วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๑๐๓ / วันที่ ๑๔ ก.ย. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันศุกร์ที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง เพื่อจะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการ ก็ให้เข้าไปที่สเตตัสปัจจุบันของ http://www.facebook.com/dungtrin นะครับ สเตตัสที่จะตั้งขึ้นโดย Spreaker.com นะครับเวลาสามทุ่มตรง ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์



๑) เป็นคนคิดมากจนเครียดค่ะ ทั้งย้ำคิดอดีต กังวลอนาคต คิดฟุ้งซ่านเพ้อเจ้อ เห็นว่าจิตมันเกาะไปกับความคิด จะเป็นกุศล หรืออกุศล ก็เกิดตามขึ้น (หมายความว่าอย่างไร เกิดตาม... เข้าใจว่าหมายถึงว่า เกิดตามสิ่งที่คิดนะ) บางครั้งก็ข่มให้อยู่กับลมหายใจ ไม่อยากคิด ไม่อยากเครียด ใช้เหตุผลว่ามันไม่เที่ยง เกิดได้ก็ดับได้ แต่ใจก็ยังไม่ซึ้งจริงๆ ควรจะทำอย่างไรถึงจะถูกทาง?

เอาอย่างนี้นะ ถ้าเราพิจารณาว่าที่ผ่านมามันใช้ไม่ได้ผล แสดงว่าต้องมีอะไรบางอย่างเกี่ยวกับมุมมองที่มันผิดพลาดอยู่ ให้คิดอย่างนี้ ตั้งไว้ในใจอย่างนี้นะ เพราะฉะนั้นเวลาที่คิดมาก หรือว่าอยากหยุดคิด ก็ต้องเลิกล้มวิธีแบบเดิมๆ ไม่ว่าจะเคยทดลองอะไรมาก็แล้วแต่นะ เราตั้งมุมมองใหม่เลย

คือ ประการแรกนะ ความคิดฟุ้งซ่านที่เกิดขึ้นนี่ อย่างหนึ่งนะ มันมีมูลฐาน มันมีรากฐานมาจากความอยาก อยากนานาประการ อยากจะย้อนกลับไปในอดีต อยากจะหมุนเวลาทวนได้ ทวนเข็มนาฬิกาได้ เพื่อที่จะไปแก้ไขอะไรๆที่มันน่าเสียดาย ที่ไม่ควรทำก็กลับไปไม่ทำซะ หรือที่ควรทำแล้วไม่ได้ทำก็กลับไปทำ อย่างนี้เรียกว่าเป็นการย้อนคิดถึงอดีตแบบเปล่าประโยชน์ ความฟุ้งซ่านเกิดจากความอยากกลับไปในอดีต แล้วกลับไปไม่ได้ ส่วนความกังวลไปในอนาคต คือ เรามีความฟุ้งซ่าน คิดมากว่าวันนี้เป็นอย่างนี้ แล้วพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร หรือวันนี้ดีๆอยู่แล้ว กลัวว่าอะไรดีๆมันจะหายไปในวันหน้า มันก็เป็นไปได้หลายแบบนะ แต่สรุปแล้วก็คือ อยากให้อนาคตมันดี

นี่ตัวความอยากนี่นะ เราตั้งมุมมองไว้เลยว่า ตัวความอยากนี่แหละ ตัณหานี่แหละคืออุปาทาน ความทะยานอยากแบบไม่มีที่สิ้นสุด ความทะยานอยากในแบบที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ แล้วก็ยิ่งอยากเข้าไปใหญ่ ตัวความอยากนั่นแหละต้นเหตุแห่งทุกข์ พระพุทธเจ้าตรัสว่า สมุทัย หรือว่ามูลฐาน รากฐาน หรือว่าต้นเหตุของความทุกข์ มันก็คือตัวนี้เอง ตัณหานะ ตัวตัณหานี่หมายถึงว่า มีความทะยานอยาก สังเกตอาการของใจ มันไม่อยู่นิ่ง มันมีความกระสับกระส่าย มันมีอาการพุ่งทะยานออกไปข้างหน้า หรือพุ่งทะยานย้อนกลับไปข้างหลังนะ หวังไปในสิ่งที่มันไม่สามารถจะหวังได้ ตัวนี้มันก็เลยกระสับกระส่าย กระวนกระวายไม่หยุดไม่เลิกนะครับ

ถ้าเรามองเห็นว่า ตัวความอยากนี่เองเป็นต้นเหตุของความฟุ้งซ่าน เราก็มาเปรียบเทียบกับวิธีการที่เราเคยใช้มานะ เริ่มจากการที่เราเหมือนกับข่มให้ใจมันอยู่กับลมหายใจ ทั้งๆที่จิตของเรามันไม่ได้สมยอม มันไม่ได้อยากที่จะอยู่กับลมหายใจ เราก็ไปข่มมัน ไปกดความคิดไว้ ทั้งๆที่ความคิดมันไม่ได้อยากให้กด นี่ตัวความอยากของเรานี่นะ อยากให้สงบบ้าง อยากให้อยู่กับลมหายใจบ้าง มันอยากสวนทางกันกับธรรมชาติของใจที่มันฟุ้งไปแล้ว มันสวนทางกับความเป็นจริงที่ไม่สามารถสงบระงับลงได้ ตัวความอยากได้ในสิ่งที่มันเป็นไปไม่ได้นั่นเอง เท่ากับไปเพิ่มความทุกข์ เท่ากับไปเพิ่มกระแสความฟุ้งซ่านให้มันยิ่งกระเจิดกระเจิงยิ่งๆขึ้น

เห็นไหม ถ้าไม่ตั้งมุมมองไว้อย่างนี้ ถ้าไม่สำรวจตรวจตราไว้อย่างนี้ ถ้าไม่เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นที่ผ่านมานี่ เราก็จะไม่รู้ตัว แล้วก็ฝืนทำไปเรื่อยๆโดยที่ไม่เกิดผลลัพธ์อะไรที่มันดีทั้งสิ้นแหละ แต่ถ้าหากว่าเราเข้าใจแล้วว่าความอยากเป็นต้นเหตุของความทุกข์ ความอยากเป็นต้นเหตุของความกระวนกระวายฟุ้งซ่านไม่เลิก หยุดไม่ได้นะ เราก็ตัดต้นเหตุของความอยากเสีย อย่างเช่นในกรณีนี้ ตัดความอยากที่จะฟุ้งซ่าน หายฟุ้งซ่าน ตัดความอยากที่จะบังคับใจให้มันอยู่กับลม แต่สังเกตตามจริง รู้เอาตามจริง ยอมรับเอาตามจริงว่า เราสามารถเห็นอะไรได้บ้าง

อย่างเช่น ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกนะ ที่มันเข้าที่มันออกอยู่ธรรมดาๆนี่ มันไม่ต้องไปพยายามฝืน ไม่ต้องไปพยายามเค้นมาก มันก็สามารถรู้ได้ นี่ลองดูสิ หายใจเข้ารู้ว่าหายใจเข้า หายใจออกรู้ว่าหายใจออก ไม่ได้ตั้งใจว่าจะให้เกิดความสงบ ไม่ได้ตั้งใจจะให้ใจมันไปเกาะกับลมหายใจแน่นๆ แต่แค่รับรู้ธรรมดาๆ ขอแค่ครั้งเดียว ตกลงกับตัวเองไว้ว่า เอาแค่ครั้งเดียวพอ ลมหายใจนี้แหละที่มันอยู่กับปัจจุบัน ที่กำลังระลึกได้อยู่อย่างนี้แหละ พอเห็นว่า เออ ถ้าไม่บังคับ ถ้าไม่ได้ฝืนใจ ถ้าไม่ได้นำหน้ามาด้วยความต้องการที่จะสงบ ไม่ได้นำหน้ามาด้วยความอยากเลิกฟุ้งซ่าน มันก็สามารถรู้ลมหายใจที่มันกำลังปรากฏอยู่วินาทีนี้ได้แบบสบายๆนั่นแหละ ไม่ต้องฝืน ไม่ต้องบังคับ ไม่ต้องไปพยายามอะไรเลย

ความฟุ้งซ่านก็เหมือนกัน มันฟุ้งอยู่ในหัวก็ให้มันฟุ้งไป ไม่ต้องไปอยากให้มันสงบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่มันไม่สามารถจะสงบได้ อย่างในขณะนี้กำลังฟังอยู่นี่ เรารู้ใช่ไหมว่าอาการฟุ้งซ่านมันลดลง เพราะว่าใจมันมีที่เกาะ มันกำลังฟังสิ่งที่ตัวเองสนใจอยู่ ทีนี้พอฟังๆไปเดี๋ยวมันเกิดความฟุ้งซ่าน อยากฟุ้งซ่านขึ้นมาอีก ความอยากนั้นมันเป็นความเคยชิน มันถือปฏิบัติมานานเป็นสิบๆปี มันต้องเกิดขึ้นแน่ๆ คนเราสั่งสมความเคยชินอะไรไว้เป็นสิบๆปีนี่ คอยดูเถอะมันมาแน่ๆ ภายในนาทีเดียวนี่มันอยากฟุ้งซ่านไปเป็นอาจจะสองรอบสามรอบ ถ้าหากเราไปอยากที่จะเลิกฟุ้งซ่าน เท่ากับไปเพิ่มความอยากแบบเดิมนะ อยากฟุ้งซ่านแบบเดิม มันกลายเป็นอยากที่จะสงบ มีสองความอยากขึ้นมา มันยิ่งกระวนกระวายหนักเข้าไปใหญ่ กระสับกระส่ายหนักเข้าไปอีก เพราะเห็นๆอยู่ว่าใจมันอยากฟุ้งซ่าน แต่ในขณะเดียวกันนะตัวเราอยากสงบ มันสวนทางกัน

สองความอยากที่มันขัดแย้งกันสุดขั้วนี่นะ พอมันมาอยู่ด้วยกันมันกลายเป็นความอยากคูณสองเข้าไป พอเราเลิกอยากที่จะสงบ สังเกตอาการของใจนะ มันจะระงับลงไปเอง เลิกอยากที่จะสงบ แล้วหันไปยอมรับตามจริงว่าเรากำลังฟุ้งซ่านแรงแค่ไหน วัดจากลมหายใจนี้แหละ กำลังหายใจเข้ากำลังหายใจออกอยู่ บอกตัวเองถูกไหมว่ามันกำลังฟุ้งแรง หรือว่าฟุ้งเบา เปรียบเทียบง่ายๆ ลมหายใจนี้กับอีกลมหายใจนึงที่ผ่านมานี่ ลมหายใจไหนฟุ้งหนักกว่ากัน พอเรายอมรับตามจริงได้ว่า มันมีฟุ้งมากบ้าง มีฟุ้งน้อยบ้าง โดยไม่มีความคาดหวังเลยแม้แต่นิดเดียวว่า จะให้มันสงบระงับลงไป ตัวนั้นแหละคือต้นเหตุของความระงับ ต้นเหตุของความสงบ เพราะอะไร เพราะว่าเราตัดความอยากออกไป ทั้งความอยากที่จะฟุ้งซ่าน มันก็กลายเป็นสิ่งถูกดู ถูกรู้ ทั้งความอยากที่จะสงบมันก็ไม่ได้ที่เกิด พอความอยากไม่ได้ที่ตั้ง ไม่ได้ที่เกิด มันก็กลายเป็นจิตธรรมดาๆที่รู้อยู่ เห็นอยู่ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น อะไรกำลังต่างไปในแต่ละลมหายใจ

นี่หวังว่าฟังไปด้วยก็คงฝึกตามไปด้วยนะ ลองดูตามไปด้วย แล้วจำไว้ว่านี่แหละคือวิธีการที่จะทำให้ความฟุ้งซ่านมันหายไปจริงๆ เวลาพระพุทธเจ้าสอนสติปัฏฐาน ๔ ในหมวดที่ว่าธรรมานุปัสสนานะ ข้อที่ว่าด้วยการกำจัดนิวรณ์ หรือว่าเครื่องถ่วงความเจริญของสตินี่นะ ข้อที่ว่าด้วยความฟุ้งซ่าน ท่านก็ให้ดูก่อนเลยว่าตอนนี้กำลังฟุ้งอยู่ ตอนนี้ฟุ้งมันต่างไปแล้ว ความฟุ้งมันหายไปแล้ว ถ้ารู้ได้ สามารถเห็นได้ ก็เรียกว่า เป็นการเอาความฟุ้งซ่านมาดูโดยความเป็นของไม่เที่ยง แล้วก็ไม่น่ายึดมั่นถือมั่น

คำว่าไม่น่ายึดมั่นถือมั่นนี่กินความรวมไปถึงว่า ไม่ต้องไปสนับสนุนมัน แล้วก็ไม่ต้องไปต่อต้านมัน แต่รู้มันตามจริงว่ามันเกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับลงเป็นธรรมดา อาการดับลงของมันนี่ไม่ใช่ดับวูบไปเฉยๆ แต่มันแปรปรวนไปเรื่อยๆ เมื่อใจไม่เป็นที่ตั้งของความอยากเลยนะ ในที่สุดแล้วเราจะมีแต่อาการรู้ๆๆ ยอมรับตามจริงไปเรื่อยๆนะว่าเกิดอะไรขึ้นกับจิต แล้วจิตนั่นแหละมันจะสงบระงับลงไปเอง

อาการที่จิตสงบลงไปนะมันจะมีความรู้สึกอยู่ตรงกลาง มันจะมีความรู้สึกว่าไม่มีอาการกระเพื่อม มีความรู้สึกสงบเย็น มีความรู้สึกเป็นสุข มีความรู้สึกว่า เอออย่างนี้นี่ไม่ต้องฝืน แต่ถ้าใครอยากจะมีความสุขปุ๊บ นั่นแหละตัวนี้แหละฝืนแล้วนะ กำลังฟุ้งซ่านอยู่ดีๆ กำลังเป็นทุกข์อยู่ดีๆ อยากจะมีความสุข อยากจะมีความสงบระงับ นี่แหละตัวนี้แหละ ความอยากนี้แหละที่จะทำให้ไม่สงบลงสักที

แล้วพอคนเรานะอยากๆๆอยู่ทุกวัน อยากโน่น อยากนี่ อยากได้โน่น อยากได้นี่ อยากได้อะไรแบบโลกๆ อยากได้อะไรร้อนๆ ไม่พอนะ ยังอยากได้ความสงบ ยังอยากได้มรรคได้ผลกันอีก มันมีแต่ความอยาก มันมีแต่การไหลตามกระแสของกิเลส แล้วเมื่อไหร่ที่เราจะเห็นความอยาก เมื่อไหร่เราจะจัดการกับต้นเหตุของความอยากได้ เรามาเริ่มต้นกันกับเรื่องของการสังเกตลมหายใจตามจริงนี่แหละ สังเกตลม ไม่ใช่บังคับลม เห็นความอยาก ไม่ใช่ตามความอยากไป ไม่ใช่แล่นตามอาการทะยานของจิตไปนะ



๒) ในการปฏิบัติ ‘วิปัสสนาจริงๆ’ จะเกิดขึ้นตอนไหน ใช่ตอนที่เรามีสติเห็นกายใจของเราเป็นไตรลักษณ์หรือเปล่าครับ? ผมปฏิบัติโดยใช้อานาปานสติเป็นวิหารธรรม หลังจากเจอสภาวะที่เห็นตัวเองในวินาทีที่ผ่านมาดับหายไปต่อหน้า เหมือนเราเมื่อกี้ตายดับไปหมด ตัวเราปัจจุบันเมื่อกี้เป็นคนละตัวกัน ผมเห็นแบบนี้มีปัญหาหรือไม่?

เห็นแบบนี้ดีมากนะ คือมันเป็นลักษณะของการเห็นภาวะอย่างหนึ่งดับไป ไม่ใช่ตัวตน ตอนที่รู้สึกว่าเป็นคนละตัวกันนี่ ตัวนี้นี่เขาเรียกว่า ถ้าศัพท์สมัยหลังๆเขาเรียกว่า สันตติขาด

สันตติขาดหมายความว่า ตัวที่มันหลอกเราอยู่นี่ ตัวที่เป็นสัญญาที่ทำให้นึกว่า ลมหายใจเป็นลมหายใจเดียวกัน อิริยาบถต่างๆเป็นอิริยาบถเดียวกัน ความรู้สึกนึกคิด ความทรงจำเป็นของคนคนเดียวกัน เหล่านี้เรียกว่าเป็นการสืบสันตติ เป็นการที่เราถูกธรรมชาติของการสืบเนื่องมันหลอกเอาว่า นี่คือตัวเดียวกัน แต่พอจิตนี่เหลือแต่อาการรับรู้ อาการที่มันเป็นสติเพียวๆ รู้สึกว่าเมื่อกี้ท่าหนึ่ง ตอนนี้อีกท่าหนึ่ง คนละตัวกัน คนละท่ากันแล้ว ถึงแม้ว่าจะอาศัยอยู่ในร่างกายเดียวกัน แต่มันก็เป็นคนละท่ากันแล้ว ลมหายใจแต่ละระลอกนี่ มันเป็นคนละชุดกันชัดๆเลย เข้าแล้วออก เข้าแล้วออกนี่ ไม่ได้เป็นชุดเดียวกันแม้แต่ระลอกเดียวตั้งแต่เกิดจนตายนี่ ไม่มีระลอกไหนซ้ำกันเลย

หรือแม้แต่ความสุข ความทุกข์ที่มันเกิดขึ้นมานะ สุขยาวแค่ไหน สุขสั้นแค่ไหน มันก็เป็นคนละสุขกัน คนละตัวกันแล้ว พอมันเปลี่ยนไปนิดนึง กลายเป็นรู้สึกเฉยๆ หรือรู้สึกเป็นทุกข์ เป็นกังวลนี่ แค่นี้มันเป็นธรรมชาติที่คนละตัวกันแล้ว เป็นนามธรรมคนละกลุ่มกันแล้ว คนละก้อนกันแล้ว ถ้าหากว่าเราไปถึงความรู้สึกว่านั่นเป็นคนละตัวกัน นั่นแหละเรียกว่าการเห็นตามจริง การเห็นตามจริงนั่นแหละคือนิยามของวิปัสสนา

ทีนี้คำถามที่เป็นแก่นเลยคือว่า วิปัสสนาจริงๆเกิดขึ้นตอนไหน ก็มีการนิยามกันนะ ในชั้นหลังๆก็บอกว่า ต้องเห็นอย่างนั้น เห็นอย่างนี้ คือไประบุตายตัว ไปผูกเงื่อนตายไว้ว่าจะต้องเกิดญาณขั้นนั้นขั้นนี้ ซึ่งถ้าหากว่าสืบไปในสมัยพุทธกาล ไม่มีการผูกเงื่อนตายกันแบบนั้นนะ แต่พระพุทธเจ้าจะพูดถึงสัมมาสติ สัมมาสมาธิ คือมีสติชอบ เห็นกาย เวทนา จิต ธรรม โดยความเป็นของไม่เที่ยง แล้วก็มีสมาธิ คือไม่ใช่เห็นวอบๆแวบๆ แต่ว่ามีความตั้งมั่นเป็นปกติในการเห็นเช่นนั้น

พูดง่ายๆคือว่า ถ้าใจเราสบายๆนะ ไม่มีอาการบังคับ ไม่มีอาการฝืน แล้วมีความรู้สึกว่ามันตั้งมั่นอยู่ในอาการรู้ ตั้งมั่นอยู่ในอาการเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งภายในขอบเขตของกายใจโดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดูว่ามันไม่เที่ยง รู้สึกว่ามันไม่ใช่ตัวตน นั่นน่ะถือว่าเป็นวิปัสสนาทั้งนั้นแหละ นับเริ่มตั้งแต่ไหน เอาดูที่สติปัฏฐาน ๔ นี่ พระพุทธเจ้าให้แค่ดูลมหายใจนะ แล้วเห็นว่าลมหายใจเดี๋ยวก็เข้าเดี๋ยวก็ออก เดี๋ยวก็ยาวเดี๋ยวก็สั้น แล้วจิตแยกออกมาเป็นผู้รู้ ผู้ดู กองลมทั้งปวง ท่านตรัสไว้เป็นนัยว่า เราจักเป็นผู้รู้ ผู้ดู กองลมทั้งปวงแสดงความไม่เที่ยงอยู่ ตัวผู้รู้ ผู้ดู เห็นว่ากองลมไม่เที่ยงนั่นน่ะ ตัวนั้นแหละที่มันเป็นจิต ที่เป็นสมาธิ ประกอบด้วยปัญญา ประกอบด้วยการรู้อยู่ เห็นอยู่ มีสติ มีสัมปชัญญะ ทราบอยู่ว่านั่นไม่ใช่ลมหายใจของเรา เป็นแค่ธาตุลมพัดเข้าพัดออก

แล้วพอเราสามารถที่จะเห็นลมหายใจโดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวเราได้ จิตแยกออกมาเป็นผู้รู้ ผู้ดูเฉยๆนี่ จิตนั้นแหละมันก็สามารถที่จะเห็นสิ่งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสุข ทุกข์ ความรู้สึกอึดอัด ความรู้สึกสบาย หรือว่าอาการของใจเองนะ ที่เดี๋ยวมันก็ฟุ้งซ่าน เดี๋ยวมันก็สงบได้ เห็นไม่ต่างกับลมหายใจ เห็นว่ามันเป็นของที่แสดงตัวเองอยู่ตลอดเวลา ตลอด ๒๔ ชั่วโมงว่า นี่ไม่ใช่ของที่เที่ยง นี่ไม่ใช่ของที่เป็นบุคคล ไม่ใช่เป็นตัวตน ไม่ใช่เป็นเราเขา จิตมันจะเป็นอิสระ จิตมันจะมีความรู้สึกว่า เออนี่ไม่มีอุปาทานอยู่นะ มีแต่สภาพการรู้ มีแต่สภาพการเห็นที่บริสุทธิ์

ประเด็นคือ พอช่วงแรกๆนี่ ผู้ที่เจริญสติมักจะสับสน คือมีความรู้สึกว่า เราเห็นปรากฏการณ์บางอย่างที่มันพิเศษ ที่มันผิดแปลกจากธรรมดา แล้วก็ไปยึดมั่นถือมั่นว่า อาการอย่างนั้นเท่านั้น ที่เรียกว่าวิปัสสนา ปัญหาเกิดขึ้นตรงนี้แหละ พอเรายึดมั่นถือมั่นว่านั่นเรียกวิปัสสนา จะเกิดอาการเลียนแบบขึ้นมาทันที คือผูกเงื่อนตายไว้ว่า วิปัสสนาต้องเห็นแบบนั้นเท่านั้น อย่างเช่นกรณีนี้ บอกว่า เห็นอะไรอย่างหนึ่งมันหายไปต่อหน้าต่อตา ดับวูบไป แล้วก็รู้สึกว่าเป็นคนละตัวกัน จริงๆแล้วมันเป็นอาการที่ ในช่วงเริ่มๆนี่นะ มันเป็นอาการที่ตกภวังค์ไปนิดหนึ่ง แต่ว่าสติที่เกิดขึ้นตามหลังภวังค์นั้นมาเป็นสติที่ประกอบอยู่ด้วยปัญญา รู้ว่าสิ่งที่ดับหายไปนี่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เป็นคนละตัวกันกับภาวะปัจจุบัน

ทีนี้ถ้าเป็นสัมมาสมาธิจริงๆนะ มันจะเห็นต่อเนื่องเลย มันจะสว่างโพลงอยู่อย่างนั้นน่ะ มันจะมีความว่าง มันจะมีความปลอดโปร่งอยู่อย่างนั้นนะ แล้วเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มันกำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นลมหายใจ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกว่านี่กำลังสุขอยู่ นี่กำลังอยู่ในอิริยาบถนั่ง อิริยาบถนอนอยู่นะ จิตมันจะสว่างโพลงของมัน รู้ของมันอยู่อย่างนั้นว่า ที่กำลังเห็นอยู่น่ะ มันคนละตัวกันไปเรื่อยๆ มันเป็นคนละตัวไปเรื่อยๆ ไม่มีอาการดับวูบไป ไม่มีอาการหายไป มันมีแต่อาการรู้ที่ตั้งมั่น มีความรู้ที่คงเส้นคงวา มีความสว่างที่ไม่แคบเร็ว ไม่แคบลงมาเร็วนัก ไม่กว้างขึ้นเร็วนัก มันจะมีประมาณรัศมีความสว่างประมาณเดิมอยู่ อย่างน้อยชั่วขณะหนึ่ง ชั่วขณะใหญ่ๆ เรียกว่าเป็นอาการรู้ เป็นอาการเห็น เห็นก่อนที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น แล้วพอสิ่งนั้นเกิดขึ้นก็รู้อยู่ว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้น พอสิ่งนั้นดับไปก็ยังรู้อยู่ตามเดิม เท่าเดิม นี่ตัวนี้แหละที่เริ่มเป็นวิปัสสนาจริงๆ

อย่างเช่น ลมหายใจนี่ ถ้าเรารู้อยู่ก่อนที่ลมหายใจจะลากเข้ามา ขณะที่ลมหายใจลากเข้ามาก็เห็นอยู่ เห็นชัดๆเลย เป็นสายเลย แล้วพอลมหายใจมันระบายออกไป แล่นออกไปจากโพรงจมูกนี่ เราก็ยังเห็นอีก รู้อยู่อีก นี่ตัวนี้นะ คือจิตที่มันเห็นอยู่ว่า สักแต่เป็นธาตุลมพัดเข้า สักแต่เป็นธาตุลมพัดออกจากอิริยาบถนั่ง อิริยาบถนอนนี้ นี่แหละตัวนี้แหละที่เรียกว่าเป็นจิตที่รู้ จิตที่เห็นจริงนะครับ



๓) อยากรบกวนให้พี่แนะนำเรื่องการสวดมนต์น่ะค่ะ ควรจะเริ่มจากบทไหน? และจำเป็นต้องแผ่เมตตาทุกครั้งหรือเปล่า? อยากให้พี่ช่วยแนะนำวิธีเจริญสติให้คลายความเจ็บปวดเสียใจฝังใจกับเรื่องที่ผ่านมา เพราะบางครั้งก็เหมือนจะลืมได้ แต่บางครั้งก็รู้สึกเศร้าและเสียใจมาก?
เอาตรงนี้ก่อน คำถามสุดท้ายก่อน ที่บอกว่า บางครั้งก็รู้สึกเศร้าและเสียใจ บางครั้งก็เหมือนจะลืมได้ ตรงนี้อย่าไปพยายามให้มันเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นนะ ตรงนี้เป็นจุดที่ดีมากๆ ตรงนี้เป็นจุดสังเกตที่จะเป็นประโยชน์มากๆ จำไว้นะ เดี๋ยวก็ลืม เดี๋ยวก็เศร้านี่ ให้มันเกิดขึ้นอย่างนี้แหละ ยอมให้มันเกิดขึ้นอย่างนี้ เพื่อที่จะได้เห็นว่าที่มันลืมได้นี่ ไม่ใช่เพราะเราบังคับให้มันลืม แต่มันมีเหตุปัจจัยบางอย่างที่เหมาะสม ที่ทำให้ใจเราไม่ไปยึดมั่นถือมั่นแล้วก็เหมือนจะเลือนๆไป

ตอนที่ลืมได้นี่นะ สังเกตอาการของใจนะ มันเป็นอิสระอยู่ มันไม่พุ่งเข้าไปหาอดีต มันไม่เกาะเกี่ยวเข้ากับใบหน้าของใคร ไม่ย้อนไประลึกถึงน้ำเสียงของใคร ใจเป็นอิสระอยู่ แล้วก็สามารถที่จะรู้เห็นว่า เรากำลังอยู่ในภาวะอย่างนี้นี่มันเป็นอย่างไร ปลอดโปร่งแค่ไหน สุขมากแค่ไหน หรือว่ามีความรู้สึกว่าสุขแบบหม่นๆ

สุขแบบปลอดโปร่ง หรือ สุขแบบหม่นๆ มันสามารถสังเกตได้นะ จากอาการที่ใจไม่ไปยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งภายนอก แต่บางครั้งกลับรู้สึกเศร้าแล้วก็เสียใจขึ้นมา ตรงนี้พอเศร้าปุ๊บนะ ถือเป็นโอกาสทองเลย คือยอมรับตามจริง อย่าไปพยายามที่จะทำให้หายเศร้า ยอมรับตามจริงลงไปเลยว่า ใจของเรามีอาการเกาะเกี่ยว มีอาการยึดแน่นอยู่กับอะไรอย่างหนึ่งหรือใครคนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนะ มันเป็นเวลาที่ผ่านมาแล้ว ล่วงมาแล้ว ไม่ใช่เวลาปัจจุบันแล้วแน่ๆ ความเศร้านะ จำไว้เลยนะ ความเศร้า ความเสียใจนี่ ส่วนใหญ่มันไม่ได้เกิดขึ้นจากอะไรมากระแทกตรงๆ ณ เวลาปัจจุบันในวินาทีนี้ แต่เป็นอาการที่ใจของเรามันบังคับไม่ได้ บังคับตัวเองไม่ได้ มันพยายามพุ่งไปหาใครคนหนึ่ง หรืออะไรอย่างหนึ่งด้วยความยึดมั่นถือมั่น

พอเศร้าปุ๊บ ให้บอกตัวเองเลย นี่คือจังหวะ นี่คือโอกาสที่เราจะได้เห็นว่า อาการของใจที่ยึดมั่นถือมั่นหน้าตามันเป็นอย่างไร มันจะมีความรู้สึกบีบๆ มันจะมีความรู้สึกเกร็งๆ มันจะมีความรู้สึกฝืนๆ มันจะมีความรู้สึกเหมือนกับโหยหาอาลัยอาวรณ์อ้อยอิ่ง อาการจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ ให้บอกตัวเองว่า นี่แหละที่เขาเรียกว่าอาการยึด

พอเราตั้งจุดสังเกตไว้ว่านี่เรียกว่าอาการยึด มันจะค่อยๆเห็นจริงๆนะ ว่าเออ ใจนี่ มันมีอาการขมวดได้ มันมีอาการบีบรัดได้ มันมีอาการนึกถึงมโนภาพอะไรขึ้นมาอย่างหนึ่ง แล้วเข้าไปยึดเข้าไปจับอย่างแรง นี่เป็นโอกาสได้ศึกษา เริ่มต้นขึ้นมาจากการยอมรับตามจริง อย่าไปพยายามให้มันหายไปนะความเศร้านี่ แต่เห็นว่าความเศร้า ความรู้สึกเสียใจนี่มันเปลี่ยนได้ ทันทีที่เรามองเห็นว่า อาการยึดมั่นถือมั่นของจิตหน้าตามันเป็นอย่างไรปุ๊บนี่ อาการเศร้าหายทันที หรือเปลี่ยนแปลงไปทันที จากมากกลายเป็นน้อย จากน้อยกลายเป็นไม่เหลือเลย จะรู้สึกว่าปลอดโปร่ง เป็นอิสระขึ้นมาชั่วขณะ

แต่ความเป็นอนัตตาของจิตมันก็จะแสดงตัว ด้วยอาการหวนย้อนกลับมานึกถึงอีก โดยที่เราไม่รู้ว่ามันจะมาเมื่อไหร่ รู้แต่ว่าเดี๋ยวมันย้อนกลับไปแน่ๆ ย้อนกลับมาเราก็เห็นอีก ถ้าย้อนกลับมาอีกร้อยครั้ง เราถือว่ามีโอกาสที่จะดูอีกร้อยครั้ง อย่าไปมองว่า แย่จัง เราทำไม่ได้สักที การที่เรามีโอกาสฝึกอีกร้อยครั้งนั่นน่ะ สติมันก้าวหน้าไปไม่รู้เท่าไหร่เลยนะ อาจจะภายในวันเดียวนี่ ก้าวหน้ารุดหน้าไปยิ่งกว่าคนที่พยายามฝืนบังคับตัวเองให้ลืมเสีย

ที่ถามว่าจะสวดบทไหนก่อน สวดอิติปิโสอย่างเดียวเลยนะ สวดหลายๆรอบ แต่ละรอบนี่ก็ให้สังเกตดูว่า ฟุ้งซ่านมาก หรือฟุ้งซ่านน้อยต่างจากรอบอื่นๆ แค่ไหน รอบนี้ฟุ้งซ่านมาก รอบแรกฟุ้งซ่านมากแน่ๆนะ แต่รอบสองดูซิว่ามันสงบลงไหม รอบสามกลับมาฟุ้งหนักขึ้นอีกหรือเปล่า สวดให้ได้สักสามรอบหรือเจ็ดรอบนะ เอาให้ได้ทุกวัน จะรู้สึกเลยถึงความแตกต่างนะ เราจะมีปัญญาเห็นความไม่เที่ยงของอาการฟุ้งซ่านขึ้นมา สำคัญคืออย่าไปบังคับเด็ดขาดนะ อย่าไปห้ามไม่ให้มันฟุ้งซ่าน แต่ให้ยอมรับตามจริง เพื่อที่จะดู เพื่อที่จะเห็นว่ามันต่างไปอย่างไรนะครับ

ส่วนจะแผ่เมตตาหรือไม่แผ่เมตตานี่ จริงๆแล้วแค่สวดอิติปิโส ก็ไม่จำเป็นต้องแผ่เมตตาแล้ว เนื่องจากว่าการสวดอิติปิโสบทนี้นี่นะบทเดียวเลยนี่มันเป็นเมตตาอยู่แล้ว เป็นพุทธพจน์นะ ที่เรามีแต่สรรเสริญ มีแต่บรรยายสรรพคุณ พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ นะครับ มันเป็นลักษณะจิตที่แผ่ออก มันเป็นลักษณะจิตที่เปิดอยู่แล้ว



« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น