วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๘๐ / วันที่ ๒๓ ก.ค. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันจันทร์ที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงนะครับ ทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ วันจันทร์นี่ก็อย่างที่กล่าวแล้วนะครับว่า เป็นช่วงทดลองออกอากาศ ออนแอร์ในช่วงเวลาห้าโมงเย็นนะครับ ข้างหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลงยังไง เดี๋ยวเราว่ากันอีกทีนึง แต่ตอนนี้ทดลองดูนะครับ สำหรับช่วงเวลาห้าโมงเย็น

สำหรับคนที่มีโอกาสที่จะได้ฟังสดๆตอนนี้ ได้ถามตอนนี้ เพราะว่าช่วงเวลาห้าโมงเย็นก็มักจะเลิกงานกันแล้วนะ แล้วก็อาจจะยังอยู่ที่ทำงานอยู่ หรือว่าอาจจะมีโอกาสประจวบเหมาะที่ว่าตั้งคำถามได้ ก็ไม่จำเป็นจะต้องฟังออนแอร์สดๆเสมอไปนะครับ หลังจากตั้งคำถามแล้วก็ไปฟังเอาทีหลังได้ นอกจากวันจันทร์ก็จะมีคืนวันพุธแล้วก็คืนวันศุกร์เวลาสามทุ่มเหมือนเดิม เพื่อจะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการนะครับ ให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/HowfarBooks



๑) มีวิธีฝึกสมาธิเพื่อสติสัมปชัญญะ รู้ความเกิดดับของ เวทนา สัญญา และวิตกอย่างไรให้ได้ผลครับ? ผมลองฝึกตามดู หมายถึงว่าฝึกตามรู้ตามดูนะ รู้สึกว่าสามารถลดอาการฟุ้งซ่านได้บ้าง แต่ยังไม่แน่ใจว่าทำผิดหรือถูก ขอคำแนะนำด้วยครับ

การที่จะเห็นความเกิดดับของเวทนาแล้วก็สัญญานะครับ เรามาทำความเข้าใจกันอย่างนี้ก่อน คือเวทนา สัญญา แล้วก็วิญญาณเนี่ย แม้แต่พระสารีบุตรท่านก็เคยบอกนะครับ ว่าท่านแยกไม่ออก สามตัวนี้คือท่านแยกไม่ออกว่าอันไหนเป็นอันไหน ก็เป็นเรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจว่า ไม่ใช่อยู่ๆในแต่ละขณะเนี่ย เราจะไปจี้จุดเอาว่าตรงนั้นเรียกว่าเวทนา ตรงนั้นเรียกว่าสัญญา สุดแต่ว่านะ ทางที่ถูกแล้วสุดแต่ว่าอาการอะไรปรากฏเด่น อย่างเช่นถ้าหากว่ากำลังมีความสุขมาก อย่างนั้นดูเวทนาไป ดูว่าเวทนามีความไม่เที่ยง แต่ถ้าหากว่ากำลังนึกขึ้นมาได้ว่า เออ ตอนนี้เราเป็นใคร หรือว่าเขาเป็นใคร หรือว่ากำลังพยายามเค้นนึกนะครับว่า เอ๊ คนนี้ชื่ออะไรนะ แล้วนึกขึ้นมาได้ นี่ตรงนี้เนี่ย เรียกว่าสัญญาปรากฏเด่นขึ้นมานะ จริงๆ แล้วเวลาที่มีอาการนึกขึ้นมาได้ คนนี้ชื่ออะไรเนี่ย มันจะมีความสุขประกอบอยู่ด้วย มันจะมีความยินดีประกอบอยู่ด้วย มีความปีติประกอบอยู่ด้วย แต่ตรงนั้นมันไม่เด่น มันเด่นตรงที่ว่า ไอ้อาการนึกได้ว่าเขาชื่ออะไร อย่างนี้เรียกว่าสัญญาปรากฏเด่น เราก็รู้ว่าสัญญาไม่เที่ยง ไม่เที่ยงคือว่าต้องเค้นนึกซะก่อนมันถึงจะออกมา หรือบางทีเค้นนึกมันก็นึกไม่ออก เอาแน่เอานอนไม่ได้ว่าเราจะจำชื่อใครได้ตลอดไป มันไม่เสมอนะครับ อย่างนี้เราก็สามารถพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยงได้ หรือแม้กระทั่งขณะอยู่ในสมาธิ แล้วเกิดภาพของใครขึ้นมาในขณะนั้นเนี่ย การรับรู้มีความละเอียดอ่อน มีความชัดเจน มีความว่องไวสูงมาก จนกระทั่งเราสามารถรู้สึกสัมผัสถึงภาวะของสัญญา คือกำหนดได้ว่า ภาวะนึกออกว่าภาพนิมิตที่ปรากฏนั้นเป็นภาพของใคร เรารู้จักกับใครอยู่ หรือว่าเขาชื่ออะไร แบบนี้ก็เรียกว่าเป็นการเห็นสัญญาได้เช่นกัน นี้คือ การที่เราจะฝึกตามรู้เกิดดับของเวทนาหรือว่าสัญญาเนี่ยนะ ไม่ใช่ว่าอยู่ๆก็ไปฝึกกันได้ตามอำเภอใจนะครับ มันขึ้นอยู่กับกำลังของความรับรู้ด้วย ความสามารถในการรับรู้เนี่ย เป็นปัจจัยสำคัญเลยที่จะบอกว่า เรากำลังควรจะดู ควรจะเห็นอะไร ภายในขอบเขตของกายใจนี้ ถ้าหากว่ากำลังคิดๆฟุ้งซ่านอยู่ อย่างนี้ควรที่จะเริ่มจากการดูอะไรที่ง่ายที่สุด ก่อนที่ภาวะฟุ้งซ่านมันจะเอื้อให้ดูได้ ยกตัวอย่างเช่น ถามตัวเองตอนนี้กำลังหายใจเข้าหรือว่าหายใจออกอยู่ ต่อให้ฟุ้งซ่านจัดขนาดไหน มันก็จะยังพอสามารถรับรู้กันได้ นี่เรียกว่าเป็นการตั้งหลักนะ เป็นการรู้แบบตั้งหลัก แล้วก็สามารถที่จะรู้ต่อได้ด้วยว่าลมหายใจต่อมา ที่มันเข้าที่มันออก มันยาวกว่าหรือว่าสั้นกว่าระลอกที่ผ่านมา นี่เรียกว่าเป็นการฝึกรู้แบบสมตัว ทีนี้ถ้าหากว่าเรามีสมาธิดีแล้ว เรามีสมาธิดีแล้วจริงๆ คือมีความนิ่ง นิ่งขนาดที่เอาตัวนี้เป็นเครื่องวัดนะ สามารถรู้สึกถึงความนิ่งได้นาน นานพอสมควร นานกว่าสิบวินาทีขึ้นไป อย่างนี้มันจะเห็นเวทนาได้ชัดเด่นเลย เวทนาจะเป็นสุขแน่ๆ คือคนที่สามารถนิ่งได้มากกว่าสิบวินาทีขึ้นไป มันจะรู้สึกถึงความเย็น มันจะรู้สึกถึงความว่าง วิเวก มันจะรู้สึกถึงความมีปีติอ่อนๆ นี่อย่างนี้เรียกว่าเหมาะที่จะดูเวทนาอันเป็นสุข แล้วพอสภาวะที่มันนิ่งๆเย็นๆ มันหายไป เวทนามันก็จะต่างไป เราสามารถทำการรับรู้เข้าไปได้ว่า มันไม่เที่ยงโดยอาการอย่างนี้ ลักษณะที่ปรากฏเด่น ปรากฏชัด ปรากฏนิ่ง ปรากฏนาน ถ้าหากว่ามันแปรไป เราจะไม่สงสัยเลยว่าอาการแปรไป อาการปรวนแปรไปนั้น มันปรากฏขึ้นที่วินาทีไหน มันชัดเจน ทีนี้ถ้าหากว่าเราสามารถที่จะดูเวทนาได้ ตรงนั้นนะ เพียงแค่เราศึกษาไว้ก่อน ทำความรับรู้ไว้ก่อนล่วงหน้าว่า สัญญาคืออาการที่จำได้ คืออาการที่หมายรู้ ว่าอะไรเป็นอะไร ถ้าขณะที่นิ่ง ขณะที่กำลังสงบสบายอยู่นะ กำลังหลับตาอยู่น่ะ ปรากฏนิมิตอะไรขึ้นมา อย่างเช่น นิมิตของความฟุ้งซ่าน มันมีนะนิมิตของความฟุ้งซ่าน คือพอสงบระงับไป มันจะมีระลอกความคิดผุดขึ้นมา ท่ามกลางความรู้สึกสบาย ท่ามกลางความรู้สึกนิ่งว่าง และความคิดระลอกนั้นที่มันปรากฏขึ้นมานี่ มันเป็นความคิดเกี่ยวกับอะไร ทำให้จิตประหวัดหวนไปนึกถึงอะไร สามารถจำได้ว่า อ้อ เรากำลังคิดถึงเรื่องนั้นๆ นี่เรียกว่าเป็นการแสดงตัวของสัญญาแล้ว พอความคิดกระทบใจแล้วเกิดความจำได้ นี่เรียกว่าสัญญา คือมีธรรมารมณ์กระทบใจ อายตนะคู่ที่หกนะ คือธรรมารมณ์เนี่ยพอมากระทบใจแล้วเกิดสัญญาขึ้นมา จำได้หมายรู้ขึ้นมา นี่ตัวนี้มันจะเป็นตัวที่เราสามารถเห็นได้ทันที คือทำใจไว้ล่วงหน้าว่า สัญญาคือความจำได้หมายรู้ พอปรากฏภาวะนั้นขึ้นมาในสมาธิ เราก็แค่ทำความรับรู้ไปเฉยๆ นี่เรียกว่าเป็นการเห็นสัญญาจริงๆ

ส่วนตัววิญญาณก็หมายถึงการรับรู้ คือมันมีอาการรู้ขึ้นมา ถ้าถามว่าจะให้ดูวิญญาณปรากฏตอนไหน ก็ดูตอนที่ เอาฝึกตอนที่รู้สึกถึงความว่าง สมมุติว่าความว่างนั้น เป็นอาการของจิตก่อน เป็นอาการว่าง แต่มันไม่ว่างจริงนะ คือมีอาการปรุงแต่งจิตอยู่ตลอดเวลา มันไม่ใช่ว่าความรู้สึกว่างนั้น มันว่างเปล่า แท้จริงแล้วความรู้สึกว่าว่างนั้นน่ะ มันเป็นแค่อาการปรุงแต่งอย่างหนึ่งของใจให้เห็นไปว่าว่าง ให้รู้สึกไปว่าว่าง การรับรู้ตรงนั้นก็ขอให้รับรู้ว่าวิญญาณ วิญญาณขันธ์มันกำลังมีอาการรับรู้อยู่ว่าว่าง ไม่ใช่ว่าจิตมันว่างเปล่า ไม่ใช่ว่าโลกนี้กลายเป็นของว่างเปล่าไป คือประสบการณ์ทางใจของคนที่ไม่เคยสัมผัสความว่างมากๆมาก่อนเนี่ย จะรู้สึกไปว่า โอ้ ไอ้นี่ไม่มีอะไรเลย ไอ้นี่มันมีความว่างเปล่า แต่แท้ที่จริงแล้ว ถ้าหากว่าเราฝึกในทางของการเจริญของสติ เราจะมองด้วยความเข้าใจว่า นั่นเป็นอาการปรุงแต่งอย่างหนึ่งของจิตชั่วขณะ ชั่วขณะที่มีสมาธิ ชั่วขณะที่ไม่มีความคิดอื่นเจือปน ชั่วขณะที่ไม่มีการเห็นภาพทางตา ไม่ได้ยินเสียงทางหู แล้วเกิดความปรุงแต่งไปว่าว่าง ว่างเปล่าจากผัสสะ แท้จริงแล้วพอมองเข้าไปแล้ว มันก็เป็นแค่การรับรู้ว่าว่าง นี่ถ้าหากว่ามีความฟุ้งซ่านผุดขึ้นมาหลังจากนั้น ไอ้นั่นก็เป็นการรับรู้ว่าไม่ว่างแล้ว นี่อย่างนี้นะ คือขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองได้อย่างไร อะไรกำลังปรากฏเด่นนั่นเอง ถ้าหากว่าสิ่งที่กำลังปรากฏเด่น ปรากฏชัดนั้น มันทำให้เรารู้สึกได้ถึงภาวะธรรมชาติ ว่านี่เป็นการปรุงแต่งของขันธ์ ขันธ์ทั้งห้าเนี่ยนะ มันเกิดขึ้นชั่วขณะ แล้วก็เปลี่ยนไป แปรปรวนไปเรื่อยๆ นี่ถือว่าใช้ได้ นี่ถือว่าจะทำให้เกิดการปล่อยวางอย่างแท้จริง แล้วก็มันเฉียดใกล้เข้ากับรับรู้ถึงอนัตตาว่าไม่มีตัวตน มันเฉียดใกล้กันนิดเดียวกับการบรรลุมรรคผล เพราะว่าในสมัยพุทธกาล มีผู้ที่พิจารณาขันธ์ห้าโดยความเป็นของไม่เที่ยง แล้วรู้สึกขึ้นมาจริงๆว่า สักแต่มีภาวะธรรม สักแต่มีธรรมชาติอย่างหนึ่งเกิดขึ้น แล้วธรรมชาตินั้นก็ดับไปเป็นธรรมดา ไม่ได้มีตัวตน ไม่ได้มีบุคคล ไม่ได้มีเราเขา ไม่ได้มีชายหญิง ไม่ได้มีใครชื่ออะไรอยู่จริงๆ เลยอยู่ในโลกนี้



๒) คนที่มีโทสะจริตสูง แล้วก็ยึดมั่นถือมั่นแรง มีคอร์สฝึกแบบเข้มข้นได้ผลจริงไหมคะ? คือทุกวันนี้รำคาญตัวเองมากที่เป็นแบบนี้ ตอนนี้ที่ปฏิบัติอยู่ก็คือพยายามเจริญสติ คือโกรธแล้วก็รู้ว่าโกรธ อันนี้เห็นบ่อยเลยค่ะ แล้วก็มีสติขึ้นมาได้เป็นระยะๆ แต่ใจมันชอบวนกลับไปคิดถึงคน และเรื่องที่ทำให้เราโกรธซ้ำซากไม่จบ พอเริ่มคิดก็ไปไกลเลยค่ะ มันไม่มีสติดึงกลับมา กว่าจะรู้ตัวก็ผ่านไปนานมาก แล้วบางครั้งก็ทำใจให้ปล่อยวาง เลิกยึดมั่นถือมั่นได้บ้าง แล้วเดี๋ยวก็กลับมาเป็นอีก เบื่อจังเลยค่ะ บางครั้งโกรธตัวเองมากๆ ที่เป็นแบบนี้ รู้ว่ามันไม่ดี แต่ก็เลิกไม่ได้ซักที รบกวนแนะนำด้วยค่ะ

ก็เอาอย่างนี้แล้วกัน ถ้าจะหาเครื่องทุ่นแรง เอาเครื่องช่วยกันจริงๆ แต่ต้องทำจริงนะ คือถ้าหากว่าตั้งใจ จะทำแล้วเนี่ย แล้วล้มเลิกเสียกลางคัน เราก็อาจจะกลายเป็นคนที่วกวนไปสู่อารมณ์โกรธ อารมณ์โมโหได้มากขึ้นด้วย อันนี้เป็นคำแนะนำที่ถ้าทำได้ มีวินัยมากพอก็ได้ผลไปเลย แต่ถ้าทำไม่ได้ คือตั้งใจไว้สูงแล้วเสร็จแล้วไปล้มเลิกกลางคัน มันก็อาจจะมีผลเหวี่ยงกลับไปเหมือนกัน จากแทนที่จะบวกมาก มันกลายเป็น มันเพิ่มอารมณ์ลบได้มากขึ้นไปอีก คือความไม่พอใจในตัวเองได้ คำแนะนำก็คือ ทำความเข้าใจว่า ที่เราจะมีอารมณ์เมตตาหรือว่าขี้เกียจจะโกรธนะ คือมีความสุขมากพอที่จะขี้เกียจโกรธ ไม่รู้จะโกรธ ไม่รู้จะร้อนไปทำไม ก็คือเราต้องสร้างภาวะความเยือกเย็น ภาวะความสว่าง ภาวะความสุข ที่มันมีความล้นหลามให้ได้ขึ้นมาก่อน ถ้าหากว่าไม่มีความสุข ไม่มีความเยือกเย็น ที่มันเป็นตัวตั้งอยู่ในจิตของเราแล้ว บางทีการจะเอาแต่ตามรู้ความโกรธ หรือว่าเอาแต่จะไปเจริญสติในระหว่างวันให้ทัน มันก็อาจจะยากนิดนึง เพราะว่าอารมณ์โกรธเป็นเพื่อนกับเรามาทั้งชีวิต นี่น้องก็น่าจะยี่สิบกว่าๆมั้ง ก็อยู่มาเป็นสิบๆปี เราก็เป็นเกลอแก้วกับความโกรธมามากกว่าความเมตตา เอาเป็นว่าอย่างนี้ก็แล้วกัน พอพิจาณาอย่างนี้ ก็ทำยังไงให้มันเกิดความสุข เกิดความเมตตาขึ้นมาได้แบบลัดๆ ก็แนะนำอย่างที่เคยรู้ไปแล้วนั่นแหละว่าสวดอิติปิโส แต่ว่ามีอะไรพิเศษกำกับเข้าไปนิดนึง คือเราต้องตั้งใจว่า ตื่นนอนตอนเช้าขึ้นมาเนี่ย ตื่นแต่เช้าตรู่ ถ้าหากว่าเคยตื่น สมมติว่าหกโมงเช้าอย่างเนี่ย ขอให้ตื่นสักตีห้าครึ่ง คือเช้ากว่าเวลาตื่นนอนเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ต้องประมาณนั้นน่ะนะ แล้วก็อาศัยเวลาครึ่งชั่วโมงนั้น มานั่งสวดอิติปิโสด้วยความหวังว่าเราจะสวดโดยการเอาแก้วเสียงเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชานะ สวดอิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ… และอย่าสวดแบบเอื่อยๆนะ สวดต้องเต็มปากเต็มคำ สวดต้องสามารถปลุกให้ตัวเองเนี่ยตื่นขึ้นมา รับรู้ความสุขในรุ่งอรุณให้ได้ บางคนเนี่ย สวดแบบเอื่อยๆไป แทนที่มันจะดี มันกลายเป็นยิ่งกลับซึมเซาเข้าไปอีก เบื่อหน่าย หรือว่าขี้เกียจที่จะเจริญสติเข้าไปใหญ่ ต้องสวดแบบที่จะทำให้เกิดความตื่นตัว ต้องสวดแบบที่จะรู้สึกถึงแก้วเสียง แล้วก็มีความสุข คือน้องก็สวดอิติปิโสฯอยู่แล้ว แต่ทีนี้เราตั้งใจอย่างนี้เลยว่าสวดอย่างน้อยที่สุด เช้านึงเนี่ยไม่ต่ำกว่าเจ็ดจบ คือใช้เวลาครึ่งชั่วโมง นี่ถ้าสมมติว่าครึ่งชั่วโมงนั้น เราสวดได้สักยี่สิบสามสิบจบได้ยิ่งดี แต่ขอให้เป็นการสวดอย่างมีความสุข ขอให้เป็นการสวดอย่างมีความรู้สึกว่า เช้านี้เราจะตื่นขึ้นพร้อมกับความสุข ในการที่เราได้สรรเสริญสิ่งศักดิ์สิทธิ์จริงๆนะ อาศัยเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง มันจะมีกำลังมากพอ เหมือนกับสมาธิในระดับเกือบๆอุปจารสมาธิ ถ้าทำได้ทุกวันเป็นเวลาอย่างน้อยที่สุดสองเดือน จะรู้สึกว่าการสวดมนต์ของเรา การสวดอย่างเปล่งแก้วเสียงเต็มปากเต็มคำอย่างมีความสุขเนี่ย จะทำให้ทุกเช้ามีทุน เป็นความสุข เป็นความเมตตา เหมือนกับได้เก็บกักน้ำเย็นไว้อยู่ในแท็งก์ใหญ่ในตัวเรา ความสุขความเย็นนั้น มันจะมีมากพอที่จะทำให้มีแก่ใจอยู่ในชีวิตประจำวัน อยู่ในระหว่างวันเนี่ย ด้วยความรู้สึกเป็นสุข สุขมากพอที่จะเห็นความโกรธมันเกิดขึ้น เห็นความโกรธมันเป็นความร้อน มันเป็นของแปลกปลอม ตรงนี้คือคีย์เวิร์ดสำคัญนะ ถ้าหากว่าเราเป็นเกลอแก้วกับความโกรธมานานเนี่ย ปกติเวลาโกรธขึ้นมา เราจะรู้สึกว่า นี่เป็นเรื่องธรรมดา นี่เป็นตัวเรา แต่ถ้าหากว่าทุกเช้าเราตื่นขึ้นมามีความสุข มีความเย็นมากๆ ระหว่างวันพอโกรธขึ้นมาจะเห็นเรื่องผิดปกติของจิต คือเห็นทันทีนะ ไม่ใช่ต้องเค้นสติให้เห็นนะ มันเห็นเอง เห็นออกมาจากความเย็น เห็นออกมาจากความสว่างทางใจ ที่มันกำลังมีความอิ่ม มีความเต็ม มีความใหญ่อยู่ ตรงนี้เนี่ยเราก็จะมองออกทันที อ่านขาดว่าความโกรธมันเป็นหนามแหลมทิ่มแทงจิต มันเป็นความร้อนที่ทำให้จิตมีความกระวนกระวาย เป็นความรู้สึกแย่ๆกับตัวเอง ที่มันจมอยู่กับภาวะอกุศลอันมืดมน มันจะอ่านขาด ณ เวลาที่เกิดขึ้นเลย ไม่ใช่จะต้องชะลอเวลาซะก่อนถึงจะได้เห็น แล้วถ้าน้องทำได้ทุกเช้า สวดแบบนี้อย่างน้อยที่สุด ๗ จบ ๑๐ จบเนี่ย ตอนแรกๆจะเบื่อ จะยังไงก็แล้วแต่ แต่พอสวดจนติดแล้วเนี่ย ด้วยจุดประสงค์ ด้วยเจตนาว่าเราจะเอาความสุขจากการสวดสรรเสริญพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ตัวนี้มันจะให้ผล คือมันจะก่อให้เกิดผลอันเป็นปัจจุบัน คือใจเราเนี่ยมันจะพลิกไป เปลี่ยนไปจากกระแสทุกข์เป็นกระแสสุข มันต้องกินเวลานิดนึง คืออย่างถ้าทุกวัน ด้วยความสม่ำเสมอสองเดือน คือแต่ละคนไม่เท่ากันนะ แต่พี่กะว่าของน้องน่าจะประมาณสองเดือน สองเดือนนี่น่าจะเห็นผลว่า เราเปลี่ยนจากชีวิตแบบที่มันขัดเคืองง่าย เป็นขัดเคืองยากขึ้น ขอให้มองก็แล้วกันอย่างนี้ว่า ถ้าเป็นคนที่มีโทสะจริตมากๆ แล้วจะมาใช้วิธีนี้เนี่ย ต้องใช้เวลากันเป็นเดือนๆนะ ของคนที่มีเมตตาเป็นทุนอยู่แล้ว ก็อาจจะอาทิตย์สองอาทิตย์ มันจะเห็นเลย เห็นชัดมากๆ รู้สึกเหมือนความสุขมันเอ่ออยู่ในใจตลอดเวลา ทั้งนี้ทั้งนั้นย้ำอีกครั้งหนึ่ง สวดมนต์ไม่ใช่เพื่อขออะไรทั้งสิ้น นอกจากเจตนาจะให้เกิดความสุข เพื่อให้เอาความสุขนั้นเป็นทุนอยู่ในอก อยู่ในใจ จำตรงนี้ไว้ดีๆนะครับ



๓) ช่วงนี้ก็ภาวนาดูสภาวะโดยเห็นความไม่เที่ยงกายใจไปน่ะครับ และจิตมันก็ระลึกถึงความรู้สึก และความจำตอนที่เป็นเด็ก คือในสมัยเด็กเนี่ยเวลาเกิดทุกขเวทนาทางกายขึ้นมา แล้วตอนนั้นก็จะพยายามดูกายโดยความเป็นวัตถุอะไรสักอย่างว่า มันที่ไม่ใช่เรานะ เพื่อที่จะให้ลืมความเจ็บปวด อันนี้จุดประสงค์นะ ที่จะมองว่ามันไม่ใช่ตัวเรา ก็เพื่อที่จะลืมความเจ็บปวด ก็เลยมารู้ว่าแต่ก่อนก็เคยทำแล้ว แต่เพราะยังไม่รู้จักการเจริญสติ ก็เลยไม่รู้ว่าสภาวะนั้นเป็นอะไร อยากถามว่าควรเอามาต่อยอดอย่างไรให้เกิดประโยชน์ครับ?

ถ้าวัยเด็กมันคิดขึ้นมาได้เองแบบนั้นน่ะ ส่วนใหญ่ก็เป็นของเก่า ไม่ว่าจะอยู่ๆนึกอยากเจริญสติขึ้นมาว่า เราอยากรู้ความเคลื่อนไหวเห็นกายเหมือนหุ่นยนต์ หรือว่าอย่างของน้องอาจจะเหมือนกับมีความรู้สึกว่า เออ กายมันไม่ใช่ตัวเรา เพราะว่าอยากจะให้ทุกขเวทนาทางกายเนี่ย มันแยกออกไปเป็นต่างหาก ไม่ยึดมั่นถือมั่นไว้ว่า ไอ้ความทุกข์นั้นเป็นตัวเป็นตนของเรา หรือบางคนก็อาจจะนอนๆอยู่ แล้วก็คิดว่าถ้าเราตายไปก็ท่าทางจะอยู่ท่านอนแบบนี้แหละ มันทื่อแบบนี้แหละ ของพวกนี้นี่นะ ส่วนใหญ่ถ้าเกิดขึ้นในวัยเด็กเอง มันเป็นสัญญาเก่า มันเป็นอดีตสัญญา หมายความว่า เราเคยทำอะไรแบบนั้นมา เจริญกรรมฐานในทำนองนั้นมา แล้วเคยเห็นเป็นปกติ คือเคยเห็นเป็นธรรมดาในชีวิตก่อน ชีวิตนี้มันก็กลับมาได้ คือมาได้รูปกายแบบนี้ มาได้ความรู้สึกแบบนี้ มันก็คุ้น คุ้นเป็นของที่ว่า เออ เราเคยผ่านไอ้ภาวะอะไรแบบนี้มา แล้วถ้าหากว่าเคยทำ อย่างของน้องอาจจะเคยพิจารณาในเรื่องของทุกขเวทนาทางกาย กับทุกขเวทนาทางใจที่มันแยกกันได้ แล้วพอเห็นว่า จิตสามารถที่จะแยกออกมาจากความเป็นกายได้ มันก็จะไม่รู้สึกรู้สา ไม่ได้มีความอยากยึดมั่นถือมั่นครอบครองกาย แล้วก็รู้สึกว่าเวทนาทางกายมันหายไปหมดได้ ไอ้แบบนี้พอเกิดใหม่มันก็อาจจะกระตุ้นเตือน ความทุกข์มันกระตุ้นเตือนให้เกิดการรับรู้แบบนั้นขึ้นมาใหม่ได้ โดยไม่ต้องมีใครสอน แต่จะเอามาต่อยอดได้มั้ย มันไม่ได้เกี่ยวข้องกันหรอกนะ ผลคือผล ณ เวลานั้นมันเกิดการจำได้ขึ้นมาว่า เออ มันอะไรเป็นอะไร แล้วก็เราจะตั้งมุมมองทางใจไว้อย่างไร แล้วจะเกิดการเห็นอย่างไร มันรู้ขึ้นมาเอง เป็นผลจากความเคยชินในอดีต แต่ว่าที่จะมาต่อยอดกันจริงๆเนี่ย ก็ต้องมานับหนึ่งใหม่นั่นแหละ เพื่อที่จะให้จิตเข้าที่เข้าทาง เกิดความรับรู้ เกิดความเข้าอกเข้าใจว่า เราดูอะไรไปเพื่ออะไร เราเห็นความไม่เที่ยงไป เพื่อให้เกิดความรู้สึกแบบไหน ทำกันไปเป็นอย่างๆ ทำกันไปตามลำดับขั้นตอน ไม่ใช่ไปเก็บเกี่ยวเอาเฉพาะจุดนั้นมาภาวนาต่อ มันไม่มีประโยชน์ มันเป็นจุดคับแคบที่ทำให้เกิดการเพ่งเล็งผิดๆได้ จำไว้ว่าของเก่าที่เราจะเอามาใช้ประโยชน์ คือกายนี้ ใจนี้ ทั้งตัวเลย ทั้งแท่งนี้เลย แล้วก็ความมีสัมมาทิฐิ มีใจที่จะอยากเจริญสติต่อ ตามแนวทางของพระพุทธเจ้า ตัวนี้แหละที่มันเป็นทุนเก่าอันเป็นที่สุด ถ้าหากว่าเราเอาของที่นึกว่า เป็นกรรมฐานที่ถูกจริตของตัวเอง มาเพ่ง มาพิจารณา มาย้ำ มันกลายเป็นกรรมฐานคับแคบไป ไม่ใช่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน มันกลายไปเป็นผูกใจไว้กับสิ่งที่นึกว่าเป็นของดี นึกว่าเป็นของที่เจริญให้มากๆแล้ว ต่อยอดให้มากๆแล้ว จะกลายเป็นมรรคผล คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดนะ ไม่ใช่นะ มันไม่ใช่แบบนั้น ถ้าหากว่าจะมีกรรมฐานเฉพาะทาง ที่จะทำให้บรรลุมรรคผลได้จริงๆ อันนั้นเป็นพระญาณของพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะรู้ว่า ณ ขณะไหน วันไหน ใครสมควรจะได้กรรมฐานแบบลัดสั้นยังไง ตรงนี้เนี่ย พระพุทธเจ้าไม่อยู่แล้ว ก็ไม่มีใครมาให้ทางลัดทางสั้นแบบนั้นได้อีกนะครับ ต้องทำกันทางตรงเนี่ยแหละ ต้องทำกันเอาแบบที่จะได้ประกันความปลอดภัย ก็คือว่าค่อยๆเป็นค่อยๆไป ถ้ายังไม่พร้อมจะรู้อะไรเลย ก็รู้ซะก่อนว่า กำลังหายใจเข้าหรือหายใจออก ถ้าพร้อมกว่านั้นขึ้นมานิดนึง ก็รู้ว่ากำลังหายใจยาวอยู่ หรือว่าหายใจสั้นอยู่ เพื่อเห็นความไม่เที่ยงของลมหายใจให้ได้ พอเห็นความไม่เที่ยงของลมหายใจได้ ทุกอย่างที่มันปรากฏภายในภาวะกายใจ ก็จะสามารถปรากฏโดยความเป็นของไม่เที่ยงได้เช่นก้น นี่ตรงนี้ก็ต้องค่อยๆ เก็บเล็กประสมน้อย เก็บตกทั้งฝ่ายรูปแล้วก็ฝ่ายนาม ไม่ว่าจะเป็นอาการทางกาย จะเป็นสุขเป็นทุกข์ จะเป็นอารมณ์สงบ หรือว่าอารมณ์ฟุ้งซ่าน จะเป็นความรับรู้ว่านี่เรากำลังจำได้อยู่ เรากำลังคิดดีอยู่ เรากำลังคิดชั่วอยู่ ทั้งหลายทั้งปวง ต้องค่อยๆเก็บตก ด้วยภาวะของกายของใจอันเป็นปัจจุบัน ที่มันจะเป็นประกันว่า เราไปถึงจุดหมายปลายทางได้แน่ๆ ถ้าไม่อย่างนั้นเราไปพยายามหาทางลัดเองเนี่ย ไม่มีทางหรอกที่มันจะได้ผลอะไรขึ้นมา แม้แต่สมัยพุทธกาลที่พระพุทธเจ้าให้อุบายลัดสั้น ให้เกิดมรรคผลขึ้นมา ท่านต้องดูวันด้วยนะ คือไม่ใช่ว่าให้อุบายลัดสั้นแบบเดียวกันในต่างวัน แล้วมันจะได้ผลเหมือนกันนะครับ


เอาล่ะครับ วันนี้คงจะต้องกล่าวล่ำลากันไปก่อน ก็ขอให้เจริญในธรรมด้วยกันทุกท่านนะครับ


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น