วันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๙๕ / วันที่ ๒๗ ส.ค. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันจันทร์ที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณ เป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง อย่างนี้นะครับ

วันนี้เป็นวันแรกที่จะเปิดให้มีการทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการทาง http://www.facebook.com/dungtrin นะครับ ก็มีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย พร้อมๆกันหลายด้านเลย ทั้งฮาร์ดแวร์ของผมเอง และปัญหาเกี่ยวกับการสื่อสารกับทาง http://www.spreaker.com ก็ต้องขออภัยมากๆเลย ก็จะขอใช้คำถามที่ตั้งไว้แล้วในสเตตัสที่ก่อนสามทุ่มเศษๆครับ ซึ่งมีคนตั้งคำถามเข้ามาเรียบร้อยแล้ว แต่ในสเตตัสปัจจุบันก็รับฟังอย่างเดียวไม่ต้องตั้งคำถามนะ คิดว่าตอนนี้คงน่าจะไม่มีปัญหาอะไร



๑) สวดมนต์มาระยะหนึ่งแล้ว รู้สึกว่าเวลาโกรธ ใจมันดูทุรนทุรายน้อยลง ไม่แน่ใจว่านี่เป็นอาการกดไว้หรือเป็นอาการเย็นลงได้จริงๆ ขอคำแนะนำด้วย กลัวจะมาผิดทาง?

(ถาม – เรื่องการสวดมนต์ คือตอนนี้ตื่นเช้ามาสวดอิติปิโสตามที่พี่ตุลย์แนะนำได้หนึ่งเดือนแล้วค่ะ สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปคือ เวลาโกรธหรือไม่พอใจอะไรมากๆ ใจมันดูทุรนทุรายน้อยลงทั้งที่ยังโกรธอยู่มาก จะว่ามันสลบก็ไม่ใช่ เพราะมันก็ยังโกรธและฟุ้งซ่านอยู่ เลยสงสัยว่านี่คืออาการกดไว้หรือเป็นอาการเย็นลงจริงๆ กลัวจะมาผิดทาง รบกวนแนะนำด้วยค่ะ)

แนะนำง่ายๆนะครับว่า เดิมเราไม่มีฉนวนความร้อนนะ แล้วก็ไม่มีทุน ทุนที่จะเป็นความเย็นในขั้นพื้นฐานนะ ที่เป็นความสว่างที่เป็นความสบายอกสบายใจ ต่อเมื่อเราสร้างเหตุสร้างปัจจัยให้ทุกเช้าตื่นขึ้นมาพร้อมความสว่าง ตื่นขึ้นมาพร้อมกับความเย็น ตื่นขึ้นมาพร้อมกับความรู้สึกว่า มีบางสิ่งบางอย่างในชีวิตนะ ที่มีความศักดิ์สิทธิ์นี่เป็นตัวเริ่มต้นชีวิตวันใหม่นะครับ

ถ้าหากว่าเราได้เกิดความคุ้นเคย และก็มีวินัย แล้วก็มีความต่อเนื่องจริงเนี่ย อย่างน้อยที่สุดนะ สิ่งที่จะเปลี่ยนไปแน่ๆคือ ความเยือกเย็นที่เป็นขั้นพื้นฐานของชีวิตมันจะออกมาจากภายใน

ซึ่งภายในที่ว่านี้ ไม่ใช่บุญเก่าแต่ชาติปางไหน แต่เป็นบุญใหม่ที่สร้างขึ้นสดๆร้อนๆ และก็เป็นของจริงที่เรารู้ได้เลยว่า คำว่าบุญ คำว่ากุศล หน้าตามันคือทำให้ความรู้สึกจากภายในมันแตกต่างไป ถึงแม้ว่าจะมีความร้อน ถึงแม้ว่าเดิมนิสัยเราจะเป็นพวกโทสะจริต เป็นพวกมีความร้อนความขัดเคืองง่ายนะ เราก็จะพบว่า ความร้อนความขัดเคืองนั้นแตกต่างระดับไป ซึ่งไม่ใช่ว่าความโกรธมันจะหายไปโดยสิ้นเชิง

อย่างเดือนนึงนะที่น้องทำไป ซึ่งอันนี้จะเป็นครึ่งทางหรือว่าจะเป็นค่อนทางนะที่เป็นเป้าหมาย อย่างไรก็แล้วแต่นะครับ แต่อย่างน้อยที่สุด เราสามารถที่จะบอกตัวเองได้ว่า ไอ้อาการทุรนทุรายน้อยลง หรือว่าอาการร้อนน้อยลงเนี่ย มันไม่เท่าเดิมแน่ๆแล้ว

การที่เราจะไปคาดหวังนะ ว่าไอ้ความโกรธมันจะไม่เกิดขึ้นเลย มันเป็นไปไม่ได้นะ พี่ไม่ได้ให้สวดอิติปิโสเพื่อไม่ให้ความโกรธเกิดขึ้นอีกเลยนะ ไอ้ที่ความโกรธจะไม่เกิดขึ้นอีกเลยเนี่ย จะต้องเป็นพระอนาคามีขึ้นไป คือมีความขัดเคืองมากระทบแล้วเนี่ย มาไม่ถึงใจ มันไม่มีปฏิฆะ มันไม่มีตัวกระทบกระทั่งทางใจ อย่างนี้เรียกว่า เป็นของจริง เป็นของที่ต้องทำเอา ต้องเจริญสติให้ถึงมรรคถึงผลขั้น ๓ ขึ้นไป แต่สิ่งที่เรากำลังทำอยู่นี้ เรียกว่าเป็นการสร้างความเย็น เป็นการสร้างทุน เป็นการสร้างความสว่างขึ้นมา เพื่อที่จะให้จิตของเราไม่เป็นฟืนเป็นไฟง่าย แล้วก็มีความที่จะเป็นกุศลมากกว่าเป็นอกุศล แนวโน้มน่ะนะ ถ้าหากทุกเช้ามันเริ่มมาด้วยกุศล ขอให้รู้เลยว่า ทั้งวันมันมีแนวโน้มที่จะเอียงไปทางกุศลมากกว่าอกุศล

วันนี้ก็ขอเท้าความนิดนึงสำหรับคนที่ไม่ทราบว่า น้องไปทำอะไรอยู่ ก็คือ ผมให้ลองแก้โทสะจริต เป็นคนที่มีความขัดเคืองง่าย พูดง่ายๆว่า โกรธง่ายและหายก็ช้า ทีนี้จะให้สวดอิติปิโสทุกเช้า เพื่อที่จะเริ่มต้นวันใหม่ด้วยความสว่าง เริ่มต้นวันใหม่ด้วยความตั้งใจว่า ทั้งวันนับจากนี้ เราจะอยู่กับความสว่าง เราจะอยู่กับความเย็นที่สร้างขึ้นในช่วงเช้า ถึงแม้ว่าจะมีความขัดเคือง ถึงแม้ว่าจะมีความร้อนรนระหว่างวันอย่างไรก็ตามนะ ก็จะไม่ลืมความสว่าง ไม่ลืมความเย็นนี้ เนี่ยตรงนี้มันออกดอกออกผลงอกเงยนะ ไม่ใช่แค่สิ่งที่มันจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆประเดี๋ยวประด๋าวนะ แต่จะมีผลเปลี่ยนแปลงเส้นทางชีวิตได้เลย เพราะว่าความเคยชินที่สร้างขึ้นภายใน ๒ เดือน มักจะเป็นความเคยชินที่ค่อยๆพัฒนาขึ้นไป แอดวานซ์ขึ้นไปตามลำดับนะ จะไม่มีถอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการสั่งสมบุญ สั่งสมกุศลนะ ก็เป็นอุบายวิธีที่จะแก้นิสัยที่มันร้อนๆ หรือว่าแก้นิสัยที่ไม่สามารถอภัยได้ง่ายๆนะครับ



๒) ในทางปฏิบัติ คำว่า ‘อาตาปี’ ในสติปัฏฐาน หมายความว่าอย่างไร? หมายถึงการข่มใจไม่ทำตามกิเลสหรือเปล่า?

‘อาตาปี’ นี่นะ ถ้าพูดกันตามศัพท์แล้วนะครับ เป็นเหมือนกับ ตัวของสติเองนะครับ ตัวที่เป็นความ… คือความเพียรที่จะเผากิเลสเนี่ยไม่ใช่การที่เราไปอดกลั้น แต่อย่างสมมุติว่า เอากำลังดูลมหายใจเข้าออกอยู่นะ แล้วเกิดความรู้สึกฟุ้งซ่าน เกิดความรู้สึกอยากจะลุกขึ้น ไม่อยากนั่งต่อแล้ว เราเห็นตัวกิเลสที่มันผุดขึ้น แล้วก็เปรียบเทียบเห็นว่า ตัวความเพียรที่จะรู้ลมหายใจ มันก็สามารถทำให้ไอ้ความอยากจะลุกขึ้นเนี่ยมันหายไปได้ มันก็เรียกว่า ความเพียรที่จะเผากิเลสได้อย่างนึงเหมือนกัน ตัวความเพียรเผากิเลสจริงๆโดยเนื้อหาเนี่ย มันเหมือนกับ การที่เราค่อยๆเห็น สั่งสมความเห็นไปว่า ลมหายใจไม่เที่ยง แล้วก็ความฟุ้งซ่าน แล้วก็ความอยากโน่นอยากนี่เนี่ย เป็นเพียงกิเลสชั่วคราว เราเห็นว่า ตัวกายตัวของจิตนี้มันมีความไม่เที่ยง ไม่น่ายึด ไม่น่าเอา ความเพียรเผากิเลสที่จริงๆน่ะมันอยู่ที่ตรงนี้ แบบที่ว่าไอ้ที่มันจะเกิดความอยาก ความดิ้นรน เพราะกาย เพราะใจนี้เป็นเหตุนี่นะ เราก็สามารถที่จะทำให้มันหายไปได้ แล้วก็หายไปเป็นเปลาะๆ บางทีเนี่ยเราอยากโน่นอยากนี่มากมาย จากการที่ไม่เจริญสติเลย พอเจริญสติไปแล้ว แล้วก็รู้สึกว่ากาย ว่าใจนี้ มันไม่เที่ยง ไม่น่าเอา ไอ้ตัวนี้ก็เป็นตัวเผากิเลสเช่นกัน พูดง่ายๆว่า เผากิเลสมันมี ๒ ระดับนะ เผากิเลสแบบที่มันเกิดขึ้นสดๆร้อนๆอยากโน่นอยากนี่ นี่ขณะกำลังเจริญสติ อยากจะออกจากการเจริญสติ เรียกว่า ถ้าเรายังทำอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นการเผากิเลสที่เกิดขึ้นเห็นๆเลย แต่ถ้าเป็น ‘ อาตาปี’ ในความหมายดั้งเดิมที่แท้จริงเนี่ยนะ เรายิ่งสั่งสม สติยิ่ง… สั่งสมความเพียรในการเห็นกายเห็นใจมากขึ้นเท่าไหร่ ไอ้ความอยากที่เกิดจากความดิ้นรน จากกาย จากใจเท่าไหร่นี่ จะค่อยๆลดลง ว่าอุปาทานที่มันเกิดขึ้น ความยึดมั่นถือมั่นของๆเรา มันก็หายไปได้ นี่เรียกว่า ‘อาตาปี สมฺปชาโน สติมา’ ตัวสติที่ เป็นความหมายของการเผากิเลสจริงๆนี้ เดี๋ยวลองไปดูความหมายกันอีกทีในอินเตอร์เน็ตนะ ผมพูดเท่าที่อยู่ในความทรงจำ ถ้าหากว่าผิดพลาดคลาเคลื่อนยังไง เดี๋ยวก็ต้องขออภัยด้วย คือตัวการเผากิเลสนี่ คือ อยากจะสรุปสั้นๆว่า ไม่ใช่เผาแค่ว่าอดกลั้น ไม่ทำตามใจกิเลสชั่วคราว แต่หมายถึง ‘การเผากิเลสในขั้นที่มีอุปาทาน อันยึดมั่นถือมั่นว่า ใจนี้กายนี้เป็นตัวเป็นตนทีเดียว’



๓) ฝันว่าเห็นตัวเองตายแล้วมีปีติสุข ทำไมเป็นเช่นนั้น?

(ถาม – ก่อนสนใจธรรมะเป็นคนกลัวตายมาก แม้แต่ในฝัน แต่หลังจากสนใจธรรมะและได้ฝึกเจริญสติ พอฝันว่าโดนฆ่า เมื่อจิตออกจากร่าง จิตกลับมีปีติสุขขึ้นมา สงสัยว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? ตอนนั้นไม่สนใจการตายและไม่สนใจว่าใครทำให้เราตายเลยค่ะ)

ก็ความฝันนี้ อย่าไปเชื่ออะไรมันมากนะ เป็นเพียงการบอกเล่า หรือเงาสะท้อนอารมณ์ที่ผุดขึ้นมา ณ ชั่วขณะนั้นนะ

ถ้าสมมุติว่า เราเป็นคนกลัวตายมากๆนี่ บางทีความฝันมันจะสะท้อนได้เลยว่า อาการที่กลัวตาย เมื่อเกิดสถานการณ์นั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์นั้นๆขึ้นมาจริงๆ มันจะเลียนแบบสถานการณ์ขึ้นมา แล้วก็จะสะท้อน จะส่องให้เราเห็นว่า อารมณ์กลัวมีได้มากขนาดไหน เป็นการจำลองสมมุติเหตุการณ์ขึ้นมา เหมือนจริงนะครับ เป็นการเตรียมตัวล่วงหน้า หรือว่าจะเป็นการบอกว่า เบื้องลึกของจิตใจของเราน่ะนะ มันกำลังมีห่วง มีกังวลอยู่แค่ไหน

ทีนี้ถ้าหากว่าในฝัน เราฝันว่าถูกฆ่าไปแล้ว และก็มีความรู้สึกว่า การตายไม่เห็นน่ากลัว นี่ก็เป็นการบอกเล่าของกิเลสอีกแบบนึงว่า นี่เราตายแล้วนะก็ไม่ได้มีความทุกข์อะไรมากมาย นี้ถ้าจริงๆ เรามองเป็นเรื่องของอาการทางจิตอาการทางใจที่เรามันส่องสะท้อนว่า มันห่วงแค่ไหนว่ามีความทุกข์หรือมีความสุขนะ มีมุมมองอย่างนี้ก็ได้ว่า ผู้ที่สั่งสมบุญไว้มากๆจะไม่มีความรู้สึกหวาดหวั่นกับความตาย แม้ว่าอารมณ์ดิบๆของเรา จะมีความหวง จะมีความอาลัย จะยังมีความกลัวตายอยู่ แต่เมื่อตายไปแล้วจริงๆเนี่ย มันจะไม่มีความกลัว ไม่มีความรู้สึกวิตกเหลืออยู่อีก นั่นเพราะอะไร? เพราะเบื้องลึกมันตรึกอยู่ว่า มันสั่งสมความสว่าง สั่งสมบุญมาดีพอแล้วนะครับ

แต่ถ้าหากว่าในฝัน พอตายแล้ว มันยิ่งทุรนทุรายหนักเข้าไปใหญ่ มันมีความมืด มันมีความทึบ มันมีความรู้สึกเหมือนกับเร่าร้อน มีความรุ่มร้อนต่างๆประดังเข้ามา มีนิมิตน่ากลัวประดังเข้ามา อันนี้นี่ก็อาจจะส่องสะท้อนว่า เรายังไม่พร้อมจะตาย เรายังทำบุญทำกุศลมาน้อยเกินกว่าที่ใจจะรู้สึกปลอดภัยได้ มันก็เลยแสดงมันก็เลยสะท้อนออกมานะถึงความกังวลหลังความตาย ก็สุดแล้วแต่ว่าจิตจะปรุงแต่งอย่างไรขึ้นมานะ อย่าไปยึดมั่นถือมั่นอะไรมาก

แต่บอกไว้อย่างหนึ่งคือ อันนี้พูดไว้เป็นหลักการง่ายๆคร่าวๆนะครับว่า ถ้าหากว่าใจของเราสั่งสมบุญ สั่งสมความสว่างมามากพอที่จะรู้สึกอบอุ่น รู้สึกปลอดภัยแล้ว ไม่ว่าจะลืมตาตื่นหรือหลับตาฝันนะครับ เราจะมีความรู้สึกสบายใจอยู่ตลอดเวลา มันจะมีความรู้สึกเลยนะว่า ถึงแม้ฝันว่ามีใครมาฆ่านี่ ก็ไม่กลัว มีความรู้สึกว่าสิ่งที่ปกป้องคุ้มครองเราอย่างแท้จริงไม่ใช่เกราะ ไม่ใช่โล่ ไม่ใช่กำบัง บังเกอร์อะไรที่ไหนที่มันจะมาคุ้มครองร่างกายนี้ แต่เป็นความสว่าง เป็นกุศล เป็นอะไรอีกอย่างนึงที่คล้ายเกราะแก้วที่กำบังเราจากความมืดความรุ่มร้อนของกิเลสตัณหา อันนี้เป็นหลักการมาตรฐานเลยน่ะนะที่เกิดขึ้นกับทุกคนทั่วโลก ไม่ว่าชาติไหน ภาษาไหน ถ้าหากว่าสั่งสมบุญไว้มากแล้ว ไม่เบียดเบียนใคร มีเมตตา มีความพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่น มีความพร้อมที่จะให้อภัย มีความพร้อมที่จะไม่ผูกใจเจ็บนะ แล้วก็รักษาศีลได้ดีน่ะนะครับ ไม่อกตัญญูต่อพ่อแม่ ไม่อกตัญญูต่อครูบาอาจารย์ แบบนี้นะ จิตใจมันรู้สึกเต็มพร้อมเลยว่าเมื่อไหร่ตาย ฉันไปสบายแน่ๆ นี้นี่ตรงนี้เป็นเรื่องมาตรฐาน เป็นเรื่องสากลที่เกิดขึ้นกับทุกคนบนโลกนี้



๔) คนที่ถูกหวยรางวัลที่ ๑ เขาทำบุญยังไงมา? แล้วคนที่อ้างว่าเล่นหวยเพื่อเปิดดวง เปิดโชครับลาภที่จะเข้ามาในชีวิต ถือว่าผิดหรือเป็นอบายมุขด้วยมั้ย?

(ถาม – คนที่ถูกหวยหรือถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ ๑ หรือได้ลาภลอยก้อนใหญ่จนทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงนั้น เขาทำบุญอย่างไรมา? และการเล่นหวยไม่ว่าจะใต้ดินหรือสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่บางคนมักอ้างว่า ซื้อเพื่อเปิดดวง หรือเปิดโชครับลาภที่จะเข้ามาในชีวิต เป็นวิธีการที่ถูกหรือไม่? เพราะได้ยินมาว่า การเล่นหวยหรือสลากกินแบ่งนั้นเป็นอบายมุขชนิดหนึ่ง)

จะว่าอย่างไรกันก็ตามนะครับ ถูกหรือผิด จะเป็นอบายมุขหรือเป็นเพียงการเสี่ยงเล่นสนุก เราให้มาดูกันที่ ‘จิต’

ผมขอเอาประเด็นนี้ก่อนว่า มันเป็นอบายมุข หรือไม่เป็นอบายมุขนะ ขึ้นอยู่กับว่า เราหมกมุ่นอยู่กับมันแค่ไหน

อบายมุขนี่ไม่ได้ใช้รูปแบบอย่างเดียวนะว่าซื้อหวยนะ หรือว่าเราเข้าไปเสี่ยงโชคทางการพนันนะ บางครั้งอย่างเดินทางไปบางเมืองอย่างลาสเวกัส (Las Vegas) งี้ เอาเศษเงินแค่เหรียญ ๒ เหรียญไปหยอดตู้เล่น เหมือนกับเล่นผ่านๆ ไม่ได้มีจิตใจอะไรที่หวังจะได้จริงจังก็เล่นเสียแล้วก็เสียไป ช่างมัน แบบเดินผ่านไป เรียกว่า ใจไม่ได้อยู่กับอบายมุข ถึงแม้ว่าโดยรูปแบบน่ะนะจะมีการเล่นพนันไปแล้วก็ตามนะ คือจิตใจมันไม่ได้คิดจะเอาจริง จิตใจมันไม่ได้หมกมุ่น จิตใจมันไม่ได้มีความเครียด ไม่ได้มีความมืดเกิดขึ้นนะ มันเหมือนไปแตะต้องเชื้อโรคนะ แต่เหมือนแตะต้องด้วยถุงมือ มีการป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้ามาติดตามตัว ถึงแม้จะแตะเชื้อโรคแต่ก็ไม่มีเชื้อโรคเข้ามาสู่ร่างกายได้ อันนี้ก็เหมือนกันคือว่า ถึงแม้จะโดยรูปแบบนะ ดูเหมือนกับจะไปเล่นพนันแต่ถ้าใจไม่ได้จะเอาจริง แค่เล่นผ่านๆขำๆนะ ไอ้เชื้อของนักพนันหรือเชื้อของความมืดก็ไม่แทรกซึมเข้าสู่จิต แต่ถ้าหากว่ามีความคิดว่า เราจะเสี่ยงโชคเราจะรวยขึ้นด้วยทางลัดนะด้วยการฝันเห็นหวย ด้วยการเจาะจงว่าวันนี้เราจะต้องเอาให้ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกวันหรือเป็นช่วงเวลาที่แน่นอนมีความสม่ำเสมอ เช่น ทุกอาทิตย์ ทุกสัปดาห์จะต้องเข้าบ่อนจะต้องไปเสี่ยงโชค นี่อย่างนี้นะ โดยอาการอย่างนี้ก็ถือว่าเป็นอบายมุขนะครับ เพราะถือว่าอบายมุขนี่วัดกันตรงที่จิตใจที่มันจดจ่ออยู่นี่แหละ

ดูง่ายๆเลยถ้าใจจดจ่ออยู่กับการเสี่ยงโชคนะ มันไปจดจ่ออยู่กับความมืด จะเล่นลอตเตอรี่ จะเล่นหวย หรือว่าเป็นการไปพนันบอล หรือตามบ่อนต่างๆเนี่ย ดูที่จิตเถอะ ถ้าหากว่าหมกมุ่นจริงๆ จะเอาจริงๆนี่มันอบายมุขทั้งนั้นแหละ ตัวนี้เอาเกณฑ์เป็นหลักคือ ‘จิต’

ก่อนอบายมุขข้ออื่นนี่ ท่านใช้คำว่า ‘เป็นนักเลงผู้หญิง’ หมายถึง เที่ยวไป ไม่ใช่เฉพาะว่าไปเที่ยวซ่องเที่ยวสถานขายบริการอย่างเดียว แต่หมายถึงเหมารวมไปถึงสำส่อนไม่เลือกหน้าด้วย อย่างนี้ก็ถือว่า เป็นอบายมุข เพราะมีจิตใจหมกมุ่น มีจิตใจฝักใฝ่อยู่ที่สิ่งที่เป็นอกุศล และมีจิตใจดำมืดลงเนี่ย นับเป็นอบายมุขได้หมดนะครับ

ทีนี้มาดูอีกประเด็นนึงที่ว่า ใครมีสิทธิ์ที่จะได้หรือโดนแบบตกรางวัลรางวัลที่หนึ่ง หรือได้รางวัลใหญ่ๆอะไรขึ้นมาเนี่ยนะ ก็เป็นพวกที่ดูได้ง่ายๆเลยนะว่า ชีวิตจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหนหลังจากได้รับรางวัล

ถ้าหากว่าเราเคยช่วยคนอื่นไว้มากๆ เราเคยไปเปลี่ยนแปลงชีวิตคนอื่นไว้นะ แบบที่ว่า เค้าพลิกจากหลังมือเป็นหน้ามือ จากมืดเป็นสว่าง จากยากจนเป็นร่ำรวยขึ้นมา ถ้าเราเคยมีไปให้ความช่วยเหลือแบบนั้นไว้กับใครก็จะมีการได้รับผลในทำนองเดียวกันนั่นแหละ ถ้าหากว่าชาติที่ต้องตกต่ำอัตคัดอยู่ในตระกูลที่ยากจนนะครับก็มีสิทธิ์ที่ว่า จะมีช่องทางใดช่องทางหนึ่งได้ลาภลอย อาจจะเป็นใครมาช่วย แบบอยู่ดีๆมีคนเอาเงินมาให้ ได้รับมรดก หรือว่า ไปเล่นหวยแล้วก็ได้มาแบบนี้ หรืออาจจะเป็นพวกที่เคยไปทุ่มสุดตัว สมมุติว่า ที่ท่านยกตัวอย่างกันในพระคัมภีร์นะครับ ก็มีประเภทนายพรานบ้าง หรือว่าคนป่าคนดง เดินทางไประหว่างวัน ไปทำมาหากินกันตามปรกติก็มีอาหารมีอะไรติดตัวไป ทีนี้ก็ในระหว่างทาง เกิดไปเจอพระอรหันต์เข้า หรือว่าพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ หรือบางคนก็โชคดีขนาดที่ว่าไปเจอพระปัจเจกพระพุทธเจ้าอะไรแบบนี้เดินมาตามทาง แล้วเกิดความเลื่อมใสว่าเออ เราทำบาปมามาก อยากจะทำบุญบ้างนะ อาหารที่มี ที่เอามา จะเอาเข้าท้องตัวเอง ไม่สนก็ถวาย จะถวาย ขอถวายหมดเลย นี่เรียกว่า เป็นการทำบุญแบบไม่ได้ตั้งใจไว้ก่อน แต่พอเห็นแล้วทำเต็มที่เลยนะ นี่ก็พูดง่ายๆว่า ให้ลาภลอยแก่ผู้อื่นมันก็มีผลเร็วมีผลแรง ถ้าหากว่าได้ทำบุญกับผู้ทรงคุณด้วยในอาการที่ไม่ได้ตั้งใจไว้ก่อน พวกนี้นี่มักจะได้ลาภลอยอย่างแรง โดยเฉพาะมีโอกาสทำกับพระอรหันต์ หรือพระปัจเจกโพธิ์นะครับ หรือว่าผู้ที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัตินี้นะ สมาบัติขั้นสูงของผู้หมดกิเลสแล้วนะ พวกนี้เวลากรรมเผล็ดผล นี่ก็มักจะมาในแบบลาภลอย เป็นลาภลอยก้อนใหญ่ เพราะว่าอะไร? เพราะว่าบุญที่ทำเนี่ยนะ ทำโดยที่ไม่ได้คาดหวังไว้ก่อน และผู้รับก็ไม่ได้คาดหวังไว้ก่อนเช่นกันว่าจะได้จากเรานะครับ แต่เป็นการทุ่มสุดตัว ทำเต็มที่ ทำอย่างชนิดที่ว่าไม่อั้น ผลออกมามันก็ไม่อั้นเหมือนกัน มันก็ยิ่งใหญ่เกินบุญของคนอื่นที่จะให้ผลได้เท่ากับเรา เวลาที่กรรมมันเผล็ดผลออกมาในรูปของลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง แปลตรงตัวได้ว่า บุญนี้ไปตกอยู่ที่ผู้ที่เคยได้เคยประกอบบุญไว้ชนะเลิศ ไม่มีใครทำได้ใหญ่เท่า ไม่มีใครทำได้มากเท่า แต่อย่าตีค่าว่าเราจะเคยทำไว้กี่ล้านกี่แสนนะ ไม่ใช่นะ แต่ทำด้วยใจที่มันเต็มแค่ไหนมากกว่านะ

อย่างที่ผมยกตัวอย่างไว้แล้ว สมมุติว่ายกอาหารออกไป กะจะเอาไปกินเอง ไปเจอพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เกิดความเลื่อมใสถวายหมดตัวเลย ไม่เหลืออะไรไว้ให้ตัวเองเลย นี่เป็นการทุ่มสุดใจ ที่มันเกินร้อยนะครับ นี่ก็เป็นเรื่องที่ว่า ทำไมบางคนถึงได้ลาภลอยได้ง่ายๆนัก มันอย่างงี้ด้วยนะ

ในหลักความเป็นจริง ถ้าเราไม่สามารถที่จะทราบนะครับว่าไอ้เงินล้านมันมาได้อย่างไรนะ เราก็จะไม่สามารถรักษาเงินล้านนั้นไว้ได้เช่นกัน แต่คนที่รู้วิธีหาเงินล้านมานี่ก็จะรู้วิธีรักษาด้วย อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เป็นเงาตามตัวกัน มีความสัมพันธ์กันนะครับ



๕) มีคนกล่าวว่า ‘พระไตรปิฎกสืบทอดมาหลายพันปี แล้วคลาดเคลื่อนไปอย่างไหนอย่างใด ใครจะรู้’ คุณดังตฤณมีความเห็นอย่างไร?

ผมมีความเห็นว่า คนที่ไปกล่าวเช่นนั้น ก็ถ้ากล้ากล่าวว่าของเป็นพันปีมีความคลาดเคลื่อนเนี่ย เราก็ต้องกล้ากล่าวเช่นกันว่า ที่คลาดเคลื่อนดังกล่าวนั้น คลาดเคลื่อนตรงไหนบ้าง ต้องมีการศึกษา ต้องมีการเทียบวัด ต้องมีหลักการอะไรบางอย่าง ไม่ใช่พูดขึ้นมาลอยๆว่า ของผ่านมาเป็นพันปีแล้วคลาดเคลื่อน เพราะบางสิ่งบางอย่างที่บันทึกไว้ ที่จารึกไว้ ที่สืบทอดเป็นมรดกตกทอดกันมา เป็นรุ่นต่อรุ่น จากรุ่นถึงรุ่น ไม่ผิดพลาด ไม่คลาดเคลื่อนก็มี ไม่ว่าเวลาผ่านไปกี่พันปี

อย่างความรู้เกี่ยวกับทางวิทยาศาสตร์เนี่ย จริงๆก็สืบย้อนหลังไปเป็นพันปีเหมือนกันแล้วก็พัฒนากันมาเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับว่าการสืบทอดนั้นมีความชัดเจนเพียงไร ยกตัวอย่างเช่น หลักการทางวิทยาศาสตร์ ถ้าหากมีข้อพิสูจน์ว่า เรื่องนี้ เค้าคิดไว้เป็นความจริง อย่างของตกลงมาด้วยแรง ด้วยน้ำหนัก สมมุติว่า ๑๐ กิโล กับ ๕ กิโล ถ้าหย่อนลงมาจากที่สูงเท่ากันเนี่ย จะตกลงถึงพื้นพร้อมกัน ซึ่งก่อนที่จะทดลองแบบนี้ ก็เคยมีการสันนิษฐานกันว่าของเบาย่อมตกลงมาถึงพื้นช้ากว่านะ แต่อันนั้นจริงๆมีคนพิสูจน์ว่าเรื่องของเบา มันต้องเบาขนาดที่ถูกแรงต้านของอากาศนี่มาทำให้ความเร็วของของที่จะตกพื้นนี้ลดความเร็วลงได้ แต่ถ้าหากว่าปัจจัยเรื่องของเรื่องต้านอากาศเป็นศูนย์นี่นะ ก็มันก็ตกลงมาเท่ากัน อันนี้ ถึงแม้ว่าจะค้นพบมากี่ร้อยกี่พันปีแล้วก็ตาม ถ้าหากว่ายังพิสูจน์ ถ้าหากว่ายังสามารถทดลอง แล้วทั่วทุกมุมโลกได้ผลตรงกันนี่นะ มันก็ไม่ล้าสมัย

นี่มันก็เหมือนกัน แบบพุทธศาสนานะ ไม่ได้เอาตามความเชื่อว่าจะล้าสมัยตามกาลเวลา แต่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ เป็นการบันทึกไว้ถึงวิธีการทางใจที่จะดับทุกข์ดับโศก และไม่ใช่จะดับกันแบบจิตวิทยานะ แต่เป็นการดับแบบที่ จะไม่กำเริบ ไม่มีใหม่ขึ้นมาได้อีก แบบนี้เรียกว่าเป็นพุทธของแท้นะ

การที่เราจะบอกว่า จุดนั้นจุดนี้ของพระไตรปิฎกมีความคลาดเคลื่อนนะ เราต้องมองอย่างเป็นกลางว่า คลาดเคลื่อนนั้น เป็นการคลาดเคลื่อนแบบไหน? คลาดเคลื่อนทางประวัติศาสตร์ บันทึกชื่อผิด บันทึกเหตุการณ์ผิด หรือว่า บันทึกวิธีการดับทุกข์แบบผิดๆ ถ้าหากว่าเราจะเอาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เราก็ต้องไปสอบสวนกันด้วยวิธีทางประวัติศาสตร์ แต่ถ้าหากว่าเราจะสอบสวนเราจะตรวจสอบเรื่องหลักการวิธีการดับทุกข์นี่ เราก็ต้องพิสูจน์ด้วยตัวเองนะว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เป็นปัจจัตตัง คือ เราต้องรู้เฉพาะตน ไม่ใช่รู้เอาจากการอ้างอิงจากคนอื่นนะครับ ไม่ใช่รู้เอา จากการเล่าๆลือๆสืบกันมา ถ้าหากว่าเราพบจุดไหนของพระไตรปิฎกที่น่าสงสัยเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัตินะ ก็ขอให้เอาตัวเองเป็นข้อพิสูจน์ เอาตัวเอง เป็นหลักฐาน ประจักษ์พยานแทนพระพุทธเจ้า แทนสื่อบันทึกที่ตกทอดมาถึงพวกเราคือพระไตรปิฎกนี้

พระไตรปิฎกนี่ ตอนแรกนะครับ ไม่ได้มีการบันทึกลงหน้าหนังสือหน้ากระดาษแบบที่เป็นอยู่อย่างทุกวันนี้ให้เห็นง่ายๆนะ เดิมทีเนี่ย เค้าใช้วิธีการกันแบบปากต่อปาก ท่องจำ เรียกว่า ‘มุขปาฐะ’ นะ ต่อเมื่อ ๕๐๐ ปีล่วงไป จึงได้มีการบันทึกลงในใบลานนะครับ ตรงนั้นแหละที่เริ่มมีการต่อเติม เริ่มมีการเสริมแต่งกันตามใจชอบ ตามที่ต่างๆนะ ก็แตกต่างกัน มุขปาฐะที่ต้องมีการสอบทานกัน ถ้าผิดนี่ก็ต้องเอาใหม่เลย


เอาล่ะครับ คืนนี้คงต้องล่ำลากันเพียงเท่านี้ ราตรีสวัสดิ์นะครับ ขอให้เจริญในธรรมกันทุกท่าน


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น