วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๗๔ / วันที่ ๙ ก.ค. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันจันทร์ที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง เพื่อจะทักทายและไถ่ถามเข้ามาในรายการนะครับให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/dungtrin



๑) ลองฝึกวิปัสสนาทั้งแบบหายใจพุทโธและพองยุบแล้ว แต่ก็ไม่เป็นสมาธิเลย มันรู้สึกอึดอัด พยายามไม่บังคับแล้ว ปล่อยให้รู้เฉยๆแต่ทำไมมันทำไม่ได้? อึดอัดเหมือนบังคับทุกที ทั้งที่ไม่ได้ไปบังคับมันเลย

ก็จริงๆบางทีเราไม่ได้บังคับ แต่อาจจะคาดหวัง แล้วก็มีความอยากที่จะสงบโดยไม่รู้ตัว เพราะคนที่ไม่อยากจะสงบ ไม่อยากจะให้มันเกิดผลใดๆแต่ว่าอยู่ในอาการที่มันถูก ที่มันตรงนี่ ในที่สุดก็จะเกิดความรู้สึกว่าใจของเรามันเข้าที่เข้าทางได้เองนะครับ

ขอให้เข้าใจอย่างนี้ว่า การที่เราไม่บังคับในความเข้าใจของเรา ในมุมมองของเราอาจจะหมายถึงการที่เราไม่ไปฝืน ไม่ไปมีความรู้สึกเกร็ง ซึ่งมันก็ใช่ แต่เราแฝงอยู่ด้วยความอยากโดยไม่รู้ตัว พอตั้งต้นขึ้นมา ทุกคนทำสมาธิเพื่ออะไร เพราะมันอยากได้อะไรสักอย่างหนึ่ง เป็นความสงบบ้าง เป็นการระงับความฟุ้งซ่านบ้าง เป็นประสิทธิภาพของจิตที่ดีขึ้นบ้าง จะได้อ่านหนังสือสอบได้บ้าง จะได้มีสมาธิในการทำงานมากขึ้นบ้าง สารพัดต่างๆ แล้วก็ส่วนใหญ่การหวังผล มักจะหวังได้ทันที อยากจะได้ทันที

ตรงนี้ถ้าเราไม่เห็นเงาของความอยากที่มันแฝงอยู่ในใจ เราก็จะไปคำนึงถึงคำเตือนของครูบาอาจารย์ในข้ออื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น อย่างเช่นที่น้องถามมานี่แหละ ก็บอกว่านี่ไม่ได้บังคับแล้วนะ ไม่ได้ฝืนแล้วนะ แต่ทำไมมันยังเกิดความรู้สึกเหมือนกับอึดอัดอยู่ ความรู้สึกอึดอัดนี่บางทีมาจากความอยากอันดับแรกเลย ขอให้ดูตรงนี้ ดูดีๆความอยากนี่หน้าตามันเป็นอย่างไร มันจะมีอาการที่คาดหวัง มันจะมีอาการที่เหมือนเริ่มต้นขึ้นมานี่เราสั่งตัวเองว่า จะต้องอย่างนั้น จะต้องอย่างนี้นะ แล้วก็ถ้าไม่ได้อย่างที่ต้องการ มันก็จะมีอาการเร่งโดยไม่รู้ตัว มันมีอาการเหมือนกับ เอ๊ะ ทำไมไม่ได้ เอ๊ะ ทำไมไม่ถึงตรงนั้นซักที เอ๊ะ ทำไมไม่สงบน้า อะไรต่างๆนี่ สุดแต่คำในหัวมันจะโผล่ขึ้นมา ก็ลองสังเกตดู

คำในหัวโผล่ขึ้นมาอย่างไร ก็ให้ถือเป็นเงาสะท้อนว่า เรามีอาการอยากที่แฝงอยู่เป็นเงาโดยไม่รู้ตัวแบบนั้นๆ ถ้าหากว่าลองสังเกตอย่างนี้ไปเรื่อยๆแล้ว อย่างน้อยที่สุดถึงไม่เป็นสมาธิแต่เราก็จะประสบความสำเร็จในการเห็นความอยากที่ปรากฏอยู่ในจิต ที่ปรากฏเป็นเงาทาบจิตอยู่ หรือครอบงำจิตอยู่

และก็อีกอย่างหนึ่งที่คนส่วนใหญ่มานั่งทำสมาธิแล้วเกิดความอึดอัด อันนี้สำคัญมากก็คือ เราหายใจกันไม่ค่อยถูก ไปหายใจเอาตามความคิดนะว่า มันควรจะหายใจอย่างนั้น ควรจะหายใจอย่างนี้ ไม่ได้มีความรู้สึกสบายที่จะลากเข้า ไม่ได้มีความรู้สึกสบายที่จะระบายออก ขอให้คิดง่ายๆว่า ถ้าหากเราหายใจแล้วอึดอัดอย่างนี้เป็นปกตินี่ ก็แปลว่าเราไม่สามารถมีชีวิตอยู่ในวันปกติได้ เพราะมันจะอึดอัดอยู่ตลอดเวลา แต่นี่มันอึดอัดเฉพาะตอนที่มานั่งสมาธิ แสดงว่ามีอะไรบางอย่างที่ผิดปกติกับการหายใจ หรือวิธีที่เราควบคุมลมหายใจให้มันเข้าให้มันออก ลองดูก็แล้วกัน พี่ให้ไฟล์เสียงวิธีทำสมาธิไว้ที่ http://soundcloud.com/dungtrin ลองดูเอาก็แล้วกันที่เขียนไว้นะครับ

วิธีทำสมาธิโดยการฟังไฟล์เสียงนี้นี่ ก็ลองนั่งสมาธิด้วยการเปิดไฟล์นี้ ฟังแล้วทำตามไปเลย มันจะเหมือนกับเราไม่ต้องเดินเข้าไปในป่ารกด้วยตัวเอง คือการฟังไฟล์ที่มีคนไกด์ทำสมาธิให้นี่ มันก็เหมือนกับมีครูมานั่งคอยสอนอยู่ต่อหน้านะ แทนที่เราจะหลับตาแล้วหลงเข้าป่าหาทางออกไม่เจอ ก็จะกลายเป็นว่า เออนี่ ค่อยๆฟังไปแล้วทำตามไปตามลำดับ ส่วนใหญ่ก็จะได้ผล แต่ไม่ทุกคนนะ ก็ลองดู ถือว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะลองมานั่งทำสมาธิกันดู แล้วก็ถ้าฟังได้แล้ว เข้าใจแล้ว หลับตาลงไม่หลงเข้าป่า ไม่หลงเข้ารกเข้าพง เรารู้สึกเหมือนกับมีแนวทางที่ชัดเจนขึ้นใจ ก็ไม่ต้องฟังไฟล์เสียงอีก เพราะว่าเสียงนี่ก็เป็นเครื่องรบกวนสมาธิได้เหมือนกัน แต่เบื้องต้นนี่ถ้ามือใหม่จริงๆนะ เสียงที่คอยไกด์ไม่ให้หลงเข้ารกเข้าพง ก็ถือว่าเป็นเครื่องพยุงที่ดีพอสมควรนะครับ



๒) เวลาโกรธแล้วเข้าไปดูตามอาการแบบที่พี่ตุลย์เคยสอน จะทำให้คลายตัวเร็ว แต่อาการเสียใจ น้อยเนื้อต่ำใจ เวลาเข้าไปดูอาการ จะยิ่งดำดิ่งลงสู่ความเสียใจและความเศร้ามากกว่าเดิม จะพิจารณาอย่างไรดี?

ฟังคำถามก็ได้ใจความว่าอย่างนี้ คือถ้ามีอาการโกรธ มีใครสักคนหนึ่งมาว่ากระทบให้เกิดความฉุนเฉียว หรือว่าขัดเคืองนี่ อย่างนี้ถ้าดูไป มันจะมีความรู้สึกว่าคลายได้เร็ว แต่ถ้าเมื่อไรคนที่อยากจะให้เขาแคร์ เขาไม่แคร์อย่างนี้ เกิดความรู้สึกน้อยใจ แล้วไปดูความน้อยใจ มันยิ่งเศร้าเข้าไปใหญ่ อันนี้คือประเด็นคำถาม ซึ่งหลายคนก็จะสงสัยทำนองเดียวกันนี้แหละ ว่าบางอารมณ์ทำไมรู้ได้ แต่บางอารมณ์พอรู้เข้าไปมันกลายเป็นยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ อาการยิ่งย่ำแย่ อันนี้เหตุผลก็ง่ายๆเลย เพราะว่าความโกรธนี่มันเป็นของไม่ดี เรารู้ว่ามันร้อน แล้วก็ไม่มีค่า ไม่มีความหมาย ส่วนใหญ่เวลามีอะไรมากระทบกระทั่งให้เกิดความรู้สึกขัดเคืองนี่ เรารู้อยู่แก่ใจว่าไอ้นี่ไม่มีค่า ไอ้นี่ควรทิ้ง ไอ้นี่เป็นไฟร้อนไปเปล่าๆไม่มีประโยชน์อะไรเลย

แต่อารมณ์น้อยใจนี่นะ ใจมันยังไปให้ค่ากับไอ้ตัวต้นเหตุอยู่ ใจมันยังไปมีความสำคัญมั่นหมายว่านั่นดี นั่นใช่ สำหรับเรา แล้วพอไม่ได้อย่างใจ ไม่เกิดความสมหวังนะ มันก็ไปมีอาการยึดมั่นอย่างรุนแรงเข้าไปแล้ว อาการที่ใจยึดมั่นอย่างรุนแรงนี่สะท้อนออกมาโดยที่มันฟ้องเลยว่า สติของเราเข้าไปรู้เข้าไปดูอย่างไรก็ไม่ได้ผล มันไม่ถอนออกมา คือพูดง่ายๆว่า ตัวการปรุงแต่งมันชนะสติ ตัวสติไม่สามารถที่จะเข้าไปรับรู้อารมณ์แล้วก็คลายออกมาได้ นี่ขอให้คำนึงตรงนี้ ขอให้มองเป็นภาพรวมตรงนี้ก่อน

ทีนี้มาถึงวิธีการ ถ้าหากว่าเราจะดูอารมณ์น้อยเนื้อต่ำใจจริงๆอย่าไปดูตรงที่เราเกิดความรู้สึกเศร้า เกิดความรู้สึกหม่นหมอง เกิดความรู้สึกว่ามีความมืดความหม่นอย่างไร แต่ให้ดูอะไรง่ายๆก่อน ยกตัวอย่างเช่น อารมณ์น้อยเนื้อต่ำใจนี่นะ อาการทางกายมันจะเป็นอย่างไร มันมีอาการก้มหน้างุดเลย มันมีอาการเหมือนกับจะมองพื้นท่าเดียว จะมองหัวแม่เท้าท่าเดียว ไม่ยอมมองฟ้า ไม่ยอมมองหน้าผู้คน อะไรแบบนี้ ก็ดูอาการทางกายก่อน อาการทางกายเป็นอย่างไร บางทีคนที่หงอยๆนี่นะ มันจะเหมือนกับเนื้อตัวอ่อนเปียกไปหมด ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งที่จะสามารถขยับได้เลย อะไรแบบนี้นี่เป็นอาการน้อยเนื้อต่ำใจขั้นสุดขีด ไม่อยากขยับมือ ไม่อยากขยับเท้า ไม่อยากที่จะเงยหน้าขึ้นสู้โลก อาการทางกายนี่ มันดูเข้าไปแล้วมันไม่มีอาการฝืน มันไม่มีอาการเกร็ง มันไม่มีอาการที่ผิดปกติแทรกซ้อนขึ้นมา

และถ้าหากว่าเรารู้สึกถึงอาการทางกายได้ ลองหายใจขึ้นมาสักนิดหนึ่งนี่ ในอาการก้ม ในอาการโค้งงอของหลัง ในอาการที่มันเหมือนกับกระปลกกระเปลี้ย หมดสภาพนี่ เราหายใจเข้าหรือว่าหายใจออกอยู่นะ ลองสำรวจดูง่ายๆขั้นพื้นฐานแบบนี้แหละ เราจะรู้สึกเลยว่าไอ้ที่มันปัก ไอ้ที่มันดิ่งเข้าไปในอารมณ์น้อยเนื้อต่ำใจนี่ มันจะเบาบางลงทันที มันจะเกิดความรู้สึกเหมือนกับ เออ ปลอดโปร่งมากขึ้น มันมีอาการเหมือนกับพ้นน้ำขึ้นมานิดๆแทนที่จะจมอยู่กับหนองน้ำของความเศร้า หนองน้ำของความน้อยเนื้อต่ำใจ มันกลายเป็นเหมือนกับเผยอ เผยอหน้า เผยอตา เผยอจมูกขึ้นมาพ้นน้ำ พอที่จะหายใจได้ หายใจหายคอนะ แล้วก็สูดอากาศบริสุทธิ์ได้ขึ้นมานิดหนึ่ง

แต่อาจจะมีอาการจมลงไปอีกเรื่อยๆไม่ใช่ว่าพ้นแล้วพ้นเลย เราก็ต้องสังเกตอีกเรื่อยๆเหมือนกันว่า ตอนที่มันจมลงไปนี่ อาการทางกายมันกลับไปเป็นอย่างไรอีก จากที่มันสามารถที่จะยืดตัวตรงขึ้นมาได้นิดหนึ่ง มันจะมีแก่ใจอะ น้องจะเกิดความรู้สึกเลยนะ มันมีแก่ใจที่จะยืดตัวตรงขึ้นมานิดหนึ่ง ทำให้หลังตรงขึ้นมาหน่อยหนึ่ง แทนที่จะมีอาการโค้งงอ แทนที่จะมีอาการก้มนะ แล้วก็อยากจะเอาหน้าไปปักอยู่กับดินนี่ มันเปลี่ยนเป็นว่า เออ อยากเงยหน้าขึ้นมา อยากเชิดคางขึ้นมานิดหนึ่ง เออนี่ ลักษณะที่มันมีความสดใส เขาต้องเชิดคางกันแบบนี้ เขาต้องเงยหน้ามองฟ้ากันแบบนี้ เราจะรู้สึกว่ามันมีอาการทางกายที่ฟ้อง เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาระหว่างเชิดหน้าสู้ฟ้านะ กับก้มหน้าลงหาดินนี่

ถ้าหากว่าน้องเห็นอาการของกายได้ชัดเจนว่ามันแตกต่างกันอย่างไร ระหว่างที่จมลงไปกับอาการเศร้า กับที่มันถอนตัวออกมาจากอาการเศร้าได้นิดหนึ่ง ตรงนั้นแหละเราถึงจะเริ่มมองเห็นว่าสภาพของใจในขณะที่ร่างกายมันกำลังมีอาการก้มหรือมีอาการเงย มันแตกต่างกันอย่างไร จะเห็นได้ชัดเลย พอเงยขึ้นมาปุ๊บ ปลอดโปร่ง แต่ปลอดโปร่งได้ไม่นานเดี๋ยวมันจมลงไปอีก นี่เราเห็นเลยนะ เราจะเห็นความไม่เที่ยง เราจะเห็นความไม่สามารถบังคับควบคุมที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์ทางใจ

เมื่อเห็นว่าปรากฏการณ์ทางใจไม่สามารถบังคับควบคุมได้ เราจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาทีละน้อยว่า เออ ไอ้ตรงนี้มันไม่ใช่ติดตัวกับเรา มันไม่ใช่ของที่มีมาอยู่ก่อน แต่เป็นของที่ปรุงแต่งขึ้นมาภายหลัง แล้วเราเข้าไปยึด พอยึดมากมันก็เหมือนกับยิ่งยุยงให้ปรุงแต่งมาก พอยึดน้อยลงด้วยการสังเกตสิ่งที่มันไม่เป็นโทษ อย่างเช่นอาการทางกาย อาการยึดมันก็เหมือนจะถอนออกเองโดยที่ไม่ต้องฝืน ไม่ต้องบังคับ ไม่ต้องควบคุมใดๆ

ถ้าหากว่าเราเห็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า อารมณ์น้อยใจนี่นะมันเป็น ขอโทษอันนี้ไม่ใช่ว่ากัน แต่ว่ามันเป็นความรู้สึกที่เราจะเกิดขึ้นมานะ เราจะเกิดความรู้สึกว่า ก้มลงไปด้วยความน้อยใจแต่ละครั้ง มันเป็นอาการโง่เปล่า มันเป็นความสูญเสียเวลาไปเปล่าๆ สูญเสียกายไปเปล่าๆ สูญเสียจิตไปเปล่าๆ ไม่สามารถเอามาทำประโยชน์อะไรได้เลย ณ เวลานั้นๆคือมันถูกบล็อกไปเฉยๆไม่มีความคิดไม่มีความอ่าน ไม่มีความฉลาด ไม่มีแสง ไม่มีปัญญา ไม่มีอะไรทั้งสิ้น มีแต่ความโง่เปล่า เราจะรู้สึกอย่างนั้นนะ

แล้วพอเรารู้สึกถึงขั้นของความรู้สึกตรงนั้นนี่ ใจมันจะแสดงความฉลาดออกมา ด้วยการที่มีสติคม มีสติไว เมื่อไรที่เริ่มคล้อยลงสู่อาการน้อยเนื้อต่ำใจ มันจะรู้สึกว่าเริ่มมีอาการไหลลงต่ำ ใจมันจะดึงตัวเองขึ้นมาเอง คือไม่ใช่ตั้งใจดึงนะ แต่ใจมันจะถอนขึ้นมาเองด้วยความรู้สึกว่าไม่รู้จะจมลงไปในหนองน้ำแห่งความเศร้าทำไม นี่ตรงนี้นะมันเป็นที่สุดของการเจริญสติ รู้อารมณ์ที่เป็นความเศร้า เป็นความน้อยเนื้อต่ำใจนะ



๓) ภาวนาอยู่ สังเกตได้ว่าตอนนั่งภาวนาในรูปแบบ พอจิตเริ่มเป็นสมาธิ จะรู้สึกว่าเห็นความเกิดดับของขันธ์ได้ดี รู้สึกว่าเห็นความไม่เที่ยงและอนัตตาได้ชัด แต่หลังจากที่ถอยออกมาจากการนั่งสมาธิตรงนั้นแล้ว จิตไปนึกทบทวนดู ทำไมยังรู้สึกว่าเหมือนกับฝันไป ไม่ชัดเหมือนตอนนั้น รบกวนขอคำแนะนำด้วย ไม่แน่ใจว่าทำผิดหรือเปล่า?

ก็ไม่ได้ผิดนะ พอหลับตากับลืมตา อาการปรุงแต่งของจิตมันผิดกันเป็นคนละเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากว่าจิตของเรายังไม่ตั้งมั่นขนาดที่หลับตากับลืมตามีค่าเท่ากัน พอหลับตาไปปุ๊บ มันจะมีอาการเล็งเข้าไปที่อาการปรุงแต่งของจิตทันที ไม่ว่าจิตจะปรุงแต่งไปอย่างไร ใจของเรามันก็จะเล็งเข้าไปที่ตรงนั้น ไปผูกไปยึดไว้ที่ตรงนั้น ถ้าหากว่านั่งทำสมาธิแล้วเรากำลังดูลมหายใจเข้าออก เห็นว่า เออ มันเข้า มันออก มันเข้า มันออก ในอาการที่ลมหายใจปรากฏต่อจิต ปรากฏในห้วงมโนทวารอย่างเดียว มันก็รู้สึกว่า เออ ไม่เห็นจะมีอะไร มันเข้าแล้วมันก็ออก มันออกเดี๋ยวมันก็เข้านะ แล้วบางทีมันก็ยาว บางทีมันก็สั้น จิตเกิดความสว่างไสว รู้เองเห็นเองแล้วก็เล็งอยู่ แต่ความไม่เที่ยงของลมหายใจอยู่แค่นั้น ไม่ได้มีความรู้สึกอย่างอื่น ไม่ได้มีความรู้สึกว่าลมหายใจเป็นเรา มันมีแต่ธาตุลมนะ ธาตุแห่งความพัดไหว พัดขึ้น พัดลง พัดเข้า พัดออก หรือถ้าเราอยู่ในสมาธิแล้วดูแต่อาการของจิต เช่น มีความสว่าง มีความนิ่ง มีความฟุ้งซ่านมาแป๊บหนึ่ง แล้วเดี๋ยวก็หายไป ไม่ว่าจะพิจารณาอารมณ์ของจิตแบบไหนอยู่ แล้วเกิดความรู้สึกว่า เออ มันไม่เห็นจะมีอะไร ไม่เห็นจะมีหน้าตาของบุคคล ตัวตน เราเขา มาแทรก มาเติม มาประกบติดกับไอ้สิ่งที่มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เหล่านั้น เราก็เกิดความรู้สึกเป็นธรรมดาว่าไอ้สิ่งนั้นไม่ใช่เรา เราไม่มีอยู่ในสิ่งนั้น

แต่เป็นความรู้สึกแค่ชั่วคราว พอลืมตาขึ้นมา สิ่งที่เข้ามากระทบจิตทันทีปังแรกๆ ก็คือมีภาพที่คุ้นเคย อาจจะเป็นห้องนอน อาจจะเป็นห้องพระ อาจจะเป็นสถานที่ภาวนาที่เราไปฝึกปฏิบัติบ่อยๆ พอมีภาพมากระทบตานะ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดาก็คือ ใจมันจะแล่นไปยึดทันทีว่า ภาพที่เห็นที่คุ้นเคยนี้ เป็นภาพของสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวเนื่องด้วยตัวตนเรา เป็นเจ้าของห้อง เราเป็นผู้อยู่อาศัยในบ้าน หรือเราเป็นผู้ที่มาปฏิบัติธรรมในสถานที่นี้ มาขอหยิบขอยืมสถานที่เขานะ จะเกิดความรู้สึกอย่างไรก็แล้วแต่ มันเกี่ยวข้องด้วยอาการยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเป็นตนไปทั้งสิ้น นี่เป็นตัวเรา นี่เนื่องด้วยตัวเรา เป็นสมบัติของเรา เกี่ยวข้องด้วยเรา หรือพอหูได้ยินแว่วเสียงใครพูดกัน ก็จะเกิดความจำได้หมายรู้ว่า นี่เขาพูดถึงเราหรือเปล่า หรือว่าเขาพูดอะไรกัน เขาคุยอะไรกันนะครับ

เหล่านี้เรายังไม่ได้ฝึก เรายังไม่ได้ดู เพราะฉะนั้น มันก็ยังไม่คลายจากอุปาทานว่า มันเป็นเรา เวลาที่พระพุทธเจ้าท่านให้ฝึกไปตามลำดับนี่ ท่านจะให้ดูก่อนอย่างนี้แหละ ขึ้นมานี่หลับตาดูจากสมาธินี่นะว่าลมหายใจเข้าลมหายใจออก เดี๋ยวมันก็สุข เดี๋ยวมันก็ทุกข์ เดี๋ยวมันอึดอัด เดี๋ยวมันผ่อนคลายออก เดี๋ยวมันเบาสบาย ปลอดโปร่งเป็นอิสระ เดี๋ยวมันก็เข้าไปยึดมั่นถือมั่น ดูง่ายๆแบบนี้ก่อน

พอดูเป็นแล้วค่อยเขยิบขึ้นมาดูว่า ไอ้อารมณ์อึดอัดก็ดี อารมณ์สบายก็ดี เดี่ยวมันก็มีมา เดี๋ยวมันก็หายไป แล้วอารมณ์ของใจ เดี๋ยวมันก็ฟุ้งซ่าน เดี๋ยวมันก็สงบ เสร็จแล้วท่านค่อยให้ไปดูเวลาที่เราลืมตาอยู่ ตื่นเต็มอยู่กับโลกในชีวิตประจำวันนี่ เวลาตากระทบรูป ไม่ว่าเราจะเห็นใคร ไม่ว่าเราจะเห็นสิ่งของหรือว่าสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับตัวเราอย่างไร ท่านให้ดูอาการของใจที่เป็นปฏิกิริยาตอบโต้กับสิ่งที่เห็นนั้น ว่ามีอาการยึดมั่นถือมั่นอย่างไร

ยกตัวอย่างเช่น ที่พระพุทธเจ้าให้ฝึก เริ่มต้นขึ้นมานี่ ท่านให้ฝึกจากการเห็นรูปสวย รูปที่ต้องตาต้องใจ อย่างถ้าเราเป็นผู้ชาย เวลาที่เห็นรูปหญิง เวลาที่คนสวยเดินเข้ามา มันบาดใจ มันมีความรู้สึกว่า โอย หัวใจวูบ หัวใจหล่นลงไปบนพื้น อะไรแบบนี้ ท่านให้ดูตรงนั้นแหละ ตรงนั้นเรียกว่าราคะ

เมื่อมีราคะอยู่ในจิต พระพุทธเจ้าให้ดูว่า ราคะหน้าตาเป็นอย่างนี้ มันมีอาการเสียวแปลบที่หัวใจ มันมีอาการเหมือนกับดึงดูด วูบ หน้ามืด อยากจะถลาเข้าไปหา มองเนื้อตัวเขาแล้ว อื้อหือ อยากจับต้อง อะไรแบบนี้ นี่แหละเรียกว่า ราคะมีอยู่ในจิต

ถ้าหากว่าสติของเราเท่าทันว่าตาประจวบรูป แล้วมีราคะขึ้นมา นี่ตรงนี้เข้าท่าแล้ว เริ่มเข้าท่าแล้วนะ ทีนี้มันจะเข้าท่ายิ่งขึ้น ถ้าหากว่าเราเห็นว่าสตินี่พอเท่าทันนะ เออ ตอนนี้นี่ตาประจวบรูปเห็นรูปสาวสวยๆ ผู้หญิงสาวสวยๆแล้วเกิดความรู้สึกมีความยินดีขึ้นมา

ตัวสติที่เห็นว่ามีความยินดีขึ้นมาทางใจนั่นน่ะ ตอนแรกมันจะไม่เกิดอะไรขึ้นนะ มันก็ยังยึดอยู่อย่างนั้นแหละ แต่พอเห็นบ่อยๆ ฝึกเห็นบ่อยๆเข้า จนกระทั่งรู้ว่าหน้าตาของราคะเป็นอย่างไร อาการเหมือนกับหน้ามืดอยากจะถลาเข้าไปหานี่ อยากจะแล่นเข้าไปจับต้องนี่ หน้าตามันเป็นอย่างไร มันจะเริ่มเห็นว่า อ๋อ ไอ้ที่อยากจะถลาเข้าไปนะ มันเป็นอาการของจิตที่แล่นทะยานออกไป มันเป็นอาการหน้ามืด ไอ้ที่บอกว่าหน้ามืดนี่ มันก็คือจิตมันมืดลง มันหม่นลง มันเป็นอกุศล มันเป็นสิ่งปรุงแต่งที่ทำให้เราขาดสติ

แต่เมื่อมีสติรู้ว่าหน้าตาของราคะเป็นอย่างไรมากขึ้นๆบ่อยครั้งเข้า มันจะเห็นเป็นลักษณะอาการของใจเฉยๆ มันจะไม่มีอุปาทานครอบงำจิตเต็มๆเหมือนแต่ก่อน พอเห็นว่า ราคะเกิด ณ นาทีแรกที่ตากระทบรูปปัง อึดใจต่อมาจะเป็นลม อาจจะเป็นลมหายใจต่อมา ระลอกลมต่อมาที่เรามีสติอยู่นั้น เห็นทันทีว่า อาการหน้ามืด อาการที่จิตมันหม่นลงด้วยอกุศลนี่ไม่เห็นมีอะไรเลย มีแต่อาการแล่นทะยานออกไปเปล่าๆไม่เห็นมีประโยชน์อะไรเลย จับต้องเขาก็ไม่ให้หรอก เรามีแต่อาการแล่นทะยานออกไปเปล่าๆ ตรงนี้มันก็จะเห็นว่าราคะมันอ่อนกำลังลง

พอราคะอ่อนกำลังลงนี่ ตรงนี้เรียกว่า เข้าท่าขั้นที่ ๒ ก็คือว่า เป็นไปตามสูตรที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสบอกว่า เมื่อจิตมีราคะอยู่ รู้ว่าจิตมีราคะ เมื่อจิตไม่มีราคะอยู่ ก็รู้ว่าจิตไม่มีราคะ ตรงนี้เราเห็นลักษณะของใจที่มีลักษณะต่างไป

ตอนแรกๆเราจะไม่เห็นว่ามันเป็นความไม่เที่ยงนะ แต่พอเห็นลักษณะที่มันแตกต่างไปได้บ่อยๆครั้ง จิตจะเริ่มคมขึ้น สติจะเริ่มคมคายขึ้น กระทั่งเห็นเส้นแบ่ง เหมือนเฉดสีที่ตอนแรกเป็นดำสนิทเลย ค่อยๆจางสีลงมาเป็นเทา และอ่อนตัวลงมาเป็นเทาจางๆจนกระทั่งขาว นี่ตรงนี้เรียกว่าเห็นจิตแล้ว

เห็นจิตจากการที่รู้ว่าตากระทบรูป อย่างนี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อยู่ในหมวดสุดท้ายของสติปัฏฐานสี่เลยนะครับ ธรรมมานุปัสสนา ก็คือได้รู้ว่าเมื่อตากระทบรูปเกิดสังโยชน์ขึ้นหรือเปล่า สังโยชน์ในที่นี้ก็คือเกิดราคะขึ้นหรือเปล่า เกิดอาการร้อยรัด เกิดอาการผูกยึด เกิดอุปาทานว่า มีของดี มีของน่าชม มีของน่ายึดมั่นถือมั่นมากแค่ไหน แล้วจากนั้นเมื่อเรารู้ถึงลักษณะของสังโยชน์อย่างชัดเจน คือราคะนี่นะครับ เราก็เห็นสังโยชน์มันคลายไปได้

คลายชั่วคราวนะ คือไม่ใช่หายไป ไม่ใช่เราทำลายสังโยชน์ได้ แต่มันสามารถที่จะแสดงความไม่เที่ยงได้ ให้เราเห็นต่อหน้าต่อตา นี่ตรงนี้มันเริ่มเข้าท่าเข้าทาง มันเริ่มที่จะไม่ใช่เอาแต่ต้องหลับตาเสียก่อน ถึงจะเกิดความเห็นว่ามันไม่เที่ยง เกิดความเห็นว่ามันเป็นอนัตตา ลืมตาอยู่อย่างนี้สามารถเห็นได้ นี่เรียกว่าเป็นการพลิกเอาความเคยชินแบบเดิมที่เรามีแต่นั่งหลับตาดู กลายไปเป็นว่าลืมตาก็เห็นปฏิกิริยาทางใจได้ ไม่แตกต่างกันกับตอนนั่งดูเลย

แต่มันต้องฝึก และมันต้องมาตามขั้นตอน ถ้าหากว่าเรากระโดดข้ามขั้นนะ ส่วนใหญ่นะครับ เดี๋ยวนี้นี่คือจะทำแบบนี้กันมากเลยคือ กระโดดไปสังเกตตากระทบรูปเลย หรือว่าสังเกตหูกระทบเสียงเลย แล้วก็เหมือนกับจะไปบังคับเอาดื้อๆว่าไม่ให้มันเกิดกิเลส หรือเห็นสักแต่เห็น ได้ยินสักแต่ได้ยิน ไม่ยึดมั่นเป็นตัวเป็นตน นี่ข้ามขั้นแบบจะเอาเลียนแบบพระพาหิยะ แบบนี้มันก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา เพราะว่าจิตมันยังไม่มีความตั้งมั่นมากพอ มันยังไม่มีประสบการณ์ ยังไม่มีความเชี่ยวชาญในการเห็นปฏิกิริยาทางใจมากพอ มันก็ไม่สามารถจะเห็นได้จริง มันกลายเป็นไปบังคับตา ไปบังคับหูเอา

สำหรับคำถามนี้ก็สรุปว่า ถ้าหากเราจะเอาประโยชน์จากสมาธิมาใช้ในขณะที่ลืมตานะครับ ต้องสังเกตเป็น เริ่มจากที่พระพุทธเจ้าท่านให้สังเกตว่าใจมีอาการอย่างไร จิตมีราคะหรือไม่มีราคะ จิตมีโทสะหรือไม่มีโทสะ เมื่อตาไปประจวบกับรูป เมื่อหูไปประจวบกับเสียงแบบใด ถ้าหากว่าสังเกตได้อย่างนี้รับรองว่า ลืมตาอยู่ในชีวิตประจำวันแบบนี้นี่ เราก็สามารถที่จะมีจิตเป็นวิปัสสนาได้ วิปัสสนาคือเห็นตามจริง เห็นแจ้ง รู้แจ้งกระจ่างใจ ว่าทั้งหลายทั้งปวงที่ปรากฏอยู่เป็นภาวะของกายของใจนี้ มันไม่เที่ยง มันไม่ใช่ตัวตนนะครับ


คืนนี้ต้องขอกล่าวราตรีสวัสดิ์ ณ ที่ตรงนี้ ก็ขอให้เจริญในธรรมด้วยกันทุกท่านนะครับ


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น