วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๔๙ / วันที่ ๑๑ พ.ค. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันศุกร์ที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และ ศุกร์ เวลา ๓ ทุ่มตรง เพื่อที่จะทักทายและไถ่ถามเข้ามาในรายการนะครับ ให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/HowfarBooks



๑) จะทำอย่างไร ไม่ให้ใจไปยึดตามความอยาก ที่ผุดเกิดขึ้นมาในใจตลอดเวลา?

ก็ต้องขออภัยนะครับที่ผมกระโดดข้ามไป คืนนี้ก็ขอแก้ตัวโดยการตอบให้เป็นข้อแรก เพื่อที่จะไม่ให้ใจยึดไปตามความอยาก เราต้องตั้งโจทย์ให้ถูก ตั้งมุมมองให้ถูกก่อนนะครับ ก่อนอื่นเราต้องมองว่า ความอยากเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแบบห้ามไม่ได้ เวลาที่มีสิ่งเร้าใจ สิ่งมากระตุ้นกิเลส มันต้องเกิดความอยากขึ้นแน่ๆ ห้ามไม่ได้ นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เองเลยนะ ท่านตรัสว่า เมื่อมีผัสสะเกิดขึ้น ตัณหาย่อมตามมาเป็นธรรมดา ทีนี้พอตัณหาเกิดขึ้นแล้ว เราก็มีหน้าที่สำรอกตัณหาออก นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้

ในทางปฏิบัติ พูดให้เป็นภาษาชาวบ้าน ให้ฟังง่ายๆหมายความว่าอย่างไร? ความอยากเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแบบห้ามไม่ได้ เมื่อเกิดกระทบ กระทบในที่นี้ อาจจะหมายถึงความคิดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมาทางหู ทางตาเสมอไป บางทีความคิดมันเข้ามากระทบแล้วเกิดความอยากขึ้นมา โดยที่บางทีเรานอนเล่นอยู่เพลินๆ อยู่ดีๆเกิดนึกขึ้นมา อยากได้นั่น อยากได้นี่ แล้วก็เกิดอาการทุรนทุรายขึ้นมา เกิดอาการยึดมั่นถือมั่นรุนแรงขึ้นมาว่าจะต้องเอาให้ได้ อย่างนี้มีบ่อยนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคนี้สมัยนี้เนี่ย ตอนเห็นแวบแรกไม่ค่อยรู้สึกอะไรเท่าไหร่ แต่พอมานั่งนึก นอนนึก ตอนอยู่ว่างๆมันเกิดอยากได้ขึ้นมาอย่างแรง โดยเฉพาะผู้หญิงเนี่ยนะ พวกกระเป๋า พวกรองเท้า พวกเสื้อผ้าอะไรทั้งหลายหรือบางที ก็ขออภัยนะ อันนี้ได้ยินคุยๆกันเล่นๆมานะ ในเหล่าบรรดาผู้หญิงบอกเห็นแฟนเพื่อน แล้วรู้สึกอยากได้จังอะไรแบบนี้

เอาล่ะ ตรงความอยากเนี่ย มันเกิดขึ้น มันเกิดความทุรนทุรายขึ้นแล้ว เราต้องมองว่า มันไปกำจัด ไปห้ามไม่ได้
แต่เราต้องพิจารณาว่า ความยึดมั่น ถือมั่นว่าจะต้องเอาให้ได้เนี่ย เป็นสิ่งที่เราสามารถฝึกให้มันคลายได้ นึกออกไหม? คือ พอเกิดความอยากขึ้นมาระลอกแรก มันเหมือนคลื่นที่เข้ามากระทบฝั่ง เราห้ามคลื่นไม่ได้ แต่ว่าเราสามารถไม่ปล่อยให้ผลกระทบของคลื่นเนี่ย มันต่อเนื่องเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ได้ เอาอะไรมากั้นซะ

วิธีกั้นง่ายๆเลยนะก็คือ พิจารณาให้เห็นโทษของความยึด ตอนที่มันมีความยึดนี่นะถ้าเราไม่สังเกตเนี่ย เราก็จะมีความรู้สึกว่า เออ อยากได้ๆๆ เห็นมันเป็นของดี เห็นความอยากเป็นของดี แต่พอเราตั้งเป้าสังเกตว่าอาการยึด อาการที่มันทำให้ใจทุรนทุรายเนี่ย มันมีลักษณะที่เป็นทุกข์ มันมีลักษณะที่ไม่สบาย มันมีลักษณะที่ปั่นป่วน มันมีลักษณะที่เราสามารถสังเกตได้ว่า อาการของใจนี่ มันไม่มีความสงบเอาสักเลย แต่เดิมเนี่ยนะ พอเราเกิดความอยากขึ้นมา ใจเราจะส่งออกไปหาสิ่งที่เป็นเป้าหมาย จะเป็นสมบัติ หรือจะเป็นผู้คน หรือจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ ที่มันมายั่วให้เราอยาก ใจเราจะมีจินตภาพเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นวัตถุอันพึงประสงค์อยู่ตลอดเวลา นี่เรียกว่า ใจส่งออก

แต่ถ้าหากว่าเราเอาส่งเข้าใน เอามาดู เอามารู้ รู้ว่าขณะนี้ใจของเรา กำลังมีลักษณะอาการอย่างไร มีลักษณะปั่นป่วน มีลักษณะทึบแน่น มีลักษณะไม่เป็นสุข พอสังเกตอย่างนี้ ครั้งแรกๆจะรู้สึกว่า เออ ไม่รู้จะสังเกตไปทำไม แต่ครั้งต่อๆมานี่ มันจะเริ่มฉลาดขึ้น จิตนะมันจะฉลาดขึ้นเมื่อมีจุดสังเกตของความทุกข์ เมื่อมีจุดสังเกตของความทุกข์ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดาก็คือว่า ใจเนี่ยนะ มันเห็นจุดสังเกตทุกข์บ่อยขึ้นเท่าไร มันจะยิ่งคลาย มันจะยิ่งเห็นโทษ มันจะยิ่งเกิดความรู้สึกว่ายึดไปทำไม? ยึดแล้วมันมีความทุกข์ แต่ไอ้ตัวอยากเนี่ย ไอ้ตัวทะยานอยากเนี่ยนะ ตอนแรกมันเกิดขึ้นแค่ไหนก็ตาม ตัวความอยากเอง ไม่ใช่จะต้องมีลักษณะอาการพุ่งทะยานเท่าเดิมเสมอไป แต่อาการยึดเนี่ย มันเหมือนมีความมัดใจน่ะ นึกออกไหม? ตัวความอยากเนี่ยนะ มันทำให้ใจมันพุ่งออกไปข้างนอก แต่ตัวอาการยึดเนี่ย มันจะมีความรู้สึกอึดอัด เหมือนใจเนี่ยโดนมัดอยู่ด้วยอะไรสักอย่าง ที่มองไม่เห็นมีตัวตน แต่เราสามารถรู้สึกได้ สามารถสังเกตได้ เมื่อสังเกตบ่อยเข้า ก็จะเกิดอาการฉุกใจ อาการที่จิตมันเริ่มฉลาดเนี่ยนะ หลังจากพบจุดสังเกตบ่อยๆ มันจะค่อยๆคลายออกไปเอง โดยที่เราไม่ต้องไปบังคับหรือไปสั่งมันว่า จงคลาย อย่าไปเอามันเลย การสั่งดื้อๆไม่ทำให้จิตฉลาดขึ้นนะ เพราะอาการยึดมั่น มันยังเท่าเดิม มันยังไม่มีอะไรไปคลายเลย คำสั่งเนี่ยนะ จำไว้เลย คำสั่งดื้อๆเลยเนี่ย ไม่ไปคลายอาการยึดมั่นได้หรอก เพราะว่ามันยังมีความรู้สึกว่าเป็นของดี เป็นของน่าชอบ เป็นของน่าเอาอยู่ ต่อเมื่อมันมองเข้ามาที่อาการของตัวเอง อาการของใจซึ่งเป็นตัวของมันเองเนี่ย แล้วพบว่ามีแต่ความทุกข์ มีแต่ความอึดอัด มีแต่ความทุรนทุราย ในที่สุดเนี่ย คราวนี้นะ ตอนที่มันฉลาด มันไม่ต้องสั่งตัวเอง มันไม่ต้องบังคับ มันคลายออกเองด้วยความฉลาดที่ค่อยๆพอกพูน ค่อยๆทวีขึ้นตามจำนวนครั้งที่เห็น อันนี้ก็คือหลักการง่ายๆ แต่ว่าได้ผลจริงๆ แล้วก็เอาไปใช้ได้จริงๆตลอดชีวิต ไม่ใช่อุบายที่เราจะต้องจำเป็นคำพูด แต่จำเป็นลักษณะอาการของใจ



๒) ถ้ามีนิสัยเสียๆทางความคิด แล้วเราที่พยายามที่จะพัฒนามันให้ดีขึ้น พอผ่านหลายๆเดือนไปจนครบปี จนออกมาไกลจากจุดเดิมแล้ว แต่ด้วยบททดสอบที่เจออยู่ทุกๆวัน ก็รู้ว่ามันดีๆ ร้ายๆ และไม่สามารถหายไปได้ทั้งหมด ถ้าเป็นอย่างนี้ จะต้องใช้เวลาอีกกี่ปีคะ นิสัยเสียๆของตัวเองจึงจะหายไปได้จริงๆ? ผู้ถามบอกว่า ที่ผมบอกว่าให้ใช้ชีวิตทั้งชีวิตเป็นบททดสอบ ก็พยายามวางใจตามนี้ แต่ก็ยังแอบๆท้อใจ

เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน คือ อย่าตั้งคำถามว่ามันจะต้องใช้เวลาอีกกี่ปี คนส่วนใหญ่ไม่ว่าจะฝึกอะไร หัดอะไร ไม่ว่าจะทางโลกหรือทางธรรมนะครับ มันเกิดความท้อถอยขึ้นมาได้ง่ายๆ เพราะคำถามที่ผิดๆแบบนี้แหละว่า จะต้องใช้เวลาอีกสักกี่ปีกัน อย่างเวลาเราเรียนนี่ เราเรียนจะจบปริญญา เรารู้เลยว่าใช้เวลาสี่ปี หรือถ้าไปดร็อปบ้างอะไรบ้าง เราก็สามารถคำนวณได้ว่า มันจะช้าไปกี่ปี หรือกี่เทอม แต่ว่าการเรียนชีวิตให้จบ การเรียนรู้ที่จะกำจัดทุกข์ให้มันหมดสิ้นไปจากใจเนี่ย มันไม่มีใครบอกได้ว่าเราจะต้องใช้เวลากี่ปี กี่เดือน พอถามตัวเองแบบนี้ว่ามันจะต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไร? กี่ปี่หรือกี่เดือน มันจะเกิดความท้อขึ้นมาทันที เพราะไม่มีใครมาประกันได้ ตัวเราเองก็ไม่ทราบเลย ไม่สามารถรู้ได้เลย แต่ขอให้รู้ไว้เถิด รู้ไว้อย่างเดียว รู้แน่ๆก็คือว่า เมื่อไรที่เราถามตัวเองอย่างนี้ ว่าจะต้องใช้อีกสักกี่ปีกัน มันถึงจะทำได้สำเร็จ ตัวเราเอง ใจเราเอง จะถอด จะถอน จะถอย ออกมาจากเป้าหมายทันที มันไม่มีประโยชน์

เพราะฉะนั้น คำตอบที่เป็นจุดสรุปก็คือว่า เมื่อไรก็ตามที่เราถามตัวเองว่า จะต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหน? ให้ตอบตัวเองเดี๋ยวนั้นเลยว่า ไม่ต้องใช้เวลาอีกแค่ไหน เพื่อที่จะกำจัดความทุกข์ที่มันกำลังอยู่ตรงหน้า เพราะความทุกข์ที่ตั้งกำลังอยู่ตรงหน้า มันก็คือการตั้งคำถามว่า เหลือเวลาอีกกี่ปี ต้องใช้เวลาอีกกี่ปีนั่นแหละ พอเรารู้ตัวว่าตั้งคำถามผิด แล้วคำถามนี้หายไปจากไปจากใจเมื่อไร ความทุกข์มันก็จะหมดหายไปจากใจทันที ณ บัดนั้น

ที่เหลือเราจะต้องเผชิญกับอะไรก็ตาม ก็ขอให้อาศัยหลักการเดียวกัน เมื่อไรที่เราไม่นึกถึงว่าวันคืนเลวร้ายแบบนี้ มันจะจบลงไปได้เมื่อไหร่ อีกกี่เดือนกี่ปี ความทุกข์มันก็จะหายไปทันทีเช่นกัน

โอเค เราอาจจะต้องไปถูกกระทบหู กระทบตา ด้วยถ้อยคำ หรือว่าด้วยภาพอะไรที่มันชวนทำให้เกิดความเรารู้สึกไม่ชอบใจ อีกหลายครั้งหลายหน ตลอดชีวิตที่เหลือ แต่แต่ละครั้งเนี่ย เราก็สามารถที่จะนึกแบบนี้ ด้วยอาการแบบนี้ว่า เมื่อไรที่กระทบ มันหายไป แล้วเราเลิกนึกถึง เลิกถามถึงว่า อีกกี่เดือน กี่ปีมันจะหายไป มันจะหมดไป ความทุกข์มันก็หายไปเช่นกัน เราจะเหลือแต่ความทุกข์เฉพาะตอนที่มันมากระทบหู กระทบตา แต่มันไม่มีความทุกข์ตอนที่มันมาคิดเอา ว่าอีกนานแค่ไหน เราถึงจะพ้นทุกข์นี้เสียทีนะครับ



๓) ตอนนี้กำลังหัดเจริญสติค่ะ พบว่าระหว่างวันมีความเหม่อลอยที่เกิดจากความคิดของตัวเองเกิดขึ้น แต่พอมาระยะหลัง สังเกตว่า ความเหม่อลอยของความคิดลดน้อยลง แต่กลับกลายเป็นใจลอยออกไปเลยค่ะ เป็นบ่อยมาก แล้วเพิ่มขึ้นเรื่อยๆระหว่างวัน จะแก้อย่างไรดี? รู้สึกว่ามันเยอะขึ้น ไม่ชอบเลยค่ะ เพราะมีความรู้สึกว่า มันไม่ค่อยมีสติ ถ้าใจลอยฟุ้งออกไปข้างนอก

เอาตามหลักที่พระพุทธเจ้าให้ไว้ก็แล้วกันนะ เมื่อไหร่ที่เรารู้สึกว่าตนเองเหม่อลอย ก็หายใจสักครั้งหนึ่ง ถ้าบอกตัวเองถูกว่า ตอนนี้กำลังหายใจเข้าหรือหายใจออก นี่ตัวนี้แหละ ที่มันจะเกิดสติกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวทันที การฝึกสังเกตว่าเราเหม่อลอยไปเมื่อไร เราเผลอไปตามความคิดเมื่อไร เป็นเรื่องดี เป็นก้าวแรกที่มันทำกันได้ แต่พอเราสามารถสังเกตใจตัวเองออกแล้ว ก็น่าจะหาเครื่องยึดหรือวิหารธรรม คือถ้าไม่มีจุดยึด ไม่มีจุดตรึงให้ใจอยู่กับที่เลยเนี่ย มันไม่รู้จะเอามีอะไรเป็นหลัก

พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า อานาปานสติ คือการเอาลมหายใจมาเป็นเครื่องเจริญสติ มันจะปิดช่องไม่ให้เกิดการเหม่อ ไม่ให้เกิดการเลื่อนลอย ไม่ให้เกิดการฟุ้งซ่านได้ โอกาสที่อะไรจะเป็นคลื่นรบกวนเข้ามาแทรก มันก็ยากขึ้น วิธีการง่ายๆ เมื่อไรที่เรารู้สึกตัวว่าเหม่อ บวกเข้าไป ถามตัวเองเลย นี่หายใจเข้าหรือหายใจออกอยู่? ถามแค่ครั้งเดียวพอ แต่ละครั้งที่เรารู้สึกตัวว่าเหม่อ มันกลายเป็นตัวกระตุ้นให้สติมาอยู่กับสิ่งที่ควรอยู่ กระตุ้นให้สติกลับมารู้กับสิ่งที่ควรรู้ ความเหม่อมันก็จะค่อยๆสลายตัวหายไปเองนะครับ แต่ อย่าใจร้อนนะ อย่าคิดว่าทำแค่วันสองวัน แล้วมันจะเกิดความสำเร็จ ได้ผลอะไรที่มันชัดเจนขึ้นมาทันทีทันใด เราต้องใช้เวลา เราต้องสร้างความเคยชิน ซึ่งคำว่าความเคยชิน คำเดียวนะ ต้องไม่ใช้เวลาน้อยกว่า ๒ อาทิตย์ ความเคยชินเนี่ย เขาวิจัยกันมาแล้วนะ เราจะตั้งใจทำอะไรก็แล้วแต่เนี่ย ถ้าทำสม่ำเสมอได้ ๒ อาทิตย์ มันจะติดเป็นนิสัย และทำง่ายขึ้นเรื่อยๆ มันจะฝืนน้อยลงเรื่อยๆ นี่คือหลักการนะครับ



๔) เราจะทราบได้อย่างไรว่า การปฏิบัติของเรากำลังมาถูกทางหรือไม่? เคยได้พบอาจารย์ท่านหนึ่ง ท่านได้ชี้สภาวะของจิตตั้งมั่นให้ เป็นสภาวะที่พ้นจากความมีตัวตนได้ระยะหนึ่ง มีสมาธิพิจารณาสภาวะ แต่เมื่อจิตไม่ตั้งมั่น คือขณะใช้ชีวิตประจำวัน ตัวตนก็กลับมาครอบงำอีก การปฏิบัติที่แท้จริงคือ การเจริญสติเพื่อให้จิตตั้งมั่นมากขึ้นไปเรื่อยๆ ครอบคลุมทั้งวันใช่หรือไม่คะ?

ไม่ใช่นะครับ ความตั้งมั่นของจิต เราพูดกันแบบเนื้อๆเลยนะ เพื่อที่จะไม่อ้อมค้อมนะ ถ้าจะตั้งมั่นอยู่ได้ทั้งวันได้เนี่ย จิตต้องเป็นฌาน จิตต้องอยู่ในอีกฐานะหนึ่งนะ คือไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางโลก ไม่ได้ทำมาหากิน ไม่ได้ต้องมาคิดวุ่นวายอะไรกับการหากินหาอยู่

การเจริญสติแบบฆราวาส ใช้ชีวิตอยู่ในเมือง แล้วตั้งเป้าจะเอาความตั้งมั่นให้ได้ทั้งวันนี่ ผมว่าผิดทางโดยอย่างเด็ดขาดเลย โดยเฉพาะสำหรับคนส่วนใหญ่นะ คือ คน สองคนจะทำได้ หนึ่งในพัน หนึ่งในหมื่นทำได้ อนุโมทนาด้วยนะ แต่สำหรับคนส่วนใหญ่เท่าที่ผมเจอมา แล้วก็ดูก็จากตัวเองด้วยนะครับ นี่บอกเลยนะ การที่เราใช้ชีวิตแบบโลกๆอยู่ แล้วจะไปมุ่งหมายเอาความตั้งมั่นของจิตเนี่ย ผิดทางครับ

มันเป็นการตั้งโจทย์ที่ผิด ผมไม่เคยเห็นนะ เอาเป็นว่า ผมไม่เคยเห็นในชีวิตผมนะ คนที่อยู่แบบโลกๆคือ ทำมาหากิน หาอยู่หากิน แล้วก็จะต้องมีความครุ่นคิดไปเรื่องโน้นเรื่องนี้ เรื่องคน เรื่องอยู่เรื่องกิน แล้วจะมีจิตตั้งมั่นเหมือนกับคนที่ถือศีลแปด หรือว่าไปอยู่ที่วัด ปลีกวิเวก ไม่มีหน้าที่ภาระการงานเนี่ย ผมไม่เคยเห็นเลย ถ้าหากใครเคยเห็น อนุโมทนานะครับ ไม่ใช่บอกว่า คำพูดของผมคือกฎเกณฑ์ตายตัว แต่เท่าที่เห็นมานี่ ไม่เคยมีนะครับ

ถ้าหากว่าเราจะวัดว่าการปฏิบัติของเราว่ามาถูกทาง ด้วยการเอาจิตตั้งมั่นเป็นหลักเนี่ย หลวงตาบัวท่านยังเคยพูดเลยบอกว่า ตอนท่านปฏิบัติอยู่ป่า อยู่เขานี่นะ จิตมันยังเสื่อมได้เลย นี่ขนาดพระป่าท่านปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์นะ อย่างที่เรียกว่า เอาชีวิตเข้าแลกล่ะ ยังไม่สามารถรักษาความตั้งมั่นของจิตไว้ได้ มันต้องมีขึ้น มันต้องมีลง

การที่เราจะมามุ่งหมายเอาจิตตั้งมั่น ในขณะใช้ชีวิตฆราวาสเนี่ย มันจะถูกหรือ? ขอให้มองไว้อย่างนี้ เพื่อที่จะวัดว่าการปฏิบัติของเรามาถูกทาง โอเค เรื่องของสมาธิ เรื่องของความตั้งมั่นของจิตเนี่ย มันเป็นส่วนหนึ่งที่ว่า ถ้าเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ เกิดขึ้นเป็นวันๆ เกิดขึ้นเป็นช่วงๆ เกิดขึ้นเป็นอาทิตย์ๆ อันนั้นดีมากเลย อันนั้นเป็นจุดที่บอกได้ว่า เรากำลังมีจิตที่เรียกว่า เป็นจิตแบบน้ำขึ้น ถ้ารีบตักได้นี่แจ๋วเลยนะ แต่การคาดหวังว่าจะไม่ให้มันถอยเลย อันนี้ถือว่ามันเป็นความเข้าใจผิด

เพื่อที่จะให้ตัวเองสบายใจ ก็ดูว่าแต่ละครั้งที่มันมีความยึดมั่นถือมั่น หรือเกิดกิเลสขึ้นมาเนี่ย ใจมันพุ่งไปในทางเอา หรือว่าพุ่งไปในทางที่จะถอน พุ่งไปในทางที่จะถอย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากว่าเราเคยมีความโกรธที่แรง เราเคยมีความน้อยใจที่มาก เราเคยมีความไม่สบายใจ มีความขัดเคืองอยู่ตลอดเวลาอยู่เนืองๆนี่ แล้วเราปฏิบัติไปปฏิบัติมา ไอ้ความขัดเคืองแบบเดิมมันเกิดขึ้น เกิดขึ้นแบบเดิมเป๊ะเลย แต่ใจเราเอาไหม ความโกรธนั้น หรือว่าใจเรามีความชอบ คือมีฉันทะที่จะดูว่า ความโกรธสักแต่เป็นสภาวะ เหมือนกับไฟที่ถูกจุดขึ้น ด้วยการขัดสีของขอนไม้สองขอน เราสามารถเห็นได้ไหมว่า เมื่อเหตุมันดับไป คือการกระทบกระทั่งมันดับไปแล้ว เราสามารถเห็นได้ไหมว่า ไฟในใจของเรามันดับลง แล้วไม่เอามาเผาตัวเองต่อ ไม่เอาไฟที่ควรจะดับไปแล้วนั้น มาเผาตัวเองต่อ ถ้าหากว่าอาการของใจของเรา ถอยออก ถอนออกจากกิเลส ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ หรือโมหะ นี่แหละบอกตัวเองเดี๋ยวนั้นเลยว่า นี่คือเรียกว่ามาถูกทาง ยิ่งมาถูกทางแบบนี้มากขึ้นเท่าไร เรายิ่งใกล้เป้าหมายขึ้นไปมากขึ้นเท่านั้น

แต่ถ้าหากว่าเราตั้งเป้าไว้ ตั้งโจทย์ไว้ว่า จะให้จิตมีความตั้งมั่นให้จงได้ มีแต่จะเอาๆๆ จะเอาจิตตั้งมั่นให้ได้ อันนี้จิตมันก็เท่ากับไปสร้างอะไรขึ้นมาอย่างหนึ่ง เพื่อที่จะให้ยึด ยึดว่าเราจะต้องมีอย่างนั้น เราจะต้องมีอย่างนี้ ถึงจะดี ถึงจะได้ ถึงจะนับว่าก้าวหน้า ถึงจะนับว่าเจริญ แบบนี้ไม่ถูกแน่นอน มันเป็นอาการยึด ไม่ใช่อาการคลาย มันเป็นโมหะอย่างหนึ่ง ทำไม่ได้ แต่จะเอาให้ได้ มันจะไปถูกทางได้อย่างไรนะ ขอให้มองอย่างนี้



๕) เคยได้ยินมาว่าวันโกน วันพระ ให้ถือพรหมจรรย์ เพราะเป็นวันหยุดของนรก มิฉะนั้นจะทำให้สัตว์นรกจะมาเกิดในท้อง?

อันนี้ผมเพิ่งเคยได้ยินนะ ไปได้ยินมาจากไหนเอ่ย? ที่ท่านให้ถือพรหมจรรย์ในวันพระ อันนี้เท่าที่คุยจนได้ข้อสรุปมา ฟังจนได้ข้อสรุปมา จากสถิติที่เกิดขึ้นในหมู่ทั้งฆราวาสและบรรพชิต จะพูดเป็นเสียงเดียวกันเลยว่า วันพระ มักจะมีกิเลสแรง ไม่ว่าจะเป็นราคะ โทสะ หรือโมหะ ไม่ทราบว่าเพราะอะไร?
นี่ก็จะบ่นกันอย่างนี้นะ เอาล่ะ เราไม่ต้องไปทราบก็แล้วกันว่าเพราะอะไร มันอาจจะเป็นคลื่นแม่เหล็กโลกแรง คือพอวันพระเนี่ย จะเป็นวันจันทร์เต็มดวงหรือไม่ก็จันทร์แรมอะไรแบบนี้ มันคงเป็นอิทธิพลของดวงจันทร์ อิทธิพลของดวงจันทร์นี่เขาพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ได้ว่า ถ้ามันเข้าใกล้มากเนี่ย หรือมันมีความสว่างมากอะไรเนี่ย มันก่อให้เกิดผล น้ำขึ้นน้ำลง หรือว่าสนามแม่เหล็กอะไรต่างๆตรงนั้น เราไม่ต้องไปสนใจก็ได้ มันยังไม่ได้ข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน ว่ามีผลกระทบต่อจิตใจของเราอย่างไร

แต่เอาเป็นว่า วันพระ คนส่วนใหญ่จะรู้สึกว่า ตัวเองมีกิเลสหนาแน่น ถ้าหากว่าเราทำบุญขึ้นในวันพระ เราสามารถห้ามใจได้ในวันพระ วันที่กิเลสแรงที่สุด แล้วจะมีวันไหนล่ะ ที่เราจะเอาชนะกิเลสไม่ได้

วันที่แรงที่สุด แล้วเรายังสามารถเอาชนะกิเลสหนาได้ เราสามารถถอนใจออกมาจากหล่มกิเลสได้ มันก็ไม่มีวันอื่นที่เราไม่สามารถจะเอาชนะได้ มันชนะได้หมด นี่คือหลักง่ายๆเลยว่า เราจะถือปฏิบัติพรหมจรรย์ในช่วงวันพระไปเพื่ออะไร



๖) ถ้าเรามีวิบากเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน แต่เราไม่ก่อเวรกับเขาตอบ แล้วทู่ซี้อยู่ในที่ทำงานเดิมต่อไป ถ้าสักวันวิบากอ่อนกำลังลง สถานการณ์จะดีขึ้นไหม? หรือถ้าไม่ย้าย ยังไงวิบากก็ไม่ลดเลย?

มันตอบยากนะ เพราะว่าเรื่องของแรงส่งของกรรมเก่า ที่มันเป็นตัววิบากในปัจจุบันนี้ แต่ละคนทำมาไม่เท่ากัน แล้วมันก็ไม่มีอะไรที่ตายตัวว่า เราจะใช้การอภัยแค่ไหน มันถึงจะไปลบล้างหรือไปละลายเวร หรือว่าการผูกกรรมสัมพันธ์แบบเก่าๆให้ละลายหายไปได้ มันไม่มีอะไรที่แน่นอน สมมติว่าเราพูดนะว่า คนสั่งสมความรวย พูดข้างดีก็แล้วกัน มันจะได้เห็นชัดเจนหน่อย บางคนเนี่ย อย่าง ‘บิล เกตส์’ (Bill Gates) เขาก็มีความชอบใจแค่ว่า อยากจะทำซอฟต์แวร์ขึ้นมา อยากจะให้มีไมโครคอมพิวเตอร์ขึ้นมา เพื่อที่ทุกคนจะได้มีสิทธิ์ใช้ นี่เป็นความตั้งใจมุ่งหมายอย่างแรกของเขา โดยที่เขาไม่ได้เก็งว่า วันหนึ่งเขาจะเป็นบุรุษที่รวยที่สุดในโลกอะไรขึ้นมา เขาแค่ตั้งเป้าไว้ว่า อยากจะให้ทุกคนในโลกนี้สามารถใช้ไมโครคอมพิวเตอร์ได้ เสร็จแล้วมันเวิร์คนะ เขาทำไมโครคอมพิวเตอร์ขึ้นมาแล้วมันใช้ได้จริง ก็ปรากฏว่าคนส่วนใหญ่ใช้แล้วมันก็ขาดไม่ได้ ที่เคยไม่มีแล้วก็ใช้ชีวิตอยู่ได้นี่ แต่พอมาใช้ไมโครคอมพิวเตอร์ทีเดียว ชีวิตก็ขาดไมโครคอมพิวเตอร์ไม่ได้อีกเลย อย่างนี้เนี่ยนะ แล้วมันก็เป็นสิ่งที่แพร่หลายไปทั่วโลก ก็ทำให้เขารวยขึ้นมาแบบไม่รู้เรื่องรู้ราว รวยเป็นบ้าเป็นหลังไป

แต่คนอีกเยอะแยะนะ มีความตั้งใจคล้ายๆกัน อยากจะให้มีผ้าชิ้นนี้ใส่ด้วยกันทั้งประเทศเลย แต่คนเขาไม่ใส่กันน่ะ คืออุตส่าห์ออกแบบมาดีแค่ไหนแล้วก็ตาม แต่คนเขาไม่ชอบ ไม่ต้องตาต้องใจ เขาไม่อยากใส่กันขึ้นมา มันก็ไม่ได้ใส่ มันก็ไม่ได้รวยแบบ ‘บิล เกตส์’ นะ อันนี้ที่พูดเพื่อที่จะให้เข้าใจว่า ถึงแม้ว่ามันจะเป็นเวรเหมือนกัน มันจะเป็นการผูกเวรเหมือนกัน แต่ว่าที่เราไปทำให้เขาเจ็บใจแค่ไหน แล้วมันจะต้องผูกกันนานแค่ไหน มีความเคียดแค้นกันไปทั้งชาติ หรือกี่ชาติก็แล้วแต่ มันไม่สามารถที่จะมาบอกได้ตั้งแต่ตอนต้น ตอนทำนี่เราไม่รู้หรอก แต่มารู้ก็ตอนที่มันเกิดเวรภัยเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ต่อเนื่องมาแล้ว

ความเจ็บใจตัวเดียวนี่นะ มันพูดยากจริงๆคือความเจ็บใจ ถ้ามันไม่หาย ไม่รู้จะทำยังไง ที่จะทำให้มันออกไปจากใจ เขาก็ยังผูกเวรกับเรา หรือว่ามีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความรู้สึกขัดเคืองไม่เลิกอยู่ดี อยู่นั่นเองนะครับ

อันนี้ก็คงต้องทำใจไว้ว่า ไม่ว่าเวรจะยืดเยื้อยาวนานแค่ไหน เราก็จะใช้เป็นเครื่องบำเพ็ญบารมีในทางเมตตา ในทางกรุณา ในทางให้อภัยเป็นทาน นอกเหนือจากนี้ ไม่รู้จะเอาอะไรมาแก้ เราจะใช้มนต์คาถา เราจะใช้อะไรเนี่ย บางทีแผ่เมตตาก็แล้วอะไรก็แล้ว มันไม่เวิร์ค ก็ไม่รู้จะทำยังไง บางคนไปใช้ไสยศาสตร์ มันยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ ไสยศาสตร์นี่ของมืดนะ ต่อให้เป็นไสยขาวนี่ ถึงแก้ มันก็แก้ไม่ถูกจุดนะครับ มันไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุคือกรรม


เอาล่ะครับ คืนนี้ราตรีสวัสดิ์ครับ ขอให้เจริญในธรรมด้วยกันทุกท่าน


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น