วันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๙๑ / วันที่ ๑๗ ส.ค. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

๑) ยึดว่าต้องปฏิบัติในรูปแบบให้ได้ทุกวัน อย่างนี้ถือว่ายึดติดเกินไปไหม?

(ถ้าเราเป็นคนยึดติด หมายถึงทำอะไรค่อนข้างจริงจัง เช่น การฝึกโยคะ จะฝึกให้ได้เกือบทุกวัน ถ้าวันไหนไม่ได้ฝึกจะรู้สึกผิด เลยเชื่อมโยงมาถึงการปฏิบัติในรูปแบบจะทำวันละหนึ่งชั่วโมงทุกวัน วันไหนไม่ได้ทำจะรู้สึกผิดเช่นกัน จนบางครั้งรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ แบบนี้จริงจังจนยึดติดไปหรือเปล่าคะ? ถ้าใช่ สมควรต้องแก้ไขหรือไม่ แล้วแก้ไขอย่างไรให้ปล่อยวาง ถ้าถึงเวลาต้องไปแล้วเป็นแบบนี้แย่แน่ๆ)

การที่เรายึดติด ไม่ใช่จะเป็นนิสัยที่ไม่ดีเสมอไป ถ้าหากว่าการยึดนั้นเป็นการยึดที่มีคุณ เป็นประโยชน์ ยึดแล้วทำให้เกิดกุศลจิต ยึดแล้วทำให้เกิดกุศลธรรมนะครับ พูดง่ายๆว่า ยึดมั่นถือมั่นในความดีความงามเนี่ยในที่สุดแล้วเราก็จะอยู่บนเส้นทางของความปล่อยวางนะครับ

ถ้าหากว่าเราไม่ยึดไม่ถืออะไรเลย มันเหมือนกับจะปล่อยวางไปซะหมดตั้งแต่ต้นมือ เราก็จะไม่ทำอะไรเลยเช่นกัน แล้วเราก็จะไม่ได้อะไรเลยในที่สุดนะครับ

ถ้ามองจากมุมมองที่เราต้องเดินทางอยู่บนเส้นทางของมรรคผลนิพพาน แล้วก็ต้องไปให้ถึงมรรคผลนิพพานเนี่ยนะครับ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า สิ่งที่ต้องยึดเป็นสรณะก็คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

ตรงนี้คนจะสับสนกันมากว่า เอ๊ะ ถ้าหากว่าให้ยึดตัวพระองค์ท่าน แล้วก็พระธรรมกับพระสงฆ์ซึ่งเป็นสาวกของท่านแล้ว ไฉนจึงกล่าวว่าเส้นทางนี้เป็นเส้นทางของการปล่อยวาง เส้นทางนี้เป็นเส้นทางของการไม่ยึดติด ทำไมขึ้นต้นมาก็ให้ยึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะซะแล้วนะครับ ตรงนั้นก็เป็นเพราะว่าถ้าไม่ยึดซะตั้งแต่แรก เราก็จะไม่มีหลักเกาะ เหมือนกับถ้าหากว่าจะว่ายน้ำข้ามทะเลไปให้ถึงฝั่ง แล้วไม่ยึดอะไรเลย บอกว่าทิศทางไหนก็ไปเถอะ จะว่ายน้ำโดยท่าใด ไม่ต้องประสานงานระหว่างมือระหว่างเท้าก็ได้ หรือมีเรือแต่ไม่ขึ้นเรือ อย่างนี้ก็เรียกว่าออกเดินทางแบบคนที่กำลังจะไปจมน้ำตาย ไม่ใช่ไปให้ถึงฝั่งนะครับ สิ่งแรกที่เราต้องยึดก็คือเรือนะครับ ถ้าได้เรือเนี่ยดีที่สุดเลย จะข้ามน้ำข้ามทะเล การจะว่ายน้ำไปด้วยตัวเองตามลำพังเนี่ย อันนั้นเป็นเรื่องของผู้บำเพ็ญบารมีมาแบบอุกฤษฏ์ อย่างเช่น ผู้ปรารถนาพุทธภูมิต้องการเป็นพระพุทธเจ้า หรือว่าต้องการเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้านะครับ ถ้าหากว่าเรารู้ตัวว่าไม่ได้มีกำลังถึงขนาดนั้น เราก็ต้องอาศัยเรือนะครับ พระพุทธเจ้าท่านเปรียบพุทธศาสนาเหมือนกับเรือ เมื่อขึ้นฝั่งแล้วก็ทิ้งเรือเสียได้

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้ามองในแง่ของการปฏิบัติ ถ้าหากว่าเราไม่ยึดในรูปแบบอะไรเลย ไม่ต้องมาเดินจงกรม ไม่ต้องมานั่งสมาธิ แล้วบอกว่าจะปฏิบัติแบบไม่ยึดมั่นถือมั่นในกฎกติกาใดๆทั้งสิ้นเนี่ย ในที่สุดมันก็กลายเป็นว่าเราไม่ได้ทำอะไรเลยนะครับ เราจะพบตัวเองอยู่กับการนั่งๆเดินๆยืนๆนอนๆ โดยที่สติไม่รู้จะเอาไปไว้ที่ไหน

แล้วหากว่าไม่มีเวลาที่ชัดเจนนะครับ หลายๆคน ส่วนใหญ่สำหรับมือใหม่ก็จะมีความรู้สึกว่า ตัวเองเนี่ย ปล่อยสติล่องลอยไป แล้วก็ไม่มีกฎกติกา ไม่มีกรอบ ไม่มีเกณฑ์ใดๆ ที่จะเอามาเป็นเครื่องวัดว่าขณะนี้เรากำลังปฏิบัติอยู่ และที่ปฏิบัติอยู่มีความก้าวหน้าแตกต่างไปจากเมื่อวานแค่ไหน

ถ้าหากว่าเรา… โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงใหม่ๆเนี่ยนะครับ ยิ่งช่วงเริ่มๆเนี่ย มีเวลาที่ชัดเจน มีเวลาที่แน่นอน ถือปฏิบัติเป็นธรรมเนียมกับตัวเองทุกวัน มันก็เหมือนกับการที่เราสั่งให้ร่างกายแล้วก็จิตใจมีความพร้อมที่จะออกกำลังที่จะเล่นกีฬาอย่างมีวินัย แล้ววินัยนั้นก็จะให้ผลในรูปของร่างกายและจิตใจที่เข้าโหมดทำงาน เข้าโหมดพร้อมที่จะออกกำลัง เข้าโหมดพร้อมที่จะพัฒนาศักยภาพหรือว่าเพิ่มพูนกล้ามเนื้อหรือว่าความแข็งแกร่งให้กับตัวเองยิ่งขึ้นทุกวัน

ถ้าหากว่าไม่มีเวลาแน่นอนไม่มีวินัยนะครับ ไอ้ความชัดเจนหรือว่าไอ้พัฒนาการของกล้ามเนื้อ มันก็เหมือนกับไม่มีความชัดเจนว่าไปแค่ไหนแล้ว ไปถึงไหนแล้ว

แล้วโดยธรรมชาติของร่างกายแล้วก็จิตใจเนี่ย ถ้าไม่มีเวลาแน่นอนไม่มีวินัยที่ชัดเจนให้มันนะครับมันจะไม่เข้าโหมดทำงานบ่อยนัก มันจะเข้าโหมดสุ่ม สุ่มไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้นะครับ สุ่มไปทำอย่างที่อยากจะทำ อยากจะไปดูหนัง อยากจะไปฟังเพลง อยากจะไปเดินเล่น อยากจะไปโน่นอยากจะไปนี่ แล้วก็ลืมว่าเราต้องการทำอะไรกันแน่ เราต้องฝึกฝนทำอะไรกันแน่

เพราะฉะนั้นการยึดมั่นถือมั่นในเรื่องของรูปแบบการปฏิบัติประจำวัน มันเป็นเรื่องที่ดี ไม่ใช่เรื่องที่เป็นความยึดติดแบบที่จะก่อให้เกิดอุปาทาน ก่อให้เกิดตัวตน ก่อให้เกิดความรู้สึกว่านี่ของฉัน นี่ตัวฉันนะครับ

เพราะว่าการยึดมั่นถือมั่นนั้น ในช่วงเวลาที่มีความแน่นอนว่าเราจะเดินจงกรม เราจะนั่งสมาธิ เป็นช่วงที่จิตมีความพร้อม พัฒนาความพร้อมมากขึ้นวันต่อวัน ที่จะให้เข้ามาดูกาย เข้ามาดูใจอย่างเดียว ไม่สนใจสิ่งอื่น ไม่ได้ไปแกว่งนะครับว่าฉันอยากจะทำโน่น ฉันอยากจะทำนี่ แต่มันจะค่อยๆตะล่อมตัวเองเข้าสู่ความพร้อมโดยไม่มีเงื่อนไข พร้อมโดยไม่มีการเกี่ยงว่า ถึงเวลาแล้ว นี่ช่วงเวลานี้ฉันกำลังจะต้องเข้ามาดูตัวเอง ฉันกำลังจะต้องเข้ามาดูลักษณะอาการทางกาย ลักษณะความไม่เที่ยง ลักษณะความไม่ใช่ตัวตน สิ่งที่มันสั่งสมพอกพูนขึ้นไปทุกวันๆคือความเคยชิน ที่จะก่อให้เกิดอำนาจ ก่อให้เกิดพลัง ก่อให้เกิดพัฒนาการนะครับ

สรุปแล้วเป็นเรื่องดี ไม่ใช่เรื่องไม่ดี ส่วนที่ว่าไอ้ตัวรูปแบบการปฏิบัติมันจะทำให้เรายึดติด หรือมีความปล่อยวางแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะของจิต ลักษณะของการดำเนินสตินะครับ



๒) นั่งสมาธิแล้วรู้สึกบางเบาเหมือนจะหลง ‘หลง’ แต่ก็รู้ตัวเป็นระยะ แปลว่าเรายังขาดอะไรไปหรือเปล่า?

(ถาม – ช่วงนี้กลับมานั่งสมาธิเท่าที่เวลาจะอำนวย โดยส่วนมากรู้สึกพอใจกับสภาวะที่เห็น แต่มีบางครั้งเป็นระยะๆที่นั่งแล้วมีความรู้สึกตัวที่บางเบาเหมือนจะหลง ‘หลง’ แต่ก็รู้สึกตัวขึ้นมาได้เป็นระยะ สภาวะตรงนี้เป็นเพราะเรายังขาดอะไรไปหรือเปล่า? และควรจะปฏิบัติอย่างไร?)

ความพอใจในสภาวะที่เห็นนะครับ ก็เรียกว่าเรามีฉันทะ เรามีความพึงพอใจที่จะปฏิบัติ ที่จะเจริญสติ นี่เป็นเรื่องดีนะครับ

แต่บางครั้งที่บอกว่ารู้สึกเหมือนตัวบางเบา เหมือนจะหลง ‘หลง’ นะครับ ไอ้ตัวความหลงนี้ ก็คงหมายถึงการที่เราเพลิดเพลินไปในความรู้สึกเบาที่น่าหลง แต่ถ้าหากว่าที่น้องถามมาเนี่ยบอกว่ามีความรู้สึกตัวขึ้นมาได้เป็นระยะ อันนี้ก็แสดงว่าไม่ต้องห่วงนะครับว่าเราจะหลงไปจริงๆ เพราะว่าตัวการระลึกได้ ตัวสติที่เกิดขึ้นมาเนี่ยว่า เอ้ยตอนนี้ เรากำลังหลงไปในความเบา เรากำลังเพลิดเพลินไปในความสบายแล้วเนี่ย มันชี้ให้เห็นว่าจิตประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิในเบื้องต้น คือไม่เข้าไปจดจ่อ ไม่เข้าไปเพลิดเพลิน ไม่เข้าไปหลงอยู่กับความสุข ความมีสภาพเบาของใจของกายที่มันเกิดขึ้นนานนัก แล้วตัวสติที่เกิดขึ้น ที่มันสะท้อนถึงสัมมาทิฏฐินี้ ก็จะค่อยๆตะล่อมจิตให้เข้าสู่การปรุงแต่งในแบบการมีสติรู้สึกตัวอยู่เรื่อยๆนะครับ การที่รู้สึกตัวอยู่เรื่อยๆจนกระทั่งจิตมีความตั้งมั่นนี่ตรงนี้มันก็จะเกิดสมาธิในแบบที่พระพุทธเจ้าท่านต้องการให้เกิดนะครับ ให้พวกเราฝึกแล้วมันเกิดสมาธิแบบนั้น

สมาธิแบบนั้นเป็นอย่างไร? เป็นสมาธิที่มีความเบา แต่รู้ ไม่ใช่เบาแต่หลงนะครับ การที่เราเบาอย่างรู้เนี่ยนะครับ เป็นสติในแบบที่พร้อมจะยกขึ้นสู่มรรคผลนะครับ ถ้าหากว่าดูจากโพชฌงค์ องค์ธรรมที่ประกอบขึ้นเพื่อความตรัสรู้มรรคผลก็จะต้องมีความเบานะครับ ก็คือมีปีติ มีปัสสัทธิ มีความสงบกายสงบใจ ตัวปัสสัทธิเนี่ยคือตัวความเบานะครับ ตัวความสงบกายสงบใจเนี่ย ถ้าหากว่าสงบกายสงบใจจริงเนี่ยต้องมีความเบาให้เกิดความรู้สึกถึงอารมณ์ที่มันไม่ไปข้องเกี่ยว อารมณ์ที่ไม่ไปพัวพันอยู่กับสิ่งหนัก สิ่งหนักคืออะไร? ก็คืออุปาทานทั้งปวง อุปาทานในสิ่งที่เรานึกว่าเป็นของเรา นึกว่าเกี่ยวข้องกับเรา นึกว่าเป็นตัวของเรา เนี่ยตัวนี้หนักทั้งสิ้น แต่ถ้าหากว่าไม่มีความรู้สึกยึดอยู่เนี่ยตัวนี้ความเบามันก็จะปรากฏขึ้นแทนความหนัก แล้วความเบาที่มีสติ ประกอบด้วยสมาธิ ประกอบด้วยความเป็นกลาง อุเบกขานะครับ ตัวนี้แหละที่มันจะถอนออกจากไอ้ความยึดมั่นถือมั่นจริงๆ ถ้าหากว่าเรานั่งสมาธิไปแล้วมีความรู้สึกตัวขึ้นมาอยู่เรื่อยๆว่าในขณะนี้มีความเบา ในขณะนี้กำลังเผลอไปในความรู้สึกเป็นสุข ความรู้สึกว่าเบานะครับ มีความเพลิดเพลินเห็นความเพลิดเพลินนั้นก็เรียกว่าเป็นตัวสติที่จะนำไปสู่สมาธินะครับ ที่เป็นกลาง ที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นความเพลิดเพลิน ถ้าเราดูจากไอ้สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็ลองวัดผลเป็นภาพรวมในระยะยาวนะครับว่า ไอ้สติที่มันเกิดขึ้นแล้วสามารถเตือนตัวเองได้แบบนี้มันเกิดขึ้นถี่แค่ไหน เกิดขึ้นบ่อยๆได้หรือเปล่า ถ้าหากว่าเกิดขึ้นเป็นประจำนี่ตัวนี้ก็วัดได้ว่า ตัวสติตัวสมาธิของเราเริ่มเข้าเค้าแล้วนะครับ เริ่มที่จะมีความแน่นอน เริ่มที่จะมีความสม่ำเสมอ แต่ถ้าหากว่าความเพลิดเพลินนี้เกิดขึ้น แล้วบางครั้งเราก็หลงไปยาวกว่าที่จะรู้สึกตัวได้ อันนี้ก็ต้องบอกตัวเองว่าองค์ธรรมที่จะประกอบให้พร้อมที่จะบรรลุธรรมได้เนี่ยมันยังย่อหย่อนไปในเรื่องของสตินะครับ ก็ดูเป็นอย่างนี้ก็แล้วกัน อย่าไปมองว่า เอ้… เราทำอะไรขาดไปหรือเปล่า ทุกคนน่ะทำขาดไปหมดแหละนะครับ มันมีความขาดที่จะทำโพชฌงค์ให้บริบูรณ์นะครับ เราเจริญสติกันก็เพื่อทำโพชฌงค์ให้บริบูรณ์นั่นเองนะครับ เราทำไปเรื่อยๆ ความต่อเนื่องนั่นแหละคือความก้าวหน้า ความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นก็คือการสั่งสมกำลังนะครับ สั่งสมความพร้อมที่จะให้จิตมีความบริบูรณ์มากพอนะครับ



๓) ชาวต่างชาตินำเศียรพระหรือพระพุทธรูปมาประดับบ้าน สวน ห้องน้ำ ถือว่าบาปไหม?

(ถาม –การที่เมืองนอกมักนิยมนำเศียรพระพุทธรูปมาจัดสวน หรือนำพระพุทธรูปมาจัดวางในห้องน้ำหรือในสวน วางที่ต่ำแบบนี้ จะบาปมั้ย?)

ในการรับรู้ของเขานะครับ ก็มองเรื่องของศาสนาทางตะวันออกเป็นธรรมเนียมโบราณ หรือว่าความเชื่อ หรือว่าจิตวิทยาของคนรุ่นก่อนๆในสมัยดึกดำบรรพ์ ในสมัยที่ยังไม่เจริญก้าวหน้านะครับ เขาจะไม่มีความเชื่อในเรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะไม่มีความรู้สึกสัมผัสเกี่ยวกับความน่าเลื่อมใสหรือว่าแสงสว่างที่มาจากสัญลักษณ์ทางธรรมนะครับ ดังนั้นโดยจิตของพวกเขาก็จะมองเศียรพระ หรือว่าพระพุทธรูป พระปฏิมาเนี่ยเป็นแค่เครื่องประดับ อันนี้เป็นเรื่องปกตินะครับ กรรมก็เลยอาจจะไม่ได้ถึงขนาดที่คิดจะไปลบหลู่ หรือว่าคิดจะไปทำลายล้างหรือเหยียบย่ำความเชื่อของคนอื่น อันนั้นอาจจะไม่ถึงขั้นนะครับ

แต่อย่างไรก็ตาม สัญลักษณ์ทางธรรม สัญลักษณ์อันสูงส่งอย่างไรก็มีความสูงส่ง ถ้าเราไปเหยียบย่ำ ถ้าเราเอามาไว้ในห้องน้ำนะครับ เหมือนกับเราเอาศาสดาของศาสนาอื่นมาเหยียบย่ำน่ะ คือบางคนคิดว่าไม่บาป เพราะว่ารู้สึกว่านั่นไม่ใช่อริยบุคคล นั่นไม่ใช่ผู้มีความสูงส่งทางธรรม เหมือนกับคนในพุทธศาสนานะครับ แต่อันนั้นเข้าใจผิดแล้วนะครับ คือการที่บุคคลไม่ว่าใครก็ตามนะครับ แค่มีศีลมีสัตย์ แค่มีความเมตตา แค่มีความสว่างอันเกิดจากบุญกุศลที่สั่งสมไว้มาก เราเอามาเหยียบย่ำ เอามากดหัวเล่น เอามาล้อเลียน เอามาทำอะไรที่มันส่อไปในทางดูถูก ส่อไปในทางที่จะให้มีความต่ำต้อยเนี่ย ผลกรรมย่อมเกิดขึ้นแน่นอน คือ ณ ที่ที่กรรมเผล็ดผลก็จะเป็นผู้ที่ต่ำต้อย ถูกกด ถูกบีบ ถูกรังแก ถูกทำให้เสียศักดิ์ศรี ไม่มีหน้าไม่มีตา หรือว่าตกต่ำอย่างรุนแรงอะไรแบบนั้นนะครับ

หลักการเนี่ยพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ง่ายๆเลย ถ้านับถือสิ่งที่เลิศ บุคคลอันเป็นที่น่านับถือ ก็จะได้ผลเป็นความเลิศ เป็นความน่านับถือเช่นกันนะครับ

ในทางตรงกันข้าม เราเอาบุคคลที่น่านับถือมาเหยียบย่ำ แน่นอนผลที่เกิดขึ้น เราก็ต้องถูกเหยียบย่ำในวันนึงเช่นกัน

ทีนี้รูปแบบหรือว่าดีกรีของการถูกเหยียบย่ำจะรุนแรงแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะที่ทำนะครับ อย่างนำพระพุทธรูปมาวางเป็นตุ๊กตาประดับหน้าประตูบ้านนะครับ อย่างนี้เนี่ยก็อาจจะยังไม่เท่าไหร่นะครับ แต่ถ้าเอาไปไว้ในห้องน้ำ เนี่ยแค่สถานที่ต่างกันเนี่ยนะครับ ผลที่มันออกมาก็จะมีความเน่าเหม็นแตกต่างกันแล้ว มีความตกต่ำต้อยต่ำต่างกันแล้ว

แล้วก็จะมีความน่ารังเกียจแค่ไหน ผลออกมาเนี่ยนะครับ ก็ขึ้นอยู่กับการที่เอาจิตเอาใจเนี่ยไปมองนะครับ อย่างบางคนเนี่ยคือ… เหมือนกับ… เห็นพระพุทธรูปเป็นตุ๊กตุ่นตุ๊กตาเนี่ยนะครับ แล้วก็เอาไปทำอะไรที่น่าเกลียดมากๆเนี่ย ก็คือ… บางคนเอาไปห้อยไว้ตามผนังเหมือนกับจะให้เป็นเครื่องประดับฝาผนัง ที่ยื่นออกมาอะไรแบบเนี่ยนะครับ ที่คล้ายๆกับเขาสัตว์เขาอะไรแบบนั้นน่ะ มันยิ่ง… ยิ่งภาพที่ออกมาเนี่ย ดูไม่น่ามองหรือก่อให้เกิดความรู้สึกดูถูกสัญลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นเท่าไหร่เนี่ยนะครับ เวลากรรมเผล็ดผลก็จะโดนดูถูก หรือว่ามีลักษณะที่น่าเกลียดสัมพันธ์กัน สัมพัทธ์กันกับกรรมที่ก่อนะครับ

ก็เอาเป็นว่าอย่างที่พระพุทธเจ้า เมื่อนับถือสิ่งที่เลิศ บุคคลที่เลิศ ย่อมได้ความเลิศ ผลย่อมเป็นผู้มีความเลิศ แต่ถ้าหากว่าเอาบุคคลที่เลิศมาเหยียบย่ำ ก็แน่นอนครับ มันสวิงกลับไปอีกข้างนึงนะครับ แค่ตัวศรัทธาเนี่ยก็เป็นกรรมแล้วนะครับ ศรัทธาตั้งไว้อย่างไร มีลักษณะของการนับถือบูชาสิ่งที่ศรัทธาอย่างไร ผลก็ออกมาแบบนั้นเช่นกันนะครับ



๔) นั่งสมาธิแล้วสติหายไปเป็นช่วงๆ จะแก้ไขอย่างไร?

(ถาม – ช่วงหลังๆมานี้นั่งสมาธิแล้วสติวูบๆไป เหมือนหลับเป็นช่วงๆ คือรู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง ก่อนนี้จะฟุ้งซ่านมาก แต่มีสติรู้สึกตัวดี ส่วนหลังๆมานี้จะฟุ้งซ่านน้อยลง แต่เหมือนจะหลับเป็นช่วงๆตลอด จะแก้อย่างไงดี?)

การที่เราทำสมาธิแบบไม่ต่อเนื่องเนี่ยนะครับ เป็นฆราวาสแล้วก็ต้องมีงานมีการทำทั้งวัน มันมีความเหน็ดเหนื่อย มันมีความอ่อนเพลียมาอยู่แล้วเนี่ย ต้องเข้าใจว่า กว่าสมาธิจะเป็นเครื่องพัก เป็นเครื่องชาร์ตแบต คือแทนที่เราจะมานั่งสมาธิแล้วเหนื่อยอ่อน เปลี่ยนเป็นกระชุ่มกระชวยขึ้นมาได้เนี่ย ต้องมีความอยู่ตัว ต้องมีความอิ่มตัว ต้องมีอาการที่กายกับจิตเนี่ยทำงานประสานกัน ตกผลึกพอสมควรนะครับ เหมือนกับความแน่นอนของเครื่องจักรเครื่องกล ที่ถูกเพิ่มกำลัง เสริมกำลัง แล้วก็ถูกตกแต่งดัดแปลงให้มีความสามารถจะทำงานได้ตลอดเวลานะครับ

อย่างตอนแรกๆเนี่ยกายกับจิตจะเหมือนกับเข้ากันไม่ค่อยได้ ยังจูนกันไม่ติด ไม่สามารถจะประสานกัน ถ้าหากว่ามีอาการทางกายมากเกินไป หนักเกินไป จิตจะเหนื่อย จิตจะมีความฟุ้งซ่าน หรือถ้าหากว่าจิตมีอาการเพ่งไปนิดนึง กายก็จะมีความเกร็งนะครับ ช่วงแรกๆที่นั่งสมาธิจะเป็นแบบนี้เหมือนกันหมด

แล้วถ้าหากว่ายังไม่มีความต่อเนื่อง คือกายกับใจเนี่ยยังไม่ประสานกลมกลืนกันจนกระทั่งว่ามีความสงบระงับได้ทั้งกายทั้งใจพร้อมๆกันเนี่ย ก็จะต้องมีส่วนใดส่วนหนึ่ง ภาคใดภาคหนึ่งที่ทำงานเกินอีกภาคหนึ่งเสมอ อย่างบางทีเนี่ยใจไม่มีอะไรแล้ว มันพักแล้ว แต่กายเนี่ยทำงานหนักเกินไป หรือว่าสะสมความอ่อนเพลียมามากเกินไปนะครับ นี่เป็นความไม่พอดี ก็ทำให้เกิดความล้มเหลวทางกาย แม้ว่าจะมีความสำเร็จทางใจ แต่ว่าร่างกายก็ไม่เอาด้วย หรือบางทีร่างกายกำลังสดชื่นอยู่กระชุ่มกระชวยอยู่ แต่จิตมันดันฟุ้งซ่านนะครับ เพราะพอร่างกายแข็งแรงเนี่ยกิเลสมักจะเอาก่อนนะครับ เอาตัวไปก่อนนะครับ เอาไปคิดโน่น เอาไปคิดนี่ เอาไปอยู่ในอนาคตบ้าง เอาไปอยู่ในอดีตบ้าง อย่างนี้จิตใจก็เรียกว่าจะเป็นตัวล้มเหลว ส่วนร่างกายเนี่ยถึงแม้ว่ามันจะยังอยู่ตัว ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะใจไปซะแล้ว

ถ้าจะลองสังเกตดูอย่างนี้ว่า วันไหนทั้งกายทั้งใจไม่เอาอะไรด้วยกันทั้งคู่ ตรงนี้แหละมันจะจูนเข้าด้วยกัน ทำงานประสานกันเป็นความสงบ เป็นความเบา เป็นความระงับความกระสับกระส่ายได้ทั้งคู่นะครับ เราก็มองไปว่า นี่เป็นภาวะที่กำลังแสดงความไม่เที่ยง แสดงความไม่แน่นอนนะครับ บางครั้งมันก็เวิร์ค บางครั้งก็ไม่เวิร์ค นี่ถ้าเราดูอย่างนี้นะครับ มันก็จะไม่เสียเที่ยว ไม่เสียประโยชน์เปล่า ถึงแม้ว่าจะง่วง จะซึม จะไม่รู้ตัวไปบ้าง แต่เราก็ได้เห็นสภาวะการทำงานประสานกัน หรือว่าไม่กลมกลืนกันระหว่างกายกับใจอยู่ดีนะครับ

การที่เราได้เห็นความจริงบ่อยๆมันมีประโยชน์ ถึงแม้ว่าสิ่งที่เราเห็น ภาวะที่เราเห็น จะเป็นภาวะที่ไม่ค่อยดีนัก เป็นภาวะง่วงเหงาซึมเซา เป็นภาวะที่หลับเป็นวูบๆนะครับ ไอ้หลับเป็นวูบๆน่ะถ้าเราเห็นบ่อยๆมันกลายเป็นสติอย่างใหญ่ขึ้นมาได้นะครับ ในรอบการทำสมาธิเดียวกันเนี่ย บางทีมันมีสองสามวูบที่ เดี๋ยวก็โงก เดี๋ยวก็โงกเนี่ย ร่างกายมันจะไปแล้ว ล้ำไปข้างหน้านะครับ จิตเนี่ยยังอยากจะตั้งตรงอยู่ ยังอยากจะทรงอยู่กับไอ้ภาวะความสว่างความเบา แต่ร่างกายมันล้ำไปแล้ว เนี่ยเราเห็นบ่อยๆจนกระทั่งไอ้ภาวะของร่างกายที่มันทำท่าเหมือนจะถลำไปเนี่ยน่ะ มันแสดงความไม่เที่ยงให้เราเห็น มันถลำได้มันก็ดึงตัวกลับมาใหม่ได้ โดยไม่ต้องใช้ความพยายามมากนะ แค่เอาแค่เรารู้สึกถึงอาการถลำไปเนี่ย มันจะดึงกลับขึ้นมาเอง โดยที่ไม่ต้องไปสั่งมันไปบีบบังคับมัน แล้วเห็นแบบนั้นสองสามรอบเนี่ย มันจะกลายเป็นความเสมอกันระหว่างร่างกายกับจิตใจ คือจิตใจเนี่ยมันนิ่งดีแล้ว มันมีความเบาแล้ว แล้วร่างกายเพิ่งตามมาทันหลังจากที่ถูกรู้ว่ามีอาการถลำไปข้างหน้า มีอาการชะโงกไปข้างหน้าสองสามครั้ง นี่เป็นตัวอย่างของการที่สติเราได้สังเกตเราได้เห็นความไม่เสมอกันระหว่างร่างกายกับจิตใจ ในที่สุดแล้วมันจะกลายเป็นตัวจูนให้ร่างกายกับจิตใจเนี่ยมาสนิทกัน มากลมกลืนกันได้ พูดง่ายๆว่าที่ร่างกายกับจิตใจมันจะจูนตรงกัน เข้าหาความสงบ เข้าหาความเบา เข้าหาความเป็นสมาธิเนี่ย ตัวของสติเนี่ยต้องมาเป็นที่หนึ่ง และตัวสติจะเกิดขึ้นได้ จำไว้ว่าไม่ใช่ด้วยความอยาก ไม่ใช่ด้วยอาการถามตัวเองว่าทำอย่างไรฉันจึงจะนั่งสมาธิโดยไม่ง่วงนะครับ แต่ปล่อยให้มันง่วงแล้วเราดูเรารู้ คือต้องยอมรับตามจริงยังไงๆมันก็ต้องง่วงวันยังค่ำอ่ะ ถึงแม้จะใช้อุบายวิธีหรือว่าจะไปพยายามบังคับมันอย่างไรก็ตาม ทีนี้ถ้าเราปล่อยให้มันง่วงแล้วเห็นตามจริงว่ามันง่วง อาการง่วงเป็นอย่างไรนะครับ มันมีอาการซึม มันมีอาการกด มันมีอาการบีบ มันมีอาการเหมือนจะไม่รู้สึกตัว เบลอๆ เหมือนกับคนใกล้จะสลบเนี่ยนะครับ แล้วเห็นอาการเหล่านั้นว่ามันแสดงความไม่เที่ยงได้ นี่ตัวสติตัวนี้แหละที่จะจูนจิตกับกายให้เข้ากันในที่สุด

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น