วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๓๐ / วันที่ ๒๘ มี.ค. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันพุธที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงเศษ ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา หลายท่านบ่นว่าช่วงต้นรายการเข้า Spreaker ไม่ได้ (http://www.spreaker.com/user/dungtrin) เลยไม่ได้สัญญาณบอกว่าใช้สไกป์ (Skype) ได้แล้วหรือยัง ต่อไปถ้ามีปัญหาทำนองนี้อีกก็อาจจะต้องผสมกันระหว่างเฟสบุ๊คกับสไกป์นะครับ อันนี้เอาไว้ดูกัน อย่างถ้ายังไม่มีคำถามจากสไกป์มาผมก็จะอ่านคำถามจากเฟสบุ๊คก่อน อะไรแบบนี้นะครับ วันนี้เราใช้เฟสบุ๊ค เพื่อที่จะทักทายไถ่ถามนะครับ ให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/HowfarBooks ไปดูกันคำถามแรกเลยนะครับ



๑) ถ้าหากว่าลูกประสบความสำเร็จไม่เท่าพ่อแม่ ทำอะไรก็ไม่ได้ดั่งใจอย่างที่พ่อแม่เขาหวัง แต่เราก็พยายามมากที่จะทำอะไรให้ออกมาดีในแบบของเรา แต่พ่อแม่เขาไม่อยากให้เรามาดีในทางนี้ อย่างนี้บาปไหม?

ถ้ามองจากมุมมองของบ้านอื่นหรือของคนอื่น ก็อาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมเราจะต้องไปกลุ้ม ทำไมเราต้องไปกลัวว่าเป็นบาป แต่คนที่อยู่ในสถานการณ์เหมือนกับมีความขัดแย้ง เหมือนกับมีความรู้สึกขัดเคืองกัน เห็นกันและกันหม่นใจบ่อยๆเข้ามันก็กังวลขึ้นมาได้ ว่าเราทำบาปทำกรรมกับพ่อแม่อยู่หรือเปล่า ไม่สามารถตามใจท่านได้ ไม่สามารถทำให้ท่านเป็นสุขสบายใจได้

อันนี้ขอให้ดูที่เจตนานะครับ ถ้าหากว่าเจตนาของเราตั้งใจจะทำให้พ่อแม่ไม่สบายใจ หรือทำให้พ่อแม่เสียใจ หรือทำให้พ่อแม่ผิดหวังในตัวเรา ด้วยความจงใจนั้นคือกรรม ความจงใจนั้นคือบาป แต่ถ้าหากว่าท่านมีความคาดหวังในตัวเราเอง แล้วเราไม่สามารถเป็นอย่างที่ท่านต้องการได้ อันนี้เราไม่ได้มีเจตนาที่จะให้ท่านผิดหวัง แต่ท่านผิดหวังของท่านเองเพราะว่าคาดหวังแบบผิดๆในตัวเรา โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้ชีวิต การเลือกคู่ครอง การทำอาชีพ ถ้าหากว่าพ่อแม่ไปคาดหวังในตัวลูกไว้ราวกับว่าลูกเป็นสมบัติของตน ลูกเป็นสิ่งที่ต้องเหมือนกับตนเอง หรือจะต้องได้อย่างใจตนเอง นั่นเป็นความรับผิดชอบของพวกท่าน ไม่เกี่ยวกับเรา ไม่เกี่ยวกับความตั้งใจของเรา แต่ความตั้งใจของเราที่จะพยายามเอาใจท่านให้ดีที่สุด นี่แหละเป็นบุญ

ส่วนที่ว่าเราทำไม่สำเร็จไม่ใช่บาป การที่เราพยายามทำให้พ่อแม่มีความสุข ทางที่เป็นไปได้มากที่สุดก็คือการพูดดีกับท่าน คิดดีกับท่าน และกระทำการอันเป็นลักษณะของการปรนนิบัติรับใช้เท่าที่จะทำได้ บีบนวดให้ท่าน หาน้ำเย็นให้ท่าน หรือว่าพยายามพูดให้ท่านสบายใจในเวลาที่ท่านกังวลในเรื่องอื่นๆที่ไม่ได้เกี่ยวกับความคาดหวังในตัวเรา อย่างนี้เรียกว่าเป็นการตอบแทนบุญคุณพวกท่านแล้ว

หรือถ้าหากจะเอาแบบที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสก็คือ บุญที่ตอบแทนท่านได้สมน้ำสมเนื้อก็คือบุญที่ทำให้พวกท่านมีศรัทธาตั้งมั่น มีทานตั้งมั่น และมีศีลตั้งมั่น ส่วนเรื่องที่ว่าเราจะทำตัวให้ได้อย่างใจพวกท่าน พระพุทธเจ้าไม่ได้กล่าวถึงเลย ไม่ใช่บุญกิริยาอันวิเศษ ไม่ใช่ลักษณะของการที่จะทำให้พ่อแม่ได้รับการตอบแทนจากเราอย่างสมบูรณ์แบบ เพราะว่าการตอบแทนในแบบที่เราจะทำตัวให้ได้อย่างใจท่าน เราจะเป็นไปให้ได้อย่างใจท่าน ถ้าหากว่าทำได้พยายามทำอันนั้นดี แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ต้องไปฝืนมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง

อันนี้พูดเลยไปเรื่องคู่ครอง หลายคนกลุ้มใจกันมากว่าอุตส่าห์รัก อุตส่าห์เข้าอกเข้าใจกัน อุตส่าห์รู้สึกว่าใช่แล้วแต่พ่อแม่เกิดไม่ชอบ แบบนี้ถ้าฝืนใจพวกท่านจะเป็นบาปไหม การที่เราฝืนใจพวกท่านในกรณีของการเป็นเส้นทางชีวิตของเราก็ก้ำกึ่งกัน คือมันสร้างความไม่พอใจให้ เรารู้ว่าท่านจะไม่พอใจแล้วเราฝืนทำมันก็อาจจะมีส่วนอยู่บ้างนิดหน่อยในแง่ของเจตนาที่ว่าจะทำลงไปทั้งรู้ เลือกเส้นทางแบบนี้ ตัดสินใจแบบนี้ทั้งรู้ว่าท่านจะไม่สบายใจ มันก็มีอยู่นิดหน่อยแต่ไม่ได้เป็นเจตนาตั้งต้นว่าจะแกล้งไม่ให้ท่านสบายใจ แต่เราเจอของเราแล้วเกิดความพอใจของเรา

ทีนี้พูดถึงในอีกมุมมองหนึ่งคือในเรื่องคู่ครอง อันนี้พูดเลยไปนิดหนึ่งก็แล้วกัน เพราะว่ามันเชื่อมโยงกันอยู่แล้วก็ถามกันมาบ่อยมาก ถ้าบางทีเรายังอยู่ในวัยที่ไม่สามารถจะมีดุลพินิจหรือว่าอ่านคนไม่ออกเท่าพ่อแม่ บางทีมีอยู่จริงๆนะกรณีที่พวกท่านผ่านร้อนผ่านหนาวมามากกว่าแล้ว ท่านเห็นอะไรมากกว่าเรา อันนี้ก็ต้องดูด้วยว่าพ่อแม่ของเราเป็นคนอย่างไร ถ้าท่านดูจากเอาแค่ว่าฐานะหรือว่าการงาน ท่านไม่ชอบ แบบนี้เรามีสิทธิ์เต็มที่ ที่เราจะเลือกอย่างที่เราควรจะทำได้ในสังคมประชาธิปไตย ในสังคมที่ลูกทำงานแล้วก็เป็นตัวของตัวเองแล้ว แต่ถ้าหากว่าท่านมองคนออกอย่างคุณสมบัติไม่ดีหมายเลขหนึ่งเลยของผู้ชายที่เราไม่ควรจะเลือกมาเป็นคู่ เช่น เจ้าชู้ ท่าทางหลุกหลิก ท่าทางเหมือนกับพร้อมที่จะกระโจนไปหาผู้หญิงคนไหนก็ได้ หรืออีกทางหนึ่งคือเขายังไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรทำงานแบบหยิบโหย่ง ออกจากงานโน้นทีงานนี้ที ถ้าพ่อแม่ถาม พ่อแม่มักจะถามว่าทำงานอะไร แล้วเขาทำมานานเท่าไรแล้ว อยู่มากี่ปีแล้วอะไรแบบนี้ ถ้าหากท่านมองแล้วว่าหมอนี่มันไม่เอาไหน มันเหมือนกับยังไม่รู้จักตัวเองเลย มันไม่มีความแน่นอนมั่นคงในชีวิต ท่านก็อาจจะกีดกัน ลักษณะการกีดกันแบบนี้ ถ้าหากว่าเราดื้อดึงแล้วก็ไม่พิจารณาตามท่าน ก็ไม่บาปหรอกแต่ว่าผลที่ตามมาอาจจะได้ทำบาปอีกมากมาย อยู่กับคนที่เหลวไหลเหลาะแหละอะไรแบบนี้

อันนี้พูดเกินคำถามไปนิดหนึ่ง จะได้รวมกันจะได้เข้าใจ เห็นภาพรวมชัดว่า การประพฤติปฏิบัติต่อความคาดหวังของพ่อแม่มันมีหลายแง่มุมนะครับ ถ้าหากเป็นสิ่งที่เราเลือกแล้ว พิจารณาแล้วว่าทำได้ดีที่สุดแล้วเป็นสิ่งที่ดีจริงๆแต่พวกท่านกลับจะมาทำให้เป๋ ทำให้เสียศูนย์ มันก็จำเป็นที่เราจะต้องรักษาเส้นทางของเราไว้ แล้วพยายามให้คำอธิบายกับท่านในภายหลังว่าเหตุผลของเรามีไปอย่างนี้เพื่ออะไร เป็นเพราะอะไร ถึงแม้ว่าจะมีความขัดเคืองกัน บางทีก็ต้องยอมนะ เพราะว่าถ้าหาก อันนี้เห็นมาเยอะเลยคือไปยอมพ่อแม่ยอมทุกอย่างแล้วชีวิตเราเองเสียหาย แล้วก็ไม่ได้ทำให้พ่อแม่มีความสุขในระยะยาว ก็ทำให้ท่านอกไหม้ไส้ขมอยู่ดีเวลาที่เราเกิดอาการตรอมใจขึ้นมา



๒) ถ้าเรากำลังรักษาศีล แต่เราเผอิญทำผิดศีล เช่น ตำหนิหรือว่าคนที่ทำผิดจริงๆ ถือว่าผิดศีลไหม?

ถ้าหากว่าตำหนิในกรณีที่เขาผิดจริงด้วยเจตนาอนุเคราะห์ มันไม่ผิดศีล มันจะไปผิดได้อย่างไร เอาความผิดข้อไหนมาวัด การที่จะผิดศีลโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมุสาวาทก็คือพูดปั้นน้ำเป็นตัว พูดเท็จชัดๆเลย รู้ว่าเรื่องจริงเป็นอย่างไรแต่ไปบิดเบือนให้มันบิดเบี้ยว แล้วไปพูดคำหยาบคาย คำหยาบคายในที่นี้หมายถึงว่ามีเจตนาประทุษร้ายให้มีลักษณะของคำด่าที่เหยียดหยามให้ตกต่ำ ทำให้จิตใจตกต่ำ คนฟังเกิดความรู้สึกแย่ เกิดความรู้สึกเหมือนกับตัวเองเป็นสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำ หรือว่าแม้กระทั่งด่าด้วยคำสุภาพแต่ว่ามีความหมายที่หยาบโลน หรือว่ามีความหมายที่ต่ำทรามมากๆก็เข้าข่ายทั้งสิ้นเลยนะครับ

นอกจากคำหยาบแล้วก็ยังมีคำส่อเสียด นินทาว่าร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ชัดเจนที่สุดก็เรื่องของการใส่ไคล้กัน เรื่องของการปั้นเรื่องเพื่อที่จะทำให้ภาพลักษณ์หรือว่าทำให้บุคคลเกิดความเสียหายได้รับความเสียหาย อย่างนี้ก็เรียกว่าผิดศีลเหมือนกัน แล้วอันสุดท้ายก็คือพูดเพ้อเจ้อ เหมือนกับเราจิตใจกำลังฟุ้งซ่าน เลื่อนลอย ณ เวลานั้นพูดอะไรออกมามีแนวโน้มที่จะเพ้อเจ้อ มันจะพล่ามไปเรื่อย มันจะวกวนไม่หยุด พูดไปแล้วก็ยังกลับมาพูดอีก แล้วก็พูดแบบไม่มีสาระ ไม่มีแก่นสาร ไม่มีจุดหมายอะไรทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นการพูดในแบบที่เหลวไหลไร้สาระ ชักใบให้เรือเสีย เปลี่ยนเรื่องสาระให้กลายเป็นเรื่องไร้สาระ หรือว่าทำให้คนเขามีความเลื่อนลอยเหลวไหลตามตน อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นการผิดศีล

แต่ตัวที่ผิดจริงๆคือการบิดเบือนของจริงให้มันกลายเป็นของปลอม หรือทำของปลอมให้กลายเป็นของจริง แบบนี้ถึงจะเรียกว่าผิดศีล การที่เราไปตำหนิ หรือว่าไปดุไปว่าใครเขาด้วยเจตนาที่จะทำให้เขาประพฤติปฏิบัติดีขึ้น หรือว่าเปลี่ยนผิดให้เป็นถูก อย่างนี้นอกจากไม่ผิดศีลแล้วยังเป็นการที่เราพยายามทำให้อะไรๆให้มันถูกต้องขึ้นด้วย เป็นเรื่องดี บางทีเป็นบุญ แม้แต่พระพุทธเจ้าท่านก็เคยตรัสนะครับว่า เราจะไม่เลี้ยงเธอแบบปล่อยปละละเลย เราจะขนาบ เราจะดุ เราจะเข้มงวด เราจะ เหมือนกับถ้าภาษาชาวบ้านสมัยนี้ก็คือ เอาหวายตีอะไรทำนองนั้น เพื่อที่จะให้เธอดีขึ้น เหมือนกับช่างปั้นหม้อต้องพยายามที่จะทุบ พยายามที่จะขนาบให้หม้อออกมามีรูปทรงที่ดีที่สุด สวยที่สุดนะครับ



๓) การทำผิดศีลข้อไหนๆก็ได้โดยไม่ได้ตั้งใจ หรือไม่รู้ตัว หรือมารู้ตัวทีหลัง เราจะบาปมากไหม? แล้วเราสามารถแก้กรรมบาปที่ทำลงไปนั้นได้ด้วยวิธีใดๆบ้าง ที่จะทำให้บาปนั้นเบาบางลง?

ถ้าหากว่าไม่ได้ตั้งใจ ใจไม่ได้มีกำลังที่จะพยายามทำผิดศีลข้อใดข้อหนึ่งแล้วพลาดทำลงไป พลั้งทำลงไปโดยที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ แบบนี้เขาเรียกว่า ‘กตัตตากรรม’ ตอนที่เรารู้ตัวว่าพลาดไปแล้วเผลอไปแล้ว แล้วเรากลับใจได้ทันทีถือว่ายังไม่ผิดอะไรเลย แต่ถ้าหากว่าพลั้งไปแล้วพลาดไปแล้ว เกิดความรู้สึกยินดี เป็นอย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน อย่างเช่น สมมติเราคันแขนแล้วเราเอื้อมมือไปขยี้ๆด้วยความตั้งใจว่าจะให้หายคัน แต่พอก้มลงมองดู มันกลายเป็นยุงนี่ ยุงตายคานิ้วของเราที่กำลังขยี้ๆนั่นอยู่ แล้วเราเกิดความยินดีว่าตายไปเสียก็ดี อยากมากัดเรา นี่แหละถือว่าโดนลงโทษโดยที่เราไม่ต้องก่อกรรม ตัวยินดีที่ยุงมันตายเพราะมือเรานั่นแหละ มันกลายเป็นกตัตตากรรมที่มีกำลังขึ้นมาแล้ว เป็นกตัตตากรรมที่เรามารู้ทีหลังแล้วเรานึกชอบใจราวกับว่าถ้าได้ลงมือด้วยตัวเอง ก็จะมีความรู้สึกปลื้มได้อะไรแบบนั้น นี่ก็เลยมีส่วนของกรรมไปแล้ว ทั้งๆที่ตอนแรกไม่ได้มีกำลังใจในการฆ่ายุงเลย เราแค่จะมาเกาในจุดที่คัน แต่ยุงมันปรากฏว่าตายคามือเรา ก็เลยเหมือนไม่ได้ฆ่าไม่ได้ตั้งใจฆ่า แต่ก็คล้ายๆฆ่าไปแล้วด้วยความยินดีนั่นแหละ

ส่วนการแก้บาปแก้กรรมที่ทำลงไป ดีที่สุดก็คือสังวรระวัง ตั้งใจว่าจะไม่พลาดไม่เผลอไม่พลั้งที่จะทำอีก แม้กระทั่งความยินดีหลังจากที่ได้รู้ว่าทำพลาดไปแล้วก็จะไม่เอาใจเข้าไปใส่กับความยินดีนั้น พอรู้ตัวว่ายินดีต้องบอกตัวเองทันทีว่านี่เรายินดีในเรื่องผิดแล้ว นี่เรากำลังปลาบปลื้มในสิ่งที่จะดึงให้เราเข้าไปมีความเลื่อมใสในในการทำบาปแล้วนะครับ แค่นี้มันก็ถือเป็นการแก้อนาคต มันไม่ใช่แก้อดีตนะ แก้อดีตมันแก้ไม่ได้

กรรมถ้าหากว่าทำลงไปแล้วจริงๆมันไม่สามารถที่จะรื้อฟื้นรื้อฝอยหาตะเข็บขึ้นมา แต่เราสามารถป้องกันไว้ล่วงหน้า ซึ่งการป้องกันไว้ล่วงหน้ามีความหมายว่า ต่อให้เราจะต้องได้รับผลเกี่ยวกับศีลที่เคยผิดพลาดนั้นไปในอนาคตถ้าบาปมันเผล็ดผลแล้ว ก็จะไม่ได้รับผลเต็มที่เนื่องจากใจของเราไม่ได้ยินดียึดเหนี่ยวอยู่ในโลกของความเป็นบาป ไม่ได้ยินดียึดเหนี่ยวอยู่ในโลกของอกุศลธรรม ความเป็นกุศลธรรมของจิต ความสว่างของจิตก็จะเหมือนเป็นสุญญากาศกั้นให้เราห่างออกมาจากความทุกข์ ไม่ได้ทำให้วิบากอันเกิดจากบาปเข้ามาปะทะเต็มแรงนักเต็มเหนี่ยวนัก เพราะมีกำแพงของความสว่าง มีกำแพงของกุศลคอยกั้นอยู่ เราอยู่ในโลกของกุศลขอให้ทราบไว้เลยโลกนั้นมันคล้ายๆมีเกราะแก้วกำบังไม่ให้บาปเข้ามาปะทะเต็มแรงมากนัก

แต่ถ้าหากว่าใจของเรายินดีอยู่ในบาป ใจของเราไม่เคยคิดที่จะรักษาศีลเลย ใจของเรามีแต่ความรู้สึกว่าทำบาปไปก็ช่างมัน ไม่ได้คิดแก้ไม่ต้องไปสังวรระวังอะไรทั้งสิ้น อย่างนี้เท่ากับเราอยู่ในเขตที่มืด เขตที่มันมีหมอกควันพิษพร้อมจะเล่นงานให้เราย่ำแย่อยู่แล้ว ถ้าหากว่ามีบาปอกุศลเก่าพุ่งเข้ามาเล่นงาน มันก็เข้ามาเล่นงานได้เต็มที่โดยไม่มีอะไรป้องกันตัวเลยนะครับ



๔) ในหนังสือของพี่ตุลย์เคยเขียนคำว่า ‘วิญญาณมีรูปร้ายเป็นทุกข์กระสับกระส่ายอย่างยากที่จะเปลี่ยนแปลง และกรรมจะรักษาเส้นทางเดิมไว้ด้วยความเคยชิน’ แล้วอย่างนี้เส้นทางคนคนนั้นจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร? จะรู้อย่างไรว่าวิญญาณเป็นรูปร้ายเท่าไหน ร้ายมาก ร้ายน้อย และจะหายร้ายหรือเปลี่ยนแปลงได้ไหม?

พระพุทธเจ้าตรัสว่า อรุณรุ่งของกุศล อรุณรุ่งของธรรมะ ก็คือการได้พบกับกัลยาณมิตร กัลยาณมิตรในพระพุทธศาสนาก็มุ่งหมายสำคัญไปที่องค์พระศาสดาเองผู้ประกาศธรรมะที่ถูกต้อง ที่เป็นความสว่าง ที่เป็นกติกาของธรรมชาติ กฎของกรรมวิบาก

คืออันนี้ต้องเข้าใจให้มันเป็นไปในทางกุศลนะ ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ได้ประกาศตัวเองไว้อย่างนี้ก็จะไม่มีใครประกาศให้ เพราะพระองค์รู้ของพระองค์เองอยู่พระองค์เดียวว่าท่านตรัสรู้อะไรบ้าง ก็จำเป็นต้องประกาศ เมื่อท่านประกาศว่าการเป็นกัลยาณมิตรหมายถึง การที่ท่านได้ชี้ทางถูกทางตรงไว้ เราก็สามารถสำคัญมั่นหมายได้ว่า ถ้าหากเมื่อไรชาติใดที่เราพบพระพุทธศาสนา นั่นคือโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดในการเดินทางอันเป็นอนันตชาติในสังสารวัฏนี้ เพราะว่าอะไร? เพราะว่าเมื่อคนเราได้แรงบันดาลใจจากธรรมะที่มีความสว่างเจิดจ้า เมื่อคนเรามีความรู้สึกว่ามันมีสิ่งที่ดีกว่าชีวิตของเรา มันมีสิ่งที่ใหญ่กว่าชีวิตของเราอยู่ แล้วเราสามารถที่จะยอมทิ้งชีวิตแบบเดิมๆ เปลี่ยนเส้นทางมาสู่ชีวิตอีกแบบได้ นั่นแหละคือโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลง

ถ้าหากว่าไปพูดถึงเอาเฉพาะที่พี่เคยเขียนไว้ อย่างคนที่สนใจพุทธศาสนาได้ อย่างนั้นไม่มีทางร้ายเกิน อย่างนั้นไม่มีใครหรอกที่พอกบาปมาจนเกินกว่าจะแก้ คนที่สนใจพุทธศาสนาหรือว่าสามารถคลิกกับคำสอนใดคำสอนหนึ่งของพุทธศาสนาได้ ไม่ว่าจะได้ยินคำสอนหรือว่าหลักการทางพุทธมาจากใครก็ตาม หรืออยู่ในช่วงไหนของชีวิตก็ตาม ขอให้ทราบไว้เลยว่าคุณมีบุญมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง คุณไม่ได้พอกบาปมาหนาเกินกว่าที่จะแก้ไข พูดอย่างนี้ไว้ก่อนนะ

ส่วนคนที่จิตวิญญาณยากจะคลิกกับธรรมะในพุทธศาสนา ทางศาสนาเราเรียกว่าเป็น นิยตมิจฉาทิฏฐิ คือมีความแน่นอน มีความมั่นคงมากๆที่จะเข้าใจพุทธศาสนาในทางร้ายไว้ก่อน อย่างพวกที่ทำบาปไว้มากๆประกาศศาสนาของตนไม่พอ มาเหยียบย่ำศาสนาคนอื่น แล้วก็เอาพระพุทธเจ้ามาบิดเบือนทำให้เกิดความเข้าใจพระองค์ท่านผิดๆ หรือว่าจะมีการใส่ร้าย บอกว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าจะนำไป บางทีมีอย่างนี้เลยนะบอกถ้ากราบไหว้พระพุทธเจ้าไปนรกแน่ เอาเรื่องไม่จริงมาขู่ เอาความคิดของตัวเองมาใส่เข้าไป พวกนี้โอกาสที่จะเจอพุทธศาสนา หรือศาสนาที่มีเหตุมีผล หรือศาสนาที่กล่าวถึงกรรมวิบาก โอกาสที่จะเข้ามาได้นี่ไม่มีเลย บอกอย่างนี้เลยก็แล้วกันว่าไม่มีเลย

แล้วมันจะสืบเนื่องเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ไปเรื่อยๆ คือพอปักหลักที่จะเผยแพร่มิจฉาทิฏฐิแห่งตนไปแล้ว ทำอยู่ทั้งชีวิตมันจะเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ไป เกิดใหม่ก็จะไปเกิดในตระกูลมิจฉาทิฏฐิ พอต้องใช้กรรมในนรกเสร็จ ไปเป็นเปรต ไปเป็นอะไร ขึ้นมาเป็นมนุษย์แล้วก็จะมีผู้นำทางมีครูที่เป็นมิจฉาทิฏฐิอีก แล้วก็ร่วมครึกครื้นเฮฮากันในเรื่องของการทำบาปทำกรรม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเหยียบย่ำความศรัทธาที่ถูกต้องที่ตรงทางสวรรค์นิพพาน จะชอบมากจะเป็นของโปรด จะรู้สึกเป็นขนมเลย มันจะมีความรู้สึกคลิกเลย มันเชื่อมต่อกับตัวเองได้ว่าอย่างนี้เราชอบ ถ้าจะไปด่าว่า ถ้าจะไปใส่ร้าย ถ้าจะไปทำให้คนที่เขาดูดีมีความสะอาดได้แปดเปื้อนจะชอบมากเลย แล้วลักษณะของวิญญาณที่ถูกสร้างขึ้นด้วยกรรมประเภทนี้ ด้วยบาปประเภทนี้ ก็จะออกแนวเหมือนกับปีศาจที่เราเห็นในหนัง มีเขี้ยว มีเขา มีอะไรที่มันน่ากลัวมากๆ ความกระสับกระส่ายที่ยากจะเปลี่ยนแปลงแบบนี้ที่พี่หมายถึง ที่น่าจะเคยพูดถึงไว้ในหนังสือนะ

คนพวกนี้ถ้าจะเปลี่ยนมีทางเดียวคือคนที่เขายึดถือเป็นหลักหรือว่าเป็นครู เป็นบรมครูของเขาเกิดการเปลี่ยนใจแล้วก็ค่อยๆหันเห มันไม่มีทางนะที่จะแก้ได้ในชาติเดียว มันค่อยๆหันเห ค่อยๆสั่งสมความดี ค่อยๆทำความเข้าใจอย่างเป็นเหตุเป็นผลเกี่ยวกับเรื่องของการทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วนะครับ



๕) มีคนทักว่าติดสุขแล้วไม่รู้ตัว ลองกลับมารู้ ก็เห็นแต่ความรู้สึกโล่งๆ เลยอยากขอคำแนะนำว่าอาการติดสุขคืออะไร? แล้วจะฝึกสังเกตอย่างไรถึงจะรู้ว่าเรากำลังติดสุขอยู่?

วิธีง่ายๆที่จะรู้ตัวว่าเรากำลังติดสุขอยู่หรือเปล่า ก็คือถามตัวเองว่าสิ่งที่เราอยู่ด้วยทั้งวัน อยู่ด้วยบ่อยๆที่สุด อารมณ์ที่อยู่ด้วยบ่อยๆที่สุดคืออารมณ์แบบไหน แล้วเราชอบหรือเปล่า ความชอบใจหรือความรู้สึกติดใจนั่นแหละที่จะพาให้เราประเมินตัวเองได้ว่าเรากำลังติดสุขอยู่หรือเปล่า อย่างที่บอกว่ารู้สึกโล่งๆถามตัวเองว่าเราชอบหรือไม่ชอบ ถ้าหากว่าเราชอบ ถามตัวเองเข้าไปอีกเคยเห็นไหมว่าความรู้สึกโล่งๆนั้นมันไม่เที่ยง บางทีมันก็มีความรู้สึกยุ่งๆขึ้นมา บางทีมันก็มีความรู้สึกไม่ชอบใจขึ้นมา ถ้าเคยเห็นความเปลี่ยนแปลงของอาการโล่ง หรือเห็นความไม่เที่ยงของความรู้สึกชอบใจ ความรู้สึกติดใจ อันนี้ถือว่าไม่ติดสุขแล้วเพราะเรามีสติเห็นความไม่เที่ยง

ตัวที่จะเป็นมาตรวัดชัดเจนเลยว่าเราติดหรือไม่ติด ตัวนี้เลยตัวเห็นความไม่เที่ยง ถ้าตราบใดเราเห็นความไม่เที่ยงอยู่ไม่ต้องกลัวการติดสุขเลย แม้แต่สุขในฌาน พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ชัดเจนว่าเป็นความสุขที่ไม่น่ากลัวไม่ควรกลัว เป็นความสุขที่ควรทำให้เกิดขึ้น เพราะอะไร? เพราะสามารถที่จะเอามาใช้พิจารณาอนิจจังหรือความไม่เที่ยงได้ง่าย

ท่านเคยตรัสไว้ตอนที่พูดถึงเรื่องของอานาปานสติ แม้แต่คนที่ชอบมากๆเลยที่จะปฏิบัติธรรมแนวทุกข์ คือหมายความว่าชอบอสุภกรรมฐาน พระพุทธเจ้าท่านก็เคยตรัสไว้ว่าควรทำอานาปานสติให้มีความสุขเสียก่อนแล้วค่อยไปพิจารณาถึงอสุภะ ตรงนั้นมันจะได้ไม่เกิดความขยะแขยงมากเกินไป

ที่ท่านตรัสขึ้นมาก็เพราะว่าเคยมีเหตุภิกษุจำนวนมากพากันฆ่าตัวตาย หรือไม่ก็วานกันฆ่ากันเองเพราะว่าพิจารณาอสุภะแล้วรู้สึกทนไม่ไหว เนื่องจากพวกท่านในยุคนั้นท่านเอาจริงเอาจังกันมาก ท่านยอมตายถวายหัวเลยกับการปฏิบัติธรรม แล้วพอเหมือนกับปฏิบัติไปโดยที่ใจมีแต่ความทุกข์อย่างเดียวมันก็ทนไม่ไหว เหมือนกับคนที่ซึมเศร้า เหมือนกับคนที่หดหู่ มีแต่ความหดหู่อย่างเดียวไม่มีความสุขรองรับอยู่เลย พอพระพุทธเจ้าท่านรู้เข้าว่าพวกนี้ปฏิบัติกันโดยที่ไม่มาตามลำดับของสติปัฏฐาน ๔ ท่านก็ตรัสว่า ‘อานาปานสติ’ ควรทำก่อน ให้มีความสุขก่อน ให้มีหลักให้มีพื้นให้มีฐานที่ยืนที่มั่นคงเสียก่อน ให้มีความสุขที่จะมาเป็นตัวแบ่งเบาความทุกข์ แบ่งเบาพื้นที่ความทุกข์ให้ได้เสียก่อน แล้วจึงค่อยไปเจริญอสุภกรรมฐาน

อันนี้ก็เหมือนกัน การที่พระพุทธองค์ทรงมีประสงค์ให้เราทำอานาปานสติให้มีความสุขให้มีสติอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่เพื่อที่จะให้ความสุขนั้นมันอยู่ยั้งยั่งยืน แต่พระองค์สอนไว้ในอานาปานสติเลยว่าขอให้รู้ทุกลมหายใจเข้าออกเลยตอนนี้กำลังสุขมาก ตอนนี้กำลังมีปีติมาก ตอนนี้กำลังปราโมทย์ ตอนนี้กำลังมีลักษณะที่ดีๆอะไรต่างๆ แล้วก็พิจารณาด้วยถึงความไม่เที่ยงของความสุขที่เกิดขึ้น ของปีติ ของปราโมทย์ ของโสมนัสที่เกิดขึ้น ท่านตรัสไว้อย่างนี้กำกับไว้ทุกครั้งเลย

ไม่มีการปฏิบัติธรรมกรรมฐานแบบไหนที่พระองค์สอนสมถะอย่างเดียว พระองค์จะให้พิจารณาความไม่เที่ยงเสมอ และความไม่เที่ยงดูได้ง่ายๆ อย่างถ้ารู้สึกว่าโล่งๆก็ให้พิจารณาทิศทางที่มันเป็นตรงกันข้าม เมื่อไรที่เราเกิดความรู้สึกทึบๆขึ้นมาเราดูด้วยหรือเปล่า ถ้าหากว่าดูอยู่อันนี้มั่นใจได้เลยว่าเราไม่ได้ติดความโล่ง แต่ถ้าหากว่าพอเกิดความรู้สึกทึบๆขึ้นมาเราจะปฏิเสธ เราไม่เอาเลยจะเอาแต่ความโล่งๆ นี่แหละเป็นตัวพิสูจน์ว่าเราติดอยู่จริงๆ ติดสุขนะครับ



๖) คุณดังตฤณจะไปแจกลายเซ็นที่งานสัปดาห์หนังสือหรือเปล่า? จะมีผลงานใหม่ออกมาเร็วๆนี้หรือไม่?

ถึงตอนนี้ผมยังไม่มีงานออกใหม่มา เพราะฉะนั้นก็คงจะยังไม่ไป แล้วช่วงนี้กำลังปิดหนังสืออยู่ อันนี้บอกเลยก็แล้วกันว่าเป็นการเอาหนังสือเก่ามาขัดเกลาใหม่ เหมือนกับที่เมื่อตอน ๒-๓ ปีที่แล้วเคยเขียน ‘เสียดายคนตายไม่ได้อ่าน’ ขึ้นมาใหม่เลย จากเดิมเวอร์ชันหนึ่ง โครงสร้างยังเหมือนเดิม คำถามโจทย์ของชีวิตยังเหมือนเดิมว่าเกิดมาเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร ตายแล้วไปไหน หรือว่ายังอยู่แล้วควรทำอะไรดี โครงสร้างของคำถามยังเหมือนเดิมแต่ว่าเนื้อหาเปลี่ยนใหม่เกือบทุกบรรทัดนะครับ

ส่วนหนังสือเล่มใหม่ที่กำลังจะเอาเข้า 7-Eleven และ BookSmile ก็เป็น ‘มีชีวิตที่คิดไม่ถึง’ อันนี้เคยบอกไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว แล้วก็กำลังจะเข้าไปวางใน BookSmile ในเดือนพฤษภาคม ก็เปลี่ยนเยอะเหมือนกันแต่ไม่เท่ากับเปลี่ยน ‘เสียดายคนตายไม่ได้อ่าน’

คือมีการเปลี่ยนแปลงเสริมเติมตกแต่งทุกหน้าเพื่อให้ง่ายขึ้น มีความกระจ่างมากขึ้น แล้วก็เสริมเติมอะไรที่เห็นว่าขาดไป หรือไม่ก็แก้ไขข้อความอะไรที่ผิดพลาด คำที่ผิดพลาดต่างๆ คำที่ไม่ชัดเจน ประโยคที่ไม่เคลียร์ หรือว่าหลายคนมีข้อสงสัยมาก็จะทำตรงนั้น แล้วก็ราคา ๕๙ บาทเหมือนเดิมที่จะลงใน Book Smile ในช่วงเดือนพฤษภาคม เพราะฉะนั้นสรุปก็คือสำหรับคนที่ถามมาว่างานออกใหม่มีเล่มไหนบ้างหรือว่าจะไปงานหนังสือหรือเปล่า ก็ยังไม่มีนะครับ มีหนังสือใหม่อยู่เหมือนกันแต่คงต้องมีความชัดเจนแน่นอนนิดหนึ่งกว่าที่จะเอามาประกาศได้นะครับ



๗) เพื่อนอกหักแล้วหมกอยู่แต่หน้าคอมทุกวัน ไม่สนใจอะไร เขาไม่มีกะจิตกะใจจะทำอะไรเลย อยากช่วยเขาด้วยธรรมะ ควรเริ่มอย่างไรก่อน?

อาจจะคุยกับเขาว่า คนเราสิ่งที่กระตุ้นความสนใจให้มันฟื้นขึ้นมาจากสภาพอกหักได้ก็คือ การรู้สึกสังเวชในสภาพของตัวเองขึ้นมา ด้วยตัวเองนะไม่ใช่ด้วยการที่คนอื่นมาด่าว่า เราเริ่มพูดกับเขาอย่างไรก็ได้ทำให้ภาพที่น่าสลดสังเวชเข้าไปอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของเขาให้ได้ก่อน จะเป็นการพูดเช่นว่า รู้ตัวไหมว่าสภาพจิตใจแบบนี้ถ้าตายไปไม่ได้เป็นคู่บุญกับใครเขาหรอก ก็จะต้องอกหักอย่างนี้อีกนั่นแหละเพราะว่าก่อนตายไม่ได้ทำบุญไว้เลย ก่อนตายไม่ได้มีความสดชื่น ไม่ได้มีความผ่องใสของจิตใจอยู่บ้างเลย ถ้าหากพูดอะไรทำนองนี้ให้สามารถที่จะทำให้ภาพความน่าสลดสังเวชของสภาพปัจจุบันเขาเข้าไปอยู่ในความคิดเขาได้ อันนี้ก็จะเริ่มตื่นขึ้นมานิดๆ

จากนั้นถ้าหากว่าเขามองเห็นว่าที่ต้องมาอกหักก็เพราะว่าเคยมีความสุขจากการมีคนรัก เคยมีความสดชื่น เคยได้รับความสดชื่นมาจากคนรัก เคยได้รับพลังมาจากคนรัก แล้วตอนนี้ไม่มีก็เลยเกิดความห่อเหี่ยวหดหู่ขึ้นมา เราอาจชักชวนเขาว่าถ้าหากอยากได้ความสดชื่นหรือว่าอยากได้ความมีพลังอะไรแบบเดียวกัน แทนที่จะต้องไปหวังรอจากคนอื่นเราลองไปสร้างดูเองได้ไหม จะไปปล่อยนกปล่อยปลาก็ได้ จะไปเป็นอาสาของหมู่บ้านพัฒนา หรือว่าไปที่บ้านสงเคราะห์คนชรา หรือว่าเด็กอนาถาอะไรก็แล้วแต่นะ เอาความปราณีเอาความเมตตาไปแจกจ่ายดู เพื่อที่จะสร้างความสดชื่นในแบบเดียวที่เราเคยได้รับจากความรักนั่นแหละ แต่ครั้งนี้เป็นความรักที่บริสุทธิ์ เป็นความสดชื่นที่มีพลังซึ่งเราสร้างเองไม่ใช่รอเอาจากคนอื่น ถ้าหากว่าเราสามารถที่จะทำให้เขาเกิดกำลังใจหรือว่าเกิดความรู้สึกตาสว่างเห็นแล้วว่าจะมามัวนั่งจมอยู่กับที่ไปเพื่อประโยชน์อะไร นั่นแหละครับตรงนี้แหละที่มันจะช่วยได้



๘) นั่งสมาธิไม่ค่อยได้เลย ใจมันชอบเร่งไปหาสิ่งอื่นตลอดเวลา อาจจะเป็นธรรมชาติของใจที่ชอบเร่งอยู่แล้วด้วย นิ่งๆไม่ค่อยเป็นเลย ทำอย่างไรดี?

สำหรับคนที่รู้ตัวว่าใจไม่นิ่ง ใจกระโดดไปกระโดดมา ขอแนะนำว่าอย่าเพิ่งนั่งสมาธิ ให้ทำอะไรก่อนหน้านั้นเพื่อกล่อมเกลาหรือว่าจูน จิตให้ลงสู่สภาพพร้อมจะนิ่ง พร้อมจะสว่าง พร้อมจะเย็นเสียก่อน อย่างที่พี่เคยแนะนำน้องก็เคยปฏิบัติมาแล้วแต่มันอาจจะไม่ขึ้นใจ ในเรื่องของการสวดมนต์ ในเรื่องของการที่เราเปล่งเสียงบูชาพระรัตนตรัยเต็มปากเต็มคำ ‘อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา…’ ถ้าหากว่าเราสร้างนิสัย เพาะนิสัยขึ้นมาใหม่ มันจะขี้เกียจนิดหนึ่งตอนเริ่มต้น

ก่อนนั่งสมาธิสวดมนต์หลายๆรอบ ไม่ใช่รอบเดียวนะ สวดจนกว่าจะรู้สึกว่าใจของเราเห็นความไม่เที่ยงของจิต รอบนี้เกิดความรู้สึกว่าไม่นิ่งไม่สงบ มีความกระโดดไปกระโดดมา อีกรอบหนึ่งรอบต่อมามันเย็นลง มีความรู้สึกว่ากระโดดน้อยลง รอบต่อมามันเหมือนกับเป็นสมาธิเลย ยังไม่ทันนั่งสมาธิแค่สวดมนต์อย่างเดียว ใจผูกกับความสว่าง ใจผูกกับความศักดิ์สิทธิ์อย่างเดียว มันเกิดความรู้สึกสงบเย็นขึ้นมาได้แล้ว ตรงนี้นะถ้าหากว่าเห็นความไม่เที่ยงได้ รู้สึกถึงอาการทางใจที่มันแปรไปในแต่ละรอบของการสวดมนต์ได้ ตัวนี้แหละสติเราเริ่มเกิดแล้วนะ ปัญญาเราเริ่มเกิดแล้วด้วย

สติกับปัญญามีผลสำคัญมาก ถ้าหากว่าจิตเริ่มต้นด้วยความมีสติความมีปัญญาและความเยือกเย็นได้ แล้วเราไปทำใจให้อยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งเดียว อย่างเช่นลมหายใจเข้า ลมหายใจออก จะรู้สึกเลยว่าใจเย็นพอที่จะทำได้จริง

ถ้าหากว่าทำจนคุ้น ปฏิบัติเป็นนิสัย ทำทุกครั้งก่อนนั่งสมาธิเราสวดมนต์หลายๆรอบ แล้วก็สังเกตจิตตัวเองในแต่ละรอบไปด้วยว่ารอบนี้มันนิ่งหรือว่ามีความสั่นไหว รอบนี้มันฟุ้งซ่านกระจัดกระจายหรือว่ามันมีความรู้สึกสงบเย็น คิดถึงเรื่องเดียวคิดถึงการสวดอย่างเดียว ตัวสตินี้แหละ ตัวความเย็นอันเกิดจากการสวดมนต์นี่แหละจะไปส่งเสริมสร้างนิสัยทางสมาธิขึ้นมา เราจะมีความรู้สึกว่าการกระโดดไปกระโดดมาเป็นเรื่องประเดี๋ยวประด๋าว เป็นเรื่องเกิดขึ้นชั่วครู่ เป็นภาวะชั่วคราว ไม่ใช่ภาวะที่จะต้องเป็นตัวแทนของเราตลอดไป

สังเกตนะพอเราฟุ้งซ่านจัดๆ มีความรู้สึกกระโดดไปกระโดดมาเนื่องจากเราตามใจตัวเองมามากที่จะให้จิตมันเป็นแบบนั้น เวลาเกิดภาวะดังกล่าวมันมีความรู้สึกเป็นตัวของเรามากเลย มันใช่มากเลยนี่แหละตัวของเราแน่ๆ แต่ถ้าเมื่อไรเราไปใช้วิธีอย่างที่พี่ว่า สวดมนต์แล้วสังเกตเอาแต่ละรอบอาการของจิตมันต่างไป สภาวะของใจมันไม่เหมือนเดิม มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตัวนี้จะทำให้ความยึดติดหลงเข้าใจว่าสภาพจิตฟุ้งซ่าน สภาพจิตซัดส่ายเป็นตัวเรา มันใช่ตัวเรา มันค่อยๆเลือนหายไป จะค่อยๆกลายเป็นความรู้สึกว่าสภาวะฟุ้งซ่านเป็นแค่ภาวะชั่วคราว จรมาแล้วจรไป

ซึ่งคงไม่ใช่ว่าทำกันวันสองวันแล้วจะได้ผล จะต้องทำกันเป็นเดือนๆ ทำกันเป็นปีๆ ขอให้คิดว่าจริงๆแล้วระหว่างนั้นก็มีความสุขอยู่แล้ว ก่อนจะเดินทางไปถึงบรมสุขอันเป็นเป้าหมายใหญ่ เราก็มีความสุขในการเดินทางเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่แล้ว ชีวิตของเราทั้งชีวิตไม่มีใครที่จะเปลี่ยนได้ภายในวันสองวัน อันนั้นก็เหมือนกัน การที่เราจะเป็นคนต่างจากเดิมที่เคยฟุ้งซ่าน เป็นคนมีสมาธิได้ มันไม่ใช่ด้วยการใช้ความพยายามเล็กน้อยแน่นอน มันต้องใช้ความต่อเนื่องและความพยายามที่จะมากได้มันต้องมีฉันทะ มันต้องมีความปลื้มใจในตัวเอง มันต้องมีความหวังรำไรว่ามันได้แน่

ก็ใช้วิธีนี้วิธีที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้นั่นแหละ ให้ดูความไม่เที่ยงของสภาวะทางใจ ถ้าเราเห็นความไม่เที่ยงได้มันจะเริ่มมีกำลังใจขึ้นมา ไม่ใช่แค่ความสุขอันเกิดจากการสวดมนต์หรือว่าการนั่งสมาธินะ แต่เป็นความสุขอันเกิดจากการรู้สึกมั่นใจในตัวเองว่าเราก็สามารถเห็นอนิจจังได้กับเขาเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเราจะต้องมีปัญญาสูงส่ง เราจะต้องมีไอคิวทางธรรมที่สูงกว่านี้ขึ้นไปมากๆ แต่เราเป็นของเราอย่างนี้แหละ เอาตัวที่มันกำลังฟุ้งซ่านมันกำลังกระโดดบ่อยๆแบบนี้เอามาใช้ดูความไม่เที่ยง

แต่แน่นอนครับ คือถ้าดูระหว่างวันมันดูไม่ออกหรอกนะ เพราะความฟุ้งซ่านมันกระจายมากเกินไปแล้วก็ไม่มีฐาน ไม่มีจุดสังเกต ไม่มีจุดที่เทียบวัดที่จะเอามาเป็นความแตกต่างของความฟุ้งซ่าน แต่ถ้าหากว่าเราใช้การสวดมนต์ อาศัยการสวดมนต์เป็นเครื่องเปรียบเทียบว่าตอนสวดมนต์ดีๆแล้วเกิดความรู้สึกใจเย็น เกิดความรู้สึกว่าสว่าง เกิดความรู้สึกว่าโปร่งโล่ง คลื่นความฟุ้งซ่านมันลดระดับลง อย่างนี้มีความหวังแน่นอน มันมีความรู้สึกเลยว่าเราก็สามารถทำได้ ไม่ใช่ว่าต้องมีความสามารถอะไรที่มีพรสวรรค์ มีความเก่งกาจแบบคนที่เขาไปนั่งในถ้ำกันได้เป็นชั่วโมงๆอะไรแบบนั้น

จริงๆแล้วอยากจะบอกกับทุกคนเลยว่า การทำสมาธิไม่ใช่เรื่องของคนเก่ง ไม่ใช่เรื่องของคนมีพรสวรรค์มาแต่เกิดตรงข้าม หลายคนเลยที่มีพรสวรรค์มาแต่เกิด นั่งสมาธิเก่งตั้งแต่เด็กๆประมาทชะล่ากัน นึกว่าไม่ต้องทำอะไรแล้ว นึกว่าตัวเองเกิดมาก็มีดี ไม่เห็นต้องไปพยายามอะไรก็มีสมาธิ หลายคนเลยที่ไปติดกับ ไปหลงเข้าใจผิดๆไม่ไปพัฒนาให้มันดีขึ้น กลายเป็นว่ายิ่งโตขึ้นจิตใจยิ่งตกต่ำลง จิตใจยิ่งมืดมนลงแล้วก็เห็นผิดเป็นชอบมากขึ้นทุกที จนกระทั่งซัดส่ายกระจัดกระจาย

บางคนผมเคยเห็นตอนเด็กๆ นิ่งมากเลย นิ่งอย่างน่าเลื่อมใสทีเดียว มีพลังอย่างใหญ่ แต่พอโตขึ้นมาด้วยความทะนงหลงตัว ก็ไปปรามาสคนโน้นคนนี้ ไปปรามาสบุคคลศักดิ์สิทธิ์ บางทีก็ไปบอกว่ารู้สึกกับพระพุทธเจ้าเหมือนเพื่อน เหมือนกับเขาเคยเป็นเพื่อนกันมาแล้วยังเป็นเพื่อนกันอยู่อะไรทำนองนั้น สุดท้ายก็ชีวิตพังพินาศ จิตใจแตกซ่านกระจัดกระจายไป อันนี้ก็เป็นอุทาหรณ์สอนใจก็แล้วกัน คนเราจะมีสมาธิได้ต้องมีสติและปัญญาประกอบด้วย แล้วก็สร้างกันได้ทำกันได้ในทุกระดับที่กำลังเป็นอยู่จริงๆเราอยู่ตรงไหนก็เริ่มจากตรงนั้นแหละ


เอาละครับวันนี้เหลืออีกประมาณ ๑๕ วินาที ก็ขอล่ำลากันไปตรงนี้ครับ ราตรีสวัสดิ์ครับ ขอให้เจริญในธรรมทุกท่านครับ


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น