วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๑๐ / วันที่ ๙ ก.พ. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันพฤหัสบดีที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง และเพื่อจะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการนะครับ ก็ให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/HowfarBooks ครับ คืนนี้เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลานะครับ เรามาดูคำถามแรกกันเลยก็แล้วกัน



๑) รายการทีวีเคยนำเสนอเรื่องกะเทยหรือทอม ที่มีเหตุให้กลับมาเป็นเพศปกติ อย่างนี้เป็นสัญญาณว่าเขาหมดกรรมหรือเปล่า? แล้วกระเทยบางท่านที่มีจิตอยากบวชเป็นภิกษุสามารถทำได้หรือไม่?

เรามองย้อนไปเลยนะว่า ตรงความรู้สึกเบี่ยงเบนทางเพศมันมาจากไหนนะครับ มันไม่จำเป็นต้องมาจากกรรมเก่าในอดีตชาติเสมอไปนะครับ ขอเพียงมีการแกล้งทำกระตุ้งกระติ้ง หรือว่าอย่างที่เคยมีดาราให้สัมภาษณ์นะครับ เดิมทีก็เป็นผู้ชายอยู่ดีๆมีแฟน แล้วจะต้องมารับบทเป็นกระเทยหรือว่าแกล้งสะดีดสะดิ้งอะไรนานๆเข้านี่มันติด มันกลายเป็นความเคยชิน ซึ่งก็ตรงกลับที่พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้นะ ถ้าหากว่าติดในกิริยาท่าทางของผู้หญิง แบบว่ามีอาการดัดๆหน่อย หรือว่ามีอาการแกล้งอ่อนไปอ่อนมา ระทดระทวยอะไรแบบนั้น ในที่สุดก็เหมือนกับมีสัญชาตญาณหรือว่าความรู้สึกแบบเพศหญิงติดมาได้นะครับ มันก็เกิดการเบี่ยงเบนทางเพศได้

ทีนี้ถามว่าถ้าบางคนนี่ คือไม่ได้ไปแกล้งทำนะครับ แต่มันเป็นเองมาตั้งแต่เด็ก ผมเคยได้ยินหลายคนนะครับที่บอกจากปากเลยว่า มีความรู้สึกแบบนั้น มาตั้งแต่ยังเด็กๆนะ โดยไม่ได้ไปแกล้ง ไม่ได้ไปทำอะไรที่มันพิลึกพิสดารทั้งสิ้น และก็ไม่ได้มีแรงบีบคั้นจากภายนอกมากระทำด้วย แต่มันมีความรู้สึกของมันเองขึ้นมา อันนั้นถือว่าเป็นของเก่า เป็นวิบากที่เกิดจากกรรมเดิมเขาบังคับ หรือบีบให้เกิดความรู้สึกผิดธรรมชาติทางเพศในปัจจุบันไปนะครับ

ทีนี้พอเกิดเหตุกระทบกระทั่ง มีอุบัติเหตุหรือมีเหตุการณ์บางอย่างให้กลับใจนี่ถือว่าหมดกรรมแล้วหรือเปล่า อันนี้ก็ต้องถามว่าพอกลับใจแล้วนี่เป็นทุกข์หรือเป็นสุข มีความรู้สึกดีหรือไม่ดีนะครับ ถ้าหากว่ามีความรู้สึกที่ดีกับตัวเองขึ้นมาได้ ตรงนั้นถึงจะถือว่าหมดกรรมเก่า เพราะว่าความรู้สึกนี่เป็นตัววัดได้ดีเลยว่า วิบากเก่าเล่นงานเรามาจนสุดขั้วแล้วหรือยัง

จริงๆแล้ววิบากของกรรมที่เคยทำไว้ตั้งแต่อดีตชาติแล้วมาให้ผลคือ มีวิบากเล่นงานเราในปัจจุบันชาตินี้ เล่นกันได้มากที่สุดหนักที่สุดก็ตรงความรู้สึก ไม่ใช่ทางกาย ไม่ใช่ทางหูตา แต่เป็นความรู้สึกของเรานี่ ที่ชอบหรือไม่ชอบ ที่มีความรู้สึกทรมานใจหรือรู้สึกสบายใจที่จะได้เป็นแบบนั้น ถ้าหากว่าเป็นทุกข์อยู่อันนั้นให้สันนิษฐานว่า มีวิบากเก่าบางอย่างกระทำกับชีวิตเราด้วย จะรู้แบบอะไรก็แล้วแต่ จะทำให้เกิดเหตุการณ์อะไรก็แล้วแต่ แต่มาลงที่ความรู้สึกเป็นทุกข์นั่นแหละ ตัวนั้นนั่นแหละ เป็นเครื่องสะท้อน เป็นสัญญาณบอก เป็นเครื่องหมายบอกว่า วิบากกรรมที่เกิดจากบาปเก่ากำลังเล่นงานเราแล้ว ถ้าหากว่าเกิดเหตุการณ์อะไรบางอย่างให้กลับใจ แล้วรู้สึกเป็นสุขขึ้นมา นั่นถึงจะเป็นตัวตัดสินว่าของเก่าหมดแรงส่งที่จะให้ผลนะครับ

สำหรับการคิดอยากบวช อันนี้ผมก็เคยพบกับพระที่ท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนะครับ แล้วท่านก็เก็บอาการลักษณะของความเบี่ยงเบนหรือว่าความชอบใจ คือเวลาบวชไปนี่นะครับ พฤติกรรมในการบวชเป็นตัวชี้สำคัญ นี่คือมีวินัยอยู่นะครับ คือในภาษาพระเรียกว่าบัณเฑาะก์ ซึ่งก็มีการตีความกันว่า หมายถึงผู้ที่มีอวัยวะเพศชายสามารถกลับกลายเป็นอวัยวะเพศหญิงได้ในคนๆเดียวกัน ในปัจจุบันก็มี แต่น้อย หาได้ยากมากที่จะมีกรณีอวัยวะเพศที่สามารถเปลี่ยนเป็นชายก็ได้ เป็นหญิงก็ได้ อันนั้นที่ท่านตีความกันว่าพระวินัยห้ามไม่ให้บวช จะมุ่งเอาคนประเภทนั้น แต่ก็จะมีบางความเห็น บางตำรานะครับที่บอกว่า เหมารวมเอาพวกที่เบี่ยงเบนทางจิตใจด้วย อันนี้ก็แล้วแต่การตีความกัน แต่เท่าที่ผมเห็นมาคือ สำหรับวัดป่าก็มีนะครับ ที่ท่านรับเอาคนที่มีความเบี่ยงเบนทางความชอบใจทางเพศมา แต่ว่าไม่มีพฤติกรรมที่เสียหาย ท่านสามารถที่จะบวช แล้วก็มาประพฤติถูกประพฤติชอบนะครับ ในการบวชนี่เราไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางเพศอยู่แล้ว เราต้องข่มใจห้ามใจไม่มีพฤติกรรมทางเพศอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นนี่ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องผิดนะครับ ถ้าหากว่าคิดจะมาเอาดีเป็นพระ ในเมื่อโดยรูปลักษณะของกายนี่ มันก็ฟ้องอยู่ว่าเป็นเพศชายสมบูรณ์ทุกประการ



๒) เป็นคนอ่อนน้อมให้เกียรติคน แต่กลับถูกมองว่าเป็นคนอ่อนแอ ยอมให้คนอื่นเขาเอาเปรียบ และบางคนพอเราให้เกียรติเขา เขากลับข่มเรา ทั้งๆที่ความจริงเราไม่ได้เกรงกลัว แต่เป็นเพราะอภัยเมตตาไม่ถือสาหาความใครต่างหาก จะทำอย่างไรให้เราดูไม่เป็นคนอ่อนแอในสายตาคนอื่น?

ความเข้มแข็งกับความอ่อนแอนี่ มันแตกต่างกันที่ความรู้สึกทางใจนะ ถ้าหากว่าใจเราเป็นทุกข์อยู่ มีความรู้สึกระส่ำระสายอยู่ กระแสความอ่อนแอนี่มันจะส่งออกมา แล้วถึงแม้ว่าภายนอกจะยังดูแข็งๆ แต่ถ้าหากว่าภายในมีความรู้สึกสว่าง มีความรู้สึกนิ่ง มีความรู้สึกตั้งมั่นอยู่ อันนั้นจะส่งกระแสของความเข้มแข็งออกมา อันนี้พูดถึงหลักการก่อน อย่าเพิ่งพูดว่าผมตอบคำถามนี้แล้วหรือยัง ตรงตัวแล้วหรือเปล่านะครับ

โดยหลักการก็คือมนุษย์นี่จะสามารถรับรู้ได้ว่าภายในของอีกฝ่ายหนึ่งที่กำลังอยู่ต่อหน้านี่ มีความรู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ มีความอึดอัดหรือมีความสบาย ลองสังเกตตัวเองดูนะ อันนี้เป็นประสบการณ์ทางใจที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวันเลย บางทีเราไปหาใครที่เขาเป็นผู้นำ เราก็รู้สึกว่าเขาน่าเกรงใจ เขามีความเข้มแข็ง เขามีลักษณะของคนที่เราจะไปรังแกไม่ได้ หรือเอาง่ายๆอย่างถ้าหากว่าเราเจ็บไข้ได้ป่วยเล็กๆน้อยๆ แล้วก็ไปหาหมอ ถ้าเป็นหมอใจดี ถ้าเป็นหมอที่มีความกระตือรือร้นในการรักษาคนไข้อยู่ทั้งวันทั้งคืน มีความแข็งแรงออกมาจากความเมตตาปราณีที่อยากจะช่วยคน เราจะรู้สึกเลยว่า แค่เข้าไปในห้องตรวจก็เกิดความรู้สึกเหมือนกับว่าอาการเราดีขึ้นมานิดหนึ่งแล้ว นั่นเป็นเพราะว่าเราได้รับกระแสความรู้สึกดีๆมาจากหมอ ได้รับความรู้สึกเข้มแข็งของคนที่ไม่ยอมแพ้กับโรคภัยไข้เจ็บ มันทำให้เราเกิดความรู้สึกอยากเอาชนะโรคภัยไข้เจ็บของตัวเองโดยไม่รู้ตัว นี่เป็นการถ่ายทอดกระแสที่เห็นได้ชัดในตัวอย่างชีวิตประจำวันทั่วไปนะครับ

แต่ที่ผมยกตัวอย่างอย่างคนที่เป็นผู้นำ หรือคนที่เป็นหมอใจดีนี่ ก็จะเป็นกรณีความเข้มแข็งที่ค่อนข้างจะหาได้ยาก แต่ถ้าหากว่าเรามาพูดถึงคนทั่วๆไปที่พูดง่ายๆแหละว่าก็มีกิเลสแล้วก็มีความรู้สึกกลับไปกลับมา ระหว่างอยากให้อภัยกับอยากเอาคืนนะครับ ถือว่ามีความรู้สึกเหมือนกับว่าเราต้องชั่งใจแหละว่า จะอภัยดี ไม่อภัยดี จะพูดอย่างไรถึงจะให้ฟังดี แล้วก็เขาไม่ระคายใจด้วย และในขณะเดียวกันเราก็ไม่ถูกเข้าใจผิดด้วย มันจะยังมีความแกว่งไปแกว่งมาได้อยู่นะครับ อันนี้มองเป็นเรื่องของจิตไปก่อนนะ

ทีนี้มาเข้าคำถามนะครับว่า การที่เราเป็นคนอ่อนน้อมให้เกียรติคน แล้วถูกมองว่าอ่อนแอ ยอมให้คนอื่นเอาเปรียบ ตรงนี้ บางทีนะครับ ความอ่อนน้อมหรือให้เกียรติคนนี่ มันอาจทำให้คนบางคนที่เป็นพาลนี่มองว่าเราหงอ มองว่าเราดูเหมือนกับปกป้องตัวเองไม่ได้ เราเป็นคนอ่อนแอนะครับ ให้สังเกตลักษณะของใจในขณะที่เราอ่อนน้อมและให้เกียรติคน เราอ่อนมากเกินไปหรือเปล่า หรือว่าเรายังมีความสดใส มีความเป็นตัวของตัวเองอยู่ ถ้าหากว่าเรายังมีความสดใส มีความเข้มแข็ง ยังมีความเป็นตัวของตัวเองนะ ความอ่อนน้อมนั้นจะถูกมองว่าเป็นการให้เกียรติ แต่ถ้าหากว่าเราอ่อนน้อมแล้วใจข้างในของเราเหมือนกับยอมเขาได้ทุกอย่างนี่ กระแสความรู้สึกมันจะพลิกกลับไปเป็นอีกแบบหนึ่ง คือเขาจะรู้สึกว่าเราตัวงอเกินไป เราหงอเกินไปหน่อย แล้วก็ดูน่ารังแกซะด้วย

อันนี้เป็นธรรมชาติที่ค่อนข้างจะเป็นที่สังเกตได้ล่ะ คือมันไม่มีถูกไม่มีผิดนะ แต่เป็นที่สังเกตได้ ถ้าหากว่าใครมาทำหงอๆนี่ ธรรมชาติของคนที่ยังไม่ได้พัฒนาขึ้นเต็มที่นี่นะ จะรู้สึกว่าคนๆนี้น่ารังแก คนๆนี้น่ากลั่นแกล้ง คนๆนี่ไม่น่าเห็นใจซะด้วยซ้ำนะครับ คือมนุษย์เรานี่นะ กิเลสนี่มันเป็นอย่างนี้แหละ คือเห็นใครที่อ่อนกว่าด้อยกว่านี่ จะอยากเหยียบย่ำ เห็นเป็นบันได เพราะคนส่วนใหญ่นี่อยากมีจะมีอัตตา อยากจะมีความยิ่งใหญ่ อยากจะมีความเป็นนาย

เพราะฉะนั้นสรุปก็คือว่า เราต้องสังเกตตัวของเราเองด้วยว่า การอภัย การเมตตาไม่ถือสาหาความนี่ เป็นไปด้วยอาการที่เรายังมีความรู้สึกชัดเจนอยู่ข้างในหรือเปล่า เรายังมีสติอยู่ชัดเจนหรือเปล่านะครับ ยืนอยู่รู้ว่ายืนอยู่ไหม พูดอยู่กับเขารู้สึกถึงอาการพูดไหม หรือแม้กระทั่งการกล่าวว่าไม่เป็นไร ดิฉันไม่ถือ ด้วยอาการแบบนี้นี่ เป็นอาการของคนที่ยังมีความเป็นตัวของตัวเอง มีความตรง ยังยืดตัวได้ตรง ยืดอกได้ตรง หน้าตั้ง คอตั้ง หลังตรงอยู่หรือเปล่า ถ้าหากว่ามีความสง่างามในการให้อภัย ถ้าหากว่ามีความสง่างามในการอ่อนน้อมนะครับ เขาจะรู้สึกว่าเขากำลังได้รับเกียรติจากเราอยู่ แต่ถ้าอ่อนน้อมของเราหมายถึงการอ่อนไปทั้งตัวเลย ระทดระทวย หรือว่างอไปทั้งตัวนะครับ อันนั้นเขาจะรู้สึกว่าเรามาก้มศีรษะให้เขาด้วยอาการที่อยากจะมารับใช้เขา หรือว่าอยากจะมายอมให้เป็นบันไดให้เขาเหยียบขึ้นไปมีความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวตนของเขา

อันนี้ขอให้สังเกตด้วยก็แล้วกัน การที่เราจะไม่เป็นคนอ่อนแอในสายตาของคนอื่นได้ จำไว้เลยว่าความรู้สึกของเราจะต้องยังเป็นตัวของตัวเองเต็มร้อย แล้วก็ไม่งอแบบหงอนะครับ



๓) คุณป๊าเป็นคนใจร้อนมาก เวลาขับรถนิดหน่อยก็โกรธโมโหสบถออกมา แล้วทำให้ทุกคนบนรถพลอยหงุดหงิดอารมณ์ไม่ดีตามไปด้วย บางครั้งพากันบ่นคุณป๊า ท่านก็จะยิ่งโมโห และถ้าไม่สนใจฟังเลยก็จะยิ่งหงุดหงิด ส่วนหนูก็จะพยายามทำใจเย็น ไม่ปริปากว่าใคร แต่พอเจอคุณป๊าทีไร ก็จะอดพูดไม่เพราะไม่ได้ หรือบางทีก็บ่นไป นิ่งไม่ไหวเลย จะมีวิธีแก้อย่างไรบ้าง?

อันนี้ก็ขอให้ดูปฏิกิริยาทางใจของตัวเองนะครับ เวลาที่รุ่มร้อนขึ้นมา บอกตัวเองว่านี่แหละความร้อนมันหน้าตาแบบนี้ ถ้าหากว่าเรายอมรับความจริงได้ ณ ขณะนั้นว่ากำลังมีอาการร้อนอยู่แค่ไหนนะครับ ปกตินี่ใจมันจะมีความค่อยๆเย็นลง แต่ถ้าหากว่าเราไม่รู้สึกตัวว่ากำลังร้อนอยู่ อาการของใจนี่มันจะถูกความร้อนลากจูงให้ทะยานออกไปเป็นความอยากพูด อยากระบาย อยากบ่น หรืออยากต่อว่า อันนี้เป็นข้อสังเกตเลยนะครับ

ถ้ารู้สึกถึงความร้อนเหมือนกับมีไฟอยู่ในอกนี่ แล้วเรารู้สึกว่ามีไฟอยู่ในอก ไฟมันจะค่อยๆมอดลง บางทีต้องใช้เวลานานนะ ไม่ใช่มอดทันทีนะ แต่ระดับอย่างน้อยที่สุด ระดับความร้อนนี่มันจะไม่เท่าเดิม นาทีนี้ร้อนแค่นี้ อีกครึ่งนาทีต่อมา อาจจะร้อนน้อยลง หรือบางทีเพิ่มมากขึ้น แต่อย่างน้อยที่สุดคือได้เห็นความร้อนมันเปลี่ยนระดับให้เราดูนะครับ

แต่ถ้าหากว่าเราไม่รู้สึกถึงความร้อน ไม่รู้สึกว่าไฟกำลังอยู่ในอกนี่ ไฟนั้นน่ะ มันอยากจะระบายออกมาทางปาก มันจะแลบออกมาเป็นคำพูดที่ไม่ดี หรือเป็นคำบ่น หรือเป็นคำต่อว่านะครับ อันนี้คือหลักการ

ถ้าหากว่าเราแค่เห็นอย่างนี้นะ มันจะเหมือนกับอะไรที่แปลกใหม่ในชีวิตเลยทีเดียว ได้ข้อสังเกตว่ามันมีความแตกต่างระหว่างการเห็นกับการไม่เห็นความร้อน ถ้าเห็นความร้อน ความร้อนจะค่อยๆเบาลง แต่ถ้าไม่เห็นความร้อน ความร้อนมันจะอยากระบายออกมาทางปากนะครับ เพียงเห็นเท่านี้นะ เห็นบ่อยๆ เห็นให้ได้ถึงความแตกต่างนี่ก็เรียกว่าเราจะมีสติในขณะที่เกิดความหงุดหงิดคุณป๊านะครับ

แล้วพอยต์มันก็คือว่า เมื่อเราเห็นบ่อยๆเข้านะครับ ถ้าร้อนแล้วไม่ดูความร้อน มันพูดออกมาทางปาก แต่ถ้าเห็นความร้อนขึ้นมา ความร้อนค่อยๆลดระดับให้ดูได้ อย่างนี้น่ะ ในที่สุดเราจะเกิดความเย็น ทุกครั้งที่คุณป๊าบ่นหรือว่ามีอาการหงุดหงิดให้เห็นนะ มันมากระแทกใจเราปุ๊บ เราก็ยังหงุดหงิดอยู่นะ เราก็ยังร้อนอยู่นะ แต่เราจะค่อยๆมีความรู้สึกว่า นี่เป็นแบบฝึกหัดให้ใจเราเย็นลง

การที่คนๆหนึ่งจะมีใจเย็นได้นะ ไม่มีทางที่จะเกิดมาแล้วใจเย็นเอง แต่ต้องผ่านความร้อนและก็ฝึกที่จะดูความร้อน จัดการกับความร้อนด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งมาก่อน อันนี้ที่ผมพูดนี่ก็เป็นวิธีการเจริญสติแบบพุทธศาสนานะครับ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เมื่อมีโทสะในจิตให้รู้ว่ามีโทสะในจิต คือยอมรับไปตามจริงว่ามีโทสะในจิต ไม่ใช่ไปปฏิเสธ ไม่ใช่ไปพยายามหาทางดับทันที แล้วเมื่อความร้อนมันถูกรู้ ในที่สุดความร้อนจะเบาบางลงไปหรือหายไปจากจิต เราก็รู้ว่าสิ่งที่เหลืออยู่หลังจากความร้อนหายไปคือจิตที่มันรู้ ที่มันสบายขึ้น ที่มันเย็นลง ความเย็นนั่นแหละที่ทำให้เราขอบคุณต้นเหตุที่ทำให้เราหงุดหงิด เพราะมันได้ฝึก ถ้าหากว่าไม่ได้ฝึก เราไม่มีทางที่จะใจเย็นได้เลยทั่วทั้งชีวิตนะครับ



๔) ทำไมบางคนเผยแผ่ธรรมะแบบที่เน้นทั้งปริมาณและคุณภาพ แต่ทำไมบางคนเน้นที่คุณภาพโดยเจาะจงให้กับคนกลุ่มเล็กๆ เพื่อป้องกันความเห็นผิดแล้วค่อยมาเน้นปริมาณภายหลัง?

อย่างในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์นะครับ ก็มีตัวอย่างหนึ่งคือพระอัญญาโกณฑัญญะ ท่านบรรลุโสดาบันเป็นอริยบุคคลที่เจริญรอยตามพระพุทธเจ้าเป็นท่านแรก และก็สามารถที่จะบรรลุอรหัตผลในเวลาไม่นานด้วย แต่ท่านไม่มีอัธยาศัยในการสอนคนนะ ก็ว่ากันว่าท่านหนีเข้าป่า หลังจากที่ท่านบรรลุอรหัตผล แล้วก็มีความรู้สึกถึงการอยู่ร่วมกันกับหมู่คณะแล้วท่านไม่ค่อยถูกจริตเท่าไหร่นะครับ อย่างเช่นว่าจะต้องไปนั่งข้างหน้าหรือข้างหลังพระสารีบุตรนี่ ท่านไม่ถนัดเลย พระสารีบุตรก็เกรงใจท่าน แต่ตัวท่านเองท่านก็ยกพระสารีบุตรให้เหนือกว่าเพราะว่าเป็นถึงพระอัครสาวกฝ่ายขวา ท่านก็เลยตัดสินใจปลีกตัวเข้าป่า และก็ไม่ยินดีในการสอนใครด้วยนะครับ อันนี้ก็เป็นตัวอย่างว่า ถึงแม้จะเป็นพระอรหันต์ที่หมดกิเลสแล้วนะ แล้วก็มีศักดิ์มีศรีมีเกียรติ เรียกว่ามีความเป็นเอตทัคคะด้านใดด้านหนึ่งนี่นะ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องอยากสอนคนเสมอไป

ทีนี้เรามาดูว่า แม้แต่พระอริยบุคคลท่านนี่ ท่านก็ยังมีอัธยาศัยที่แตกต่างล้ำเหลื่อมกันนะครับ ขึ้นอยู่กับความพอใจหรือไม่พอใจที่จะสอน อันนี้เรื่องของการอยากสอนหรือไม่อยากสอนนี่ เป็นเรื่องของการบำเพ็ญบารมีมาในทางให้ธรรมเป็นทาน หรือให้วิทยาทาน แต่ละคนมีความถนัดไม่เท่ากันนะครับ แล้วยิ่งจะมาพูดเรื่องการเผยแผ่ทั้งปริมาณและคุณภาพ หรือเลือกเพียงคุณภาพอะไรต่างๆนี่นะ ยิ่งเป็นอัธยาศัยหรือว่าความชอบใจของแต่ละคนเข้าไปใหญ่เลยนะครับ ไม่สามารถที่จะบอกได้ตายตัวว่า ใครผู้ใดมีความสามารถทางธรรมะแล้วนี่ จะอยากเผยแผ่แบบไหน หรือว่าอยากจะเก็บตัวอยู่เงียบๆคนเดียว ไม่สุงสิงไม่ยุ่งกับใครเลย

ก็สรุปง่ายๆคือ ขึ้นอยู่กับอัธยาศัยนะครับ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความถูกความผิดหรือว่าความควรความไม่ควรนะครับ



๕) พนักงานไม่พอใจหัวหน้าที่ไม่ยอมทำงานเลย ส่วนหัวหน้าก็คิดว่าตัวเองทำงานเต็มที่แล้ว ปรับตัวกันได้ไม่นานก็เหมือนเดิม ทำอย่างไรดี?

เรื่องในที่ทำงานนี่นะ เป็นเรื่องน่าปวดหัวที่สุดเลย คือมันไม่มีทางออกในแบบที่ว่าทำอย่างไรแล้วจะเกิดผลดีที่สุด หรือแม้แต่อุตส่าห์จ้างเอาคนที่ชื่อว่าเป็นเอกซ์เพิร์ต หรือว่าที่ปรึกษาในการบริหารองค์กรมาช่วยไกล่เกลี่ยอะไรต่างๆนี่นะครับ ถ้าใจคนไม่ยอมกันซะอย่าง หรือว่าไม่ยอมที่จะมองเห็นมุมมองของอีกฝ่ายนะครับ อย่างไรๆนะไม่ว่าจะคำพูดไหน ไม่ว่าจะกุศโลบายใด ก็ไม่สามารถแก้ไขได้ ยกเว้นจะมีผู้นำที่เป็นแบบอย่างจริงๆ หมายถึงว่าในระดับหัวเลยนะ ในระดับกลางกับในระดับหางนี่ ส่วนใหญ่จะมองว่าองค์กรของตัวเองนี่มีหัวไว้นำหรือเปล่า

ถ้าหากว่าองค์กรของตัวเองมีหัวที่ชัดเจน ทุกคนยอมลงให้ และเป็นแบบอย่างที่ดีในทุกๆด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการทำงานนี่นะ บรรยากาศในการทำงาน สภาพแวดล้อมต่างๆนี่ จะคล้อยตามรอยเท้าของผู้นำคนนั้น แต่ถ้าหากว่าผู้นำองค์กรนั้นๆไม่ชัดเจน ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องของระหว่างคนกับคน ลูกน้องไม่อยากยอมก้มหัวให้เจ้านายในเมื่อรู้สึกว่าตัวเองเก่งกว่าเจ้านาย หรือว่าฉลาดกว่าเจ้านาย หรือว่าขยันกว่าเจ้านาย ส่วนเจ้านายนี่ก็มีความรู้สึกว่าลูกน้องกระด้างกระเดื่อง

ถ้าหากว่าเราจะเอาข้อสรุปหรือว่าคำตอบในการแก้ไขปัญหาจริงๆนี่ บางทีมันไม่ใช่ด้วยการคุยกันอย่างเดียว แต่มันจะต้องเป็นการหาทิศทางร่วมกันด้วย ว่าจะอยู่กันอย่างไรโดยที่ไม่ต้องมามีความรู้สึกว่า นี่แกเหนือกว่าฉัน หรือว่าแกต้องอยู่ภายใต้คำสั่งฉัน หรือว่าความรู้สึกที่เหมือนกับว่า ต่างฝ่ายต่างไม่เข้าใจกันนะครับ

ถ้าหากว่าการประชุมเป็นไปในทิศทางที่มีใครสักคนนะครับ บอกได้ว่าโอเค คุณผิดหรือว่าคุณถูก หรือคุณควรจะไปทางนี้ คุณไม่ควรจะไปทางนั้น นั่นแหละ องค์กรนั้นน่ะมันถึงจะมีความสามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้โดยที่จะไม่มีการมาคิดเล็กคิดน้อยกันนะครับ มันไม่ใช่เรื่องที่เราคงมาคุยกันสี่นาทีนี้แล้วได้คำตอบ อันนี้พูดตามในโลกความเป็นจริงเลยว่า ถ้าไม่มีหัวที่ชัดเจน กลางกับหางไม่มีทางชัดเจนด้วย มันจะส่ายไปส่ายมาตลอดนะครับ


เอาล่ะ คิดว่าวันนี้คงต้องกล่าวอำลาเพียงเท่านี้ก่อนนะครับ เหลือเวลาประมาณหนึ่งนาทีนะครับ ก็อยากจะกล่าวว่า โลกของอินเตอร์เน็ตก็มีประโยชน์นะครับที่ทำให้เราได้มาพบมาคุยกัน แล้วก็สร้างสรรค์ทั้งคำถามคำตอบที่ทำให้เรามีความสบายใจนะครับ มีความเป็นธรรม มีความสว่างก่อนนอนนะครับ ก็สำหรับวันนี้นะครับ ผมดังตฤณขอลาไปก่อน ราตรีสวัสดิ์ครับ


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น