สวัสดีครับ วันนี้วันจันทร์ที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง เพื่อที่จะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการ ก็ให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/HowfarBooks นะครับ
๑) สงสัยเรื่องการพูดเพ้อเจ้อค่ะ ว่าหมายถึงการพูดลักษณะใด? การพูดเล่นๆแต่ไม่ใช่ความจริง การพูดหยอกเย้ากันไปมาในหมู่เพื่อน ในสังคมการทำงาน เรียกว่าเพ้อเจ้อด้วยใช่ไหม?
คำว่าเพ้อเจ้อนี่ ขอให้รู้กันที่จิตง่ายๆเลยนะ จิตมีความฟุ้งซ่านชนิดที่มันเลื่อนลอย แตกซ่าน จับไม่ติดเลยหรือเปล่า ดูง่ายๆตรงนี้ก่อน ถ้าพูดอะไรแล้วมีความรู้สึกว่าใจนี่มันเพ้อเจ้อ มันเลื่อนลอย มันฟุ้งซ่านจับไม่ติดเลย อันนั้นแหละ เข้าขั้นเพ้อเจ้อแล้ว พูดไปเนี่ยมันวัดได้เลย วัดกันที่จิต
พอพูดเล่น พูดเล่นพูดหัว พูดคำไม่จริงน่ะ ยังไม่ใช่มุสาเสียทันที ยังไม่ใช่เพ้อเจ้อเสียทันทีนะ ต้องดูด้วยว่าเจตนาเป็นไปเพื่อที่จะบิดเบือนความจริง ต้องการให้คนอื่นเข้าใจไปแบบนั้นจริงๆ หรือว่าเป็นเพียงการพูดเพื่อที่จะหัวเราะเล่นสนุกกัน การที่เราพูดเล่นกับเพื่อนแล้วใจยังมีสติอยู่ได้ แล้วใจยังมีความรู้สึกว่า ตัวเองรู้ตัวว่ากำลังพูดอะไรออกไป กำลังทำอะไรลงไป อย่างนี้ยังไม่เข้าขั้นเพ้อเจ้อ แต่พวกที่เพ้อเจ้อถึงขั้นที่ผิดศีลนะ คือเพ้อเจ้อประมาณว่าเดี๋ยวพรุ่งนี้โลกจะแตก เดี๋ยวเขื่อนจะพัง มีน้ำทะลักอะไรออกมาแบบ คือพูดไม่ได้มีมูลความจริง แล้วตัวเองก็รู้ว่านั่นไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นจริงๆ ด้วยตัวเองไม่มีพื้นฐานข้อมูลอะไรทั้งสิ้น แต่ตั้งใจกุข่าวให้ชาวบ้านเชื่อตามนั้น อันนี้เรียกเพ้อเจ้อแล้ว เพ้อเจ้อเต็มขั้นเลย เพ้อเจ้อในแบบที่ว่า เหมือนกับเด็กเลี้ยงแกะ ไม่ได้มีเจตนาร้ายอะไรหรอก แต่เอาสนุกนะ เอาความตื่นตูมของชาวบ้าน เอาความมีจิตวิตกเกิดอาการนอนไม่หลับ กินไม่ได้ขึ้นมานี่จะชอบ จะสนุก
คิดง่ายๆก็แล้วกัน แบบเด็กเลี้ยงแกะนี่นะ ไม่ใช่โกหกอย่างเดียวแต่ยังมีอาการเลื่อนเปื้อน มีอาการที่ทำให้จิตใจของตนเองนี่มันมีอาการสนุกแบบสนุกยังไงล่ะ คือ เป็นความเมามัน เป็นเหมือนกับอาการช้างตกมัน แบบนั้น ถ้าหากว่าสำรวจตัวเองแล้วนะว่า จิตใจหลังการพูดมีความฟุ้งซ่านจัด ให้สันนิษฐานว่า นั่นน่ะ น่าจะเป็นการเพ้อเจ้อนะครับ
๒) การไม่พูดเท็จ ไม่พูดหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ ถ้าจะนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้เข้ากับสังคมการทำงานทุกวันนี้ด้วย มีข้อแนะนำอย่างไรบ้าง?
คือผมก็เห็นใจนะ ว่า หลายๆคนบอกว่า ศีลข้อที่รักษาไม่ได้ ก็คือเรื่องการพูดเท็จ เพราะบางทีโดนเจ้านายบังคับให้พูด บางทีโดยอาชีพของตัวเอง โดยวิธีการทำงานของตัวเอง ขืนไม่พูดเท็จ ขืนไม่พูดบิดเบือนความจริง ก็คงจะตกงานกันพอดี หรือว่าไม่ได้งานกันพอดี ไม่ได้ขายกันพอดี อะไรประมาณนั้น ก็แล้วแต่อาชีพ ก็แล้วแต่ว่า หน้าที่การปฏิบัติงานของเรา มันจะต้องเน้นในเรื่องสร้างภาพแค่ไหน หรือสร้างความเข้าใจในทางที่ก่อให้เกิดความนิยมในตัวสินค้า หรือว่าภาพลักษณ์ของตัวเองอะไรแบบนั้นนะ นี่มันสังคม คือพัฒนามาถึงจุดที่ว่า ไม่โกหกไม่ได้ แบบนี้นี่ ก็คงจะไม่รู้ไปว่าใครนะ มันเป็นสิ่งที่เป็นมรดก มรดกมืดที่ตกทอดกันมา จากรุ่นสู่รุ่นนะครับ
ก็เอาเป็นว่าถ้าจะต้องโกหก เรารู้ตัวก็แล้วกันว่า การที่บิดเบือนความจริงครั้งนี้ แต่ละครั้งนี่ ดูใจตัวเองว่ามีความสะใจไหม มันมีความชอบใจ มันมีความอยากจะให้คนอื่นเขาเข้าใจผิดแบบนั้นไหม ถ้าหากว่ามันมีเต็มๆ นั่นก็คือบาปเต็มๆ แต่ถ้าหากว่ามันมีความรู้สึกยั้งๆ มันมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีอยู่ มันไม่อยากทำเลย ไม่อยากพูดแบบนี้ แต่มันต้องพูด มันต้องแสดงละคร ถ้าคิดว่าเรากำลังแสดงละครด้วยความฝืนใจอยู่อย่างนั้นมันก็ไม่เต็มกรรมเท่าไหร่ บาปมันก็ไม่เต็มกรรมเท่าไหร่ มันก็ได้ ยังไงการโกหกก็ต้องเป็นการโกหกอยู่วันยังค่ำ จะมาอ้างว่าจำเป็นแค่ไหนก็ตามนะครับ จิตมันก็รู้อยู่ มันตั้งต้นด้วยการรับรู้ว่า นี่ไม่ใช่เรื่องจริง แล้วเราก็พูดออกไปในทางที่มันจะเป็นประโยชน์กับตัวเองและบริษัท หรือว่ากับพรรคพวกเรา
เราดูใจตัวเองว่า เออ มันไม่ได้มีความสะใจ ไม่ได้มีความยินดี แค่นี้ถือว่าใช้ได้แล้ว พอใช้ได้แล้วนะ อย่างน้อยที่สุดเวลาที่ผลของกรรมจะให้ผลกับเรานี่ มันก็ไม่เต็มที่เท่าไหร่ ยกตัวอย่างเช่น แทนที่จะโดนใส่ไคล้ เพราะผลของการโกหก นี่ก็คือการโดนใส่ไคล้ การถูกเข้าใจผิด หรือว่าไปเกิดในตระกูลที่ไม่ตรงไปตรงมาอะไรแบบนั้น มันก็จะไม่ถึงขั้นที่ว่า วันๆโดนหลอกทั้งปีทั้งชาติ นานๆโดนหลอกที ห้าสิบห้าสิบ โดนหลอกบ้าง ได้รับความจริงบ้างอะไรแบบนั้น เหมือนกับที่เรากำลังประสบอยู่กันทุกเมื่อเชื่อวันนั่นแหละ ประมาณนั้น มันไม่ได้โดนเต็มๆ
แต่ถ้าหากว่า โกหกเป็นไฟ โกหกแบบตาไม่กระพริบนะ โกหกแบบที่รู้สึกภูมิใจว่า นี่ ฉันเก่งที่หลอกคนอื่นได้ แบบนี้ก็ไปเต็มๆเหมือนกัน เพราะว่าพระพุทธเจ้าก็ตรัสเปรียบไว้นะ คนที่ทำบาป โดยที่ไม่รู้ว่านั่นคือบาป ไม่มีอาการยั้งเลย ก็เปรียบเหมือนกับเด็กที่เห็นถ่านไฟแดงๆแล้วไม่รู้ว่านั่นมันร้อน ก็เลยคว้ามาจับเต็มกำเลย ผลก็คือมือไม้ก็พังพินาศกันไป แตกต่างจากคนที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว รู้ว่านั่นคือถ่านแดงๆ นี่มีความร้อนนะ ถ้าหากถูกบังคับให้จับ ก็จับแบบหย่งๆ จับแบบหลวมๆ มันก็มีพื้นที่ความเสียหายของมือไม้น้อยลง นี่ก็เป็นการเปรียบเทียบที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้นะครับ คือ ‘ถ้าจำเป็นต้องทำบาป ดูใจตัวเองก็แล้วกัน ว่า มันมีอาการยั้งไหม มันมีความรู้สึกผิดไหม มันมีความสำนึกได้ไหม’
สิ่งเหล่านี้นี่ มันจะเป็นตัวบอกนะ มันจะเป็นเครื่องชี้วัดว่าเรายังมีมนุษยธรรมอยู่ คือมีธรรมะของความเป็นมนุษย์อยู่ แต่เมื่อใดก็ตามที่เราทำผิดศีลได้ โดยไม่เกิดความรู้สึกละอายเลย เห็นเป็นของสนุก เห็นเป็นของโก้เก๋ เห็นเป็นของที่ทำแล้วมันเท่ห์ดี ที่แสดงละครได้แนบเนียน หรือว่าเป็นอะไรที่คนอื่นเขาจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน แบบนี้เรียกว่าเต็มกรรมเลย มโนธรรมหรือว่าความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในแบบที่จะได้เป็นมนุษย์อีกมันก็หายไป มันก็เลือนไปนะครับ ดูกันที่ใจก็แล้วกัน
๓) ศีลบริสุทธิ์ของพระโสดาบันเป็นอย่างไรคะ? เคยอ่านเจอคำอธิบายศีลแต่ละข้อ พอมานั่งคิดตามแล้วยังไม่เข้าใจ ว่าจริงๆต้องละเว้นอย่างละเอียด ประณีต ซับซ้อนแค่ไหน ถึงจะเรียกว่าบริบูรณ์?
ศีลที่ต้องตั้งใจรักษานี่นะ เรียกว่า เป็นการสำรวมกาย สำรวมวาจา คือใจจะคิดยังไงก็ได้ ขออย่างเดียวอย่าให้มันแลบออกมาทางกาย และทางวาจาก็แล้วกัน อย่างนั้นเขาเรียกว่า เป็นผู้มีความตั้งใจสมาทานศีล คือตั้งใจปฏิบัติที่จะงดเว้นการละเมิดศีลทั้งห้าข้ออย่างเด็ดขาด ถาวร นี่เรียกว่า รักษาศีล แต่ถ้าหากว่าเป็นผู้ทรงศีล คือไม่ต้องเป็นพระโสดาบันหรอก เอาเป็นว่าถ้าเป็นผู้ทรงศีลจริงนี่นะ มันจะไม่อยากเอาออกมาจากความคิดเลย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากว่าเดิมทียังเป็นปุถุชนคนธรรมดาที่ใช้ชีวิตแบบไม่ได้มีใครมาบังคับให้ ไม่ได้มีใครมากะเกณฑ์ว่า ควรจะรักษาศีลอย่างนั้น ควรจะไม่ทำผิดอย่างนี้นะ ก็จะมีแค่ ‘มนุษยธรรม’ ธรรมะของความเป็นมนุษย์เป็นเครื่องกั้น ว่าไอ้นั่นควรหรือไม่ควร นี่ลูกเขาเมียใคร เขามีเจ้าของอยู่ เราควรจะไปมีอะไรด้วยไหม หรือว่า เห็นเป็นมนุษย์นี่นะ แต่มาทำให้เราเจ็บใจ เราควรจะไปฆ่าไหม หรือว่านี่ของของใคร ทรัพย์ของใคร เห็นแล้ว แหม มันยั่วตายั่วใจเหลือเกิน อยากจะไปเอามาเป็นของตน มันก็มีมนุษยธรรมมาเป็นเครื่องกั้นว่า อย่าไปเอา เป็นของเขา นี่ แต่ไม่แน่ แต่ถ้าหากว่าเกิดความอยากขึ้นมาอย่างแรงๆก็อาจจะไปฆ่าใครก็ได้ อาจจะไปขโมยของใครก็ได้ อาจจะไปผิดลูกผิดเมียใครก็ได้ นี่เรียกว่าเป็นความไม่แน่นอนแบบกิเลสของมนุษย์
แต่ถ้าหากว่า คนที่รักษาศีล ตั้งใจงดเว้นอย่างเด็ดขาดนี่ ถึงแม้ว่า อยากฆ่าแค่ไหน มีโอกาสฆ่าแล้ว ได้พลิกฝ่ามือเลย ก็ไม่ฆ่า เพราะว่าตั้งใจไว้แล้วว่าจะไม่ฆ่า หรือของจะยั่วยวนตายั่วยวนใจขนาดไหน มีสิทธิ์ที่จะเอามาได้ สามารถที่จะลักเอามาโดยเจ้าของไม่รู้ตัว แต่ก็ ตัดสินใจว่าไม่เอา เพราะว่าตั้งใจไว้ล่วงหน้าแล้ว สมาทานศีลไว้แล้วว่า จะไม่เอา นี่ อย่างนี้เรียกว่าเป็น ‘ผู้รักษาศีล’
แต่ถ้าหากเป็น ‘ผู้ทรงศีล’ อย่างแท้จริงนะ คือ ผู้ที่มีศีลนี่กำกับใจอย่างชนิดที่เรียกว่า ติดแนบแน่นเป็นหนึ่งเดียว เป็นอันเดียว เป็นธรรมะอันเดียวกับจิตใจแล้ว แม้แต่กระทั่งความอยากจะฆ่า หรือ ความอยากจะขโมย หรือความอยากจะไปผิดลูกผิดเมียใครเขา ก็จะไม่เกิดขึ้น คืออยู่ๆจะมายั่วยุกันง่ายๆว่า จงไปทำผิดศีลนะ มันปุถุชนคนธรรมดานี่อาจจะโดนยุกันได้ ยุขึ้น แต่คนที่ทรงศีลแล้วนี่ ยังไง ยุยังไงก็ยุไม่ขึ้น นี่คือความแตกต่างนะ เอาเป็นว่าพระโสดาบันก็ได้ชื่อว่า เป็นผู้ทรงศีล เพราะฉะนั้น ก็เรียกว่า อย่าว่าแต่จะต้องมาห้ามใจ ว่าไม่อยากจะทำนะ แต่ใจนี่ไม่คิดจะทำเลย ผู้ที่เป็นปุถุชน รักษาศีลได้บริสุทธิ์ ไม่ต้องรักษาใจ รักษาแค่กายกับวาจา แต่ถ้าเป็นผู้ที่ทรงศีล มีศีลบริสุทธิ์ บริบูรณ์แล้ว แม้กระทั่งใจก็เรียกว่าไม่ต้องรักษากันละ คือไว้ใจตัวเองได้แล้วว่ายังไงๆไม่เอาแน่เรื่องของการผิดศีล
๔) หนูเคยถามเรื่องลางสังหรณ์ที่มีค่ะ พี่ดังตฤณก็เคยแนะนำให้หนูใช้สิ่งนี้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อให้คนรอบตัวเราเชื่อ และตั้งมั่นในศีลทั้งห้าแล้วก็ภาวนาเจริญสติ หนูก็ได้ทำมาตลอดค่ะ แต่หนูจะเลือกบอกกับคนที่เขาได้เล่าความทุกข์ที่หาทางออกไม่เจอกับหนู มันทำให้เขารับรู้ได้ด้วยตัวเองว่า ‘ทุกข์และสุขเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป’ ข้อสองคือ หนูตั้งมั่นที่จะถือศีลห้ามาแปดปีแล้ว และมารู้จักการภาวนาเจริญสติจากสิ่งที่พี่สอน รู้สึกว่ามันทำให้จิตของหนูเย็นขึ้น คนที่เลือกมาปรึกษาปัญหากับหนู เขาบอกว่าเขาเห็นความสุขออกจากตัวเรา คำถามคือ หนูทำบาปไม่ได้เลยค่ะ ขนาดเล็กๆน้อยๆ เช่นการพูดกระทบ คือมีการพูดกระทบกระทั่งจิตใจคนนี่ ถ้าหนูทำวันนี้ พรุ่งนี้เจอในลักษณะเดียวกัน แต่ทวีคูณ เกิดบ่อย เป็นเพราะอะไร?
อันนี้ก็เป็นประสบการณ์ที่เล่าสู่กันฟังมาในแวดวงของผู้ที่อยากจะทวนกระแส ให้เป็นไปในทางสวรรค์ เป็นไปในทางนิพพาน ทวนกระแสโลก จากเดิมที่เขาจะซัดเราลงต่ำนี่ พยายามขึ้นที่สูง แล้วก็มีความมุมานะ มีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะยอมตาย ดีกว่าศีลขาดไปแม้แต่ข้อเดียว นอกจากนั้นก็มีการไปพยายามเจริญสติ มีการพยายามที่จะได้เผื่อแผ่ธรรมะของพระพุทธเจ้าให้กับคนทั่วๆไปได้รับรู้ตามนะครับ ตามหน้าที่อันพึงมีพึงชอบของศาสนิกชนที่ได้ประโยชน์จากพระพุทธเจ้า ก็อยากจะช่วยกันสืบสานธรรมะของพระพุทธเจ้าให้กระจายกว้างออกไป ยืดยาวออกไป อันนี้ผลที่ได้รับนอกจากจะเป็นความสุขความเย็น ที่เกิดขึ้นกับจิตใจแล้ว ก็ยังมีเรื่องของกรอบนะ อันนี้เจอกันเยอะจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแรกๆ ถ้าขืนทำผิดทั้งรู้ว่านั่นเป็นเรื่องไม่ดีนะ นั่นเป็นเรื่องไม่ควร แม้แต่อะไรที่มันเป็นการผิดกฎจราจรเล็กๆน้อยๆ ทำไปแล้ว คนอื่นเขาไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น แต่คนที่พยายามจะทวนกระแสกันนี่ มันเหมือนเห็นผลทันตา กรรมติดจรวด บางคนนี่ไม่ใช่แค่ข้ามวัน ข้ามคืนนะ เห็นเลยภายในห้านาทีนั้น เพราะว่าถ้าไม่เห็นเลยนี่บางทีไม่เชื่อว่าผลกรรมมันมีจริง
คนทั่วไปเขาไม่ได้ตั้งใจรักษาศีล เขาปล่อย ธรรมชาติก็ปล่อยตามอิสระเลยนะ คือจะมีล็อกของคิวกรรมที่ค่อนข้างจะชัดเจนว่า กรรมเก่านี่วางแผนเอาไว้ให้เจออะไรบ้าง ทำอย่างไรบ้าง และจะตอบโต้อย่างไรกับกรรมนั้นก็สุดแท้แต่ตามใจชอบเลย แล้วผลนี่ก็จะมาช้า เหมือนกับธรรมชาตินี่เขาใจร้ายนะ เขาปิดบังอยู่ เขาไม่ได้อยากให้เราเชื่อเรื่องกฎของกรรมนะ ตรงข้ามเลยนะ เขาพยายามปิดเต็มที่เลย บางทีกว่าผลของกรรมอย่างหนึ่งๆจะออกมา กว่าจะโดนเช็คบิลนี่ ต้องข้ามชาติกันไปเสียก่อน ลืมไปแล้วว่าเคยทำอะไรมา หรือไม่ก็ นานกันเป็นสิบๆปี ถ้าเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม บางทีนี่ก็รอกันเป็นสิบปี กว่าจะเห็นภายในชาตินี้ ว่าที่ทำไปนี่มันได้ผลอย่างไรนะ
แต่สำหรับคนที่ทวนกระแสและมีความตั้งมั่นอยู่ในเส้นทางแล้ว ธรรมชาติจะใจดีเป็นพิเศษ คือให้บทลงโทษมาทันตาเห็น ให้แสดงเห็น แสดงให้เห็นชัดๆเลยว่าผลของกรรมมีจริงนะ มันจะมาในรูปของว่า ทำอะไรผิดไป มันเด้งกลับมาทันที นี่ต้องอยู่บนเส้นทางที่ค่อนข้างแน่วแน่แล้วพอสมควร ถึงจะเกิดประสบการณ์ทำนองนี้ แล้วก็เป็นเรื่องที่เล่ากันมาช้านานแล้วล่ะ เป็นร้อยๆเป็นพันๆปีแล้ว แต่เนื่องจากไม่ได้เล่ากันโดยทั่วๆไป นานๆทีถึงจะมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้น ก็เลยไม่เป็นที่รับรู้ว่า ผลของกรรมเขาก็มีแบบติดจรวดให้เห็นทันตาทันใจ เพื่อให้เกิดความเชื่อ เพื่อให้เกิดความสังวรระวังในครั้งต่อๆไป
อันนี้ก็คือ มองเป็นข้อดีไปก็แล้วกันว่า คนอื่นเขาไม่สามารถได้รับความกรุณาปรานีจากธรรมชาติ ธรรมชาติเขาปิด เขาซ่อนเต็มที่เลย ผ่านคิวกรรมนี่ต้องใช้เวลากันเป็นสิบๆปี หรือว่าใช้กันเป็นชาติๆ แต่ของเรานี่ แค่ไม่กี่นาที หรือแค่ไม่กี่ชั่วโมงได้เห็นเลย ให้ดีใจเถอะ เพราะถ้าไม่เจอกับตัวเองจะไม่เชื่อ และพอเชื่อแล้ว มันจะไม่คิดเป็นอื่น นอกจากว่า เออยอมตาย ไม่เป็นไร ขอให้ได้รักษาศีลก็แล้วกัน ถ้ารักษาศีลนี่ ยังไงๆได้ไปดีแน่ ได้ดีขึ้นกว่านี้แน่ และคนที่รักษาศีลได้สะอาดบริสุทธิ์นะ จะเจออุปสรรคน้อยลงเรื่อยๆ จะเจอเครื่องรบกวนน้อยลงเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงชีวิตหรือว่าการที่มาโดนใครเบียดเบียน โดนสัตว์ตัวไหนเบียดเบียน จะมีฐานะความเป็นอยู่ที่ไม่ต้องเข้าไปคลุกคลีกับพวกสัตว์ร้ายๆอะไรที่มันมาทำให้เกิดความรำคาญ หรือเกิดความเจ็บไข้ได้ป่วย หรือว่าจะต้องมาให้เราต้องตัดสินใจจะฆ่าดี หรือไม่ฆ่าดีนะ พวกยุง พวกมด พวกแมลงต่างๆทั้งหลาย เราจะรู้สึกว่าชีวิตของเราอยู่ในวงโคจรที่ห่างจากมันออกไปนะครับ
๕) รบกวนช่วยอธิบายสภาวะของจิตตั้งมั่นหน่อยครับ ถ้าเห็นความคิดผุดขึ้นมาเรื่อยๆ คิดไปโน่นไปนี่ แต่ยังรับรู้ได้ว่าจิตคิด และยังกระเพื่อมตามความคิดไปบ้าง สลับกับรับรู้แล้วเฉยๆ เหมือนกับเห็นจิตมันคิดได้เองบ้าง อย่างนี้ถือว่าจิตตั้งมั่นไหมครับ?
จิตตั้งมั่นนะ คิดง่ายๆนะ ก็คือว่า อยู่ในความรับรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยไม่เคลื่อน ขอให้มองเป็นวัตถุก่อนก็แล้วกัน ถ้าหากว่าเราตั้งวัตถุสักชิ้นหนึ่ง เอาวัตถุทรงกลมก่อนก็แล้วกัน วัตถุทรงกลมนี่มีธรรมชาติที่อะไร มีแรงใส่เข้าไปนิดเดียวนี่มันกลิ้งทันที ไม่ว่าจะตั้งอยู่บนพื้นราบหรือพื้นเอียง มันมีธรรมชาติที่คอยจะกลิ้งไปเรื่อย นั่นคือจิตของปุถุชนธรรมดา ที่ยังไม่ได้ฝึก ที่ยังไม่ได้ตั้งจิตให้อยู่ในความเป็นกุศล ไม่ได้ตั้งจิตให้อยู่ในความเป็นสมาธิ พร้อมจะกลิ้ง แต่จิตของคนที่มีความตั้งมั่นแล้ว ขอเปรียบเหมือนกับลูกบาศก์สี่เหลี่ยม ที่มีบาลานซ์ดีมากนะฮะ ทุกด้านเท่ากันหมด มีความแข็งแรงและผิวเรียบ ถ้าหากตั้งอยู่บนพื้นแล้ว ก็ตั้งอยู่สนิทนิ่ง ไม่ไปไหน ใครจะมาออกแรงเข็นนี่นะ ก็เข็นไปได้นิดเดียวแต่ว่ายังตั้งอยู่ที่เดิม อยู่ในมุมเดิม ต่างจากทรงกลมนี่ วัตถุทรงกลมนี่นะ พอกลิ้งไปนิดเดียวมันเปลี่ยน มันเปลี่ยนมุมแล้ว มันหันด้านอื่นออกมาแล้ว
ถ้าหากว่าพิจารณาโดยการเปรียบเทียบอย่างนี้นะ ว่าจิตตั้งมั่นเหมือนกับเป็นลูกบาศก์สี่เหลี่ยมที่ตั้งอยู่บนพื้นได้นิ่งๆนะ เราก็มองได้ว่ามีความเคลื่อนไหวได้ยาก ตั้งอยู่อย่างไร ก็ตั้งอยู่อย่างนั้นนะ แล้วก็มีอาการที่อยู่หน้าเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง จิตก็เหมือนกัน จิตที่ตั้งมั่นแล้วนี่ไม่ใช่ว่าอยู่ในอาการแช่แข็งนะ คนที่เพิ่งเริ่มฝึกจิตใหม่ๆจะเข้าใจเหมือนกันหมดเลยว่า จิตที่ตั้งมั่น หรือว่าจิตที่มีสติ หมายถึงจิตที่เกร็ง จิตที่มีความเพ่งอยู่ โดนบล็อกอยู่ แช่แข็งอยู่ แล้วสามารถตั้งอยู่ในอาการแบบนั้นได้
จริงๆไม่ใช่นะ แต่ท่านจะมุ่งเอาจิตที่มีความสามารถในการรับรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น ที่บอกว่า ถึงแม้กำลังคิดอยู่ แต่มันมีจิตตัวหนึ่ง มีสภาพหนึ่งของจิตที่รับรู้อยู่ เออ มีอาการคิดไปโน่น ไปนี่ รู้แล้วก็เฉยๆ เห็นจิตมันคิดของมันเอง นี่ความรู้สึกที่ว่าจิตมันคิดของมันเองตัวนี้นี่นะ สะท้อนให้เห็นว่ามีสติอยู่แบบหนึ่ง มีการรับรู้อยู่แบบหนึ่งขึ้นมา ถ้าหากว่าจิตที่มีอาการรับรู้แบบนี้เกิดขึ้น เราสามารถรู้จักความคิดว่า นี่ ขณะนี้มันเกิด แล้วขณะนี้มันดับไป มันหายไป โดยที่การรับรู้มันยังคงเดิม นั่นเรียกว่าเป็นความตั้งมั่นในการรับรู้ความคิด เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
เอาง่ายๆนะ อธิบายง่ายๆอย่างนี้ก็แล้วกัน สมมติว่า เรายืนอยู่ในที่โล่ง เรามองเห็นแล้วว่า มีฝุ่นทรายมันปลิวมาแต่ไกลเลย แล้วพอมันปลิวผ่านหน้าเราไป หายไป เราก็ยังสามารถเห็นที่โล่งได้เหมือนเดิม พูดง่ายๆว่าเราเห็นที่โล่งอยู่นะ ก่อนที่ฝุ่นทรายมันจะพัดมา แล้วพอพายุ พอฝุ่นทรายพัดผ่านไปแล้วเราก็ยังเห็นที่โล่งได้อยู่ นี่ ตัวนี้เรียกว่า ‘เรามีความตั้งมั่นในการเห็น’ ขอให้พิจารณาอย่างนี้ก่อนก็แล้วกัน อย่าเพิ่งไปเอาเรื่องความตั้งมั่นในแบบฌาน หรือว่าในแบบสมาธิชั้นสูงอะไร เพราะว่ามันจะเป็นการคาดหวังที่ไม่สมตัว แล้วก็มันจะดูเกินเอื้อม ดูเป็นไปไม่ได้ แล้วก็ท้อถอย ขาดกำลังใจกัน
เอาแค่ที่ว่าเรามีความสามารถที่จะเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ‘เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป’ ได้เรื่อยๆนี่ อย่างนี้มันก็เป็นความตั้งมั่นชนิดหนึ่งแล้ว ตั้งมั่นที่จะเห็นไง คือไม่ใช่ที่ว่าจะต้องตั้งมั่นหรูหราอะไรมากมาย ตั้งมั่นที่จะเห็นลมหายใจเข้า ลมหายใจออก แล้วพอเห็นลมหายใจออกไปเสร็จนะ ก็เห็นลมหายใจหยุด จากนั้น ใจไม่ได้เคลื่อนไปไหน ไม่ได้วอกแวกไปไหน ยังมีความสามารถที่จะรับรู้ว่าลมหายใจระลอกต่อมามันเข้ามาแล้วมันออกไปได้อีก นี่ก็เรียกว่าเป็นความตั้งมั่นอ่อนๆแล้ว แล้วถ้าหากว่าความตั้งมั่นแบบนี้ ความตั้งมั่นอ่อนๆมันเกิดขึ้นถี่ๆ ในที่สุดมันก็กลายเป็นความตั้งมั่นที่แข็งแรงมั่นคงไปเอง นี่คือเป็นการทำความเข้าใจนะในเรื่องของประสบการณ์ตรง เรื่องจิตตั้งมั่นแบบง่ายๆ
เอาละครับ คืนนี้ต้องขอกล่าวราตรีสวัสดิ์ไปก่อน ขอให้เจริญในธรรมทุกท่านครับ
« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น