วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๗๙ / วันที่ ๒๐ ก.ค. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันศุกร์ที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ก็มีวันจันทร์ วันพุธ แล้วก็วันศุกร์ สำหรับวันพุธ วันศุกร์ ก็เป็นเวลาสามทุ่มแบบนี้ ส่วนวันจันทร์จะเป็นเวลาห้าโมงเย็น เพื่อจะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการให้เข้าไป http://www.facebook.com/HowfarBooks นะครับ



๑) มีแต่คนโพสต์ในเฟสบุ๊คว่า เหงาจัง กรรมที่ก่อให้เกิดความเหงา นี่เกิดจากอะไรได้บ้าง?

ความเหงาเป็นอารมณ์นึงของใจนะครับ ที่เกี่ยวข้องกับกรรมในปัจจุบันมากกว่าที่จะเป็นกรรมในอดีต ถ้าดูอารมณ์เหงาเนี่ยก็เป็นการปรุงแต่งอย่างหนึ่งของจิตของใจ ที่พูดง่ายๆเลยก็คือ ไม่มีงาน ถ้าลองอย่างนี้นะ สำหรับคนเหงานะ ถ้าหากว่าคราวหน้ามีความรู้สึกเหงาหงอย มีความรู้สึกเซื่องซึม มีความรู้สึกหดหู่ มีความรู้สึกว่า ขนาดตัวเองมีเพื่อนอยู่ในเฟสบุ๊คเป็นร้อยเป็นพัน หรือในทวิตเตอร์เพิ่มขึ้นไปอีกนะ ทั้งในประเทศทั้งต่างประเทศ แล้วยังรู้สึกว่าตัวเองโดดเดี่ยว ราวกับว่าอยู่ลำพังอยู่ในโลกนี้อยู่คนเดียว ลองดู ลองคิดอยู่ในใจดูเนี่ย เนี่ยว่าใจไม่มีงาน เอาแค่นี้เลยนะ เอาแค่คิดอย่างเดียวเลยนะ ขณะเหงาเนี่ยว่า ใจไม่มีงาน ใจไม่มีงาน ใจไม่มีงาน เหมือนกับท่องคาถาอะไรซักอย่างหนึ่ง แต่ไม่ต้องไปคิดอะไรทั้งสิ้นนะ เอาแค่ทำความรู้สึกเข้าไปนะ ที่ว่าเหงาได้เพราะใจไม่มีงาน ตอนแรกๆอาจจะยังไม่รู้สึกว่ามันเกี่ยวข้องกันยังไง พอจิตใจคล้ายๆกับมีอะไรกั้นอยู่ระหว่างความเข้าใจ กับความจริงที่มันเป็นธรรมชาติของจิต ตอนแรกๆจะไม่เข้าใจ มันจะมีความเหงา และความเหงานั้นเรียกหาอะไรก็ไม่ทราบ เรียกหาใครก็ไม่รู้ แต่พอท่องไปเรื่อยๆ ใจไม่มีงาน ใจไม่มีงาน ใจไม่มีงานไปเนี่ย เนี่ยวันนึงมันเกิดความรู้สึกปิ๊งขึ้นมาเองว่า เออ ที่เกิดอารมณ์เหงานี่ก็เพราะมันว่างงาน ต่อให้กำลังทำงาน คิดว่ากำลังทำงานอยู่ก็ตามนะ ต่อให้กำลังขีดเขียนอะไรอยู่ก็ตามนะ มันอาจจะไม่ใช่งาน มันอาจจะไม่ใช่อะไรที่เป็นประโยชน์มากพอที่ทำให้หายเหงา การปรุงแต่งของใจเนี่ยนะ ที่ก่อทำให้เกิดอารมณ์เหงาได้ เหตุสำคัญที่สุดเลยก็เพราะว่า ใจมีความฟุ้งซ่าน มีความเลื่อนลอย มีความเหม่อ มีความรู้สึกว่าไม่มีอะไรเป็นที่พึ่ง ไม่มีอะไรเป็นที่เกาะของใจ ถ้าหากว่าเราท่องไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมันเกิดการนึกขึ้นมาได้ว่า ถ้าหากมีงานที่เป็นประโยชน์ ถ้าหากมีงานที่เป็นสาระ ถ้าหากว่าใจจดใจจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่มันมีความเจริญขึ้นได้ ไม่มีทางเลยที่จะเหงา แต่ถ้าหากว่าใจไม่มีงานเนี่ยนะ แล้วมาบ่น มาระบายออก มาแสดงออกถึงความฟุ้งซ่านไปเรื่อย ต่อให้มีเพื่อนกี่ร้อยกี่พันคน มาช่วยกันเฮ มาช่วยกันเหมือนปลอบใจ หรือมาช่วยกันทำให้ดูเหมือนมีความคึกคักอยู่ในสเตตัสของเรา หรือว่าในทวิตเตอร์ของเรา อารมณ์เหงานั้นก็ไม่หายไป แต่ถ้าหากว่าแทนที่จะระบายอารมณ์เหงาในเฟสบุ๊ค เราไปหาอะไรอ่าน ที่อ่านแล้วมันรู้สึกว่า อ่านแล้วเจริญจิตเจริญใจขึ้นมา อ่านแล้วมีความรู้สึกว่า ใจมันมีความสว่างขึ้นมา อ่านแล้วมีความรู้สึกว่า เออ นี่ปรุงแต่งความคิดไปอีกแบบหนึ่ง แทนที่จะว่าง ว่างเปล่า หรือว่ากลวงจากสาระหรือประโยชน์ มันได้อะไรบางอย่างมา อย่างเช่น ธรรมะ อยากบอกว่าธรรมะตอนนี้มีเยอะแยะ นอกจากอ่านแล้ว ลองเข้าไปเขียน ลองเข้าไปร่วม เอาแบบที่เลือกแล้ว คัดสรรแล้ว ว่าเขาพูดกันเรื่องจรรโลงใจ พูดกันเรื่องที่มันไม่ทิ่มแทง คุยกันในเรื่องที่ชี้เข้ามา หาความรู้จักกายรู้จักใจตัวเอง หรืออย่างน้อยที่สุดชี้ไปให้เกิดความรู้ รู้จักพระพุทธเจ้า หันกลับไปทำความรู้จักพระพุทธเจ้า ทำความรู้จักกับธรรมะของพระพุทธเจ้า อย่างน้อยที่สุดถามไปนิดนึงก็ยังดีว่า ธรรมะคืออะไร อาจจะมีคำตอบออกมาหลากหลาย แต่ในที่สุดแล้ว ความรู้สึกอยากรู้อยากเห็นว่าธรรมะคืออะไร แล้วได้คำตอบเป็นการมองเข้ามาภายในตัวเอง มองให้เห็นว่าไอ้ที่กำลังเหงาอยู่เนี่ย มันเพราะขาดธรรมะที่อบอุ่น ตรงนี้นะถ้าหากว่าก่อกรรมแบบนี้แล้ว ในทางที่มันสร้างสรรค์ ในทางที่เป็นมหากุศล ไม่มีทางเลยที่จะเงียบเหงาได้ ถ้าไม่ชอบใจที่จะเริ่มต้นจากธรรมะ ก็อาจจะไปทำงานอย่างอื่นก็ได้ อย่างน้อยที่สุดนะ ขอให้จิตใจเนี่ยรู้สึกถึงประโยชน์ รู้สึกถึงความปรุงแต่งในทางที่เป็นประโยชน์สุขก็แล้วกัน ก็ลองเอาแนวทางนี้ไปบอกกล่าว คนที่ชอบบ่นในเฟสบุ๊คว่าเหงาจัง เหงาจัง ก็จะได้เห็นกรรมในปัจจุบันที่เปลี่ยนความเหงาให้กลายเป็นประโยชน์ขึ้นมาได้



๒) หนูเข้าเฟสบุ๊ค แล้วเคยเห็นมีเพื่อนในห้องกำลังด่าหนูอยู่ในกลุ่ม สงสัยจะเข้าห้องแชตอะไรสักอย่าง เวลาเขาเจอหนู หนูคุยด้วยก็ไม่คุย ไม่มอง บางคนก็แกล้งทำดีกับหนูต่อหน้า หนูรู้ว่าเขาเกลียดหนู หนูเลยไม่ค่อยคุย หรือไปยุ่งกับเขาบางครั้งหนูรู้ว่า ควรจะทำดีกับพวกเขา แล้วทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ แต่จิตมันรังเกียจมากเลยค่ะ เวลาพวกเขามาทำดีด้วย พวกเขาชอบกินเหล้า ไปเที่ยวกันเป็นกลุ่ม ใครไม่ไปก็ว่า นินทาคน ด่าคนเป็นประจำ หนูเป็นคนไม่สังสรรค์ หนูควรจะสนิทกับพวกเขาอย่างเดิมหรือเปล่า? แล้วอยากรู้ว่ากรรมของคนพูคำหยาบ ชอบนินทาคนอื่นเป็นประจำ จะมีผลร้ายแรงอย่างไร?

การตั้งกลุ่มนินทามันเป็นเรื่องปกติของชาวโลกนะ แล้วก็นั่นแหละที่เราเห็นผลเป็นปกติเช่นกันนะ คนส่วนใหญ่มักจะโดนนินทาลับหลัง คนส่วนใหญ่มักถูกเข้าใจผิด มันจะมีเป็นช่วงๆ หลายคนเลยชอบบ่นว่า เอ๊ะ ไม่รู้ช่วงนี้เป็นยังไงอะไรน้า พูดอะไรไปคนเข้าใจผิดตลอด หรือไม่ก็หนักกว่านั้น ช่วงนี้มีแต่คนใส่ไคล้ คือเราไปรับรู้ว่า สังคมเขาพากันกระหน่ำ พากันโจมตี อันนี้ก็เป็นผลที่ได้มาจากการเนี่ยแหละเคยตั้งโต๊ะนินทาชาวบ้าน มันทั้งนั้นน่ะ คือทุกคนมีอารมณ์สนุกที่จะพูดพาดพิงถึงคนอื่น และพูดพาดพิงไม่พอนะ จะมีการตีไข่ใส่สี เพื่อความสนุก เพื่อความสะใจ มันเรียกว่า เป็นเหมือนกับธรรมชาตินิสัยของมนุษย์เลยนะก็ได้ ปกติเนี่ยเวลาเจอหน้ากันกับใครก็มักไม่รู้ ไม่รู้จะพูดอะไร ไม่รู้จะคุยเรื่องอะไร ไม่รู้จะพูดอะไร ก็เอาคนที่รู้จัก ต่างฝ่ายต่างรู้จักมาพูดถึง สังเกตมั้ย เวลามาถามไถ่อะไรถึงสิ่งที่จะยกมาเป็นหัวข้อสนทนากันได้ ก็มักจะพูดถึงคนรู้จัก คุณรู้จักคนนั้นมั้ย คุณเคยเห็นคนนี้มั้ย มันเป็นเหมือนเป็นเรื่องที่มันจะเหมือนกับเป็นตัวกระชับมิตร ไอ้เรื่องของคนอื่น หน้าตาของคนอื่น เรื่องราวของคนอื่น มันเป็นเรื่องไกลตัว ที่เอามาพูดกันสนุกปากได้ โดยที่ไม่ต้องกระทบกระทั่งกัน เสร็จแล้วพอตอนแรกๆเนี่ย คนที่ไม่ค่อยสนิทกันเนี่ยนะ เวลาพูดถึงคนอื่นก็มักจะพูดเรื่องดีๆ พอสนิทกันขึ้นมานิดนึง ก็จะเอาเรื่องที่มันเป็นความลับ หรือว่าเรื่องที่ดูว่า เออ นี่อินไซด์เดอร์เท่านั้นถึงจะรู้อะไรแบบนี้มา แล้วถ้าสนิทกันที่สุดเลย ก็คือจะขุดคุ้ยเอาไอ้เรื่องที่ แหม อยากจะระบาย แหม อยากจะด่ามันขึ้นมา เป็นประเด็นหยิบยกขึ้นมา อันนี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ทีนี้ระดับการนินทาว่าร้าย ตัวนี้แหละจะเป็นตัวกำหนดกรรม ถ้าพูดพาดพิงเฉยๆ หรือว่ากล่าวถึงในทางที่ยกย่อง กล่าวถึงในทางที่ดี เรียกว่าสรรเสริญผู้ควรสรรเสริญเนี่ยนะ กรรมแบบนั้นจะทำให้มีคนพูดถึงในทางที่ดี หรือว่าเข้าใจไปในทางดีๆนะ ณ ที่ที่กรรมเผล็ดผล ต่อให้เป็นคนไม่ค่อยจะมีพฤติกรรมที่ดีเท่าไหร่ พูดง่ายๆว่าเน่าใน แต่ว่าข้างนอกดูดีเนี่ยนะ คนก็จะพูดถึงแต่ในทางที่ดี มีอันนี้ที่ผมรู้จักเลย รู้จักตัวเป็นๆเลยนะว่า ผลของการที่เขาเคยกล่าวสรรเสริญผู้อื่นไว้มากในอดีต และในปัจจุบันก็เรียกว่า เป็นคนที่พูดถึงอะไรดีๆของผู้อื่นไว้ เวลาที่คนพูดถึงจะพูดถึงในด้านดี แต่ถึงแม้ว่าจะมีพฤติกรรมในมุมกลับ หรือว่าพฤติกรรมในด้านมืดอย่างไร คนก็มักไม่พูดถึง อันนี้เป็นผลของการที่เคยสรรเสริญคนที่ควรสรรเสริญไว้ แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยสรรเสริญชาวบ้าน จะมีแต่นินทาว่าร้าย หรือขุดคุ้ยเอาเรื่องที่เป็นเรื่องในมุ้ง หรือเรื่องที่เค้าตบตีกับคนอื่น ทะเลาะกับคนอื่น หรือว่าแยกทางกับสามีภรรยาของตนเนี่ย แบบนี้นะเป็นเรื่องสนุกปากที่พูดถึงได้ แล้วรู้สึกว่ามันเกิดความรู้สึกว่าคึกคัก เออ กลับไปบ้านแล้วนอนหลับอะไรแบบนั้น พวกนี้ก็คือเป็นคนปกติทั่วไป อาจจะว่า ๙๙ เปอร์เซ็นต์ หรือว่าเกินครึ่งแล้วกัน อาจจะ ๖๐-๗๐ เปอร์เซ็นต์อะไรแบบนี้นะ ก็จะมีเป็นช่วงๆที่เราอาจจะต้องโดนบ้าง อาจจะโดนตั้งโต๊ะกาแฟว่ากันเป็นกลุ่ม หรือไม่ก็อาจจะ อย่างที่ผู้ถามเจอมา ก็เป็นเรื่องที่เห็นได้ในปัจจุบันว่า เขาก็ชอบทำกันอย่างนี้ และแล้วก็เป็นผลในอดีตที่คุณเคยชอบทำอย่างนั้นมาก่อน ถ้าหากเขาทำแบบอย่างนี้กับคุณ วันนึงเขาก็ต้องโดน แล้วก็โดนกันหมดนั่นแหละ เพราะว่าตราบใดที่กิเลสยังบอกว่า นินทาสนุกกว่าสรรเสริญนะครับ



๓) คนที่บวชพระ แล้วทำสังฆทาน คือเลี้ยงพระด้วยกันในวัดเดียวกันและต่างวัด พระรูปนั้นจะได้บุญมากกว่าตอนที่เป็นฆราวาสไหม?

ในฐานะของพระเนี่ยนะ ถ้าหากว่าทำทานเนี่ย ต้องดูกำลังใจ จริงๆแล้วเนี่ย เป็นพระเนี่ย แทบทุกกระดิกนะเป็นมหากุศลได้หมด แล้วก็เป็นมหาอกุศลได้หมด เนื่องจากในขณะที่ครองเพศบรรพชิตนะครับ จิตใจเนี่ยจะเป็นผู้ครองศีล สำรวม และก็มีความสะอาดยิ่งกว่าฆราวาส ต่อให้ไม่ต้องทำทานอะไรเลยนะ เอาแค่นั่งเฉยๆแล้วก็มีความรู้สึกมีสำนึกอยู่ว่า นี่เราเป็นพระ นี่เราจะต้องระวัง จะเดินจะเหิน ไปไหนมาไหน แล้วมีความสำรวมระวัง แล้วมีด้วยความคิดว่า นี่เราจะรักษาสมณะสารูป เพื่อให้เป็นผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาแก่บรรดาญาติโยมที่ได้เห็น คือไม่ได้ตั้งใจไปหลอกลวงเพื่อเอาลาภสักการะมาเข้าตัวนะ แต่ด้วยความสังวรระวังว่า เราเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า เราเป็นพุทธบุตร เรามีหน้าที่ที่จะทำให้ญาติโยมเนี่ย เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนา ในฐานะผู้สืบทอดโดยตรง ผู้สืบทอดอันดับหนึ่งเลย ก็จะเป็นบุญแล้ว ไม่ต้องเลี้ยงพระ ไม่ต้องทำสังฆทานหรืออะไรเนี่ยนะ แค่ขณะจิตที่คิดแบบอย่างนี้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่หวังลาภสักการะตอบแทน แค่คิดว่าเราจะทำตัวให้มีความสง่างามสมกับเป็นพุทธบุตร แค่นี้นะ แค่คิดอย่างนี้นะ มันบอกไม่ถูกเลยนะว่า บุญขนาดไหน บอกไม่ถูกเลยว่า โชคดีขนาดไหนที่ได้คิดอย่างนั้น ในฐานะของพระ จิตพร้อมเป็นมหากุศลได้อยู่แล้ว ในฐานะของคนที่รักษาศาสนาเพียงด้วยกิริยาอันสงบสำรวม ถ้าหากว่ามีใจคิดเป็นทานอยากจะทำบุญ จะเลี้ยงพระ หรือว่าจะไปประกอบทานใดๆก็ตามในฐานะของสงฆ์ ถ้าหากว่าเป็นส่วนที่เราพึงมีพึงได้ ของที่นำไปทำบุญนั้นได้มาโดยชอบ แล้วก็ให้ไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ อันนั้นจะให้ในฐานะของพระ ซึ่งหมายความว่ากุศลจิตที่เกิดขึ้นเนี่ย มันเท่าเดิมกับตอนที่เป็นฆราวาส แต่ผลที่ออกมามันยิ่งกว่า คือใจที่มีความเสียสละแบบพระ ใจที่คิดในทางเป็นบุญในทางเป็นกุศลแบบพระเนี่ยนะ มันพร้อมที่จะไปต่อยอด บอกแล้วว่าฐานของกุศลเนี่ย ฐานของจิตที่พร้อมที่จะทำบุญมันยิ่งกว่าฆราวาสอยู่แล้ว เหนือกว่าฆราวาสอยู่แล้ว ถ้าหากว่าเอาฐานของจิตที่สูงอยู่แล้วไปทำบุญเข้าไปอีก ก็แปลว่าผลย่อมได้มากกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นนะ อย่าไปมองเป็นผลแบบที่ว่า เดี๋ยวชาติหน้าจะได้อะไร รับอะไรเป็นรางวัล หรือผลตอบแทน แต่ขอให้มองว่าจิตที่คิดสละ มันเป็นไปในทางที่จะเอาออกจากตัว ทิ้งอะไรที่มันรกรุงรังเอาออกจากตัว ทิ้งอะไรที่มันเป็นกิเลส ที่มันเป็นความมืด ที่มันเป็นความหนักของจิตออกจากตัว ทำให้เกิดความพร้อมที่จะปล่อยวาง การให้ทานนะเป็นการปล่อยวางชนิดหนึ่ง เป็นการปล่อยวางแบบที่เป็นรูปธรรม แบบชัดๆเลยที่เห็นเลยว่า นี่เราเอาของส่วนตัวไปให้กับส่วนรวม เราเอาของที่มีอยู่ เป็นกรรมสิทธิ์ของเรา ยกให้ไปเป็นกรรมสิทธิ์ของคนอื่น ไถ่ถอนอุปาทาน เข้าใจผิดว่า มีอะไรเป็นของเรา มีอะไรเป็นเกี่ยวเนื่องกับตัวของเรา ยิ่งให้มากเท่าไหร่ ตัวยิ่งเบา ใจยิ่งเบา และถ้าประกอบพร้อมกับสัมมาทิฏฐิ คือมีความสามารถจะเจริญสติ มีความสามารถที่จะทำกรรมฐาน อันนี้ก็จะเห็นเลยว่าจิตของเรายิ่งเบา ยิ่งเบา ยิ่งเบาลง ยิ่งมีความรู้สึกเหมือนว่าตัวตนนี้มันไม่มี ไอ้ของที่มันผูกติด ผูกมัด ร้อยรัด ความรู้สึกในตัวในตนมันไม่มี นี่ตรงนี้นะที่ชัดเจนนะ ว่าเป็นพระให้ทานนี่ได้บุญยิ่งกว่าฆราวาสอย่างไร หน้าที่ของพระพร้อมอยู่แล้วที่จะทำมรรคผลนิพพานให้แจ้ง หน้าที่ของพระพร้อมอยู่แล้วที่จะเอาบุญ ที่จะเอากุศลจิตมาต่อยอดบำเพ็ญภาวนา ทำให้เกิดสมาธิ ทำให้เกิดวิปัสสนาญาณยิ่งๆขึ้นไปทุกวัน ขออยากให้มองตรงนี้ก็แล้วกันนะ ว่าการทำทานแบบพระนี่มีผลดี ชัดเจนกว่าการตอนเป็นฆราวาสอย่างไร มองง่ายๆกันตรงที่ เล็งไปทางไหน มีมุมมองในการใช้ชีวิตแต่ละวันอย่างไร เอาตรงนี้เป็นหลักนะครับ



๔) เมื่อมีความคิดฟุ้งซ่านมากควรทำอย่างไร?

ความคิดฟุ้งซ่านจัดๆนะ ก็เป็นอาการของใจ ที่มันอยู่ในภาวะที่ไม่พร้อมจะคิดอย่างเป็นระเบียบ มองอย่างนี้ก็แล้วกัน คือถ้าคิดเนี่ย มันไม่ฟุ้งซ่านหรอก ถ้าคิดจริงๆนะ แต่เพราะไม่ได้คิด มันถึงฟุ้งซ่าน มันถึงกระจัดกระจาย มันถึงได้มีอะไรที่เป็นเป้าล่อเยอะแยะไปหมด จนไม่รู้จะจับตรงไหนนะ ไม่รู้จะจับเป้าไหนดี หรือบางคนคิดฟุ้งซ่านในเรื่องๆหนึ่งที่กำลังคาใจอยู่ ที่กำลังไม่ได้อย่างใจอยู่ ไอ้ความไม่ได้อย่างใจเนี่ย ทำให้ไม่คิด มันคิดอะไรไม่ออก มันมีแต่ความรู้สึก รู้สึกอยากได้ หรือรู้สึกขัดใจ ไอ้ความรู้สึกหรืออารมณ์ที่มันไม่ได้อย่างใจ หรือกำลังขัดใจอยู่เนี่ยนะ ที่ก่อให้เกิดความปั่นป่วน ก่อให้เกิดความรู้สึกว่าเราไม่สามารถสงบจิตสงบใจอย่างมีความสุขได้ ตรงนี้นะพอเรารู้สาเหตุว่า แรงดันของความฟุ้งซ่านมาจากอารมณ์ ไม่ใช่วิธีคิดอย่างเป็นระเบียบ เราก็จะได้ดูเข้าไปที่ต้นตอได้ถูกต้อง คือแทนที่จะมาตั้งคำถามว่าทำอย่างไร จึงจะสงบจากความฟุ้งซ่านได้ กลายเป็นตั้งคำถามใหม่ว่า อะไรที่มันเป็นภาวะ เป็นแรงดัน เป็นแรงขับดันให้เกิดความฟุ้งซ่าน อารมณ์ไหน ตัวไหน มันจะสืบเข้าไปที่ใจ ว่าอ๋อมันมีแรงดันอะไรบางอย่าง ที่ทำให้จิตมันงุ่นง่าน ฟุ้งซ่าน ซัดส่าย ช่วงนี้เป็นกันเยอะนะ ช่วงกลางปี มันมีแรงขับให้เกิดความฟุ้งซ่านกันเยอะเลย ต่อให้เป็นคนที่เคยมีสมาธิ ต่อให้คนที่เคยมีความสงบมาก่อน มันเหมือนจะมีเหตุ หรือแม้กระทั้งทั่งไม่สามารถสืบหาสาเหตุได้ มันเหมือนกับไม่สมเหตุสมผล ที่อยู่ๆฟุ้งซ่านขึ้นมา เอาเป็นว่าจะด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่ จะด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่นะที่ขับดันให้ฟุ้งซ่าน ขอให้บอกตัวเองว่า ตอนนี้เราขาดวิธีคิดอย่างเป็นระเบียบ ใจมันกำลังถูกขับดันอยู่ด้วยอารมณ์ คือต่อให้คุณรู้สึกว่ามันไม่ได้มีเรื่องอะไรที่เป็นสาระให้ฟุ้งซ่าน ให้มาเกิดความพะวง หรือเกิดความคิดถึงอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่มันฟุ้งซ่านขึ้นมาเอง สืบลงไปที่จิตที่ใจตัวเองเนี่ย จะรู้สึกถึงแรงขับดัน มันจะมีเหมือนแรงดันออกมาจากข้างใน อาจเป็นความอึดอันอัด อาจเป็นความรู้สึกไม่สบายใจ อาจเป็นความรู้สึกปั่นป่วนอยู่ลึกๆเหมือนกับทะเลที่มีคลื่น โดยที่ลมมาจากไหนก็ไม่ทราบพัดมา รู้แต่ว่ามีลม พอเราเห็นถึงต้นตอที่เป็นความรู้สึกกดดันอยู่ข้างใน คุณจะเห็นเลยว่า ไอ้ระดับความกดดันให้ฟุ้งซ่านเนี่ยนะ มันมีมากบ้างน้อยบ้าง ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่า นั่งกินข้าวเสร็จ แล้วรู้สึกเลื่อนลอย นึกไปถึงเรื่องน่าขัดใจ อยู่ๆลอยมาจากไหนไม่รู้ เรื่องน่าขัดใจนั้นอาจจะผ่านไปเป็นเดือนแล้ว ใบหน้าของบุคคลคนๆหนึ่งลอยขึ้นมาในหัว แล้วก็เกิดความรู้สึกเจ็บใจ เนี่ยเอาความเจ็บใจนั้นเป็นตัวตั้ง คืออย่าไปเอาใบหน้าบุคคล อย่าเอาเรื่องที่มันผ่านไปแล้วมาเป็นอารมณ์ แต่ให้เอาความรู้สึกเจ็บใจ คันอกคันใจ เป็นตัวตั้ง เป็นตัวโฟกัสบอกว่า นี่ตอนนี้เรามีความเจ็บใจอยู่ มีอารมณ์ขุ่นเคืองอยู่ ไอ้ความกดดันตรงนั้นที่มันรู้สึกแน่นอก รู้สึกว่ามันคันขยิบอยู่ข้างในเนี่ยนะ มันก่อให้เกิดความปั่นป่วน แล้วก็จะได้เห็นว่า ไอ้ความคัน คันหน้าอก หรือว่าความรู้สึกเจ็บใจ หรือความรู้สึกที่มันไม่ดีประการต่างๆที่มันอยู่เบื้องหลังความฟุ้งซ่านเนี่ย มันไม่ได้มีระดับเท่าเดิมเสมอไป บางทีมันคันมากขึ้นมาเนี่ยนะ แต่หายใจสักทีนึง แล้วดูไปที่ความคันนั้นอีกที อ้าวมันน้อยลง หรือเกิดความรู้สึกไม่ได้อย่างใจ อึดอัด รู้สึกว่ามันอยากจะพุ่งออกไปคว้าอะไรซักอย่างหนึ่งให้ได้ ไอ้ความรู้สึกพุ่งๆนั้น ที่เป็นตัวต้นเหตุความฟุ้งซ่านนั้น ตอนแรกมันพุ่งมาก แล้วถ้าเราเห็นว่าจริงๆว่า มันมีหน้าตาพุ่งๆยังไง เดี๋ยวมันอ่อนกำลังลงได้ นี่ถ้าเราเล่นสนุกกับการเห็นต้นเหตุความฟุ้งซ่าน ว่ามันไม่เที่ยง ความฟุ้งซ่านมันจะพลอยลดระดับลงไปด้วย แล้วเราจะเคยชินนะ ฟุ้งซ่านขึ้นมาเมื่อไหร่นะ จะไม่เอาแต่คอยคิดว่าทำอย่างไรจะหายฟุ้งซ่าน แต่หาต้นตอให้เจอ หาต้นตอทางอารมณ์ หาต้นตออันเป็นภาวะทางจิต เพื่อสังเกตอนิจจังของมัน ความไม่เที่ยงของมัน จนกระทั่งสามารถที่จะเห็นได้ว่า ต้นตอไม่เที่ยง และผลของความฟุ้งซ่านก็ไม่เที่ยงเช่นกัน


ราตรีสวัสดิ์ครับ ขอให้เจริญในธรรมทุกท่านครับ


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น