วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๑๖ / วันที่ ๒๔ ก.พ. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันศุกร์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงและเพื่อจะทักทายไต่ถามเข้ามาในรายการ ให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/HowfarBooks นะครับ

โลกหมุนไปถึงไหนแล้ว ไม่มีใครรู้แน่ ไม่ทราบจะอาศัยอะไรมาวัด แต่วันคืนล่วงไป อายุเรามากขึ้น ตัวเรามาถึงไหน อันนี้มีมาตรวัดชัดเจนครับ ว่าวันนี้ดีขึ้นหรือแย่ลงกว่าเมื่อวาน

ก็ทักทายกันกับทุกท่านที่เข้ามาในวอลล์นะครับ เดี๋ยวขอผมรีเฟรซนิดหนึ่ง



๑) ทำอย่างไรจึงบรรลุธรรมได้?

ก็ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ และยืนยันชัดเจนนะครับ คือต้องเจริญสติ และก็อยู่บนเส้นทางของมรรคมีองค์แปด คือว่าเอาแบบกระชับสั้นที่สุดนะ ก็คือทำใจให้ผ่องใสนะครับ โดยการละบาปทั้งปวงนะ และก็เพิ่มกุศลทั้งปวงเข้ามา ความสว่างอะไรทั้งหลายเอาเข้าตัวให้มากที่สุด ความมืดอะไรโยนทิ้งทะเลให้หมด แล้วจากนั้นก็ค่อยมีกำลังที่จะเจริญสตินะครับ เพื่อให้เกิดความรู้แจ้งตามจริง

การรู้แจ้งตามจริง ก็ไม่ใช่อะไรมากไปกว่า การยอมรับตามจริงแบบธรรมดาธรรมดานี่แหละ ว่าขณะนี้เรากำลังมีความทุกข์หรือความสุข เรากำลังหายใจเข้าหรือหายใจออก อะไรที่มันง่ายๆนี่นะ มันเป็นสิ่งที่รู้ยากที่สุดเลย อะไรที่มันกำลังปรากฏอยู่ต่อหน้าต่อตานี่ ด้วยใจที่มันหมกมุ่นอยู่กับกิเลส เดิมเคยมีแต่ความมืด ความมัว ความฟุ้งซ่านทั้งหลายนี่นะ มันจะไม่ยอมรับ มันจะไม่อยากเอาใจใส่ แต่เมื่อจิตใจมีความปลอดโปร่ง ทิ้งความมืดไปหมด แล้วก็เอาความสว่างนี่เข้าสู่จิตใจมากขึ้นแล้วนะครับ

ในที่สุดแล้ว เราจะเห็นว่าการยอมรับตามจริง ตามสภาพที่มันกำลังเป็น ที่มันกำลังเกิดขึ้น ไม่ว่าจะ กำลังหายใจเข้าหรือหายใจออก หายใจยาวหรือหายใจสั้น กำลังทุกข์หรือกำลังสุข กำลังอึดอัด หรือกำลังสบายนะ เหล่านี้เป็นสิ่งที่รู้ไปแล้วมีประโยชน์อย่างยิ่งเลย มีประโยชน์อย่างใหญ่หลวงมหาศาลนะครับ ก็คือทำให้เราสามารถยอมรับความจริงได้ว่า ทั้งหลายทั้งปวง ที่กำลังนึกๆว่าเป็นเราอยู่นี้มันไม่มี มันมีแต่ความไม่เที่ยง มันมีแต่ภาวะประชุมประกอบกันชั่วคราวนะ จนกระทั่งจิตนี่นะไปถึงจุดๆหนึ่งที่มีกำลังมากพอจะล้างผลาญกิเลสแบบเด็ดขาดนะ ตัดทำลายอุปาทานทิ้ง แบบเหมือนกับมีลูกไฟลุกโพล่งขึ้นมาวาบหนึ่ง ทำให้กิเลสมันหายไปเกลี้ยงเกลา นี่แหละ ตัวนี้แหละ ที่เป็นเรื่องของการบรรลุธรรมนะ



๒) อยากรู้วิธีเอาชนะใจตัวเอง?

มันก็ต้องมีมาตรวัดนิดหนึ่งว่าเราจะชนะในเรื่องไหนนะครับ การชนะใจตัวเองนี่ คำว่าตัวของเรานี่นะ จริงๆถ้าให้พูดแบบเต็มประโยคนิดหนึ่ง ก็คือว่า มีวิธีไหนที่เราจะเอาชนะกิเลสที่เกิดขึ้นกับเราเอง ที่เราไปเข้าข้างมัน ปกตินี่นะใจของเรามันไม่มีอะไรหรอก กระทั่งกิเลสมันเข้ามาครอบงำ และเรายินดีสมยอมที่จะให้กิเลสมันครอบงำ พูดง่ายๆว่าเราอยู่ข้างเดียวกัน เอาใจฝักใฝ่กับกิเลสนะ อยู่ข้างมัน อันนี้เรียกว่าตามใจตัวเอง หรือว่าตามใจกิเลส หรือว่าถูกกิเลสมันดึง มันชักจูงไปแล้ว ทีนี้เพื่อที่จะเอาชนะใจตัวเองก็หมายความว่าเราเอาชนะกิเลส เราไม่ไปอยู่ข้างเดียวกับกิเลส เราไม่ไปสมยอมหรือว่ายินยอมกับการให้กิเลสมันมาครอบงำจิตใจของเรา ก็ต้องแยกกันไปเป็นเรื่องๆ นะว่าจะชนะกิเลสข้อไหน ข้อความโลภ หรือข้อความโกรธ หรือข้อความหลง

ที่คนเจอกันบ่อยที่สุดในชีวิตประจำวัน ก็คือถูกความโกรธครอบงำ ถูกความโกรธกระตุ้นให้ทำอะไรบางอย่างที่มันร้ายๆ หรือว่าถูกความเกลียด กระตุ้นให้เกิดการคิด หรือว่าการพูด การทำ กับใครบางคนในทางเบียดเบียน อันนี้เพื่อที่จะชนะใจตัวเองนะ ก็คิดง่ายๆเลยว่าเราไม่ได้รบกับคนอื่น แต่รบกับกิเลสที่เกิดขึ้นในขณะนั้นๆ ถ้าหากว่ารู้ตัวว่าเรากำลังจะแพ้กิเลสข้อที่ว่าด้วยโทสะ มันกำลังจะหลุดปากอยู่รำไรนะ ก็เอาชนะกันตรงนั้นแหละ คิดเสียว่าถ้าตั้งความคิดไว้อย่างไรนะ ใจมันก็จะปฏิบัติตามนั้น ถ้าเราคิดว่าการควบคุมไม่ให้คำพูดร้ายๆมันออกจากปากเราไป มันง่ายนิดเดียว แต่การจะไปตามแก้จิตใจที่มันมีความเคียดแค้น หรือว่ามันมีความชิงชังของคนที่เขาเกิดความกระทบกระทั่งจากคำพูดของเรานี่นะ มันยาก เหมือนกับเราไปทำให้เขาเจ็บใจแล้วนี่จะไปตามแก้ทีหลัง หรือว่าจะไปพูดขอให้เขาลืมซะเสมือนกับว่าเราไม่เคยพูดนี่ อันนี้มันเป็นไปไม่ได้นะ

ให้คิดอย่างนี้ก็แล้วกันว่า เราแก้ด้วยการกัน ด้วยการทำให้คำพูดร้ายๆ มันยังไม่เกิดขึ้นนี่ มันง่ายกว่าที่จะไปเปลี่ยนใจคนให้เลิกคิดร้ายกับเรา จากความเจ็บใจที่เกิดจากคำพูดร้ายๆของเรานะครับ ถ้าหากว่าเราตั้งความคิดไว้อย่างนี้ได้ แล้วเห็นว่า เออ มันก็ไม่ยากนี่ แค่ควบคุมนะ ให้คำพูดมันไม่ออกจากปากเรา แค่ควบคุมให้อารมณ์ของเรานี่ มันหยุดนิ่งลงในขณะที่มันกำลังพลุ่งพล่าน มันดีกว่าที่จะต้องไปตามไล่ ตามล้าง ตามเช็ด ตามแก้เกมกันอีกไม่รู้กี่ปีนะ ที่จะต้องมาแก้เจ็บแก้ใจของคนที่เขาได้รับคำกระทบกระทั่งจากเราไป นะครับ

ก็พูดง่ายๆคือรู้ตัวว่ากำลังแพ้กิเลสข้อไหน ก็ให้เอากิเลสข้อนั้นแหละมาเป็นศัตรูของเรา ศัตรูของเราไม่มีคนอื่นอยู่ในโลกหรอก มันมีแต่จิตใจของเรานี่แหละ มันมีแต่กิเลสของเรานี่แหละ ที่ทำให้เราเสื่อม ทำให้เราต้องเดือดเนื้อร้อนใจมากที่สุดนะ ศัตรูนี่นะต่อให้ร้ายกาจมากแค่ไหนก็ไม่สามารถตามเป็นเงา คอยจิกคอยกัด คอยตบคอยตี คอยรบคอยรา กับเราได้ตลอดเวลายี่สิบสี่ชั่วโมง แต่ความคิดนี่แหละ มันสามารถที่จะรังควาญ ราวี แล้วก็ทำให้เราเกิดความเดือดเนื้อร้อนใจ ความรำคาญใจได้ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงนะ ความคิดของเราจึงเป็นศัตรูที่ใหญ่ที่สุด มีความน่าเกลียดน่ากลัวมากที่สุด และสมควรที่จะเอาชนะมากที่สุด

นี่คือหลักของพระพุทธเจ้านะครับ ท่านตรัสว่า ผู้มีความคิดไม่ดีไว้ในหัวนี่ มันเหมือนมีศัตรูตามติดตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่มีศัตรูที่ไหนในโลกนะที่จะคอยตามรังควาญ ตามราวีเราได้มากไปกว่าความคิดของตัวเองอีกแล้ว



๓) อยากรู้จริตของตัวเองว่าควรปฏิบัติแบบสมถะก่อนหรือวิปัสสนาก่อน มีวิธีดูหรือเปล่า?

มีครับ ก็สังเกตง่ายๆก็แล้วกันนะ ถ้าหากว่าจิตใจฟุ้งซ่าน ปั่นป่วนอยู่มากๆเกินกว่าที่จะมีแก่จิตแก่ใจดูอะไร หรือว่ายอมรับอะไรตามจริง อันนั้นควรทำสมถะก่อน คำว่าสมถะอย่าเหมาว่าคือการไปนั่งสมาธิ หรือการไปหลับตา หรือการไปเดินจงกรม ปลีกตัวออกจากสังคม ไม่ใช่นะ ไม่ใช่แบบนั้นเสมอไป แค่เราได้สวดมนต์ทำให้ใจเย็นลง หรือว่าทำให้มีความรู้สึกถึงการเอาใจไปจดจ่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือว่าเอาใจไปจดจ่ออยู่กับความสว่างตรงหน้านะครับ เท่านี้ก็เรียกว่าเป็นสมถะได้แล้ว เพราะทำให้กิเลสหรือความฟุ้งซ่านนี่มันสงบระงับลงชั่วคราวได้ อะไรก็แล้วแต่ที่ทำแล้วใจเย็นลง อะไรก็แล้วแต่ที่ทำแล้วใจสว่างขึ้น รู้สึกดีมากขึ้น นั่นแหละเป็นสมถะได้หมด เพราะว่าความหมายของสมถะที่แท้จริงก็คือทำให้ใจสงบจากกิเลสหยาบๆ เรื่องของความร้อนทางราคะ เรื่องของความร้อนทางโทสะ เรื่องของความมืด ความดำทางโมหะ อะไรก็แล้วแต่ที่เป็นกิเลสหยาบๆ ถ้าหากเราสามารถกำจัดออกไปได้ ทำให้ใจอยู่ในอาการสงบได้ตรงนั้นเป็นสมถะ และสมถะที่ถูกต้อง เป็นสมถะในแบบที่จะทำให้จิตมีความพร้อมรู้ พร้อมที่จะยอมรับตามจริง พร้อมที่จะยกระดับขึ้นสู่ความเป็นวิปัสสนา ตัวความเป็นวิปัสสนามันไม่ใช่อะไรอื่นที่มันสูงส่ง หรือว่าเลิศเลอ หรือว่ามีความพิสดารเกินคาดอะไรทั้งนั้น มันคือการพัฒนาจากลักษณะของจิตใจที่พร้อมจะยอมรับตามจริง ให้ขึ้นไปสู่การยก ขึ้นไปสู่การยอมรับตามจริงได้อย่างต่อเนื่อง

ยกตัวอย่างเช่น ในขณะนี้ ถ้าหากว่าเรากำลังฟุ้งซ่าน เรื่องอยากรวย อยากมีแฟน หรือว่าอยากได้รถ อยากได้บ้าน อยากได้เงิน อยากได้ชื่อเสียง อะไรก็แล้วแต่ อย่างนี้มันไม่พร้อมที่จะยอมรับความจริงอย่างใดๆทั้งสิ้น มันมีแต่ความพร้อมที่จะเอาให้ได้อย่างใจอยาก ไม่ว่าจะด้วยวิธีไหน ถ้าหากว่าไม่มีวิธีใดใจก็ติดอยู่กับความฟุ้งซ่านไม่เลิก นี่เรียกว่าเป็นใจที่ไม่พร้อมยอมรับตามจริง มันไปสุดทาง มันไปตันที่ความฟุ้งซ่านนั่นเอง

แต่ถ้าหากว่า ณ ขณะนี้ เรารู้สึกตัวเองว่ากำลังฟุ้งซ่าน นอกเรื่องนอกราวมากเกินไปแล้ว ฟุ้งซ่านเกินตัวมากเกินไปแล้ว เราเห็นความมีกิเลส มีความโลภ มากเกินกว่าที่ใครจะมีความสุขได้ แค่ยอมรับตามจริง ว่ากำลังฟุ้งซ่านอยู่ ว่ากำลังคิดอะไรเกินตัวอยู่ แค่นี้ใจมันเย็นลงนิดหนึ่งแล้ว แต่แรงดันของความอยากมันยังไม่มีที่สิ้นสุด มันยังดันต่อมาเรื่อยๆนะ ตรงนี้เราก็ต้องหาอะไรมาเป็นเครื่องยึดเครื่องเหนี่ยวเพื่อให้ความโลภเกินตัว แบบที่เกินตัวนั้นนี่มันรู้จักสงบระงับลงบ้าง

เราก็อาจจะไปสวดมนต์ ‘อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา’ จนกระทั่งมีความรู้สึกว่าการสวดของเรานี่ มันทำให้จิตใจมันสงบเย็นลงมา มันทำให้จิตใจของเรานี่ เลิกคิดถึงอะไรที่เกินตัว เลิกคิดถึงอนาคตที่มันยังมาไม่ถึงได้ นี่ก็เรียกว่าเป็นสมถะ นี่ก็เรียกว่าเป็นการนำบทสวดมนต์มาทำให้ใจสงบระงับลงชั่วคราว เมื่อสงบระงับลงชั่วคราว ก็จะเกิดความสามารถที่จะเห็นนะว่า พอความฟุ้งซ่านระลอกใหม่มันผุดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เราก็รู้สึกแล้วว่า ‘อ่า อันนี้ เป็นของที่มันมาชั่วคราว มันเป็นของที่จรมาชั่วคราว ไม่ใช่ความคิดของเราแท้ๆสักหน่อย มันเป็นอะไรที่ดับไปแล้ว แล้วเดี๋ยวมันก็กลับมาใหม่นะ จากความเย็นกลายเป็นความร้อน จากความสงบกลายเป็นความปั่นป่วน’ เราเห็นอย่างนั้น นี่แหละเรียกว่า เป็นวิปัสสนาแบบอ่อนๆแล้ว มันเริ่มเห็นตามจริงว่าความคิด ความฟุ้งซ่าน ความโลภโมโทสันอะไรทั้งหลายนี่ มันไม่ใช่เป็นของติดตัว ไม่จำเป็นต้องเป็นของติดตัว ทั้งหลายทั้งปวงมันเกิดขึ้นแล้วมันหายไปได้ ถ้าหากเราไม่เอาใจไปเกาะเกี่ยว ไม่ไปหลงตามมัน ไม่ได้ยินยอม ไม่ไปสมยอมตามมัน ด้วยการเห็นความจริงแบบนี้เรื่อยๆ ในที่สุดจิตมันกลายเป็นจิตที่มีความพร้อมรู้ จิตที่มีความพร้อมยอมรับตามจริง จิตที่มีความพร้อมที่จะเห็นว่าอะไรๆที่มันปรากฏกับจิตปรากฏต่อใจนะ เป็นแค่ของชั่วคราว ไม่ใช่ของที่น่ายึดไม่ใช่ของที่น่าเอา ไม่ใช่ของที่มันมีความน่ายินดีอะไรนะครับ นี่แหละเรียกว่าเป็นการเห็นตัวเอง ไต่ลำดับขึ้นมาจากสมถะ และยกขึ้นสู่ความเป็นวิปัสสนา



๔) เดินจงกรมไปทำงานแต่ส่วนใหญ่จะไปรู้ลมมากกว่าเท้า ยังถูกไหม ช่วยแนะนำด้วย?

เวลาผู้หญิงรู้เท้ากับรู้ลมนี่นะเท่าที่ผมสังเกตมานะครับ จะมีความลังเลสงสัยไม่แน่ใจ แล้วก็มันขึ้นมายุ่งๆอยู่กับความสงสัยซะมากกว่าที่จะเห็นเท้าหรือเห็นลมจริงๆนะ ถ้าหากว่าเห็นเท้าหรือเห็นลมจริงๆ ปกติมันจะไม่เกิดความกระสับกระส่ายมากหรอก แต่เพราะใจมาผูกอยู่กับความสับสน จิตมาผูกอยู่กับความถูกความผิด หรือว่ามาเอาการตัดสินนะว่าใช่หรือไม่ใช่นี่ จิตแบบนี้นี่แหละที่มันจะไปไม่ถึงไหน มันจะไม่ได้รู้อะไรสักอย่างทั้งลมแล้วก็เท้านะ ลองสังเกตก็แล้วกัน

อย่างคุณบอกว่าส่วนใหญ่จะไปรู้ลมมากกว่าเท้า แล้วลองสังเกตไปอีกนิดหนึ่งว่าที่บอกว่ารู้ลมมากกว่าเท้านั้นนะ มันมีความสงสัยปนอยู่ด้วยกี่เปอร์เซ็นต์ ถ้าหากว่าเรารู้ลมทุกครั้งไปได้สิบครั้งโดยไม่มีความสงสัยเลยว่า เอ๊ะ นี่กำลังทำถูกหรือทำผิดอยู่ นี่เรียกว่าไม่มีความสงสัยเจือ แต่ถ้าหากว่ารู้ลมไปสิบครั้งแล้วมางงกับตัวเอง หรือถามตัวเองว่า เอ๊ะ! นี่ควรจะไปรู้เท้าหรือรู้ลมกันแน่ เอ๊ะ! นี่กำลังทำถูกหรือทำผิดกันแน่ นี่แหละ เรียกว่าจิตเข้าไปพัวพัน เข้าไปผูกติดอยู่กับความสงสัย ถูกความสงสัยขัดขวางความเจริญก้าวหน้าแล้วนะครับ

ท่านถึงบอกว่า วิจิกิจฉา เป็นหนึ่งในห้าของตัวถ่วงความเจริญในการเจริญสตินะ ที่ท่านเรียกว่านิวรณ์ นั่นแหละ ที่ท่านบัญญัติไว้ว่าเป็น นิวรณธรรม หมายความว่า เรามีอะไรบางอย่างมาขวางไม่ให้การเจริญสติมันต่อเนื่องหรือก้าวหน้า หรือว่าคืบหน้าไปเป็นเส้นตรง แต่ว่าวกวนกลับไปกลับมาอยู่ในระหว่างจุดเริ่มต้นกับจุดก้าวหน้า

ไม่ใช่มีเฉพาะความลังเลสงสัย มันยังมีกามฉันทะ ความพึงพอใจในกามคุณทั้งห้า พอใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส แล้วก็มีความผูกใจพยาบาทกับคนใดคนหนึ่ง สังเกตเถอะว่าพอเรามีความผูกใจเพ่งเล็งอยู่ อยากแก้แค้นใคร มันจะไม่อยากเจริญสติ มันจะไม่อยากยอมรับตามจริงอะไรทั้งสิ้น หรือว่ามีความหดหู่เซื่องซึมอยู่นะ ไอ้ความหดหู่เซื่องซึมนี่ก็จะทำให้ขาดกำลัง ไม่สามารถที่จะมีแก่จิตแก่ใจที่ไปเจริญสติยอมรับตามจริงในปัจจุบันได้ หรือถ้าหากมีความฟุ้งซ่าน มีความกระวนกระวายใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่ แม้กระทั่งนี่นะ อย่างเช่นที่มาคิดว่าเรากำลังรู้ถูกอยู่หรือรู้ผิดอยู่ เรากำลังรู้สิ่งที่ใช่หรือไม่ใช่ เอ๊ะ เราควรจะไปรู้เท้าหรือรู้ลมมากกว่ากัน อันนี้แหละ เรียกว่า อุทธัจจะกุกกุจจะ คือมันมีทั้งอย่างอุทธัจจะนี่เป็นความฟุ้งซ่านไปในเรื่องโลกๆ แต่ถ้าเป็นกุกกุจจะก็จะเป็นฟุ้งซ่านในเรื่องธรรมๆนี่แหละ การฟุ้งซ่านในเรื่องธรรมๆ มันก็เกิดขึ้นได้ในระหว่างการปฏิบัติช่วงต้นๆ อย่างนี้เหมือนกัน

นอกจากนั้น ข้อสุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือ วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัยไม่แน่ใจ ว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นี่มันถูกหรือว่าผิด มันอยู่ในทิศทางที่ใช่หรือไม่ใช่ ถ้าหากว่าเรายังถามตัวเองอยู่นะว่าควรจะรู้ลมหรือว่ารู้เท้ามากกว่ากัน แสดงว่า ณ ขณะนั้นจิตของเราไม่อยู่ในอาการยอมรับตามจริง แต่อยู่ในอาการสงสัยลังเล ซึ่งเป็นตัวขวางไม่ใช่ตัวส่งเสริมสนับสนุน วิธีที่ถูกต้องก็คือ ถ้าหาก ณ ขณะนั้นลมปรากฏเด่นก็ให้รู้ลมไปอย่างเดียวไม่ต้องไปรู้เท้า แต่ถ้าขณะนั้นเท้าปรากฏเด่นก็ให้รู้เท้าไม่ต้องไปรู้ลม แต่ถ้าหากว่าเราเดินจงกรมแบบสบายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเช้าขึ้นมานะ สมองยังโล่งๆอยู่ เอาแค่ความรู้สึกว่า เออ กระทบๆๆไป แล้วไม่สนใจว่าจะมีอะไรต้องรู้หรือไม่ต้องรู้อีกบ้าง เอาตามธรรมชาติที่มันเกิดขึ้น ณ ขณะนั้น ถ้าหากว่าจิตมีสติดีพอ จิตมีความเยือกเย็น มีความใจเย็นมากพอนะ คุณจะพบว่านอกจากฝ่าเท้าสัมผัสให้รับรู้ได้ มันยังมีอะไรอย่างอื่นให้รู้นอกเหนือไปจากนั้นอีก อาจจะเป็นลมก็ได้หรือว่าอาจจะเป็นผัสสะที่มากระทบทำให้เกิดความรู้สึกชอบใจหรือไม่ชอบใจ ทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัดหรือสบาย อะไรก็แล้วแต่ที่กำลังปรากฏตามจริงนะ เรารู้ไป รู้ไปให้ตรงกับจุดเกิดเหตุ รู้ไปให้ตรง ณ จุดเกิดเหตุนะ แล้วไม่ต้องไปกังวล ไม่ต้องสงสัยว่าเรากำลังรู้ถูกหรือรู้ผิด ในเมื่อมันรู้อยู่ชัดๆ ไม่ต้องไปสนใจว่าเรากำลังรู้อย่างนี้แล้วจะได้อะไรขึ้นมา เพราะว่าผลที่ออกมาจากการตามรู้ ตามดู ตามเจริญสติไป โดยไม่มีข้อสงสัยนั่นแหละ มันจะบอกเราเองว่า อ๋อ! จิตที่มีความว่องไวในการรับรู้ ในการยอมรับตามจริงนั่นแหละ คือความก้าวหน้าที่แท้จริง จิตที่มีความพร้อมรู้ พร้อมยอมรับตามจริงนั่นแหละ คือสิ่งที่เราต้องการจากการเจริญสติ ไม่ใช่ว่าไปกำหนดตายตัวอยู่ว่าเราจะต้องรู้เท้าเท่านั้น เราจะต้องรู้ลมหายใจเท่านั้น หรือว่าเราจะต้องรู้อะไรมากกว่ากัน ไม่ใช่นะ อะไรก็แล้วแต่ที่มันกำลังปรากฏตามจริง และเราสามารถยอมรับได้ นั่นแหละครับ ความสำเร็จในการเจริญสติขั้นต้น



๕) บางทีสวดมนต์แล้วรู้สึก มึนๆทึบๆ ไม่โปร่งโล่ง ไม่มีสมาธิเลยค่ะ และบางครั้งก็เหมือนขี้เกียจไม่อยากปฏิบัติขึ้นมาเฉยๆ?

อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา ความขี้เกียจมันก็คือลักษณะหนึ่งของจิตที่หดหู่ ซึมเซานะครับถ้าหากว่าเกิดความขี้เกียจขึ้นมา เราตีโจทย์เป็นจิต มองซะว่านั่นคือลักษณะหนึ่งของจิตที่มีอาการหดหู่ ที่มีอาการจม ที่มีอาการที่เหมือนกับอยากปล่อยมือปล่อยเท้าให้ตก อยากทอดมือทอดเท้า ไม่อยากทำอะไร ลักษณะของจิตแบบนั้นถ้าถูกรู้สึกได้ มันก็จะถูกเห็นได้ว่าเหมือนกันว่า ระดับความอยากจมนี้ มันอยากจมไม่เท่าเดิม บางทีมันก็ลอยๆ ขึ้นมาเหมือนกะจะตื่นขึ้นมานิดๆ แล้วเดี๋ยวก็กลับจมลงไปอีก กลับหดหู่ลงไปใหม่

การสวดมนต์ สวดแล้วรู้สึกมึนๆ ทึบๆ ไม่โปร่งโล่ง มันอาจเป็นเพราะว่าก่อนสวดมนต์เราทึบๆ มึนๆไม่โปร่งโล่งอยูก่อนก็ได้ แต่เพิ่งมาเห็นชัดเจนเมื่อสวดมนต์แล้ว เพราะว่าการสวดมนต์โดยหลักนี่นะ ตามธรรมชาติเราพูดในสิ่งที่เป็นมงคล กล่าวคำในสิ่งที่เป็นสิริมงคล เป็นความสว่าง มันก็เกิดความสว่างขึ้นมาว็อบๆแว็บๆ แล้วเกิดการเปรียบเทียบขึ้นมาว่า อ้อ! เดิมทีนี่นะ มันไม่ได้สว่างอย่างนี้ มันมีความรู้สึกมึนๆ ทึบๆ อยู่ต่างหาก

หรือถ้าหากว่าเราตั้งใจมากเกินไป หรือถ้าหากว่าเราสวดแบบเคลิ้มๆ เหมือนสวดแบบ เหมือนเอาตามที่เขาบอกให้สวด เราก็สวดอย่างนี้นะ มันก็มีอาการฝืนๆอยู่โดยไม่รู้สึกตัว พอความฝืนมันสะสมตัวไปมากเข้ามากเข้านะ จนสวดเสร็จ ก็เกิดเป็นอาการมึนๆ ทึบๆ ขึ้นมาได้ มันมีหลักได้หลายกรณี จะบอกว่าความรู้สึกมึนๆ ทึบๆ ไม่โปร่งโล่งนี่นะ เราสามารถที่จะมองเห็นได้ แล้วก็สามารถที่จะตรวจสอบดูตัวเองด้วยก็ได้ ว่า ณ ขณะนั้นจิตใจของเรามันมีความเต็มที่กับการสวดมนต์หรือเปล่า

ถ้าหากว่าคุณสวดแบบเปล่งเสียงเต็มปากเต็มคำนะ แบบที่มีความอาจหาญ มีความมุ่งมั่นที่จะผูกใจอยู่กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เหมือนกับเราตั้งใจถวายแก้วเสียง เป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และก็สังฆบูชาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยนี่นะ โดยส่วนใหญ่แล้วจิตจะมีความโปร่งโล่ง จิตจะมีความตื่น จิตจะมีความเบิกบานเป็นสติขึ้นมานะ ‘อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ ภะคะวา’ นะ ถ้าหากว่าพูดแบบเหมือนกับมีใจอยากจะสรรเสริญ พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ จริงๆไม่ใช่แค่ ‘อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ’ แบบพึมพำๆ เสียงยิ่งมัวเท่าไหร่นะ จิตใจคุณก็จะยิ่งมัวตามไปเท่านั้น

แต่ถ้าหากว่าเสียงมีความคมชัด เสียงมีความตื่น มีความเต็มนะ เรารู้สึกถึงแก้วเสียงที่มีความเป็นกุศล เสมือนกับเป็นการถวายแก้วให้กับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างนี้นะ จิตจะถูกปรุงแต่งให้เหมือน ให้มีความใสเหมือนกับแก้วตามไปด้วย

ลองดูนะครับ ลองดูใหม่ พูดเต็มปากเต็มคำ เปล่งเต็มเสียง แล้วก็มีความตั้งอกตั้งใจ ไม่ใช่ตั้งอกตั้งใจมากเกินนะ ตั้งอกตั้งใจในลักษณะที่มีความสุขอยู่กับการสวด อยู่กับการเปล่งเสียงสรรเสริญพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ระหว่างที่สวดไปนี่ เรารู้ตัวไหมว่าเจตนาของเราเป็นไปทางไหน บางคนนะสวดมนต์นี่ อยากจะเอาเข้าตัวอย่างเดียวเลย นี่พูดถึงทั่วๆไปนะ คนไทยถูกสั่งสอนกันมาว่าสวดเพื่อให้ได้โน่น เพื่อให้ได้นี่ แต่ไม่ค่อยมีการสอนกัน จงสวดมนต์เพื่อที่จะระลึกถึงพระพุทธคุณ หมายถึงว่า พระพุทธเจ้ามีบุญคุณกับเราอย่างไร มีคุณวิเศษอย่างไร ให้ระลึกถึง ให้มีใจน้อมไปตามนั้น บางคนนี่ สวดไปก็คิดไปว่าขอให้ถูกหวย ขอให้ได้เมีย ขอให้ได้บ้านคืน ขอให้บ้านหลุดจำนอง อะไรต่างๆนานานะครับ ด้วยความเล็งโลภอยู่แบบนั้น มันไม่มีทางหรอกที่จิตใจจะสว่าง ที่จิตใจจะสดใสขึ้นมาได้ แต่ถ้าหากว่าเราเข้าใจอย่างชัดเจนนะว่า สวดมนต์ไปเอาจิตที่เป็นกุศลดีกว่า เอาจิตที่เป็นความสว่างดีกว่า เอาจิตที่มีความผูกพันกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดีกว่า เพื่อให้จิตใจมีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวเอง เต็มเม็ดเต็มหน่วย นั่นแหละเป็นการสวดมนต์ที่ถูกต้องอย่างยิ่ง แล้วก็เป็นการสวดมนต์ ที่จะเป็นฐานให้ชีวิตเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงในทางที่เป็นมงคล เป็นไปในทางที่ไม่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจจากกิเลส จากความโลภโมโทสันนะ ที่กำลังครอบงำคนทั้งโลกอยู่ในปัจจุบันนี้

การเข้าใจ การทำอะไรก็แล้วแต่ ถ้าขึ้นต้นด้วยความเข้าใจ มันจะลงเอยเป็นเหตุเป็นผล และมีความเป็นกุศลมีความเป็นมงคลนะ แต่ถ้าหากว่าทำอะไรโดยไม่เข้าใจ สักแต่ทำสืบๆกัน ตามที่เขาลือกันว่าสวดมนต์แล้วจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิบ้าง สวดมนต์แล้วจะกันภูติผีปีศาจได้บ้าง หรือหนักกว่านั้นคือสวดมนต์แล้วเดี๋ยวจะทำมาค้าขึ้น คือมันก็มีนะที่สวดมนต์แล้วทำมาค้าขึ้น คือพอจิตมันดีพอจิตมันเป็นกุศลนะ มันก็คิดดี พูดดี แล้วก่อความรู้สึกดีๆให้กับคนที่มาติดต่อกับเรา แต่มันไม่ใช่ว่าจะมีบทสวดบทใดบทหนึ่ง สวดเสร็จแล้วเงินทองไหลมาเทมา อย่าไปเชื่อนะ คือถ้าเงินทองจะไหลมาเทมาด้วยการสวดมนต์นี่นะ คนทั้งโลกรวยกันหมด มันมีเฉพาะแค่คนบางคนที่ทำที่สวดแล้วเงินทองไหลมาเทมา บุญเก่าเขาถึงเวลา ถึงจังหวะให้ผลเวลาที่จิตเขาดี จิตเขาเป็นกุศล จิตเขาผูกอยู่อยู่กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์นะ มันไม่ใช่ทุกคนที่สวดปุ๊บมันจะได้รวยปั๊บ


เอาล่ะครับ วันนี้ก็วันศุกร์นะ เป็นวันที่ทุกคนจะได้พักผ่อนกันในวันพรุ่งนี้ ก็ขอให้มีความสุขกันนะครับ ใครยังต้องทำงานในวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ต่อไป ก็ขอให้มีกำลังใจ แต่ถ้าหากว่าเป็นวันหยุด ก็อยากจะให้เป็นวันหยุดที่คุ้มค่านะครับ ด้วยการพักผ่อนทั้งกายทั้งใจกันจริงๆ และวิธีพักผ่อนใจที่ดีที่สุด ไม่มีอะไรดีไปกว่าการทำใจให้สว่างครับ พบกันใหม่นะครับในอาทิตย์หน้า เดี๋ยววันนี้ก็คงต้องล่ำลากันไป ราตรีสวัสดิ์นะครับ


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น