สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันศุกร์ที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และ ศุกร์ เวลา สามทุ่มตรง และเพื่อจะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการให้เข้าไปที่ http://facebook.com/HowfarBooks นะครับ
วันศุกร์เป็นวันที่เราน่าจะมามีความสุขร่วมกันในบรรยากาศของธรรมะ ใครกำลังหม่นใจเรื่องที่ทำงานก็ขอให้ทิ้งไว้ แล้ววันจันทร์ค่อยว่ากันใหม่นะครับ มีเวลาสองวันที่จะหยุดวุ่น เพื่อจะหาความว่างมาเป็นพลังงานให้ใจกันบ้าง
๑) วันนี้คำถามแรกไม่ใช่คำถาม แต่เป็นการบอกเล่าให้ฟัง บอกว่าวันนี้ไปออกกำลังกาย เต้นแอโรบิคโดยรู้เท้ากระทบ
อย่างที่เราคุยกันวันก่อน ที่ถามมาว่า ออกกำลังกายแล้วรู้สึกใจหม่น ออกกำลังกายเสร็จแล้วไม่เห็นสดชื่นเลย ผมก็ตอบไปว่า น่าจะเป็นเพราะระหว่างที่ออกกำลังกาย เราขาดสติ และที่ขาดสติก็เพราะว่า เราขาดจุดสังเกตนะ ที่มันจะทำให้ใจเราตั้งอยู่ได้ สติเราตั้งอยู่ได้ วิธีง่ายๆ ที่จะหาที่ตั้งให้สติก็คือสังเกตว่าจุดกระทบมันอยู่ที่ตรงไหน อย่างเช่นถ้าหากว่าวิ่งอยู่ก็สังเกตเท้ากระทบ ถ้าหากว่าว่ายน้ำอยู่ก็สังเกตที่มือกระทบ นะครับ อะไรที่มันปรากฏชัดที่สุดให้สังเกตไว้ที่ตรงนั้น
แล้วในที่สุดจะพบว่า สติของเรามีที่สังเกตมีที่มั่นหมายที่ชัดเจนนะครับ พอสติมันหายไป เราก็รู้ เพราะว่าจุดที่สังเกตนี่มันหายไปจากใจ แต่ถ้าหากว่าสติมีความคมชัด เราก็จะรู้สึกว่า จุดกระทบที่เราสังเกตอยู่นั้นมีความเด่น มีความต่อเนื่อง มีความชัดเจนนะครับ แล้วก็ทำให้เกิดความเพลิดเพลิน ในการออกกำลังกายด้วย ก็ขอแสดงความยินดีที่ประสบความสำเร็จในการออกกำลังกายอย่างมีสติ
๒) จุดเริ่มต้นของการชนะใจตนเองต้องเริ่มนับหนึ่งกับก้าวแรกกันที่ตรงไหน และมีวิธีการ เทคนิคอย่างไรให้ความคิดโฟกัสอยู่กับเรื่องนี้เพียงเรื่องเดียว ไม่วอกแวก หรือกระทั่งถอดใจ?
เราพูดกันอย่างนี้ก่อนว่า ใจคนนี่นะที่มันจะไปต่อเชื่อม ที่มันจะเชื่อมติดกับอะไรสักอย่างหนึ่งนี่ มันบังคับไม่ได้ เหมือนอย่างถ้าเราเจอคนที่มาพูดอะไรน่าเบื่อให้ฟัง ใจเราก็จะรู้สึกว่า ไม่อยากฟัง แล้วก็อยากหันหน้าหนีอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าจะบังคับให้ใจฟังนะ มันก็จะคอยวอบแวบ มันก็จะคอยฟุ้งซ่านเหม่อลอยไป แต่ถ้าหากว่า เราไปเจอคนที่เขาพูดหรือว่าเล่นดนตรี หรือว่าเล่นกีฬา หรือว่าทำอะไรสักอย่างที่น่าสนใจ มีความโดดเด่น มีความสามารถที่จะเป็นแรงบันดาลใจ กระตุ้นความสนใจให้กับเราได้นี่นะ เราก็จะรู้สึกเหมือนกับว่าใจเราเชื่อมติดอยู่กับสิ่งนั้น แล้วก็มีพลังงานที่จะติดตามตั้งแต่ต้นจนจบไปเอง โดยที่ไม่ต้องบังคับ ไม่ต้องฝืนใจ
ทีนี้ตั้งคำถามกันว่า ทำอย่างไรล่ะที่จะทำให้ใจเราเชื่อมติดกับอะไรอย่างหนึ่งให้ได้ บางทีนี่มันต้องพูดกันเรื่องพื้นหลังของแต่ละคนด้วยว่า เคยมีความสันทัดจันเจน มาในด้านไหน ถ้าหากว่าเรายกไว้ไม่ต้องไปพูดเรื่องของอดีตชาติ ก็อาจมาพูดเรื่องที่ว่า ในชาตินี้ ในชีวิตนี้ในวัยเด็ก เรามีความโน้มเอียงที่จะสนใจ ที่จะเกิดแรงดัน ให้เข้าหาทิศทางใดในโลก
อย่างในโลกนี้มีทั้งในเรื่องของการดนตรี การกีฬา การศึกษา วิชาการ วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์อะไรต่อมิอะไรต่างๆมากมายให้เราเลือก ถ้าหากว่าเราสามารถที่จะตระเวนไปพบกับคนเก่งๆมากพอ คือคนเก่งๆ ในหลายๆด้าน หลายๆสาขา จนกระทั่งพบใครสักคนหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้เราได้ แล้วเราก็มองว่าตรงนั้นแหละคือทิศทางที่ใจเรามันสามารถที่จะพุ่งไปได้ เชื่อมติดได้ นะครับ
นั่นคือสิ่งที่จะก่อให้เกิดฉันทะ หรือว่า ความพึงพอใจ อันเป็นตัวแรกเลยที่จะสร้าง ‘อิทธิบาท ๔’ ขึ้นมา คำว่าอิทธิบาท ๔ ก็คือตัวที่ทำให้เรามีพลัง ตัวที่ทำให้เราสามารถที่จะอยู่กับอะไรได้ด้วยความเต็มใจ ด้วยความมีพัฒนาการไปเรื่อยๆ จากไม่ค่อยเก่ง เป็นเก่ง จากเก่ง เป็นเก่งมาก จากเก่งมากเป็นเก่งที่สุดนะ อันนี้แหละ หลักของพุทธศาสนา เราใช้อิทธิบาท ๔ ซึ่งเริ่มต้นด้วยความพึงพอใจ เริ่มต้นด้วยฉันทะ
ถ้ามีฉันทะแล้วมันเกิดความรู้สึกอยากจะทุ่มเทพลัง แรงกายแรงใจ เข้าไปอยู่ตรงนั้นเองโดยไม่ต้องบังคับ แล้วถ้าตัวความขยันขันแข็งนี่มันออกดอกออกผลขึ้นมา จิตใจเราก็จะฝักใฝ่อยู่กับสิ่งนั้นคือ ทั้งวัน ทั้งคืน ไม่ต้องมีอะไรอยู่ในใจ มีแต่สิ่งที่เราชอบ มีแต่สิ่งที่เรารู้สึกว่าเป็นขนม อยู่ตลอดเวลานะครับ เมื่อเกิดความฝักใฝ่ เมื่อเกิดความมีใจครุ่นคิดถึงสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เรารักอยู่ตลอดเวลานี่ ผลสุดท้ายที่ตามมาอย่างเป็นธรรมชาติก็คือ มีการเปรียบเทียบ มีการใช้วิสัยทัศน์ เปรียบเทียบดูว่าเคยทำมาอย่างนี้ แล้วให้ผลแค่นั้นนะครับ ถ้าหากว่า ทำอะไรแตกต่างไป ทดลอง มีความอยากจะทดลองว่าทำให้มันต่างไปจากเดิม มีสีสันกว่าเดิม หรือว่า หักเหทิศทางไปอีกนิดหนึ่ง ผลข้อแตกต่างมันจะเป็นอย่างไร การชอบทดลอง การชอบที่จะทำอะไรให้เกิดความแตกต่างในสิ่งที่เราชอบนี่ มันจะเกิดข้อเปรียบเทียบ อันนี้เรียกว่าเป็นวิมังสานะครับ เป็นองค์ประกอบของอิทธิบาท ๔ ข้อสุดท้าย
อันนี้พูดโดยหลักการให้เข้าใจว่า การที่คนคนหนึ่งจะสามารถชนะใจตัวเองหรือว่าโฟกัสอยู่กับสิ่งสิ่งหนึ่งได้ ชนะความขี้เกียจ หรือว่าชนะความไม่อยากจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งนี่ เราจะใช้หลักการแบบไหนทางพุทธศาสนานะ ทีนี้ถ้าพูดถึงเรื่องของการชนะใจตัวเอง ซึ่งไม่ได้ระบุมาว่าเป็นการชนะกิเลสข้อไหน อาจพูดถึงเรื่องของความไม่อยากตื่นจากที่นอน ไม่อยากลุกจากที่นอน หรือว่าความขี้เกียจหรืออะไรก็แล้วแต่ ไม่สามารถที่จะทนสิ่งยั่วเย้า หรือว่าสิ่งที่มาเบี่ยงเบนความสนใจอะไรต่างๆ นี่ ไม่ว่าจะเป็นกิเลสข้อไหนก็ตาม เราลองพิจาณาดูถึงเรื่องของอิทธิบาท ๔ นะ ถ้าหากว่าเรามีความพึงพอใจเสียแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความพึงพอใจในงาน หรือว่าความพึงพอใจที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองนะ ถ้าหากว่าเรามีแรงบันดาลใจมากพอ มีฉันทะมากพอ ก็จะสามารถที่จะรู้สึกถึงกำลัง กำลังที่มันก่อตัวขึ้นมาผลักดันให้เรามีความพยายามมุมานะ วันต่อวัน โดยไม่ย่อท้อไปเสียก่อน
พูดง่ายๆว่า เราจะไปบังคับใจตัวเองไม่ให้ถอดใจเสียก่อน หรือว่าไม่ถอยหลังออกมาเสียก่อนโดยไม่มีแรงสนับสนุนนี่ เป็นไปไม่ได้ มันต้องหากำลังนะครับ ต้องหาแรง ถ้าหาไม่ได้จริงๆ ก็ทำบุญมากๆ แล้วก็เกิดปีติ เกิดความรู้สึกอิ่มใจขึ้นมา ไม่ว่าจะสวดมนต์ ไม่ว่าจะไปใส่บาตรพระ หรือไปช่วยเด็กอนาถา หรือคนพิการ คนชราที่ถูกทอดทิ้ง อะไรต่อมิอะไรต่างๆ ที่เป็นการกุศลนี่นะ เราก็อาจรู้สึกถึงแรงดันที่เป็นภาคสว่าง เป็นภาคของความสดชื่น ความแช่มชื่นที่จะเป็นตัวทำให้รู้สึกว่ามีมานะ ที่จะต่อสู้กับความเหนื่อยหน่ายความขี้เกียจ หรือว่าความเบื่อโลกได้นะครับ
๓) ไม่เคยได้อ่านหรือฟังกรรมพยากรณ์ตอนชนะกรรมมาก่อน แต่พอได้ฟังซีดี ก็รู้สึกว่าเคยได้ฟังมาก่อน อย่างนี้หมายความว่าอย่างไร?
เรื่องของความคุ้นเคยนี่มันเชื่อมโยงกับอดีตสัญญาเสมอนะครับ ไม่มีความรู้สึกคุ้นเคยใด เกิดขึ้นโดยบังเอิญ มันจะต้องมีอะไรบางอย่างที่ฝังอยู่ในความทรงจำของเรา หรือว่า มีอะไรสักอย่างกระตุ้นเตือนให้นึกถึงบางสิ่งที่เรารู้จัก หรือว่าคุ้นอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น อาจจะได้ยินมาหลายปีว่าคนโน้นคนนี้พูดถึงละครกรรมพยากรณ์ หรือว่าพูดถึงนิยายตอนที่มันเป็นหนังสือกรรมพยากรณ์นะ เก็บเล็กผสมน้อยมาทีละนิดทีละหน่อย ฟังเขาพูด โน่นนิด นี่หน่อยนะ ก็อาจกลายเป็นความรู้สึกว่าเรารู้จักเรื่องนี้มาระยะหนึ่ง พออ่าน มันก็เลยเข้าทาง
เอาเป็นว่าสรุปคำตอบก็คือ ถ้าหากว่าเรารู้สึกคุ้นเคยกับอะไรก็ตาม ส่วนใหญ่นี่มันจะไปเชื่อมโยงกับสิ่งที่เราเคยพบ เคยเจอ เคยเห็น เคยได้ยินมาก่อนแล้ว แล้วความรู้สึกที่มันเกิดขึ้น มันเป็นไปในทำนองเดียวกัน ตามหลักการของขันธ์ ๕ นี่ มีการกระทบกระทั่งบางอย่าง เกิดขึ้นทางตา ทางหู หรือว่าทางสัมผัส หรือแม้กระทั่งความคิดอยู่ก่อนแล้ว แล้วไอ้กระทบนั้นไปก่อความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ คือความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์นี้ ไม่ใช่อะไรมากหรอก ก็แค่ความรู้สึกว่าตอนนี้เราสบายอยู่ สบายที่จะรับสัมผัส หรือว่ามีความอึดอัด กระสับกระส่ายที่จะต้องรับสัมผัสแบบนั้น แล้วความรู้สึกที่เกิดขึ้น เป็นอึดอัดหรือสบายนั่นแหละ มันก่อให้เกิดความทรงจำ มันก่อให้เกิดความรู้สึกเกี่ยวกับสิ่งนั้น ผัสสะกระทบแบบนั้น พอมันเป็นตัวความทรงจำแล้ว เมื่อเราไปกระทบสิ่งอื่นในวันต่อๆ มา แล้วไปเรียกเอาความรู้สึกแบบเดียวกันคือ มันจูนกันได้ความรู้สึกแบบเดียวกันเป๊ะขึ้นมา มันก็จะเกิดความรู้สึกราวกับว่าเราเคยพบ เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อนแล้ว
ยกตัวอย่างเช่น บางคนฝัน ว่าไปทะเลหรือว่าฝันว่าทะเลนั้นมีความสวยงาม มีความน่าชื่นใจ ความน่าชื่นใจนั่นแหละคือความรู้สึกเป็นสุข มีความรู้สึกว่ามันสบายที่ได้สัมผัสกับทะเล แล้วเกิดความทรงจำแบบหนึ่งขึ้นมา ตื่นขึ้นมาก็ลืมแล้ว ตัวความจำนั้นมันเลือนหายไปแล้วล่ะเหมือนกับไม่มีตัวตนแล้วล่ะ เหมือนกับไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลยเพราะว่าในประสบการณ์ชีวิตจริงๆนี่ ไม่เคยไปทะเลแล้วเกิดความรู้สึกสดชื่นขนาดนั้นมาก่อน
แต่พอวันต่อๆ มาบางทีไม่ได้ไปทะเลหรอก บางทีไม่ได้ไปถึงที่ ที่มันมีความสดชื่นขนาดนั้น แต่ว่าอาจไปที่โรงหนัง แล้วเกิดไปกระทบเข้ากับบุคคลหรือว่าฉากที่เขาจัดแสดง แล้วทำให้เราเกิดความรู้สึกสดชื่นในแบบเดียวกันราวกับว่าได้ไปทะเลนี่ มันก็เกิดความรู้สึกคุ้นว่า เอ๊ะ เมื่อสองสามวันก่อนราวกับว่าเพิ่งมาเจอเหตุการณ์อะไรแบบนี้ เจอคนนี้พูดแบบนั้น หรือว่าเจอฉากเหตุการณ์นี่นะ ฉากเวทีที่เขาจัดขึ้นมาเฉพาะกิจ ราวกับว่าเคยเห็นมาก่อน ตรงนี้แหละ ก็คือว่าฉากเหตุการณ์หรือว่าคนที่เราไปพบ เราไปเจอในห้างนี่ มันก่อให้เกิดความรู้สึกสดชื่นแบบเดียวกัน แล้วมันจูนกันติดกับที่เราเคยฝันว่าไปทะเลมาก่อน มันก็เลยเกิดความรู้สึกคุ้น
จำไว้ว่า สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกคุ้นมันก็คือสิ่งที่เรียกว่า อดีตสัญญาถูกดึงกลับมาใหม่นั่นเองนะครับ ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน ส่วนจะมองเป็นเรื่องที่เราเคยต่อติดมาก่อนในอดีตอย่างไร ก็ขอให้มองเป็นอดีต ‘ใกล้’ ไว้ก่อน
มีคนบอกว่าคืนนี้ เสียงวิทยุขัดเจนแจ่มแจ๋ว ก็แก้ปัญหาไปหมดแล้วนะ คือ ช่วงต้นๆไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมปัญหามันเยอะขนาดนั้น สงสัยคงจะเป็น ‘ตัวเร่งกำลังใจ’ จะได้มีกำลังใจในการทำมากๆ
๔) หากเราสวดมนต์ ทำสมาธิในห้องพระ แล้วรู้สึกวังเวง บางครั้งก็เกิดอาการกลัว เราควรจัดการกับความรู้สึกอย่างไร แล้วเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?
ความรู้สึกกลัวนี่ บางทีก็เป็นอะไรพื้นๆ เป็นอะไรตื้นๆง่ายๆเลย เป็นอะไรที่ง่ายจนคุณนึกไม่ถึงว่า อ้อ นี่เองเป็นเหตุผลที่แท้จริงที่เราเกิดความรู้สึกกลัวขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เรานั่งสมาธิในห้องพระ เป็นเวลาที่เราไม่ได้คิดฟุ้งซ่าน ไม่ได้ปล่อยใจให้มันเตลิดไปอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยกิเลสมันผลักดันนะครับ แต่ว่าเข้ามาอยู่ในความใฝ่ดี เข้ามาอยู่ในภาวะของจิตอีกแบบหนึ่ง ที่มันพร้อมจะสงบระงับ หรือว่าพร้อมจะมีความสว่าง เพราะว่าห้องพระนี่ทำให้เรารู้สึกผูกใจอยู่กับแสงสว่าง ผูกใจอยู่กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผูกใจอยู่กับ คือพระพุทธเจ้านี่ พอเราแค่นึกถึงนะ แม้ว่าจะระลึกผ่านพระพุทธปฏิมานี่ ใจก็เกิดความสว่างได้
ใจที่ผูกอยู่กับความสว่างย่อมสว่าง ใจที่ผูกอยู่กับความศักดิ์สิทธิ์ ย่อมศักดิ์สิทธิ์ แต่ทีนี้ความศักดิ์สิทธิ์หรือความสว่างนี่ ไม่ได้สว่างอย่างตรงไปตรงมา ไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์อย่างตรงไปตรงมา เพราะว่ากิเลสของเรายังไม่สงบ บางทีนี่เกิดความรู้สึกเหมือนกับว่า เอ๊ะ เราน่าจะอยู่กับสิ่งที่สว่างนะ น่าจะอยู่กับสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่ใจเรายังไม่ถึง ใจเรามันยังคอยม้วนไปหาสิ่งที่ต่ำกว่า หรือว่าสิ่งที่มืดกว่า ก็เกิดความรู้สึกเหมือนกับขัดแย้งขึ้นมาในใจได้ ตั้งแต่ต้นเลย ตั้งแต่ยังไม่เป็นสมาธิ ทีนี้พอเป็นสมาธิขึ้นมา สมาธิยังอยู่ในขั้นครึ่งๆ กลางๆ จะว่าสว่างก็ไม่ใช่ จะว่ามืดก็ไม่เชิง บางทีนี่ความขัดแย้งกันระหว่างความสว่าง กับความมืดก็ทำให้เกิดความรู้สึกแปลกประหลาด หรือว่า เกิดความรู้สึกไม่ปกติ หรือ เกิดความรู้สึกว่าถึงขั้นที่ว่า ผิดปกติขึ้นมาได้
สองสิ่งมาอยู่ด้วยกัน ระหว่างความสว่างกับความมืด ก็เกิดความรู้สึกกลัวขึ้นมาเป็นธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่ใกล้ที่จะนิ่ง แต่ยังไม่นิ่งจริงนะ มันจะมีความปรุงแต่งบางอย่างเหมือนกับความมุ่งมาตรปรารถนาในทางที่ดีมันก็เกิดขึ้น แต่ว่าความรู้สึกอีกแบบหนึ่งที่มันคอยจะดึงไปปรุงแต่ง ให้เกิดความรู้สึกไม่ดี เกิดความรู้สึกเหมือนกับเรายังอยู่คนละโลกกับโลกที่สว่าง จัดจ้านนี่ มันก็เกิดความรู้สึกกลัว
กลัวนี่ ไม่ใช่กลัวอะไรหรอก กลัวความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั่นแหละ กลัวความรู้สึกที่มันเกิดจากภาวะที่ไม่ปกติ หรือผิดปกตินั่นแหละนะ วิธีง่ายๆ ที่จะจัดการก็อย่าพยายามจัดการ เพราะว่าทันทีที่เราพยายามจัดการ มันจะมีตัวความกลัวหรือตัวไม่ได้ดังใจเกิดขึ้นไม่เลิก ลองคิดดู ความรู้สึกนี่มันเกิดขึ้นอยู่ชัดๆ แล้วเราจะไปพยายามทำลายความรู้สึก ณ ขณะนั้นนี่ ทั้งๆที่มันยังไม่สามารถที่จะหายไปได้ มันก็เกิดโทสะขึ้นมา แล้วโทสะเป็นพวกเดียวกันกับความกลัวนะ โทสะนี่ จริงๆ แล้วเป็นมูลเหตุเลยที่ทำให้เราเกิดความกลัว เพราะอะไร เพราะว่าโทสะทำให้เรามีความกระสับกระส่าย มีความรุ่มร้อน มีความมืด มีความรู้สึกอยากจะทำลายอะไรบางอย่างทิ้ง มีความรู้สึกอยากจะกำจัดไอ้อะไรก็แล้วแต่ที่เราไม่พอใจให้มันหายไป จากการรับรู้ทันที
พูดง่ายๆว่า ยิ่งกลัว แล้วยิ่งอยากหายกลัว มันจะเป็นการเพิ่มความกลัวเข้าไปอีก เพราะว่าได้โหมไฟเข้าไป ทำให้โทสะมันมากขึ้นมา ทางที่ดีที่สุดนะครับ ให้ยอมรับตามจริงไป พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้นะ เมื่อเกิดความกลัว ให้อยู่ในที่นั้น อย่าเคลื่อนไหว จนกว่าเราจะรู้สึกถึงความกลัว และเห็นความกลัวหายไป หมายความว่า ณ ที่ที่เกิดความกลัวขึ้นมา เรายอมรับไปตามจริงว่ามันกลัว ยอมรับไปตามจริงว่า เหมือนรู้สึกราวกับว่าจะถูกทำร้าย รู้สึกราวกับว่ามีอะไรบางอย่าง หรือใครบางคนกำลังจะเข้ามาโจมตีเรา กำลังจะทำให้เราเกิดความเสียหาย หรือว่าเกิดความบอบช้ำ เกิดความบาดเจ็บ ทั้งๆที่พอดูเข้าไปจริงๆมันมีแต่ภาวะความกลัวที่บีบเราอยู่
ลักษณะความกลัวนี่นะมันจะบีบให้ตัวเรามันมีความเกร็ง บีบจิตให้มีอาการเหมือนกับคับแคบ หรือว่าเล็กลง ลองสังเกตให้เห็น พอยอมรับตามจริงได้นี่มันก็จะเห็นตามนั้นนะว่า ร่างกายมันเกร็ง แล้วก็อาการของจิตนี่มันหดตัว มันมีอาการบีบรัด มันมีอาการที่อึดอัดไม่สบาย มีความมืดเข้าครอบราวกับว่าจะมีใครเข้ามาทำร้าย เมื่อเห็นว่าลักษณะของความกลัวเป็นอย่างไรชัดๆ แล้ว ตัวความกลัวเองมันจะแสดงความไม่เที่ยงให้ดู แน่นอนบางทีมันไม่ได้แสดงความไม่เที่ยงทันทีนะ มันอาจยิ่งกลัวขึ้น ไอ้อาการกลัวขึ้นจริงๆ มันก็เป็นความไม่เที่ยงนั่นแหละ เพียงแต่เป็นความไม่เที่ยงขาขึ้น เป็นอนิจจังขาขึ้น ไม่ใช่อนิจจังขาลง แต่ไม่ว่าจะกลัวมากขึ้น หรือว่ากลัวน้อยลงก็ตาม เราจะเห็นความไม่เที่ยง และเมื่อจิตเห็นความไม่เที่ยง จิตจะฉลาดขึ้น มันจะรู้สึกทันทีเลยว่า นี่ไม่ใช่ตัวเรา นี่เป็นอะไรอย่างหนึ่งที่ถูกดูอยู่ว่าไม่เที่ยง
เมื่อเราเห็นความไม่เที่ยงบ่อยๆ ไม่ว่าจะกลัวแสนกลัวขนาดไหน อย่างน้อยมันจะรู้สึกว่า ตอนแรกกลัวมาก กลัวจับจิตจับใจ แล้วก็ความกลัว พอถูกเห็นมันก็ลดลงนิดนึง แผ่วลงนิดนึง แล้วเดี๋ยวมันก็ทวีตัวกลับขึ้นมาอีก กลายเป็นความอึดอัด กลายเป็นความรู้สึกมืด ที่มันเหมือนกับเคล้นหัวใจ ตรงนี้เราก็จะค่อยๆ เห็นไปทีละนิดทีละหน่อย ทุกครั้งที่ยอมรับตามจริงว่าเรากำลังเกิดความกลัวอยู่ จนในที่สุดนี่ ไม่กี่วันหรอก หรืออาจภายในวันเดียวเลยก็ได้ เราเกิดความรู้สึกชัดๆขึ้นมาว่า ความกลัวนี่เป็นแค่สภาพทางใจอย่างหนึ่ง มันไม่ใช่มีความน่ากลัวอยู่ภายนอกตัวเราจริงๆ มันมีแต่สิ่งที่อยู่ภายในตัวเรานี่แหละ ที่ควรกลัวนะ ตรงนี้ก็เข้าใจว่าน่าจะเป็นคำตอบนะครับ
๕) เมื่อใจฟุ้งซ่านออกนอกตัวขณะกำลังทำงาน ใจซัดส่าย ไม่มีสมาธิ อันเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบๆตัว จะทำอย่างไรจึงจะเรียกใจให้กลับมาจดจ่อกับงาน หรือสิ่งที่กำลังทำอยู่ข้างหน้าเป็นปัจจุบันได้?
วิธีการง่ายที่สุด อย่าไปพยายามเค้นมากเกินไป เพราะอาการพยายามเค้นนี่มันจะเท่ากับไปเพิ่มความฟุ้งซ่าน เพิ่มความซัดว่ายเข้าไปอีก เนื่องจากอะไร เนื่องจากการพยายามทำในสิ่งที่เราไม่สามารถจะทำ หรือว่าเกิดความอยากในสิ่งที่เราไม่ควรจะอยากนี่ ผลจะเป็นความปั่นป่วน ผลจะเป็นความรู้สึกกระสับกระส่าย นี่คือผลก่อนเลยนะ สมมติว่ายังไม่ได้พูดถึงเรื่องที่ว่า เราจะอยากโฟกัสอยู่กับงาน หรือว่าโดนอะไรรบกวนนะ ถ้าหากว่าอยู่ดีๆ เรานึกอยากที่จะได้อะไรมาบางอย่าง ซึ่ง ณ ขณะนั้นมันได้มาไม่ได้ เรารู้อยู่แก่ใจว่ายังได้มาไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น อยากให้วันเกิดมาถึงไวๆ เดี๋ยวจะได้ของขวัญเยอะๆ เดี๋ยวจะได้มีคนมาพะเน้าพะนอเอาใจ Hello! Happy Birthday เรา วันเกิดนี่ อีกอาทิตย์หนึ่ง เราไม่มีทางไปเร่งให้มันมาถึงวันนี้ เป็นไปไม่ได้เลย มันอย่างไรก็ต้องรออีกเจ็ดวัน ถ้าเราอยาก อยากอยู่ทุกวัน เจ็ดวันก็หมายความว่า เราเพิ่มความฟุ้งซ่านให้ตัวเองมากขึ้นๆๆ โดยที่มันเป็นไปไม่ได้ ความรู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้เดี๋ยวนี้นี่แหละ ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกปั่นป่วนรวนเรขึ้นมาใหญ่
อันนี้ก็เหมือนกัน เมื่อมาประยุกต์ใช้กับเรื่องของการดึงใจมาโฟกัสกับสิ่งที่เป็นปัจจุบันนะ ถ้าหากว่าถูกรบกวน ให้ยอมรับตามจริงไปว่ามีคลื่นรบกวนมา ให้ยอมรับตามจริงไปว่า ใจเรากำลังปั่นป่วน ใจเรากำลังมีความฟุ้งซ่าน เพราะถ้าหากว่าไม่ยอมรับอาการฟุ้งซ่านตรงนั้น แล้วจะรีบดึงกลับมาทันทีทันใด โดยที่ดึงไม่ได้ โดยที่มันไม่สามารถจะกำจัดคลื่นรบกวนได้ ก็เกิดความกระสับกระส่ายหนักเข้าไปอีก
แต่ถ้าหากว่า ณ เวลาที่มีคลื่นรบกวนมาแล้วเรายอมรับตามจริง ด้วยใจที่มันไม่ได้อยากที่จะสงบทันที เรายอมรับตามจริงว่ากำลังมีความปั่นป่วนอยู่ในใจเรา กำลังมีความรำคาญอยู่ในใจเรา กำลังมีโทสะอยู่ในใจเรา อันนี้อย่างน้อยที่สุด สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ใจเราจะสบาย ไม่มีความกระสับกระส่ายเพิ่มขึ้น กระสับกระส่ายอยู่แค่ไหนมันกระสับกระส่ายอยู่แค่นั้น มันไม่เพิ่มขึ้น พอเห็นความกระสับกระส่ายในระดับที่มันเกิดขึ้นตามจริงนะ อย่างน้อยที่สุดเราจะมีแก่ใจ มีความสามารถที่จะบอกตัวเองให้กลับมาอยู่กับโฟกัสของงานตรงหน้า โดยไม่มีความกระสับกระส่ายเพิ่ม ถ้าหากว่าเราโฟกัสกับงาน แล้วยังรู้สึกว่าไม่สามารถอยู่กับงานได้อีก ก็ให้มองแล้วว่า ตรงนี้เป็นความไม่สามารถที่จิตจะเชื่อมต่อได้ติดกับงานตรงหน้า
อันแรกคือ เรายอมรับตามจริงว่ามีคลื่นรบกวน คลื่นรบกวนจากภายนอก มาก่อให้เกิดคลื่นรบกวนภายในเรา แต่พอเราไม่เกิดความอยากจะให้คลื่นรบกวนตรงนั้นมันหายไปทั้งภายนอกและภายใน ใจเราก็สามารถที่จะมา โฟกัส กับงานได้ใหม่ ถึงแม้ว่าพอเรากลับมา โฟกัส กับงานแล้ว เราจะสังเกตได้ว่า ยังต่อไม่ติด ยังเชื่อมไม่ติด ใจมันยังกระสับกระส่าย เราก็สามารถเห็นได้ว่า ภาวะแบบนั้น เรียกว่าภาวะที่ใจไม่สามารถเชื่อมติดอยู่กับงาน พอสามารถเห็นได้ อย่างน้อยที่สุดมันไม่สูญเปล่าแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคลื่นรบกวนความฟุ้งซ่าน หรือว่าความไม่สามารถเชื่อมติดได้กับงานนี่ มันถูกดูแล้ว พอมันถูกรู้ เราก็รู้สึก เออ ได้มีสติ เห็นอะไรบางอย่าง
การรู้สึกว่าสามารถมีสติเห็นอะไรขึ้นมาบางอย่าง ณ เวลาที่กำลังจวนตัว ณ เวลาที่กำลังมีความต้องการความช่วยเหลือ อยากได้ตัวช่วย จะรู้สึกเหมือนเราสามารถเห็นอะไรบางอย่างได้ นี่แหละ ตัวนี้มันจะทำให้ใจชื้นขึ้น มันจะทำให้เกิดกำลังใจว่า เราไม่ได้เสียเวลาไปเปล่าๆ เรากำลังเจริญสติ สติของเรากำลังเจริญขึ้นนิดหนึ่ง
พอมีความใจชื้นนี่นะ ตัวนี้ก็จะค่อยๆ ทำให้จิตใจ และร่างกายมันสงบลง ณ ที่ของปีติ ณ ที่ของความอิ่มใจ จำไว้นะ มันมีความสามารถที่จะระงับความกระสับกระส่ายได้ แต่ถ้าหากว่าเรายิ่งไปเร่ง ยิ่งไปร้อน ยิ่งไปอยาก อันนั้นมันยิ่งเพิ่มความกระสับกระส่าย หลักการมีง่ายๆ แค่นี้นะ
ทดลองดู ต่อไปพอได้ยินเสียง หรือว่ามีภาพอะไรก็แล้วแต่มากระทบหู กระทบตา ให้นิยามมันไปเลยแปะป้ายไปเลยว่านั่นเรียกว่า สิ่งรบกวน คลื่นรบกวนที่เกิดขึ้นในหัวมันมักจะเป็นผลตามมา โฟกัส ในงานหายไป เราก็มาสังเกตว่า ตอนนี้ถ้าหากเอาใจ เอาตา มาใส่กับงาน มันสามารถเชื่อมติดได้ไหม ต่อติดได้ไหม ถ้าเชื่อมไม่ได้ก็ไม่ต้องไปเร่งร้อน ให้มองไปตามจริงว่า นี่ภาวะที่ใจไม่สามารถเชื่อมติดกับงาน มันเป็นแบบนี้ มันเลื่อนไปเลื่อนมา มันเบลอๆ มันเหมือนกับเราดำลงไปใต้น้ำแล้วลืมตาขึ้นมา แต่เมื่อไหร่ที่ภาวะเบลอๆ มันหายไป เราก็จะรู้สึกขึ้นมาทันทีว่า อ้อ นี่เห็นแล้วโฟกัสได้แล้ว เชื่อมติดได้แล้ว เรียกว่าเป็นการเห็น เรียกว่าเป็นการพัฒนาสติ เจริญสติในระหว่างทำงานได้
เอาละครับวันนี้เหลือเวลาสิบห้าวินาที ผมขอล่ำลาไปก่อน แล้ววันจันทร์พบกันครับ ราตรีสวัสดิ์ ขอให้เจริญในธรรมทุกท่านครับ
« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น