วันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๙๐ / วันที่ ๑๕ ส.ค. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันพุธที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง เพื่อจะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการนะครับ ให้เข้าไปที่เฟสบุ๊ค http://www.facebook.com/HowfarBooks



๑) การที่เราเข้าใจกฎของไตรลักษณ์ แล้วตามทันความรู้สึกสุขและทุกข์ที่เกิดขึ้นกับเรา รู้ว่ามันเป็นเกมชีวิต เมื่อความทุกข์ผ่านเข้ามา เราก็ไม่รู้สึกว่าความทุกข์มันบีบคั้นชีวิตของเรา หรือเมื่อความสุขผ่านเข้ามา เราก็รู้ทันว่ามันจะไม่อยู่กับเราตลอดไป ขอเรียนถามว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ เราจะเห็นกายใจนี้เป็นทุกข์ได้อย่างไรคะ? และถ้าไม่เห็นกายใจนี้เป็นทุกข์ หมายความว่าโอกาสที่จะบรรลุก็ไม่เกิดขึ้นกับเราใช่ไหม?

อันนี้ต้องทำความเข้าใจกับองค์ธรรม องค์สภาวะ องค์ประกอบที่จะทำให้เราเข้าใกล้มรรคผล มันไม่ใช่เกิดความกระสับกระส่าย ทุรนทุราย หรือว่าอยากดิ้นหนีจากกายใจนี้ ความเบื่อหน่ายกายใจนี้เนี่ย ที่จะระอิดระอาหรือว่าขยะแขยง มันเป็นช่วงแค่ตอนเริ่มๆเห็น ณ เวลาที่จิตยังไม่ตั้งมั่นเป็นสมาธิ ยังไม่มีอุเบกขา แต่ถ้าหากว่าเราผ่านความรู้สึกแหนงหน่าย คลายความยินดีในกายใจ ตรงนั้นเนี่ยมันจะเกิดภาวะขึ้นมาอีกแบบนึง คือ มีความสงบระงับทั้งกายและใจ มีความสุข มีปีติ แล้วก็มีสมาธิ มีอุเบกขา พูดง่ายๆว่าจิตใจตั้งมั่นไม่เกิดความยินดียินร้ายกับความมีหรือไม่มีกายใจ ตลอดจนสิ่งที่ผ่านเข้ามากระทบ ถ้าหากว่ามองเป็นองค์ธรรมที่ทำให้ใกล้เคียงจะตรัสรู้ บรรลุมรรคผลนะครับ พูดง่ายๆว่าต้องมีสติ ต้องมีการเห็นความจริง เห็นตามจริง เห็นแบบมีความสามารถในการแยกแยะออก ว่าอะไรๆมันผ่านเข้ามาเนี่ย มันไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ได้น่าเอา ไม่ได้น่ายึดมั่นถือมั่น

จากนั้น ก็จะต้องมีความเพียร จะต้องมีปีติ ต้องมีปัสสัทธิ ปัสสัทธินี่ก็คือความระงับ สงบทั้งกายทั้งใจ แล้วก็มีความสุข มีสมาธิ แล้วก็มีอุเบกขาด้วย ถ้ามองกันที่จิต มองกันที่สภาวะของใจ ไม่ใช่ว่าเราปฏิบัติไป เจริญสติไป เท่าทันความจริงแล้วเนี่ย มันจะเกิดความทุรนทุราย หรือว่าเห็นร่างกายกับจิตใจมันเป็นอะไรที่น่าขยะแขยงอยู่ตลอดเวลา ตรงข้ามเลยนะครับ เราจะรู้สึกว่ามันมีอยู่ก็สักแต่มีไป เราก็ดูไป อาศัยมันเป็นเครื่องระลึกถึงความไม่เที่ยง และก็ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เพื่อให้จิตเราสงบระงับ และก็มีความพร้อมที่จะถอนออกจากความยึดมั่นถือมั่น หรือว่ามีความพร้อมที่จะทำลายอุปาทาน การที่ถามว่า เหตุการณ์ทั้งหลายทั้งแหล่ที่เข้ามากระทบเรา ไม่ว่าจะเป็นทุกข์หรือจะเป็นสุขก็ตาม เราไปรู้ทันมันซะหมด แบบนี้เนี่ยไม่ใช่ว่ารู้ทันในแบบที่จะมาตัดสินกัน ว่าทำให้บรรลุหรือไม่บรรลุได้นะครับ ทำให้มีแนวโน้มที่จะใกล้เคียงความจริงไปมากน้อยแค่ไหน เราต้องดูกันที่ตัวสภาวะของใจ ว่าสติเกิดขึ้นอัตโนมัติหรือเปล่า

คำว่าอัตโนมัติหมายความว่ามีความสม่ำเสมอ มีความเป็นไปเองนะครับ มีอะไรมากระทบแล้วรู้ทัน สักแต่ว่ารู้ทันไปเนี่ยว่า กระทบ แล้วเกิดปฏิกิริยาอย่างไร มันเห็นเลยว่าไม่เที่ยง จากนั้นมันจะไม่มีอาการประมาท ไม่มีอาการลอยไป ยังกลับเข้ามาเห็นสภาวะทางกายทางใจอย่างใดอย่างหนึ่งต่อ อย่างเช่นว่า พอสุข พอทุกข์มันหายไปแล้วเนี่ย มีลมหายใจเข้าอยู่มั้ย มีลมหายใจออกอยู่มั้ย มันเท่ากันมั้ย ทั้งสั้นทั้งยาว ถ้าดูต่อไปเรื่อยๆอย่างนี้ พระพุทธเจ้าเรียกว่า เป็นต้นเหตุของความไม่ประมาท ความไม่ประมาทในที่นี้ก็คือ มีสติอยู่ตลอดเวลา ไม่ปล่อยใจออกไป ว่าเออนี่ เรารู้แล้วนะ สุขกับทุกข์ เห็นมันผ่านไปแล้ว เสร็จแล้วก็ประมาท คือ ปล่อยให้ใจมันเตลิดออกไปไหนต่อไหน หรือไม่ก็ คิดว่า เอ๊ย เราทำได้แล้ว เราเห็นสภาวะของกายใจ โดยความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนแล้ว อย่างนี้ไม่ต้องไปพยายามมากก็ได้ นี่ขนาดไม่ได้พยายามเท่าไหร่ ยังสามารถเห็นได้ ก็เลยเหมือนกับคิดว่าทำเมื่อไหร่ก็ได้ อย่างนี้ก็เป็นเหตุของความประมาท ไม่ใช่เหตุของสติ ตัวเหตุของสติสัมปชัญญะ ตัวสติที่เป็นอัตโนมัติที่พระพุทธเจ้าตรัส เรียกเป็นสติสัมโพชฌงค์เนี่ยนะ ตัวต้นเหตุของมันก็คือความไม่ประมาท ถ้าหากเราไม่ประมาทอยู่ แล้วก็มีจิตใจที่พูดง่ายๆว่าคอยรู้คอยดู โดยไม่ปล่อย ไม่เผลอ ไม่เพลิน นี่ตัวนี้แหละที่จะเป็นเหตุปัจจัยที่แท้จริง ที่ทำให้จิตมีความเข้าลู่เข้าทางที่จะสงบระงับ มีความเป็นกลาง เป็นอุเบกขามากพอที่จะทำลายความยึดมั่น ถือมั่นได้ ถ้าหากว่าปราศจากความเป็นอุเบกขาแล้ว ถ้าหากว่าปราศจากความเป็นกลางซะแล้ว มันจะโน้มเอียงเข้าไปยึด หรือเข้าไปถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยความติดใจเสมอ ก็ขอให้จำหลักการตรงนี้ไว้ก็แล้วกันนะครับ ไม่ใช่ว่าเราไม่ยินดียินร้ายกับเรื่องที่ผ่านมาผ่านไปแล้ว มันจะตัดสินได้ว่าใกล้เคียงหรือว่าอยู่ห่างจากมรรคผล ตัวสภาวะของใจหรือว่าสิ่งที่เรียกว่าโพชฌงค์ต่างหาก ที่เป็นตัวที่เชื่อถือได้ว่าเรามาแค่ไหนแล้ว ไกลแค่ไหนแล้ว แล้วก็เข้าใกล้เป้าหมายเข้าไปบ้างหรือยัง ลองไปอ่านเรื่องโพชฌงค์ดูนะครับ ไปดูในเว็บที่ผมเขียนก็ได้ http://www.dungtrin.com/sati แล้วก็หาดูเรื่องโพชฌงค์



๒) เวลานั่งสมาธิ รู้สึกว่าขณะที่จิตเปิดกว้าง จะสามารถรู้สึกถึงกายที่นั่งอยู่ได้ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเราควรจะรู้สึกถึงอิริยาบถนั่งด้วย รู้ลมหายใจด้วย หรือว่าควรจะทำความรู้สึกแค่ลมหายใจอย่างเดียว?

‘ถ้าหากว่ารู้ลมหายใจถูก มันจะรู้ไปถึงอิริยาบถด้วยเสมอ’

อันนี้ขอตั้งเป็นข้อสังเกตเลยนะ

คนที่รู้ลมหายใจถูกต้องจริงๆเนี่ย ในที่สุดแล้ว มันจะรู้สึกถึงอิริยาบถปัจจุบันไปด้วย กล่าวคือ ที่เห็นว่าหายใจเข้าหายใจออกเนี่ย มันหายใจเข้า มันหายใจออกอยู่ในร่างที่กำลังอยู่ในอิริยาบถนั่งหรืออยู่ในอิริยาบถเดิน อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าหากว่ามีสติคมเป็นอัตโนมัติมากพอ มันก็เลยไปถึงอิริยาบถยืนกับอิริยาบถนอนไปด้วย แต่ส่วนใหญ่ ถ้าเป็นช่วงที่ฝึกเจริญสติ ในช่วงปีแรกๆ ก็จะเห็นลมหายใจเฉพาะในท่านั่งกับท่าเดินที่เรากำหนดไว้ว่าเรากำลังจะเจริญสติ นี่เป็นเวลาของการเจริญสติ มันถึงได้สังเกต แต่อิริยาบถนอนหรืออิริยาบถยืนไม่ค่อยสังเกตเท่าไหร่ แต่ถ้าลมหายใจของเรามีความเป็นปกติ มีความสม่ำเสมอ สติของเราเห็น ว่าตัวลมหายใจนี้ มีความเข้ามีความออกอยู่ตลอดเวลา มียาวมีสั้นไม่เท่ากันอยู่เรื่อยๆ นี่ตัวนี้นะครับที่มันจะทำให้พลอยเห็นไปด้วยว่า ที่มันเข้ามันออกไม่เท่ากันอยู่ตลอดเวลาเนี่ย มันเข้ามันออกอยู่ในร่างกายนี้ ในอิริยาบถนี้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า เมื่อรู้ลมหายใจได้แล้ว ในสติปัฏฐานนะครับ พอรู้ลมหายใจได้ ท่านบอกว่า มีอีกอย่างนึงที่ต้องทำ คือ รู้อิริยาบถไป เนี่ยมันต่อเนื่องกันเลย ถ้าใครฝึกมาตามลำดับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ จะเห็นเลยนะครับ

การรู้ลมหายใจอย่างถูกต้อง จะทำให้มีความรู้เลยไปถึงอิริยาบถไปด้วย แต่ถ้าหากว่าเพ่งจ้องลมหายใจแน่นเกินไป หรือว่ามีอาการของจิตของใจคับแคบมากเกินไป มันก็จะรู้เลยมาถึงอิริยาบถไม่ได้ มันจะมีความรู้สึกติดๆขัดๆทึบๆ มีความคับแคบ มีความไม่พร้อมจะรับรู้อะไรที่กว้างไปกว่าลมหายใจที่มาเป็นครั้งๆ แต่ถ้าหากว่าจิตเปิดกว้างอย่างที่ว่า ลมหายใจมันเหมือนจะถูกรู้ง่ายๆเลย แต่ละระลอกลมเนี่ย มันจะถูกรู้ง่ายๆสบายๆ และความรู้ง่ายๆสบายๆด้วยจิตที่เปิดแบบนั้น มันจะเห็นครอบไปถึงอิริยาบถ โดยที่เราไม่ต้องใช้ความพยายามแต่อย่างใด แต่ในสติปัฏฐานนี่ ท่านให้สังเกต ตัวสังเกตเนี่ยแหละที่จะทำให้เราเข้าใจ ว่าด้วยกลไกแบบนี้ ด้วยภาวะอย่างนี้ มันจะทำให้เกิดการรับรู้อย่างไร กลไกที่ว่านี้อย่างเช่น ถ้าเราไปจ้อง ถ้าเราไปเพ่งลมหายใจมากเกินไป จิตจะคับแคบ และไม่สามารถรู้เลยมาถึงอิริยาบถได้ แต่ถ้าหากว่าเรารู้สบายๆ ร่างกายไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งกำเกร็ง มือเท้า ใบหน้า มีแต่อาการผ่อนคลาย อย่างนี้ลมหายใจเข้าออกมันถูกรู้ เหมือนกับ เออ นั่งมองมาจากที่สูง ที่กว้าง มองมาด้วยความสบายอกสบายใจ

ความสบายอกสบายใจเนี่ย มันก็จะทำให้เห็นไม่เฉพาะลมหายใจ แต่ยังมีเรื่องของอิริยาบถ เรื่องของความฟุ้งซ่าน ระลอกความฟุ้งซ่านที่มันผุดขึ้นมาเป็นระยะๆ มารบกวน มาดึงใจให้เป๋ออกไปจากฐานของลมหายใจ ฐานของร่างกายที่กำลังปรากฏนั่งอยู่ พอสังเกตเห็นกลไก พอเห็นธรรมชาติของจิต ว่ามันเป็นอย่างนี้ เราก็จะฉลาดทางจิตมากขึ้นเรื่อยๆ นี่มันจะมาตามลำดับ แล้วก็เห็นเลยว่า พอเราสามารถรู้อิริยาบถหลักได้ พอลืมตาตื่นขึ้นมา จะขยับ จะเคลื่อนไหว จะกระดิกอะไรเนี่ย มันรู้เองไปหมด มันสามารถที่จะเท่าทันได้ โดยไม่ต้องกำหนด ไม่ต้องพยายามอะไรทั้งสิ้น เพียงแต่มีสติ ไม่ประมาทอยู่ สังเกตอยู่ ว่า เออ สติเป็นแบบนี้เอง สมาธิเป็นแบบนี้เอง เมื่อมีความตั้งมั่นแล้ว ก็สามารถที่จะเห็นอะไรต่อมิอะไรได้ โดยไม่ต้องใช้ความพยายาม ไม่ต้องบังคับตัวเอง แล้วพอเราไม่ปล่อยสติ ยังสังเกตอยู่ ยังเห็นอยู่ ว่ามันรู้ไปได้เรื่อยๆ มันก็จะมีความละเอียด มีความประณีต สามารถเห็นเข้ามาได้ชัดเจนมากขึ้น อย่างคนที่มีสติสัมปชัญญะดีๆเนี่ย สิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นธรรมดาก็คือมีความสุข มีความรู้สึกว่ากายใจมันไม่ดิ้น มันไม่พล่านไป มันไม่กระสับกระส่าย ความสุขทางกายทางใจนี้เนี่ย เห็นเลยว่ามันอยู่นาน อยู่นานแต่ถ้าเราไม่ประมาท ยังสังเกตอยู่ว่าไอ้ที่มันอยู่นานนั้นน่ะ เดี๋ยวๆมันก็ต้องเคลื่อนไปจนได้ เดี๋ยวๆมันก็จะต้องเปลี่ยนเป็นหม่นหมองลง หรือว่ามีความรู้สึกทุกข์ร้อนอะไรขึ้นมาอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น อากาศร้อน หรือว่ารถติด หรือว่ามีเสียงที่ไม่น่าพอใจมากระทบหู แบบนี้มันก็จะไม่ยึดมั่นถือมั่น ว่าความสุขเป็นตัวเป็นตน หรือว่าเป็นสิ่งที่น่ายึดน่าเอา เพราะในที่สุดแล้วทั้งหลายทั้งปวงมันต้องเปลี่ยน ตัวข้อสรุปนี้แหละที่จะเป็นสิ่งที่เราบอกตัวเองได้ว่าเราเริ่มต้นรู้ลมหายใจมาอย่างถูกต้อง ตรงทาง มันสามารถที่จะมองย้อนสืบกันไปสืบกันมาได้แบบนี้นะครับ



๓) เหตุใดบางคนจึงกลัวสัตว์บางอย่างแบบไม่มีที่มาที่ไป เช่น พวกหนู แมลงสาบ จิ้งจก เกี่ยวกับกรรมอะไรหรือเปล่าคะ? และพอจะมีวิธีแก้ความกลัวเหล่านี้ไหม?

ผมก็ได้ยินมาเยอะนะเรื่องของความกลัวสัตว์บางประเภท แบบที่บางคนเนี่ยไม่ได้กลัวสิ่งที่น่าขยะแขยง ผมพึ่งได้ยินมาไม่นาน อย่างบางคนกลัวแค่นกหรืออะไรซักอย่างในบ้าน ที่มีลักษณะไม่ได้น่ากลัว ไม่ได้น่ารังเกียจอะไร แต่เห็นแล้วรู้สึกว่ามีอาการใจทุรนทุราย มีอาการกระสับกระส่ายร้อนรนเป็นพิเศษ เอ่อ ก็มีความผูกพันบางอย่าง ที่บางทีอาจไม่ต้องสืบไปข้ามชาติก็ได้ ถ้าเรามองย้อนไป ขุดไป ในอดีต ในวัยเด็ก เราอาจจะเคยกระทบ มีประสบการณ์อะไรบางอย่างกับสัตว์บางชนิดที่ทำให้รู้สึกว่าภาพแบบนั้น ลักษณะรูปพรรณสัณฐานแบบนั้น มันรบกวนจิตใจเราได้แรงเป็นพิเศษ ก็เป็นเรื่องของความฝังใจ ความยึดของจิตที่ปรุงแต่งไปในทางไม่ชอบ ปรุงแต่งไปในทางรังเกียจ ปรุงแต่งไปในทางที่อยากจะไม่ให้มันมีอยู่ในโลกนี้ แล้วยิ่งไปย้ำกับตัวเอง ตอกย้ำว่าไอ้นี่เราไม่ชอบ ไอ้นี่เราเกลียด เห็นทีไรมันยึดอยู่ในความรู้สึกไม่ชอบใจ มีความกลัว มีความรังเกียจอย่างใหญ่หลวง ตรงนี้มันก็จะเหมือนกับขันเกลียวให้แน่นยิ่งๆขึ้นไปในแต่ละครั้ง ในแต่ละวัน คือจำไว้นะว่า ‘ปมทางใจเนี่ย ถ้าเราไปผูก เราไปฝัง ไปยึดแน่นกับอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ยิ่งเห็นมันยิ่งยึดมากเข้าไปอีกเข้าไปอีกเนี่ย ในที่สุดแล้ว มันเหมือนกับเราผูกใจของตัวเองเข้ากับความปรุงแต่งชนิดที่เป็นลบ ชนิดที่มีความมืด ชนิดที่ทำให้รู้สึกเหมือนกับจะทนไม่ได้ จะไม่ทน ไม่สามารถทน มันจะมีความดิ้นรนมากขึ้นทุกทีๆ’ นี่เป็นธรรมชาติ เป็นกลไกของจิตอย่างหนึ่งนะครับ

แต่ถ้าจะเอาเรื่องกรรม เรื่องวิบาก มันก็มีอยู่นะ คือตัวอย่างในพระไตรปิฎกก็เคยกล่าวถึง คือบางที สมมุติว่าเคยเป็นช้างด้วยกัน แล้วต่อมา มาเกิดเป็นคน แล้วยังมีความรู้สึกชิงชัง มีความรู้สึกฝังใจอยู่กับความแค้นในการเป็นช้าง เห็นช้างแล้วรู้สึกทนไม่ได้ อยากฆ่าอะไรแบบนี้ อย่างนี้ก็มี แต่เป็นเรื่องเล่า ซึ่งเราคงจะได้แต่พูดกัน ว่าคงมีอะไรอย่างหนึ่งที่ทำให้เราจะต้องมาตั้งข้อรังเกียจ หรือว่ามีมุมมองที่ไม่ดีกับสัตว์แบบใดแบบหนึ่ง อะไรๆไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นโดยบังเอิญ หรือว่าจะมาเริ่มต้นนับหนึ่งกันที่ชาตินี้อย่างเดียว แต่อย่างไรก็ตาม จะด้วยเหตุอันใดที่เราลืมไปแล้วก็ตาม เราสามารถที่จะมองเห็นได้ว่า ทุกครั้งที่เราเกิดความรังเกียจ หรือว่าตาไปกระทบเข้ากับสัตว์ชนิดที่เรากลัว หรือว่าเกิดความรู้สึกชิงชังอยากออกห่าง ให้มองเข้าไปที่ใจนั่นแหละ มันเหมือนมีอาการขันเกลียวให้เกิดความแน่น นึกออกไหม เวลาเราอยู่ปกติใจจะสบายๆอยู่ ใช่มั้ย แต่หากว่าเราไปเจอเข้ากับอะไรที่เรารังเกียจ อย่างคนทั่วไปก็จะเป็นพวกงู เห็นแล้วเกิดความรู้สึกราวกับว่าจะเป็นจะตายขึ้นมา ทั้งๆที่มันอยู่ออกห่าง และก็ไม่ได้มีทีท่าจะเคลื่อนไหวเข้ามาทำร้ายเรา แต่เราก็รู้สึกราวกับว่าเกือบๆจะโดนมันทำร้ายอยู่แล้ว อะไรแบบนี้เนี่ย มันเป็นการปรุงแต่งของใจ ที่ถูกกระทบแล้วเกิดความบาด มีตัวความมืด มีตัวความเร่าร้อน ทุรนทุราย พูดง่ายๆมีโทสะเกิดขึ้นเต็มที่ ตัวโทสะไม่ใช่โกรธหรือโมโหเสมอไปนะ แต่มีความขัดเคือง มีความไม่ชอบ มีความอยากจะทำลายทิ้ง ลักษณะของใจแบบนี้เนี่ย มันเป็นอาการยึดแน่นที่เกิดจากของแรงดันของโทสะ

ถ้าหากว่าเรารู้เข้าไปทุกครั้ง ไม่ใช่จะต้องรู้อะไรให้ละเอียดมากมายนะ เอาแค่ความรู้สึกของใจมันถูกขันเกลียวให้แน่นขึ้นแบบผิดปกติ จากเดิมที่สบายๆอยู่ พอตาไปประจวบกับรูปที่ไม่น่าพอใจปุ๊บ มันเกิดอาการขันเกลียวขึ้นทันที ตัวนี้นะ เห็นบ่อยๆแล้วเนี่ยจะเริ่มรู้สึกถึงอาการคลาย เพราะปกติมันสร้างแต่ความเคยชินที่จะขันเกลียวให้แน่นขึ้นไง มันมีแต่ไม่รู้จะหาทางออกยังไง หรือว่าปลอบใจตัวเองยังไง หรือว่าหาคำอธิบายอะไรมา บางทีก็จะไปขุดค้นเอาเกี่ยวกับเรื่องของวิบากเก่า วิบากอันเกิดจากกรรมเก่า ซึ่งแบบนั้นถึงแม้เรารู้ก็ตามว่าเคยทำกรรมกับอะไรมา บางทีก็ไม่ได้มีประโยชน์มากนัก เพราะว่าตัวของใจอย่างไร มันก็จะปรุงแต่งไปในทางขันเกลียวให้แน่นขึ้นอยู่ดี ถ้ามีสติ เจริญสติให้มันดีขึ้น แล้วเห็นอาการทางใจที่ขันเกลียวแน่นเข้าไปปุ๊บ ยังไม่สามารถเอาออกมาได้ก็จริงแหละ แต่พอเห็นแล้ว เห็นบ่อยๆเนี่ย มันจะเกิดความฉลาดขึ้นทีละครั้งทีละหน มันก็จะค่อยๆรู้สึกขึ้นมาเอง ว่า เออ ไอ้ที่มันขันเกลียวแน่นเข้าไปเนี่ย ไอ้ที่มันมีอาการผูก มีอาการยึด มีอาการเหมือนกับจะเป็นจะตายขึ้นมาเนี่ย เป็นแค่อาการปรุงแต่งของจิต ส่วนใหญ่ ๙๙ เปอร์เซ็นต์เลย ที่เราเจอสัตว์ที่น่ารังเกียจ มันจะเป็นการปรุงแต่งไปเอง คิดไปเอง แต่ไม่รู้จะทำยังไง ไม่รู้จะหาทางออกยังไง ก็นี่แหละตรงนี้แหละ เห็นเข้าไปเฉยๆนะครับ ว่ามีอาการขันเกลียวแน่นขึ้นแบบผิดปกติ พอเห็นหลายๆครั้ง จิตจะฉลาดขึ้นมาเอง ทดลองดู มันเป็นเรื่องของความฉลาดความโง่ของจิต ไม่ใช่ความฉลาดความโง่ของความคิดของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเราจะไอคิวสูงหรือไอคิวต่ำ แต่มันเป็นเรื่องความฉลาดความโง่ของจิตที่เข้าไปสร้างความเคยชินที่จะผูกยึดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ใช่เฉพาะกรณีของสัตว์ แม้แต่ในกรณีของคนกับคน หรือคนกับเหตุการณ์ พอเราไปตั้งความชอบหรือความชังเข้าไว้แล้ว พอประจวบกับความไม่น่าชอบใจนั้นๆ แบบนั้นๆที่เราเคยชิน ก็จะเกิดอาการทางใจที่มีความเคยชินไปในทิศทางเดียวกันเช่นกัน

อย่างพอคน คนยุคเราเนี่ย เรื่องสื่อเรื่องอะไรมันจะกว้าง แล้วก็กระทบกับคนได้มากอย่างเรื่องการเมือง เรื่องอะไรเนี่ย พอฟังถึงเรื่องของฝ่ายตรงข้าม ที่เราตั้งเป้าไว้ว่าเป็นปฏิปักษ์กับเรา ฟังปุ๊บยังไม่ทันรู้รายละเอียดอะไรทั้งสิ้น เกิดอาการเป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมาแล้ว เกิดอาการเหมือนกับจะเต้นผางเป็นเจ้าเข้าขึ้นมาแล้ว เกิดอาการอยากด่าขึ้นมา เนี่ยตัวนี้ ก็ลองสังเกต มันเป็นอาการแบบเดียวกัน กับที่เรานึกรังเกียจสัตว์แบบใดแบบหนึ่ง ยังไม่ทันที่เขาจะมามีทีท่าว่าจะทำอะไร หรือว่าแสดงอาการจะทำร้ายอะไร เรารู้สึกเหมือนถูกทำร้ายเข้าไปแล้ว เพียงแค่ได้ยิน เพียงแค่ได้เห็น ตรงนี้ก็ ถ้าสังเกตอาการทางใจของเราไปเรื่อยๆ มันก็จะเหมือนเห็นทางออก เหมือนกับจะหาทางออกจากความยึดมั่นถือมั่นได้ คล้ายๆกับคนที่รู้ตัวว่า เอ๊ย อันนี้เรากำขึ้นมา กำก้อนหิน กำอะไรขึ้นมาเฉยๆ โดยที่ไม่มีเหตุจำเป็น ไม่มีความสำคัญอะไรมากพอที่จะต้องกำ แต่เราก็กำ แต่พอเห็นบ่อยๆ เข้า เอ๊ะ นี่กำไปทำไม นี่จะยึดไปทำไม จิตฉลาดมากขึ้นมันก็ปล่อยไปเอง อันนี้เป็นหลักการเดียวกัน



๔) เอาหนังสือธรรมะที่เราอ่านแล้วถวายพระได้ไหมคะ ทราบว่าให้โรงพยาบาลหรือสถานที่ต่างๆดีกว่า แต่ก็อยากถวายเพราะมันดี หรือควรซื้อใหม่ให้เลย?

เวลาที่พระพุทธเจ้าให้นึกถึงการทำบุญ ให้นึกถึงการให้ทานเนี่ยนะ ท่านให้นึกถึง ‘ใจ’ ว่าเมื่อไหร่อยากให้ เมื่อนั้นเป็นการอันควรที่สุดที่จะให้ทาน ถ้ามีความปลื้ม มีความรู้สึกดี ถ้ามีความเลื่อมใส ท่านใช้คำว่าความเลื่อมใส ถ้ามีความเลื่อมใสที่จะให้ทาน เวลานั้นเป็นกาลที่ดีที่สุด ท่านไม่พูดถึงเลยนะ ว่าของนั้นเราเป็นเจ้าของมานานหรือยังหรือว่าเราตั้งใจซื้อมาให้โดยเฉพาะ แต่เอาที่ใจ เอาที่ใจมันอยากให้ รู้สึกว่าให้ของดี รู้สึกว่าให้ของที่เป็นประโยชน์ รู้สึกว่าให้ของที่คนรับเอาไปแล้วจะได้เอาไปใช้ประโยชน์ เอาไปเป็นประโยชน์กับชีวิตของเขา หรือชีวิตของพวกท่าน แบบนี้เนี่ย มันเป็นบุญเป็นกุศลแน่นอน แต่ถ้าเราดูเจตนาตั้งต้นว่า เอ๊ะ แบบนี้ หนังสือเราอ่านแล้ว ไม่รู้จะเอาไปเก็บไว้ที่ไหน เอาไปให้คนอื่นดีกว่า อย่างนี้ไม่ใช่เรียกว่าให้ทาน เรียกว่าผลักภาระ แต่ถ้าของเราเนี่ย เรารู้สึกว่าหนังสือธรรมะ เล่มที่เราอ่านแล้วเล่มนี้มันดีจริงๆ แล้วเราไปหาที่อื่นมาไม่ได้ ตอนนี้มันหมดจากท้องตลาดไปแล้ว หรือว่าพิมพ์มาตั้งนานแล้ว ยี่สิบสามสิบปีแล้ว เค้าไม่พิมพ์กันแล้ว ก็ไม่รู้จะไปเอาจากที่ไหนมาให้ ก็ให้ของของเรานี่แหละ นี่เรียกว่าเป็นการเสียสละเลย รู้ว่านี่เป็นของที่ดี นี่เป็นของที่เป็นประโยชน์สำหรับเรา แต่เราไม่หวงเอาไว้ เรารู้ว่าถ้าให้คนอื่นไป จะไปเป็นประโยชน์กับคนอื่นต่อเหมือนกับเทียนต่อเทียน อย่างนี้มันเป็นบุญมหาศาลเลย ขึ้นอยู่กับเจตนาตั้งต้น แต่ถ้าหากว่าเรามีอยู่แล้ว แล้วคิดว่าจะไม่ได้อ่านอีก ก็เอาไปถวายนี่ไม่ผิดหรอก

แต่การถวายพระเนี่ยนะ อยากจะบอกไว้นิดนึง คือ อาการของใจมันสำคัญนะ ถ้าเรารู้สึกว่าให้ของใหม่ ให้ของดี ให้ของที่เจาะจงถวายพระโดยเฉพาะเนี่ย มันจะเป็นบุญที่มีความใหม่เอี่ยม มีความรู้สึกว่าไอ้เนี่ยตรงนี้ มีความสดใหม่ มีความสดชื่น แล้วผลของบุญที่เผล็ด ในเวลาที่กรรมเผล็ดผล ก็จะให้ความรู้สึกว่า วิบากที่ให้ผลเนี่ย มันให้ผลแบบหรูหรา ให้ผลแบบที่ว่ามีความใหม่ มีความเอี่ยม มีความน่าชื่นตาชื่นใจ แต่ถ้าจะเอาไปให้โรงพยาบาลนี่ ก็เหมือนกับเราคิดว่าเป็นการไปแชร์กันระหว่างฆราวาสกับฆราวาส อย่างนี้ก็ไม่เป็นไรเลย ก็จะเป็นการแบ่งปันกันไป ไม่ได้เป็นตัวชี้ซักเท่าไหร่ว่า เราตั้งใจทำด้วยความเคารพ หรือว่าด้วยความมีใจที่พิเศษอะไรกับการให้ทาน เพราะว่าคนที่โรงพยาบาลก็ไม่ใช่อยู่ในฐานะที่เหนือกว่าเรามากมายอะไร ดูที่เจตนาข้างต้น สรุปไว้อย่างนั้นก็แล้วกัน ถ้าหากว่าเรารับรู้อย่างไร ว่าใจมีการปรุงแต่งในการทำบุญแบบไหน ก็ให้เลือกเอาแบบที่ดีที่สุด ที่เอี่ยมที่สุด ที่ให้ความรู้สึกว่ามีความสว่าง มีความเปิดกว้างมากที่สุดก็แล้วกัน


เอาละครับคืนนี้ ก็คงต้องล่ำลากัน สวัสดีครับ ราตรีสวัสดิ์ ขอให้เจริญในธรรมด้วยกันทุกท่านนะครับ


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น