วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๔๗ / วันที่ ๗ พ.ค. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันจันทร์ที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงเศษ ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง เพื่อที่จะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการนะครับ ให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/HowfarBooks เอาละครับมาเริ่มกันที่คำถามแรกเลย



๑) หนูไม่เคยเก็บเอาอดีตร้ายๆมาคิดให้ฟุ้งซ่านเลย แต่ทำไมบางครั้งพอไปเห็น ไปรับรู้อดีต หรือแม้กระทั่งดูละคร อ่านนวนิยายที่มันคล้ายๆปมอดีตที่เจ็บปวด มันกลับทำให้รู้สึกอ่อนไหวง่ายดายเหลือเกิน รู้สึกเสียใจหดหู่ไปสักพักหนึ่ง ทั้งๆที่ลึกๆไม่ได้คิดแค้นอะไรใครเลย ซึ่งอาการที่คิดมากหดหู่ หรือยึดติดกับอดีตแบบนี้ อยากถามว่า มันเป็นกิเลสชนิดที่ทำให้อ่อนแอ ไม่ก้าวหน้าในการฝึกจิตฝึกใจให้สูง หรือไม่ก้าวหน้าทางธรรมหรือเปล่าคะ?

เอาคำถามนี้ก่อนนะ ตรงที่ว่าเราไปเจออะไร แล้วมันไปหวนคิดถึงอดีต นั่นคือธรรมชาติของจิตนะ ถ้าอธิบายตามคำศัพท์ของธรรมก็คือว่า ตามธรรมะนะ ท่านก็บอกไว้ว่า เวลาที่เราถูกอะไรกระทบเนี่ย มันจะทำให้เกิดความสำคัญมั่นหมายขึ้นมา หรือจำได้หมายรู้ขึ้นมาว่า อะไรเป็นอะไร ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเห็นรูปวงกลม เราก็จะไปเทียบเคียงกับวงกลมที่เราเคยรับรู้ไว้ และสามารถที่จะบอกได้เลยว่า อย่างนี้เรียกว่ากลม
ไม่ว่าจะเป็นกลมแบบดวงอาทิตย์ กลมแบบลูกบอล ลูกโบว์ลิ่ง ลูกสนุกเกอร์ หรือว่า ที่มีคนเอาสีมาระบายไว้เป็นจุดๆอย่างนี้ เราก็จะเกิดความจำได้หมายรู้ไว้ว่าอย่างนี้ เค้าเรียกวงกลม แล้วก็จะจัดเข้าเป็นพวกเดียวกันหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นดวงอาทิตย์ หรือว่าพระจันทร์ หรือว่าลูกบอล เพราะว่ามันกลมเหมือนกันหมด

เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าเราเห็นอะไรอย่างหนึ่งแล้ว ก็มีสิทธิ์เตือนให้นึกถึงอีกอย่างหนึ่งได้ ยกตัวอย่างเช่น คนมักจะพูดว่า คืนนี้พระจันทร์กลมอย่างกับลูกบอล คือ พอเล่นบอลบ่อยๆ แทงบอลบ่อยเนี่ย จิตใจมันฝักใฝ่ พอเห็นอะไรที่กลมๆ มันก็คิดถึงลูกบอลได้ อันนี้คือตัวอย่างที่จะยกมาง่ายๆว่า การจำได้หมายรู้ ในอดีต มีผลให้เกิดความระลึกถึงขึ้นมาได้อย่างไร ยิ่งถ้าหากว่า เราเคยมีเรื่องกับใคร มีเหตุการณ์อันเป็นปมฝังใจไว้กับใครนะครับ พอไปเห็นข้าวของ หรือว่าแม้กระทั่งได้ยินชื่อ สมมุติว่าชื่อ ‘อั้ม’ อย่างนี้ คนของเราชื่อ ‘อั้ม’ แล้วเราไปได้ยินดาราชื่อ ‘อั้ม’ หรือไปได้ยินเพื่อนของเพื่อนชื่อ ‘อั้ม’ เราก็อาจจะมีใจหวนประหวัดไปนึกถึงคนชื่อ ‘อั้ม’ ที่เคยมีเรื่องมีราวกับเราก็ได้ นี่คือตัวอย่างว่าความจำได้หมายรู้ มันปรุงแต่งจิตของเราได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ไม่แปลก ถ้าหากว่าเราไปเจอะเจอ อะไรที่เตือนให้นึกถึงคนของเราแล้ว จะ เกิดความหวั่นไหว เกิดความรู้สึกนึกคิด ในแบบที่มันเกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้ายตอนที่อยู่กับเค้า หรือเจอเค้า

ที่นี้ถามว่า อารมณ์แบบนี้ มันทำให้เกิดความไม่ก้าวหน้าในการเจริญสติหรือเปล่า?

ในการฝึกจิตที่จะต้องการความเข้มแข็ง ไม่ควรจะอ่อนไหวอะไรต่างๆ
มันไม่เกี่ยวหรอกนะ ว่าเรามีปมฝังใจแค่ไหน เราไม่ได้มองกันตรงที่ว่า เวลาไปกระทบกับอะไร แล้วเกิดความรู้สึกอย่างไร นั้นเป็นเครื่องขวางหรือเปล่า ไม่ใช่นะ ยิ่งบางคนมีอดีตเยอะๆ มีปมฝังใจแน่นๆ หรือว่ากระทั่งมีอะไรที่โหดๆอยู่ในใจอยู่ เหมือนมีความฟุ้งซ่าน เหมือนมีความกระวนกระวายอยู่ ตัวนี้ถ้าหากว่ามองเป็น ก็เอามาใช้เป็นอุปกรณ์เจริญสติยังได้เลยนะ ประเด็นอยู่ตรงที่ว่ามันเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เรามีท่าทีที่จะรู้มันแค่ไหน ถ้าหากว่าเรามีความเคยชินอยู่อย่างหนึ่งที่จะรู้มัน

สมมุติว่าเจ้าของคำถาม มีความเคยชินที่จะรับรู้มันในแบบที่เศร้าสร้อย
และก็ไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไรถูก กี่ครั้งกี่หนที่มันเกิดขึ้น มันก็จะเคยชินกับความรู้สึกเศร้าสร้อยแบบนั้นไปเรื่อยๆ เกิดกระทบอะไรให้ระลึกถึงเค้าเมื่อไหร่ มันก็มีอาการเศร้าสร้อย เป็นปฏิกิริยาโต้ตอบออกมาทันที นี่คือท่าทีที่เรามีกับอารมณ์กระทบชนิดนี้ แต่ถ้าหากว่าเราปลูกฝังความเคยชินอย่างใหม่ เมื่อมีอะไรเข้ามากระทบแล้วเกิดความหวั่นไหว มันรู้สึกเซนซิทีฟขึ้นมา มันรู้สึกว่าจิตโดนขุดคุ้ยเอาอดีตตั้งแต่กาลไหน พ.ศ.ใดมาก็ไม่ทราบโถมเข้ามา แล้วเรามีสติที่จะระลึกว่า สิ่งนั้นเป็นเพียงเครื่องกระทบใจ แล้วเกิดปฏิกิริยาขึ้นมาเป็นความเศร้า และเห็นว่าความเศร้านี้มันไม่ได้มีตัวตน มันไม่ได้มีความเป็นตัวเราที่ยั่งยืนอยู่ในนี้ ในกายนี้ในใจนี้ แต่มันเกิดขึ้นเฉพาะเมื่อมีอะไรมากระทบ ถ้าเรามีสติระลึกได้แค่นี้นะ ตัวสติที่สร้างขึ้นมาเนี่ยนะ มันจะค่อยๆสั่งสมเป็นความเคยชินใหม่ เออ ไอ้นี่มันเกิดขึ้นได้เพราะมีกระทบ ไม่ใช่ว่ามันเป็นตัวเรา ไม่ใช่ว่ามีความทรงจำชนิดนี้ฝังตายอยู่เลยนะ ตายตัวอยู่เลยนะ ไม่ใช่ มันเกิดขึ้นเมื่อมีอะไรกระทบให้เกิดความระลึกได้ ระลึกถึง หวนระลึกถึงขึ้นมา แล้วก็จะสามารถเห็น ว่าความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของเรา นี่เป็นของชั่วคราว
เดี๋ยวเดียวก็หายไป ถ้าหากว่าเราไม่ไปพยายามที่จะขุดคุ้ยด้วยตัวเองตามหลังมา คือ กระทบปุ๊บ เกิดปฏิกิริยาเป็นความเศร้าปั๊บ อันนั้นเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้ แต่สิ่งที่เราจะจัดการได้คือ อย่าไปคิดต่อ อย่าไปพยายามที่จะใส่ใจเข้าไป และก็หมกมุ่นกับอาการที่เคยชินแบบเดิมๆ ว่า เออ ทำไมอย่างนั้น ทำไมไม่เป็นอย่างนี้ ทำไมเขาอย่างนู้น ต่างๆนานา ก่อนที่จะเกิดปฏิกิริยา ลูกโซ่ทางอารมณ์แบบนั้น ให้ตัดตอนเสียด้วยสติ เห็นว่ามันเป็นเพียงแค่สิ่งที่ก่อตัวขึ้นมา ชั่วขณะที่เกิดอะไรมากระทบหู กระทบตาให้ระลึกถึง และถ้าเรามีสติรู้มันเฉยๆ มันก็หายไปเองนะ นี่แหละ ความเคยชินแบบนี้แหละ ที่จะทำให้เราเจริญก้าวหน้านะ



๒) ปลูกไม้กินแมลงไว้ในบ้าน เช่น ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง ถามว่าเราผิดศีลข้อ ๑ ไหม?

อันนี้ถือว่าเป็นอะไรที่คาบลูกคาบดอกนะ เราไม่ได้เป็นคนฆ่าเอง แต่รู้ว่าเราติดตั้งเครื่องประหารไว้ โดยที่ธรรมชาติ ปล่อยให้ธรรมชาติเค้าจัดการกันเอง มันคาบลูกคาบดอกอยู่ จะบอกว่าผิดมันก็ไม่ถนัดปากนะ แต่จะบอกว่าไม่ผิด ก็พูดไม่ได้เต็มปากเต็มคำ ผมก็พูดไม่เต็มปากเต็มคำเท่าไหร่ รู้สึกว่า มันคาบลูกคาบดอกนะ เอาเป็นว่า จริงๆแล้วตัวความรับรู้เนี่ย อย่างที่ผมเคยเน้นมากๆเลยว่า การรับรู้ของเราตั้งต้นขึ้นด้วยอะไร ถ้าหากว่าการรับรู้ของเรา ตั้งต้นขึ้นมาด้วยการที่ว่า เออ ปลูกต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงแล้ว คือ เครื่องประหาร มันก็ตั้งต้นแล้วล่ะ ตั้งต้นที่จะกึ่งๆปาณาติบาต แต่ว่าเราไม่ได้เป็นคนจัดการเอง ปล่อยให้ธรรมชาติทำ ก็เอาเป็นว่า หารๆแล้วกัน คือใจเราก็ไม่อยากจะทำอยู่แล้วนะ แต่ว่าก็ฝืนใจทำ การฝืนใจทำนี่ โทษก็ไม่ได้เต็มที่ โทษก็เบาลงมาครึ่งหนึ่ง ยิ่งถ้าหากว่าเราใช้ธรรมชาติจัดการกันเอง มันก็อาจจะมีส่วนลดทอนลงมาอีก คือ ขอให้สังเกตใจเราเองก็แล้วกัน เวลาที่มีโจทย์ประเภทนี้นะ ใจเราไม่ได้กำเต็มที่ ไม่ได้ไปเจตนาห้ำหั่นฆ่าฟันประหัตประหารอย่างเต็มๆมือเต็มไม้ แค่นี้ก็ถือว่าไม่ได้ทำกรรมแบบที่จะออกดอกออกผล เต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้วนะครับ มันก็เป็นการใส่แรงเข้าไปครึ่งหนึ่ง ผลสะท้อนกลับมา มันก็ครึ่งหนึ่ง



๓) ผมโกรธญาติมาก ย้ำว่ามากๆเลยครับ จะทำอย่างไรดี? ไม่ว่าแง่ทางโลกหรือทางธรรม

โกรธมาก ก็เป็นเครื่องฝึกที่ใหญ่มาก เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ให้คิดว่าอะไรที่มันเป็นอารมณ์ที่แรงมาก เราเอาชนะมันได้ เราก็ต้องแข็งแรงมาก แล้วมันก็จะได้ความรู้สึกปลื้มมากเช่นกัน คือถ้าไม่มีจุดมุ่งหมาย ไม่มีอะไรที่เราจะใส่ไว้ในใจว่า ไอ้นี้คืออะไร มันก็เหมือนกับไม่ทราบจะทำไปเพื่ออะไร? อย่างที่บอก โกรธญาติมาก ถ้าหากว่าจัดการความโกรธชนิดนี้ได้ แล้วจะได้อะไร ได้ความเสียเปรียบหรือ? ได้ทำให้เขายิ่งเหลิงเข้าไปใหญ่หรือ? ถ้าคิดทำนองนี้ มันก็ไม่จบ แล้วเราก็ไม่มีแก่ใจที่จะจัดการกับความโกรธ แต่ถ้าหากว่าโกรธมากแล้วจัดการได้ แปลว่าได้คะแนนมาก
มีความก้าวหน้าทางจิตมาก คุณภาพของจิตจะดีขึ้น แล้วจะสามารถรับมือกับความโกรธชนิดอื่นๆ ที่มาจากทางอื่นได้ดีขึ้น ถ้ามันมีรางวัลเป้าหมายชัดเจนที่ตั้งไว้ในใจ มันก็จะมีแก่ใจที่จะเอาชนะความโกรธ ไม่ว่าจะมากแค่ไหน มันยิ่งเป็นเรื่องที่ท้าทาย ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ จะทำให้เกิดความท้อถอย ท้าทายกับท้อถอยมันต่างกันตรงที่ว่า มีจุดมุ่งหมายมีเป้าประสงค์หรือเปล่าเท่านั้นเอง



๔) การที่เราพยายามไม่เอาความทุกข์มาใส่ใจ เพื่อให้ไม่เป็นทุกข์นั้น และคิดว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม มองอีกแง่ จะถือว่าเป็นการเห็นแก่ตัวเกินไปไหมคะ? คล้ายๆกับว่าอย่าเอาความมัวหมองมาใส่ใจเลย เพราะจะทำให้ใจเรามัวหมองตาม ยกตัวอย่างเช่น หากมีเรื่องราวอันใดที่ไม่เหมาะเกิดขึ้นในสังคมเรา ถ้าเราเห็นว่าสมควรออกมาปกป้อง ก็ย่อมออกมาปกป้อง โดยไม่ปล่อยวางนิ่งเฉย และมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา หนูไม่เข้าใจว่า เราสมควรจะนิ่งเฉยปล่อยวางกับทุกๆเรื่อง แม้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอย่างนั้นหรือ?

ระหว่าง ‘ปล่อยวาง’ กับ ‘ดูดาย’ แตกต่างกันที่ใจ ไม่ใช่ที่การกระทำ อย่างบางคนรับผิดชอบหน้าที่ของตนเองดีตลอดชีวิต แต่ใจไม่ยึดมั่นถือมั่น อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด อย่างนี้เรียกว่า ไม่ดูดายแต่ปล่อยวาง นึกออกมั้ย?

ยกตัวอย่างเช่น เป็นครู พยายามสอนเด็กดีที่สุดแล้ว แต่เด็กมันออกลิงออกค่างตลอด ก็คือใจไม่ทุกข์ไปกับอาการลิง อาการค่างของเด็ก ใจยังเย็นอยู่ได้ สงบเยือกเย็นอยู่ได้ ด้วยความปล่อยวาง เห็นว่านั่นสักแต่เป็นภาพ นั่นสักแต่เป็นเสียงมากระทบจิตใจ แล้วเกิดปฏิกิริยาเป็นชอบ เป็นชัง แต่เราก็เห็นมันเป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน อนัตตาภายนอกเค้าจะออกลิงออกค่างอย่างไร ใจเราไม่เป็นลิง ไม่เป็นค่างตามเค้า อย่างนี้เรียกว่าปล่อยวาง แต่ไม่ดูดาย คือก็พยายามทำหน้าที่ของครูที่ดีที่สุด พยายามสอนตามหลักสูตร ด้วยความรู้ความสามารถเต็มที่ และก็พยายามที่จะปรามเด็กแล้ว พยายามที่จะดุเด็กแล้ว หรือถึงขั้นที่ว่า ลงโทษเด็กแล้ว อย่างนี้ก็เรียกว่า เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ของครู โดยไม่มีความโกรธ แต่เป็นการดุ เป็นการเตือน เป็นการลงโทษ โดยมีเมตตาเป็นพื้นฐาน เป็นตัวยืนพื้น นี่เรียกว่าปล่อยวาง แต่ไม่ดูดายนะครับ



๕) จิตวิญญาณจะเข้าไปจุติในท้องมนุษย์ตอนไหน? เพศและดีเอ็นเอ ได้ถูกเลือกก่อนการปฏิสนธิ โดยกรรมวิบากของจิตวิญญาณนั้นไปก่อนแล้วหรือเปล่า?

เอาคำนี้ก่อน คำว่า ‘จุติ’ แปลว่าเคลื่อน หมายถึง จิตดวงสุดท้ายที่ดับลงในภพก่อน ส่วนปฏิสนธิ หมายถึงว่า มาเกิดเป็นดวงแรก จิตดวงแรกมาเกิดในท้อง ทำความเข้าใจใหม่นะ อันนี้ต้องถามว่า จิตวิญญาณจะเข้ามาปฏิสนธิในท้องมนุษย์ตอนไหน?

พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ตรัสไว้ว่าตอนไหน ก็เคยมีคณะพยาบาลกราบถามหลวงพ่อปยุตฯ (พระพรหมคุณาภรณ์ ป.ปยุตโต) ท่านก็บอกให้คำตอบไว้นะว่า มันไม่สามารถที่จะบอกแน่นอนได้ เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ตรัส จริงๆแล้วที่ท่านไม่ตรัสเนี่ยนะ ส่วนใหญ่ไม่ใช่ท่านไม่รู้นะ แต่มันมีความไม่แน่นอน เป็นไปได้ที่จะมีความไม่แน่นอน อย่างมีเรื่องเล่า ถ้าเล่าไปมันจะยืดยาวและเดี๋ยวจะก่อความสงสัยกันไปเปล่าๆ นะ อย่างครูบาอาจารย์ท่านเล่า ให้ฟังว่า ท่านเห็นนะว่า วิญญาณมาปฏิสนธิเนี่ย ไม่ต้องตายเสียก่อน มีมาจองไว้ก็มี

แต่อันนี้ จะเอาอย่างนี้ก็แล้วกัน คือว่า การที่มีพ่อแม่ร่วมกัน และมีเชื้อมาเรียบร้อย พร้อมทางโลกนี่นะ ตรงนั้นเป็นเครื่องรองรับ พร้อมพอที่จะให้วิญญาณที่มีความเหมาะจะมาเข้าท้องนี่ ได้มาปฏิสนธิทุกเมื่อ นับตั้งแต่มีการผสมกัน ระหว่างเชื้อของพ่อกับแม่นะครับ เอาตรงนั้นก็แล้วกัน แต่มันมีอยู่จริงนะ ที่ประเภทที่ว่า ถ้าวิญญาณบางดวงมีความผูกพันกับพ่อและแม่ หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งระหว่างพ่อกับแม่ ก็อาจติดตามเป็นสิบปีก็ได้ อันนี้นะ ตัวการปฏิสนธิที่แท้จริงเนี่ย บางทีถ้ามันมองว่า จะได้ใครมาเกิดด้วย บางทีมันไม่ต้องนับตอนที่ปฏิสนธิเป๊ะหรอก มันมีอะไรบางอย่างที่คุมอยู่ว่า เด็กคนนี้จะต้องมาเกิดกับคนคนนี้ หรือว่าพ่อแม่คู่นี้แน่ๆ แล้วตัวนั้นแหละ ที่มันไม่ได้มีการกำหนดเงื่อนของเวลาชัดเจน ว่า
ก่อนหรือหลังแค่ไหน แต่ว่าที่จะปฏิสนธิได้จริง มันจะต้องมีเชื้อของพ่อแม่มารออยู่ก่อนแล้ว เหมือนกับว่ามีเบาะหรือพานทองมารองรับสัตว์ที่จะมาเกิด

ความจริงแล้วพระพุทธเจ้าท่านใช้คำว่า ‘สัตว์’ ไม่ได้ใช้คำว่า ‘จิตวิญญาณ’ คือเวลาเราพูดถึงการมาเกิด ต้องบอกว่าว่าสัตว์มาเกิดนะ มันรวมหมดเลยทั้งวิญญาณและทั้งสภาพกรรม และก็สภาพความเป็นตัวบุคคลที่จะปรากฏขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่าง เป็นชีวิต ชีวิตหนึ่งขึ้นมา แต่ว่าเมื่อพูดถึงการที่จะมีชีวิตเป็นขณะแรก อันนั้นต้องพูดถึงจิตนะ ถ้าจะพูดถึงปฏิสนธิจิต ที่เกิดขึ้นเป็นดวงแรกในท้องมนุษย์ อันนี้ก็บอกง่ายๆก็แล้วกันว่า ปฏิสนธิจิตไม่มีการระบุไว้ในพระคัมภีร์นะครับ ไม่ว่าจะในพระสูตรหรือพระอภิธรรม ว่าเกิดขึ้นตอนไหนที่ชัดๆ แต่ว่าเราก็คงต้องพูดกันว่า ถ้าหากไม่มีเหตุ คือเชื้อของพ่อกับแม่ผสมกัน แล้วก็ไม่มีปฏิสนธิจิต คือช่วงจุดตัดของเวลาไม่เหมาะที่จะเกิดขึ้นในสภาพของสัตว์ที่มีกรรมเหมาะสม ก็จะไม่มีทางที่ทารกจะเข้าท้องได้ หรือเจริญเติบโตขึ้นมาได้

(คำถามต่อเนื่อง – เพศและดีเอ็นเอ ได้ถูกเลือกก่อนการปฏิสนธิ โดยกรรมวิบากของจิตวิญญาณนั้นไปก่อนแล้วหรือเปล่า?)

ตรงนี้จริงๆแล้ว คือ ถ้าเราพูดตามแนวของธรรมะ ท่านบอกว่า นามเป็นปัจจัยให้เกิดรูป หมายความว่า ถ้าหากโครงสร้างกรรมมีความต้องการที่จะให้เป็นเพศชายหรือเพศหญิง หรือแม้กระทั่งมีความเบี่ยงเบนในความผิดปกติทางเพศ ก็จะเลือกเฉพาะตรงที่มันจะมีฤกษ์เกิดที่เหมาะสม กับความเป็นเพศของตัวเองคือ ตัวรูปธรรมเนี่ย มันเป็นฝ่ายตามมาสนับสนุนภายหลัง แล้วก็ถ้าหลักการแพทย์นี่นะก็คือว่า มนุษย์ทุกๆคน จริงๆแล้วโดยพื้นฐานเลย มีความเป็นเพศหญิงขึ้นมาก่อน ลักษณะของเพศหญิงจะปรากฏก่อน แต่ถ้าหากว่าจะต้องมีความเป็นชายเนี่ย ตรงนั้นค่อยงอกออกมาในภายหลัง นี่คือสิ่งที่เค้าก็เพิ่งค้นพบกันเมื่อไม่นานมานี้เอง ทุกคนเป็นหญิงมาก่อน แต่ที่จะเป็นชายได้ มันงอกออกมาทีหลัง

เดิมเนี่ย พูดง่ายๆว่าอวัยวะเพศเนี่ย เป็นอวัยวะเพศหญิงเหมือนกันหมด
แต่ว่าจะตัดสินให้งอกออกมาหรือไม่งอกออกมา ตัวนี้แหละที่ทางแพทย์บอกว่า มันเป็นความฟลุค เป็นเรื่องบังเอิญ หรือว่าเป็นเรื่องเฉพาะตนของเด็กแต่ละคน แต่จริงๆ ถ้าหากว่าเอาคำตอบจากธรรมมะ ก็ต้องบอกว่าเป็นโครงสร้างของกรรมที่กำหนดไว้



๖) ถ้าเราเผลอวิจารณ์คนที่ทำงานด้วยโทสะไปเล็กน้อย และเค้าก็รับสิ่งที่เราพูดไปไม่ได้ แล้วเกิดเจ็บใจรุนแรง เอาเราไปนินทาว่าร้ายแบบเสียๆหายๆมากๆ และไปฟ้องเจ้านายเราด้วย ไม่ทราบว่าควรจะตอบโต้แบบวิถีพุทธอย่างไร? ควรจะสำนึกผิดไม่ตอบโต้ใดๆ ให้อภัยจากใจจริง และตั้งใจรักษาศีลข้อ ๔ ให้สะอาด แบบนี้จะทำให้กรรมเบาบางลงไหมคะ?

ขอบคุณมาก ตอบให้เสร็จเลยในคำถาม อย่างนี้เลย ก็เอาอย่างนั้นแหละ นี่คือการโต้ตอบ นี่คือปฏิกิริยาจากคนที่เป็นพุทธจริงๆ
การที่เราพูดอะไรออกไปไม่ทันคิดนะ แล้วก่อให้เกิดการไม่ชอบใจมากๆ หรือก่อให้เกิดความเจ็บใจอย่างรุนแรงเนี่ย บางครั้งเนี่ยนะ มันไม่ได้เกิดจากคำพูดของเราหรอก แต่เกิดจากเวรระหว่างเรากับเค้า ถ้าหากว่ามาถึงชีวิตนี้ชาตินี้ เรายอมเป็นฝ่ายที่จะยอมระงับโทสะ ระงับพยาบาท ไม่จองเวรต่อ ไม่ผูกใจอาฆาตต่อ มันก็คือการสิ้นสุดของเวร สิ้นสุดของภัยที่ร่วมสร้างกับเค้ามา ถ้าหากว่าเราสามารถที่จะละความพยาบาทได้ทั้งชีวิตนะ ไม่ใช่เฉพาะแค่นาทีสองนาที แล้วอีกวันนึง มันเปลี่ยนใจอยากจะกลับไปงับเค้าใหม่ แบบนี้ถือว่ายังไม่ขาดนะ พยาบาทยังไม่ขาด มันต้องทำให้ได้ทั้งชีวิต ถึงจะเรียกว่าการตัดเวรระหว่างเรากับเค้าอย่างสิ้นเชิง แต่ขั้วของเราขาดแล้ว ขั้วของเค้าจะขาดหรือไม่ขาด อันนั้นเป็นเรื่องของเค้านะครับ ถ้าหากว่าเรามีอุบายวิธี มีกุศโลบาย ในการทำให้เค้าพลอยมีความรู้สึกที่ดีกับเราไปด้วย อันนี้ก็ถือว่าเราทำในสิ่งที่ยากจะทำ นั่นคือ เผาสายใยของเวร สายใยของบาป ระหว่างเรากับเค้าได้อย่างหมดจด



๗) ไม่ได้ใส่บาตรมานานพอสมควรแล้วครับ การซื้อหาข้าวของที่จัดเป็นชุด เพื่อใส่บาตรพระที่บริเวณตลาด หรือบริเวณวัดนั้น พอไปรู้มากขึ้นว่า พระที่รอรับบาตรนั้น ถ้าบิณฑบาตมากกว่า ๓ บาตรจะผิดพระวินัย จึงเกิดความสงสัยว่า แล้วเราควรจะใส่บาตรหรือไม่? หรือถ้าใส่บาตรก็ต้องรับวิบากด้านลบไปด้วย หรือคิดในแง่ดีว่า ท่านเป็นอริยสงฆ์แล้วไม่มีการผิดพระวินัย?

โอ้ ข้อสุดท้ายเป็นความเข้าใจ คงมาจากคำว่า ‘สติวินัย’ ของพระอรหันต์นะครับ คือพระอรหันต์เนี่ย ได้รับการยกโทษเป็นพิเศษ เป็นกรณีพิเศษ

เหมือนมีบัตรเครดิต บัตรทองนี่ จะได้ที่อภิสิทธิ์ หรือว่าได้รับการยกเว้นอะไรหลายๆอย่างนะ ไม่ต้องต่อแถว ไม่ต้องเข้าคิวอะไรแบบนี้ คือ ไม่ใช่ว่าเป็นพระอริยสงฆ์แล้ว จะไม่มีการลงโทษนะ ไม่ใช่ แม้แต่พระอานนท์เป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ยังได้มติจากสงฆ์ลงโทษได้ ก็เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจกันนะว่า แล้วแต่เรื่อง แล้วแต่กาละ แล้วแต่เทศะนะครับ

สำหรับกรณีที่พระทำผิดวินัย โดยที่ท่านอาจจะรู้เท่าถึงกาล หรือรู้ไม่เท่าถึงกาลก็แล้วแต่ แต่การใส่บาตรของเรา มันก็ไม่ได้เกี่ยวกับความผิดของท่านหรอก ไม่ได้จะต้องไปรับโทษอะไรไปกับท่านด้วย

แต่ถ้าหากว่าการตั้งต้นรับรู้ของเรา ทราบว่านั่นเป็นการผิดพระวินัย แล้วเรายังขืนไปสนับสนุนหรือส่งเสริม อันนี้เนี่ยนะ โทษที่เราจะได้รับคือความรู้สึกไม่ดี คือความรู้สึกดูดายที่เราจะไปบอกกล่าวท่าน ให้ท่านรู้ตัว
หรือว่า คือบางทีมันไม่รู้ว่า มันจะไปช่วยบอกช่วยกล่าวยังไงได้หมด ก็อาจจะคิดว่า โอเค มันอาจจะไม่ใช่เรื่องของเราเสียทีเดียว แต่อย่างน้อยที่สุดเราจะไม่ทำการส่งเสริมท่าน ด้วยการทำให้ท่านเข้าใจผิด ด้วยการใส่บาตรของเรา อะไรแบบนี้ ก็จะทำให้ตัวเองมีความสบายใจแล้ว หรือถ้าเกิดเคยใส่ให้ท่านมา โดยไม่ทราบว่านั่นคือการผิดพระวินัย ตรงการทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ทั้งสองฝ่าย ก็ไม่ได้จะทำให้เรามีมลทินขึ้นมาแต่ประการใด

เพราะ ๑ การรับรู้ของเราตั้งต้นด้วยการไม่ทราบว่า นั่นผิดวินัย
และ ๒ เจตนาของเรามีความคิดอยากจะใส่บาตร ตัวความคิดอยากจะใส่บาตร ถ้าหากว่าของได้มาด้วยความบริสุทธิ์ เป็นของของเราโดยชอบธรรม และพระท่านก็ไม่ได้เป็นพวก ๑๘ มงกุฎ ขบวนการหลอกลวงประชาชนอะไรแบบนี้นะ บุญก็ได้เต็มที่นั่นแหล่ะ บุญก็ได้ในฐานะของผู้ที่คิดใส่บาตร และได้ใส่บาตรสำเร็จนั่นแหล่ะ ไม่ได้มีโทษอื่นเจือปนอยู่เลย ขอให้สบายใจได้

เวลาที่เกิดเรื่องอะไรขึ้นมา เราดูที่การรับรู้ ตั้งตนขึ้นมา มันรับรู้อะไร
แล้วจากนั้นเราก็ค่อยไปพิจารณาว่าเจตนาของเราบริสุทธิ์แค่ไหน ของๆเราที่ให้ท่านไปนี่นะ ได้มาชอบธรรมหรือเปล่า ตัวนี้นี่แหล่ะ ที่พิจารณามากๆ แล้วมันจะเกิดความสบายใจขึ้นมาได้ ว่าเราได้ให้ทานจริงๆ เราให้ทานเต็มขั้นจริงๆ มีความบริบูรณ์อยู่ในนั้นจริงๆ ไม่ได้มีมลทินอื่น


เอาละครับ คืนนี้ราตรีสวัสดิ์ครับ ขอให้เจริญในธรรมทุกท่านครับ


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น