สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันพุธที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง เพื่อที่จะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการนะครับ ให้เข้าไปที่เฟสบุ๊ค http://www.facebook.com/HowfarBooks
สวัสดีอีกครั้งนะครับ ก็ต้องกล่าวสวัสดีซ้ำอีกรอบหนึ่ง เพราะว่าวันนี้คงมีอะไรผิดปกติสักอย่างนะครับ ที่หน้าวอลล์ของผมไม่ขึ้นเป็นสเตตัสปัจจุบัน ก็เอาเป็นว่าผมใช้สเตตัสเก่านะครับที่ออนแอร์ไปเมื่อวันจันทร์เป็นสเตตัสเพื่อรับคำถามก็แล้วกันนะครับ
๑) ถือศีล ๕ มาแบบเคร่งครัดเกือบ ๓ ปีแล้ว แต่จะมีบางครั้งที่อยากดื่มน้ำองุ่นหมักยี่ห้อสปาย ดื่มเพื่อหวังความสดชื่นสักขวด แบบนี้จะถือว่าผิดศีลไหม? คือลังเลมานานแล้ว แต่ไม่กล้าดื่ม กลัวผิดศีล อยากได้คำตอบที่ชัวร์ๆ ถ้าผิดจะได้ไม่ดื่ม
ก็ก่อนที่จะตอบว่าผิดหรือไม่ผิดนะครับ ขอพูดอย่างนี้ก่อนก็แล้วกันว่า ในเรื่องของการที่จิตจะถลำเข้าไปในการหลงผิด ประพฤติผิดศีลข้อใดข้อหนึ่งนี่ บางครั้งนะ มันเริ่มมาจากอาการแบบหยวนๆอาการแบบอยากๆ หรือว่าเบื่อๆ เบื่อๆอยากๆแล้วก็นึกในใจว่า เอ! อยากจะเอาสักหน่อย คงไม่เป็นไรนะ นี่มันจะเริ่มอย่างนี้จริงๆสำหรับคนที่ถือศีลมาจนเกิดความเคยชิน จนระดับอยู่ตัวพอสมควรแล้ว แต่ว่ายังตัดไม่ขาดจากอารมณ์ ความชอบใจแบบเก่าๆนะครับ มันจะมีสะพานทอดยื่นออกมาให้เราก้าวผ่านเข้าไปนะครับ ด้วยก้าวแรกนี่แหละ เดี๋ยวมันจะมีก้าวที่สองตามมาเอง แล้วมันมีอาถรรพ์จริงๆ
คือการรักษาศีลนี่นะ มันจะมีอยู่ ๓ ระดับง่ายๆเลยนะครับ ระดับแรกสุดมันจะยากมาก ตรงที่เราต้องฝืนกับความเคยชินแบบเดิมๆนะครับ ที่เคยทำได้แล้วกลายเป็นห้ามใจไม่ให้ทำ ไม่ว่าจะข้อไหนก็แล้วแต่แหละ มันพูดง่ายๆว่ามีความอึดอัด มีความทรมานใจที่ไม่ได้ทำอย่างที่เคยชินนะครับ พอผ่านขั้นนี้ไป คือบางคนนี่อาจใช้เวลาสักปีหนึ่ง อึดอัดทรมานอยู่เหมือนเดิม พอปีหนึ่งผ่านไปแล้วค่อยทุเลาลง กลายเป็นรู้สึกคุ้นเคยกับการมีศีล คุ้นเคยกับการห้ามใจเพราะว่ามันมีความเคยชินแบบใหม่ ที่จะไม่เอา ที่จะไม่ทำ แต่บางคนก็ผ่านขั้นนี้ไปได้แค่อาทิตย์เดียวนี่นะ มีความอึดอัด มีความทรมานใจอาทิตย์เดียว เหมือนคนที่เคยเสพยาแล้วไม่ได้เสพ แต่พอมีความใจแข็งสักครู่เดียวนะครับ ก็กลายเป็นคนที่สามารถอดยา อดสิ่งมอมเมาได้ ก็แล้วแต่คน มันจะมีระยะแรกที่แตกต่างกัน
ระยะที่สองของการถือศีล มันจะมีความรู้สึกนี้แหละ แบบคนถามนี่แหละ คือ สามปีนี่เคร่งครัดมาตลอด ไม่ได้มีความทรมานใจ ไม่ได้มีความอึดอัด ไม่ได้มีความรู้สึกอยากจะกลับไปเสพอะไรแบบเก่าๆอีก แต่มันก็จะมีบางครั้ง อยากจะดื่มอะไรที่มันไม่ถือว่าเป็นเหล้าชัดๆ คือในนิยามตามความเข้าใจหรือการตีความของแต่ละคนนี่นะครับ บางทีจะมีความรู้สึกว่าพวกไวน์นี่ มันไม่ใช่แอลกอฮอล์ทีเดียว ซึ่งผมก็จะไม่ลงรายละเอียดนะ เพราะแต่ละคนก็จะตีความต่างกัน แต่อย่างในกรณีนี้ ก็จะตีความว่าเครื่องดื่มสปายนี่แค่ทำให้รู้สึกสดชื่นเฉยๆไม่ได้ทำให้เกิดอาการมึนเมาเหมือนเหล้าที่เคยดื่มมา ตัวนี้อยากให้มองนะครับว่า มันเป็นอาการที่ใจอยากหวนกลับไปหา นี่ผมพูดถึงระยะที่ ๒ อยู่นะของการถือศีล มันไม่ได้เอาแบบเก่าๆแล้วล่ะ แต่มีอาการอยากหวนกลับไปแตะๆต้องๆนิดๆหน่อยๆไม่ถึงขนาดว่าไปเสพแบบเดิม แต่ว่าก็มีอะไรที่ใกล้เคียง นี่แบบนี้นี่นะเรียกว่าระยะที่ ๒
ส่วนระยะที่ ๓ ซึ่งอยู่ในขั้นที่ว่า ใจไม่เอาแล้วจริงๆนี่ จะรู้สึกเลยว่าตลอดชีวิตที่เหลือ จะมีความรู้สึกว่าอะไรก็แล้วแต่ที่มันใกล้เคียง ที่มันเฉียดที่จะผิดกับการรักษาศีลนี่นะ แม้กระทั่งว่าไวน์ อะไรเล็กๆน้อยๆหรือว่าของที่มันรู้สึกอยู่แหละว่า แค่เข้าไป โคจรเข้าไปใกล้ อย่างพวกบาร์ พวกอะไรที่เขามีเหล้า มีผู้หญิงเยอะๆอย่างนี้นะครับ ก็จะรู้สึกว่าใจนี่ไม่เอา ไม่เอาจริงๆและไม่ใช่ว่าวันดีคืนดีมันจะหวนกลับมา นึกอยากลองเข้าไปอีก มันจะตัดขาดเลย คือไม่เอาจริงๆออกมาจากใจนะครับ ไม่เอาออกมาจากความรู้สึกอยาก
นี่ตัวนี้นี่นะ ที่ผ่านไปถึงขั้นนี้ได้จะมีน้อย ส่วนใหญ่จะติดอยู่ขั้นที่ ๒ คือยังกลับมาเสพอะไรอีกนิดๆหน่อยๆยังแตะๆต้องๆอยู่ ยังมีสิ่งที่เรียกว่าเป็นการหลงทำตามความต้องการที่มันดูเหมือนไม่ผิด แต่ว่าใกล้เคียง เหมือนเฉียดเส้นยาแดงนะ ที่แท้แล้วขอให้มองก็แล้วกันว่า มันเป็นสะพานทอดกลับไปเขตเดิม เขตเก่า เราจะก้าวไปแค่ก้าวเดียว หรือว่าก้าวไปถึงครึ่งสะพาน หรือว่าก้าวไปจนเฉียดๆจะกลับไปเหยียบเขตเดิมอีกก็ตามนะครับ ก็เรียกว่าเราอยู่บนสะพานแล้ว เพราะมันเป็นอารมณ์เดียวกัน
ลองนึกดูนะครับ อย่างที่เราต้องการที่จะดื่มน้ำองุ่นหมักนี่ มันเป็นความสดชื่นแบบไหนล่ะ เป็นความสดชื่นในแบบที่มีความคึกคักใช่ไหม เป็นความสดชื่นในแบบที่เรารู้อยู่ในใจว่า มันใกล้เคียงกับรสชาติแบบเดิมๆหรือว่าการแตะต้องสัมผัสแบบเดิมๆที่จะทำให้เกิดอาการย้อมใจขึ้นมา ทำไมไม่คิดดื่มแค่เครื่องดื่มเกลือแร่ หรือว่าเครื่องดื่มอะไรที่มันก็ให้ความสดชื่นได้เหมือนกัน ที่มันไม่คิดเพราะอะไร เพราะมันไม่เฉียดเข้าไปกับความอยากแบบเดิมๆไง
อยากให้พิจารณาอย่างนี้นะครับ ถ้าหากว่าเราอยากจะมั่นใจในการถือศีลให้ได้ตลอดรอดฝั่งจริงๆไม่ว่าจะมีข้ออ้างเล็กๆน้อยๆอะไรขึ้นมาก็ตามนะครับ ให้ตัดทิ้ง ถือว่าเป็นการถางทางเพื่อเข้าสู่ขั้นที่ ๓ คือ ใจจะไม่เอาออกมาจากในมุ้งเลย เริ่มตั้งแต่ในมุ้ง เริ่มตั้งแต่ความคิดขึ้นมานี่นะ มันจะไม่มีความอยาก มันจะไม่มีความต้องการ มันจะไม่มีความปรารถนาใดๆหลงเหลืออยู่เลย เอาให้ได้แบบนั้นนะครับ
ก็อย่างที่เรียนให้ทราบนะครับ ว่าผมจะใช้สเตตัสของดังตฤณวิสัชนาหมายเลข ๗๔ นะครับ ซึ่งออนแอร์ไปเมื่อวันจันทร์เป็นสเตตัสรับคำถาม เพราะว่าวันนี้ท่าทางจะมีการสื่อสารที่ขัดข้องนะครับ ระหว่างสปรีกเกอร์กับทางเฟสบุ๊ค
๒) เคยวิ่งตามรถเมล์ เพราะว่ากลัวไม่ทัน แล้วหกล้ม ตอนที่ล้มคงจะตกใจมาก แต่รู้สึกว่าทุกอย่างเหมือนในหนังสโลว์โมชั่น ในขณะที่ตัวเองกำลังจะล้ม รู้ว่าหัวเข่าข้างไหนจะลงก่อน มือข้างไหนจะลง รู้สึกเหมือนเห็นเป็นภาพแบบกระพริบตาถี่ๆอย่างนี้เรียกว่าสติที่ตั้งมั่นหรือเปล่า?
ก็มีประสบการณ์แบบนี้กันหลายคนเลยนะครับ ได้ยินเล่า แล้วก็สอบถามกันมาหลายครั้ง อันนี้เป็นอีกหนึ่งคำถามที่ผมตอบไปหลายครั้งแล้วนะครับ แต่แต่ละครั้งนี่ก็จะมีข้อมูล ก็จะมีฉากเหตุการณ์ประกอบมาแตกต่างกัน อย่างในกรณีนี้ ก็พูดง่ายๆว่าเราอยู่ในอาการรีบร้อน ตอนที่อาการของใจนี่มีความรีบร้อน มีความอยาก มีความพุ่งตามอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งไปนี่ สติมันไม่เกิดขึ้นแน่นอน สติมันเป็นสติแบบโลกๆคือว่าจะจ้ำเอา จ้ำเอา สาวเท้า แล้วก็กวดไล่ตามสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เรากำลังแล่นตามไป อันนั้นเรียกว่าเป็น สติแบบโลกๆ
แต่ถ้าหากว่า สติในการเจริญในธรรมนี่ ก็อย่างที่เล่ามา บรรยายมาว่า พอจะล้มขึ้นมา ความอยากจะแล่นตามรถเมล์มันหายไปหมด มันกลายไปเป็นความรู้สึกเข้ามาที่อาการของกายขึ้นมาเอง โดยที่ไม่ได้พยายาม ไม่ได้ฝืน ไม่ได้เพ่งใดๆทั้งสิ้น ไม่ได้สั่งตัวเอง แต่มันเกิดขึ้นเป็นอัตโนมัติ คือเห็นเหมือนสโลว์โมชั่น
ประสบการณ์ตรงนี้ ถ้าหากว่าใครไม่เคยเจอ จะไม่เข้าใจ จะไม่เก็ต ว่าเขาพูดถึงลักษณะสภาพธรรมแบบไหน สภาวะความรู้สึกแบบใดนะครับ แต่เอาเป็นว่าขอให้ฟังไว้ก่อนเป็นข้อมูลเบื้องต้นพื้นฐานก็แล้วกันว่า คนจะมีความรู้สึกว่าร่างกายขยับเชื่องช้า และสภาวะทางใจมันปรากฏอย่างใดมันรู้หมด มีความรู้สึกขึ้นมาที่ตรงไหน เกิดความคิดอย่างไร เวลาที่เกิดอาการกระทบกระแทกแบบไหน แล้วมีปฏิกิริยาสวนออกมาจากใจอย่างไรนี่ มันรู้หมดเลย อันนี้เรียกว่าเป็นตัวอย่างของสติแบบอัตโนมัติ ขอให้มองนะครับว่าเป็น ตัวอย่างของสติแบบอัตโนมัติ ยังไม่ใช่จิตที่ตั้งมั่นหรือสติที่ตั้งมั่นแล้วนะครับ
ทำไมผมถึงพูดอย่างนั้น เพราะดูจากตรงที่ว่า พอวิ่งตามรถเมล์นี่ มันมีอาการกลัวไม่ทัน อาการกลัวไม่ทันตรงนั้นนี่ ผลักดันให้เราพุ่งทะยานไปแบบที่ว่าจะกวดไล่รถเมล์ท่าเดียว ณ เวลาที่เราต้องการที่จะกวดไล่รถเมล์ท่าเดียว จนกระทั่งหกล้มไปโดยที่ไม่รู้ตัวนี่ สติมันไม่ได้เข้ามาอยู่กับกาย ไม่ได้เข้ามาอยู่กับใจ เพราะฉะนั้นตรงนี้ ไม่ได้เริ่มต้นขึ้นมาว่า เราเห็นรถเมล์แล้วมีสติ เราวิ่งไล่ตามรถเมล์ กวดรถเมล์แล้วมีสติ ไม่ใช่
มันเพิ่งไปมีสติตอนที่เกิดความกลัวในอีกแบบนึง ตกใจมาก ตกใจที่ล้ม เพราะว่าตอนวิ่งไล่ตามรถเมล์นี่มันก็ ความคาดหมายของเราก็จะจดจ่ออยู่กับการที่จะคว้าประตูรถเมล์ได้ทัน แต่พอมันคว้าไม่ทัน แล้วหกคะมำ หัวปักลงไปบนพื้นนี่ ก่อนอื่นมันก็เกิดความตกใจขึ้นมา มันผิดปกติ มีอาการผิดปกติ เหตุการณ์นี่มันทิ่มแทง ไม่ใช่แค่กระทบกระทั่งนะ มันทิ่มแทงเข้ามาในใจ เสียดแทงเข้ามาในใจ
แต่ใจนั้นนี่แทนที่จะมีอาการแตกซ่านเหมือนอย่างคนธรรมดาที่ตกใจ มันกลับกลายไปเรียกสัญญาแบบเก่าที่เราเคยเจริญสติ รู้กาย รู้ใจ และเป็นภาวะจิตที่หนักแน่นมาก เพราะว่า ณ ขณะที่เราเกิดอาการตกใจไม่คาดฝันนี่ จิตมันไม่ได้ไปทางไหน มันมีอาการรวมตัวเข้ามา ไม่ใช่รวมตัวเป็นสมาธินะ สมาธิมันเป็นอีกแบบหนึ่ง มันมีความอ่อนสลวย มันมีความผ่องใส แต่อันนี้นี่มันเป็นการรวมเข้ามาในลักษณะที่กระแสความตกใจมันดึงดูดเข้ามารวม เรียกว่าหนังสติ๊กมันหดตัวกลับมาอย่างแรง แล้วก็เกิดอาการเหมือนกับกระทบเพี้ยะ นี่ แล้วเพี้ยะนั้นที่กระทบจิตจริงๆตัวที่มันเป็นตัวการปรุงแต่งจิตจริงๆนี่มันเหมือนกับเกิดความรับรู้ที่แจ่มชัดขึ้นมาทั่วพร้อมไปทั้งหมด เป็นตัวอย่างที่ว่าเวลาเกิดสติเห็นทั่วพร้อมแล้วนี่ หน้าตามันเป็นแบบนี้ มันจะเห็นทุกอย่างช้า แล้วก็รู้สึกได้ชัดนะครับ แต่ไม่ใช่จิตที่ตั้งมั่นนะ
แต่อย่างไรก็ตาม มันทำให้เราเห็นค่าของการเจริญสติ สั่งสมสติที่ผ่านมาได้ เพราะว่าถ้าไม่สั่งสมสติ เห็นกายเห็นจิตมานะครับ เวลาเกิดอะไรขึ้นในนาทีปัจจุบันทันด่วน มันจะไม่มีอาการรวมเข้ามาแบบนี้ มันจะไม่มีที่ตั้งที่จะเข้ามาดู ไม่มีที่ตั้งที่จะเข้ามามองเห็น ว่าเกิดอะไรขึ้นกับภาวะทางกายทางใจ มันจะแตกซ่านไปหมด แล้วการที่เราได้ตัวอย่าง เหมือนกับเห็นตัวอย่างหนัง ภาพสโลว์โมชั่นของกายและความรู้สึกที่มันเป็นประสบการณ์ภายในที่ทุกอย่างเชื่องช้าไปหมดนี่ ทำให้เกิดกำลังใจได้ว่า อ๋อ! ถ้าหากว่าเจริญสติมาถูกทาง แล้วเกิดความตั้งมั่นของจิต มีสมาธิ มันก็จะเห็นแบบนี้แหละ แต่เห็นด้วยความรู้สึกที่นุ่มนวล ด้วยความรู้สึกที่ไม่กระโดดไปกระโดดมา ไม่มีอาการที่จิตผิดปกติ แต่ตรงกันข้ามเลย จิตจะเป็นปกติอย่างยิ่ง ร่างกายจะสงบระงับอย่างยิ่ง
เวลาที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงสมาธิ ท่านจะบรรยายสภาพของกายของใจ คือ กายสงบระงับไม่กวัดแกว่ง จิตไม่กระสับกระส่าย นี่เป็นคีย์เวิร์ดเลย แต่อันนี้เป็นกรณีพิเศษที่ว่า ความตกใจ ความกระสับกระส่ายอย่างยิ่งของกายของใจ มันไปกระตุ้น มันไปเรียกเอาสติที่เราสั่งสมมา ให้ออกมาแผลงฤทธิ์ ให้ออกมาแสดงตัว แทนที่จะหกล้มหกลุกไปด้วยมีจิตแตกซ่าน มันกลายเป็นรวมจิต รวมกระแสความรู้ให้เข้ามาอยู่กับกายกับใจไปแทนนะครับ
๓) ในการนั่งสมาธิได้ลองหลายวิธีทั้งพุทโธ ยุบหนอ นั่งรู้ลมเฉยๆแต่ก็นั่งไม่ได้นาน มันกระสับกระส่าย จนในที่สุดได้นับลมหายใจเข้า ๑ ออก ๑ ไปเรื่อยๆจนครบ ๑๐๐ แล้ววนใหม่ ปรากฏว่าวิธีนี้นั่งได้นาน และไม่กระสับกระส่าย จึงอยากถามว่า ที่ทำอยู่ถูกต้องไหม?
เอาอย่างนี้ เริ่มต้นขึ้นมานี่ ไม่ว่าจะทำสมาธิในรูปแบบใดก็ตาม แล้วเกิดความรู้สึกว่าทำได้นาน ก็ให้ทำอย่างนั้นไปก่อน แต่เพื่อที่จะให้แน่ใจว่าเรากำลังทำสมาธิถูกทาง ตามแบบฉบับของพระพุทธเจ้าอยู่นะครับ ก็ขอให้สังเกตว่า เมื่อเราทำได้ เมื่อเราทำดีแล้ว เราเห็นอยู่หรือเปล่า ว่ามีลมหายใจที่เข้าที่ออกอยู่แสดงความไม่เที่ยง หรือว่าจิตของเรามีอาการเห็นลมหายใจเข้าแล้วก็ออกแบบทื่อๆอยู่เฉยๆไม่ได้มีความรู้สึกว่ามันแสดงความไม่เที่ยงอยู่
ถ้าหากว่าเราไม่ได้มีความรู้สึกว่ามันกำลังแสดงอนิจจัง ในที่สุดแล้ว จะเกิดเป็นสมาธิที่เป็นความเคยชิน สักแต่เพ่งเข้าไปที่ลมหายใจ อยู่กับลมหายใจ แล้วก็ไม่ได้อะไรนอกจาก สมาธิแบบแช่แข็ง
สมาธิแบบแช่แข็งเป็นอย่างไร? คือมันจะนิ่งไปเฉยๆทั้งกายแล้วก็จิตนะครับ ไม่รับรู้อะไรเลย แค่รู้สึกว่า เออ! ได้สมาธิ บางวันนี่ สมาธิจะเป็นแบบทึบๆบางวันสมาธิจะเป็นแบบโปร่งๆแต่เราก็ไม่ได้ใส่ใจสังเกตอีก มันจะรู้สึกแต่ว่า เออ! วันนี้นั่งได้ดี วันนี้นั่งได้นาน แต่อีกวันหนึ่งมันเกิดความรู้สึกเป็นจุดสรุปแค่ว่า หลังจากออกจากสมาธิ บอกตัวเองว่า เออ! วันนี้นั่งไม่ค่อยได้ดีเหมือนวันก่อน นี่มันจะได้ข้อสรุปอยู่แค่นี้ ถ้าหากว่าเรานั่งสมาธิในแบบที่เขาเรียกว่า จะเอาทางสมถะท่าเดียว ไม่เอาตามแบบฉบับที่พระพุทธเจ้าท่านประทานเอาไว้
เพื่อที่จะให้เกิดความแน่ใจนะครับ ว่าเรานั่งสมาธิตามแบบของพระพุทธเจ้า ขอให้สังเกตดู เมื่อได้ความนิ่ง เมื่อได้ความนาน เรากำลังดูอยู่กับอะไร ตั้งคำถามอย่างนี้ ตั้งคำถามขึ้นมาในใจ อย่าปล่อยให้มันแข็งทื่อไปเฉยๆถามตัวเองว่าที่เราเห็นนี่ เราเห็นด้วยความรู้สึกอย่างไร
คนส่วนใหญ่เลย เก้าสิบเก้าจุดเก้าเก้าเปอร์เซ็นต์เลยที่พยายามนั่งสมาธิ จะรู้สึกว่า เออ! ดี หรือไม่ดี ใช้ได้ หรือใช้ไม่ได้ มันจะมีความรู้สึกอยู่แค่นี้ ติดอยู่ในใจ ถ้าหากว่าคำตอบของเรา หลังจากที่ถามตัวเองว่าได้อะไร หลังจากที่นั่งสมาธิเป็นอย่างนี้นะ ก็บอกตัวเองว่า เออ! ได้มาแค่นี้พอแล้ว สำหรับงานสมถะ
มาเริ่มต้นงานวิปัสสนา คือรู้จริงตามจริง เห็นตามจริง เห็นแจ้งตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ภายในขอบเขตกายใจนี้ ไม่มีอะไรเลย ไม่มีสภาวะใด สภาวะหนึ่งเลยที่เที่ยง ไม่มีสภาวะใด สภาวะหนึ่งเลยที่เป็นตัวเป็นตนของเรา น่าเอาน่ายึด แท้ๆแล้วมีแต่ปรากฏการณ์แสดงความไม่เที่ยง ปรากฏให้เห็นอยู่ตลอดเวลา นี่สอนตัวเอง บอกตัวเองไป ณ เวลานั้นเลยนะ
แล้วก็สังเกตเอาว่าลมที่เข้านี่ รู้สึกถึงอาการที่ลมเข้าอย่างไร มันจะมีอาการรู้สึกลึกเข้าไปในปอด แล้วก็สังเกตถึงความรู้สึกที่ระบายลมออกมา มันจะมีความรู้สึกระบายความอึดอัด ก้อนความอึดอัดมันจะออกมาจากช่องอกนะครับ แล้วก็เกิดความโล่ง เกิดความสบาย กลายเป็นความนิ่งขึ้นมาแทน นิ่งหลังจากที่เราหยุดลมได้พักหนึ่งนี่นะครับ มันจะเกิดความรู้สึกว่า ทั้งกายทั้งใจมีแต่ความสงบ มีแต่ความสบาย ไม่ได้มีอาการของใจที่รีบเร่ง จะสูบลมเข้ามาอีก มันก็จะเห็นนะครับ ว่าไม่จำเป็นต้องสูบลมเข้ามา ไม่จำเป็นต้องรีบร้อน ลมมันอยากจะเข้าเมื่อไหร่มันบอกเราเอง อาการทางกายมันจะส่งสัญญาณเตือนออกมาเอง เรามีหน้าที่แค่สังเกตอยู่
สังเกตเพื่อให้เห็นอะไร? นี่นะจุดสำคัญ คีย์เวิร์ดอยู่ตรงนี้นะ บอกตัวเองว่า เพื่อให้เห็นว่าลมหายใจนี่ มันกำลังแสดงความไม่เที่ยง ทั้งเดี๋ยวก็เข้า ทั้งเดี๋ยวก็ออก แล้วเดี๋ยวก็ยาวบ้าง เดี๋ยวก็สั้นบ้าง นี่เราสังเกตอยู่อย่างนี้ มันอาจจะใช้เวลาสัก ๑๐ นาที หรือ ๒๐ นาที มันอาจจะมีความฟุ้งซ่านปะปนมาบ้าง มันอาจจะมีคลื่นความคิดกระจัดกระจายกระเจิดกระเจิงไปไหนบ้าง หรือมันอาจจะมีอาการนิ่งๆทื่อๆของจิต แช่แข็งอยู่ ไม่รับรู้อะไรเลยเป็นพักๆเราก็สังเกตเอาว่าเราไปถึงตรงไหน เรารู้ที่ตรงนั้น แล้วก็กลับมาตรงจุดที่เราต้องการจริงๆคือสังเกต
สังเกตออกมาจากใจที่นิ่งแล้ว สังเกตออกมาจากใจที่สว่างโพลนอยู่ว่า เออ! นี่อาการของลมมันไม่มีอะไรเลย มันมีแต่อาการพัดเข้า มันมีแต่อาการพัดออก พอพัดเข้ามันให้ความรู้สึกลึกเข้าไปในปอด พอพัดออกมันมีความรู้สึกสบาย ระบายออกมาจากความอึดอัดในปอด ก็ดูอยู่แค่นั้นไปเรื่อยๆจนกระทั่งจิตจะเกิดความนิ่งขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง นิ่งอย่างรู้ นิ่งอย่างเห็น ว่าลมหายใจสักแต่เข้าบ้าง สักแต่ออกบ้าง ไม่เห็นมีอะไรที่เป็นตัวเป็นตนของเรา ถ้านั่งสมาธิแล้วไปถึงความรู้สึกนี้ได้ นี่แหละครับที่เรียกว่ามาถูกทางตามแบบฉบับของพระพุทธเจ้า
ลองเข้าไปที่ไฟล์เสียงที่ผมให้ไว้นะครับ อยู่ที่ซาวน์คลาวด์ ตอนนี้ดาวน์โหลดไม่ได้แล้วนะครับ ก็ฟังได้อย่างเดียวนะครับ ผมให้ลิงค์ไปในสเตตัสปัจจุบันนะครับ เป็น http://soundcloud.com/dungtrin ลองเข้าไปดาวน์โหลด คือฟังไปด้วยแล้วก็ทำตามไปด้วยนะครับ ถ้าหากว่าคนที่ถามทำตามที่มีความรู้สึกว่า นับ ๑ ถึง ๑๐๐ แล้วทำได้นี่ เอาตามนั้นไปก่อน แล้วเสร็จแล้วก็ลองทดลองตามวิธีของพระพุทธเจ้าดูว่าเราจะมาสังเกตความไม่เที่ยงของลมหายใจได้ไหมนะครับ
๔) การเห็นกายและใจไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา อย่างไรจึงจะเรียกว่าเป็นการเห็นจริง ไม่ใช่คิดเอา?
ก็ง่ายๆเลยหลักการนะ ถ้าหากว่าเราคิดเอาเอง จิตมันจะเคลื่อนง่าย คือพอมีความรู้สึกว่า กายใจไม่ใช่ตัวตนแล้วนี่ มันรู้สึกอยู่อย่างนั้นแป๊บหนึ่ง แล้วก็เคลื่อนไปเป็นอื่น เคลื่อนไปมีความรู้สึกว่ามีเราขึ้นมาอีกแล้ว แต่ถ้าหากว่า เราเห็นจริงๆคำว่าเห็นจริงๆหมายถึงว่าเป็นวิปัสสนาจริงๆนี่นะ จิตมันจะนิ่งอยู่อย่างนั้นของมันเอง จิตมันจะมีความรู้สึกรับรู้ สว่างแจ้ง แล้วก็มีความตั้งมั่นเป็นเรื่องเป็นราวนะครับ อย่างนั้นถึงจะเรียกว่ารู้จริง ไม่ใช่คิดเอา นอกนั้นเป็นอาการรู้แบบแตะๆต้องๆผสมกับคิดในช่วงเริ่มต้นนะครับ
การที่จะมีสมาธิ มีจิตตั้งมั่น เห็นความไม่ใช่ตัวตนของกายของใจได้นี่นะ มันต้องเริ่มจากการสั่งสมมา แบบรู้จากการแตะๆต้องๆเล็กๆน้อยๆอย่างนี้แหละ แต่ว่ารู้ถี่ๆรู้บ่อยๆจนกระทั่งจิตเขาเกิดความชำนาญ เกิดความเคยชิน สั่งสมความเคยชินที่จะรู้ที่จะเห็นจนกระทั่งจิตเขาไม่ไปไหน เขาไม่วอกแวกไปทางใดนะครับ แล้วก็มีอาการที่เขาเรียกว่า มีฉันทะ มีความพอใจ ที่จะรู้ ที่จะดูอยู่แค่ความเคลื่อนไหวทางกายทางใจอย่างนี้ มันถึงจะรวบรวมเอากระแสที่กระจัดกระจายอยู่แต่แรกของจิตนี่ ให้เข้ามารวมดวง แล้วก็ตั้งมั่นเป็นสมาธิอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่าเป็น สัมมาสมาธิได้
ตัวสัมมาสมาธินี่แหละ ที่จะทำให้เราชัวร์จริงๆ เพราะอะไร? เพราะว่าอาการรับรู้มันตั้งอยู่อย่างนั้น รู้อยู่อย่างนั้น ไม่เคลื่อนเลย ไม่มีอาการออกมาเป็นมโนภาพว่านี่ตัวเรา ว่านี่เป็นผู้ชาย ว่านี่กำลังอายุเท่าไหร่ กำลังชื่ออะไร นามสกุลอะไร ไม่มีเลย มันจะมีแต่ความรับรู้ที่ชัดแจ้ง ที่ว่างจากอาการคิด ที่ว่างจากอาการฟุ้งซ่าน และก็ลักษณะเต็มดวงหนักแน่นอยู่อย่างนั้นนี่ มันจะไม่ทำให้เกิดความลังเลสงสัยแม้แต่นิดเดียว ว่านี่รู้หรือว่าคิดเอา มันรู้ชัวร์ๆมันรู้แน่ๆ
๕) หนูกับเพื่อนร่วมกันช่วยทำเว็บ เพื่อเผยแพร่ธรรมะให้กับวัด โดยเพื่อนหนูทำด้วยความสนุกสนาน และชอบในการพิมพ์งานให้วัดมาก แต่หนูทำงานให้วัดด้วยความเหนื่อย เนื่องจากมีงานด้านอื่นๆเยอะมาก แต่ก็จะพยายามแบ่งเวลาทำงานและตั้งใจทำให้วัด ทันบ้างไม่ทันบ้าง ไม่ทราบว่าอานิสงค์เหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้างคะ?
ตัวเจตนาตั้งต้นเป็นหลักสำคัญที่ชี้กรรมครับ เราตั้งใจทำแบบให้เปล่า ตั้งใจทำเต็มที่ นี่คือจุดตั้ง แต่รายละเอียดในชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดความไม่สม่ำเสมอ ซึ่งตรงนี้ถ้าเราไม่เจตนา กรรมเดิมก็ยังถูกรักษาไว้ ไม่เว้าแหว่งไปไหน เมื่อบุญเผล็ดผล มันจะเอาตัวความตั้งมั่นของเราเป็นหลัก ไม่ใช่เอาเหตุติดขัดเล็กๆน้อยๆมาเป็นชนวนให้ผล
แต่อย่างไรก็ตาม ความไม่สม่ำเสมอของการเผล็ดผลก็อาจมีได้นิดๆหน่อยๆเท่ากับความติดขัดล่าช้านิดๆหน่อยๆของเรานั่นแหละ สรุปแล้วอย่าเป็นกังวล เราแค่แน่ใจว่า รักษาความตั้งใจเดิมไว้ ก็พอแล้วครับ
เอาละครับ คืนนี้ก็มีอุปสรรคกันเล็กน้อยในช่วงต้นรายการ ก็ขออภัยด้วยนะครับ ราตรีสวัสดิ์ แล้วก็ขอให้เจริญในธรรมด้วยกันทุกท่านครับ
« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น