สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันจันทร์ที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง
ที่ทำกันเป็นประจำคือการออนแอร์สด คุยกันได้ผ่านเฟสบุ๊คนะครับ แต่สำหรับคืนนี้พิเศษหน่อย ผมไม่อยู่บ้านจึงบันทึกไว้ล่วงหน้า แล้วนำมาออกอากาศภายหลัง คำถามที่นำมาตอบในคืนนี้ เป็นคำถามเดิมที่ตกค้างมาจากเมื่อคืนวันศุกร์ที่ ๑๑ ก็ขอแจ้งให้ทราบ เผื่อว่าใครเพิ่งมาฟัง ซึ่งปกติผมไม่ได้ทำแบบนี้ครับ
๑) ปัญญาล้ำหน้าคืออะไร? มีข้อดีข้อเสียอย่างไร?
ต้องทำความเข้าใจว่า พละกำลังของใจที่จะนำพาเราไปสู่จุดหมายไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรม กำลังที่จะพาเราไปถึงมรรคถึงผลนั้น ประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ คือ
๑) ศรัทธา คือ ความรู้สึกเชื่อ ความรู้สึกเลื่อมใส ความรู้สึกมีแก่ใจที่จะมุ่งไป
๒) วิริยะ คือ ความเพียร ความมุ่งมั่น ความเอาจริงเอาจัง
๓) สติ หมายถึง การระลึกได้ถึงสภาวะที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า มีความสามารถในการยอมรับตามจริงได้ว่าภาวะที่ปรากฏต่อหน้าต่อตากำลังเป็นอย่างไร
๔) สมาธิ คือ ความตั้งมั่นของจิต หากความตั้งมั่นมีไม่มากพอ สติจะดีแค่ไหนก็พาไปไม่ถึงมรรคถึงผล
๕) ปัญญา คือ ความสามารถในการพิจารณา ความสามารถในการรู้ ในการเห็น ในการแยกแยะว่าอะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้ดับทุกข์ได้ ไม่ใช่ว่าเรามีสติ เรามีสมาธิ แต่ว่าไม่ได้รู้เข้ามาโดยความเห็นอันเป็นทิศทางที่จะนำไปสู่การปล่อยวางกายใจว่าเป็นตัวเรา
ส่วนปัญญาล้ำหน้าคืออะไรนั้น โดยมากคำนี้มักใช้เมื่อนักปฏิบัติหรือนักเจริญสติผู้นั้นคิดมากเกินไป ฟังคำของคนนั้นคนนี้แล้วก็นำมาไตร่ตรองทั้งวันทั้งคืน จนกระทั่งความมีแก่ใจที่จะพิจารณาสภาวะของกายและใจที่ปรากฏต่อหน้ามันลดน้อยถอยไปหรือไม่มีเลย พูดง่ายๆคือมัวแต่คิดไตร่ตรองเอาท่าเดียว ภาษาพระเรียกว่าเป็น ‘อุทธัจจกุกกุจจะ’ เป็นความฟุ้งซ่านรำคาญใจ เป็นความไตร่ตรองในธรรมะมากจนเกิดอาการที่ไม่สงบ ซึ่งอันนี้คือข้อเสีย
สำหรับข้อดี อะไรที่มันเกินล้ำหน้าไป มันไม่ดีทั้งนั้นแหละ ท่านจึงว่าการจะไปถึงมรรคถึงผลได้ กำลังต้องมีความหนักแน่น กำลังต้องใหญ่ ทำให้จิตใหญ่ ทำให้จิตมีอำนาจ ทำให้จิตมีพลัง พลังโดยรวมก็คือชีวิตทั้งชีวิต รูปสถานการณ์ชีวิต หรือสมรรถภาพทางกายที่จะตอบรับและสนองตอบกับความเพียรพยายามหรือความมุ่งมั่นของเรา ทุกอย่างต้องมีความพร้อม ทุกอย่างต้องมีความพอดี ทุกอย่างต้องได้สมดุลกัน คือไม่ใช่เอาแต่เชื่อ เชื่อๆเชื่อๆอย่างเดียวว่าทำบุญขอให้ได้ไปถึงมรรคผลนิพพานสักชาตินึง โดยไม่เข้าใจว่านิพพานคืออะไรหรือต้องทำอย่างไรจึงจะถางทางไปสู่นิพพานได้ หรือมีแต่ความเพียร แต่ไม่รู้เพียรไปเพื่ออะไร เพียรยังไง ตั้งใจไว้ยังไง มีแต่เพียรๆเพียรๆ คือใครใส่ข้อมูลอะไรมา เราก็เพียรๆเพียรๆแต่ไม่เข้าใจ ไม่สามารถที่จะเห็นว่าตัวเองนี่เข้ามารู้ เข้ามาดูอะไรจริงหรือเปล่า
ส่วนสติ ถ้ามีมากเกินไปโดยสติไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นของความเข้าใจว่าจะมีสติไปเพื่ออะไร ก็ไม่ต่างจากสติแบบโลกๆ สติของคนทำงาน สติของนักยิมนาสติกบางคนนี่ดีกว่านักเจริญสติซะอีก ในแง่ที่ว่าเขารู้การเคลื่อนไหวของร่างกายได้ทุกวินาทีตลอดเวลาที่อยู่ในสนามหรือตลอดเวลาที่ฝึกซ้อม แต่เขาไม่ได้บรรลุมรรคผล เพราะสติของเขาไม่ได้มีปัญญาประกอบ ไม่ได้มีตัวพุทธิปัญญา พิจารณาสภาวะของกายใจโดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นของประชุมประกอบชั่วคราว ไม่ใช่ตัวตน ตรงนี้ต่อให้เกิดสมาธิอะไรแค่ไหน มีความตั้งมั่นแค่ไหน ก็ไม่สามารถที่จะไปถึงมรรคถึงผลได้นะครับ
สรุป ปัญญาล้ำหน้าในที่นี้ คือการที่เราพิจารณาธรรมมากเกินไป จนไม่เอาสติมาดูมารู้ให้เห็นภาวะที่มันกำลังปรากฏต่อหน้าต่อตา แม้แต่ความฟุ้งซ่านไปในธรรมะก็ไม่เห็นว่านั่นน่ะเป็นภาวะที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เดี๋ยวมันก็หายไป เดี๋ยวมันก็ผุดฟุ้งกระจายขึ้นมา พอไม่สามารถที่จะเห็นภาวะตรงหน้าได้ ต่อให้มีปัญญาแค่ไหน กำลังก็ไม่สามารถที่จะพาเราไปถึงมรรคผลนิพพานได้
๒) มีคนบอกว่าที่บ้านเจ้าที่แรง ทำให้บ้านมีแต่เรื่องบ่อยๆ เจ้าที่เป็นใคร? เป็นเทวดาหรือเปล่า? ทุกบ้านจะต้องมีเจ้าที่หรือไม่? เจ้าที่แรงหมายความว่าอย่างไร? และเจ้าที่มีผลต่อวิถีชีวิตของเราไหม?
คำตอบคือ คำว่าเจ้าที่ในไทย ส่วนใหญ่มักหมายถึงเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา หรือเทวดาชั้นต้น ที่มีความใกล้ชิดเกี่ยวพันกับมนุษย์ คือวิมานของท่านอาจตั้งอยู่ในที่เดียวกันซ้อนเข้าไปกับบ้านของเรา หรือยิ่งกว่านั้นเทวดาบางตนอาศัยวิมานและวิมานของท่านคือส่วนหนึ่งของบ้านเรานั่นเอง
ถามว่าเจ้าที่แรงคืออะไร? โดยความเข้าใจแบบคนไทยก็คือมีฤทธิ์ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านมีอารมณ์ ของขึ้นง่ายพอโกรธแล้วปึงปัง มีอะไรที่ทำให้เราเห็นคาตาหรือรู้คาใจบ่อยๆ ทำให้เกิดความกลัว ทำให้เกิดความเคารพยำเกรงหรือทำให้เกิดความขนลุกขนพอง เช่นบางบ้านได้ยินเสียงกุกกัก หรือหากไม่สวดมนต์ ไม่ถวายอาหารให้ คืออัญเชิญเข้ามาสู่ศาลพระภูมิแล้วแต่ไม่ยอมเอาของไปเซ่น ก็อาจมีปาฏิหาริย์อะไรเกิดขึ้น นี่คือสิ่งที่เชื่อกันมานะ แต่จริงไม่จริงนั่นอีกเรื่องหนึ่ง
ถ้ามีคนมาทักว่าที่บ้านทะเลาะกันบ่อยๆเพราะเจ้าที่แรง พระพุทธเจ้าท่านไม่เคยให้คำแนะนำไว้ว่า ควรจะทำอย่างไรให้เจ้าที่พอใจนะครับ แต่ท่านแนะนำว่า คนในบ้านเดียวกันหากรู้จักมีหลักธรรม คือทำพิธี พิธีกรรมของจริงเลย คือทำพิธีเปลี่ยนกรรมเปลี่ยนเจตนาเลย กรรมคือเจตนา เจตนาคือกรรม ถ้าหากเราเล็งกันว่ามีอะไรกระทบกระทั่งนิดหน่อย แล้วจะเป็นเรื่องเป็นราว ของขึ้น ขึ้นเสียงขึ้นมาทันที เรามาประชุมหรือตกลงทำพิธีเปลี่ยนกรรมพร้อมๆกันทั้งบ้าน ว่าต่อไปนี้ถ้ามีอะไรกระทบกระทั่งขึ้นมา ก่อนอื่นเราจะยังไม่คุยกัน ยังไม่พูดคำไหนให้หลุดจากปากออกมา ต่อเมื่อพักไปดูทีวี กินข้าว อาบน้ำ แล้วรู้สึกใจคอเยือกเย็นลง ค่อยกลับมาคุยกันใหม่ แล้วถามตัวเองว่าต้องการอะไรจากอีกฝ่ายหนึ่ง ถามตัวเองก่อนไม่ใช่ถามคนอื่นนะ สมมติว่าต้องการให้เขามีระเบียบวินัยมากขึ้น การที่เราไปด่าจ้ำจี้จ้ำไช บอกว่ามีระเบียบวินัยหน่อยซิ ว่าเขา พูดกระโชกโฮกฮากไม่น่าฟัง ไปเสี้ยมสอนต่างๆนานาว่าแกมันแย่อย่างนั้น ต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ แบบนั้นให้ถามตัวเองว่าเราจะได้สิ่งที่ต้องการหรือเปล่า
ถ้าพูดอย่างที่คิดจะพูด แล้วไม่ได้สิ่งที่ต้องการ พูดแล้วเหนื่อยเปล่า พูดแล้วทะเลาะกันเปล่าๆไม่ได้อะไรขึ้นมาเลยเราจะไม่พูด เราจะรอก่อน รอจนกว่าความคิดมันจะดีพอ ดีพอจนทำให้คำพูดที่ออกมาเยือกเย็นพอที่จะได้สิ่งที่ต้องการ ไม่ใช่ได้แค่ความสะใจ ไม่ใช่ได้แค่ระบายความกดดันแย่ๆออกมาเป็นคำพูดแย่ๆ
ถ้าเรียนรู้ที่จะพูดให้ได้สิ่งที่ต้องการพร้อมกันทั้งบ้าน นี่เรียกว่า เป็นการเอาคนมาทำพิธีเปลี่ยนกรรมพร้อมกันทั้งบ้าน หลังจากทำพิธีก็จะพบว่า ทุกอย่างต่างไป ในบ้านจะสงบเยือกเย็นลง แล้วตามหลักความเป็นจริงมีในพระไตรปิฎกยืนยันด้วย คือจิตของมนุษย์เป็นจิตที่มีความหนักแน่นที่สุด เป็นศูนย์รวมของเทรนด์ ซึ่งตัวสร้างเทรนด์จะมาจากจิตของมนุษย์ เช่น หากมนุษย์ส่วนใหญ่ในโลกเป็นคนดี สวรรค์ก็จะมีความรื่นรมย์ แต่หากว่ายุคไหนใกล้กับกลียุค คนจิตใจมืดมนกันเป็นส่วนใหญ่ เอาแต่เรื่องราคะ โทสะ โมหะกันมาก เทวดาก็จะพลอยสะเทือนไปด้วยคือวิมานมีความหวั่นไหว มีปรากฏการณ์เช่นลมกระโชกโฮกฮากอยู่บนสวรรค์ชั้นฟ้านะครับ
ดังนั้น ถ้าหากบ้านไหนทำพิธีเปลี่ยนกรรมจากร้อนกลายเป็นเย็นแล้วบรรยากาศในบ้านดีขึ้นเนี่ย เทวดาเจ้าที่เจ้าทางท่านก็จะพลอยได้รับกระแสเยือกเย็นตามไปด้วย จากที่ท่านอาจเคยหงุดหงิดง่าย หมั่นไส้ง่าย มนุษย์นี่เอาแต่ทิ้งอึทิ้งฉี่ไว้ยังไม่พอ ยังทิ้งความร้อนระบายความร้อนออกมาทางจิตอีก ท่านอาจจะหมั่นไส้ แล้วทำอะไรที่ไม่ดีๆขึ้นให้ก็ได้ อันนี้ก็เป็นไปได้ แต่ว่าหากบ้านไหน เต็มไปด้วยคนหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส พอมีโมโหโกรธาขึ้นมาก็สามารถที่จะระงับได้ สามารถที่จะเจริญสติรู้เท่าทันโทสะ เห็นมันเป็นเพียงสภาวะคุกคามใจ เห็นมันเป็นสภาวะที่รุ่มร้อนเปล่าประโยชน์ได้ ท่านอาจเกิดแรงบันดาลใจ ถ้าท่านหงุดหงิดเรื่องอะไร บางทีท่านอาจจะเปลี่ยนใจยกโทษให้ หรือแม้กระทั่งว่า หากท่านมีฤทธิ์ ท่านเป็นเทวดาเป็นเจ้าที่แรงจริง ท่านก็อาจบันดาลโชคลาภให้ก็ได้ อันนี้ก็คงเป็นเรื่องที่พิสูจน์กันยากหน่อยในเรื่องของสิ่งลึกลับ แต่สิ่งที่จะเห็นได้ง่ายๆคือ บ้านจะกลายเป็นวิมานของทุกคนขึ้นมาหลังทำพิธีเปลี่ยนกรรมจากร้อนให้กลายเป็นเย็น
๓) วิบากเยอะ อยู่เฉยๆก็มีเรื่องเข้ามาตลอดเวลา เครียดมาก จะภาวนาอย่างไรดี? มีวิธีชะลอกรรมไหม?
คำตอบคือ ช่วงที่เราโชคร้ายนี่จะดูเหมือนว่ามันไม่มีอะไรดีเลย ขอให้ระลึกว่านี่ไม่ใช่การกลั่นแกล้งของดวงดาว แล้วก็ไม่ใช่จะมีวิญญาณดวงไหน อสูรร้าย หรือเปรตดิบที่ไหนมาทำอันตรายเราได้ ถ้าปราศจากวิบากกรรมของเราเอง คือถ้าเมื่อไหร่ที่บาปหรืออกุศลเก่าที่เราเคยทำไว้มันงอกเงย มันจะได้เวลาผลิผล ไม่ว่าใครที่ไหน ต่อให้เทวดาก็ต้องตกสวรรค์ มีอยู่ในพระไตรปิฎก เกินเทวดาด้วยเป็นถึงพระพรหมพอหมดบุญก็พุ่งหลาวลงนรกเลย อย่างนี้ก็มีให้เห็นนะ ขนาดพระพรหมที่พวกเราชาวบ้านชาวช่องชอบไปขอพรกราบไหว้ ท่านยังเอาตัวไม่รอด ท่านยังแพ้ภัยตัวเอง ท่านยังช่วยตัวเองไม่ได้เลย เราเป็นใครถึงจะสามารถพ้นจากวิบากกรรมของตัวเองได้’
ถ้าเรามองว่าเรากำลังเข้าตาจน วิบากกำลังบีบให้เรารู้สึกแย่ที่สุด ไม่มีอะไรดีเลย ก็ขอให้มีสติระลึกได้ขึ้นมานิดนึงก็แล้วกันว่า ช่วงที่ดวงตกสุดขีด สติไม่ตกตามไปด้วย เราจะไม่ตกถึงที่สุดอย่างน้อยที่สุดเราจะมีดีบางอย่างไว้รอง ไว้รับ เหมือนกับคนล้มบนฟูก อาการของคนล้มบนฟูกจริงๆของแท้ของจริงเลยนี่ ขนาดท่านถูกตัดแขนตัดขาอยู่ ท่านยังไปสวรรค์และพรหมโลกได้เลย เราจะเจอทุกข์หนักหรือสถานการณ์ยั่วยุให้จิตใจวุ่นวายกระสับกระส่ายแค่ไหนก็ตาม ถ้าเรายังเป็นลูกศิษย์พระตถาคตอยู่ ยังเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าอยู่ ยังเป็นสาวกของท่านอยู่ สิ่งที่เราต้องทำคือมีสติเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวสุดท้าย เป็นที่พึ่งเป็นสรณะสุดท้าย เมื่อมีสติอย่างน้อยที่สุด เราจะระลึกได้ว่า ที่พึ่งอื่นไม่มีนอกเหนือจากพระพุทธเจ้า ที่พึ่งอื่นไม่มีนอกจากพระธรรมที่พระพุทธเจ้าสั่งสอนและเปิดเผยไว้ ที่พึ่งอื่นไม่มีนอกจากอริยสงฆ์อริยเจ้าที่ท่านมีความเมตตากรุณาและมีสง่าราศีพอที่จะทำให้จิตใจของเราเบิกบานได้เพียงด้วยการดู เพียงด้วยการกราบไหว้รูปเคารพของท่าน
สติที่สามารถระลึกถึงสิ่งดีๆหรือกุศลธรรมได้ จะเป็นเหมือนกับฟูกที่รองรับการล้มตัวของเราได้ทุกเมื่อ แต่ถ้าเมื่อไหร่เรารู้สึกแย่ แล้วมีโทสะมาเป็นเจ้าเรือน มาครอบงำจิตใจและก่อให้เกิดโมหะ คิดว่าตายๆไปซะดีกว่า แล้วเราตายไปในขณะที่จิตกำลังย่ำแย่อยู่ มันเท่ากับซ้ำเติมตัวเองที่แย่อยู่แล้วที่ดวงตกอยู่แล้ว เหมือนโดนตัวเองกระทืบซ้ำเข้าไปอีก ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากตัวเองเข้าไปเลย ขอให้ระลึกอย่างนี้ก็แล้วกัน สิ่งที่เราจะทำได้ดีที่สุดตอนดวงตกคือมีสติระลึกถึงกุศลธรรมไว้นะครับ ไม่ว่ามันจะหนักหนาแค่ไหนวันหนึ่งมันจะผ่านไป ไม่มีวิบากไหนที่จะแสดงความตั้งมั่นอยู่เป็นอมตะ ทุกวิบากกรรมกำลังแสดงความเป็นอนิจจังเสมอ แต่ว่าบางอนิจจังมันอาจกินช่วงเวลายาวนิดนึง มันเห็นยากนิดนึง แต่ในที่สุดพอถึงวันนะครับ มันจะต้องผ่านไป พี่ขอให้กำลังใจนะ
๔) การเห็นจิตทำงาน กายและใจอยู่คนละส่วน ส่วนมากจะแยกเป็นหลงกับรู้เท่านั้น มักชอบหลงไปกับกิเลสและเห็นว่าตัวเองมีโอกาสน้อยที่อินทรีย์จะแก่กล้าพอ ควรเร่งความเพียรอย่างไรดี?
คำตอบคือ สรุปง่ายๆก็คือว่า การที่เดี๋ยวบางทีก็รู้ บางทีก็หลงไป รู้ก็รู้ถึงขั้นที่ว่ากายอยู่ส่วนกาย จิตอยู่ส่วนจิตได้ ส่วนตัวหลงนี่ก็หมายความว่า โลภมาชวนให้ไปเพลินอยู่กับรูปที่สวยที่งาม หรือว่าหูไปได้ยินของที่ไพเราะเพราะพริ้งเกิดความติดใจยินดี หรือในทางตรงข้ามโลภมาก่อให้เกิดโทสะ โลภมาก่อให้เกิดความระคายขัดเคือง ทั้งความเพลิดเพลินทั้งความขัดเคืองจนเกินไปนี่ ล้วนแล้วแต่เป็นคลื่นรบกวนทำให้จิตเป๋ออกจากทางรู้
เอาอย่างนี้ อย่าไปวางทิศทางให้ตัวเองจะต้องมีแต่รู้อย่างเดียว บอกตัวเองว่าอยู่ในโลกเนี่ยหลงบ้างก็ได้ หลงให้มันเป็นบทเรียน หลงให้มันเป็นครูเรา หลงไว้ศึกษาให้เห็นว่าแม้แต่ตัวหลง แม้แต่อาการหลงของใจ แม้แต่สิ่งที่มายั่วยวนให้หลงไปมันก็แสดงความไม่เที่ยงให้เราเห็นได้เหมือนกัน คือถ้าเราตั้งทิศทางไว้ว่าจะเอาแต่ดีกับดี ในที่สุดมันก็จะมีความรู้สึกขัดอกขัดใจว่ามันดีไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้ เหมือนว่าเดี๋ยวเราก็เกิดวิปัสสนาญาณ เดี๋ยวมันก็เกิดอารมณ์หลงแบบโลกๆไปแบบกู่ไม่กลับ เราเห็นความจริงแบบนี้ดีกว่า ว่าอยู่ในโลกมันก็สลับไปสลับมาแบบนี้แหละ เราไม่ได้อยู่ในวัดนะ อยู่ในวัดบางทีพระยังเป๋เลยพอเจออะไรที่เพลิดเพลินยินดี
พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้หมดนะ ท่านบอกแม้กระทั่ง อย่างไรๆเป็นพระบวชเข้าไปก็ต้องเกิดราคะ อย่างไรๆเป็นพระบวชเข้าไปก็ต้องเจอโทสะ ท่านไม่เคยบอกไม่เคยให้คำรับประกันเลยว่าเป็นพระแล้วจิตจะตั้งมั่นเกิดญาณรู้เห็นอะไรต่างๆนานามีแต่ขึ้นกับขึ้น ถ้าเมื่อไหร่เราสามารถยอมรับตามจริงได้ ว่าการเจริญสติของเราอยู่บนเส้นทางสลับไปสลับมาระหว่างรู้กับหลง ไม่สามารถที่จะมีแต่เส้นทางของความรู้ แล้วรู้ๆรู้ๆไปเรื่อยๆ รู้มีแต่ขึ้น หากเรายอมรับตามจริงอย่างนี้ได้ การปฏิบัติและการเจริญสติของเราจะถูกทิศถูกทาง คือมันเห็นว่าแม้แต่สติหรือความสามารถในการรู้กายรู้ใจมันก็เป็นสิ่งไม่เที่ยงเหมือนกัน ดูอย่างนี้ก็แล้วกันนะครับ
เอาละครับ มาถึงตรงนี้ก็คงต้องกล่าวคำล่ำลา สำหรับคืนนี้ราตรีสวัสดิ์ ขอให้เจริญในธรรมด้วยกันทุกท่านครับ
« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น