วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๑๓ / วันที่ ๑๗ ก.พ. ๕๕

สวัสดีครับทุกท่านวันนี้วันศุกร์ที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง และเพื่อจะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/HowfarBooks นะครับ

ช่วงนี้หลายคนก็อาจจะงงๆนะครับว่า นี่คือฤดูร้อน ฤดูฝน หรือฤดูหนาวกันแน่ เอาเป็นว่าถ้าร้อนก็อาบน้ำ ฝนตกก็กางร่ม หรือหนาวหน่อยก็หาผ้ามาห่มก็แล้วกันนะครับ ปรับตัวตามธรรมชาติกันไป ไม่ต้องคิดมาก เอาล่ะ



๑) เวลาทำสมาธิจะเกิดความรู้สึกนิ่งสงบสลับกับฟุ้งซ่าน ซ้ำไปซ้ำมา เข้าๆออกๆ ถ้าเป็นแบบนี้ถือว่าทำมาถูกทางไหมครับ แล้วบางครั้งตอนออกจากสมาธิแล้วก็รู้สึกซึมๆ ไม่ก็รู้สึกตึงจนเครียด ไม่ทราบว่าจะแก้สภาวะเหล่านี้ได้อย่างไรครับ ขอบคุณครับ?

เอาตรงคำถามแรกก่อนที่ว่ารู้สึกนิ่งสงบ สลับกับฟุ้งซ่านซ้ำไปซ้ำมานะครับ อันนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกคน ณ เวลาที่จิตยังไม่ตั้งมั่น หรือแม้ว่าจิตตั้งมั่น ต่อให้ได้ถึงฌานแล้วนะ จิตก็จะมีอาการแบบนี้ให้ดูเสมอนะครับ เป็นเรื่องที่เราต้องบอกว่าไม่ได้เกิดกับเฉพาะคนที่ฝึกสมาธิเท่านั้น แต่เกิดกับทุกคนบนโลก

คือว่า จิตนี่นะมันมีความเป็นธรรมดาอยู่อย่างหนึ่ง คือ เอาเป็นว่าพูดอย่างนี้ก่อนแล้วกัน คือที่เขาบอกกันตามหลักการของวิทยาศาสตร์คือ สมองมีคลื่นไฟฟ้า แล้วคลื่นไฟฟ้านี่ก็ส่งออกมาอยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นคลื่นไฟฟ้าที่มีระเบียบหรือไม่มีระเบียบ ถ้าไม่มีระเบียบหน่อย ก็เรียกว่าเราจะรู้สึกถึงความกระจัดกระจายกระเจิดกระเจิงไม่ค่อยเป็นระเบียบนะ ก็คือฟุ้งซ่านนั่นเอง คิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ จริงๆก็คือว่ากันทางกายก็คืออาการของสมองอย่างหนึ่งนะครับ มันไม่มีทางที่จะสงบอยู่ได้ตลอดเวลา หรือว่ามีความเรียบมีความเป็นระเบียบอยู่ได้ตลอดเวลา

ลักษณะอย่างนี้แหละที่ทางพุทธเราเอาไว้ดูว่า เดี๋ยวมันก็ฟุ้ง เดี๋ยวมันก็สงบ เห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง ความไม่เที่ยงนี่ ไม่ใช่ว่ามีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งให้ดูนะ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะนอกตัว หรือว่าในตัว เรา สามารถมองเห็นลักษณะของความไม่เที่ยงที่ปรากฏอยู่ได้เสมอ แม้กระทั่งในเวลาทำสมาธินี่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิด หรือว่าหลักการทำสมาธินอกแนวพุทธนี่นะ บางทีเขาจะบอกให้บังคับจิตให้สงบ ให้บังคับความฟุ้งซ่าน ให้มันระงับลง ทางพุทธไม่เอานะ ไม่เอาแบบนั้น

ทางพุทธจะเอาแค่สิ่งที่เกิดขึ้นตามจริงเพื่อให้เกิดการยอมรับตามจริง พอยอมรับตามจริงนั่นแหละปุ๊บ สติมันเกิดแล้ว แล้วสติเจริญขึ้นตอนที่เราสามารถที่จะเห็นได้เรื่อยๆในการที่ไม่ไปต่อสู้ ในขณะเดียวกันก็ไม่ไปต้อนรับขับสู้ว่า ความฟุ้งซ่านมันจะมาเมื่อไหร่ มันจะหายไปเมื่อไหร่ เราไม่สู้แล้วก็ในขณะเดียวกัน ไม่ไปให้การสนับสนุนด้วย

ในที่สุดเราก็จะเห็นว่าทั้งความฟุ้งและความสงบมันมาๆไปๆ ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยอะไร ถ้าฟุ้งซ่านก็คือมีความปล่อยใจ มีอาการที่จิตนี่ไม่สามารถโฟกัสอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่ถ้าสงบก็คือมีเหตุให้ใจของเรานี่ไปสงบอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ เราก็เห็นความเป็นอย่างนั้นแหละ เห็นว่าเหตุของความเป็นอย่างนั้นมันไม่สามารถทนอยู่ได้ตลอดเวลา เพราะอะไร เพราะว่ามันไม่ใช่สมบัติที่แท้จริงของใคร มันมีเหตุของการสืบต่อกันมา ถ้าหากว่าเราเป็นคนที่มีความปรุงแต่งทางใจไปในทางสงบโดยมาก ไปในทางเรียบโดยมาก เป็นในทางที่คิดอะไรอยู่กับสิ่งเดียว แบบเรียบง่าย นั่นก็เป็นเหตุของสมาธิ แต่ถ้าหากว่าเราเป็นคนที่ว้าวุ่นกระสับกระส่าย คอยแต่ฟังคอยแต่จะดูอะไรที่มันปรุงจิตให้วุ่นวาย อย่างนี้ก็มีคลื่นความฟุ้งซ่านสะสมอยู่เยอะ แล้วก็มาปรากฏในสมาธิอย่างชัดเจนนี่แหละ เวลาที่เราจะตั้งใจจะดูลมหายใจ เวลาที่เราตั้งใจจะบริกรรมอะไรก็แล้วแต่ มันจะอยู่ได้ไม่นาน แล้วคลื่นความฟุ้งซ่านที่สะสมไว้มันก็จะผลักดันตัวเองออกมาให้ปรากฏ ความฟุ้งซ่านปรากฏมาก ความสงบปรากฏน้อย

แต่ถ้าหากว่าเราฝึกสมาธิไปเรื่อยๆ เราใช้ชีวิตประจำวันสอดคล้องกับความเป็นสมาธิ เราก็จะรู้สึกว่าความสงบมันมาบ่อยกว่าความฟุ้งซ่าน แล้วก็สามารถที่จะอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานกว่าปกติที่ผ่านมาในชีวิต อันนี้ก็จะเป็นผล

อันนี้ก็จะพูดง่ายๆว่าคือสรุปคำตอบ ตรงนี้ผมเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญเลยพูดยาวหน่อยนะ เวลาทำสมาธิอย่าไปตั้งใจว่าจะให้มันสงบ อย่าไปตั้งใจว่าจะให้ความฟุ้งซ่านมันระงับลงไป มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยว่าเราสั่งสมความฟุ้งซ่านมามากแค่ไหน แล้วก็สั่งสมเหตุแห่งสมาธิมามากเพียงใดนะครับ มันจะปรากฏสลับกันไปสลับกันมาตามเหตุปัจจัยที่เราสั่งสมไว้นั่นแหละ

ส่วนคำถามที่ว่าออกจากสมาธิแล้วรู้สึกซึมๆ หรือไม่ก็รู้สึกตึงจนเครียดมันมาจากอะไร ตอบ อาการซึมนี่นะมันจากการที่เรายังมีกำลังไม่ทรงตัว ยังไม่ตั้งมั่น มันยังไม่ได้ความสดชื่นจากสมาธิ ถ้าหากว่านั่งสมาธิไปนานพอ มีประสิทธิภาพมากพอ ได้ผลมากพอนะ ร่างกายมันจะมีความสดชื่นจากการที่มันหลั่งสารอะไรดีๆออกมานะครับ ส่วนจิตใจก็จะมีความเบิกบานจากอาการที่ คือถ้าจิตเป็นสมาธินี่นะ มันจะเปิด มันจะกว้างออก มันจะมีความเบา มันจะมีความใส ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดความสดชื่น ให้เกิดความเบิกบาน ไม่เซื่องซึมนะ

และหากว่าเซื่องซึมก็อย่าเพิ่งท้อนะ อย่าไปมองว่าเราทำผิดหรือว่าทำถูก ให้มองว่ามันเป็นอย่างนี้แหละ การที่เราไปออกแรง หรือว่าไปพยายามทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานานๆนี่ มันก็ต้องเหนื่อยเป็นธรรมดา ตอนที่สมาธิมันยังไม่เบ่งบานนะ ตอนที่ร่างกายมันยังไม่หลั่งสารอะไรดีๆออกมานี่ ต้องมีสภาพของคนที่ทำอะไรมาเหน็ดเหนื่อยเป็นธรรมดานะครับ

ส่วนอาการตึงจนเครียดนี่แหละ คือปัญหา หรือว่าเป็นโจทย์ที่เราต้องมาตีให้แตก ขอให้สังเกตว่าการทำสมาธิของเรานี่มันมีอาการของการจดจ่อมากไปหรือเปล่า มันมีอาการของการฝืนตัวเองมากเกินไปหรือเปล่า มันมีความเต็มใจของการทำสมาธิแค่ไหน

ลองสังเกตง่ายๆเลยถ้าหากเรามีอาการของการเต็มใจทำสมาธิ มีอาการของความสดชื่น ความสบาย มันจะไม่เครียด คือตรงข้ามเลยคือจะถ้ามีความเครียดมาทั้งวันถ้าสั่งสมขยะทางอารมณ์มาทั้งวัน มันจะเหมือนกับว่าหายไปหมด เหมือนกับอะไรที่มันเกรอะกรังอยู่ในหัวหรือว่ากลางอกนี่ มันจะหลุดไป

ถ้าทำมาถูกทาง ขอแนะนำนะครับว่าวิธีสังเกตง่ายๆเลย สังเกตบ่อยๆว่าฝ่าเท้า ฝ่ามือ และใบหน้าของคุณนี่ มันมีอาการตึงขึ้นมาเมื่อไหร่ มีอาการเครียด มีอาการเกร็ง มีอาการงองุ้มขึ้นมาเมื่อไหร่ ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่งของสามจุดใหญ่นี้ คือ ฝ่าเท้า ฝ่ามือและทั่วทั้งใบหน้า มันจะมีอาการเครียด มันจะมีอาการเกร็งขึ้นมานะ ถ้าหากว่าคุณสามารถรับรู้ ณ จุดที่มันเกิดขึ้น แล้วผ่อนคลายให้มันมีความสบายออกไป คุณจะรู้สึกว่า มีสติ มีความรู้ตัว และมีความพร้อมที่จะรู้อย่างผ่อนคลาย แล้วพอออกจากสมาธินี่ แทนที่จะเครียดนะ ความเครียดหรือว่าอารมณ์ทั้งหมดที่มันเป็นขยะทั้งหลายที่มันสั่งสมมาตลอดวันมันจะพลอยหายไปด้วย เอาแค่สังเกตอย่างนี้แหละ

พูดง่ายๆนะ ช่วงแรกๆนี่ อาจจะเอาตรงนี้เป็นหลักเลยก็ได้ รู้ส่วนไหนของฝ่าเท้า ฝ่ามือ ใบหน้า มันเกร็งมันขมวดขึ้นมาเมื่อไหร่นะครับ พอรู้ก็ให้มันเกิดการคลายซะ พอคลายให้รู้สึกสบายตัวแล้วค่อยไปดูลมหายใจใหม่นะครับ เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ในช่วงแรกๆ แล้วจะรู้สึกเลยว่าอาการเครียดหลังจากที่ออกจากสมาธินะ มันหายไป



๒) เวลาหัดทำสมาธิหรือเดินจงกรมตามที่รู้มา เราควรจะรับรู้ตามความเป็นจริงไม่ว่าจะหายใจหรือว่าก้าวเท้า แต่เวลาที่ทำผมรู้สึกว่ามันเป็นการคิดไม่ใช่การรู้ เหมือนกับความคิดท่องพุทโธ ท่องก้าว ย่าง เหยียบ มันเหนือๆ นำๆ ในหัว เลยทำให้เรารู้สึกว่าไม่ได้รับรู้ตามจริง แต่เรากำลังฟัง ท่องอะไรสักอย่าง มันตื้นๆ แล้วบางทีก็เครียด ทำก่อนนอนเล่นเอานอนไม่หลับเลยทีเดียว จะทำอย่างไรดีครับ?

เริ่มต้นขึ้นมา เวลาที่เราจะรับรู้ความจริงนี่ อย่าไปกะเกณฑ์ว่าทำอย่างไรถึงจะถูก ถ้าทำอย่างนี้ถึงจะผิด การที่เราไปคอยหมั่นถาม หรือว่าจับผิดตัวเองว่า นี่กำลังรู้อยู่หรือว่ากำลังคิดไปเอง ตัวนั้นแหละ ตัวความกังวลนั้นแหละที่จะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า วิจิกิจฉา อันเป็นตัวถ่วงไม่ใช่ตัวทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าของสตินะครับ

ถ้าหากว่าเมื่อไหร่ ที่เราเกิดความรู้สึกที่ว่าถึงความมีวิจิกิจฉานี่ ว่ามันมีอาการสงสัยอาการกังวลว่านี่เรากำลังคิด นี่เรากำลังรู้ เอาตัวนั้นก่อนเลย ตัวนั้นเป็นอันดับแรกเลย เป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของการเจริญสติของเรา ณ เวลานั้นเลยนะครับ

วิธีรู้วิจิกิจฉาที่ถูกต้องเลยคือรู้และยอมรับไปว่ามันเกิดความสงสัยขึ้นมา มันเกิดไม่สบายกายขึ้นมา คือมันเกิดความไม่สบายกายขึ้นมาก่อนแหละ เสร็จแล้วก็จะตามมาด้วยความรู้สึกอึดอัด มีอาการเกร็ง มีอาการของกาย นี่แหละมันถึงเป็นเหตุหนึ่งของความเครียด อย่างตอนที่เราไปพยายามทำก่อนนอนนี่นะ ยิ่งมีความสงสัย ยิ่งมีความฝืน ยิ่งมีความรู้สึกว่า เอ๊ะ มันผิดหรือเปล่านี่นะ มันก็ยิ่งทำให้ แทนที่จะนอนอย่างสบายๆ กลายเป็นว่าตาค้างไปนะ ตาค้างด้วยความสงสัย ถึงแม้ว่าเปลือกตาจะปิด แต่ว่าตาในนี่นะมันเหมือนกับว่าเหมือนกับเบิกโพลงอยู่ เหมือนยังแข็งอยู่ ก็เลยเป็นต้นเหตุให้เหมือนกับเกิดความเครียด

ถ้าหากว่าเราหายใจ ตอบตัวเองถูก เวลานี่หายใจเข้า เวลานี่หายใจออกอยู่ อย่าไปคิดว่าผิดหรือถูก ให้คิดว่านี่ เรารู้แล้วจริงๆว่ากำลังหายใจเข้าหรือหายใจออก จากนั้นนี่นะ มันจะมีความฟุ้งซ่านตามมาอย่างไร มันจะมีความปั่นป่วนรวนเรตามมาอย่างไร ไม่ต้องไปสนใจ สนใจแค่ว่าเราสามารถยอมรับตามจริงได้หรือเปล่าว่า ในขณะนั้นกำลังมีความปั่นป่วนรวนเร มันมีความฟุ้งซ่านตามหลังจาการรู้สึกถึงลมหายใจมา ถ้าหากว่าสามารถรับรู้ได้ตามจริงว่าหายใจเสร็จแล้วฟุ้งซ่าน นั่นแหละให้ชมตัวเองว่าสามารถรู้ตามจริง แม้แต่กำลังสงสัยว่านี่กำลังทำผิดหรือทำถูกอยู่ นั่นก็ชมตัวเองว่านั่นแหละถูกแล้ว นั่นรู้ถูกต้องตามจริงแล้วนะครับ



๓) มีปัญหาเรื่องลูกค่ะ กำลังเห็นกงจักรเป็นดอกบัว ความคิดบิดเบี้ยวอย่างไรไม่รู้ค่ะ ชักแม่น้ำทั้งห้าก็แล้ว ยังเหมือนเดิม น้องอายุ ๑๕ ค่ะ เป็นผู้ชาย?

เรื่องลูกเป็นเรื่องที่ บางที อยากให้ทำใจอย่างนี้ก่อนนะว่า เป็นอนัตตาภายนอก คือแม้แต่อนัตตาภายในอันได้แก่กายใจของเรานี้ เราก็ไม่สามารถควบคุมได้อยู่ตลอดเวลาให้ได้อย่างใจ การที่จะไปควบคุมอนัตตาภายนอกให้ได้อย่างใจ มันยิ่งเป็นเรื่องเหลือวิสัยนะครับ ขอให้คิดอย่างนี้ก่อนเป็นอันดับแรก อย่างน้อยมันจะได้บรรเทาความรู้สึกห่วง กังวล หรือว่าผูกยึดว่าจะต้องเอาให้ลูกได้ดีท่าเดียว

อันดับที่สองก็คือว่าเราต้องมุ่งมองตามจริงว่าโลกสมัยนี้มันเต็มไปด้วยสิ่งที่ทำให้คนหลงผิดได้ง่าย แล้วก็ลูกในวัย ๑๕ นี่นะก็เป็นวัยที่จะว่าเด็กก็ไม่ใช่ จะว่าโตก็ไม่เชิงนะ เป็นอะไรที่น่าปวดหัวมาก เป็นอะไรที่เราควบคุมได้ยากที่สุด เป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ ขอให้วางใจในเส้นทางกรรมของแต่ละคนก็แล้วกันนะครับ ขอให้วางใจว่าถ้าหากว่าเขามาเป็นลูกของเราที่สนใจธรรมะ มันก็ต้องมีทาง ถ้าใจเราเย็นพอ ต้องมีสักวันหนึ่ง ที่เขาจะเข้าถามเรา เข้ามาหาเราพร้อมกับใบหน้าสงสัยว่าอะไรเป็นอะไร อยากรู้เรื่องไหนก็ค่อยตอบเขาไปตามนั้น แก้ข้อสงสัย การที่เราอยากจะไปยัดเยียดทุกความรู้สึกที่ถูกต้อง ทุกความคิดที่ถูกต้องตูมเดียว โดยที่เขายังไม่พร้อมจะรับ หรือว่าเราเห็นอะไรผิดอยากจะให้เขาถูกทันทีนี่ มันเป็นภาวะที่เขาเรียกว่า น้ำเชี่ยวเอาเรือไปขวางนะครับ

ขอให้ไปตามน้ำบ้างดีกว่า และไปตามน้ำในลักษณะสังเกตว่าเมื่อไหร่ควรคัดท้าย เมื่อไหร่ควรที่จะหักเลี้ยวซ้าย เมื่อไหร่ควรที่จะหักเลี้ยวขวา เวลาที่คุณสังเกตได้ถูกต้องนี่นะ คุณจะเห็นว่าใจของเรากับลูกนี่มันสื่อสารตรงกันได้ ใจเขามีอาการที่จะยอมฟัง ใจเขามีอาการที่จะเปิดปากถามเรา

แต่เมื่อไหร่ที่เขาไม่พร้อมจะถามเรา เมื่อไหร่เขาไม่พร้อมจะฟังเรา เมื่อไหร่ที่เราไม่สามารถสัมผัสได้ถึงความรู้สึกของการเป็นแม่เป็นลูกกันนี่นะ เมื่อนั้นอย่าเพิ่งพูด แต่ให้เอาน้ำเย็นเข้าลูบก่อน น้ำเย็นคืออะไร คือใจของคุณเองที่ไม่ร้อน ไม่เร่งตัวเองให้พยายามเปลี่ยนผิดให้เป็นถูกให้ลูกทันที ขอให้มองเถอะว่าให้เขาไปรับบทเรียนบ้าง ให้เขาไปมีความทุกข์บ้าง อย่ามองว่าเขาจะต้องมีความสุขอยู่ตลอดเวลา หรือทำถูกอยู่ตลอดเวลา เพราะว่านอกจากจะเป็นไปไม่ได้ ในฝั่งของเขาแล้ว มันยังทำให้ใจของคุณไม่สามารถสงบลงในเวลาที่ควรจะสงบด้วย

การที่คุณไม่สามารถสงบ และมีความรุ่มร้อนอยู่ตลอดเวลา ขอให้มองเถอะว่าใจแบบนั้นมันยิ่งทำให้คุณกับลูกนี่ มันยิ่งห่างกันออกไปนะ ไม่ใช่ใกล้กันเข้ามา แล้วถ้าหากว่าคุณสามารถเห็นว่าความเย็นเป็นสะพานเชื่อมระหว่างใจเขากับใจเรานะ ถ้าคุณสามารถสังเกตตรงจุดนั้นได้คุณจะพบว่าทุกคำที่พูดออกมา พูดออกมาอย่างที่เห็นว่าควรจะเป็นอย่างไร มันจะมีอาการสังเกตใจเข้าไปด้วย ไม่ใช่สังเกตแต่ความอยากเปลี่ยนเขาได้อย่างใจเราท่าเดียวนะครับ

อันนี้คงตอบกว้างๆ เพราะว่าเรื่องคำถามเกี่ยวกับคนอื่นที่เป็นอนัตตาภายนอกนี่นะ เป็นอะไรที่ตอบยากที่สุดเลย เพราะว่าเราไม่มีคำไม่มีอุบายอะไรหรอกนะที่จะไปพยายามทำให้อนัตตาภายนอกเป็นได้อย่างใจเรานะครับ



๔) มีปัญหา/ขัดแย้งกับครูทางธรรมตลอด อธิษฐานขอให้เจอครูดี ที่สอนตามแนวพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริงก็แล้ว จะทำอย่างไรดี? แค่อยากปฏิบัติตามหลักสัมมาทิฏฐิที่ถูกต้อง

(ถาม – ชีวิตของหนูมีครูทางธรรม ๕ คนค่ะ ภายใน ๑๑ ปี แต่สุดท้ายแล้วหนูก็ต้องมีปัญหากับครูทางธรรมตลอด ทั้งที่หนูไม่อยากมีปัญหาเลย หนูสวดมนต์และอธิษฐานตลอดว่าขอให้เจอครูทางธรรมที่สอนตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าโดยแท้จริง อย่าให้หนูหลงทางอีกเลย ทุกวันนี้หนูเลยไม่อยากเข้าหาใครอีก เพราะกลัวว่าสุดท้ายตัวเองจะต้องมีปัญหากับครูทางธรรมคนต่อๆไปอีก หนูไม่อยากกลายเป็นคนเนรคุณค่ะ จะทำอย่างไรดีคะ? เพราะหนูก็อยากปฏิบัติธรรมตามสัมมาทิฏฐิหรือแนวทางที่ถูกต้อง)

เอาคำถามนี้ก่อนก็แล้วกันนะ
คือเรื่องของครูทางธรรมนี่นะ

จริงๆแล้ว เท่าที่ผมสังเกตมา
ไม่ว่าจะในฐานะของศิษย์
ในฐานะของนักเรียน ในวาระแรกๆ
หรือในฐานะของคนที่ให้คำชี้แนะกับคนอื่นมาบ้างนี่นะครับ
ก็อยากจะบอกอย่างนี้ว่า

“อย่าคาดหวังว่า เราจะได้ครูที่มาอุ้ม
หรือว่ามาแบกเราขึ้นฝั่ง”

อันนี้เป็นอันดับแรก
ที่จะต้องทำใจกันไว้ก่อน เป็นเบื้องต้นเลย

เพราะว่ามนุษย์กับมนุษย์นี่นะ
ก็มีกิเลสเหมือนๆกันแหละ
คนที่เป็นครู ไม่ใช่คนที่หมดกิเลสแล้ว

ส่วนใหญ่ความคาดหวังของเราที่เราตั้งไว้ให้กับครู
โดยเฉพาะครูที่เราตั้งไว้ให้ว่า เป็นครูธรรมะ นี่นะ
มักจะมีค่าสูงพอๆกับ หรือใกล้เคียงกับพระอรหันต์
ซึ่งบางทีมันไม่ใช่อย่างนั้นนะครับ

คนที่เป็น ‘บรมครู’
ผู้มีความพร้อมที่จะสอนจริงๆทั้งเทวดาและมนุษย์
มีแต่พระพุทธเจ้า
ซึ่งท่านก็ดับขันธปรินิพพานไปแล้วนะครับ ล่วงลับไปแล้ว
สิ่งที่เหลืออยู่ก็คือ ธรรมะ หรือคำสั่งสอนของท่าน
ยังมีให้อ่านอยู่ครบถ้วนเลย ท่านเคยสอนอะไรไว้
ท่านเคยบอก ท่านเคยชี้แจงอะไรไว้

บางทีนะ ถ้าหากเราอยากได้ครูจริง
เราต้องเข้าหาคนที่ดีที่สุด คนที่ประเสริฐที่สุด
คนที่เหมาะจะสอนทั้งมนุษย์และเทวดามากที่สุด
คือ พระพุทธเจ้า
เราต้องมองสิ่งที่ยังเหลืออยู่เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้านี่
คือ ธรรมะของพระพุทธองค์

เวลาที่พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานนี่
ท่านบอกว่า ขอให้ธรรมะของท่านเป็นตัวแทนสืบต่อไป
ไม่ใช่แต่งตั้งให้ใครคนใดคนหนึ่ง

ทั้งๆที่ตอนนั้น สมัยนั้นมีพระอรหันต์อยู่เยอะแยะเลยนะ
มีพระอรหันต์ที่สำเร็จอภิญญาทั้ง ๖ ประการ
เหมาะสมที่จะเป็นใหญ่ในทางศาสนานี่
ท่านก็ไม่ได้ฝากฝังไว้

เพราะว่าบุคคลเหล่านั้นนี่ อย่างไรต้องดับขันธ์
คือมีอาการดับขันธ์สูญสิ้นตามพระพุทธองค์ไปเหมือนกัน
แต่สิ่งที่จะยั่งยืนกว่าชีวิตมนุษย์ ก็คือ พระธรรมคำสอน
ซึ่งบัดนี้ก็ยังจารึกไว้อยู่ในรูปของพระไตรปิฎก

ถ้าหากเราตั้งความหวังไว้ว่า
เราจะศึกษาธรรมที่เป็นคำสอนของพระพุทธองค์จริงๆ
ด้วยการอ่านเอาเองในเบื้องต้น
แล้วสงสัยอะไร ค่อยไปถามคนที่เราเห็นว่าเขารู้จริง
เขาสามารถอธิบายความสงสัยของเราได้
อย่างนั้นค่อยจะเป็นเหมือนกับ
มีตัวเองเป็นที่พึ่ง
มีคนอื่นเป็นแรงบันดาลใจ
หรือว่ามีคนอื่นคอยช่วยแก้ปัญหาให้
ในจุดที่เป็นอุปสรรคติดขัดจริงๆ

แต่ถ้าเราหวังว่า
จะมีใครสักคนเหมือนกับพระอรหันต์
เหมือนกับพระพุทธเจ้าเป๊ะ
ไม่มีปัญหากับเราเลย
ในฐานะของมนุษย์กับมนุษย์นะ
ปัญหาระหว่างมนุษย์กับมนุษย์จะไม่มีเลยนี่
มันจะเป็นการคาดหวังที่สูงเกินไป
สูงเกินสเปคของมนุษย์ธรรมดา
ที่ยังมีชีวิตอยู่ และไม่ใช่พระอรหันต์นะครับ

ก็สรุปง่ายๆก็แล้วกัน
ขอให้คาดหวังในธรรมะ
อย่าคาดหวังในตัวบุคคลนะครับ


หลายคนที่บอกว่าวันนี้การฟังชัดเจนดี กับบางคนที่บอกว่ามีการมีปัญหาในการรับฟัง ก็คงจะเป็นปัญหาในเรื่องของนอกจากอินเตอร์เน็ตฝั่งของเราแล้ว ก็อาจจะเป็นเรื่องความสามารถของเซิร์ฟเวอร์ คือผู้ให้บริการของ http://www.spreaker.com นะครับ บางทีมันเป็นช่วงแรกๆของเขาก็อาจจะยังไม่พร้อมเต็มที่นะ นี่เขาก็ยังไม่ได้โฆษณาเต็มที่นะ ก็ยังเป็นการบุกเบิกอยู่ อยู่ในช่วงบุกเบิกนะครับ ถ้าหากว่ามีคนเข้าไปเยอะๆนี่ ก็อาจจะมีปัญหาที่เขาไม่สามารถจะจ่ายมาได้ทันครบทุกคน แต่ส่วนใหญ่เท่าที่ฟังมาจากฟีดแบ็กนะครับ ถ้าหากอินเตอร์เน็ตของฝั่งเรามีความฉับไวพอนี่นะ ส่วนใหญ่ก็จะไม่ค่อยมีปัญหา ก็ลองถามๆกันเอาแล้วกันว่าตอนนี้อินเตอร์เน็ตของใครที่ดีที่สุดในประเทศไทยนะครับ ก็เอาอันนั้นไว้ก่อน ก็ต้องขออภัยสำหรับคนที่รายงานมาว่าจะต้องโหลดทีหลัง ก็คงต้องเป็นแบบนั้น

เอาล่ะผมขอบอกอย่างนี้ก็แล้วกันนะ จริงๆผมมีความตั้งใจอยู่นะว่าจะให้การออนแอร์หรือว่าการใช้เสียงพูดระหว่างคุณกับผมนี่นะครับ มีไปเรื่อยๆ ก็อาจจะมีการพลิกแพลงรูปแบบกันบ้าง ตอนนี้กำลังดูๆอยู่ ก็อาจจะทำเป็นบรอดคาสต์นะครับ แล้วก็อาจจะมีช่องทางอื่นในการสื่อสารมากกว่านี้ แต่ก็ต้องขออภัยที่ตอนนี้ยังมีช่องทางเดียวทาง http://www.spreaker.com นะครับ เพราะว่าทำช่องทางไหนไปแล้ว มันต้องมีความชัดเจน มันต้องมีความแน่นอนเพราะว่าทำหลายๆช่องทางแล้วไม่มีความชัดเจน เดี๋ยวมันเลยกลายเป็นให้การรับรู้ของคุณๆสับสนพร่าเลือนว่าตกลงผมไปใช้เสียง กระจายเสียงที่ไหนกันแน่

การได้คุยกันมันก็เป็นเรื่องดีนะ ธรรมะ หรือว่าการสนทนาธรรมตามกาล อย่างน้อยที่สุดนี่ ก็เป็นเครื่องรับประกันว่าเป็นสิ่งปรุงแต่งจิต ไปในทางที่เป็นกุศลนะครับ แต่ว่าบางทีในเรื่องของช่องทางในการสื่อสารกันนี่ก็อาจจะติดขัดกันอยู่ เพราะว่าผมเองก็เรียนให้ทราบตามตรงว่า ยังต้องทุ่มเวลาให้กับงานเขียนมากกว่าอย่างอื่น ทีนี้พอออนแอร์ไปนี่ ก็มีคำชักชวนจากหลายทางมานะ เรียนให้ทราบตามตรงว่า ไม่ค่อยพร้อมจะออกจากบ้านเท่าไหร่ โดยเฉพาะช่วงที่กำลังทำหนังสือหนักๆอยู่นะครับ ต้องหามรุ่งหามค่ำกัน คืนนี้ก็ขอราตรีสวัสดิ์ก่อนนะครับ เหลือเวลาอีกแค่สิบวินาทีครับ โอเคครับ ขอให้มีความเจริญในธรรมกันทุกท่านครับ


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น