สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันศุกร์ที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง เพื่อที่จะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการนะครับ ให้เข้าไปที่เฟสบุ๊ค http://www.facebook.com/HowfarBooks
วันนี้อาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ตนะครับ ของผมเมื่อครู่นี้ ติดไปแล้ว แล้วก็ดับ อาจจะมีปัญหาอีก ถ้าหากว่ามีปัญหาอีกภายในเวลาไม่ถึง ๑๕ นาทีอะไรแบบนี้ ผมจะออนแอร์ใหม่นะครับ แต่ถ้าหากว่าเกินกว่านั้นไป ก็ต้องขออภัยด้วย เมื่อครู่มีคำถามมาแล้วในสเตตัสเดิมนะครับ ผมจะใช้คำถามที่อยู่ในสเตตัสเดิมนะครับ ถ้าหากว่าใครเห็นสเตตัสนี้แล้วเข้ามา ผมอาจจะไม่ทันได้ตอบคำถามนะครับ ผมคิดว่าถ้าได้ยินเสียงนี้ ก็คงจะเข้ามาในสเตตัสใหม่กันแล้วนะครับ
๑) ช่วงนี้มักสนใจคำสอนที่เกี่ยวกับความตาย สังขาร อนิจจัง เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทำให้เกิดอาการปลงและไม่กลัวตายขึ้นมา ซึ่งผิดไปจากเมื่อก่อนมากที่ยอมรับเรื่องความตายไม่ค่อยได้ แต่ก็ยังกลัวผี กลัวความมืดอยู่ ซึ่งความคิดที่ขัดแย้งกันเช่นนี้ ระหว่างความไม่กลัวตายแต่กลัวผี เรียกว่าปลงได้จริงๆหรือเปล่า หรือว่าแค่อุปาทานไปเอง? แล้วควรจะทำจิตอย่างไรให้หายจากโรคกลัวผี? เคยพยายามแล้วก็ดีขึ้นบ้าง แต่ไม่หายกลัวผีได้สนิทใจจริงๆสักที
ก็อย่างนี้นะ ความกลัวตายกับความกลัวผีนี่ มันคนละส่วนกันนะ ผมขอเวลาสักครู่นะครับ ผมจะคีย์บอกไปในสเตตัสใหม่นะครับ ว่าผมจะตอบคำถามในสเตตัสเก่านะครับ ฟังทางนี้นะครับ ไม่แน่ใจว่าจะได้ยินเสียงนี้กันทั่วถึงแล้วรึยัง
คำถามที่ว่ากลัวตายกับกลัวผี มันมาด้วยกันได้หรือเปล่า ตั้งโจทย์อย่างนี้ก็แล้วกัน
คือผู้ถามไปเข้าใจว่าความกลัวตายกับความกลัวผีนี่เป็นความกลัวชนิดเดียวกัน ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่นะ ขอให้เปรียบเทียบอย่างนี้ก็แล้วกัน บางทีเราอาจจะไม่นึกกลัวตายขึ้นมา ถ้าหากความตายมันไม่มาอยู่ตรงหน้าจริงๆ คือบางคนจะรู้สึกว่าแค่คิดถึงก็ขนหัวลุกแล้ว แค่นึกว่าบุคคลอันเป็นที่รักจะต้องจากเราไป ก็ทนไม่ได้แล้ว แบบนี้เรียกว่าอุปาทานไปล่วงหน้า ยังไม่ได้มีของจริงมาให้สัมผัส ไม่ได้มีของจริงมาให้กระทบกระเทือนใจ
ของจริงหมายความว่าอย่างไร หมายความว่า สมมุติเรานั่งไปในรถที่เบรกแตก คนขับบอกว่า อุ๊ย เบรกแตก นี่อย่างงี้เรียกว่าความตายอาจจะเข้ามาเคาะประตูเรียกอยู่ใกล้ๆนี่ แล้ว เรารู้สึกขึ้นมาเป็นจริงเป็นจังว่า มีสิทธิตายได้แน่ๆถ้าหากว่าคนขับบังคับพวงมาลัยไม่ดีนิดเดียว คว่ำคอหักตายได้เลย อะไรแบบนั้น นี่เรียกว่าความตายมาประชิดตัวของจริงนะครับ
ถ้าหากว่าเราจะรู้ตัวว่าความกลัวตายมันไม่มีอยู่ในจิตใจจริงๆก็ไปรู้เอาตอนนั้น ไม่ใช่มารู้เอาด้วยการปลง หรือว่าไปอ่านคำสอน หรือว่าฟังพระเทศน์เกี่ยวกับมรณานุสติ แล้วก็จะเป็นมาตรวัดได้ว่าเรากลัวหรือไม่กลัวนะครับ ส่วนเรื่องกลัวผีนี่ มันเป็นอะไรที่มาประชิดตัวได้ง่ายๆ เช่นคนเข้าไปอยู่ในที่ที่มืด หรือเข้าไปอยู่ในบรรยากาศที่เราเคยปรุงแต่งอุปาทานไป คุ้นเคยไป ว่านี่เป็นสิ่งที่จะไปเรียกผีมาได้ นึกว่าความมืดเรียกผีมาได้ หรือว่าเห็นที่ที่มีต้นไม้ใหญ่เยอะๆแล้วเคยนึกกลัว เคยถูกหลอกมา เคยถูกคนอื่นไซโคมาว่าแถวนี้ผีเฮี้ยนอะไรแบบนั้น พอไปกระทบกระทั่งกับผัสสะแบบที่เราเคยอุปาทานไปว่าน่าจะมีผี อย่างนี้ก็เกิดความกลัวขึ้นมาได้เป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น สรุปว่า เรื่องความกลัวหรือไม่กลัวนี่ ไม่ใช่ว่าเราไปนึกเอาเอง นึกอยู่ในใจ ในสถานการณ์ที่ดูอบอุ่นปลอดภัย แล้วจะวัดกันได้ว่าเราหายกลัวอะไรแล้วหรือยัง ให้ดูตอนที่มีสถานการณ์วัดใจ หรือว่ามีผัสสะมากระทบจังๆว่าเรากำลังกลัวอะไรได้บ้าง
ความกลัวขอให้ทราบว่ามีมูลมาจากมูลเดียวกัน คือโทสะ โทสะนี่นะเป็นมูลให้เกิดความกลัว เป็นปฐมเหตุให้เกิดความกลัว หมายความว่าถ้าเราไม่ชอบใจอะไร เรามีความขัดเคืองอะไรมากๆแล้วจิตสามารถกระโดดเข้าไปยึดสิ่งนั้นได้แน่นๆ ตัวนี้แหละที่ก่อให้เกิดความกลัวขึ้นมา ตัวนี้แหละที่ก่อให้เกิดความมืด ความทึบ อาการหดตัวของจิตขึ้นมา ถ้าอาการหดตัวของจิตเกิดขึ้นมา แล้วเราสามารถเห็นว่าอย่างนี้เรียกว่าเป็นอาการหดตัวของจิต เป็นความมืดของจิต และเห็นว่าอาการมืดหรืออาการหดตัวของจิตนี่ มันแสดงความไม่เที่ยงได้
อย่างตอนแรก สมมุติมีความมืดเข้ามากระทบ แล้วความมืดนั้นทำให้นึกถึงผี รู้สึกว่าเป็นประตูเรียกผีมาหาเราได้ เหมือนกับจะมีอะไรมาทำร้ายเราได้ อย่างนี้ก็เรียกว่า เราเจอผัสสะกระทบให้จิตหด หรือผัสสะกระทบให้จิตมีความมืดคลุ้มขึ้นมา เกิดความกลัวขึ้นมา ถ้าหากเรายังนึกถึงผีที่ไม่มีตัวตน ผีที่ยังไม่ปรากฏตัวมากๆอย่างนั้นเรียกว่าจิตส่งออกนอก แต่ถ้าหากเราเห็นว่าอาการของใจ มีความมืด มีความหด มีความรู้สึกทึบ มีความรู้สึกแน่น อย่างนี้แป๊บๆไม่เกินสองสามอึดใจ หายใจได้สองสามครั้ง เราจะรู้สึกขึ้นมาว่า อาการหดตัวของจิตนี่มันคลายออก ดูได้อย่างไรว่ามันคลายออก คืออาการที่จินตนาการไป หรืออาการกลัวสุดขีด รู้สึกจะทนไม่ได้มันลดลง นี่แหละพออาการกลัวสุดขีดมันลดลงนี่นะ เราจะรู้สึกจิตใจมันปลอดโปร่ง จิตใจมันสบายขึ้น นี่เรียกว่า เห็นอาการไม่เที่ยงของอาการหดแคบของจิตแล้ว
ถ้าเห็นไปเรื่อยๆนะครับ มันอาจจะยังกลัวอยู่ แต่กลัวน้อยลง แล้วก็รู้สึกว่า สิ่งที่น่ากลัวที่สุด ก็คืออาการปรุงแต่งไปเองของจิตนั่นแหละ เราจะรู้สึกขึ้นมาชัดๆเลยว่า ทั้งหลายทั้งปวง ส่วนใหญ่แล้วมันเกิดขึ้นที่ความคิด ที่จินตนาการ ที่อุปาทานไปเองทั้งสิ้น ไม่ได้มีอะไรที่เข้ามากระทบเราอยู่จริงๆหรอก
แม้แต่สมมุติว่าเราเจริญสติไปเรื่อยๆแล้วสามารถเห็นความไม่เที่ยงของอาการหดแคบของจิต แล้วก็เห็นความไม่เที่ยงของอาการหดแคบของจิตไปนานๆเข้าจนเกิดความเคยชิน จนเกิดความชำนาญ ชำนาญที่จะมีสติ ชำนาญที่จะเห็น ณ ขณะจุดเกิดเหตุ เวลาที่มันเกิดขึ้นทุกครั้ง เราเห็นทุกครั้งนี่ ผลในระยะยาวก็คือว่า ต่อให้เกิดสถานการณ์จวนเจียนเข้ามาพิสูจน์ใจจริงๆว่าเรายังกลัวตายอยู่หรือเปล่า เห็นอาการที่จิตมันกลัวตายเวลาใกล้จะประสบอุบัติภัยหรือมีสถานการณ์ล่อแหลมเข้ามานี่ จิตมันจะเกิดอัตโนมัติเข้ามาเห็นอาการหดแคบของตัวเอง เห็นความมืดของตัวเอง แล้วรู้สึกว่า เออ มันมีอยู่แค่นี้เอง ไม่ได้มีอะไรเลย
ที่สุดแล้ว ต่อให้จะต้องตายไปจริงๆนี่ถ้าหากจิตไม่หดแคบมันจะมีสติ มันจะมีความสว่าง มันจะมีความปลอดโปร่ง แล้วความปลอดโปร่ง ความมีสตินั่นแหละ ตัวนี้แหละที่จะทำให้ไม่กลัว ตัวความรู้สึกว่า เออ ไม่เห็นจะมีอะไร นอกจากอาการของใจทั้งชีวิตของเรานี่ มีแต่อาการของใจอย่างใดอย่างหนึ่งปรากฏอยู่ตลอดเวลา แล้วก็คลี่คลายกลายเป็นอื่นอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน
เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้เรื่อยๆ เมื่อรู้สึกว่าแม้กระทั่ง เกิดเหตุจวนเจียนมาพิสูจน์ใจ เราก็ไม่กลัวตายนี่ ในที่สุดมันจะรู้สึกแบบที่ชัดเจนยิ่งๆขึ้นไป เกิดความแจ่มแจ้งขึ้นไปว่า อาการของใจไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของเรา สักแต่เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่งที่มันปรากฏปรุงแต่งด้วยอะไรอย่างหนึ่งมากระทบ ถ้าหากว่าเราไม่คิดต่อ ถ้าหากว่าเราไม่ปักใจคิดมากลงไปในอาการนั้นๆ ในที่สุดอาการนั้นๆจะแสดงความคลี่คลายกลายเป็นอื่นให้ดูเสมอ นี่ตรงนี้มันจะเป็นปัญญา มันจะเป็นพุทธิปัญญา เกิดความสว่างแจ่มแจ้งขึ้นมา โดยที่ไม่มีความคิดต่อ ไปในทางที่ปรุงแต่งแบบอื่นๆ ตรงนี้แหละที่จะเกิดสมาธิ
จำไว้เลยว่า เมื่อเกิดการเห็นภาวะความไม่เที่ยงของใจ แล้วไม่มีความคิดปรุงแต่งต่อ ไม่มีอาการคิดซ้ำ ไม่มีอาการย้อนกลับมาว่า เอ๊ะ! มันจะมีอะไรหรือเปล่า มีแต่ความนิ่งเงียบ มีแต่ความรู้สึกปลอดโปร่งอยู่ นั่นน่ะตรงนั้นน่ะ สมาธิที่ท่านเรียกว่าเป็นสัมมาสมาธิจะปรากฏต่อเนื่องมาในเวลาไม่นานนะครับ ก็ฝึกไปจนกระทั่งมีความตั้งมั่น อย่างนี้แหละที่มันจะหายกลัวผีได้จริงๆ
๒) เคยได้ยินว่าถ้ารักษาศีลโดยไม่เคยสมาทานศีลเลย ก็จะไม่ได้บุญจากการรักษาศีลนั้น จริงหรือเปล่า?
ไม่จริงนะครับ อธิบายแยกอย่างนี้นะครับ สมมุติว่าเราถูกยั่วยุให้ฆ่าสัตว์ หรือถูกยั่วยุให้ขโมยของหรือว่าลักทรัพย์ใคร มีโอกาสแล้ว แล้วถูกยั่วยุแล้ว แต่เราไม่ทำ ฝืนใจไม่ทำนี่ ห้ามใจไว้ไม่ทำ ทั้งๆที่อยากจะทำ ทั้งๆที่เห็นโอกาส ทั้งๆที่มีโอกาส นี่อย่างนี้เรียกว่าได้บุญแล้ว ถือว่าเป็นการรักษาศีลแล้ว
แต่ที่มันจะแน่นอนหรือไม่แน่นอนนี่ มันขึ้นอยู่กับความเข้าใจชีวิต ขึ้นอยู่กับว่าเรามีศรัทธาในอะไรบ้าง ในใครบ้าง คือคนที่ห้ามใจตัวเอง คนที่ฝืนใจตัวเอง ไม่ทำผิดศีลนี่ บางทีมันเป็นแค่อารมณ์ชั่ววูบ เป็นแค่มโนธรรม เป็นแค่มนุษยธรรมที่มันปรากฏตัวขึ้นมาชนะอำนาจกิเลส ยังไม่ได้ประกันว่าครั้งต่อๆไป เราจะทำหรือไม่ทำ เพราะไม่ได้ตั้งใจไว้ก่อน
ทีนี้ถ้าเราศรัทธาพุทธศาสนาแล้ว เชื่อแล้ว เรื่องการเวียนว่ายตายเกิดตามเหตุปัจจัย คือสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม เรากลัว เราละอายต่อบาป ด้วยความไม่อยากจะต้องไปตกทุกข์ได้ยาก เพราะบาปที่ทำนั้น แล้วตั้งใจรักษาศีลตลอดชีวิต เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี ละขาดจากการมุสา ละขาดจากการกินเหล้าเมายา อย่างนี้เรียกว่าเป็นการสมาทานศีลอย่างสมบูรณ์ เป็นการตั้งใจจะเว้นขาดชั่วชีวิตเลย
บุญอันเกิดจากการรักษาศีล ไม่ได้เกิดขึ้นนะเวลาที่เราสมาทานศีล สมาทานนี่ก็แปลว่าตั้งใจรักษาศีล ถือปฏิบัติเอาตลอดชีวิต มันไม่ได้เกิดขึ้น ณ ตอนนั้นอย่างเต็มที่นะครับ มันเกิดขึ้นก็จริง เป็นความตั้งใจที่ดี แต่ยังไม่ได้เกิดขึ้นเต็มรูปแบบ บุญที่เกิดจากการสมาทานศีลตลอดชีวิต จะเกิดเต็มที่ต่อเมื่อเราตายไป โดยสามารถจะรักษาศีลได้ต่างหาก หมายความว่า นับจากสมาทานศีลนี่ ชั่วชีวิตเราไม่ประพฤติผิด ไม่ละเมิดศีลอีกเลย ได้ตามความตั้งใจ แม้จะถูกยั่วยุต่างๆนานา อย่างไรก็ตามนี่ เรียกว่านี่ได้บุญจากการรักษาศีลอย่างแท้จริง
บุญนั้นจะหนักพอที่จะพาให้เราไม่ต้องตกต่ำไปเป็นสัตว์นรก ไม่ต้องตกต่ำไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน ไม่ต้องตกต่ำไปเป็นเปรต แล้วถ้าหากกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ก็จะเป็นผู้มีบุญ คือศีลที่รักษาได้ตลอดชีวิตนั้น จะทำให้เกิดในตระกูลสูง จะทำให้จิตใจและร่างกายมีความสว่างพร้อม หมายความว่าสุขภาพก็ดี และจิตใจก็เต็มที่ ไม่มีความขาดตกบกพร่อง ไม่ใช่คนที่อ่อนแอด้วยโรค ไม่ใช่คนที่มีความคิดมาก หรือว่าอาการซึมเศร้ามาแต่กำเนิดอะไรแบบนั้น นี่เรียกว่าเป็นอานิสงส์ของการรักษาศีลได้ นี่ต้องทำความเข้าใจกันเป็นชั้นๆ
คือไม่ใช่บอกว่า ถ้ารักษาศีลโดยไม่สมาทานศีลเลยก็จะไม่ได้บุญจากการรักษาศีล อันนี้ไม่ถูกนะครับ คือแม้แต่กระทั่งว่าเราไม่เชื่อพุทธศาสนา ไม่ได้เป็นคนของพระพุทธศาสนา ไม่เคยสมาทานศีลเลย แต่แค่ห้ามใจที่จะไม่ประพฤติผิดในศีลข้อใดข้อหนึ่ง นี่ก็ได้บุญแล้วนะครับ
แต่ที่จะได้บุญจริงๆขนานแท้จากการรักษาศีลแบบพุทธศาสนิกชนนี่ ก็ต้องสมาทานศีลเว้นขาดตลอดชีวิต แล้วทำได้ตลอดชีวิตจริงๆ หรือเอาเป็นช่วงๆก็ได้ อย่างสมมุติว่า เราตั้งใจที่จะเว้นขาดจากการประพฤติผิดในบาปทั้งปวงนี่ เราตั้งใจไว้ว่า ต่อไปนี้จะไม่ทำอีก และทำไปได้ ๓ ปี ๓ ปีนั้นบริสุทธิ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลย ไม่มีมลทินเลย จากการประพฤติล่วงละเมิดศีล ก็เรียกว่าได้บุญไป ๓ ปีแล้ว และขึ้นปีที่ ๔ มันไปทำผิดคิดร้าย ไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไปโกหกเขา ไปกินเหล้า อะไรต่างๆนี่ บุญ ๓ ปีที่รักษาศีลมาก็ไม่ได้หายไปไหน ก็ถือว่าเป็นผู้มีบุญจากการรักษาศีลได้ ๓ ปีแล้ว
ขาดคือตรงนั้นก็จะกลายเป็นว่า ทำบุญมากองภูเขาเลย ๓ ปี เสร็จแล้วมาล้มละลายทางศีลธรรม ขึ้นปีที่ ๔ กลายเป็นคนบาปไป อย่างนี้เวลาที่กรรมเผล็ดผล ก็จะเป็นผู้ที่มีความสมบูรณ์พูนสุขจากการเป็นผู้รักษาศีลได้ ๓ ปี เสร็จแล้วก็จะเกิดความไม่แน่ไม่นอนในชีวิตขึ้นมา พอวิบากของการผิดศีลมันเผล็ดผล ก็เปลี่ยนจากดีกลายเป็นร้าย กลับจากหน้ามือเป็นหลังมือได้
อันนี้คือเรื่องของความซับซ้อนในการก่อกรรม ถ้าหากว่ารักษาศีลได้ตลอดก็ดีได้ตลอดนะครับ เวลากรรมเผล็ดผลนี่ ก็จะมีแต่สุขกับสุข มีแต่รุ่งกับรุ่ง โอกาสที่จะร่วงลงมานี่ยากมาก อย่างบางคนนี่นะ รักษาศีลได้ตลอดชีวิตในชาติก่อน ชาตินี้มีแต่ดีกับดี ต่อให้ทำชั่ว ต่อให้ไปหมกมุ่นอบายมุขอะไรสักช่วงหนึ่ง สมมุติว่าเดือนสองเดือนนี่ ก็ไม่มีผล ก็ยังหน้าตาสว่างไสวอยู่ ดูดีอยู่ ไปโกงบ้านโกงเมือง ไปเผาบ้านเผาเมือง หรือว่าไปยุยงให้ใครเค้าแตกแยกกันนี่ อย่างนี้ ก็ยังไม่ร่วง เพราะอำนาจของการเคยรักษาศีลได้ตลอดชีวิตนี่ มันยังดีอยู่ มันยังให้ผลอยู่
แต่ในที่สุดนะครับ คือถ้าทำกรรมใหม่ ไปหมกมุ่นอบายมุข ไปเป็นชู้ ไปโกหกมดเท็จ อะไรต่อมิอะไรต่างๆนี่จนกระทั่งบุญเก่าเสื่อม บุญเก่านี่ยอมแพ้ ทำได้สัก ๒ ปี ๕ ปีนี่ อย่างไรๆบุญเก่าก็ต้องแพ้ ถ้าหากว่าบาปใหม่มันหนักเหลือเกิน มันหนักอึ้งจริงๆนี่ บุญเก่าล่าถอยไป ก็จะเห็นได้จากการที่หน้าตาคล้ำหมอง ทำอะไรนี่ผิดพลาดไปหมด หรือว่าที่เคยรุ่ง ที่เคยมีแต่ดีกับดี ได้กับได้นี่ มันก็กลายเป็นเสียกับเสียอะไรไปแบบนั้น เวลาตายก็จะตายแบบไม่ดี หรือว่าหน้าตาไม่ผ่องใส เห็นเลยว่าสภาพไม่สวยตอนที่จะไป อะไรแบบนี้
นี่ก็เป็นเรื่องที่เราต้องเน้นความเข้าใจเรื่องตรงนี้กันดีๆเลย แล้วก็จะเกิดความมีศรัทธาในเรื่องของกรรมและวิบากตามหลักของพุทธศาสนาจริงๆ คืออะไรก็แล้วแต่ที่เราทำอยู่เป็นประจำนี่มันเห็นผลเดี๋ยวนี้เลย ไม่ใช่ว่าจะมีบุญเก่าหรือว่ามีบาปเก่ามา แล้วเราจะเอาชนะไม่ได้ด้วยกรรมใหม่นะครับ บุญใหม่เอาชนะบาปเก่าได้ แล้วก็ในขณะเดียวกันตรงกันข้าม บาปใหม่สามารถที่จะเอาชนะบุญเก่าได้เช่นกัน
๓) เวลาเราภาวนาเราไม่สามารถตัดความอยากรู้อยากเห็นสงสัยเกี่ยวกับสภาวธรรม แล้วเราควรจะทำอย่างไรกับมัน? คือเกิดความอยาก แล้วพอเกิดความอยากขึ้นมา ก็ฟุ้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย
ขออภัยนะครับ เน็ตหลุดอีกแล้ว หลายวันนี้เจอปัญหานี้ตลอด สำหรับคำถามที่ผมตอบค้างไว้ ขอมาต่อที่ตรงนี้
ถ้าหากว่าเรารู้ตัวว่าเป็นคนที่ช่างคิด ช่างสงสัย ก็เป็นกันทั้งนั้นแหละนะไอ้ความขี้สงสัย ไอ้ความรู้สึกว่าไม่แน่ใจ การที่จะเจริญสติแบบแน่ใจได้ว่ารู้ถูก ก็ให้ถามตัวเองว่ากำลังหายใจเข้าหรือหายใจออกอยู่ อย่างนี้ชัวร์ว่าหากตอบถูกก็ไม่ผิดจากสภาวะความเป็นจริงในปัจจุบันแน่ๆ
และเมื่อรู้ไปเรื่อยๆเห็นมันยาวบ้าง สั้นบ้าง ก็จะยิ่งหายสงสัยมากขึ้นเรื่อยๆ จนสังเกตเข้ามาได้ว่า แต่ละระลอกลมหายใจมีความสบายหรือว่าอึดอัด ตรงความเห็นว่าสุขหรือทุกข์นั้นเอง จะช่วยให้แบ่งแยกได้ชัด ประณีตขึ้นเรื่อยๆว่าสภาวะของจิตเป็นอย่างไรอยู่ในแต่ละขณะครับ
เอาละครับ ราตรีสวัสดิ์ครับ ขอให้เจริญในธรรมด้วยกันทุกท่านครับ
« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น