สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันศุกร์ที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง เพื่อจะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการ ให้เข้าไปที่เฟสบุ๊ค http://www.facebook.com/HowfarBooks นะครับ
ตอนนี้มีอะไรแปลกๆในหน้าวอลล์เฟสบุ๊คของผมนะครับ เหมือนกับผมไปโพสอะไร ผมยังไม่ได้ลบทิ้งนะครับ จะให้ดูว่าใครที่ใช้เฟสบุ๊คและไปเล่นแอปพลิเคชั่นอะไรแปลกๆก็ควรระวัง คือผมเช็กดูแล้วเหมือนกับว่าเป็นแอปที่ผมไปกดปุ่ม Allow หรืออนุญาตไว้ทั้งๆที่ไม่เคยทำ จึงอยากให้ทุกคนที่ใช้เฟสบุ๊คลองหมั่นเข้าไปสังเกตว่า ได้อนุญาตแอปอะไรไว้บ้าง ถ้าเห็นอะไรแปลกๆก็รีบลบเสียนะครับ ผมเข้าไปดูเหมือนว่าไปสมัครไว้ตั้งแต่วันที่ ๒๓ มกราคม เป็นเว็บอะไรก็ไม่ทราบเหมือนกัน ไม่เคยเข้าไปดู
เพิ่งได้ยินจากน้องอีกคนหนึ่งบอกว่า วันก่อนมีไดเรกแมสเสจ จากแอคเคาน์ทวิตเตอร์ของเขา ส่งไปถึงทุกคน แต่เขาไม่ได้เป็นคนส่ง ก็คงจะมีขบวนการแฮกเกอร์อาละวาดในโซเชียลเน็ตเวิร์คนะครับช่วงนี้
๑) ช่วยอธิบายข้อธรรมของหลวงปู่ดูลย์ที่ว่า จิตที่ส่งออกนอกเป็นสมุทัย ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอกเป็นทุกข์ จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตเป็นนิโรธ อยากถามว่าจิตที่ส่งออกนอกเป็นเหตุแห่งทุกข์คืออะไร และเป็นอย่างไร? ในชีวิตประจำวันสามารถปฏิบัติตามข้อธรรมของหลวงปู่ดูลย์ดังที่กล่าวมาได้หรือเปล่า?
ตามหลักการ คำว่า จิตส่งออกนอก ถ้าหากว่าพระป่าท่านพูดถึง ก็หมายถึงว่า ไม่มีสติอยู่กับปัจจุบัน ส่งออกไปที่อดีตบ้างหรืออนาคตบ้าง การทำงานของใจมันไม่เป็นไปในการที่จะอยู่กับปัจจุบัน หรือคิดไปในเรื่องภายนอก ไม่พิจารณาเข้ามาที่สภาวะอันเกิดขึ้นภายในขอบเขตของกายใจ
พูดง่ายๆว่าศัพท์นี้เป็นเรื่องของคนที่เจริญสติหรือตั้งใจปฏิบัติภาวนา เพื่อที่จะแยกให้ออกว่าโหมดของจิตมันมี ๒ โหมดใหญ่ๆคือ โหมดที่มีสติ และโหมดที่ขาดสติ และไปรู้ ไปเห็น ไปคิด ไปหมกมุ่น ไปพัวพันกับสิ่งที่จะทำให้เกิดกิเลส และทำให้ภพชาติมันยาวออกไป
ส่วนการที่ส่งเข้าใน หมายถึง การมีสติอยู่กับปัจจุบัน ซึ่งทำให้การที่จะไปก่อกรรมทำเข็ญในทางที่จะยืดอายุในสังสารวัฏต่อไปนี่มันไม่เกิด อายุในสังสารวัฏจะได้สั้นลง ถ้าพูดถึงจิตส่งออกนอกเป็นเหตุแห่งทุกข์ ท่านก็คงจะพูดถึงสิ่งที่เป็นโหมดของจิต โหมดที่จะทำให้เกิดความทุกข์ กับโหมดที่จะทำให้ทุกข์น้อยลงหรือดับไป
ต้นเหตุของทุกข์นี่ ตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เป็นมาตรฐาน คือ ตัณหา การที่เรามีอาการทะยานออกไปยึด ก็เปรียบได้กับคำที่พระป่าท่านใช้ คือ ส่งออกนอก คำว่าส่งออกไป ก็เหมือนพุ่งออกไป ทะยานออกไป ไม่อยู่ในตัว ไม่รู้ ไม่ดู สิ่งที่มันเป็นอารมณ์กรรมฐาน หรือสิ่งที่มันจะแสดงความไม่เที่ยง หรือสิ่งที่จะแสดงความเป็นอนัตตา ที่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่น่ายึดมั่นถือมั่น ถ้าส่งออกนอก ทะยานออกไปยึดเรื่องข้างนอกแล้ว เป็นอันว่าจิตจะสำคัญมั่นหมายว่ามีบุคคล มีตัวตน มีเราเขา น่ายึดมั่นถือมั่นเสมอ อันนี้แหละที่เป็นเหตุแห่งทุกข์
เรื่องการปฏิบัติตามข้อธรรม เอาง่ายๆเวลาที่เราเกิดความโลภหรือหมกมุ่นครุ่นคิดถึงสิ่งที่อยากได้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ บุคคล หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่ชวนให้มีความหลงอยากจะเอา ลองสังเกตใจตัวเองดู ว่ามีแต่อาการหมกมุ่นครุ่นคิดไม่เลิกถ้ายังไม่ได้มาไหม คือถ้าเป้าหมายมันมีความแรงพอที่จะดึงดูดใจของเราให้เข้าไปติดได้ ลองสังเกตดูเถอะ ตราบใดที่ยังไม่ได้มา ใจเราจะหมกมุ่นแล้วก็เกิดความกระสับกระส่ายวุ่นวายอยู่ตลอดเวลา นี่แหละเป็นเหตุแห่งทุกข์ เห็นชัดๆเลย มันทำให้ทุกข์จริงๆ ทุกข์ทางใจ กระวนกระวายทางใจ ถ้าหากว่าเราเห็นบ่อยๆ เห็นว่ามีเป้าหมายให้อยาก มีเป้าหมายให้โลภ แล้วเกิดความกระวนกระวาย แค่นี้ถือว่าเห็นต้นเหตุแห่งทุกข์แล้ว คือมีอาการของใจที่ทะยานเข้าไปจับอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นมโนภาพของบุคคล ถ้าหากว่าเห็นผู้หญิงสวยหรือเห็นคนถูกใจ อยากได้รถ อยากได้บ้าน อยากได้ตำแหน่งหน้าที่การงาน หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่มันจะล่อให้ใจของเราไปติด และมีความกระวนกระวายถึงสิ่งนั้นตลอดเวลา
ถึงแม้ว่าจะได้มา เราก็อาจจะกระวนกระวายว่าจะเสียมันไปหรือเปล่า ถ้าหากว่าไม่มีอาการทะยานของใจ ไม่มีอาการส่งออกนอกเลย มันก็ไม่มีความกระสับกระส่ายเลย คืออย่าไปพูดว่าวัตถุจะมีหรือไม่มี คือถ้าหากว่าวัตถุมี คนหน้าตาสวยเหมือนเดิม รถยังเป็นยี่ห้อที่เราใฝ่ฝันอยากจะได้เหมือนเดิม แต่ถ้าไม่มีอาการทางใจพุ่งออกไป ไม่มีอาการทะยานออกไป ไม่มีอาการส่งออกนอก ตัวนี้ก็จะเห็นได้ว่า หากขาดตัวทะยานนี้ออกไปตัวเดียว ความทุกข์ทางใจจะไม่เกิด ผู้หญิงอยู่ส่วนผู้หญิง รถอยู่ส่วนรถ ใจของเราก็อยู่ส่วนใจของเรา ส่วนที่มันมีการรับรู้อยู่ ส่วนที่มันมีสติอยู่ กับสิ่งที่รู้ สิ่งที่เห็นในปัจจุบัน ไม่ได้นึกจินตนาการไปถึงสิ่งอื่น ถ้าหากว่าตาเราเห็นแจกันอยู่ หูเราได้ยินเสียงของรถไฟฟ้าอยู่ และทราบถึงปฏิกิริยาทางใจว่าไม่ได้มีอาการดิ้นรน ไม่ได้มีอาการไปจับไปยึดอะไรนอกเหนือไปจากนั้น นี่ถือว่าเป็นการรู้เข้ามาข้างใน ไม่ใช่ส่งออกนอก
เวลาพระพุทธเจ้าท่านจะให้ดูอาการของใจ ท่านให้ดูว่า ตากระทบรูป หูกระทบเสียงแล้ว ปฏิกิริยาทางใจของเราเป็นอย่างไร ถ้าปฏิกิริยาทางใจของเราเป็นยึดมั่นถือมั่น นี่ก็เรียกว่าส่งออกนอกเหมือนกัน แต่หากว่าปฏิกิริยาทางใจของเรามีแต่การรับรู้อยู่ ว่าสิ่งที่เห็น สักแต่ว่าเห็น สิ่งที่ได้ยิน สักแต่ว่าได้ยิน ไม่มีอาการอยากได้อย่างใดอย่างหนึ่งที่เห็นที่ได้ยินมาเป็นของเรา ไม่ได้อยากครอบครอง เพราะเห็นว่ามันตั้งของมันอยู่อย่างนั้น ใจของเราก็อยู่ส่วนใจของเรา ต่างคนต่างอยู่ สิ่งภายนอกกับสิ่งภายในที่เป็นจิตเป็นใจของเรา คืออย่างนี้เรียกว่ามีสติ และไม่เกิดการร้อยรัด ไม่เกิดสังโยชน์
๒) ทำอย่างไรจะจัดการกับความคิดที่ชอบไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น ความอิจฉาคนอื่น ความคิดว่าตัวเองด้อยกว่าคนอื่น? มีความคิดแบบนี้ทีไรทุกข์ใจและอึดอัด
การเทียบเขาเทียบเรา จัดเป็นกิเลสข้อที่ว่าด้วยการมีทิฐิมานะ มีอัตตามานะ ตัวอัสมิมานะ คือ การถือเขาถือเรา ถือว่าเราเป็นอย่างหนึ่ง เขาเป็นอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่ติดตัวทุกคนมาตั้งแต่เกิด หากว่าใครไม่มีอัสมิมานะ คนนั้นไม่ใช่แค่เป็นพระอริยบุคคล แต่ต้องบอกว่าเป็นพระอรหันต์เลยทีเดียว เพราะแม้แต่พระอนาคามี ดับกามได้แล้ว ดับโกรธได้แล้ว ความโกรธไม่เข้ากระทบกระทั่งทางใจ ไม่มีปฏิฆะแล้ว ยังมีอัสมิมานะกันอยู่ได้ เวลาพระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าเธอละราคะได้แล้ว ไม่มีความกระทบกระทั่งทางใจได้แล้ว แต่ยังมีตัวตนอยู่ ก็ต้องทำต่อ จนกระทั่งสามารถทำลายล้างอวิชชา ชำแรกอวิชชาได้ด้วยปัญญาถึงจะสิ้นอัสมิมานะ ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีเขาไม่มีเรา ไม่มีการเทียบเขาเทียบเราอีก
คือยังมีการสมมุติอยู่ได้ว่า ฝั่งนี้คือกายใจของผู้ที่ชื่อว่า ชื่อเดิมน่ะ สมมุติเรียกว่าอะไรก็ถือตามชาวโลกเขาไป ฝั่งโน้นเป็นเพื่อนเรา เคยเป็นอดีตคนรักของเรา เคยเป็นพ่อ เคยเป็นแม่ อย่างนี้ยังมีความจำ รู้อยู่ว่าชาวโลกเขาบัญญัติไว้ว่าอย่างไร แต่ใจไม่มีอาการเทียบเขาเทียบเรา ว่านี่คือเราคือเขา ใครต่ำใครสูงกว่ากัน รู้ว่าหน้าตาใครดีกว่ากัน รู้ว่าฐานะใครดีกว่ากัน รู้ว่าใครปัญญาดีกว่ากัน แต่ไม่มีความรู้สึกถือเขาถือเราว่า นี่เราด้อยกว่า นี่เราเหนือกว่า ไอ้ที่มันเป็นก้อนๆโมหะที่มันมืดขึ้นมาว่า นี่เราด้อยกว่าเขานะ นี่เราเหนือกว่าเขานะ มันจะไม่มีอยู่ในใจพระอรหันต์
แต่ถ้าเรายังเป็นคนที่รู้ตัว ว่ายังมีความคิดเปรียบเทียบกับคนอื่นได้ อิจฉาคนอื่นได้ รู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อยกว่าคนอื่นได้ ก็ไม่ต้องไปเสียใจ ขอให้คิดว่าคนแบบเราไม่ได้มีอยู่คนเดียวในโลก คนทั้งโลกเขาเป็นกันอย่างนี้หมด แต่ของเราอาจจะรุนแรงกว่าคนอื่น ด้วยความที่ว่าเรามองตัวเองเป็นอะไรอย่างหนึ่ง คือในใจของเราต้องมีอยู่ว่า ตัวเราประมาณนี้ พอไปเห็นอีกคนหนึ่งที่เขาเหนือกว่า อย่างน้อยที่สุดวิธีตีค่าของเราบอกตัวเองว่าเขาเหนือกว่า มันก็เกิดความรู้สึกเป็นทุกข์ขึ้นมาเป็นธรรมดา นี่คือโทษของอัสมิมานะ
ถ้าหากจะเอาวิธีแก้ที่ดีที่สุด ซึ่งจะเป็นวิธีที่ยากและคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยอยากลงมือทำกัน ขั้นแรกที่เราจะเลิกอิจฉาคนอื่น คือ ไปใช้ชีวิตอยู่กับคนที่เขาด้อยกว่าเรา คำว่าใช้ชีวิตในที่นี้หมายถึงไปช่วยเขาไปสัมผัสตัวตนของคนที่ด้อยโอกาสกว่าเรา และพร้อมที่จะยื่นมือขึ้นมาขอ หรือส่งแววตาขอความช่วยเหลือจากเรา อย่างเช่น ที่บ้านเด็กกำพร้า บ้านเด็กอนาถา หรือว่าสถานสงเคราะห์คนชราที่ไม่ค่อยมีคนเหลียวแล ถ้าหากว่าเราไปลองอาสาสมัครดู ไปสอนเด็กหรือไปช่วย แต่ต้องทำเป็นประจำสักช่วงหนึ่งสักระยะหนึ่ง อาจจะเดือนสองเดือนอะไรแบบนี้ เราจะรู้สึกเลยว่าตัวเรามีค่า และไม่ได้เหนือกว่าเขาในแบบที่จะมาข่มกัน แต่เหนือกว่าเขาเพื่อที่จะช่วยเหลือเขา ความรู้สึกของคนที่สามารถช่วยคนอื่นได้จำนวนมากๆ ความรู้สึกของคนที่มีค่า ความรู้สึกของคนที่ไม่ได้เอาแต่มองช้อนตาขึ้นข้างบน แต่มองดูว่าใครที่กำลังกระทุ่มขากระทุ่มแขนอยู่กลางน้ำ และเราสามารถที่จะเอาเรือหรือว่ายน้ำไปช่วยเหลือเขาได้ วิธีที่มองนี่จะทำให้ความรู้สึกแตกต่างไปตั้งแต่วิธีมองแล้ว
ถ้าหากว่าเราเป็นแต่มองคนที่อยู่ต่ำกว่าด้วยสายตาเหยียดหยาม เวลาเรามองช้อนตาขึ้นข้างบนไปดูคนที่เขาสูงกว่าเรานี่ เราก็จะเกิดความรู้สึกต่ำต้อย แต่หากเรามองไปข้างล่างด้วยความรู้สึกอยากช่วยให้ขึ้นมาเสมอกับเรา หรือว่าอย่างน้อยให้ขึ้นมาจากหลุมจากบ่อที่เขาไปติดหล่มอยู่และเป็นทุกข์อยู่ เราจะมีความรู้สึกเป็นสุขใหญ่หลวงขึ้นมา และมองเรื่องการเปรียบเทียบ เทียบเขาเทียบเรา ประมาณว่าสวยกว่า รวยกว่า เก่งกว่าเป็นเรื่องที่ไร้สาระ เป็นเรื่องที่ไม่มีคุณค่า ไม่มีประโยชน์อะไรเลย
เรื่องที่มีประโยชน์ เรื่องที่มีคุณค่าคือเรามีความสามารถแค่นี้เท่าที่เป็นอยู่นี่ มันสามารถไปช่วยใครเขาได้ มันสามารถไปช่วยทำให้ชีวิตคนอื่นเขาดีขึ้นได้ ความรู้สึกมันจะต่างกันมาก จากไอ้ที่มันมืดๆอยู่ด้วยการเปรียบเทียบ เทียบเขาเทียบเรา มันกลายเป็นสว่างขึ้นมาด้วยการรู้สึกตัวว่า เราเหนือกว่าเขา เราต้องช่วยเขา ไม่ใช่ว่าเทียบเขาเทียบเราเพื่อจะมากระหยิ่มยิ้มย่อง หรือว่าเทียบเขาเทียบเราเพื่อมารู้สึกเป็นปมด้อย แต่เทียบเขาเทียบเราเพื่อที่จะให้เกิดความรู้สึกว่า ไม่พอนะถ้าหากว่าเราดูดาย ไม่พอนะถ้าหากว่าเราไม่ใช้กำลังของตัวเองไปฉุดคนที่อยู่ข้างล่างขึ้นมาข้างบนนะครับ ตรงนี้แหละที่เป็นคำแนะนำที่ดีที่สุด
ถ้าหากว่าขี้เกียจที่จะไปลงทุนลงแรงอะไรขนาดนั้น ก็สามารถใช้อีกวิธีหนึ่งที่ง่ายกว่าก็ได้ ได้ผลเหมือนกัน แต่อาจจะไม่เด็ดขาด ไม่เห็นผลชัดแบบทันตาขึ้นมา ก็คือเวลาที่รู้สึกต่ำต้อยขึ้นมา เวลาเปรียบเทียบว่าเขามีดีกว่าเรา เขามีค่ากว่าเรา หรือว่าเขามียศตำแหน่งสูงกว่าเรา มาบังคับอะไรเราได้ ถ้าหากเกิดความรู้สึกเหมือนกับตัวลีบเป็นลูกหนูขึ้นมา รู้สึกว่าจิตใจมันหดแคบ รู้สึกว่าตัวเล็กลง ก็ให้รับรู้ตามจริงว่าอาการตัวเล็กลงหน้าตามันเป็นแบบนี้ อาการเหมือนกับ อยู่ๆตัวตนแบบที่มีมโนภาพแบบเดิมๆของเรา มันเปลี่ยนเป็นตัวตนที่หดแคบลงมา เตี้ยลงมา ลองดูตรงนั้นให้เป็น ดูว่ามโนภาพที่หดแคบเข้ามานี่ มันให้ความรู้สึกอย่างไร
ถ้าหากเห็นชัดแล้วว่ามโนภาพนั้นให้ความรู้สึกหดลงมา เตี้ยลงมา สั้นลงมา แคบลงมาอย่างไร ให้รอดูต่อไปว่า ตัวตนหรือมโนภาพแบบนั้นมันอยู่ตลอดไปหรือเปล่า คุณจะพบว่า พอหันไปทางอื่น พอหายใจอีกสัก ๒-๓ ครั้ง หรือพอพูดเรื่องอื่นกับคนอื่นแค่ไม่กี่ประโยค ตัวตนแบบเดิมๆมันจะพองฟู กลับคืนรูปขึ้นมาใหม่ ตัวตนที่มันเตี้ยๆ ที่มันแคบๆ ที่มันสั้นๆ ที่มันหดหู่ มันก็กลับฟื้นคืนได้ นี่จะ เห็นความไม่เที่ยงของตัวตนแบบต่างๆ ตัวเล็กบ้าง ตัวใหญ่บ้าง ตัวธรรมดาบ้าง การยึดมั่นถือมั่นว่ามีตัวเราที่เล็กกว่าเขา หรือใหญ่กว่าเขา หรือปกติธรรมดานี่มันจะค่อยๆหายไปจากใจนะครับ
๓) หนังสือ ‘๗ เดือนบรรลุธรรม’ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงหรือเกิดจากจินตนาการ? สงสัยว่าต้องปฏิบัติอย่างไรจึงจะบรรลุธรรมอย่างช้าใน ๗ ปีอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสรับประกันไว้? เพราะเห็นหลายท่านที่ปฏิบัติมานานไม่มีความก้าวหน้า รวมทั้งตัวผมเองด้วย
คำตอบนะครับ จินตนาการล้วนๆครับ แต่เป็นการเอาประสบการณ์ในการปฏิบัติที่ผมคุยกับคนที่เจริญสติมาเยอะ เอามารวมๆกัน เพื่อที่จะมาลำดับหลักการและแนวทางปฏิบัติที่เรียกว่า สติปัฏฐาน ๔ ว่าถ้าคนปกติธรรมดาเริ่มต้น นี่เขาคิดกันอย่างไร เขาเกิดแรงบันดาลใจกันอย่างไรถึงอยากจะมาเจริญสติ แล้วที่พระพุทธเจ้าท่านสอน เอาตั้งแต่ขั้นแรกเลย ดูลมหายใจอย่างไร เกิดความรู้สึกอย่างไร เกิดอุปสรรคอย่างไร แล้วในชีวิตประจำวันมันรู้สึกกันจริงๆอย่างไร คนธรรมดาทั่วๆไปนี่แหละ ก็ลองไปอ่านดูในเว็บ http://www.dungtrin.com นะครับสำหรับคนที่ยังไม่ได้อ่าน
ส่วนที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรับประกันไว้นี่ ท่านรับประกันเฉพาะคนที่ทำตามแนวทางของท่านอย่างเต็มที่นะครับ แล้วส่วนใหญ่คนที่ทำได้เต็มที่จริงๆก็คือพระ หรือบรรพชิตที่สละโลกแล้ว ตั้งใจทำกันเต็มที่ ไม่ใช่ทำกันเล่นๆ ไม่ใช่ดูกันผิวๆ ไม่ใช่แค่ทันอารมณ์ตัวเองแล้วก็หวังจะบรรลุธรรมภายในกี่ปีกี่ปี คือให้ตัดสินกันง่ายๆก็แล้วกันว่าใจของเราในหนึ่งวัน ๒๔ ชั่วโมงนี่ ผูกกับอะไรโดยมาก ถ้าหากว่าผูกกับเรื่องข้างนอก ส่งออกนอกตลอดเวลา แล้วบอกว่าตัวเองปฏิบัติธรรมแล้ว ๕ นาที ๑๐ นาที หรือว่าจะปลีกวิเวกไป ๑๐ วัน ๒๐ วันอะไรก็แล้วแต่ อย่างนี้ถือว่าใจของคุณยังไม่ได้ผูกอยู่กับการเจริญสติปัฏฐาน
คำว่าเจริญสติก็ย่อมาจากคำว่าเจริญสติปัฏฐานนี่ล่ะ สำนวนของพระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า เป็นการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เจริญสติในแบบที่มีสติเฉยๆนะ ไม่ใช่มีสติรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ แบบนี้ยังไม่ถือว่าใช่นะ นักยิมนาสติกนี่ มีสติมากกว่าคนเจริญสติส่วนใหญ่เป็นสิบๆเท่านะครับ เพราะรู้อิริยาบถ รู้ทุกกระดิกทุกส่วนการเคลื่อนไหวของร่างกาย แต่เขาก็ไม่ได้บรรลุธรรม เพราะว่าจิตเขาไม่ได้จดจ่ออยู่กับการเห็นกายใจ โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นของไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน จิตของเขาหมกมุ่นและผูกพันอยู่กับท่าทางและการร่ายรำเพื่อให้ได้รางวัล เพื่อให้ได้คำชม เพื่อให้ได้ตัวตน
เหมือนกัน ถ้าหากว่าเราอยู่ในโลก เราเป็นฆราวาส แล้วใจเราผูกพันกับงาน ผูกพันกับการได้เงิน ผูกพันกับการได้แฟน หรือแม้กระทั่งผูกพันกับการปฏิบัติเพื่อให้ได้มรรคให้ได้ผล แบบนี้มันจะไม่จดจ่อ มันจะไม่รู้อยู่กับการแสดงความไม่เที่ยงของกายใจ ลมหายใจเข้าก็ไม่รู้ ลมหายใจออกก็ไม่รู้ ทั้งเข้าและออกเป็นเวลานานๆก็ไม่รู้ มันไม่ได้มีการรับรู้อยู่กับความไม่เที่ยงของกายใจ มีแต่ความรับรู้อยู่ว่า ทำอย่างไรฉันจะได้มรรคได้ผล ทำอย่างไรฉันจะได้ความก้าวหน้า
ความก้าวหน้าไม่ได้เกิดจากการมีอุบายปฏิบัติธรรมแบบใดแบบหนึ่งที่ใครคิดขึ้นมา แต่ความก้าวหน้าเกิดจากการปฏิบัติถูก ปฏิบัติตรง อย่างต่อเนื่อง ความต่อเนื่องนั่นแหละ คือความก้าวหน้า คือถ้าให้ผมตอบสั้นๆภายในเวลาแค่ไม่กี่นาที คงต้องตอบให้อยู่ภายในขอบเขตเท่านี้ อย่างไรลองอ่าน ๗ เดือนบรรลุธรรมดีๆนะครับ มีรายละเอียดอยู่ในนั้นหมดแหละ ว่าที่พระพุทธเจ้าท่านรับประกันไว้ไม่ใช่ทำกันง่ายๆ ไม่ใช่แค่เจริญสติกันแบบสบายๆ แม้แต่ตัวละครนี่ก็ อย่างที่ผมดำเนินเรื่องนะ คือ ตื่นตี ๔ ทุกวัน แล้วก็มานั่งทำสมาธิ มาเดินจงกรม เสร็จงานก็กลับเข้าบ้าน แล้วก็เห็นบ้านเป็นเหมือนสวรรค์ของนักปฏิบัติธรรม ปิดประตูแล้วก็ไม่ข้องเกี่ยวกับใคร หรือข้องเกี่ยวบ้าง แต่ก็มีอาการ มีลิมิต มีการยับยั้งชั่งใจ แล้วก็ตั้งใจทำตามที่พระพุทธเจ้าสอน
๔) ถ้ารู้สึกว่าทุกข์มาก จนไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว อดทนนั่งสมาธิไป ทั้งที่รู้ตัวว่าไม่สงบ จะเป็นการดีหรือเปล่า?
ไม่ดีครับ คือการนั่งสมาธิขอให้ทำความเข้าใจไว้ที่เบื้องต้น ว่าเราไม่ได้นั่งสมาธิเพื่อจะกดจิตให้มันสงบ เพื่อที่จะให้ในหัวเราปลอดโปร่ง ปราศจากเรื่องฟุ้งซ่าน เรื่องที่กำลังติดพันอยู่ ไม่ใช่นะ การนั่งสมาธิ จะหลับตาหรือว่าลืมตาขึ้นมาเดินจงกรมก็ตาม จุดมุ่งหมายแบบพุทธคือให้มีสติเห็นสภาวะที่กำลังปรากฏอยู่ตามจริง ถ้าหากว่าเรานั่งสมาธิอยู่แล้วรู้สึกเป็นทุกข์มาก ให้ดูความทุกข์ ไม่ใช่ไปดูลมหายใจ ไม่ใช่ไปดูคำบริกรรมอย่างอื่น
เพราะอะไร? เพราะว่าถ้าเรามีความทุกข์มาก ไอ้กำลังของความทุกข์นั้นมีแรงดันเอาชนะสติได้นี่นะ แล้วเราพยายามไปสู้มัน ก็เหมือนกับเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง หรือเอาเด็กตัวผอมๆแห้งๆนี่ ไปพยายามสู้กับพวกซูโม่หรือนักมวยปล้ำ ที่ตัวมีขนาดต่างกันมาก
ทางที่ดีที่สุด เวลาเกิดความรู้สึกเป็นทุกข์ขึ้นมา ให้เห็นความทุกข์เดี๋ยวนั้นเลยว่ามันทุกข์ที่ตรงไหน ส่วนไหนของร่างกาย มือกำอยู่ไหม มือเกร็งอยู่ไหม ถ้ามือเกร็งอยู่ มือกำอยู่ นั่นแสดงว่ามีความทุกข์ละ ปรากฏที่กายอย่างเห็นชัดๆเลย มันมีฟีดแบกทางร่างกายที่สะท้อนอยู่ ถ้าหากมีความรู้สึกอึดอัดกลางอก ก็ให้ดูความรู้สึกอึดอัดที่กลางอก เห็นความรู้สึกอึดอัดที่ส่วนไหนของร่างกาย ส่วนนั้นมักจะคลายให้เห็นต่อหน้าต่อตา เดี๋ยวนั้น แล้วความรู้สึกทางใจมันก็จะสบายขึ้น
หรือถ้าเกิดความรู้สึกวุ่นวาย ปั่นป่วน ฟุ้งซ่าน ก็ให้ดูว่าลักษณะของใจนี่นะ มันมีอาการปั่นป่วนอยู่ มันมีอาการที่วกวนอยู่ มันมีอาการที่ไม่จบอยู่ ไม่จบไม่สิ้นไม่สงบ แล้วอย่าไปอยากสงบ ให้ดูความไม่สงบ จนกระทั่งเห็นว่าความไม่สงบนี่ มันแสดงตัวชัดๆ ถ้าเมื่อไหร่คุณเห็นความไม่สงบมันแสดงตัวชัดๆ เมื่อนั้นคุณจะเห็นว่าลักษณะความไม่สงบมันจะค่อยๆแปรตัวไป ค่อยๆอ่อนกำลังลง
นี่คือธรรมชาตินะครับ ถ้าคุณไม่เห็นอะไร สิ่งนั้นจะเหมือนคงอยู่ ไม่เปลี่ยนแปลง แต่เห็นอะไรเมื่อไหร่ สิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงให้ดู เกือบจะในทันที ขอให้เห็นจริงๆเถอะ ไม่ใช่เห็นด้วยความคาดหวัง ไม่ใช่เห็นเพราะอยากจะให้มันสงบ ไม่ใช่เห็นเพราะว่าอยากจะให้มันหายไป ไม่ใช่เห็นด้วยอาการขับไล่ไสส่ง แต่เห็นด้วยอาการเป็นผู้ดู
นั่งสมาธิครั้งต่อไปนะครับ แค่ตั้งใจเท่านั้นแหละว่าเราจะดู เราจะยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นตามจริง เพื่อเห็นความไม่เที่ยงของมัน ไม่ใช่คาดหวังว่าจะเกิดความสงบ แล้วการนั่งสมาธิครั้งนั้นของคุณจะไม่สูญเปล่านะ
เอาล่ะครับ คืนนี้ก็ต้องราตรีสวัสดิ์นะครับ ขอให้เจริญในธรรมด้วยกันทุกท่านครับ
« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น