติเป็น ส่วนใหญ่จะมีความรู้สึกว่า จิตคับแคบไม่ดี ให้ทานดีกว่า เปิดกว้างดีกว่า จิตสกปรกไม่ดี รักษาศีลดีกว่า ทำให้สะอาดดีกว่า บุญในขั้นต่ำและขั้นกลางก็จะเจริญตามมาด้วย

สรุปคือ ‘การเจริญสติดีที่สุด’ ดีกว่าการทำทานและรักษาศีล แต่ถ้าไม่รู้จักการเสียสละ การมีน้ำใจ การให้ทานบ้าง หรือมีจิตสกปรกอยู่ตลอดเวลา มีความบิดเบี้ยวผิดเพี้ยน เห็นผิดบ้างเห็นถูกบ้าง พูดง่ายๆว่า ถ้าไม่ทำทาน ไม่รักษาศีลไว้ก่อน จะเจริญสติไม่ถูก เจริญสติไปก็เหมือนกับแกล้งๆ เหมือนเป็นเรื่องตลก และไม่รู้ว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่ สรุปคือ ทาน ศีล และภาวนาเป็นตัวเสริมซึ่งกันและกัน



๓) การกินเนื้อวัวบาปมากหรือไม่ ในเมื่อพระพุทธองค์ไม่ได้ทรงห้าม เราควรปฏิบัติอย่างไรจึงจะดีที่สุด?

ที่พระพุทธองค์ห้ามไว้ในวินัย แค่ห้ามพระไม่ให้ฉันเนื้อเสือ เนื้อมนุษย์ อาจจะมีเนื้องูด้วย เป็นต้น เนื้อมีกี่อย่างไม่ทราบ แต่ท่านไม่ได้ทรงห้ามฉันเนื้อวัวหรือเนื้อหมู แสดงให้เห็นว่าคงไม่บาปมาก ให้สบายใจได้ หากเราจะพิจารณาว่า อย่างไรเรียกว่าบาปในทางพุทธศาสนา ถ้าตั้งต้นด้วยการรับรู้ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีชีวิต แล้วประสงค์ให้สิ่งมีชีวิตนั้นตกตาย จะด้วยความแค้นอาฆาตส่วนตัว หรือด้วยความหวังว่าจะได้กิน ล้วนเป็นบาปข้อ ‘ปาณาติบาต’ ทั้งสิ้น แต่ถ้าสัตว์เป็นศพอยู่แล้วถือว่าไม่ผิดศีล ที่พระพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามว่า ‘จงอย่าฉันเนื้อสัตว์’ ก็เพื่อให้ชาวบ้านได้ถวาย ได้ใส่บาตรตามที่ถนัด ตามที่สะดวกกัน พูดง่ายๆว่า สมณะเป็นผู้เลี้ยงง่าย ไม่เรื่องมาก ชาวบ้านถวายอะไรมา ก็ฉันตามที่เขาถวายกัน
การที่เราไม่ได้มีส่วนรู้เห็น ไม่ได้มีส่วนจงใจว่าสัตว์นี้จงตายมาให้เรากิน เราก็จะไม่แปดเปื้อนมลทินอันเกิดจากการฆ่า เพราะไม่ต้องใช้กำลังใจในการฆ่า ก่อนเราเกิดมา ก็มีคนที่ฆ่าสัตว์กันอยู่แล้ว ขณะที่เรามีชีวิต ก็มีการฆ่ากัน ขณะที่เราจะต้องตายจากโลกนี้ไป ก็จะยังมีวงจรของการฆ่าฟันกันไม่มีที่สิ้นสุด เราเป็นเพียงผู้บริโภคสุดท้าย คือศพสัตว์เกิดขึ้นก่อนแล้ว เราไม่ต้องใช้กำลังใจในการฆ่า เราไม่รู้ว่าสัตว์ตัวไหนตายเพื่อจะมาอยู่ในจานของเรา แต่ถ้าเรามีความรู้สึกอยากจะกินมังสวิรัติขึ้นมา ด้วยเจตนาว่า เราจะช่วยลดปริมาณการตายของสัตว์ นี่ถือเป็นบุญ เพียงความตั้งใจตรงนี้ จะรู้สึกได้ถึงความมีเมตตา ความรู้สึกไม่อยากเบียดเบียนชีวิตสัตว์ มีความสงสารสัตว์ อย่างนี้ก็ได้บุญเหมือนกัน

การที่เรากินเนื้อไม่ว่าจะชนิดใดที่เป็นศพอยู่แล้ว โดยที่เราไม่ได้ใช้กำลังใจในการฆ่า ก็ไม่บาปทั้งนั้น ไม่ว่าจะเนื้อวัวหรือเนื้อหมู การที่เรามาถกเถียงกันอย่างที่ผมพูดอย่างนี้ ถ้าคนที่กำลังกินมังสวิรัติอยู่ ก็จะบอกว่าไม่เห็นด้วย จะมาเลี่ยง มาบ่ายเบี่ยงได้อย่างไร ในเมื่อกินอยู่ก็ต้องไปเพิ่มความต้องการเนื้อสัตว์ อย่างไรก็ต้องมีการฆ่าสัตว์เพื่อให้พอดีกับความต้องการของมนุษย์ ไม่ว่าจะคิดอย่างไร ก็มาลงที่ความจริงข้อเดียวว่า ‘เรามีการรับรู้ไหมว่าสัตว์ตัวไหนจะตายเพื่อเรา’ เล็งมาที่จิต เล็งมาที่กำลังใจของเรา ‘เรามีความปรารถนาไหมว่าจะเอาเนื้อหมู เนื้อไก่ตัวนี้ หรือเนื้อวัวตัวนั้น เห็นแล้วถูกใจเหลือเกิน อยากกิน’ ถ้าไม่มีการตั้งต้นรับรู้แบบนี้ ก็เรียกว่าไม่มีตัวเริ่มต้นในการก่อกรรมข้อปาณาติบาต และถ้าเรายิ่งคิดว่า เราเคยมีกำลังใจที่จะอยากให้สัตว์ตัวไหนตายเพื่อมาให้เรากินไหม ถ้าเราไม่ได้ใช้กำลังใจ ไม่ได้ใช้ความพยายามในการทำให้สัตว์ตาย ก็เรียกว่าจิตของเราไม่มีเจตนาฆ่าฟันแน่นอน

แต่ร้านอาหารหลายๆร้านในปัจจุบันเปิดให้ลูกค้าชี้ได้ว่า กุ้งเป็น ปูเป็น ตัวไหนที่อยากจะเอาใส่จาน อย่างนี้เรารู้ เราเห็นอยู่ เกิดการมอง การจ้องแต่ต้นแล้วว่า ตอนนี้มันยังมีชีวิตอยู่ ถ้าเราชี้ไปว่าพอใจตัวนี้ อ้วนๆอย่างนี้ สักพักมันจะไปอยู่ในจานเรา นี่คือการบงการฆ่า คือการสั่งฆ่า มีการใช้กำลังใจที่จะประหารสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ ตรงนี้บาปเกิดแล้ว มลทินเกิดแล้ว ทำให้ใจเปื้อนปาณาติบาต สร้างกรรมข้อปาณาติบาตแล้ว แม้จะมีความสนุก ความครื้นเครงมาปิดบังความมืด ความทุกข์ทางใจ และความไม่สบายใจก็จริง แต่คนที่กินเข้าไปย่อมรู้อยู่ว่า ตัวเองทำให้สัตว์ตัวหนึ่งต้องตกตายไป



« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น