วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๕๕ / วันที่ ๒๕ พ.ค. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันศุกร์ที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง เพื่อจะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการนะครับ ให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/HowfarBooks

วันนี้ก็วันศุกร์ คิดว่าหลายๆท่านคงอาจจะมีความสุขพอสมควรนะครับที่พรุ่งนี้จะได้หยุดงาน ถ้าใครต้องทำงานวันเสาร์ก็ทำไปอีกวันหนึ่งแล้วก็หยุดกัน



๑) เมื่อก่อนเวลาเจอเหตุที่ทำให้เป็นทุกข์จะชอบคิดว่าผลที่ได้รับนี้เกิดจากเหตุไม่ดีที่เคยทำไว้ ก็คิดแบบนี้ไปเรื่อยๆแล้วรู้สึกไม่ค่อยดี พาลทำให้น้อยเนื้อต่ำใจ แต่พอฟังเหตุผลที่พี่ตุลย์บอกให้พิจารณาถึงความไม่เที่ยง ตอนนี้เวลาพบกับเหตุที่เป็นทุกข์หรือสุขก็จะคิดว่ามันเป็นของไม่เที่ยง เราไม่ได้ทุกข์หรือสุขในเรื่องนั้นๆตลอดไป เพื่อทำให้เลิกคิดซ้ำๆในเรื่องที่เป็นทุกข์ หรือหลงใหลกับความสุขได้ในระดับหนึ่ง คำถามคือถ้าพิจารณาความไม่เที่ยงไปเรื่อยๆ ความคิดนี้จะส่งผลต่อเราอย่างไร? เช่นทำให้เราเบื่อหน่ายการเวียนว่ายตายเกิดได้หรือไม่?

การคิดถึงความไม่เที่ยง ถ้าหากว่าทำเป็นประจำจริงๆมันกลายเป็นสติได้เหมือนกัน ตัวสตินี่ ที่มันจะเกิดหรือไม่เกิดนี่นะ เราดูตรงที่ความสามารถในการระลึกได้ แล้วรู้สึกถึงความเป็นเช่นนั้นเป็นปกติได้หรือเปล่า ถ้าหากว่าเราคิดถึงความไม่เที่ยงว่า เออ!ไอ้ความสุขแบบนี้ เดี๋ยวมันก็จะผ่านไป แล้วเราเกิดความสลดใจ ไม่ยึดติดกับความสุขนั้นมากเกินไปก็ถือว่าได้มีสติขึ้นมาแล้วระดับนึง สลดใจในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเราหมดความสุขนะครับ ไม่ใช่เปลี่ยนเป็นความทุกข์ไปแทน คำว่าสลดใจหรือสลดสังเวชนี่ ในความหมายที่แท้จริงคือเกิดความรู้สึกว่าไม่น่ายึดมั่นถือมั่น เห็นว่าโอ้!มันเป็นแค่อะไรอย่างหนึ่งที่ผ่านมาแล้วผ่านไป แต่เราก็เสพสุขอยู่อย่างนั้น ความรู้สึกเป็นสุขไม่ได้หายไปไหน แต่ความรู้สึกเหมือนสลดสังเวชมันเพิ่มเข้ามา มันมีความไม่อยากจะไปเอาอะไรกับมันมาก หรือว่าไม่ได้อยากจะยื้อไว้ให้มันนานๆหรืออยู่กับตัวเราตลอดไป คือมันมีความตระหนักขึ้นมาว่าความสุขจะสุขแค่ไหนนี่ ในที่สุดมันก็หายสุข แต่ถ้าหากว่าเราคิดมากๆจนกระทั่งเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่ามันไม่เที่ยง นี่เรียกว่าเป็นการปลุกอนิจสัญญาด้วยการคิด ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เกิดสมาธิจิตตั้งมั่นถึงขั้นจะเกิดมรรคเกิดผลได้ แต่ก็จะเป็นพื้นฐานจะเป็นปัจจัยให้เกิดความมีปัญญาแบบพุทธ เกิดพุทธิปัญญาขึ้นมาได้ในที่สุดเช่นกันนะครับ

คือการเบื่อเวียนว่ายตายเกิดไม่ใช่ทำกันง่ายๆนะครับ ไม่แค่ไปปลงจากความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ชั่วขณะที่เกิดขึ้น จะต้องเห็นเข้ามาตลอดทั่วทั้งสภาวะทุกสภาวะในกายในใจนี้ คำว่าทั่วในที่นี้ไม่ได้หมายว่าเก็บทุกเม็ดนะ ไม่ได้หมายว่าเราจะต้องเห็นกระดูกชิ้นนั้นชิ้นนี้ซะก่อน เราจะต้องเห็นลมหายใจอยู่ตลอดเวลา หรือว่าเราจะต้องเห็นตับไตไส้พุงอะไร หรือความสุขความทุกข์แบบไหนๆให้มันครบถ้วนซะก่อน ไม่ใช่ถึงขนาดนั้น ไม่ได้เก็บขนาดนั้น แต่หมายความว่าความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์หรือว่าภาวะทางกายทางใจอย่างไรที่เคยล่อให้เราหลงติดหลงยึดหรือเกิดอุปาทานได้นะครับ เราเห็นหมดว่ามันไม่เที่ยง นี่แค่นี้เพียงพอที่จะบรรลุมรรคผล

แต่ถ้าหากว่าพิจารณาความสุขความทุกข์โดยความเป็นของไม่เที่ยงผ่านความคิด คิดแต่ละครั้งที่เกิดความสุขหรือความทุกข์ที่มันโดดเด่นขึ้นมา คิดว่ามันไม่เที่ยง มันไม่เที่ยง ในที่สุดมันเกิดเป็นความเห็นขึ้นมาจริงๆว่าความสุขความทุกข์นี่มันเปลี่ยนได้ ตอนที่เราคิดเป็นการจูงจิตเหนี่ยวนำจิตให้เข้าไปรู้เข้าไปเห็นความจริงระดับหนึ่งแล้ว ถึงแม้ว่าเรากำลังสุขมากแล้วเราคิดว่าความสุขนี้ไม่เที่ยง ความสุขนั้นยังไม่ได้ผ่านไปแต่เดี๋ยวนึงมันก็ต้องผ่านไปจริง แล้วตรงที่มันผ่านไปแล้วนั่นแหละมันจะเตือนให้เราเกิดความระลึกขึ้นมาได้ เออมันไม่เที่ยงจริงๆ นี่ก็สรุปก็คือว่าเราจะได้นิสัย ได้ปัจจัยไปเป็นทุนให้เกิดพุทธิปัญญา แม้ว่าจะไม่ถึงระดับที่จะตั้งมั่นมากพอจะเกิดสัมมาสมาธิ เกิดมรรคเกิดผลขึ้นมาได้ แต่ก็จะเป็นบันไดขั้นแรกๆ นำไปสู่มรรคผลเช่นกันนะครับ ถ้าหากว่าสะสมอนิจสัญญา ความหมายมั่นความหมายรู้ว่าอะไรอะไรไม่เที่ยงไปเรื่อยๆจนกระทั่งเกือบจะสิ้นชีวิตนี่นะครับ ก็มีสิทธิ์เป็นไปได้เหมือนกันที่ก่อนตายจะไปรวมเกิดความรู้สึกว่าชีวิตนี้ไม่เที่ยง และไม่อยากยึดมั่นถือมั่น อาจบรรลุมรรคผลได้ถึง ในขณะนั้น

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ด้วยว่า จิตก่อนตายมีความหนักแน่นมีประโยชน์มาก ถ้าหากว่าทำให้จิตก่อนตายโน้มน้อมไปทางไหนก็จะไปบรรลุสภาพที่มันสอดคล้องกันแบบนั้นแหละ อย่างตอนพระสารีบุตรท่านไปโปรดลูกศิษย์ท่านที่เป็นพราหมณ์ คือลูกศิษย์ท่านนับถือท่านเป็นส่วนตัว ไม่ได้นับถือท่านเพราะว่าท่านเป็นภิกษุในพุทธศาสนา พราหมณ์นั้นก็ได้มีความยินดีในภพของพรหม เป็นผู้ที่มีความอาลัย เป็นผู้ที่มีความใยดี เป็นผู้ที่มีความมุ่งหมายที่จะไปรวมกับพระพรหมตามความเชื่อแบบพราหมณ์ พอท่านพราหมณ์นี้ใกล้จะสิ้นชีวิตก็ให้คนไปนิมนต์พระสารีบุตรมา เพื่อที่จะมาโปรดเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่เขาจะสิ้นชีวิตจากโลกนี้ไป พระสารีบุตรท่านก็เห็นว่าพราหมณ์นี้มีความศรัทธาในพรหม ก็เลยสอนให้แผ่เมตตาว่าการแผ่เมตตาไปยังทิศทั้งสี่ จนเกิด ‘อัปปมัญญาสมาบัติ’ จะเป็นเหตุให้เข้าถึงพรหมอย่างแท้จริง คือตลอดชีวิตมาพราหมณ์ผู้นี้ไม่เคยทำสมาธิได้ถึงฌานเลยนะ แต่พอพระสารีบุตรมาไกด์ให้ก่อนตาย ว่าให้แผ่เมตตาไปตามทิศนั้นทิศนี้ ให้มีความกรุณา ให้มีความมุทิตา ให้มีความอุเบกขา แล้วจิตก็เกิดความตั้งมั่นระดับฌานเข้าถึงพรหมได้จริงๆเหมือนกัน นี่เป็นตัวอย่างว่าขนาดคนไม่เคยได้ถึงฌานเลยชั่วชีวิต แต่พอมีคนไปไกด์ให้แผ่เมตตาได้อย่างถูกทางก่อนสิ้นใจก็เข้าถึงพรหมภูมิได้ แต่พอพระพุทธเจ้าท่านทราบความ คือท่านรู้ของท่านเองมีพระญาณ ท่านก็เรียกพระสารีบุตรมาตรัสตำหนิเลยนะ ตรัสตำหนิต่อหน้าภิกษุจำนวนมากบอกว่าเธอส่งพราหมณ์ไปแค่พรหมโลกเองหรือ จริงๆแล้วส่งไปได้มากกว่านั้น ท่านก็ตรัสเป็นนัยๆว่าไปได้ถึงนิพพานทำไมไม่ส่ง พระสารีบุตรก็ทูลตอบไปว่าเห็นพราหมณ์อยากไปพรหมโลกก็เลยสงเคราะห์ คือมีความติดใจมีความยินดีอยู่ คือท่านด้วยญาณของพระสารีบุตรเห็นว่าพราหมณ์น่าจะไปได้แค่พรหม ก็ไม่นึกว่าจะไปถึงนิพพานได้ จริงๆพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่าถ้าไกด์อีกนิดนึงให้ปล่อยวาง ก็ไปได้ถึงนิพพานเลย

อันนี้ก็เล่าไว้เป็นเกร็ดว่าถึงแม้ระหว่างมีชีวิตเราจะทำสมาธิยังไม่ได้ถึงไหน แต่ถ้าหากสะสมอะไรไปมากๆแล้วก็ไปรวมกัน ณ ขณะที่ใกล้จะสิ้นชีวิต ก็มีสิทธ์ที่จะบรรลุถึงภาวะที่สอดคล้องกัน แต่ถ้าหากเราเห็นอนิจจังไว้ระหว่างมีชีวิตมากๆก็จะไปได้รางวัล ไปได้ผลรวมเอาตอนทีจิตมีความหนักแน่นที่สุดในชีวิตคือใกล้ตายนั่นแหละ ใกล้ตายจะรวมเอาสิ่งที่เราผูก เรายึด เราโยง เรามีความเยื่อใย หรือเรามีการพิจารณาไว้มากที่สุดในชีวิต มารวมให้เกิดผลรวมแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดนะครับ

สรุปง่ายๆถ้าหากว่าคิดๆไปเรื่อยๆว่าอะไรไม่เที่ยง ไม่ต้องกลัวว่าความสุขมันจะหายไป เรายังเสพสุขได้เต็มที่แหละ แต่ว่ามันมีความรู้อยู่ มีความเห็นอยู่ ว่าความสุขชนิดนี้ ที่กำลังเสพ จะสนุกแค่ไหน จะมีความปลาบปลื้มยินดีแค่ไหน ในที่สุดแล้วเดี๋ยวมันจะต้องหายไป เดี๋ยวมันจะต้องเปลี่ยนไป เรียกว่าเป็นการสะสมอนิจสัญญา



๒) เป็นคนที่ชอบอ่านและฟังธรรมะมากๆฟังได้ทุกวัน เพราะทำให้สงบเยือกเย็น สุขใจ และเป็นชีวิตจิตใจเลย คือถ้าสบโอกาสหรือมีเวลาก็จะรีบฟัง หรืออ่านทันทีขาดไม่ได้ ถ้าวันไหนขาดธรรมะก็ดูเหมือนส่วนหนึ่งในชีวิตขาดหายไปเลย แต่เสียงที่ฟังไม่ได้รบกวนคนอื่น ทางโลกก็ยังมีและพูดคุยเฮฮากับคนอื่นได้ปกติ

อยากถามว่าอาการแบบนี้เรียกว่าหลงธรรมะเกินไปหรือเปล่า? และอาการหลงธรรมะเป็นอย่างไร? อยากรู้ให้แน่ชัดว่าผิดปกติเกินไปหรือเปล่า? และยึดติดผิดๆจริงไหม? จะได้แก้ไขตนเองทัน

แต่ละคนมีพื้นฐานปัจจัยและก็มีความสามารถที่จะรับบุญรับกุศล หรือว่าเสพแสงสว่างทางธรรมแตกต่างกัน มันเป็นเรียกว่าอัธยาศัย คือจะไปกะเกณฑ์ว่าแค่นั้นแค่นี้ถึงจะเหมาะมันอาจจะดูเป็นการไปกำหนดตายตัวเอาตัวต้นแบบแค่หนึ่งเดียวมาเป็นตัวแม่แบบให้กับคนทั้งโลกคงไม่เหมาะ แต่ถ้าหากว่าจะเอาหลักเกณฑ์ว่าเราโอเวอร์เกินไปหรือเปล่า หรือหลงใหลมากเกินไปหรือเปล่า ติดมากเกินไปจนเกิดผลเสียหายหรือเปล่า ก็ให้พิจารณาดังนี้

ข้อแรก เราดูว่าเมื่อหลงธรรมะ เมื่อหลงใหลเมื่อติดใจในการฟังธรรมะแล้ว มันเสียงานหรือเปล่า ถ้าหากว่าเสียงานนี่เรียกว่ามันมากเกินไป

ข้อสอง ดูว่ามันเสียเวลาที่จะเอาไปเจริญสติจริงๆหรือเปล่า เพราะธรรมะนี่สุดท้ายมันก็เป็นตัวชี้ ตัวพอยต์เตอร์ ที่จะนำเรามาสู่การเจริญสติของจริง ถ้าหากว่าเรามีการเจริญสติ ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเอามรรคเอาผลอย่างเดียวนะ แต่มีสติอยู่ในชีวิตประจำวัน เห็นเวลาที่โกรธ เห็นเวลาที่เกิดความโลภ เห็นเวลาที่เกิดความคิดอะไรผิดๆได้ นี่เรียกว่าสติเจริญขึ้นแล้ว ถ้าหากว่าเราเอาแต่ฟังธรรมะแต่ไม่ได้เอามาใช้เจริญสติจริงๆเลย นี่เรียกว่าหลงติดในการฟังแบบเปล่าประโยชน์ คือได้แค่ปัญญา ได้แค่บุญในระดับของการฟัง แต่ไม่ได้เอามาใช้จริงที่จะก่อให้เกิดกรรมของตัวเอง กรรมที่เกิดการคิด การพูด การทำ ถ้าหากว่าเรามีพฤติกรรมที่มันสอดคล้องกับธรรมะที่เราฟังอันนี้เรียกว่าไม่ได้หลงมากเกินไป ไม่ได้โอเวอร์เกินไปนะครับ

สรุปก็คือ ถ้าหากว่าจะอ่านและจะฟังธรรมะก็ให้ดูตัวเองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตจริงๆของเรา มันสอดคล้องกับสิ่งที่เราอ่านสิ่งที่เราฟังหรือเปล่านะครับ



๓) ทำอย่างไรที่จะพยายามเอาสติตามจิตให้ทัน? คิดว่าใจเย็นได้แล้วแต่พออะไรมากระทบก็โกรธง่ายได้อีก

อย่าไปตั้งสเปคไว้อย่างนั้น ว่าใจเย็นแล้วจะไม่โกรธหรือว่าโกรธยากนะ จำไว้เป็นคีย์เวิร์ดดีๆนะ คนใจเย็นไม่ใช่คนที่โกรธยาก โกรธได้ยากเสมอไปนะ คนใจเย็นโกรธง่ายก็ได้ คือมันเป็นนิสัยเก่าน่ะ มันเป็นความอ่อนไหวทางจิตที่ยังไปไม่ถึงจุดที่ความโกรธจะไม่เกิดขึ้น ก็อย่าไปกะเกณฑ์ว่าใจเย็นแล้วแปลว่าต้องโกรธยาก ใจเย็นโกรธง่ายก็ได้ แต่โกรธง่ายแล้วเรามีท่าทีอย่างไร มีปฏิกิริยาทางสติอย่างไร นั่นแหละ ตรงนี้แหละที่เราควรจะพูดถึงกัน

เมื่อโกรธง่ายขอให้คิดอย่างนี้นะ ขอให้จำไว้เลยนะ ถ้าโกรธง่ายนะขอให้คิดว่า ดีเราจะได้ฝึกสติได้ง่ายๆเช่นกัน คือถ้าโกรธยากก็ไม่รู้จะเอาสติไปฝึกกับความโกรธแบบไหน นานๆมันถึงจะโกรธที สติที่จะเอามารู้ความโกรธนี่ก็เลยไม่เกิดขึ้นไปด้วย เกิดขึ้นยากตามไปด้วย แต่ถ้าโกรธง่ายก็แสดงว่าเราฝึกสติในขณะโกรธได้ง่าย แล้วตัวที่จะนำให้เราเข้ามาเห็นส่วนของนามธรรม คือสภาพทางใจ สภาพปรุงแต่งทางใจ ไม่มีอะไรที่มันเห็นได้เร็วเห็นได้ง่ายไปกว่าความโกรธแล้ว อย่างตอนที่เราเกิดความโลภ หรือว่าเกิดราคะ เกิดโมหะ แบบนี่นี่บางทีมันยาก เพราะตอนเกิดราคะใจมันก็จะพุ่งไปยึดไอ้สิ่งที่ชอบใจ คำว่าราคะนี้ไม่ได้หมายถึงกามราคะอย่างเดียว อย่างเวลาที่เราดูมิวสิกวิดีโอหรือว่าดูละครอย่างนี้เกิดราคะแล้ว ราคะทางตา ราคะทางหู ราคะทางจินตนาการ คือบางทีมันเข้าไปหลงยึดเต็มๆ เต็มเหนี่ยวเลยว่าเรามีส่วนร่วมอยู่ในละคร อย่างนี้เรียกว่าเกิดราคะ เรียกว่าเกิดความยินดี ซึ่งจะให้ไปพิจารณาอะไรในขณะที่เกิดราคะนี่มันยากนะเพราะใจมันไม่ยอม มันติดไปแล้วมันหลงไปแล้ว หรือว่าในขณะที่เราเกิดโมหะ อย่างเกิดความหลงตัว มีดีกว่าเขา หรือแย่กว่าเขา หรือว่ามีความคิดอะไรผิดๆขึ้นมา ใจมันจะเข้าไปรวมอยู่กับไอ้ความรู้สึกผิดๆหรือว่าความรู้สึกหลงยินดีในตัวในตน จนเกินกว่าจะมาพิจารณาธรรมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เราเริ่มฝึกเจริญสติใหม่ๆ ราคะกับโมหะเป็นอะไรที่ยากจริงๆกับการเอามาเป็นแบบฝึกหัด แต่ความโกรธนี่ทุกคนรำคาญตัวเองอยู่แล้วเมื่อโกรธ ความโกรธนี่เป็นสิ่งที่ทุกคนอยากให้มันออกไปจากจิตใจอยู่แล้วเหมือนกับคนที่ไม่อยากอยู่ในห้องร้อน ไม่อยากที่จะอยู่ในฤดูร้อน โดยเฉพาะเดือนเมษาวันที่ปลายๆเดือนนี่นะ ยี่สิบปลายๆนี่ ไม่มีใครอยากอยู่ร้อน ความโกรธจึงเป็นสิ่งที่มนุษย์เราเมื่อเริ่มเจริญสติน่าเอามาใช้มากที่สุด เพราะเราไม่หวงมันไว้อยู่แล้ว เราหวงราคะ เราหวงโมหะ แต่เราไม่หวงโทสะ อยากให้มันหายไปทุกคน อยากให้มันสาบสูญหรือว่าไม่เกิดขึ้นอีกเลย แต่มันเป็นไปไม่ได้ แล้วเมื่อมันเป็นไปไม่ได้เราก็เอามันมาใช้ประโยชน์ซะ

เวลาที่เราใจเย็นนี่นะ พอเราใจเย็นลงแล้วประโยชน์อย่างยิ่งก็คือว่า ประโยชน์ของมันไม่ใช่ไม่ทำให้ความโกรธไม่เกิด แต่ประโยชน์ของความใจเย็นคือการที่เราจะเห็นความโกรธได้ง่าย เพราะมันแตกต่างไง ตอนแรกเย็นอยู่แล้วเพิ่มอุณหภูมิขึ้นมาเป็นร้อนมันมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน สติไม่ต้องไปเพ่ง ไม่ต้องไปพิจารณาอะไรมันสามารถเห็นได้เลยว่าความร้อนเกิดขึ้น และประโยชน์อีกประการของความใจเย็นก็คือคุณจะพบว่าความร้อนมันตั้งอยู่ได้ไม่นาน เหมือนกับไฟไม่สามารถที่จะสู้กับน้ำกลุ่มใหญ่ได้ ถ้าหากน้ำมีกำลังมากกว่าไฟสิบเท่า ดับฟึ้บเดียว เพียงด้วยการสาดทีเดียว แต่ทีนี้เราไม่ได้ตั้งใจที่จะไปดับไฟนะ เราตั้งใจที่จะดูไฟมันมอดไปเอง แล้วคนใจเย็นจะเห็นว่าไฟมันมอดเร็ว แค่ดูนิดเดียว ขอให้มีสติเหอะ ขออย่าเผลอไปปรุงแต่งตามสิ่งยั่วยุที่มากระตุ้นให้โกรธ เราจะรู้สึกขึ้นมาว่า เอ้อ ตอนแรกใจเย็นอยู่ มีอะไรมากระทบ ปัง เอ้า ไฟลุกพรึบ เสร็จแล้วไอ้พรึบนั้นมันเหมือนไฟไหม้ฟาง เราจะรู้สึกเลยว่าความใจเย็นนี่ทำให้ไฟโกรธเปรียบเสมือนไฟไหม้ฟาง และประโยชน์อย่างยิ่งที่เราเห็นไฟไหม้ฟางคืออะไร พอรู้สึกหลายๆทีขึ้นมา มันรู้สึกขึ้นมาเป็นจริงเป็นจัง ว่าความโกรธไม่ใช่ตัวเรา มันเหมือนไฟที่ลุกพรึบขึ้นมาแล้วแป็บเดียวก็หายไป ความใจเย็นไม่ใช่ไม่มีประโยชน์ และความใจเย็นไม่ใช่เอาไว้ป้องกันไม่ให้ความโกรธเกิดขึ้น ไม่ใช่นะจำไว้ดีๆเลย หรือแก้ไขภาพลักษณ์เกี่ยวกับความใจเย็นใหม่เลย เราเอามาใช้เจริญสติต่างหาก เราจะเห็นได้ง่ายขึ้นต่างหาก



๔) ทำอย่างไรถึงจะกันคุณไสยได้? คุณไสยจะสามารถเข้าตัวคนได้ทุกคนไหม? พอดีดูเรื่องบ่วงมากไปหน่อย

บ่วงละครหลังข่าวใช่ไหม :D

คุณไสยนี่จริงๆก็เหมือนกับอารมณ์ครอบงำ คิดง่ายๆอย่างนี้แล้วกัน เอ้า!เปรียบเทียบนะ อย่างเวลาที่เราหลงใครมากๆก็ไม่ต่างกันกับโดนทำเสน่ห์ยาแฝด อาการมันจะประมาณคล้ายๆกัน ทุรนทุราย อยู่นิ่งไม่ได้ มันจะนอน จะลุก จะนั่ง มันมีแต่จินตนาการภาพคนที่เราไปติดเราไปหลงเราไปยึด ใจเรามันเข้าไปแปะอยู่ แกะไม่ออกหรือเวลาที่เราโกรธใครมากๆเกิดความพยาบาทอยากที่จะล้างแค้น มีความอาฆาตเหลือเกิน ทนไม่ได้ใจมันร้อนเหลือเกิน มันก็ไม่ต่างกับโดนคุณไสยแบบที่เขามีคุณไสยแบบนึงที่จะยุให้แตกกันหรือว่าเกลียดกันอะไรทำนองนี้

ไม่ว่าจะเป็นคุณไสยแบบดูดเข้าไปติด หรือว่าผลักให้แตกแยกกันมันก็คืออาศัยกิเลสของเรานั้นแหละ ตัวราคะนั่นแหละ ตัวโทสะนั่นแหละ ถ้าหากว่าไม่มีตัวราคะ ไม่มีตัวโทสะ อันนั้นเป็นพระอรหันต์แล้วคุณไสยก็ไม่สามารถทำอะไรได้ แต่ถ้าคนทั่วไปนี่ก็พูดตามหลักของชาวบ้าน จะเรียกอะไรดี ก็มีความเชื่อแบบหนึ่ง อย่างทางโหราศาสตร์ก็บอกว่า คนเกิดฤกษ์แบบหนึ่ง คุณไสยจะเข้าไม่ได้ ดวงแข็งอะไรแบบนั้น คือในความหมายก็ประมาณว่ากรรมเก่ามาดี รักษาศีลไว้ดี ไม่เคยทำร้าย ไม่เคยเบียดเบียนใคร ก็จะมีดวงแข็ง คือเส้นทางของชีวิตมีความแน่นอนว่ามีจะแต่ความสว่าง มีแต่ความเจริญ ยิ่งชาตินี้ถ้าหากว่ามาต่อยอดอีก มีความกตัญญูรู้คุณต่อพ่อแม่ครูบาอาจารย์ แล้วก็มีแต่ความคิดดีๆต่อคนอื่น ไม่เคยคิดที่จะอยากไปเบียดเบียนใคร อย่างนี้นี่ ก็จะเหมือนมีรัศมี มีเกราะกำบัง มีเกราะแก้ว ที่จะปกป้องคุ้มตัว ไม่ให้คุณไสยเล่นงานได้ คุณไสยมาก็แพ้ คือแพ้ดวง ดวงมันจะไม่ให้ตกต่ำ ดวงมันจะไม่ให้เป็นอันตราย พวกเล่นคุณไสยเขาถึงมีการเช็คว่าเมื่อไหร่ดวงตก เขาถึงจะทำกัน ประมาณว่ารอให้ดวงตกเสียก่อนอะไรแบบนั้น

คือเอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ไม่ว่าเราจะเข้าข่ายเป็นผู้ที่จะต้องถูกเบียดเบียนเพราะเคยไปเบียดเบียนคนอื่นเขาไว้ หรือว่าเราจะมีสิทธิ์โดนคุณไสยอะไรหรือเปล่านี่ ก็ให้มองก็แล้วกันว่า ถ้าใจของเรายึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ไว้เป็นหลักบ้าง เป็นที่มั่นเป็นที่ตั้งของใจ และสวดอิติปิโสทุกๆวัน เพื่อที่จะเตือนให้ใจไม่ลืมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วก็รู้ว่าศักดิ์สิทธิ์มีคุณวิเศษอย่างไร มีค่ามีความหมายกับชีวิตของเราอย่างไร ใจที่มีความเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์คือพระรัตนตรัยด้วยความบริสุทธิ์นั้นแหละ ก็จะไปดึงเอากระแสพลังพุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณ เข้ามาปกป้องตัว โดยไม่ต้องอัญเชิญ ถ้าหากว่าสวดมนต์แบบที่จะต้องไปอัญเชิญเอาพระคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เข้ามาประทับที่นั่นที่นี่ในร่างกายนี่ อันนั้นเป็นคุณไสยชนิดหนึ่งนะเป็นคุณไสยขาว แต่ถ้าหากเจริญพุทธมนต์จริงๆคือมีแต่การสรรเสริญ หรือจาระไนว่าที่เป็นเทวดาได้เพราะเหตุแบบนั้น แบบนี้ ด้วยกุศลสว่างประมาณนั้นประมาณนี้ อย่างนี้เรียกว่าเป็นการสวดมนต์แบบพุทธ เป็นการเจริญพุทธมนต์แบบพุทธ ไม่ใช่ไสยศาสตร์ และการเจริญพุทธมนต์แบบพุทธก็เป็นการเรียกเอาเกราะแก้วมากำบังตัว หรือพลังที่มีความศักดิ์สิทธิ์มาเข้าตัวได้มากที่สุด เพราะว่าเจตนาที่เราสรรเสริญออกไปมีแต่เมตตาที่รินออกไป มีแต่ลักษณะของความรู้สึกเป็นสุข มีแต่ลักษณะของความรู้สึกแผ่ออกไป แผ่ออกไปให้ ไม่ใช่ดึงเอาเข้าตัว ด้วยเหตุนี้นะก็จะทำให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์กลมกลืนกับเรา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนามีความกลมกลืนกับจิตของเรา เพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนาจะสนับสนุนให้เราสร้างพลังคุ้มครองตัวเองด้วยเมตตา ด้วยการที่เราสรรเสริญผู้อื่น สรรเสริญผู้ควรสรรเสริญ การสรรเสริญนี่ก็ลองนึกถึงอาการของใจตัวเองนะอย่างเวลาที่คุณจะอยากจะชื่นชมคนดีๆสักคน ใจมันจะมีความรู้สึกเป็นสุขขึ้นมาก่อน นำหน้าขึ้นมาก่อน อยากให้คนดีๆนั้นมีชื่อเสียง หรือว่ามีเกียรติคุณหอมหวลขจรขจายออกไป ความรู้สึกมันก็แผ่ออก แผ่ออก นึกออกไหม มันมีความขาว มันมีความใส มันมีความสว่าง มันมีความรู้สึกเหมือนกับชื่นใจนำออกไป แผ่กว้างออกไป ไม่ใช่เอาเข้าตัว เวลาสวดอิติปิโสนี่ ‘อิติโสภควา อะระหังสัมมา…’ คนที่สวดอิติปิโสจริงๆเต็มเสียงจริงๆให้รู้สึกจิตใจมันมีความเยือกเย็น มีความแผ่ออก มีความซ่านออก ส่วนถ้าหากว่าเราจะสวดป้องกันตัวในแบบเรียกคนโน้นคนนี้มาคุ้มครองตนนี่นะ มันจะมีความรู้สึกเลยว่าเหมือนใจมันหุบแคบเข้ามา เหมือนใจมันจะเอาเข้าตัว รักษาตัวจะเอาตัวรอด ลักษณะที่ใจมันปิดแคบเข้ามา หรือว่ามีความอยากจะเอาตัวรอดนี่ทำให้ก่อให้เกิดสมาธินี่ก็เป็นสมาธิแบบเข้าตัว ไม่ใช่สมาธิแบบแผ่ออกไปนี่คือความแตกต่าง


เอาล่ะครับคืนนี้ ต้องขอล่ำลากันแต่เพียงเท่านี้ ราตรีสวัสดิ์และขอให้เจริญในธรรมทุกท่านครับ


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น