สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันจันทร์ที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง เพื่อจะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการ ให้เข้าไปที่ http://facebook.com/HowfarBooks นะครับ
อันเนื่องจากพื้นที่จัดเก็บของ http://www.spreaker.com/user/dungtrin มีจำกัด ผมจึงต้องลบรายการช่วงแรกๆทิ้งไปนะครับ แล้วก็จะไล่มาตามระยะเวลาที่ออนแอร์มากขึ้นเรื่อยๆ แต่อย่างไรคุณสามารถเข้ารับฟังรายการที่ถูกลบไปจาก Spreaker.com ได้ที่ http://dungtrin.net/radio ไม่ใช่ .com นะครับ ซึ่งที่นั่น ‘คุณกวิน ฉัตรานนท์’ เป็นเจ้าของและเป็นผู้ดูแลจัดทำอยู่ ที่นั่นจะพิเศษกว่าที่ Spreaker.com ตรงที่มีสารบัญอยู่ด้วย พอเข้าไปที่นั่นก็ให้คลิกที่แท็บดูรายละเอียดของทุกตอน ก็จะเห็นเลยว่าแต่ละตอนมีคำถามเกี่ยวกับอะไร อันนั้นจะดีกว่าฟังทาง Spreaker.com เสียอีกนะครับ เพราะว่าในเรื่องของความแน่นอนในการรับฟังที่รวดเร็วกว่า แล้วก็ในแง่ของการมีสารบัญให้เลือกฟังคำถามคำตอบที่ตรงใจ ต่อไปสำหรับ Spreaker.com ก็คงจะเอาไว้เป็นสถานีกลางเป็นหลักที่เอาไว้ออนแอร์
๑) นั่งสมาธิแล้วใจหลงไปคิดเรื่องที่ไม่ถูกใจ ทำให้อึดอัด จะทำอย่างไร?
ตอนอยู่ในสมาธิสิ่งที่เราต้องการไม่ใช่รายละเอียด ไม่ใช่ความถูกความผิด ไม่ใช่ความรู้ว่าอะไรเป็นไรแบบที่อธิบายกันได้ อันนี้ข้างนอกอันนี้ข้างใน อันนั้นเกิดขึ้นที่จิตอันนั้นเกิดขึ้นที่กายตรงจุดไหนอะไรต่างๆ เราไม่ได้ต้องการความรู้โดยเฉพาะช่วงแรกๆ แต่เราได้สมาธิเสียก่อน มีความนิ่งเสียก่อน มีความตั้งมั่นเสียก่อน แล้วค่อยไปพัฒนาต่อยอดเป็นความรู้ซึ่งเรียกว่าวิปัสสนาในภายหลัง ช่วงแรกๆถ้าหากว่ายังมีความเป๋ออกจากโฟกัสของสมาธิ อาการเป๋นั้นไม่ว่าจะเกิดจากคำถามแบบไหนก็แล้วแต่ ให้ตีค่าเป็นวิจิกิจฉาหรือความลังเลสงสัยเสียให้หมด
วิจิกิจฉาเป็นหนึ่งในนิวรณ์ นิวรณ์แปลว่าอุปสรรคเครื่องถ่วงความเจริญ แทนที่เราจะเจริญสติรุดหน้าไปเรื่อยๆถ้าหากว่ามีนิวรณ์แล้วก็จะถูกขวาง ถูกกั้นไว้ถูกกางไว้ไม่ให้ไปไหนไม่ให้ก้าวต่อ ถ้าเราเกิดความรู้สึกเป็นทุกข์ขึ้นมามีความอึดอัดขึ้นมา แล้วเราไปสงสัยไปแยกแยะ มันข้างในหรือข้างนอก ความรู้สึกมันจำแนกไม่ถูก แทนที่เราจะเห็นภาวะที่ควรจะเห็นกลับกลายไปเป็นสงสัยภาวะที่ไม่ควรสงสัย คือจิตถ้ายังไม่ตั้งมั่นเป็นสมาธิจริง มันแยกแยะอะไรไม่ออกหรอก ตรงไหนอยู่ในกายตรงไหนอยู่ในจิต ตรงไหนเป็นข้างนอกตรงไหนเป็นข้างใน มิติของจิตยังคลุมเครืออยู่ มันยังครึ่งๆกลางๆลูกผีลูกคนระหว่างจิตที่มันคิดๆนึกๆ กับจิตที่เริ่มรู้บ้างแล้ว ทางที่ดีที่สุดคือเราตั้งไว้ล่วงหน้า ตั้งไว้ในใจกำหนดรู้ว่า ทำไว้ในใจล่วงหน้า มีโยนิโสมนสิการไว้ล่วงหน้าว่าระหว่างอยู่ในสมาธิระหว่างฝึกสมาธิ สิ่งที่เราต้องการคือโฟกัสเดียว ถ้าหากว่าเรามีหลายโฟกัส จิตใจจะซัดส่ายมีความกระสับกระส่าย มีความลังเลสงสัยไม่สิ้นสุด ทำไว้ในใจแบบนี้ เวลาที่พระพุทธเจ้าท่านให้ดู สภาวะง่ายๆที่จะปรากฏให้นักทำสมาธิมือใหม่ได้ดูก่อนเป็นอันดับแรกๆก็คือ นิยามไปเลยว่าในขณะนั้นเรากำลังเป็นสุขหรือว่าเป็นทุกข์ กำลังอึดอัดหรือว่ากำลังสบาย กำลังปลอดโปร่งหรือว่ากำลังทึบตันนั่นเอง ตัวเวทนาก็คือความรู้สึกทั้งหมดที่กำลังปรากฏอยู่จังๆเลย
ถ้านิยามไม่ถูกว่าตอนนี้กำลังเป็นสุขหรือเป็นทุกข์อยู่ ก็เอาลักษณะของความทุกข์ความสุขนั่นแหละ ไม่ว่ามันจะมาในรูปของความกระสับกระส่ายกระวนกระวาย ทึบตันหนักอกอึดอัดรุ่มร้อน ลักษณะที่มันปรากฏชัดๆของความทุกข์ให้เราดู และนิยามไปคำเดียวสั้นๆว่าเป็นทุกข์ ถ้ามันอยู่ข้างนอกหรือข้างในมันหลอกล่อด้วยอาการประหลาดพิสดารเป็นปรากฏการณ์ที่แปลก แล้วมันเหมือนกับว่าถ้าเรามีความรู้ที่กระจ่าง อธิบายได้ อธิบายถูกว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่าอะไรแล้วนึกว่ามันเป็นความฉลาด อันนั้นแหละผิดทาง
ขั้นแรกๆเราต้องมีความสามารถที่จะรู้ให้ได้จริงๆก่อน ว่าลักษณะที่กำลังปรากฏเกิดขึ้นไม่นานแล้วมันก็จะหายไปให้ดู ตัวนี้สำคัญมาก ถ้าหากว่าเราไม่ถูกเทรน หรือไม่เทรนตัวเองให้เห็นความสำคัญของอนิจจังเป็นอันดับแรก ไปเซ็ตค่าไพรออริตี้ผิด ความเจริญของสติจะเกิดยากมาก โอกาสที่จะหลงเขวไปกลายเป็นคิดมากระหว่างทำสมาธิจะสูงเลย แล้วคนทำสมาธิกันไม่สำเร็จก็เพราะเครื่องล่อแบบนี้แหละ พอมีเหยื่อล่อมา มีปรากฏการณ์ทางใจแปลกๆประหลาดๆไม่เคยเจอมาก่อนในระหว่างวัน ก็เกิดความลังเลสงสัยหรือไม่ก็เกิดความติดใจ อยากค้นคว้าอยากหาข้อมูล อยากบัญญัติเป็นศัพท์ออกมาให้ชัดๆว่าอย่างนี้เขาเรียกอะไร เรามาถึงขั้นไหนแล้ว มันจะถูกหรือผิดถ้าหากว่าเราไม่รู้ให้ชัดว่านี่มันข้างนอกหรือข้างใน บางทีปรากฏการณ์ทางใจอธิบายให้ตายก็สื่อกันไม่รู้เรื่องถ้าไม่มีประสบการณ์ตรงกัน แต่ว่าประสบการณ์ที่เราจะสามารถจูนกันติดได้ แล้วตรงกันกับแนวทางของพระพุทธเจ้าแน่ๆก็คือ ปรากฏการณ์นั้นจะพิลึกพิลั่นพิสดารแค่ไหนก็ตาม เราดูโดยความเป็นของไม่เที่ยงเอาไว้ก่อน
ถ้าเกิดความอึดอัดขึ้นมาจะแปลกแค่ไหน จะข้างนอกหรือข้างใน จะให้ความรู้สึกว่ามันเป็นตัวเราหรือไม่เป็นตัวเราก็แล้วแต่ หากเราไปวิเคราะห์ไปค้นคว้าเข้าแล้ว จิตมันเข้าไปยึดโดยไม่รู้ตัวเลย แล้วเมื่อไรที่จิตเข้าไปยึด กระโดดเข้าไปเกาะกระโดดเข้าไปมีส่วนร่วม มันจะเกิดอุปาทานขึ้นมาทันที มันจะนึกว่านี่เป็นตัวเรา มันจะนึกว่าอาการนั้นๆมีตัวตนขึ้นมาทันที น่าสงสัยน่าสนใจหรือว่าน่าไขว่คว้าเอาโดยไม่รู้ตัว คือเราจะรังเกียจมันหรือว่าชอบมันก็แล้วแต่ อาการยึดของใจมันจะทำให้รู้สึกว่าความทุกข์แบบนั้นๆความอึดอัดแบบนั้นๆหรือว่าปรากฏการณ์ทางใจแบบนั้นๆเป็นตัวเรา แต่เมื่อไรที่เราตั้งเป้าไว้ถูกล่วงหน้า ทำโยนิโสมนสิการคือมีการทำไว้ในใจโดยแยบคายว่า ทุกข์สักแต่เป็นทุกข์ ความอึดอัดสักแต่เป็นความอึดอัด เราสนใจแค่ว่าเห็นความอึดอัดมันเกิดขึ้น แล้วเมื่อเห็นด้วยใจที่มันสบายๆใจที่มันไม่ค้นคว้าใจที่มันไม่สงสัยอะไรมาก มันก็จะเกิดการคลี่คลายหายไปให้ดู
จำไว้ว่าหลักการง่ายๆเลยโดยเฉพาะในขณะนั่งสมาธิ เราเห็นอะไร เรารู้อะไรอย่างถูกต้อง มันจะหายไปให้ดู แต่ถ้าอะไรมันเกิดขึ้นแล้วเราเห็นมันไม่ถูก มันจะกลายเป็นก้อนตัวก้อนตน มันจะกลายเป็นก้อนอัตตาขึ้นมาให้ยึดทันที เพราะความเคยชินของจิตที่มีมาชั่วกัปชั่วกัลป์ก็คือ อะไรเกิดมันยึดทันทีเกิดปุ๊บยึดปั๊บ ที่เรามาฝึกกันก็เพื่อที่จะให้เกิดปุ๊บเห็นปั๊บว่ามันไม่เที่ยงหรือมันมาตามปัจจัย แล้วหายไปเมื่อปัจจัยหมด ตรงนี้ขอให้แม่นนะ
๒) เจริญสติภาวนาแล้วรู้สึกว่ายึดกายน้อยลง ทำตามกิเลสน้อยลง แต่บางครั้งมายึดที่จิตแทนคือยังพยายามทำให้ใจเป็นสุขไม่ทุกข์ไม่ร้อน ควรทำอย่างไรดี?
ที่คุณเห็นมาถือว่าเป็นการเห็นจริงๆระคนอยู่ด้วยความสงสัย คือขอให้ดูสังเกตใจตัวเองเวลาที่มันมีคำถามมากๆเราจะเห็นเราจะรู้อะไรก็แล้วแต่ แล้วมันมีความสงสัยขึ้นมา มันจะไม่ใช่สงสัยครั้งเดียว ถ้าเกิดปรากฏการณ์นั้นๆหรือว่าเกิดประสบการณ์นั้นๆขึ้นมาอีกมันจะสงสัยอีก ขอให้สังเกตอย่างนี้นะ อันนี้แทบจะเป็นหลักตายตัวเลย เพราะว่าสัญญาหรือว่าความหมายมั่นสำคัญมั่นหมายมันจะพอกพูนตัวเองได้ อย่างเช่นพอเรารู้สึกว่าใจมันไม่ได้รีบสนองกิเลสแล้ว ไม่ได้ทำตามกิเลสเหมือนแต่ก่อน แล้วก็ไม่ได้ต่อต้าน แต่ดูด้วยเหตุด้วยผลว่ามันควรหรือไม่ควร มันยึดมั่นถือมั่นในกายน้อยลง แล้วก็มายึดจิต อาการแบบนี้มันจะวนไปเวียนมา
คือพอเราไปสังเกตเห็นว่าเราไม่ยึดกายแล้ว เราไปยึดจิตแทน ต่อมาไม่ว่าจะปฏิบัติในรูปแบบไหน มันอยู่ในความทรงจำของเราแล้วว่า เราเลิกยึดกายแล้ว เรามายึดจิตแทน ไม่ว่าตรงนี้มันจะเป็นอินพุทมาจากไหน มันจะเป็นข้อมูลภายนอกมาจากไหนก็แล้วแต่ ถ้าหากว่ามันมีประสบการณ์ภายในขึ้นมาในใจของเรา ได้ตรงกันกับข้อมูลภายนอกนั้นด้วย อย่างเช่นเราไปอ่านตำราหรือว่าฟังคำสอนครูบาอาจารย์มา แล้วดูกายใจตัวเองเกิดประสบการณ์ตรงกันกับที่ท่านว่าไว้ คือรู้สึกว่ากายไม่ยึดแล้วแต่มายึดที่จิต พอปฏิบัติครั้งต่อๆไปเหมือนจะออกแนวที่ว่าเราดูกาย แล้วเรารู้สึกว่าเราไม่ได้ยึดกาย แต่อาการของใจไม่ว่าเกิดอะไรขึ้น เรายังยึดอยู่เพียงแต่ว่าน้อยลง แล้วเราก็จะเห็นแบบนี้ซ้ำไปซ้ำมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าปฏิบัติในรูปแบบเดิมๆ
ผมอยากให้สังเกตอย่างนี้ว่าการที่เราไม่ยึดกาย มันไม่ยึดกายได้ชั่วขณะหนึ่งชั่วประเดี๋ยวประด๋าว คำว่าไม่ยึดกายจริงๆโดยความหมายที่เป็นเหมือนกับในการเจริญสติแบบพวกที่ท่านทำกันแอดวานซ์ จริงๆไม่ยึดกายคือมันไม่ยึดจิตด้วย ไม่ยึดกายได้จริงๆมันพลอยมีผลมาให้ไม่ยึดจิตด้วย แต่ต้องเข้าใจว่าไม่ยึดนี่มันไม่ยึดจริงๆ ไม่ยึดด้วยความเข้าใจ ไม่ยึดด้วยความรู้ ไม่ยึดด้วยความเห็นจริงๆว่ากายไม่ใช่ตัวตนกายไม่เที่ยง ส่วนใหญ่ที่เราไม่ยึดกายเราจะไปเห็นกายส่วนใดส่วนหนึ่งชั่วขณะ แล้วก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ของเรามันไม่เที่ยงเป็นชั่วขณะที่จิตมันปล่อยวางประเดี๋ยวประด๋าว ที่บอกว่ามันหันมายึดจิตลองสังเกตดูมันยึดตลอดเวลานั่นแหละ แต่เราเห็นอาการยึดของจิตชั่วขณะที่เราถามตัวเองว่า เมื่อไม่ยึดกายแล้วจิตยังมีอะไรให้ยึดต่อ? มันก็ยึดตัวเอง ยึดความคิด ยึดความรู้สึกที่มันปรากฏอย่างเข้มข้นในชั่วขณะนั้น เพราะจริงๆแล้วผมอยากจะพูดอย่างนี้ด้วยซ้ำว่า คนโดยปกติทั่วไปต่อให้ไม่เจริญสติก็ดูเหมือนกับไม่ยึดกายอยู่แล้ว ดูเหมือนกับว่านะ เพราะว่ากายลมหายใจมันแทบจะไม่ปรากฏ มันปรากฏแต่ความรู้สึกนึกคิด มันปรากฏแต่ความอยาก มันปรากฏแต่ความรู้สึกที่อาศัยอำนาจกิเลสบันดาลให้มันปรากฏ
ยกตัวอย่างเช่น ตื่นเช้ามาเราถามตัวเองก่อนเลยว่าอยากกินอะไร ตื่นเช้ามาเราถามตัวเองก่อนเลยว่าวันนี้จะไปไหนดี อาการแบบนี้มันเป็นอัตโนมัติ ตอนตื่นขึ้นมายังไม่ทันรู้สึกถึงกายด้วยซ้ำ บางครั้งมันมีความอยากต่อเนื่องมาจากในฝันแล้ว ถ้าฝันดีไม่อยากให้เป็นฝันเลยอยากให้เป็นของจริง นี่มันยังไม่ทันรู้สึกถึงกาย มันไม่ยึดกายอยู่แล้ว ตอนที่มันไม่รู้สึกถึงกายแต่พอเรามาเจริญสติ แล้วเริ่มที่จะเดินจงกรมหรือว่าดูลมหายใจอะไรก็แล้วแต่ เห็นว่าลมหายใจมันไม่เที่ยง แล้วมันเข้าๆออกๆตามการบันดาลของธรรมชาติได้นานๆจนจิตตั้งมั่น เห็นความไม่เที่ยงของกาย คือในส่วนของลมหายใจ ความรู้สึกว่ากายไม่เที่ยงมันจะเป็นไปอีกแบบหนึ่ง
จิตที่เป็นสมาธิ จิตที่มันมีความตั้งมั่นในการรับรู้ว่าลมหายใจไม่เที่ยง เดี๋ยวเข้าเดี๋ยวออก เป็นไปตามการบันดาลของธรรมชาติไม่ใช่การบันดาลของใคร ไม่ใช่เป็นสมบัติของเรา ตัวที่มันรู้มันเห็นอยู่ตลอดเวลาที่มันปล่อยวางกายอยู่ตลอดเวลา มันพร้อมที่จะเข้ามาดูทันทีว่าความรู้สึกสุขทุกข์ ณ ขณะนั้นมันก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน มันก็ไม่ใช่ตัวตนเหมือนกัน ภาวะของจิตที่สงบหรือฟุ้งซ่าน ณ ขณะนั้น มันก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน ต่อให้ความสงบมันอยู่ได้นานเป็นชั่วโมงๆถ้าหากว่าเราเห็นควบคู่กันไปกับลมหายใจเข้าออก มันจะเป็นไปพร้อมกัน มันจะทิ้งกายทิ้งใจพร้อมๆกัน แต่ที่บอกว่าเรายังรู้สึกว่าเรายึดจิตอยู่ บางทีมันอาจจะเป็นเพราะว่าเราเห็นเข้ามาที่ปฏิกิริยาทางใจที่ตอบสนองกับโลกอย่างชัดเจนเข้มข้น ในขณะเดียวกันเราเห็นกายมันสักแต่เป็นของกลวงๆของว่างๆชั่วขณะ เราก็เลยเข้าใจว่าเราไม่ยึดกาย แต่จริงๆเมื่อไรที่ถามตัวเองว่าลมหายใจมันเป็นอะไร เป็นของเราหรือเปล่า มันจะตอบเกือบทุกครั้งนะ ถ้านานๆทีถามทีมันจะรู้สึกทุกครั้งว่านี่ลมหายใจของเรา หายใจเข้าหายใจออกรู้สึกเลยว่าเป็นตัวเป็นตนของเรา เราเป็นผู้หายใจเราเป็นเจ้าของลมหายใจ
อันนี้ก็อยากให้ตั้งข้อสังเกต คืออยากให้เปลี่ยนมุมมองนิดหนึ่งที่บอกว่าเรารู้สึกว่ากายไม่ใช่เรา แต่จิตยังเป็นเราอยู่ จริงๆมันไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเสียทีเดียว สังเกตไปก็แล้วกันว่า อาการยึดที่เราเห็นที่มันเป็นก้อน ที่มันเป็นความรู้สึกอึดอัด ที่มันเป็นความรู้สึกว่าพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ใจเป็นสุข ความพยายามที่น่าอึดอัดนั้น มันก็สักแต่เป็นปฏิกิริยาทางใจ ไม่ต่างกับลมหายใจ ไม่ต่างกับสภาพทางกายที่เกิดขึ้นชั่วขณะหนึ่ง แล้วเดี๋ยวมันก็หายไป อย่าไปพยายามที่จะทำให้สภาพกิเลสมันไม่เกิดขึ้น หรือว่าไปพยายามกำหนดให้ความยึดมั่นถือมั่นในจิตมันหายไป มันเป็นไปไม่ได้ เราต้องค่อยๆดูไป และทุกครั้งที่ดูเห็นว่าสภาวะทางกายทางใจไม่เที่ยง ทุกครั้งเลยที่เราเห็นว่ามันไม่เที่ยง อาการยึดมันจะน้อยลงเอง จิตมันจะคลายออกมาจากอุปาทานว่ากายใจเป็นตัวเป็นตนของเราไปเองนะครับ
๓) เราจะให้คำปรึกษาเพื่อนที่มีปัญหาเรื่องความรักอย่างไรไม่ให้กรรมมาผูกกับเราแทน?
มันก็ไม่มาผูกอยู่กับเราอยู่แล้ว ถ้าหากใจของเราไม่ไปข้อง ถ้าหากว่าใจของเราไม่ไปเหมือนกับมีความติดใจ เหมือนอย่างพระสงฆ์องค์เจ้า สาวก พระตถาคต หรือแม้แต่พระพุทธเจ้าเอง ท่านก็ให้คำตอบกับผู้ที่มีความทุกข์ในเรื่องความรัก แต่ด้วยเจตนาที่จะแก้ทุกข์ ด้วยเจตนาที่จะให้ใจของผู้มีความทุกข์จากรักได้คลายออกจากอาการยึดมั่นถือมั่น ถ้าเราตั้งเข็มทิศไว้อย่างนี้ว่าเราจะช่วยเขาเพื่อให้คลายออกจากอาการยึดมั่นถือมั่น เราไม่มีทางหลงเข้าไปสู่วังวนของความทุกข์อันเกิดจากกรรมเกี่ยวกับกรรมทางความรักที่เราวิตกไป
คำถามนี่อาจจะมาจากความกังวลที่ว่า ถ้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของความรักมันจะมีกรรมไปผูกไปข้องเกี่ยว ความพิศวาสหรือว่าเรื่องของวิถีโลกอะไรต่างๆ การที่เรามีเพื่อนซึ่งเขาเห็นว่าเราเป็นฆราวาสอยู่ แล้วเราก็ยังไม่ได้ประกาศตัวที่จะแยกออกจากวงการทางโลก ยังไม่ได้เป็นผู้ที่ถือศีล ๘ ทุกวัน ยังไม่ได้เป็นผู้ที่นุ่งขาวห่มขาวเตรียมพร้อมที่จะสละโลก ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องมีการคุยกันกับเพื่อนทางโลก หรือว่ามีการช่วยเหลือ ถ้าหากว่าเรามีเจตนาจะให้ใจเขาคลายจากความทุกข์ความยึดมั่นผิดๆมันก็เป็นบุญด้วยซ้ำ
อันนี้คือขอบเขตของคำถามก็ไม่ได้บอกมาว่าคำถามเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาปัญหาเรื่องความรักออกแนวไหน คือจะเลือกแฟนแบบไหนดี หรือว่าเราจะเอาเขาหรือไม่เอาเขาดี ถ้าเป็นในกรณีที่เราช่วยเพื่อนเลือกแฟนว่าคนนี้ดีหรือไม่ดี ถ้าเจตนาของเราบอกจาระไนลักษณะของผู้ชายดีๆที่จะพาให้ผู้หญิงมีความสุขได้ ยกตัวอย่างเช่น ไม่เจ้าชู้มีใจเดียว แล้วก็มีจุดมุ่งหมายของชีวิตชัดเจนว่าจะทำอะไร ว่าจะเป็นอะไร แล้วก็มีลักษณะของความเป็นผู้นำที่ไม่ใช่โลเลไปโลเลมา เราก็โลเลอยู่แล้วเขามาช่วยโลเลอีก กับแค่จะเลือกไปดูหนังสักเรื่องหนึ่งก็คิดกันอยู่นั่นแหละ ๑๐ นาทีพูดกันซ้ำไปซ้ำมาว่าจะเอาเรื่องไหนดี แบบนี้ก็บอกเขาว่าลักษณะผู้ชายแบบนี้นำผู้หญิงไม่ได้ มันไม่สามารถทำให้เราเกิดความระงับจากความว้าวุ่นได้ มันจะมาเพิ่มความว้าวุ่นให้ชีวิตเราเปล่าๆ คือแนะนำแบบนี้มันไม่มีหรอกที่จะเป็นไซด์เอ็ฟเฟ็กต์ มาทำให้เราเกิดทุกข์ในทางใดทางหนึ่ง หรือว่าจะต้องมีพันธะจะต้องผูกกรรมกับอะไรที่มันไม่พึงประสงค์นะครับ
๔) การรู้ลมเข้าออก ลมสั้น ลมยาว ทำอย่างไรจึงจะไม่รู้สึกเหมือนเป็นการบริกรรม?
วิธีง่ายที่สุดก็คือให้อยู่กับลมหายใจในระหว่างวัน ฝึกแบบที่เราจะเอาเบสิคก่อน การฝึกแบบเอาเบสิคคือการไม่หลับตา แล้วก็เหมือนกับรู้ไปธรรมดาๆว่านี่กำลังหายใจเข้าหรือหายใจออกอยู่ ท้องมันพองอยู่หรือว่าท้องมันยุบอยู่ เอาตามจริง เอาตามเนื้อผ้า เอาตามที่มันปรากฏอยู่ โดยลักษณะเฉพาะของเรานี่แหละ ถ้าหากว่าเราสามารถรับรู้ในระหว่างวันได้ว่า นี่กำลังหายใจเข้านี่กำลังหายใจออกอยู่ได้เรื่อยๆ จนเกิดความรู้สึกว่าเราชินที่จะรู้สึกขึ้นมาเองว่านี่กำลังหายใจเข้านี่กำลังหายใจออก มันก็จะค่อยๆเห็นขึ้นมาในลักษณะปลีกย่อยเช่นว่า ครั้งนี้หายใจยาวเพราะว่าร่างกายมันต้องการลมมากกว่าเมื่อครู่นี้ ครั้งนี้หายใจสั้นลงเพราะว่ารู้สึกในอกมันอัดเต็ม มันเหมือนกับลมมันเข้าไปอัดแน่นไม่มีพื้นที่ใหม่ให้กับลมระลอกอื่น มันจะเห็นไปเรื่อยๆโดยที่เรายังไม่ต้องตั้งใจให้มันเป็นสมาธิหรือว่ามีความสงบอะไรขึ้นมาทันทีทันใดหรอก แต่พอสะสมเบสิคของการรู้สึกถึงลมหายใจในระหว่างวันไปเรื่อยๆแล้ว มันจะมีผลใหญ่หลวงเลยตอนที่เรานั่งสมาธิเป็นเรื่องเป็นราว มาหลับตา มาอยู่ในห้องพระอยู่หน้าโต๊ะหมู่บูชา หรือว่าจะทำในห้องนอนก็แล้วแต่ เราจะไม่รู้สึกเลยว่านี่เป็นการบริกรรม นี่เป็นการนั่งสมาธิ นี่เป็นการทำอะไรที่ผิดแปลกเป็นพิเศษ เพราะเราชินแล้วกับการเห็นลมหายใจที่เข้าออกตามปกติ
เวลาที่พระพุทธเจ้าสอนอานาปานสติ ท่านย้ำคำนี้มากๆเลย ตอนที่ท่านสอนสติปัฏฐาน ๔ ท่านจะย้ำคำนี้ว่า ดูตามที่มันปรากฏอยู่เป็นปกตินั่นแหละ ที่มันกำลังปรากฏให้ดูตามปกตินั่นแหละ ไม่ต้องไปพยายามทำอะไรให้มันพิเศษขึ้นมา อย่างคนไทยบางทีไปสอนเรื่องว่าให้บริกรรมกำกับหรือว่านับ ๑...๒...๓ หรือว่าดูว่ากระทบกับจะงอยจมูกที่ไหน โพรงจมูกตอนไหน ตรงไหนอะไรต่างๆมันเลยเกิดการสังเกตมากเกินไป ตั้งใจสังเกตมากเกินไป กลายเป็นการเพ่งให้ใจไปรับรู้อยู่ในจุดแคบๆที่มีการสืบคำสอนกันมา ซึ่งบางทีบางคนบังเอิญตั้งจิตไว้ถูก จิตอยู่ที่อิริยาบถก่อนมันก็อาจจะประสบความสำเร็จ แต่ส่วนใหญ่มันจะพุ่งเป้าไปแคบๆเล็กๆ แต่ทีนี้ถ้าเราใช้การสังเกตลมหายใจในระหว่างวัน จิตมันจะไม่แคบ เพราะมันจะรู้สึกถึงลมหายใจตามปกติไป
เอาล่ะครับเหลือแค่ ๑๐ วินาที ราตรีสวัสดิ์ ขอให้เจริญในธรรมทุกท่านครับ
« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น