วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๕๔ / วันที่ ๒๓ พ.ค. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันพุธที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง เพื่อที่จะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการนะครับ ให้เข้าไปที่ https://www.facebook.com/HowfarBooks



๑) เมื่อก่อนเคยถามเรื่องนั่งสมาธิแล้วตัวร้อน ได้รับคำแนะนำจนอาการนี้หายไปนาน แต่ช่วงนี้เวลานั่งสมาธิมีอาการร้อนกลับมาอีกครั้ง แต่เป็นความรู้สึกร้อนคนละอย่างกับเมื่อก่อน เป็นอาการร้อนที่ฝ่ามือ ร้อนจนปวด แล้วรู้สึกอยากปล่อยความร้อนออกจากมือมากๆเหมือนปล่อยพลังออกจากมืออย่างในหนัง และบางครั้งก็จะมีอาการปวดกระดูก ตามนิ้วมือ ข้อมือ บางครั้งลามไปถึงใบหน้า แต่เป็นอาการปวดที่ทนได้ ไม่ได้ทรมานมากอยากทราบว่าอาการเหล่านี้เกิดจากอะไร? และควรแก้ไขอย่างไร?

อันนี้พูดโดยรวมเลยก็แล้วกัน คือถ้าหากไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ฟังแล้วอาจจะเข้าใจยากหน่อยนะ แต่จะพูดถึง ผมจะยกตัวอย่างก็แล้วกัน เหมือนตอนเรากำลังป่วย เป็นไข้อยู่นี่ แล้วมันมีความร้อน เราก็จะรู้สึกอึดอัด อยากที่จะระบายความร้อนออกจากร่างกาย แต่ในลักษณะของพลังความร้อนที่พูดถึงนั้น ที่มันเกิดจากการทำสมาธิ มันจะเป็นความร้อนอีกแบบหนึ่งนะครับ เป็นความร้อนในแบบที่เรารู้สึกถึงพลังเคลื่อนไหวที่อยู่ในร่างกาย แล้วก็สามารถที่จะรู้สึกได้มาจากข้างใน มันมีสัญชาตญาณทางจิตอยู่ว่าพลังแบบนี้น่าจะเคลื่อนไหวออกจากร่างกายได้

ถ้าใครอยากจะทดลองนะครับ เอาง่ายๆก็ลองถูมือ ถูมือให้เร็วๆนะ ให้เกิดความร้อน แล้วก็แยกฝ่ามือออกมานิดหนึ่ง รอดูความรู้สึกร้อนระหว่างฝ่ามือนี่ เดี๋ยวมันก็จะค่อยๆส่งพลังดึงดูดนะครับ หรือไม่ก็พลังผลักออก อันนี้ไม่ใช่ความสามารถพิเศษ หรือว่าเป็นเรื่องลี้ลับอะไรนะ แต่เป็นเรื่องของพลังงานในร่างกาย เป็นเรื่องของธาตุไฟ เป็นเรื่องของสนามแม่เหล็กนะครับ

คือร่างกายของคนเรานี่ สมัยก่อน ถ้าเมื่อหลายๆร้อยปีก่อน ไปบอกว่ามีไฟฟ้า คนคงหัวเราะตายนะครับ แต่ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ก็รับรู้อย่างมีความเข้าใจว่า ร่างกายของมนุษย์มีไฟฟ้าไหลอยู่ โดยเฉพาะอย่างในสมองอย่างนี้นะครับ ในหัวใจอย่างนี้นะ แล้วเวลาที่กระแสประสาทวิ่งไปตามร่างกาย อะไรต่างๆนี่นะครับ เป็นเรื่องที่วิทยาศาสตร์บอกได้ว่า มันมีกระแสอะไรบางอย่างเป็นกระแสพลังงานที่ไม่ใช่ความหยุดนิ่งเหมือนกับก้อนหินหรือท่อนฟืนที่มีแต่ความทื่อ มีแต่ความแข็งแบบทื่อๆ มันเป็นอะไรอีกอย่างหนึ่งที่มีความสลับซับซ้อนนะครับ มีกระบวนการทางชีวเคมี มีกระบวนการที่ยังลึกลับ ที่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังอธิบายไม่ได้อีกหลายเรื่องนะครับ โดยเฉพาะเกี่ยวกับในเซลล์

อา! เดี๋ยวพูดเลยไปไกล กลับมาตอบคำถามนะครับ ในเรื่องของพลังงาน ถ้าความรู้สึกเหมือนอยากจะปลดปล่อยออกไป ลองดูก็ได้นะครับ คือจะปลดปล่อยในแบบที่เราจะไม่รู้สึกว่ามันเป็นการทำอะไรแผลงเกินไปนะครับ ทำอะไรแบบที่มันจะรู้สึกว่าเป็นแค่อีกรูปแบบหนึ่งของการทำสมาธิ ลองดูก็แล้วกันนะครับ คือเอาฝ่ามือมาหันเข้าหากัน ในระยะห่างนิดหนึ่ง สักฟุตหนึ่ง แล้วก็ความรู้สึกที่เหมือนกับพลังความร้อน มันอยากจะปล่อยออกไปนี่นะครับ ให้มาอยู่ตรงกลางระหว่างฝ่ามือนั่นแหละ เหมือนเรามีความรู้สึกว่ามันร้อนอยู่ในร่างกาย แล้วจะให้มันออกมา แทนที่จะออกไปสู่อากาศว่างเปล่านะครับ ก็ให้มาชนกันเอง ให้เกิดความร้อนที่ชัดเจน เพื่อที่จะรับรู้ว่านั่นคือธาตุไฟ

ร่างกายของคนเรานี่ พระพุทธเจ้าท่านให้แยกดูโดยความเป็นธาตุนะครับ ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม ปกติธาตุไฟนี่คนจะไม่ค่อยรู้สึก ของเราพอฝึกสมาธิแล้วเกิดความอุ่น หรือเกิดความร้อนขึ้นมาก็ดีเหมือนกัน เอามาใช้งานเสียเลยนะครับ เอามาดูให้มันรู้ด้วยการอย่างที่ว่านะ คือนั่งตัวตรง แล้วก็ยกมือข้อศอกขนาน ให้ปลายแขนขนานกับพื้น แล้วหันฝ่ามือเข้าหากัน ความร้อนที่เกิดขึ้น มันจะมีมากแค่ไหนก็ตาม เราแค่ตั้งจิตไว้ว่ามันจะมารวมกันอยู่ระหว่างฝ่ามือ

อากาศระหว่างฝ่ามือนี่ เราจะมีความรู้สึกที่ค่อนข้างรุนแรง เวลาที่ความร้อนก่อตัวขึ้นมา ในช่วงที่ร่างกายบอกว่าอยากจะระบายออกมานี่นะ อากาศระหว่างฝ่ามือจะเหมือนร้อนเลย แล้วพอดูไปเรื่อยๆนะ คือไม่ต้องไปคิดว่ามันเป็นเรื่องแปลก ไม่ต้องไปคิดว่าเป็นเรื่องผิดปกติอะไรของร่างกาย หรือของจิตใจทั้งสิ้นนะ แต่ให้รับรู้ตามจริงว่าความร้อนระหว่างฝ่ามือช่วงแรกมีความร้อนมาก ร้อนจี๋เลยนะครับ แต่พอดูไปอาจจะกินเวลาหลายนาที หรือบางคนอาจจะเป็นชั่วโมงนะ ก็สุดแต่ว่าจะสะสมพลังงานความร้อนไว้ระบายออกมาแค่ไหนนะครับ

โดยเฉพาะคนเจ้าโทสะจะเห็นค่อนข้างชัดเลยเวลานั่งสมาธิมันจะมีความร้อนอะไรออกมา ซึ่งเหมือนกับทั้งร่างกายและจิตใจของคนนั่งสมาธินี่อยากจะเย็นลง ก็เลยอยากจะขับไล่ความร้อนออกมา ลองดูนะครับ ใช้วิธีนี้แหละ ดูเพื่อที่จะให้เห็นว่าความร้อนระหว่างฝ่ามือ ความร้อนในอากาศระหว่างฝ่ามือนี่ ขึ้นต้นมามันจะร้อนแค่ไหนก็แล้วแต่ เดี๋ยวมันจะค่อยๆลดระดับลง แล้วเดี๋ยวก็อาจจะกลับเพิ่มขึ้นมาอีก แล้วแต่นะครับ บางทีจิตของเรานี่สั่งได้ด้วยซ้ำว่าจะเร่งขึ้นหรือว่าให้แผ่วลง แต่เราไม่ได้ต้องการที่จะไปเล่นเกี่ยวกับเรื่องของพลังนะครับ เพราะเรื่องพวกนี้ถ้าไปเล่นมากๆติดนะ แล้วก็บางทีเราจะเข้าสู่วังวนของโลกของการรักษาคนก็ได้ หรือว่าจะโลกของการเล่นฤทธิ์เล่นเดชอะไรไป ซึ่งเสียเวลามาก

ชีวิตมนุษย์มีเวลาอยู่นิดเดียว เคยเล่นฤทธิ์เล่นเดชกันมาไม่รู้กี่พันกี่หมื่นชาติ มาในชาตินี้เอามาใช้ประโยชน์นะครับ เอาเวลาไม่กี่สิบปีมาใช้ประโยชน์ในการเจริญสติเพื่อความพ้นทุกข์ดีกว่านะครับ แล้ววิธีหนึ่งที่เราจะทำได้ก็คือ เห็นธาตุไฟ หรือว่าความร้อน หรือไออุ่นในร่างกายของเรานี่ไม่เที่ยง วิธีก็อย่างที่บอกนะครับ คือให้ดูว่าตอนแรกๆร้อนแค่ไหน ยอมรับตามจริง ไม่ต้องไปเร่งมัน แล้วก็ไม่ต้องไปตกอกตกใจ แต่พอแผ่วลงเราก็รู้ตามจริง แล้วมันกลับขึ้นมาอีกเราก็รู้อีกนะครับ เอาอย่างนั้นก็แล้วกัน ไม่ต้องแก้ไขนะครับ



๒) ของไหว้ที่หิ้งบรรพบุรุษ เจ้าที่จีน โต๊ะหมู่บูชาพระ หรือของไหว้ที่สุสานช่วงเทศกาลเช็งเม้งนั้น ถ้าเป็นพวกน้ำสมุนไพร หรือน้ำผลไม้บรรจุขวด หรือกระป๋องบางอย่างก็หาไม่ได้ง่ายนักตามท้องตลาด ควรหรือไม่ที่จะนำมาใส่บาตรพระสงฆ์? ส่วนอีกประเด็น ของที่ไม่ใช่ของสด ที่พระท่านสละแล้วจากการฉันนั้น ถ้าเราไม่กินเองสามารถให้ผู้อื่นหรือใส่บาตรพระในวันอื่นสถานที่อื่นได้หรือไม่?

สมัยพุทธกาลนี่นะ เล่าให้ฟังอย่างนี้ก็แล้วกัน เคยมีนางทาสีคนหนึ่ง ทำงานทั้งวันทั้งคืน ต้องดูแลไฟอะไรให้เจ้านาย คืนนั้นก็อยู่ทั้งคืน อยู่โยงทั้งคืน ไม่ได้หลับไม่ได้นอน แล้วก็หิวมากเลย ตอนเช้าได้ปันส่วนจากโรงครัวมา เป็นข้าวกำมือหนึ่ง ตอนแรกก็ตั้งใจจะกินให้หายหิวเสียหน่อย แต่บังเอิญว่าพอรุ่งเช้าขึ้นมา เห็นพระพุทธเจ้าเดินมาแต่ไกล ก็เกิดมีใจนึกอยากจะถวายขึ้นมาเพราะพิจารณาเห็นว่าชีวิตของตัวเองนี่น่าจะด้อยวาสนา น่าจะไม่มีวาสนา คงเคยทำบุญมาน้อย ถึงได้เกิดเป็นนางทาสี ต้องคอยที่จะรับใช้คนร่ำคนรวยเขา ก็เลยคิดว่ามีโอกาสดีแล้ว ได้ยินกิตติศัพท์ของพระพุทธเจ้ามานาน เป็นที่เลื่องลือว่าเป็นเนื้อนาบุญ เป็นแหล่งผลิตบุญโรงใหญ่ นางก็เลยเกิดความนึกอยากจะถวาย นางก็นิมนต์พระพุทธเจ้า แล้วก็ขอใส่บาตรด้วยข้าวแค่กำมือเดียวนั่นแหละ

แต่ว่าตอนแรกนางก็คิดว่า เอ! ข้าวนี่สกปรก แล้วก็เป็นของต่ำต้อย ได้ยินว่าพระพุทธเจ้าเสด็จบวชออกมาจากวงศ์กษัตริย์ เป็นถึงกษัตริย์ ไม่รู้ว่าจะฉันข้าวที่สกปรกของตัวเองหรือเปล่า พระพุทธเจ้าท่านรู้วาระจิต ท่านก็เลยประทับนั่งแถวนั้นแหละ แล้วก็ฉันให้ดูเลย นางก็ปลาบปลื้มมาก ข้าวนั้นก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นข้าวที่มาจากกำลังใจอย่างใหญ่ คืออยากจะถวาย ใจนี่ไม่มีอะไรหรอก คือของกินได้แหละ ก็เห็นว่าของของตนนี่ถึงแม้ว่าจะสกปรก แต่ก็อยากถวาย ด้วยความอยากถวายนั้น ก็เป็นบุญมหาศาลแล้ว

เวลาที่จะถวายอะไรขอให้มองอย่างนี้ก็แล้วกันว่า เราอยากถวายแค่ไหน เราอยากที่จะใส่บาตรแค่ไหนนะครับ เราอยากที่จะทำบุญแค่ไหน ถ้าหากว่าความอยากเต็มเปี่ยมนะ ต่อให้เป็นของผิดพระวินัย คือด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเรา เดี๋ยวพระท่านเอาทิ้งไปเอง แต่ท่านก็จะรับนะครับ ตามวินัยคือท่านรับของมา ท่านต้องพิจารณาของท่านเองว่าของนี้ควรฉันหรือเปล่า ของนี้ฉันได้หรือเปล่านะครับ ท่านจะมีวิจารณญาณของท่านเองนะครับ ในส่วนของเรา เรามีแค่เจตนาที่จะถวายของ ถวายอาหาร ถวายภัตตาหารให้ท่านมีกำลังวังชา แค่นี้นี่เป็นบุญอย่างใหญ่แล้วนะครับ

ทีนี้ เรื่องของถูกหรือไม่ถูก สดหรือไม่สด อันนี้ถ้าหากว่าเรามีความรู้ขึ้นมามากกว่าตาสีตาสา ที่บางทีเขาอาจจะไม่มีโอกาสมาไถ่ถามพระ หรือว่ามาศึกษาพระวินัย อันนั้นก็เป็นเรื่องที่เราได้เปรียบในการทำบุญคือ ทำบุญอย่างถูกต้อง ทั้งในแง่ของการได้มาซึ่งทรัพย์อันถูกต้องบริสุทธิ์ ตัวเราบริสุทธิ์ มีเจตนาบริสุทธิ์ เวลาที่ถวายเราก็จะถวายด้วยความรู้ว่าอันนี้ควรหรือไม่ควร อันนี้ก็เป็นเรื่องของบุญต่อยอดขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง

แต่ขอให้ไม่ต้องไปกังวลอะไรมาก ถ้าของยังไม่เสีย หรือว่าเรารู้อยู่ อันนี้มันยังไม่เน่าไม่บูด ไม่เป็นไรหรอก เพราะของนี่นะ ตราบใดถ้ายังล่วงผ่านลำคอลงไปสู่กระเพาะอาหารแล้วก็สามารถจะเป็นพลังงานให้แก่พระสงฆ์องค์เจ้าได้ ของนั้นเป็นกำลังบุญของเราเสมอนะครับ เป็นสิ่งที่สะอาดสำหรับเราเสมอ เป็นสิ่งที่ยังไม่บูดไม่เน่า ไม่เสียสำหรับเราเสมอนะครับ



๓) ปฏิบัติมาเกือบ ๕ เดือน เมื่ออาทิตย์ก่อนทำสมาธิแล้วตัวหาย ตกใจมากซ้ำยังกลัวด้วย ควรจะทำอย่างไรต่อไปถ้าเกิดภาวะนี้ขึ้นมาอีก?

ตัวไม่ได้หายไปไหนนะ ตัวยังอยู่ตรงนั้นแหละ แต่จิตไม่ได้อยู่กับตัว มันเหมือนกับปกตินี่นะ การรับรู้ทางอายตนะทั้ง ๕ มันเด่นชัดอยู่ตลอดเวลานะ เรากระทบอะไรมันก็รู้สึกที่ตรงนั้น เลยรู้สึกเหมือนมีตัว แต่จริงๆแล้วตัวมันหายไปอยู่ทุกวันนะ ลองสังเกตดู ตอนที่เราเหม่อหรือตอนที่เราหลับ หลับสนิทจนกระทั่งเหมือนกับไม่มีความรับรู้ ไม่มีความรู้สึกติดอยู่กับตัวติดอยู่กับเตียงอีกเลย บางทีฝันไปนี่มันเหมือนจริงมาก เหมือนกับเราไปมีตัวอีกตัวหนึ่งที่ไม่เคยข้องเกี่ยวกับกายหยาบนี้มาก่อน อันนี้ก็เป็นตัวอย่างว่าปกตินี่ตัวมันก็หายไปเรื่อยๆอยู่แล้ว นี่รู้ไว้อย่างนี้ พิจารณาอย่างนี้ จะได้เลิกกลัวนะครับ

ถ้าทราบว่าอาการที่ตัวหายมันเกิดจากการที่จิตไม่รับผัสสะ ปกติจิตจะรับผัสสะผ่านตา หู จมูก ลิ้น แล้วก็กาย แต่ถ้าเมื่อไรจิตมีความนิ่ง มีความรับรู้อยู่แต่ในห้วงมโนทวาร ก็เหมือนกับว่าความสามารถในการที่จะเห็นผ่านตา ความสามารถในการได้ยินผ่านหู มันหมดไป แม้แต่กระทั่งว่า ความสามารถในการรับรู้ว่าตอนนี้กำลังนั่งอยู่บนพื้นแข็ง หรือว่ากำลังมีหลังตรง หรือหลังงอนี่ ก็ไม่สามารถรับรู้ได้ ตรงนี้ก็เป็นเพราะว่าจิตมีความรับรู้อยู่แต่ในห้วงมโนทวารอย่างเดียว และในห้วงมโนทวารของคุณ ณ เวลานั้น ที่รู้สึกว่ามันหายตัวไป มันเป็นแค่การรับรู้ว่าไม่มีอะไรเลย เป็นช่วงแรกๆที่เราเกิดประสบการณ์นี้ มันจะรู้สึกเหมือนไม่มีอะไรเลย

แต่พอเราตื่นอย่างนี้ คิดดีๆเรารู้ได้อย่างไรล่ะว่ามันไม่มีอะไร ก็มีตัวรู้ ตัวที่เป็นจิต ตัวที่เหลืออยู่คือ อาการรับรู้ว่าอะไรๆมันหายไป ตัวที่รู้นั่นแหละยังไม่หายไปไหน ตัวนั้นแหละเรียกว่าจิตไปก่อนนะครับ คือจิตจริงๆแล้วมันจะมีนิยามอะไรยังไงนี่ ซับซ้อน ถ้าพูดกันตามให้ถูกตามหลักเป๊ะๆนะ แต่ขอให้ดูตรงนั้นไปก่อนว่ายังเหลือจิต และจิตถูกปรุงแต่งด้วยความรู้สึกว่าไม่มีอะไร กายหายไป ดูต่อไปว่า หลังจากความรู้สึกความคิดว่ากายหายไปมันเข้ามากระทบ มันเกิดขึ้นอยู่ในห้วงมโนทวารของเราแล้วนี่ มันมีปฏิกิริยาทางใจอย่างไรต่อไป

อย่างในกรณีของคุณก็คือ ตกใจมาก แล้วก็เกิดความกลัว อาการตกใจนี่นะ จิตจะหดตัว อาการกลัวมันจะมีความรู้สึกมืดๆ ถ้าหากว่าเราสามารถเห็นว่ามีอาการหดตัวของจิต แล้วก็มีอาการที่จิตหม่นมืดลง เรียกว่าเห็นอาการทางจิต นี่เรียกว่าอาการทางใจยังปรากฏ ไม่ได้หายไปไหน ตัวตนของเรายังอยู่ อยู่ที่ใจนั่นแหละ อยู่ที่ความกลัวนั่นแหละ จิตยึดอะไรตัวนั้นแหละที่มันหลงว่าเป็นตัวเอง หลงว่าเป็นตน หลงว่าเป็นบุคคล หลงว่าเป็นเรา ซึ่งมันคิดอย่างนั้นมาชั่วกัปชั่วกัลป์

เวลาที่เราพบพระพุทธศาสนา เป็นช่วงจังหวะเวลาเดียวที่จะมีคนมาบอก บอกตามพระพุทธเจ้านั่นแหละว่าให้พิจารณา ว่านั่นสักแต่เป็นสิ่งปรุงแต่งจิตชั่วคราว จำไว้ดีๆนะ ต่อไปถ้าเกิดอาการตัวหายขึ้นมาอีก ให้ดูปฏิกิริยาทางใจ จะเป็นกลัว ก็ยอมรับว่ากลัว จะเป็นตกใจ ก็ยอมรับว่าตกใจ แล้วอาการกลัว กับอาการตกใจนั้น หน้าตาเป็นอย่างไรให้ยอมรับตามจริง ไม่ต้องไปเอาเก่ง ไม่ต้องไปเอา เรียกว่าเราจะต้องทำถูกให้ได้เป๊ะๆตั้งแต่ครั้งแรกๆ

ลักษณะของอาการตกใจ ลักษณะของอาการกลัว ที่ถูกยอมรับตามจริง จะปรุงแต่งจิตให้เกิดสติ สติที่ยอมรับตามจริง ไม่หนีความจริง ตัวนี้แหละที่มันจะเป็นผู้เห็นว่าความตกใจและความกลัว ผ่านมาแป๊บหนึ่ง เดี๋ยวมันจะค่อยๆคลายตัวลง ลดระดับลง พอเห็นความกลัวกับความตกใจลดระดับลงได้นั้น เรียกว่าเห็นความไม่เที่ยงของภาวะปรุงแต่งจิตแล้ว และเมื่อจิตเกิดสติเห็นความไม่เที่ยงของความปรุงแต่งทางใจ สิ่งต่อมาที่จะเกิดขึ้น ก็คือความสว่าง ความสว่างบางทีเป็นความสว่างแจ้งเลย สว่างจ้า เพราะอะไร? เพราะว่า ณ ขณะที่เห็นความไม่เที่ยงของสิ่งปรุงแต่งจิต ปัญญามันเจิดจ้าขึ้นมา

พระพุทธเจ้าเคยตรัสกับเทวดานะ เทวดามาเสนอความเห็นว่า แสงสว่างยิ่งกว่าดวงอาทิตย์ไม่มี พระพุทธเจ้าตรัสว่า แสงสว่างยิ่งกว่าปัญญาไม่มีต่างหาก เมื่อปัญญาเกิด เมื่อเกิดความเห็นว่าอะไรๆในกายในใจมันไม่เที่ยงนี่นะ ความสว่างมันมาจากไหนก็ไม่รู้แหละ รู้แต่ว่ามันปรุงแต่งจิตให้เกิดความสว่าง เราก็รู้ต่อไปว่าความสว่างนั้นเป็นอีกภาวะหนึ่งที่ผ่านมาชั่วคราว ความสงบ หรือเกิดความปีติอะไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะเป็นภาวะดีหรือไม่ดี เป็นภาวะมืดหรือว่าเป็นภาวะข้างสว่าง เราจะรู้มันด้วยความไม่ตื่นเต้น เราจะรู้เฉยๆว่ามันผ่านมา แล้วจะผ่านไปให้ดู เมื่อมีความแม่นยำอยู่ตรงนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้น มากขึ้นเรื่อยๆเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆคือความรู้เท่าทัน

ลักษณะของจิตที่มีความรู้เท่าทัน จะมีความสว่างแจ้ง มันจะมีความโปร่งเบา มีความใสมากขึ้นเรื่อยๆ สังเกตอาการของตัวเองที่มีความรู้สึกโปร่งๆใสๆขึ้นมาได้นี่นะ ไม่ใช่ด้วยความบังเอิญ ไม่ใช่ด้วยการทำบุญ แต่คือไม่ใช่ไปใส่บาตรพระ หรือไปทำบุญอะไรอย่างอื่น ในระดับของการให้ทาน หรือว่าการรักษาศีล แต่เป็นการทำบุญในลักษณะของการเจริญสติเห็นตามจริงว่าอะไรๆในกายใจไม่เที่ยง คุณจะรู้สึกขึ้นมาถึงความสว่างอีกแบบหนึ่ง ถึงความปลอดโปร่งอีกแบบหนึ่ง ที่ยกระดับ ที่เลื่อนระดับขึ้นมาจากอาการขาวขุ่นหรือขาวทึบตอนทำบุญแบบธรรมดานะครับ นี่ก็จะเป็นการได้เห็นความไม่เที่ยงอีก หรือว่าเห็นอีกปัจจัย ที่มันมาปรุงแต่งจิตไปต่างๆนานา เดี๋ยวสว่าง เดี๋ยวมืดบ้าง ไม่ใช่ฟลุก แต่เป็นด้วยเพราะว่ามีเหตุปัจจัยอะไรบางอย่าง

ตรงนี้พระพุทธเจ้าท่านให้พิจารณาเพื่อเกิดความเห็นว่า จิตของเรากำลังรู้สึกอะไรอย่างหนึ่งๆขณะหนึ่งๆไม่ใช่ด้วยความบังเอิญ แต่ด้วยมีเหตุปัจจัยมาปรุง มาก่อ ชั่วคราว ตัวความสามารถที่จะเห็นว่าอะไรๆมันไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่มีสิ่งมาประกอบ มาประชุมกัน ตัวนี้เรียกว่าอนัตตา อนัตตานี่ควบคุมไม่ได้ คือให้เป็นไปดังใจไม่ได้ แต่มันต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย ถ้าหากเรานั่งสมาธิดี มันก็มีความสงบ ตัวหายขึ้นมาให้เห็น แต่ถ้าหากว่าตัวหายแล้วไม่มีสติรู้เท่าทัน มันก็กลายเป็นความตกใจไป เห็นภาวะต่างๆเกิดขึ้นเพราะอะไร? เมื่อทราบถึงเหตุ เราจะรู้ถึงอนัตตา

ช่วงนี้เป็นช่วงที่เหมาะที่จะทำสมาธิ เพราะว่าอากาศเริ่มเย็นลง เห็นไหมความร้อนก็ไม่ได้ร้อนตลอดไป เดี๋ยวมันก็ต้องค่อยๆ สบายขึ้น บางคนนึกว่าจะร้อนอย่างนี้ตลอดไปแล้ว คงไม่รอดแล้ว ไม่มีชีวิตรอดแล้ว เวลาที่เรายึดมั่นถือมั่นอะไร ก็จะรู้สึกว่าสิ่งนั้นมันเที่ยง มันจะไม่ต่างไป มันจะไม่เปลี่ยนไป



๔) ปล่อยปลาหมอ แล้วอธิษฐานให้แฟนหายป่วย จะช่วยได้ไหม?

มันก็มีพลังบางอย่างจากชีวิตสัตว์เหมือนกันนะครับ ถ้าแฟนอนุโมทนาด้วย คิดอย่างนี้ก็แล้วกัน ถ้าแฟนเกิดความอนุโมทนา เมื่อเรามาบอกบุญ บอกว่านี่เราเอาปลาหมอไปปล่อย แฟนเกิดความรู้สึกชื่นใจขึ้นมา อาการชื่นใจนี่ ขอให้นึกเถิดนะว่าตอนที่คุณป่วย ตอนที่คุณตัวร้อนอยู่นี่ พอเกิดความชื่นใจแล้วมันรู้สึกสบายขึ้นไหม

การที่เราไปต่ออายุสัตว์ก็มีผลให้เกิดพลังในด้านที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพแน่นอน อันนี้พิสูจน์กันมา ตามช่วงเวลาที่พุทธศาสนาผ่านไป ก็มีคนรู้เห็นความจริงนี้กันเยอะ แต่ว่าไม่ใช่เหตุที่แท้จริง ที่จะทำให้แฟนหายป่วย ถ้าหายป่วยเราต้องรักษาด้วยยาหมอนะครับ หรือไม่ก็รักษาด้วยการควบคุมเรื่องของการกิน แล้วก็การพักผ่อนนะครับ อันนั้นเหตุที่ใกล้กับร่างกายมากกว่าบุญ บุญนี่ใกล้กับจิตมากกว่านะครับ ขอให้คิดอย่างนี้ อย่าเข้าใจว่าจะรักษาแฟนด้วยการปล่อยปลาหมอนะ



๕) ‘ทำไว้ในใจโดยแยบคาย’ เป็นอย่างไร? รบกวนยกตัวอย่าง?

‘ทำไว้ในใจโดยแยบคาย’ ก็คือ การที่เรามีความรู้มากพอ แล้วก็พิจารณาไตร่ตรองดีแล้วนะครับ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเกิดความสงสัยอยู่ว่า เอ๊ะ นี่เรากำลังทำถูกหรือทำผิด? เรากำลังเจริญสติถูกหรือผิดอยู่? ถ้าปล่อยให้เกิดความสงสัยครอบงำจิตใจไปเรื่อยๆมันก็จะไม่หลุดออกจากความรู้สึกเป็นทุกข์

แต่ถ้าหากว่าเราพิจารณาว่า คำสอนที่พระพุทธเจ้าท่านประทานไว้คืออย่างไร ขึ้นต้นมาเจริญ ‘สติปัฏฐาน ๔’ ท่านให้ดูว่า หายใจเข้าให้รู้ หายใจออกให้รู้ หายใจยาวให้รู้ หายใจสั้นให้รู้ แล้วความรู้นั้น มันจะมาเป็นผู้ดูกองลมทั้งปวงไปเอง ตรงนี้ ถ้าหากว่าเราพิจารณาว่า เออ! เรากำลังรู้อะไรอย่างหนึ่งชัดๆหรือเปล่า? ว่าลมหายใจมันเข้า ลมหายใจมันออก ลมหายใจมันยาว ลมหายใจมันสั้น เดี๋ยวก็มีลักษณะเป็นอย่างหนึ่ง เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนไป เดี๋ยวก็คลี่คลายไป ถ้าพิจารณาว่า เออ! เรากำลังรู้อะไรอย่างหนึ่งว่าไม่เที่ยงจริงๆนี่ มันจะเกิดความรู้สึกมั่นใจขึ้นมา มันจะเกิดความรู้สึกว่า ออ! ที่เราเกิดความสงสัย แล้วไม่หายสงสัยนี่ ก็เพราะว่าเราเอาแต่สงสัย แต่ไม่ได้ดูอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน นี่คือตัวอย่างง่ายๆที่จะยกให้ฟังว่า การพิจารณาโดยแยบคายเป็นอย่างไรนะครับ


คืนนี้นะครับ ก็ขอราตรีสวัสดิ์ ณ วินาทีนี้นะครับ ขอให้เจริญในธรรมด้วยกันทุกท่านครับ


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น