วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๑๐๖ / วันที่ ๒๑ ก.ย. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันศุกร์ที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรงนะครับ เพื่อที่จะทักทายและไถ่ถามเข้ามาในรายการนะครับ ก็เข้าไปที่ http://www.facebook.com/dungtrin ก็ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาขออภัยที่ไม่ทราบกติกาใหม่ของ http://www.spreaker.com เขาจะไปตั้งสเตตัสใหม่ในวอลล์ของผมที่ http://www.facebook.com/HowfarBooks ด้วยนะครับ ตอนนี้ก็แก้ไขเรียบร้อยเลือกมาที่ http://www.facebook.com/dungtrin ที่เดียวนะครับ เพราะว่าจะไม่ก่อความสับสนให้กับหลายๆท่านนะ ว่ามีหลายที่เหลือเกิน ต่อไปถ้ามีข้อมูลประชาสัมพันธ์ต่างๆ นี่ก็จะแจ้งผ่านเพจดังตฤณอย่างเดียว ที่เดียวนะครับ ส่วนที่ทวิตเตอร์ก็จะเป็นการสื่อสารทางเดียวนะ จะไม่ได้โต้ตอบแบบที่ในเพจดังตฤณนะครับ



๑) ตอนนี้ผมหัดสติโดยการดูลมหายใจมาได้ราวๆ ๕ เดือนแล้วครับ ช่วงหน้าฝนที่ผ่านมามีปัญหาว่ายามหายใจเข้าออกจะรู้สึกคันคอแล้วก็เจ็บด้วยตลอดเวลา มีอาการเป็นหวัด มันทำให้การเจริญสติโดยการดูลมหายใจลำบากมากครับ เพราะยิ่งดูก็ยิ่งมีอาการระคายคอมากกว่าปกติ รวมถึงบางครั้งผมมีอาการจุกเสียดหน้าอกด้วย เนื่องจากทานข้าวเร็วแล้วก็ทานเยอะ พอมาเจริญสติโดยการดูลมหายใจก็จะยิ่งจุกเสียดเข้าไปอีก อยากถามว่าพอมีวิธีสำรองใดแทนการดูลมหายใจในเวลาที่ดูลมหายใจไม่สะดวก เช่นเวลาดังกล่าวนี้หรือไม่ครับ?

มีครับ ก็ถ้าหากว่าเราไม่สามารถที่จะดูลมหายใจเข้าออกได้เรื่อยๆ นี่นะ อย่างหนึ่งก็อาจเริ่มต้นขึ้นมาตั้งหลักของสติขึ้นมาด้วยการรู้ลมหายใจครั้งเดียวนะครับว่า ‘นี่มันเข้า นี่มันออกนะ’

ส่วนใหญ่เวลาที่คนตั้งสติเริ่ม ที่จะเหมือนกับตั้งหลักนะ แล้วก็อาศัยลมหายใจ ลมหายใจก็มักจะถูกลากเข้ามายาวขึ้นนิดหนึ่งแล้วก็ปล่อยออกสบายๆนะครับ เพียงแค่ครั้งเดียวคงไม่เป็นอะไรมาก ไม่รู้สึกมีความทุกข์ทางกายมากนัก แต่มันจะได้ผลคือสร้างความเคยชินที่จะตั้งสติอย่างมีความรู้ชัดว่า เรากำลังอยู่กับปัจจุบันแน่ๆ ปัจจุบันคือลมหายใจนั่นแหละ ปัจจุบันคือตัวที่มันมีความชัดเจนนะว่าเรารู้ถูกแน่ๆ ไม่เข้าก็ออก มันมีอยู่แค่๒ อย่าง ถ้าหากว่าเราสามารถรู้ได้ถูกต้องว่า อันนี้กำลังเข้า อันนี้กำลังออกนั้นมีสติแน่นอนนะ

ตัวที่มีสติแน่นอนอยู่กับปัจจุบันนั่นแหละสำคัญมาก เพราะมันจะเป็นตัวสตาร์ทนะ เป็นจุดตั้งหลักให้เราสามารถรู้ได้ต่อไป สังเกตดูนะพอหายใจเข้า หายใจออก แล้วมีสติรู้แค่ครั้งเดียวมันจะรู้สึกถึงกายที่เป็นอิริยาบถปัจจุบันไปด้วย ถ้าหากว่ารู้อิริยาบถปัจจุบันไปด้วยแล้วนะ จะเป็นนั่งอยู่หรือยืนอยู่ก็แล้วแต่ ก็ขอให้ดูไปว่าลักษณะกายที่มันปรากฏอยู่ตรงนั้นนี่ มีความรู้สึกว่ามันทึบหรือว่ามันโปร่ง ไม่ว่ามันจะทึบหรือว่ามันจะโปร่งก็ให้ดูไว้นะ เดี๋ยวมันจะต่างไปถ้าหากว่าจะเห็นได้ชัดๆนะครับ ทางที่ดีก็ควรจะเดินจงกรม

วิธีเดินจงกรมนี่เอาแบบง่ายๆ ในชีวิตประจำวันของคนเมืองนี่นะ ไม่ต้องไปเดินกลับไปกลับมามากมายก็ได้ เอาเดินเล่นทอดน่องไปยาวๆ เราจะต้องเดินไปทำงาน เราจะต้องเดินไปทำโน่นทำนี่อยู่แล้วนี่นะ เหมือนกับเราเดินไปสบายๆ ชมสวน แต่ว่าเราก็รู้ไปด้วยว่าเท้ากระทบนี่มันให้ความรู้สึกอย่างไร เป็นการต่อยอดจากการดูลมหายใจครั้งแรกนั้นแหละ พอดูลมหายใจครั้งแรกได้ เราก็จะรู้สึกถึงร่างกายได้ พอรู้สึกถึงร่างกายได้ก็เอามาใช้สังเกตว่า เท้ากระทบมันให้ความรู้สึกอย่างไร แล้วก็สังเกตอยู่แค่นั้นแหละว่า เดี๋ยวกายมันก็ให้ความรู้สึกทึบ เดี๋ยวกายมันก็ให้ความรู้สึกโปร่ง อันนี้ที่แนะนำอย่างนี้เพราะอะไร เพราะว่าคนที่กำลังเป็นหวัดหรือมีอาการไม่สบายทางกายนี่นะ มันจะมีความรู้สึกหนักๆ มันจะมีความรู้สึกแน่นๆ หรือว่าอาการทึบๆจะเป็นบริเวณที่หน้าอก หรือจะเป็นที่คอ หรือจะเป็นที่ช่วงหลัง หรือจะเป็นส่วนใดของร่างกายก็แล้วแต่ ส่วนใหญ่มันก็จะให้ความรู้สึกว่ากายมันเป็นก้อนอะไรแข็งๆก้อนหนึ่ง

ทีนี้ ถ้าเรามีสติแล้วก็อยู่กับโฟกัสอะไรอย่างหนึ่งซักอย่างนะ อย่างเช่นรู้สึกถึงเท้ากระทบไปเรื่อยๆ เหมือนกับเดินเล่นๆ ไม่ต้องไปเอาจริงเอาจังมากนะ เหมือนเดินตั้งใจว่าจะเดินเล่นๆ แล้วก็รู้สึกถึงเท้ากระทบไป พอรู้สึกถึงเท้ากระทบไป มันจะค่อยๆเห็นขึ้นมานะว่า ร่างกายนี่ตอนที่มันไม่สบายตอนที่มันป่วยไข้ ตอนที่มันกำลังเจ็บคออยู่ มันเป็นก้อนทุกข์ มันเป็นก้อนทึบ มันจะไม่ปลอดโปร่ง แต่ด้วยสติด้วยการรู้สึกถึงอิริยาบถ ตัวสตินี่มันจะทำให้เห็นความไม่เที่ยงของอาการทึบ คือมันค่อยๆคลายความทึบไป ทึบมากกลายเป็นทึบน้อย ที่เป็นก้อนๆ ตันๆ กลายเป็นก้อนบางๆ โปร่งๆ ขึ้นมานะครับ และถ้ายิ่งเราเดินจงกรมนานขึ้นเท่าใด สังเกตเท้ากระทบนานขึ้นเท่าใด มันก็จะยิ่งเห็นว่าเดี๋ยวทึบ เดี๋ยวโปร่งนี่ มันกลับไปกลับมาอยู่ตลอดขึ้นอยู่กับคุณภาพของจิตขึ้นอยู่กับคุณภาพของสติ

ถ้าหากว่าสติของเราดีขึ้นเท่าใดนะ คุณภาพของจิตดีขึ้นเท่าใด ก็จะเห็นความโปร่งมาแทนที่ สลับหน้าแทนความหนักทึบได้มากขึ้นเท่านั้น ถี่ขึ้นเท่านั้น ขอให้ลองดูก็แล้วกัน การที่เรามีช่วงเวลาหนึ่งเดินจงกรมไปเล่นๆเรื่อยๆ นี่นะ แล้วเห็นเดี๋ยวก็โปร่ง เดี๋ยวก็ทึบนะ ไปสลับกันบ่อยๆ ในที่สุดมันกลายเป็นสมาธิได้เหมือนกัน เป็นสมาธิแบบที่จะเห็นว่าภาวะทางกายภาวะทางใจนี่มันไม่เที่ยง และถ้าเป็นสมาธิได้จริงๆ นี่นะ บางทีอาการป่วยอาการไข้นี่มันทุเลาลงเกิน ๕๐ เปอร์เซ็นต์ บางคนนี่เล่นจงกรมแค่รอบเดียวหายป่วยก็มีนะ ด้วยความที่ว่า อันนี้อย่าไปตั้งความคาดหวังไว้มากนะ คือกล่าวสำหรับคนที่มีกำลังสมาธิอยู่ตัวพอสมควรถ้าหากเห็นว่าร่างกายมันหนักๆ ทึบๆ แล้วเดี๋ยวมันก็โปร่งสลับไปสลับมา จนกระทั่งมันโปร่งอย่างเดียวเลยมันจะเกิดปีติเกิดความรู้สึกเหมือนมีความซาบซ่าน มีความสบายนะหลั่งรินอยู่ในร่างกาย

ทางแพทย์ก็คือบอกว่าเป็นสารเอ็นโดรฟินหลั่งออกมา แล้วสารเอ็นโดรฟินที่ร่างกายหลั่งตามธรรมชาตินี่นะ มันช่วยทุกอย่างเลย อาการป่วยจะดีขึ้นอาการที่มันทึบแน่นมันจะปลอดโปร่งนะ อาการที่หายใจไม่ออกหรือเจ็บคอระคายคอ มันก็จะเหมือนทุเลาลงไปมาก บางคนนี่นะจากอาการทึบๆ จากอาการที่ไม่สามารถดูลมหายใจได้ มันกลับกลายเป็นปลอดโปร่งแล้วก็ลมหายใจนี่ลากยาวได้สดชื่น กลายเป็นอย่างนั้นไปก็มี ขึ้นอยู่กับกำลังจิตกำลังสตินะว่าเราจะเห็นความไม่เที่ยงของร่างกายได้จริงแค่ไหน

การเห็นความไม่เที่ยงของกายของใจมันมีปาฏิหาริย์อยู่เยอะนะ ลัทธิอื่นหรือศาสนาอื่นไม่มีนะ ที่จะมาให้ดูความไม่เที่ยงของกายของใจ แล้วก็เลยไม่รู้ว่าปาฏิหาริย์ของความไม่เที่ยงนี่มีอะไรได้บ้างอย่างนี้ยกตัวอย่างนะ คือ พอร่างกายมันแสดงอาการทึบอยู่ แล้วเรามีสติเห็นตั้งต้นจากการรับรู้ว่ากำลังหายใจเข้า กำลังหายใจออก เอามาเป็นตัวตั้งแค่นี้นะ แล้วก็สังเกตต่อว่าร่างกายเดี๋ยวก็ทึบ เดี๋ยวก็บาง เดี๋ยวก็เบา เดี๋ยวก็โปร่ง แค่นี้นี่เห็นความไม่เที่ยงแค่นี้ ถึงจุดหนึ่งมันกลายเป็นความปลอดโปร่งความเบาบางมันมามากกว่าความทึบ อันนี้ก็ด้วยอานิสงส์ของปีติ แล้วก็สุขตามมาเป็นเงาตามตัว สติมา



๒) ช่วงนี้ผมหัดเจริญสติเน้นหมวดของลมหายใจกับอิริยาบถและว่าความก้าวหน้าจากหลักโพชฌงค์ครับ แต่ผมสังเกตว่าองค์แห่งโพชฌงค์ที่ปรากฏมีแค่สติ แล้วก็ธัมมวิจยะกับวิริยะ แต่ไม่พบว่ามีปีติเกิดขึ้นเลยไม่แน่ใจว่ามาถูกทางหรือเปล่า? หรือว่าทึกทักเอาเองรบกวนแนะนำด้วย

ตัวสติสัมโพชฌงค์นี่จะต้องเป็นสติอัตโนมัตินะ เป็นสติที่มีความคงเส้นคงวา คือเวลาที่ท่านอธิบายเกี่ยวกับความหมายของสติสัมโพชฌงค์นี่ ท่านพูดถึงสติที่มีความคงเส้นคงวานะครับ

ใจความสรุปในพระอภิธรรมนี่จริงๆ มีเยอะเลยนะ โดยความหมายโดยคำจำกัดความของสติสัมโพชฌงค์นี่ แต่โดยใจความหลักก็คือว่า ตัวสติที่แท้ในสัมโพชฌงค์นี่นะ มันจะต้องมีความคงเส้นคงวา และความคงเส้นคงวานี่ถ้าจะใช้ภาษาร่วมสมัยก็คือ มีสติเป็นอัตโนมัติ เกิดอะไรขึ้นสามารถรู้ได้ โดยไม่ต้องไปบังคับไม่ต้องไปตั้งใจ ถ้าหากว่าตัวสติมีความเป็นอัตโนมัติแล้ว ประกอบกับใจของเรานี่ไม่ได้ไปโฟกัสเรื่องแบบโลกๆ เรื่องแบบกิเลสๆ นี่ ในที่สุดมันก็จะเกิดความรู้สึกว่า เห็นอะไรมันมองเป็นความไม่เที่ยง หรือไม่ก็มองเป็นอนัตตาไปหมด หรือไม่ก็มองเป็นการทิ้งกิเลส เห็นของสวยของงามมันก็เห็นเป็นอสุภะไป พิจารณาโดยความเป็นอสุภะไป นี่เขาเรียกว่าเป็น ‘ธัมมวิจยะ’

ถ้าหากว่าธัมมวิจยะเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ในที่สุดแล้วตัววิริยะมันจะเกิดขึ้นมา วิริยะหน้าเป็นอย่างไร คือมีความกระตือรือร้น เกิดความรู้สึกว่ามันมีใจจดจ่ออยู่อยากทำไปเรื่อยๆ ไม่อยากเอาใจไปวอกแวกไปทางอื่นทางไหน จะเกิดความรู้สึกอย่างนี้แล้วตัวความวิริยะที่ถูกต้องนะ ที่มันมาเอง ที่มันหลั่งไหลมาเอง มีกำลังเองนี่ ตรงนั้นจะทำเกิดความสงบระงับ เกิดความรู้สึกว่ากายใจนี่นะไม่กวัดแกว่ง ไม่กระสับกระส่ายไปในทางกิเลส ถ้ามันจะเคลื่อนไหวก็เคลื่อนไหวน้อยที่สุด เพื่อที่จะทำงานให้ลุล่วงเพื่อที่จะทำกิจให้สำเร็จ แต่ไม่ใช่กระสับกระส่าย กระวนกระวายด้วยอำนาจกิเลสสั่งนะ ไม่ได้มีความรู้สึกฟุ้งซ่าน ไม่ได้มีความรู้สึกว่าอยากดิ้นรนทุรนทุรายไปทำโน่นทำนี่ในแบบที่ไม่จำเป็น รู้สึกว่าไม่จำเป็นก็ไม่อยากทำประมาณอย่างนั้น

ตัวปีติไม่ใช่ว่าจะต้องเย็นซาบซ่านอะไรขึ้นมามากมายเสมอไป แต่ขอให้สังเกตตรงนั้นนะว่า กายสงบระงับ ใจสงบระงับ มันมีความรู้สึกนิ่งๆ มันมีความรู้สึกว่าเย็น มันมีความรู้สึกว่าอิ่มใจแค่นี้พอแล้ว นี่ตัวนี้ต่างหาก ถ้าหากว่าเราไปสังเกตมันมากเกินไป หรือไปตั้งคำถามมากเกินไปว่า ทำอย่างไรจึงจะรู้สึกปีติ นี่ตัวนี้นี่มันไปรบกวนปีติไปเรียบร้อยแล้ว คือมีความกระสับกระส่ายทางใจเรียบร้อยแล้ว มีความดิ้นรนขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว อย่างนี้ อันนี้นี่แหละ ตัวจดจ้องรอปีติเกิดนี่แหละ ที่ทำให้ปีติถูกบล็อก สังเกตก็แล้วกันว่าถ้าหากว่าเราไม่ไปจดจ่อ ไม่ไปตั้งแง่สังเกตมากเกินไปนะ ตัวปีติมันจะมาเอง คือมากับความสงบระงับทางใจนั้นแหละ

พระพุทธเจ้าให้สังเกตนะว่าปีติที่มันไม่เกิดเพราะอะไร ถ้าหากว่าเราพบว่า ไอ้ตัวไปจดจ้องไปอยากได้ปีติ อยากให้ปีติเกิดนี่นั่นแหละ เป็นต้นเหตุของการไม่เกิดปีติ ตรงนี้พอเรารู้แล้วเราก็ระงับต้นเหตุนั้นเสีย ระงับอาการจดจ้อง ระงับอาการพะวงว่าปีติเมื่อใดจะเกิดไป ปีติมันก็เกิดขึ้นเองนะ ถ้าหากว่าเรามีตัวสติอยู่แล้ว มีตัวธัมมวิจยะดีอยู่แล้ว ก็มีความพยายามที่ต่อเนื่องอยู่แล้วไม่ต้องห่วงเลย ปีติมันจะมาเองแต่ที่มันไม่มาก็เพราะว่าเราอยากให้มันมานั่นแหละ ตัวอยากนั่นแหละตัวระงับ ไม่ใช่ตัวผลักดันนะครับ

ที่จะวัดว่าเราถูกหรือไม่ถูก ทึกทักเอาเองหรือเปล่านี่ ขอให้สังเกตอย่างนี้นะครับ ว่าใจของเราผูกกับอะไรโดยมาก ถ้าหากว่าจะเป็นช่วงไหนของวันก็แล้วแต่นี่นะ เราพบว่าตัวเองมีใจที่เอาใจใส่เข้ามาในใจ ภาวะทางกาย ภาวะทางใจ อยู่แค่ขอบเขตนี้นี่นี่แหละ ตัวนี้แหละ ไม่ต้องสงสัยเลย ไม่ต้องสงสัยเลยไม่ต้องคิดเลยว่า อุปาทานไปเองหรือเปล่า มันของแน่เลยนะพอจิตขึ้นอยู่กับทิศทางที่เลือกว่า เราจะให้ความสนใจ ให้ความใส่ใจกับอะไรโดยมากนะ ลักษณะของโฟกัสของจิตนี่มันก็จะเกิดขึ้นมาเองเป็นเงาตามตัว

อย่างถ้าหากว่าเรากำลังสนใจเรื่องงานเรื่องการ ก็จะรู้สึกว่าพอเอนตัวนอนลงก็คิดถึงงาน พอจะผุดลุกผุดนั่งก็คิดถึงงาน จะอาบน้ำจะแปรงฟันอะไรก็คิดถึงงานนี่ อย่างนี้เรียกว่ามีความตั้งมั่นอยู่กับการงานนะ มีใจรักงาน วิริยะที่เกิดนี่มันจะพุ่งไปที่เรื่องของการงาน มันก็จะมีความกระสับกระส่ายแบบโลกๆอยากให้เกิดขึ้น อยากให้เป็นไปตามเป้าหมาย อยากให้ได้อย่างนั้นอยากให้ได้อย่างนี้ ไม่อยากเจอคู่แข่งอะไรต่างๆ ถ้าหากว่ามีความกระสับกระส่ายแบบโลกๆอย่างนั้น บางทีมีความรู้สึกดีเหมือนกัน เป็นความสนุกเป็นความรู้สึกเพลิดเพลิน เป็นความรู้สึกยินดีนะ มันจะมีอาการโลดโผน แล้วก็ลักษณะของปีติที่เกิดขึ้นแบบโลกๆ นี่มันจะไม่เนียนมันจะวูบไปวาบมา

แต่ถ้าหากว่าใจของเราจดจ่ออยู่กับสภาวะทางกาย สภาวะทางใจตามที่มันเกิดขึ้นตามจริงนี่นะ ไม่ไปพยายามปรุงแต่งอะไรเกินไปกว่าที่มันปรากฏให้เห็น ปรากฏให้ดูอยู่จริงๆ แล้ว ในที่สุดความรู้สึกสงบระงับมันเกิดขึ้นจากการเห็นว่า ‘เออ มันไม่เที่ยงจริงๆ ไม่รู้จะไปเอาอะไรจากมัน ไม่รู้จะไปยึดมั่นถือมั่นกับมันทำไม’ ลักษณะของปีติที่เกิดขึ้นมันจะมีความต่อเนื่อง มันจะมีความยืนยาวเพราะว่าใจของเรานี่ พอตั้งต้นขึ้นมานะ มันไม่อยากเอาอะไรเสียแล้ว ไม่อยากเอาสิ่งของภายนอกที่มันกระตุ้นกิเลส ไม่อยากเอาแม้แต่มรรคผลนิพพาน อยากดูแค่นี้แหละว่า ‘เออ มันไม่เที่ยง มันไม่ใช่ของเรา’ ตัวความสงบระงับอีกแบบหนึ่งจะปรากฏและลักษณะของปีติลักษณะของสุขที่มันปรากฏ มันจะเป็น ความนิ่ง ความเนียน ความนาน ไม่ได้กระโดด ไม่ได้โลดโผน ไม่ได้สลับไปสลับมาเหมือนกับตอนที่สนุกแบบโลกๆ นะครับ อันนี้ก็ขอให้สังเกตจากตรงนี้ก็แล้วกัน ลักษณะของปีตินี่นะ



๓) ถ้าปล่อยปละละเลยให้โรคประจำตัวที่มีมาแต่เกิดกำเริบกระทั่งทำร้ายเราจนตายเอง (โดยที่เรารู้อยู่แล้วว่ามันมีอยู่ แต่ไม่ยอมรักษา) อันนี้มันจะเหมือนกับการฆ่าตัวตายทางอ้อมไหมคะ โดยอยู่ในเงื่อนไขที่ว่า ถ้ารักษาก็ต้องไปกู้คนอื่นมาจนเป็นหนี้ แล้วสุดท้ายการรักษานี้ก็ไม่สิ้นสุดต้องกินยาอย่างหนึ่งตลอดชีวิต เป็นภาระทั้งต่อตนเองและต่อผู้อื่นด้วย?

ตอบง่ายๆ แบบคร่าวๆ ก่อนนะว่ามันไม่เหมือนการฆ่าตัวตาย การฆ่าตัวตายหมายความว่าไม่มีโรค ไม่มีภัย ไม่มีอะไรเบียดเบียน อยู่ๆ เราก็ตั้งใจไปทำให้ร่างกายมันหยุดทำงานเสีย แต่อันนี้ร่างกายมันกำลังนับถอยหลังสู่การหยุดทำงานโดยตัวของมันเอง โดยมีโรค มีวิบากเก่าอะไรบางอย่างมันเบียดเบียนอยู่ อย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นการฆ่าตัวตาย ถึงแม้ว่าเราจะไม่ไปพยายามรักษามันก็ตาม เนื่องจากมีเงื่อนไขแล้วว่า ถ้าพยายามรักษาอย่างไรมันก็ต้องมีอาการเรื้อรังยึดเยื้ออยู่ดี ไม่ใช่ว่ารักษาแล้วจะหาย แถมยังต้องไปกู้หนี้ยืมสิน ก็โอเค ไม่ถือว่าเป็นการฆ่าตัวตายนะ แต่ว่าพิจารณาเห็นแล้วว่าอันนี้เป็นสิ่งที่เราไม่อยากจะให้เป็นภาระกับใครนะครับ

ร่างกายนี่พระพุทธเจ้าท่านไม่ว่าหรอกนะ บางคนคือปล่อยให้โรคกำเริบถึงจุดหนึ่งที่มันทนไม่ไหวแล้ว แล้วจะไปทำให้ร่างกายมันหยุดทำงานเร็วขึ้นพระพุทธเจ้าท่านก็ยังไม่ว่าเลยนะ แต่สำคัญที่ตรงนี้ วิธีที่เรานับถอยหลังสู่การหยุดทำงานของร่างกาย สำคัญที่ตรงนี้จริงๆ คือพระพุทธเจ้าท่านให้เน้นว่ามีสติอยู่หรือเปล่า? คำว่ามีสติอยู่ไม่ใช่รู้สึกตัวโดยไม่มีเป้าหมายนะ ไม่ใช่มานึกว่า นี่ฉันรู้สึกตัว ฉันรู้สึกตัว ฉันรู้สึกตัวอยู่ ไม่ใช่แค่นั้น แต่ท่านให้เอาทุกขเวทนาทางกายที่กำลังปรากฏอยู่ ในขณะถอยหลังสู่การหยุดทำงานของร่างกายนั่นแหละมาเป็นตัวตั้ง

คนที่เจ็บคนที่ป่วยนี่นะ โดยเฉพาะคนที่ใกล้ตาย คนที่มีโรคภัยเบียดเบียนมันจะมีทุกขเวทนาทางกายเข้ามา ทำให้ชีวิตไม่มีความสุขเหมือนเป็นคลื่นแทรกคลื่นรบกวนนะ ที่จะทำให้จิตใจกระสับกระส่าย แต่ถ้าหากว่าเราเอามาเป็นอุปกรณ์เจริญสตินะ เหมือนกับสมัยพระโคธิกะนะ ลองไปค้นดูในอินเตอร์เน็ต ท่านเจ็บป่วยอย่างหนักเลยนะ แล้วก็ขณะที่กำลังจะตายด้วยวิธีของท่านนี่นะ คือท่านทนไม่ไหว ท่านก็เลยเร่งรัดให้ร่างกายหยุดทำงานเร็วขึ้นนิดหนึ่ง โดยการทำให้เกิดบาดแผลในร่างกายให้มันเป็นการระบายเลือดออกมาเลือดเสียๆอะไรแบบนี่นะ ท่านก็รู้ว่าท่านก็จะไม่มีชีวิตอยู่แล้ว คือหมายความว่าอาการท่านเที่ยงอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าท่านไปฆ่าตัวตายแบบยังไม่ทันหนักแล้วนั้นนะ แต่มันมีจุดหนึ่งที่ท่านทนอาพาธไม่ไหวคือพระคัมภีร์ไม่ได้ระบุว่าท่านเป็นโรคอะไรนะ แต่ท่านก็ใช้วิธีกรีดเลือดให้เลือดที่เป็นพิษนี่ระบายออกมา เสร็จแล้วท่านก็ดูระหว่างนั้นแหละว่าทุกขเวทนามันแก่กล้ามันกำเริบมาอย่างหนักแล้วเดี๋ยวก็ค่อยๆหายไป ท่านก็ดูไปเรื่อยๆดูไปจนกระทั่งเกิดสติเกิดสมาธิ เห็นความจริงว่าทุกขเวทนามันไม่เที่ยง ทุกขเวทนาทางกายนี่มันสักแต่เป็นสภาวธรรม กระทั่งมองเห็นว่ากระทั่งร่างกายที่จิตท่านครองอยู่ก็เป็นเพียงสภาวะของธรรมะไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ท่านก็สามารถบรรลุถึงอรหัตผลได้

อันนี้ฟังดีๆนะ ไม่ได้บอกให้เร่งรัดเพราะว่าเรายังไม่เจริญสติได้ถึงขั้นนั้นนี่ไม่ควรที่จะไปเร่งรัดอะไร แต่ถ้าหากว่ามันจะต้องเป็นไปอยู่แล้วโดยที่เรารู้สึกว่าไม่อยากไปพยายามยื้อมัน ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราต้องไปกังวลว่านี้คือบาปนี้คือกรรม ขออย่างเดียวว่าเวลาที่มันยังเหลืออยู่นี่ เจริญสติให้มากที่สุดรอจังหวะที่มันจะสิ้นสุดด้วยการมีความพร้อมนะ

ผมก็เจอมาหลายรายรู้ตัวว่าใกล้จะไปแล้วนี่บางคนเหลือไม่กี่อาทิตย์ บางคนเหลือไม่กี่เดือนอะไรแบบนี้นะ ก็ส่วนใหญ่เห็นสีหน้าสีตามีความสุขยิ่งว่าคนที่จะอยู่ไปอีกนานซะอีกนะ แล้วก็ลักษณะของคนที่มีความพร้อมที่จะต้อนรับความตายนี่นะโดยมากก็จะเป็นพวกที่รู้ตัวเองเลยว่า ‘ตายเมื่อใดสบายเมื่อนั้น’ อย่าไปมองว่าการที่เราไปพยายามยื้อนี่มันคือการทำบุญเสมอไป ขอให้มองว่าจะยื้อไว้หรือว่าจะปล่อยนี่มองที่ว่า ‘เรามีสติในการยื้อหรือว่ามีสติในการปล่อยแค่ไหน’ ถ้าหากว่ามีสติอยู่ แล้วก็เห็นว่าร่างกายเห็นว่าสภาวะทางจิตทางใจ เป็นของไม่น่าเอาเป็นของไม่เที่ยงนะ มันดีเสมอแหละ

แล้วก็อย่างหนึ่งนะ ขอบอกไว้นิดหนึ่งถึงแม้ว่าในช่วงคือเราสมมติว่า เราไม่รู้นะว่าจะเหลือเวลาอีกเท่าใด จะนานหรือว่าจะสั้นเพียงใดก็ตาม ขอให้มองว่าเป็นเวลาที่มีค่าที่สุดในชีวิต จะเหลือแค่ ๒ วันหรือจะเหลือแค่ ๒ ปี ถ้าหากว่าเรามีความเตรียมพร้อมทั้งในเรื่องของการที่จะทำใจให้มันถอนออกไปจากโลกนี้ ถอนด้วยการให้ทาน ถอนด้วยการรักษาศีล ถอนด้วยการเจริญสติ คืออะไรๆที่แล้วมานี่อภัยให้หมด ปล่อยให้หมดนะ แล้วก็อะไรที่เรายังรักษาไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นศีลเป็นคำพูดที่มันมีความสว่างมีความนุ่มนวล เราพยายามทำเสีย คือสร้างฐานของลักษณะของใจที่มันไม่ข้องไม่ติดไม่เกี่ยวอยู่กับโลกให้มากที่สุด แล้วก็สุดท้ายก็คือเจริญสตินะครับ จะมีสภาพร่างกายที่มันแย่แค่ไหน เราเตรียมไว้ตั้งแต่ตอนนี้ ที่มันยังดีๆอยู่ที่มีสติสามารถเขียนสามารถพูดสามารถอ่านได้อย่างนี้แหละนะ ให้สติที่มันยังดีอยู่นี่ทำงานให้เต็มที่ ชีวิตที่เหลืออยู่จะนานแค่ไหนไม่สำคัญสำคัญที่ว่ามันมีค่ากับเราที่สุดในชีวิตก็แล้วกัน



« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น