สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันพุธที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง เพื่อจะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/HowfarBooks นะครับ
๑) ระหว่าง ‘ธรรมทาน’ กับ ‘อภัยทาน’ อันไหนได้บุญมากกว่ากัน?
คำว่าธรรมทานชนะทานทั้งปวงมาจากพระพุทธเจ้า เป็นพุทธพจน์ เป็นถ้อยคำของผู้ที่รู้แจ้งรู้จริง รู้แจ้งแทงตลอดในธรรมทั้งปวง ท่านตรัสไว้อย่างนี้เราก็ต้องเชื่อว่าอย่างนี้ไว้ก่อน ส่วนใครจะบอกว่าเป็นอย่างอื่น อันนั้นก็เป็นความเห็นของท่านกันนะครับ สำหรับอภัยทานถ้าพูดถึงกำลังใจแล้วเราก็อาจจะมองว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ยากกว่าธรรมทานเพราะมันต้องอาศัยกำลังใจ มันต้องอาศัยการหักห้ามความโกรธ และการพยายามที่จะเผาความพยาบาททิ้งไม่ให้เหลือซาก นี่เรียกว่าเป็นอภัยทานของแท้ แต่ว่าธรรมทานนี่แค่พูดๆ ไปก็ดูเหมือนไม่ได้ใช้กำลังใจอะไรสักเท่าไร หลายคนก็เลยเข้าใจว่าน่าจะได้บุญมากกว่า นี่ก็เป็นมุมมอง นี่ก็เป็นความเชื่อส่วนบุคคลนะครับ ส่วนที่ว่ารัศมีของบุญมันเกิดขึ้นแค่ไหน อะไรที่ยิ่งใหญ่กว่ากันก็ขอให้เราไปพิจารณาถึงผลลัพธ์กับผู้ที่ได้ทานเป็นกำนัลจากเราก็แล้วกัน ถ้าหากว่ามองการให้อภัยทานเป็นการดับความโกรธ ดับพยาบาท อันนี้มันได้กับตัวเราเห็นๆ ส่วนคนที่เขาได้รับทานจากเราไปเขาจะมีความอิ่มอร่อยแค่ไหนไม่ทราบ เพราะว่าขึ้นอยู่กับตัวเขาเองจะมีความเห็นค่าของอภัยทานจากเราหรือเปล่า บางคนพอให้อภัยไปก็งั้นๆ ทำหน้างั้นๆ เขาไม่ได้หวังไม่ได้คาดว่าเราจะให้อภัยเขาอยู่แล้ว หรือว่าไม่ได้มีความรู้สึกยินดีกับการได้รับการอภัยอยู่แล้ว ถือว่าเป็นหน้าที่ของคนอื่นที่จะต้องให้อภัยเขา แบบนี้ก็เหมือนผู้รับทานไม่ได้อะไรไปสักเท่าไร เหมือนกับผู้รับทานไม่ต้องได้รับความเดือดร้อนจากการเบียดเบียน แต่ตัวเขา กรรมของเขานี่ยังเป็นของตัวเขาเหมือนเดิม คืออยู่บนเส้นทางของความหลงผิดตามเดิมหรือว่าอาจจะมีความหลงผิดหนักเข้าไปอีก คือพอทำผิดแล้วเห็นคนอื่นเขาให้อภัยตัวเองบางคนเหลิงก็มี พูดง่ายๆ ว่าประโยชน์ที่เกิดจากการให้อภัยทาน เราเองรับเต็มๆ ไม่ใช่คนอื่น คนอื่นนี่อาจจะได้หรือไม่ได้แค่ไหนก็ไม่ทราบ ส่วนธรรมทานนี่ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ตั้งใจหรือว่าใส่กำลังใจลงไปมากนัก แต่ถ้าหากว่าธรรมะนั้นเป็นธรรมะที่ถูก เป็นธรรมะที่ปลุกให้จิตสำนึกด้านสว่างของผู้รับเขาเกิดความสว่างเจิดจ้าขึ้นมา แทนที่เขาจะต้องหลงผิดจะต้องร่วงหล่นลงเหว เขากลับตะเกียกตะกายขึ้นมาจากปากเหวได้ กลับขึ้นมายืนหรือว่าสามารถไต่บันไดขึ้นสู่ฟ้า อันนั้นก็ยิ่งสูงส่งน่าที่จะอนุโมทนาเข้าไปใหญ่ การให้ธรรมทานถึงแม้ว่าจะไม่ได้ใช้กำลังใจมาก แต่มันเปลี่ยนชีวิตของคนๆ หนึ่งได้หรือเปลี่ยนชีวิตของคนหลายๆ คนได้ ถ้าหากว่าเราสามารถที่จะนำธรรมะอันถูกต้องของพระพุทธเจ้ามาเผยแผ่ เพราะฉะนั้นตัวธรรมทาน ถ้าเป็นธรรมทานแท้ๆ แม้ผู้ที่ได้หยิบยื่นให้คนอื่นก็ได้รับ รับความสว่างจากการพูดเดี๋ยวนั้นแหละ ถ้าไม่ได้พูดด้วยความหลงตัว ถ้าไม่ได้พูดด้วยความอยากจะข่มคนอื่น ถ้าไม่ได้พูดด้วยความอยากจะได้อะไรอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นของแถม มีแต่เจตนาอนุเคราะห์ผู้อื่น อยากให้เขาได้มีความเข้าใจ อยากให้เขาได้เห็นว่าธรรมะที่ถูกที่ควรเป็นอย่างไร แนะนำให้เขาหันหน้าเข้าหาพระพุทธเจ้าแทนที่จะหันหน้าเข้าหากิเลส แบบนี้ใจของคุณเองก็จะเกิดความสว่างจ้าขึ้นมา ณ ขณะที่ให้ทาน แล้วเป็นความสว่างในแบบที่จะพัฒนาเส้นทางกรรมให้สูงส่งยิ่งๆ ขึ้นไป นี่เห็นชัดๆ เลยนะความเปลี่ยนแปลงทั้งเขาทั้งเรามันสามารถบอกได้ว่าเป็นไปในทางที่ประเสริฐ เป็นไปในทางกุศล เป็นไปในทางสว่างด้วยกันทั้งคู่ทั้งสองฝ่าย เพราะฉะนั้นอะไรที่จะเกินไปกว่าการให้ธรรมะเป็นทานคงไม่มี เปลี่ยนชีวิตของคนๆ หนึ่งให้ดีขึ้น มันต้องเปลี่ยนกันด้วยความคิด เปลี่ยนกันด้วยความเชื่อ ไม่ใช่เปลี่ยนกันด้วยการบังคับ ไม่ได้เปลี่ยนกันด้วยการข่มขู่ ไม่ได้เปลี่ยนกันด้วยการเอารางวัลเข้าล่อ แต่เปลี่ยนกันด้วยการทำความเห็นของเขาให้ถูกให้ตรง ทำให้เขาเกิดความเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร อะไรคือเหตุ อะไรคือผล นี่เรียกว่าเป็นธรรมทาน ส่วนที่ว่าใครจะเห็นธรรมทานไม่ค่อยมีประโยชน์หรือว่าไม่ค่อยต้องใช้กำลังใจ อันนี้ก็ย้ำนะครับเป็นความเห็นส่วนตัว ความเห็นส่วนบุคคล ส่วนถ้าหากเราจะเลือกเชื่อพระพุทธเจ้าก็คงต้องจำตรงนี้ไว้นะครับ ‘สัพพะทานัง ธัมมะทานัง ชินาติ’ ทานทั้งปวงแพ้ธรรมทานทั้งหมดเลยนะครับ
๒) ได้ยินว่า ‘ยิ่งตั้งข้อแม้ในการให้ทานมากขึ้นเท่าไร ยิ่งไม่ใช่การให้ทานมากขึ้นเท่านั้น’ แปลว่าอะไร? ต่างจากการเลือกให้ทานหรือไม่? ขอคำแนะนำในการให้ทาน?
การเลือกให้ทานไม่ใช่เงื่อนไขนะ คำว่าเงื่อนไขในการให้ทานที่ผมเขียนไปเมื่อเช้านี้ หมายถึงเราอยากได้ข้อแลกเปลี่ยนอยากได้สิ่งแลกเปลี่ยนอะไรมา ยกตัวอย่างเช่น แทนที่เราจะบริจาคเลือดด้วยความคิดอนุเคราะห์อยากให้คนอื่นได้เลือดของเราไปใช้ประโยชน์ ไปต่อชีวิต หรือว่าไปทำให้ชีวิตเป็นปกติสุขมากขึ้น ถ้าด้วยความมีใจอยากอนุเคราะห์แบบนี้เรียกว่าไม่มีเงื่อนไขอื่น เรียกว่าไม่มีข้อแม้อื่น อยากอนุเคราะห์อย่างเดียวเป็นทานเต็มๆ เหมือนกับที่เราจะไปบริจาคให้สภากาชาดหรือว่าจะบริจาคให้คนที่เขาขอมา ถ้าหากว่าเจตนาเป็นไปเพื่ออนุเคราะห์เขา มันก็ได้ผลเป็นทานจิต คือ ณ ขณะที่จิตดวงนั้นเกิดขึ้นเป็นทานจิต หมายความว่าจิตพึงประกอบด้วยความคิดอนุเคราะห์เป็นบุญเป็นกุศลเต็มๆ ดวง ไม่มีเงื่อนไขอื่น ไม่มีข้อแม้อื่นที่นอกเหนือไปจากการคิดอนุเคราะห์การให้ทาน นี่คือความหมายที่แท้จริงของการให้ทาน เราให้โดยไม่ได้หวังผลตอบแทน ไม่ได้คิดว่าอันไหนมันจะได้บุญมากกว่ากัน ถ้าเขาขอเราเห็นๆ เลยว่าเขาเดือนร้อนอยู่ เราให้เขาไปอันนี้เป็นการช่วยแท้ๆ เลย เป็นความกรุณาแท้ๆ เลย
๓) จะให้ทานแต่ก็กลัวถูกมิจฉาชีพหลอก เกรงจิตที่ให้จะไม่เต็มร้อย ขอคำแนะนำ?
ขอให้มองตรงที่เจตนาของเราอย่างเดียวก็แล้วกัน ว่าถ้าหากเจตนาของเราคิดอนุเคราะห์อย่างเดียว ปลื้มในการได้ช่วยคน ปลื้มในการได้ทำทาน ปลื้มในการที่เราได้มีส่วนทำประโยชน์ให้กับโลกนี้ อันนี้แหละเป็นทานเต็มๆ เลย ส่วนที่ว่าจะมีปัญหาจุกจิกกวนใจอย่างอื่นมารบกวนสภาพของจิตที่เป็นทานไม่ให้บริสุทธิ์ ก็เป็นเรื่องต้องยอมรับตามจริงว่า กำลังของทานมันก็ลดลง แต่ยังไงก็เป็นทานแท้ๆ เป็นทานจริงๆ นั่นแหละในเมื่อเราคิดจะอนุเคราะห์คนนะครับ
๔) สวดมนต์ระลึกถึงพระพุทธเจ้าแล้วเกิดปีติรุนแรงน้ำตาไหล จะทำให้การภาวนาเนิ่นช้าหรือไม่? จะนำมาใช้ประโยชน์อย่างไร?
ปีติที่แรงก็มีข้อดีทำให้เกิดกำลังมาก เพราะปีตินี่ตัวรักษาตัวหล่อเลี้ยงสภาพของจิตให้มีความไม่วอกแวกไปจากอารมณ์ที่เรากำลังตั้งอยู่ ณ ขณะนั้น ที่เรากำลังโฟกัสที่เรากำลังจดจ่ออยู่ แต่ปีติที่มากเกินไปหรือแรงเกินไปทำให้เกินความไขว้เขว ทำให้เกิดความกระสับกระส่ายขึ้นมาได้ อย่างพอระลึกถึงพุทธคุณแทนที่จะเกิดปีติแบบเย็นซ่านซึ่งเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสมาธิ เป็นปีติรุนแรงทำให้ร้องไห้สะอึกสะอื้นตัวโยกตัวโยนแล้วเกิดความกังวลขึ้นมา เกิดความอับอายขายหน้าเวลาที่อยู่ต่อหน้าธารกำนัล เขาเห็นเราร้องห่มร้องไห้ ก็อาจจะเกิดความรู้สึกกังวลเสียสมาธิไปได้ หรือถ้าเราเคยได้ยินมาว่าการมีปีติมากเกินไป การเพลิดเพลินไปกับสมาธิมากเกินไปเป็นเหตุให้การเจริญสติเนิ่นช้า สมาธิไม่ตั้งมั่น อันนี้เป็นคำกล่าวเพื่อไม่ให้เราหลงทางไปตามแรงดันของปีติมากเกินไป แต่ถ้าเราเป็นห่วงเกินไปว่าจะไม่ได้ความก้าวหน้า ตัวนี้มันก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะถ่วงความเจริญของสติได้เหมือนกัน คือเพลินเกินไปกับห่วงเกินไปมันมีผลเป็นตัวถ่วงเท่าๆ กัน ไม่ได้มีความแตกต่างกันเพราะว่ามันทำให้จิตใจของเราไม่เป็นปกติ ทำให้จิตใจของเรามีความรู้สึกฟุ้งซ่านไปในเรื่องที่มันไม่ได้เป็นปัญหา เราไปทำให้มันกลายเป็นปัญหาขึ้นมา ตัวปีติถ้าหากว่าพิจารณาตามสภาพธรรม พระพุทธเจ้าให้พิจารณาว่าเป็นสังขารธรรมชนิดหนึ่ง คือแตกต่างจากสุขเวทนา สุขเวทนาเป็นความรู้สึกอันเย็น อันเบา อันสบาย แต่ปีติมีความเข้มความอ่อน มีแรงดัน มีความรู้สึกทางกายที่เหมือนผิดจากธรรมดา เย็นมากกว่าปกติหรือถึงขนาดน้ำหูน้ำตาไหล เขาเรียกว่าเป็นการปรุงแต่งทางจิตที่เกินไปกว่าความสุขความสบาย เราสามารถเห็นเป็นสังขารขันธ์ได้ เมื่อเห็นเป็นขันธ์ชนิดหนึ่ง หมายถึงว่าเป็นการปรุงแต่งสภาวะทางใจชนิดหนึ่ง เราก็จะเข้าใจว่าจะมองมันอย่างไร มองมันโดยความเป็นของไม่เที่ยงครับ ปีตินี่ไม่ว่าจะฉีดขึ้นมาแรงแค่ไหนก็ตาม มันจะมีลักษณะที่ชัดเจนที่แสดงออกมาจากภายใน เป็นอาการที่ผุดพลุ่งขึ้นมาของความซาบซ่าน หรือว่าเป็นน้ำตาที่ออกมาจากเบ้าตา หรือว่าเป็นอาการขนลุกขนพองทางกาย ไม่ว่าอาการนั้นจะแสดงชัดเด่นทางกายหรือทางใจก็ขอให้พิจารณาท่องไว้เลยว่าเป็นสังขารขันธ์ เมื่อเรามองว่าเป็นสังขารขันธ์แล้วเฝ้าติดตามอยู่ เฝ้าดูอยู่ว่าระดับความรุนแรงของมันมีความเที่ยงหรือไม่เที่ยง ต่อให้มันฉีดแรงสัก ๕ นาที ก็ดูไป ๕ นาทีโดยที่ไม่กังวล ไม่ไปมัวแต่เฝ้าคิดคำนึงว่ามันจะเป็นตัวถ่วงความเจริญของเราหรือเปล่า? เมื่อเราเล็งอยู่เมื่อเราเฝ้าดูอยู่ว่ามันเที่ยงหรือไม่เที่ยง ในที่สุดเราก็จะเห็นว่าระดับอาการฉีดของปีติมันลดระดับลง เหมือนน้ำพุที่พุ่งขึ้นไป ๑๐ เมตรได้ ในที่สุดมันก็ลดระดับลงเมื่อแรงดันมันตกลง ระดับของน้ำพุก็อาจจะเหลือ ๕ เมตรหรืออาจจะเหลือ ๒ เมตร อาจจะเหลือ ๑ เมตร ไม่ว่ามันจะเพิ่มหรือลดแค่ไหน เรามีสติตามรู้ตามดูเท่าที่มันกำลังปรากฏอยู่ตามจริงนั่นแหละ นี่เป็นประโยชน์แล้ว ประโยชน์ตรงที่เราสามารถเห็นสังขารขันธ์ซึ่งเป็นขันธ์ชนิดหนึ่งแสดงความไม่เที่ยงได้ แล้วทำให้จิตของเราถอยออกมาจากความยึดมั่นถือมั่นว่ามันเป็นตัวเป็นตน หรือว่ามันน่าห่วงน่ากังวลได้ อะไรก็แล้วแต่ที่เราเห็นว่ามันไม่เที่ยง แล้วเราลดความกังวลเกี่ยวกับมัน ลดความยึดมั่นถือมั่นเกี่ยวกับมันลงได้ เป็นประโยชน์ทั้งสิ้นในการเจริญสติ อย่าเห็นมันเป็นอุปสรรคนะครับ มันจะไม่เนิ่นช้าออกไปนะตรงข้ามมันจะทำให้เราก้าวเข้าสู่ ก้าวไปเข้าที่เข้าทางได้เร็วขึ้นด้วยซ้ำ เพราะปีติเป็นของชัด เป็นของปรากฏที่ไม่ต้องพยายามเค้น ไม่ต้องพยายามเพ่ง มันปรากฏอยู่ชัดๆ ให้รู้สึกทางกายทางใจเลย
๕) บางครั้งรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่ากว่าคนอื่น จะแก้ไขอย่างไร?
การที่เรามองเห็นตัวเองไม่มีค่า ขณะนั้นจิตปรุงแต่งไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวของเราตนของเราด้อยกว่าคนอื่น ไม่มีประโยชน์ ไม่มีความหมาย ขอให้มองเป็นอาการทางใจอย่างหนึ่งก็แล้วกัน ที่จะง่ายที่สุดที่จะจำได้แล้วจะใช้ตลอดชีวิตนะ อาจจะฟังดูไม่ค่อยโก้เก๋ ไม่ค่อยมีอะไรที่ดูหวือหวาเท่ากับอุบายชนิดอื่น แต่มันใช้ได้จริงตลอดชีวิตที่เหลือถ้าเรามีหลักเกณฑ์ที่จะดูมันได้เป็น อาการจิตตกจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่อะไรหรอก มันเป็นอาการที่คิดไปเองเป็นส่วนใหญ่ บางทีมีเหตุปรุงแต่งขึ้นมานิดเดียว ลองนึกดูนะอย่างที่ผมมักจะเปรียบเทียบง่ายๆ สมมติว่าเราไปเจอคนๆ หนึ่ง เขายิ้มให้เราทุกวัน อยู่มาวันหนึ่งเขาไม่ยิ้มเราจะรู้สึกทันที คิดมากขึ้นมาทันทีถ้าเราเป็นคนยึดมั่นถือมั่นมาก เราจะรู้สึกทันทีว่าตัวเรามีคุณค่าน้อยลง เพราะว่าเขาไม่ให้ค่าไม่ให้ความสำคัญ ไม่มอบรางวัลเป็นรอยยิ้มให้ คนบางคนนี่นะมีความหมายกับเราขนาดที่ว่าแค่เขาไม่ยิ้มให้มันทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตของเราไม่มีความหมายไปเลยทีเดียว นี่เป็นตัวอย่างของสิ่งกระทบตาที่สามารถปรุงแต่งคนคิดมากให้เกิดความรู้สึกที่โอเวอร์ ที่มันเกินความจริงไป ลืมไปหมดว่าเราเคยทำอะไรที่มีค่ามาบ้าง ลืมไปหมดว่าเราเคยทำอะไรที่มันเป็นประโยชน์กับโลกไว้บ้าง ลืมไปหมดว่าตัวเราจริงๆ แล้วสามารถสร้างรอยยิ้มให้คนอื่นได้แค่ไหนบ้าง เพียงเพราะเขาไม่ยิ้มให้เราแค่คนเดียว อาการคิดมาก อาการยึดมั่นถือมั่นเกินไปของจิต สามารถปรุงแต่งไปได้ต่างๆ นานา ตรงนี้ก็ขอให้พิจารณาก็แล้วกันว่าอาการทางใจที่มันกำลังยึดสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นนิมิตอยู่ สมมติว่ากรณีนี้คุณเจ้าของคำถามไม่ได้ระบุมาว่าทำไมถึงรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า ทำไมตัวเองถึงจิตตก ผมก็เลยยกตัวอย่างมานะสมมติว่ามีคนไม่ยิ้มให้กับเราทั้งๆ ที่เขายิ้มมาตลอด แล้วเกิดอาการรู้สึกน้อยใจ เกิดอาการรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าเท่าเก่า ณ ขณะนั้นใจของเรายึดเอานิมิตไม่ยิ้มของเขามาเป็นตัวตั้งแล้วมาบดขยี้ใจตัวเองให้เกิดความรู้สึกเล็กลง สาละวันเตี้ยลง เกิดความรู้สึกถูกบีบเหมือนลูกหนู เกิดความรู้สึกว่าเราช่างไม่มีคะแนนไม่มีราคาเอาเสียเลย ก็ดูตัวนี้แหละ ดูตัวตั้ง ถามตัวเองสำรวจเข้าไปให้เจอว่าในขณะนั้นที่เรารู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า จิตกำลังยึดนิมิตใดไว้เป็นตัวตั้ง ถ้าบอกไม่มีไม่ได้ยึดอะไรไว้ก็ขอให้ทราบเถอะว่า มีครับ แต่คุณอาจจะมองไม่เห็นหรือว่าไม่รู้ตัว ถ้าสมมติต่อไปคุณมีความรู้สึกเหมือนกับตัวเล็กตัวลีบไม่มีค่าขึ้นมาเสียเฉยๆ แล้วไม่ได้นึกถึงเรื่องอะไรเลย ขอให้ทราบเถอะครับว่า ณ ขณะนั้นใจคุณยึดถือเอานิมิตของตัวเองเป็นตัวตั้ง นิมิตที่อาจจะนั่งก้มหน้าก้มตาหรืออาจจะนั่งหลังงอ หรืออาจจะเป็นสภาพภายในที่มันถูกบีบคั้น ที่มันมีความหม่นหมองอะไรก็แล้วแต่ที่มันกำลังปรากฏอยู่ในใจ ณ ขณะนั้น นั่นแหละคือนิมิตที่ใจกำลังยึดอยู่ ถ้าหากว่าเรากำลังยึดนิมิตว่านั่งก้มหน้าก้มตาหลังงอ ก็ลองยืดตัวขึ้นมาให้หลังตรงซิ ลองเชิดหน้าขึ้นมาให้มันไม่ก้ม เปลี่ยนท่าเปลี่ยนทางจากหายใจสั้นมาเป็นหายใจยาว จากที่มันเหมือนนั่งทื่อ นั่งจ๋องก็ลุกขึ้นเดินไปกินน้ำกินท่า สังเกตให้ออกว่าลักษณะอาการของนิมิตที่ต่างไปมันปรุงแต่งให้เกิดความรู้สึกที่แตกต่างไปอย่างไร จากเดิมที่นั่งจ๋องๆ แล้วเกิดความรู้สึกไม่มีค่า พอยืดเส้นยืดสายยืดตัวขึ้นมา หลังตรง คอตั้ง มันเกิดความรู้สึกว่าตัวเองมีค่าขึ้นมาทันทีได้ไหม ถ้าหากว่าเห็นอย่างนี้นะมันเห็นเข้าไปในต้นเหตุของอาการทางใจที่มันแตกต่างกัน แต่คนมักจะไม่ค่อยให้ค่า ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับอิริยาบถที่เปลี่ยนไป เพราะเห็นว่ามันไม่ได้มีราคาสักเท่าไร ไม่เทียบเท่ากับการที่ได้ยินได้ฟังคนอื่นเขาชื่นชม หรือว่าไม่เทียบเท่ากับการที่เราได้ของขวัญอะไรสมใจมา แต่แท้ที่จริงแล้วการเคลื่อนไหวหรืออิริยาบถที่มันเกิดขึ้นได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมงนี่แหละ เพียงแต่เราใส่ใจ เพียงแต่เรารับรู้นะ นั่นแหละของที่มีค่าที่สุดในชีวิตแล้ว เพราะว่าอิริยาบถที่เปลี่ยนไป แม้แต่ลมหายใจที่ต่างกันเดี๋ยวเข้าเดี๋ยวออกเดี๋ยวยาวเดี๋ยวสั้น ถ้าเราเฝ้าสังเกตอยู่ เรารับรู้อยู่ เห็นความจริงเกี่ยวกับความไม่เที่ยงและความไม่ใช่ตัวตนของพวกมันอยู่ เราจะได้พบบรมสุขที่แท้จริง ที่เหนือกว่ารางวัลทั้งปวงที่โลกประเคนให้เรามาทั้งชีวิต นิพพานไม่ได้ได้กันด้วยการได้รับคำชมจากคนอื่น ไม่ได้ได้มาจากคะแนนที่บริษัทไหนให้เรา ไม่ได้ได้มาจากครูบาอาจารย์ ไม่ได้ได้มาจากการที่โลกจะยกย่องเราแค่ไหน แต่ได้มาจากการที่เราเห็นความไม่เที่ยงในอิริยาบถของตัวเอง เห็นความต่างไปของเหตุของผลที่ว่าอิริยาบถหนึ่งๆ ให้ความรู้สึกอย่างไรเป็นสุขหรือเป็นทุกข์แค่ไหน คิดมากหรือคิดน้อยลง เฝ้าสังเกตอยู่อย่างนี้ถ้าหากว่าทำเป็น ทำจริง ต่อเนื่อง มันได้ถึงนิพพานเลย มันยิ่งกว่าไปสวรรค์มันยิ่งกว่าไปพรหมโลก เอาล่ะ ‘ตัวเรามีค่า ถ้าหากว่ามีสติ’ สรุปเป็นคำให้จำง่ายๆอย่างนี้
๖) ขอคำแนะนำดีๆ เพื่อให้มีความเพียรในการปฏิบัติธรรมได้?
การที่เราขี้เกียจบ้างแล้วก็ขยันบ้างเมื่อนึกได้ ขอให้มองอย่างนี้ว่าอยู่ในระยะเวลาของการสะสมแต้ม สะสมไมล์ในการเดินทางบนทางบนวิถีแห่งโลกุตตระนี้ มันไปเร่งไม่ได้ไปบังคับให้ขยันไม่ได้ แต่ทำเหตุให้เกิดความพอใจบนเส้นทางนี้ได้ นั่นก็คือทำให้ถูกทำให้ตรงเถอะ ดูเข้ามาที่กายดูเข้ามาที่ใจ มีความคาดหวังเพียงแค่ว่าเราจะรู้ เราจะดู เราจะเห็น อย่าคาดหวังให้มันมากไปกว่านี้ เมื่อไม่มีความคาดหวังอื่นนอกจากจะรู้จะดูจะเห็นว่ากายใจนี้ไม่เที่ยง กายใจนี้ไม่ใช่ตัวตนในแต่ละขณะ อย่างเช่นขณะนี้กำลังฟังอยู่ แล้วเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่าฟังแล้วเฉยๆ หรือฟังแล้วมีความสุข หรือฟังแล้วเกิดปีติ หรือฟังแล้วได้แนวทางในการปฏิบัติ ไม่ว่าอาการทางใจจะเป็นปฏิกิริยาออกมาอย่างไรก็แล้วแต่ เราเห็นว่ามันเกิดขึ้นด้วยเหตุด้วยปัจจัยอะไรอย่างหนึ่ง แล้วอีกแป๊บหนึ่งพอไม่ได้ฟัง พอเลิกฟังมันก็ลืมความรู้สึกนี้ไป นี่ก็เรียกว่าเป็นการเห็นความไม่เที่ยง เห็นออกมาจากความจริง เห็นออกมาจากสิ่งที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้เลยไม่สร้างเอา ไม่ได้วาดวิมานเอา การที่เรารู้สึกถึงความไม่เที่ยงได้ในแต่ละขณะมันจะเกิดปีติขึ้นมาอ่อนๆ มันจะเกิดความรู้สึกดี มันจะเกิดความรู้สึกผ่อนคลายจากอาการยึดมั่นถือมั่น การสะสมความสุขอันได้จากการเห็นความไม่เที่ยงมันจะเพิ่มตัวฉันทะหรือเพิ่มแรงดันให้เกิดความพึงพอใจในการเจริญสติยิ่งๆ ขึ้นไปเอง ไม่ใช่ไปบังคับว่าจงพอใจนะ จงมีสตินะ แต่เกิดความพอใจที่มันเกิดขึ้นจากเห็นอย่างถูกต้อง ตั้งมุมมองไว้อย่างถูกต้อง สรุปก็คืออย่าไปคาดคั้นให้ตัวเองขยัน เป็นฆราวาสต้องทำงานก็ทำไปเถอะ มันจะหลงไปบ้างลืมไปบ้างที่จะดูเข้ามาในกายในใจเนี่ย ช่างมัน แต่ที่ไม่ช่างก็คือเราจะทำทุกครั้งที่นึกขึ้นได้
เอาล่ะครับ คืนนี้ราตรีสวัสดิ์ ขอให้เจริญในธรรมทุกท่านครับ
« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น