วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๒๔ / วันที่ ๑๔ มี.ค. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับ วันนี้วันพุธที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง

วันนี้เราใช้เฟสบุ๊คคุยกันนะครับ ก็เป็นการเตรียมซอฟต์แวร์ของผมที่ง่ายขึ้นกว่าการเตรียมสไกป์ด้วยนะครับ เพราะว่าตอนคุยสไกป์กันนี่ดีที่สุดคือ ผมจะได้ยินเสียงก้องนิดนึง บางครั้งอาจจะได้ยินคำถามของพวกคุณไม่ครบนะครับ หรือว่าอาจจะหลงๆไปบ้างเพราะว่าฟังเสียงตัวเองสะท้อนเป็นเอคโค่ แล้วบางทีมันก็งงๆแต่ก็พยายามหาทางจัดการเพื่อที่จะได้เสียงที่เป็นเสียงตรงจริง ตรงเวลามากที่สุด เป็นเวลาจริง เรียลไทม์มากที่สุดนะครับ

วันนี้เพื่อที่จะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการ ก็ให้เข้าไปที่ https://www.facebook.com/HowfarBooks นะครับ

ในทางธรรม คือตามธรรมชาตินี้ หลายสิ่งพูดไม่ได้แต่แลกเปลี่ยนกันได้ ก็เป็นความรู้สึกที่รู้สึกว่า มันสว่างหรือมืด เราคงไม่ได้มาอยู่ที่นี่ด้วยกัน ถ้าไม่คิดถึงความสว่างแบบเดียวกัน อย่างน้อยนาทีนี้ เราก็รับรู้ตรงกันนะครับว่า ธรรมะมีจริง เอาละครับมาถึงคำถามแรกของคืนนี้



๑) ถ้าไปเก็บเมล็ด หรือผัก หรือฝัก ที่หล่นอยู่โคนต้นไม้ หรือถอนต้นอ่อนจากสวนสาธารณะ ต้นอ่อนมักจะโดนตัดพร้อมหญ้า จากพื้นที่รกร้าง หรือพื้นที่ที่อาจมีเจ้าของ เช่น ท้องนา ท้องทุ่ง แล้วนำไปเพาะพันธุ์ต่อเพื่อปลูกเอง หรือว่าเป็นการค้า จะเป็นการผิดศีล ข้อลักทรัพย์ หรือเปล่า?

อันนี้ขึ้นอยู่กับการรับรู้นะ ขอให้จำไว้เป็นกฎเหล็ก กฎตายตัวเลยนะครับว่า ธรรมชาติของกรรมวิบากนั้น กฎแห่งกรรมวิบากจะตัดสินว่าคุณผิดหรือไม่ผิด ต่อเมื่อตัวตั้งต้นที่มีการรับรู้ก่อนที่จะก่อกรรมนี่นะครับ การรับรู้ของคุณคืออะไร อย่างเช่นในคำถามนี้นะ เหมือนเราจะบอกอยู่ในทีว่า มาจากที่ที่ เข้าใจกัน ตรงกันว่าเป็นสวนสาธารณะ แต่บางพื้นที่ก็อาจจะมีเจ้าของซึ่งเรารู้หรือไม่รู้ก็ได้ ตอนที่เราคิดว่า คิดจริงๆอย่างบริสุทธิ์ใจ ไม่ใช่แกล้งคิดนะ ตอนที่เราคิดว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ ในขณะนั้นถ้าอะไรขึ้นอยู่ก็แล้วแต่แล้วเราหยิบฉวยมา ถือว่าไม่ผิดนะ เพราะว่าการตั้งต้นของใจนี่ มันไม่ได้มีความรู้สึกว่าเป็นทรัพย์สินของใครคนใดคนหนึ่ง ใจคิดว่าเอาจากธรรมชาติ เอาจากสิ่งที่มีอยู่บนพื้นที่ที่ไม่มีใครครอบครองเป็นเจ้าของนะครับ มันก็ไม่มีกำลังใจในการที่จะไปขโมย ไปเอาของของเขามา ของของคนอื่นที่เขายังไม่ได้อนุญาตให้เราเป็นทางการ ไม่ได้บอกเป็นวาจา หรือว่าเป็นกิจจะลักษณะนะ ถ้าหากว่าเราไม่ได้ใช้กำลังใจ เราไม่รับรู้ เราก็ไม่ต้องใช้กำลังใจ เมื่อไม่ต้องใช้กำลังใจ ไม่มีความพยายามที่จะฉกฉวยของใครเขามาเป็นของเรา ก็ไม่ได้ชื่อว่าเป็นการก่อกรรมข้ออทินนาทาน

อันนี้ผมจะยกตัวอย่าง อย่างสมัยพุทธกาลนี่นะก็มีธรรมเนียมนิยมที่ชาวอินเดียเขาจะพาญาติที่ตายแล้วไปทิ้งในป่า ให้แร้งมันจิกกินกัน หรือไม่ก็ให้พวกหนอนในสุสานนี่ได้มาแทะมาเอร็ดอร่อยกัน โดยที่ไม่เกี่ยงนะ ว่าอันนั้นจะเป็นการอุจาดตา อันนั้นจะเป็นการทำเรื่องอัปมงคลกับญาติ แต่เขามองว่า ศพนี่มันไม่ใช่ของที่มีเจ้าของแล้วนะ อันนี้เป็นการมอง พอเกิดการมองอย่างนี้ หมายความว่า ต่อให้เสื้อผ้าที่อยู่บนตัวศพ ก็สามารถที่จะเอามาใช้ได้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ มันขึ้นอยู่กับการปักใจเชื่อ ฝังใจเชื่อของสังคมร่วมกัน ถ้าหากว่าสังคมมองว่า นั่นไม่ผิด นั่นเป็นสิ่งที่ทำได้ เราไม่ได้ใช้กำลังใจในการฉกฉวยของของใครเขามา ก็ไม่มีความผิด นอกจากพระพุทธเจ้าจะไม่บัญญัติวินัยห้ามแล้ว ยังสนับสนุนด้วย ที่จะให้เอาผ้าห่อศพ หรือว่า เอา แม้กระทั่งว่าเป็นเสื้อผ้าอาภรณ์ที่ติดอยู่กับตัวศพนี่ นำมาใช้ พระนี่สามารถนำมาใช้ได้ แต่ต้องมาจัดการย้อมสี หรือว่ามาทำให้มีลักษณะที่เป็นจีวรเสียก่อน ไม่ใช่เอาเสื้อผ้ามาดิบๆแล้วก็สามารถที่จะสวมใส่ได้เลย ก็เป็นตัวอย่างเปรียบเทียบว่า ถ้าหากเรามีการรับรู้ร่วมกันว่านี่คือของสาธารณะ ไม่ได้แกล้งที่จะไปมองว่า อุ้ย ไอ้นี่สงสัยเป็นของสาธารณะทั้งๆที่รู้ว่ามันอยู่ในรั้วลวดหนาม มันอยู่ในที่ปักเขตว่ามีเจ้าของ อันนั้นก็ไม่เป็นไร

อีกประการหนึ่ง อันนี้ก็มีเทียบกับวินัยของพระ ถ้าคิดโดยบริสุทธิ์ใจว่า เอามาได้ ถึงแม้ว่าของนั้นมีเจ้าของก็ไม่เป็นไร ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นของของเพื่อนพระ ที่เป็นทรัพย์สมบัติ เอาอย่างง่ายๆยกตัวอย่างง่ายๆเป็นลูกอมอย่างนี้นะ เรามีความรู้สึกว่า ถ้าเราเอามาแล้วเจ้าของไม่น่าจะว่า ไม่เป็นไร เพราะว่าเป็นเพื่อนกัน อย่างนี้ก็ไม่ถือว่าผิด ทั้งๆที่ไม่ได้บอก ไม่ได้กล่าว ไม่ได้ขออนุญาต ไม่ได้ขอมาเป็นของของเรานะครับ ถ้าใจเราคิดอย่างบริสุทธิ์ใจจริงๆว่าอันนี้ไม่เป็นไร ก็โอเค ทีนี้ ในข้อเท็จจริง ตามธรรมชาติธรรมดาของใจนี่นะ ที่จะคิดว่าไม่เป็นไรนี่ ส่วนใหญ่มันมีการแกล้ง แกล้งคิด คิดว่าคงไม่เป็นไรมั้ง ถ้าหากว่าใจเรารู้จริงๆว่าอันนี้ไม่มีเจ้าของ คิดว่าไม่เป็นไร หรือคิดว่าเจ้าของเขาคงไม่ว่า ยกตัวอย่างเช่นเอาหินมาแค่ก้อนเดียว เจ้าของเขาไม่ได้เดือดร้อนอะไร อันนี้ก็ไม่เป็นไร ไม่ได้ใช้กำลังใจในการที่จะไปลักขโมยมา

แต่ถ้าหาก ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดนะ มะม่วงที่ขึ้นอยู่ตามขอบเขตพื้นที่ที่สามารถที่จะไปยื่น เอาไม้ยื่นไปสอยมาได้ แล้วเราคิดว่าไม่เป็นไร อย่างนี้มันเป็นเพราะเรารู้อยู่ว่าเจ้าของเขาอาจจะหวง แล้วมันเป็นทรัพย์สินที่เขาเอาไปกินของเขาเองได้ หรือว่าเอาไปขายได้ นี่ก็เป็นตัวอย่างว่า ถ้าหากใจเรารับรู้อย่างไร มันก็จะเป็นการเล็งไปในการก่อกรรมแบบนั้นแหละ ถ้าคิดว่าไม่เป็นไรจริงๆรู้สึกว่าไม่มีเจ้าของ หรือว่าเจ้าของคงไม่ว่า อันนั้นเราก็ไม่ต้องใช้กำลังใจในการลักขโมยมา แต่ถ้าหากว่าเรารู้แม้แต่นิดเดียวว่า อันนี้จะมีผล จะมีความเดือดร้อนกับเจ้าของ แล้วเรายังขืนเอามา นี่แหละ เริ่มเรียกว่าเป็นการลักขโมยแล้วนะครับ



๒) รู้สึกดีกับคนคนหนึ่ง แต่พอเช็กดวงแล้ว เราเกิดในปีชงกัน อยากทราบว่าจะเกี่ยวกันไหมคะ ว่าเราจะต้องเข้ากันไม่ได้ หรือเป็นมิตรกันไม่ได้ในวันข้างหน้า แล้วมีวิธีแก้ไหม?

พูดกันแบบ เอาให้เข้าใจง่ายก่อน อย่าเพิ่งไปพูดเรื่องโหราศาสตร์ อย่าเพิ่งไปพูดถึงเรื่องปีชง เรามาคุยกันในแบบที่มันเข้าใจได้ง่ายๆตามธรรมชาติธรรมดาที่สามารถรับรู้กันได้ด้วยสามัญสำนึกนะครับ คือแต่ละคนนี่นะ มีลักษณะบางอย่างที่เป็นตัวตั้งอยู่ก่อนล่วงหน้าว่า ถ้าหากเอามาอยู่ด้วยกันแล้ว มีสิทธิ์ที่จะทะเลาะกันได้ ยกตัวอย่างเช่น คนคนหนึ่งศรัทธาว่า อย่างบอกว่าพระเจ้ามีจริง อย่างนี้นะครับ อีกคนหนึ่งไม่ศรัทธาเลย แถมต่อต้านแอนตี้ด้วย คือมีความรู้สึกฝังใจมาตลอดเวลาว่า เราเกิดมาด้วยความบังเอิญ ไม่เคยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไหนเป็นผู้สร้าง อย่างนี้นะครับ ถ้าหากเอาคนสองคนนี้มาอยู่ด้วยกัน มันพยากรณ์ได้ล่วงหน้าว่า วันใดวันหนึ่งคงต้องเกิดความรู้สึกขัดแย้งกัน หรือว่ามีคำพูดที่กระทบกระทั่งกัน หรือมีความรู้สึกที่ไปคนละทางกัน คนหนึ่งจะเดินทางไปในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ตัวเองคิดว่าควรจะไป อีกคนหนึ่งบอกว่าไม่ควรจะไป แล้วก็ตอนแรกๆนี่ ตอนที่ยังมีความหวานแหวว เอาความหวานแหววเข้าใส่กันก็คงไม่กระไรนัก แค่คิดๆอยู่ในใจ แต่พอนานๆไปมันเริ่มสนิทกันมากขึ้น มันเริ่มคุ้นกันมากขึ้น มันเริ่มที่จะไม่ต้องเกรงใจกันมากขึ้น มันก็แสดงความในใจกันออกมา แล้วตรงนั้นแหละที่ ความไม่เห็นด้วย ความขัดแย้ง มันจะก่อตัวเป็นคำพูด เป็นแววตา เป็นสีหน้า หรือว่าเป็นการกระทำที่แสดงออกอย่างชัดเจน ฝ่ายหนึ่งก็จะฉุดไปล่ะ จะเอาไปให้ได้ อีกฝ่ายหนึ่งก็จะรั้งไว้ให้ได้ จะเอาให้อยู่บ้านให้ได้ หรือว่าไปเที่ยวกันที่อื่น เพื่อที่จะได้ใช้เวลาอย่างคุ้มค่า อย่างนี้ ก็เห็นได้ชัดนะครับ อันนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดว่า ถ้าหากว่าศรัทธาต่างกัน มันมีคุณสมบัติบางอย่างในตัวของคนที่สามารถพยากรณ์ได้ล่วงหน้าเลยว่า เอามาอยู่ด้วยกันแล้ว ขัดกันแน่นอน

ยังมีแง่อื่น ประเด็นอื่นอีก อย่างเช่นนิสัยใจคอ คนหนึ่งชอบที่จะท่องเที่ยว อีกคนหนึ่งชอบอยู่บ้าน หรือว่าคนหนึ่งมีความอยากจะอยู่สันโดษ ไม่ชอบยุ่งเกี่ยวกับญาติ อีกคนหนึ่งนี่เอาญาติมากๆเลยนะครับ จะต้องให้เวลากับญาติ ทุ่มเทเวลาให้กับญาติเต็มที่ อย่างนี้มันก็เป็นสิ่งที่เราสามารถมาคุยกันได้ง่ายๆว่า นี่เรียกว่าชงกัน เรียกว่าเข้ากันไม่ได้ มีลักษณะอะไรบางอย่างที่ขัดแย้งกัน พร้อมที่จะแตกกิ่งก้านสาขา เป็นความรู้สึกที่ไม่สามารถจะเป็นพวกเดียวกันได้

คนสองคนนี่นะ ถ้าหากว่าจะมาอยู่ร่วมบ้านกันทั้งๆที่มีคุณสมบัติบางอย่างคอยจ้องอยู่แล้วที่จะเป็นระเบิดเวลา ไม่ให้ได้เป็นพวกเดียวกันนี่นะ พอมาอยู่ด้วยกันมันระเบิดปุ้งขึ้นมาแน่นอน ไม่วันใดก็วันหนึ่ง เอาล่ะ อันนี้พูดเรื่องสามัญสำนึก พูดเรื่องที่ว่าเราสามารถเข้าใจกันได้ง่ายๆโดยไม่ต้องอ้างอิงดวงดาว โดยไม่ต้องอ้างอิงศาสตร์ของตำราไหน

คราวนี้มาพูดถึงเรื่องของโหราศาสตร์ ถ้าหากว่าโหราศาสตร์ตำรานั้นๆเป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องที่สามารถพิสูจน์ได้ เป็นเรื่องที่แม่นยำตามหลักสถิติ หรือตามหลักของวิชาที่มีความสามารถจะอธิบายได้ด้วยหลักความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับดวงดาวนะ ถ้าหากว่ามีปีชงอยู่จริง คำถามคือ ควรจะอยู่ด้วยกันไหม ถ้าหากอยากจะอยู่ด้วยกันจริงๆจะแก้อย่างไร ขอให้จำไว้เป็นหลักอย่างนี้นะครับ คนที่เป็นปีชงกันนี่นะ หนึ่ง อาจจะมีคุณสมบัติบางอย่างที่ขัดแย้งกันอย่างที่ผมยกมาในข้อแรกนะครับ อันนี้เป็นเรื่องที่สามัญสำนึกเราบอกได้ว่ามันจะต้องเกิดความระหองระแหง หรือว่าขัดแย้งกันแน่นอน ถ้าหากว่ามีลักษณะที่ขัดกันอยู่ทางนิสัยหรือว่าทางวิถีชีวิต ประการที่สองที่เป็นไปได้ก็คือ เมื่อมาอยู่ด้วยกันแล้ว อาจเกิดเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งรบกวนชีวิตคู่ ยกตัวอย่างเช่น บางคนนะครับ นิสัยเข้ากันได้ทุกอย่างเลย แต่ปรากฏว่าปีนี่คำนวณออกมาแล้วเป็นปีชงกัน ไม่ถูกกัน แล้วก็ไม่เชื่อ ไม่อยากจะสนใจ ปรากฏว่า อยู่มาด้วยกันสองสามปีแรกไม่เป็นไร พอปีที่สามเท่านั้นแหละ เกิดเรื่องเกิดราว เกิดเหตุการณ์ เกิดอะไรโน่นนี่นั่น เยอะไปหมด หรือไม่ก็ไม่ต้องสามปี สามเดือนเลย อุตส่าห์คบกันมาเจ็ดปี ไม่มีเรื่องนะ แต่พอแต่งงานกันปุ๊บ สามเดือนเกิดเรื่องในแบบที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ในแบบที่มันเป็นเหตุปัจจัยจากภายนอกเข้ามานะ นี้ก็ตามหลัก ถ้าอธิบายเป็นเรื่องของวิบากกรรมตามพุทธศาสนาอธิบายก็จะบอกว่า สองคนนั้นอาจจะเคยที่จะทำกรรม ทำบาปร่วมกันมา ไปยุแยงตะแคงรั่ว มีเยอะนะ ประเภทที่พอเป็นผัวเมียกันแล้วนี่ สนุกกับการไปยุแยงตะแคงรั่ว ตัวเอง คู่ของตัวเองไม่มีความสุข ก็จะไปทำให้คู่ของคนอื่นไม่มีความสุขบ้าง แล้วบาปกรรมที่ทำร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการไปทำให้ชาวบ้านเขาทะเลาะกัน หรือว่าไปโกงทรัพย์ชาวบ้านเขามา หรือว่าไปอะไรก็แล้วแต่ที่มันเป็นบาปนี่ ถ้าทำร่วมกันแล้ว ทำตลอด ทำทั้งเวลาทั้งหมดที่อยู่ด้วยกันนี่ร่วมกันทำบาปอย่างนี้ตลอด ผลมันก็มีความแน่นอนคือว่า พอจะต้องมาอยู่ด้วยกันอีกนี่นะมันจะมีเครื่องรบกวน มันจะมีสิ่งที่ทำให้เกิดความร้าวฉาน มันจะไม่เป็นนิสัย ก็เป็นเหตุการณ์อะไรอย่างหนึ่งที่มารบกวนจิตใจให้รู้สึกว่าอยู่ด้วยกันแล้วรุ่มร้อน อยู่ด้วยกันแล้วมันจะต้องมีเรื่องโน่นนิด นี่หน่อย เกิดขึ้นเป็นประจำ แบบนี้นะ ถ้าหากว่าเรามองเป็นหลักของวิบากกรรมนะครับ แปลว่า เราจะเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกร้าวฉานกันไม่ได้ ถ้าหากว่าเป็นปีชง

แต่ถ้าหากว่าในชาติปัจจุบัน ในชีวิตนี้ เราไม่มีความรู้เรื่องกรรมวิบาก เราไม่มีความรู้เรื่องโหราศาสตร์อะไรทั้งสิ้น แต่เรามีความรู้อยู่อย่างหนึ่ง คือเรามีความรู้ว่า การจะอยู่ร่วมกันได้ต้องมีความออมชอมกัน ต้องมีความสามารถที่จะอภัยให้กันได้ ต้องมีความสามารถที่จะทำความเข้าใจแบบผู้ใหญ่ ต้องมีความสามารถที่จะอดทน แบบคนที่มีความเข้มแข็ง แล้วก็ตั้งใจร่วมกันว่า เราจะอยู่ร่วมกันให้ได้อย่างมีความสุขด้วย ไม่ใช่ทนอยู่ร่วมกันด้วยความทุกข์กันไป ทั้งสองคนต้องมีลักษณะเด่นอยู่ประการหนึ่งที่ตรงกัน นั่นคือความพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับอุปสรรคด้วยความเมตตา ด้วยความพร้อมที่จะให้อภัย ด้วยความพร้อมที่จะฝ่าฟันอุปสรรคไปด้วยกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างหนี ต่างคนต่างต่อสู้ ต่างคนต่างหันหน้าไปคนละทิศ ถ้าหากว่าตกลงกันไว้แต่แรกแล้วมีความรัก มีความเอาใจใส่ มีความห่วงใยกันและกันมากเพียงพอ อันนี้ก็จะเท่ากับเรามีแรงต่อต้านความร้าวฉาน คือความร้าวฉาน ถ้าสมมติว่า อย่างบอกแล้วนะ ถ้าเราเชื่อเรื่องปีชงจริงๆยังไงๆมันมีเหตุให้น่าจะเกิดความร้าวฉานกันแน่ มันเป็นพลังบีบคั้นที่รอจังหวะ หรือว่าเป็นระเบิดเวลาที่พร้อมจะตูมตามขึ้นมาอยู่ แต่ทีนี้ถ้าหากว่าเรามีพลังอีกแบบหนึ่ง พลังความรัก พลังความเข้าใจ พลังความเป็นผู้ใหญ่ พลังขันติ ที่เตรียมพร้อมไว้จะเผชิญหน้ากับสิ่งที่จะเข้ามา ตรงนี้นี่ ถ้าตกลงกันแล้วมีความรู้สึกมุ่งไปด้วยกัน มุ่งหน้าไปด้วยกัน ถึงเวลา พอถึงเวลาที่ระเบิดเวลามันตูมขึ้นมานะ ใจมันอาจจะมีความรู้สึกเหมือนถูกแรงผลักนะ พยายามทำให้แยกจากกัน แต่ด้วยการที่อธิษฐานร่วมกันไว้แล้ว คือตกลงด้วยกัน ไว้ด้วยกันไว้แล้ว ก็จะทำให้เกิดแรงประสาน หรือว่าแรงดึงดูดกลับเข้าหากันใหม่ คือยังจำได้ว่าตกลงอะไรกันไว้ แล้วจำได้ถึงความรู้สึกว่าทำไมเราถึงต้องการที่จะอยู่ด้วยกัน ทำไมเราถึงต้องการความผูกพันร่วมกัน เพราะว่า เราคิดถึงสิ่งที่มันดีๆสิ่งที่มันเป็นกุศล

หรือกระทั่งบางคู่เชื่อร่วมกันว่า ต้องการจะพบ ต้องการจะสร้างกุศล ต้องการจะสร้างบุญร่วมกันตลอดไป ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ แต่ยังชาติหน้าด้วยก็จะอาศัยความมีใจเล็งไว้ตรงกัน ตรงนั้นแหละ ที่จะเอาชนะอุปสรรค ฝ่าฟันอุปสรรคทั้งหลายได้ ด้วยความรู้สึกที่ลึกซึ้ง ด้วยความรู้สึกที่ไม่ลืม ขึ้นอยู่กับข้อตกลงว่า มีความแข็งแรงขนาดไหน ขึ้นอยู่กับความรักที่ทำร่วมกันมาว่า มันมีความเป็นสุข มีความอ่อนหวานแค่ไหน มีความเป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากจะเอาชนะ กระทั่งการจะไปมีคนอื่น การจะพยายามหลบลี้หนีหน้า ไม่ต้องมาเจอกัน เพื่อที่จะได้หลบไอ้ความทุกข์ที่เกิดจากการอยู่ร่วมกัน ถ้าหากว่าเรามีความสุขมากพอ ถ้าหากเรารู้สึกดีมากพอ นั่นแหละครับ ตรงนั้นแหละที่มันจะจะเอาชนะปีชงได้ หมายถึงว่า การที่มาอยู่ร่วมกัน โดยชงกันได้นะครับ



๓) การที่เรากับเพื่อนมีความรัก และจริงใจให้กันเสมอ แต่เราสองคนมีนิสัยแตกต่างกันมาก อยู่ด้วยกันทีไร ต้องมีเรื่องบาดหมางใจกันแทบทุกครั้ง เป็นแบบนี้มาหลายๆปีแล้ว สุดท้ายก็ขอว่า เราควรห่างกันสักระยะ ไม่ได้โกรธหรือเลิกคบกันนะ แต่อยากจะพักผ่อนจิตใจ เผื่อต่อไปเราสองคนจะได้ดีขึ้นบ้าง แต่สิ่งที่ขอ มันทำให้เขาเสียใจมากๆแต่เขาก็ต้องยอมรับทั้งๆที่เขาทุกข์ใจหนัก คำถามคือ อย่างนี้เป็นการใจร้ายหรือหนีความจริงหรือเปล่า สิ่งที่ทำไปนี่มันถูกหรือเปล่า?

การที่คนสองคนตกลงกันไม่ได้ บางทีไม่มีใครถูกไม่มีใครผิด เรามองอย่างนี้ก็แล้วกันว่า โลกนี้นะ จำไว้เลยนะ พุทธศาสนาไม่พูดว่าอันไหนผิด อันไหนถูก แต่จะเน้นมากเลยว่า อันไหนเป็นกุศล อันไหนเป็นอกุศล บางครั้งกุศลไม่ได้เกิดขึ้นจากการที่เราตามใจกัน หรือว่าเห็นใจกัน ยกตัวอย่างเช่นเวลาที่พระพุทธเจ้าจะรักษาความเป็นระบบ ระเบียบของศาสนาของท่านไว้นี่นะ ท่านก็ต้องยอมที่จะเฉือนเนื้อร้าย ด้วยการ รู้ทั้งรู้ว่าทำร้ายจิตใจคนบางคน ขับไล่พระที่ทำไม่ดีออกจากศาสนาของท่านไป แบบไม่ต้องกลับมาอีก คือ จนตายนี่ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะกลับมาบวชอีก นี่ท่าน ท่านก็เรียกว่า ต้องใจแข็งสำหรับการรักษาความเป็นกุศล รักษาความสว่างแก่ส่วนรวมไว้ อันนี้เราก็เอามาประยุกต์ได้เหมือนกัน คือไม่ใช่ว่า พอเห็นเขาทุกข์ใจมาก แล้วเราก็มองว่าไอ้ที่เราทำไปนี่มันผิด เราถามตัวเองว่า สิ่งที่เราตัดสินใจไปนี่นะ ตัดสินใจไปเพื่อความเป็นกุศล หรือว่าอกุศล ถ้าหากว่าเรามีความตั้งใจดี แล้วเราเห็นว่านั่นแหละ ต้องทำ ถ้าไม่ทำ ณ ขณะนี้มันจะแย่ด้วยกันทุกฝ่าย อันนี้เรียกว่า เป็นการไปตัดสินใจทำสิ่งที่มุ่งไปในทางสว่าง มุ่งไปในทางกุศล แต่ถ้าหากว่าเราใจอ่อน แล้วเห็น รู้ทั้งรู้ว่า มันจะต้องย่ำแย่ด้วยกันทั้งคู่ทุกวัน ไม่เลิก อย่างนี้เรียกว่า เราตัดสินใจตามใจเขา เพื่อที่จะปล่อยให้อกุศลมันเกิดขึ้นแล้ว อันนี้รายละเอียดต้องดูเอาเองว่า มีความเป็นอย่างไรนะครับ

ถ้าหากว่าเรารู้ เอาตรงนี้เป็นหลักว่า ถ้าหากว่าเรา อย่างน้อยเราคนหนึ่งหยุดพักแล้ว มีใจที่สว่างขึ้น มีใจที่เป็นกุศลมากขึ้น มีกำลังใจที่จะกลับมาคิดดีกับเขามากขึ้น นั่นแหละ เราทำถูกต้องสำหรับตัวเราเองแน่ๆดีกว่าที่ว่า เราทู่ซี้ต่อไปตามใจเขา แล้วเสร็จแล้วก็ย่ำแย่ด้วยกันทั้งคู่ ไม่มีใครดีขึ้นเลย ถ้าเราตัดสินใจอย่างนี้ เรามีความเป็นกุศลขึ้นมา ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นอกุศล เราก็ต้องอธิบายให้ฟังว่า ขอพักนะ ยังไงก็ขอพัก ต้องใจแข็งนะครับ การที่คนสองคนจะตกลงกันได้ หรือไม่ได้นี่ มันไม่ใช่มาพูดกันเล่นๆแค่นี้นะ ตรงที่เราพูดกันนี่ เรียกว่าเป็นการพูดข้างเรา แต่ข้างเขานี่ ถ้าไม่ยอมขึ้นมา บางทีต่อให้ใช้เหตุผลขนาดไหนก็ลำบากหน่อย มันขึ้นอยู่กับว่าเราคบใครด้วยตั้งแต่แรกนะครับ



๔) สองวันที่แล้วเวลาภาวนา ได้ยินเสียงพากย์ค่ะ แรกๆก็เสียงเดียวก็ตามรู้ไป หลังๆเริ่มฟังไม่ได้ศัพท์ เหมือนเสียงอื้ออึง ก็ฟังไป แต่ฟังไม่ออกค่ะ หนูรู้ว่าหนูรำคาญ เริ่มไม่เป็นกลางแล้ว พอมันเงียบไปสงบมาก สักพัก มาอีกแล้ว มันไม่เที่ยง แบบนี้มาถูกทางไหมคะ หรือว่า มารหรือเปล่า?

การที่เราได้ยินเสียงพากย์ มันก็คือการปรุงแต่งจากจิตของเราเองนั่นแหละ ถ้าหากเราว่าได้ยินเสียงพากย์แล้วมันก่อให้เกิดสติเข้ามาที่ปัจจุบัน อันนั้นเป็นเสียงพากย์ที่ไม่น่ารังเกียจ ยังไงๆในหัวเรานะต้องมีเสียงอยู่แล้ว ต้องมีเสียงความคิด เพราะมันอยู่กับเรามาชั่วกัปชั่วกัลป์ อยู่ๆพอใครตั้งใจจะเจริญสติภาวนาแล้ว เสียงนี้จะหายไป อันนั้นเป็นไปไม่ได้ ยังไงๆนะจิตต้องมีทิศทางที่จะทำอะไรบางอย่าง ผ่านภาษาพูดนี่แหละ บางคนนี่ อย่างเวลาที่เขาจะออกแบบอะไรสักอย่าง ที่ยากๆระดับโลก เขาคิดกันเป็นคำเลยนะ ว่าเราต้องการอะไรที่เป็นคอนเซปต์ แล้วรักษาคอนเซปต์ตรงนั้นไว้ เพื่อให้ใจนี่มันพุ่งไป ตรงไปอยู่ที่นั่น แล้วก็ปรับจูนให้ตรงกัน อันนี้ก็เหมือนกัน ในทางธรรม ถ้าหากว่าเราไม่มีคำอะไรสักอย่างที่มาบอกว่า ตรงนี้คืออะไร บางทีมันอึดอัดตายเลยในช่วงเริ่มต้น ถ้าหากว่าจิตของเรามีกำลังอ่อน ยังมีความฟุ้งซ่านอยู่มาก ส่วนใหญ่ เสียงพากย์จะมาอยู่เรื่อยๆแต่ถ้าหากว่าจิตของเรามีกำลังสมาธิมากขึ้น เริ่มมีขณิกสมาธิ มีความนิ่ง มีความรู้สึกสว่าง มีความรู้สึกสงบ เสียงพากย์นี่มันจะค่อยๆแผ่วลงไป แล้วถ้าหากมี ถ้าหากเจริญสติ หรือทำสมาธิไปจนกระทั่งถึงอุปจารสมาธิ มีปีติ มีสุข ที่ล้นเอ่อขึ้นมาแล้ว ตรงนั้นเสียงความคิดจะแผ่วมาก ความคิดนี่จะออกมาเป็นระลอกๆนานๆมาที ไม่รบกวนอะไรเลย พอคลื่นความคิดผุดขึ้นมานี่ ถูกรู้ได้ง่ายๆนะว่า ผุดขึ้นมาเมื่อไหร่ หายไปเมื่อไหร่ แล้วยังรู้ต่อ แต่ถ้าหากว่า เจริญสติ เจริญสมาธิได้จนกระทั่งถึงฌานนี่ ความคิดจะเงียบ เงียบยาวเลย เงียบยาวแบบที่ไม่มีอะไรอื่นนอกจากอารมณ์อันเป็นที่รู้ของจิตอย่างเดียว อันนี้เราก็ต้องเข้าใจไว้ว่า จิตแบบไหนนะครับที่มันจะมีเสียงพากย์มากๆจิตแบบไหนที่มีเสียงพากย์น้อยๆดูเป็นความไม่เที่ยงของจิตไปด้วยก็ได้ แล้วก็ดูโดยความเข้าใจนะว่า อันนี้เป็นอนัตตธรรม เงื่อนไขแบบนี้ จิตแบบนี้มันก็เลยมีเสียงพากย์ เงื่อนไขอีกแบบหนึ่ง จิตดีขึ้น เสียงพากย์ก็น้อยลง


เอาละครับ คืนนี้คงต้องล่ำลากันแต่เพียงเท่านี้นะ ราตรีสวัสดิ์ครับ ก็ขอให้เจริญในธรรมทุกท่านครับ


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น