วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๑๔ / วันที่ ๒๐ ก.พ. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้ วันจันทร์ที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงและเพื่อจะทักทายไถ่ถาม ให้เข้ามาที่ http://www.facebook.com/HowfarBooks

หลายคนไม่สบายช่วงนี้นะครับ ตอนบ่ายผมเองก็มีอาการเหมือนกันแต่กินยาแล้วโอเค อย่างไรดูแลสุขภาพกันดีๆนะครับ ท่ามกลางอากาศเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาวแบบไม่ให้ทันตั้งเนื้อตั้งตัวอย่างนี้แข็งแรงแค่ไหนก็ประมาทไม่ได้ครับ เอาละครับก็มาถึงคำถามแรกกัน วันนี้ก็บางคนบอกว่าได้ยิน บางคนก็บอกว่ายังไม่ได้ยินเสียงนะ แต่ผมได้ยินเสียงตัวเองแล้วล่ะ นะครับก็คิดว่าคงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร



๑) ถ้ามีความจำเป็นต้องดื่มแอลกอฮอล์ผสมกับยาแผนโบราณเพื่อรักษาโรคถือว่าผิดศีลไหมคะ ถึงจะแค่ยี่สิบดีกรี วันละหนึ่งช้อนชา ก็รู้สึกผิดอยู่ดีค่ะ เพราะปกติมากสุดจะดื่มแค่ยาธาตุ?

อันนี้เคยมีพระนะครับ ที่น่าเชื่อถือท่านเคยวิเคราะห์ไว้นะว่าขนาดพระนะ เป็นพระนะครับ ถ้าหากว่า ฆราวาสถวายอาหารบางอย่าง ขนมบางอย่างหรือยาบางอย่างที่มีส่วนผสมเป็นสุรานะ แต่ปริมาณน้อย น้อยมากๆ คือเจตนานี่ เพื่อที่จะปรุงรสหรือเพื่อที่จะใช้เป็นตัวยา อย่างนี้ไม่ถือว่าผิดพระวินัย

เพราะฉะนั้นสำหรับฆราวาสก็หายห่วงได้นะครับ ไม่มีปัญหา เพราะว่าการที่เราจะรักษาศีลข้อห้านี่เราก็ต้องดูที่เจตนา ว่าถ้าดื่มเพื่อความมึนเมา ดื่มเพื่อความบันเทิง ดื่มแล้วบั่นทอนสติ รู้ทั้งรู้ว่าจะบั่นทอนกำลังของสติลง เราก็ยังขืนดื่มไปเพื่อความบันเทิงอันนั้นแหละผิดศีล

แต่ถ้าหากว่า เป็นการเอาส่วนผสมของสุราหรือว่ามีกลิ่นของสุรามาผสมอาหารด้วยเจตนาที่จะปรุงรส ชูรส หรือว่าด้วยเจตนาจะใช้ในการรักษาโรค แบบนี้เจตนามันคนละอย่างกันนะ ขอให้สังเกตดูก็แล้วกันนะว่า เมื่อส่วนผสมนั้นเข้าไปในปากแล้วเรามีอาการมึนเมาหรือเปล่า เรามีอาการร่าเริงบันเทิงอันเนื่องจากการย้อมใจด้วยพิษสุรารึเปล่า ถ้าหากว่ามีเจตนาแม้แต่นิดเดียวที่อยากจะกินส่วนผสมของอาหารที่เป็นสุรา โดยอ้างว่าเป็นส่วนประกอบของยา หรือว่า บอกว่าไม่เป็นไร ทั้งๆที่จริงๆ แล้วมันเป็นไปเพื่อที่จะกินเหล้านั่นแหละ อย่างนั้นแหละมันเริ่มที่จะด่างพร้อยแล้ว แต่ถ้าหากว่าจะตัดสินกันจริงๆ ก็ขอให้ดูเถอะว่าเรามุ่งที่จะเอาเข้าปากนี่ด้วยเหตุผลอะไรนะครับ ถ้าหากว่าด้วยเหตุผลคือยานี่ไม่ต้องเป็นห่วงเลย



๒) การรับรู้สิ่งต่างๆ ด้วยจิตผู้รู้และใจที่เป็นกลาง ต่างจากการเฉยเมยไม่สนใจโลกรอบข้างอย่างไรครับ?

ก็คือถ้าหากว่าการเฉยเมยนี่ อันนี้อธิบายเป็นภาษาธรรมะก่อน เฉยในแบบที่ไม่มีสติประกอบนี่ เขาเรียกว่าเฉยแบบมีโมหะ เฉยแบบที่มีความรู้สึกว่ามีตัวเราอยู่ มีความรู้สึกว่า มีอะไรอย่างหนึ่งที่เป็นตัวเป็นตนจะเป็นความรู้สึกในขณะนั้นหรือว่าจะเป็นลักษณะท่าทาง หรือว่าความร้อนความหนาวอะไรต่างๆ ที่มันเคยชินนะ ความรู้สึกที่ประกอบด้วยโมหะมันจะมีความรู้สึกเป็นเรา เป็นตัวเป็นตนนะ เป็นก้อนอะไรก้อนหนึ่งที่มีความคงที่อยู่

แต่ถ้าหากว่ารับรู้สิ่งต่างๆ ด้วยจิตผู้รู้และใจที่เป็นกลางนั่นก็คือมีอุเบกขา อย่างมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน ดังนั้นการรับรู้จะไม่เป็นไปแบบมีโมหะ แต่จะประกอบด้วยปัญญานะครับ สิ่งที่มันเป็นประสบการณ์ตรงก็คือเราจะรู้สึกถึงความไม่มีตัวตนเพราะว่าสิ่งทั้งหลายที่กำลังปรากฏต่อจิต ณ บัดนั้นนี่ แสดงความไม่เที่ยง หรือว่าเรากำลังเห็นโดยสักแต่ว่าเป็นทาสธรรม อย่างเช่นยกตัวอย่างเรานั่งอยู่ในขณะนี้ ถ้าหากว่าฟังอยู่เฉยๆ ผมพูดอะไรไปนี่ก็รู้บ้างไม่รู้บ้างเดี๋ยวสติแวบไปทางนู้นบ้าง เดี๋ยวกลับมาฟังเสียงผมบ้าง อย่างนี้นี่เรียกว่าการมีสติแบบโลกๆ คือฟังบ้างไม่ฟังบ้าง

แต่ถ้าหากว่าเรานั่งอยู่เฉยๆ แล้วมีความรู้สึกว่า มีความรู้สึกเหมือนไม่รู้สึกรู้สาเหมือนไม่ได้ทุกข์ ไม่ได้สุข แต่จมอยู่ในอาการซึมนะ จิตแบบนั้นนี่ที่แน่ๆคือไม่ตื่นไม่รู้ แต่เหมือนมีอาการที่มันถูกครอบด้วยโมหะ ถูกครอบด้วยอะไรบางอย่างที่มันพร่าๆ มัวๆ แล้วก็ประกอบด้วยความรู้สึกชัดเจนเลยว่า นี่มีตัวเรา มีตัวเราคือรู้สึกเฉยๆอยู่

แต่ถ้าหากเห็นอาการรู้สึกเฉยๆนั้น หรือเห็นแค่ลมหายใจเดี๋ยวเข้าเดี๋ยวออกแล้วรู้ว่าอาการหายใจเข้า หายใจออกนี่ มันไม่มีตรงไหนที่เที่ยงเลยสักจังหวะเดียวนะ เข้าแล้วก็ออก ยาวแล้วก็สั้น เดี๋ยวมันก็หยุดเดี๋ยวมันก็เข้าใหม่ เดี๋ยวมันก็ออกมา กระทั่งความรู้สึกเฉยเมย ความรู้สึกไม่รู้ไม่ชี้ เราก็เห็นว่าพอมีสติจับเข้าไปที่อาการเฉยเมยนั้น อาการเฉยเมยมันแปรไป กลายเป็นอาการตื่นรู้ รู้สึกถึงกาย รู้สึกถึงท่านั่งขึ้นมา รู้สึกถึงความเป็นลมหายใจเข้าออกขึ้นมา และก็เริ่มเห็นความไม่เที่ยง ตรงนั้นแหละคือปัญญาเกิดขึ้นอ่อนๆ พอเห็นความไม่เที่ยงทุกครั้ง แล้วจิตมันจะถอยออกมาเป็นผู้สังเกตการณ์ เป็นผู้รู้อย่างที่พระพุทธเจ้าใช้คำในอานาปานสติสุขก็ คือ เราจะเป็นผู้รู้กองลมทั้งปวง

นั่นก็คือตัวสภาพของจิตที่ถอยออกมาเป็นผู้รู้ผู้ดูนี่ เขาจะหมายมั่น เขาจะกำหนดหมายรู้ว่าสิ่งที่ถูกรู้ คือกองลมทั้งปวงนี่มีความไม่เที่ยงหรือแม้แต่อารมณ์สุข ทุกข์ หรือแม้แต่อารมณ์เฉยเมย หรือแม้แต่อาการที่คล้ายๆกับว่า ไม่รู้สึกรู้สาอะไรเลยนี่นะ เขาจะสังเกตเห็นถึงความแปรปรวนไป ถึงความไม่เท่ากัน ไม่เสมอกันในระดับดีกรีของความรู้สึก ตัวความสามารถที่จะเห็น ตัวความสามารถที่จะถอยออกมารู้ ว่าอะไรๆ นะ ภายในขอบเขตของกายใจมันไม่เที่ยงนี่แหละ สภาพตื่นรู้ของจิต ณ บัดนั้นนี่เรียกว่าเป็นจิตที่ประกอบด้วยปัญญาไม่ใช่จิตที่ประกอบด้วยโมหะปกตินะครับ



๓) รบกวนอาจารย์ชี้ทางหน่อยนะคะ มีเหตุปัจจัยอะไรทั้งภายในใจตัวเราเองและสิ่งภายนอกที่ทำให้เราเป็นคนไม่จริงจัง กับเรื่องต่างๆ ทั้งชีวิตและการทำงานเหมือนจะกลายเป็นคนหยิบหย่ง ท่าดีทีเหลวตลอด ทำให้รู้สึกแย่กับตัวเอง แล้วก็มีวิธีตั้งจิตอย่างไรที่จะให้มีความจริงจังมุ่งมั่นกว่านี้?

เอาคำถามนี้ก่อนนะครับ ถ้าหากว่ารู้ตัวว่าเป็นคนที่หยิบหย่งไม่ค่อยจะเอาจริงเอาจัง หรือโดนถูกว่าถูกตำหนิว่าท่าดีทีเหลว ก็ขอให้มองเป็นจิตก็แล้วกัน จิตของเรานี่ไม่พุ่งตรงไปสู่เป้าหมาย จิตของเรายังอ้อยอิ่งอยู่ หันซ้ายหันขวาเหลียวหน้าเหลียวหลังอยู่ที่จุดเริ่มต้น หรือไม่ก็ก้าวเข้ามาจากจุดเริ่มต้นแป๊บๆเสร็จแล้วก็มีอาการแช่อิ่มอยู่ หรือไม่ก็หนักกว่านั้นถอยกลับไปที่ก้าวแรกแล้วก็หาทิศทางใหม่ที่จะก้าวเดินต่อ

อย่างนั้นนี่เป็นจิตที่พูดง่ายๆว่ามีความซัดส่ายไม่มีความแน่นอน ไม่มีความพุ่งตรงไปแบบสมาธิ เปรียบเทียบง่ายๆก็คือจิตของเรานี่เป็นจิตที่ฟุ้งซ่านแล้วก็คิดย้อนไปย้อนมา แตกต่างจากคนที่ทำอะไรจริงจัง แตกต่างจากคนที่ทำอะไรสำเร็จมุ่งตรงไปหาเส้นชัยตั้งแต่ก้าวแรกจนถึงก้าวสุดท้ายโดยไม่ย่อท้อ

จิตที่มันต่างกัน ถ้าเราตีโจทย์เป็นจิตนี่มันจะดูง่ายขึ้นว่าจะให้ทำอย่างไรก็เปลี่ยนจากลักษณะของจิตฟุ้งซ่านให้กลายเป็นจิตที่เป็นสมาธิแค่นั้นเอง เปลี่ยนจากจิตที่ไม่มีกำลังก้าวเดินไปทีละก้าวไปตามลำดับ เป็นจิตที่มีกำลังที่จะก้าวไปอย่างคงเส้นคงวานะครับ และก็มีจังหวะจะโคนที่ไม่วอกแวกไม่หวั่นไหว ถ้าหากว่าเรามีวิธีอะไรทั้งในเรื่องของการใช้ชีวิตประจำวัน แล้วก็ในเรื่องของการเจริญสติ เปลี่ยนลักษณะของจิตที่ซัดส่ายแกว่งไปแกว่งมาให้กลายเป็นจิตที่พุ่งตรงไปข้างหน้าได้อันนั้นแหละ ก็จะเปลี่ยนลักษณะนิสัยและชีวิตทั้งชีวิตของเราออกมาจากข้างในของเราได้เลยทันทีนะครับ

วิธีง่ายๆอุบายง่ายๆอาจจะไม่ได้สามารถที่จะแอพพลายได้กับทุกคน แต่โดยทั่วไปนะขอให้อาศัยหลักการที่ว่า ถ้าอยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้อาศัยกำลังของบุญกุศลและแสงสว่างเป็นหลัก เป็นเครื่องตั้ง แล้วจะง่าย คือผมไม่ได้บอกว่าทุกคนจะต้องมาเริ่มต้นแบบนี้กันทั้งโลกเพราะว่าศรัทธาของคนแตกต่างกัน ถ้าหากว่าเราศรัทธาในพุทธศาสนา ศรัทธาพระพุทธเจ้า ศรัทธาในเรื่องของผลแห่งกรรม ศรัทธาในเรื่องของบุญของกุศลเราต้องฟังคำแนะนำจากทางพุทธว่า เบื้องต้นที่ใจของเราจะมีกำลังได้ ต้องอาศัยบุญต้องอาศัยความสว่างต้องอาศัยความเป็นกุศล ไม่ใช่อาศัยบาปหรืออาศัยแต่ความตั้งหน้าตั้งตาทำความเพียรอย่างเดียว เพราะว่าตั้งหน้าตั้งตาทำความเพียรอย่างเดียวบางทีจิตใจมันแห้งแล้ง จิตใจที่แห้งแล้งนี่ มันไม่มีความชุ่มชื่นมากพอที่จะนิ่งพอ ไม่มีความชุ่มชื่นมากพอที่จะนิ่ง มันก็กวัดแกว่งมันก็จะซัดส่ายไม่เป็นสมาธิ ถ้าหากมอง ถ้าตีโจทย์เป็นจิตมันจะง่ายอย่างนี้

ถ้าหากว่าเรามองเห็นประโยชน์ของบุญของกุศลว่าเป็นตัวหล่อเลี้ยง เป็นความชุ่มชื่นให้กับจิต เป็นตัวทำให้เกิดความระงับความกระสับกระส่าย ใจนี่ไม่วอกแวกไปไหนได้ แล้วก็จะเห็นนะครับว่าร่างกายก็จะตอบสนองเป็นความมีกำลัง ที่จะเป็นเครื่องตั้งของสมาธิจิตได้ต่อๆไปได้นานต่อเนื่องไม่ล้มลุกคลุกคลานเสียก่อน

เมื่อทำความเข้าใจโดยภาพรวมแบบนี้แล้วถามว่า บุญอันเป็นเครื่องตั้งจะให้ทำอะไรล่ะ ทำอะไรก็ได้ที่เป็นสิ่งที่เราพอใจที่จะทำ อย่างเช่น จะใส่บาตรพระง่ายๆเลย หรือว่าจะสวดมนต์ หรือว่าจะออกไปเลี้ยงเด็กกำพร้า เลี้ยงคนชราที่ลูกหลานทอดทิ้ง หรือว่าจะไปปล่อยนกปล่อยปลา ไปวัด ไปไหว้ครูบาอาจารย์อะไรที่ไหนก็แล้วแต่นะครับ อะไรก็แล้วแต่ที่เรารู้อยู่แก่ใจว่า ทำแล้วเกิดความชุ่มชื่น ทำแล้วเกิดความปีติ ทำแล้วเกิดความสบายใจอันนั้นแหละเครื่องตั้งของสมาธิ

สำคัญก็คือว่าความชุ่มชื่นที่เราจะเอามาหล่อเลี้ยงจิตใจนั้นต้องมีความต่อเนื่อง ต้องไหลมาเทมาเหมือนสายน้ำที่มันไม่หยุด ถ้าหากว่าเราทำแค่ครั้งสองครั้งอย่างนั้นไม่ได้ชื่อว่าเป็นการทำบุญเพื่อที่จะอุดหนุนให้จิตนี่เกิดความตั้งมั่นเป็นสมาธิขึ้นมา เราต้องเลือกบุญอะไรบางอย่างที่มีความแน่นอน มันเกิดขึ้นซ้ำๆทุกวันได้ยิ่งดี และก็เห็นจะไม่มีอะไรเกินไปกว่าการสวดมนต์ เพราะว่าบางคนอ้างว่ายังทำสมาธิไม่เก่ง แต่ว่าเรื่องสวดมนต์เป็นของง่าย เป็นของที่ทำได้กันทั้งนั้น ปัญหาก็คือหลายคนสวดแล้ว รู้สึกว่าจิตใจไม่ได้ชุ่มชื่น ไม่ได้อินไปกับบทสวด นั่นก็เป็นเพราะว่าสวดน้อยเกินไป หรือไม่ก็สวดแบบตั้งใจมากเกินไป หรือไม่ก็สวดแบบปล่อยใจฟุ้งซ่านซัดส่าย

ทำอย่างไรถึงจะเป็นสมาธิขึ้นมาได้ สวดมนต์ให้เป็นสมาธินะ วิธีอุบายง่ายๆคือตั้งใจไว้เลยว่าจะสวดเจ็ดจบ เจ็ดจบนี่นะ แต่ละจบนี่ให้สังเกตดูเข้ามาที่อาการทางกายทางใจ รอบแรกมีอาการกระสับกระส่ายแค่ไหน มีความฟุ้งซ่านแค่ไหน มันต้องมีฟุ้งซ่านแน่ๆ มันต้องกระสับกระส่ายแน่ๆมันต้องมีความรู้สึกฝืนหรือไม่อยากทำให้สำเร็จ ไม่อยากต่อให้ครบเจ็ดจบแน่ๆ แต่พอขึ้นรอบสอง เราสังเกตความแตกต่างไปว่า ร่างกายกับจิตใจนี่มีความสงบลงไหม มีความระงับอาการกวัดแกว่งลงไหม ถ้าหากว่ายังไม่ระงับก็ไม่ต้องไปบังคับให้ระงับแต่ยอมรับตามจริงไปว่า รอบสองก็ไม่ระงับอยู่ดี แต่พอขึ้นรอบสามหรือรอบสี่มันต้องมีความแตกต่างแน่ๆ อาการทางใจไม่ว่าจะเป็นความชุ่มชื่น ไม่ว่าจะเป็นความสว่าง ไม่ว่าจะเป็นความโล่ง ไม่ว่าจะเป็นความสงบระงับอาการฟุ้งซ่านใดๆก็แล้วแต่ ตรงนั้นให้จำไว้ว่ารอบนี้นะมันแตกต่างจากรอบก่อนๆแล้ว

ถ้าหากเราสามารถเห็นได้ทั้งเจ็ดจบว่าแต่ละจบจิตมันไม่เหมือนเดิมเลยแม้แต่ละจบเดียว นี่เรียกว่าเป็นการเห็นความไม่เที่ยง มันจะมีความปีตินะ เราเห็นอะไรบางอย่างที่แตกต่างไป ทั้งความฟุ้งซ่านที่ลดระดับลงนะครับ ทำให้เกิดกำลังใจตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่าจิตของเรามันมีความสามารถที่จะลดความฟุ้งซ่านลงได้ มีความสามารถที่จะมุ่งมั่นแน่วแน่ให้ครบเจ็ดจบอย่างมีความสุขได้ แล้วถ้าหากว่ากำลังบุญเรามีความแน่นหนาแม่นพอ ยกตัวอย่างเช่นและถ้าหากว่าทำสำเร็จสวดมนต์ได้เจ็ดจบทุกวันไปสักหนึ่งเดือนหรือสองเดือน เราจะมีความรู้สึกมั่นใจในตัวเองขึ้นมาว่า อืม..เราทำได้ เราทำสำเร็จและเราไม่ใช่คนที่เบี้ยวกับตัวเองอีกต่อไป เราสามารถทำบุญอะไรบางอย่างที่เป็นหลักเป็นเครื่องตั้ง ที่จะเป็นคนมีความคงเส้นคงวากับตัวเอง รักษาสัตย์กับตัวเองได้ รักษาสัจจะกับตัวเองได้

เมื่อมีความพอใจกับกำลังบุญต่อไป เมื่อเราตั้งใจทำอะไรลงไปนี่จิตจะเริ่มพุ่งตรงไปข้างหน้า มันจะไม่มีอาการอะไรซัดส่ายเหมือนกับที่ผ่านมา เราจะสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนเลย อาการของจิตที่มีความซัดส่ายนี่นะมันจะวนๆ รอบๆตัวเองนี่แหละ ไม่ไปไหน แล้วคิดนี่จะคิดกลับไปกลับมาย้อนไปย้อนมา อุตส่าห์ก้าวไปหนึ่ง สอง สาม แล้วย้อนกลับมาก้าวที่สองใหม่ ย้อนกลับมาก้าวที่หนึ่งใหม่

แต่ถ้าหากว่ามีความชุ่มชื่น มีความโปร่งโล่ง มีความรู้สึกชัดเจนว่าเราจะทำอะไรจริงๆจิตใจนี่มันจะเหมือนกับเปิด เหมือนกับฟ้าเปิด เหมือนกับทุ่งโล่งที่ไม่มีพายุซัด เราสามารถที่จะเดินอย่างสบายๆไปทีละก้าวได้แล้วเราก็ไม่รีบร้อน ไม่ได้เร่งว่าเมื่อไหร่จะถึงสักที ในขณะเดียวกันเราก็ไม่อุทธรณ์เราก็ไม่สงสารตัวเองว่าทำไมเราจะต้องมาลำบากลำบนแบบนี้ เพราะว่ามีความชุ่มชื่นอยู่ มีความปีติหล่อเลี้ยงใจอยู่ว่าเรากำลังทำสิ่งก่อให้เกิดความมั่นคงทางจิตใจ ไม่ว่าทางโลกทางธรรมนะ เราจะเห็นคุณประโยชน์ของงานเสมอนะครับถ้าหากว่างานนั้นทำให้จิตใจของเรามีปีติมีความอิ่มใจ มีความอยากจะอยู่กับก้าวปัจจุบันได้นะครับ



๔) ขอถามวิธีข่มใจเอาชนะกิเลสที่มาทดสอบจิตใจด้วย?

มีวิธีเดียวที่คุณจะจำได้จริงๆตลอดชีวิต คือให้เห็นชีวิตทั้งชีวิตเป็นแบบฝึกหัด อย่ามองว่ามีแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่งกำลังมาทดสอบเรา อย่ามองว่าเราจะหาอุบายอะไรเด็ดๆที่จะเอาชนะกิเลสที่มาทดสอบจิตใจแต่ละวัน แต่ให้มองเลยว่าชีวิตทั้งชีวิตเป็นแบบฝึกหัดที่ใหญ่ที่สุด และเราต้องผ่านไปทีละวัน

ข้อดีของชีวิตนะคือว่ามันส่งปัญหามาทีละวัน มันไม่ได้มาพร้อมๆกันทุกวัน เราก็จัดการไปทีละวันนั่นแหละ ถ้าหากว่ากิเลสวันนี้มาแล้วเราพยายามหาอุบาย หาข้ออะไรที่มันพิเศษเฉพาะตัวนี่ บางทีมันอาจจะใช้ได้เฉพาะวันนี้ แต่พรุ่งนี้มะรืนนี้มันมาอีกเราลืมแล้วว่าอุบายวิธีมันคืออะไร แต่ถ้าเราจำไว้ว่านี่คือแบบฝึกหัดแล้วเราต้องผ่านไปให้ได้ตรงนั้นแหละเราจะจำได้ตลอดชีวิตเลย พระพุทธเจ้าท่านก็แนะนำ อันนี้เป็นหลักของกรรมฐานถ้าพูดถึงกิเลสนะ เรามาพูดถึงกรรมฐานนี่ พระพุทธเจ้าท่านตรัสเป็นคู่ๆไว้ว่า

ถ้าหากจะเอาชนะราคะ ให้เอาชนะด้วยอสุภกรรมฐาน
ถ้าหากจะเอาชนะพยาบาท ให้เอาชนะด้วยเมตตา การแผ่เมตตา
ถ้าหากจะเอาชนะความฟุ้งซ่าน ให้เอาปฏิปักษ์ของมันมา คือความสงบแห่งใจ
ถ้าหากจะกำจัดวิจิกิจฉาหรือความลังเลสงสัย ก็ให้เอาการทำไว้ในใจโดยแยบคาย พูดง่ายๆว่าให้พิจารณาโดยแยบคายด้วยสติปัญญาและทั้งในแบบของความคิดและในแบบของการมีความรู้สึกในภาวะต่างๆ ที่มันเป็นต้นเหตุว่ามันจะคลี่คลายไปอย่างไร ท่านให้โยนิโสมนสิการเพื่อแก้วิจิกิจฉา จริงๆเป็นอันก่อนหน้าวิจิกิจฉาที่จะเอาชนะความง่วงงุน หดหู่ ก็ต้องอาศัยอุบาย อย่างเช่นที่พระพุทธเจ้าแนะนำไว้ ครึ่งหลับครึ่งตื่นนี่นะก็ให้ทำกาย ทำใจให้เริงร่า ไปล้างหน้าไปกินน้ำเย็นทำอะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้เกิดความสดชื่นทั้งทางกายทางใจขึ้นมาได้ นี่แหละก็เป็นการแก้นะครับ



๕) ถ้าคิดวนเวียนถึงเรื่องเก่าๆ ทั้งเรื่องดีและไม่ดี ทำอย่างไรจะละได้? ปัจจุบันทำทานอยู่บ้างค่ะ เพราะอะไรใจยังไม่ค่อยสละออก?

ก็มองไป อย่าเพิ่งเร่งรัดให้มันสละออก อย่าเพิ่งเร่งรัดให้มันมีอาการของทานจิตเต็มสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะว่าจิตของคนเรานี่ต้องฝึก แม้แต่การให้ทานก็ต้องฝึกนะไม่ใช่ว่าอยู่ๆจะเป็นนักให้ทานขั้นแอดวานซ์กันได้ตั้งแต่วันแรกหรืออาทิตย์แรก

ขอให้สังเกตใจไปแล้วกัน ยอมรับตามจริง ตอนนี้เรารู้ใช่ไหมว่าใจมันยังไม่พร้อมสละออก ก็เห็นไปว่าทุกครั้งที่จะหยิบยื่นอะไรให้ใครด้วยมือนี่ มือยื่นออกไปแล้วแต่ใจมันจะคอยชักกลับ เหมือนกับมีหนังสติ๊กคอยที่จะดึงมือกลับ มันมีอาการแหนหวงอยู่ มันมีอาการรู้สึกว่าให้มากไปหรือเปล่า มันมีอาการรู้สึก หนืดๆ ฝืดๆอยู่ อย่างไรก็แล้วแต่นะ ให้ยอมรับตามจริงไป อันนี้มันจะเกิดประโยชน์ พอเราสังเกตในการให้ทานครั้งต่อๆไปนี่มันจะรู้เลยว่าอาการหนืดๆ อาการฝืดๆ แบบนั้นนี่ ยังเท่าเดิมอยู่หรือเปล่าหรือว่ามันง่ายขึ้นสบายขึ้น

ถ้าหากว่าเราสามารถเห็นว่าอาการฝืดอาการฝืนนี่มันไม่เท่ากันในแต่ละครั้ง ยอมรับตามจริงไป เดี๋ยวมันน้อยลงเดี๋ยวมันก็กลับมากขึ้นมา แบบนี้ได้ทั้งบุญคือการให้ทานคือการสละออก และบุญคือการเจริญสติเห็นภาวะทางใจที่มันไม่เท่าเดิมที่มันแตกต่างไปเรื่อยๆนั่นแหละเราจะมีกำลังใจให้เราอยากให้ทานยิ่งๆขึ้นไป เพราะมันเห็นชัดไง มันเห็นอาการหวง อาการยึดไงว่า อ้อแค่นี้เองมันแค่นี้เองเหรอที่จิตมันรั้งเราไว้ มันผูกเราไว้ มันมัดเราไว้กับกองทุกข์ กิเลสทั้งปวง แค่อาการหวงแบบไม่มีสาระไม่มีแก่นสารแบบนี้นี่เอง

ถ้าหากว่าเราเห็นจี้เข้าไปบ่อยๆเห็นอย่างยอมรับตามจริง เห็นอย่างยอมรับต้องการไปแก้ทันทีทันใด ในที่สุดแล้วการเห็นอนิจจังของความหวงมันจะกลายเป็นประโยชน์สองด้านขึ้นมา ด้านแรกคือใจมันจะสละออกมากขึ้นเรื่อยๆ เราจะรู้สึกว่าใจนี่เปิดกว้าง เราจะรู้สึกเหมือนกับปีตินี่มันเป็นสายธารหลั่งไหลมันเอ่อขึ้นมาจากไหนไม่ทราบ แล้วก็ตัวของปัญญาเองมันก็จะพัฒนา มันก็จะก้าวหน้า เวลาที่เราไม่สามารถอภัยให้ใครได้มันก็เหมือนกันมันก็แบบเดียวกันนี่แหละ อาการหวงไว้ หวงความพยาบาทไว้ หวงความเคียดแค้นไว้ ถ้าหากว่าเห็นอาการหวงพยาบาทอยู่บ่อยความพยาบาทมันก็คลายออกไม่ต่างกับการหวงของเลย

นี่เรียกว่าเป็นการได้ทั้งบารมีทางการทำทาน และบารมีทางการเจริญสติไปควบคู่กัน แล้วเราจะเห็นเลยว่าไม่มีอะไร ไม่มีสิ่งใดที่ทำให้เราเห็นอาการทางใจได้ชัดเจนเท่ากับการมีบุญช่วย คือการให้ทานนั่นแหละคือตัวบุญ และถ้าหากว่าเราให้ทานเป็น ในที่สุดแล้วจิตทั้งดวงที่มันมีความพร้อมจะให้ปกติ มันก็จะเป็นเนื้อเดียวกันกับจิตที่มีสติไปด้วย

เอาละครับคิดว่าผมต้องล่ำลากันตรงนี้ละครับคืนนี้ราตรีสวัสดิ์รักษาตัวทุกท่านนะครับ

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น