วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๖๐ / วันที่ ๖ มิ.ย. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันพุธที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงครับ ทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง สำหรับการทักทายและไถ่ถามเข้ามาในรายการนะครับให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/HowfarBooks



๑) เวลากิเลสย้อมจิต รู้สึกถึงแรงบีบคั้นของกิเลส พยายามดูความหนักเบาของกิเลสหรือความเป็นอนัตตาของจิตแล้ว แต่สุดท้ายก็ต้องยอมทำตามกิเลส หรือถ้าไม่ยอมทำตามกิเลสก็พลิกเป็นโทสะขึ้นมาแทน รบกวนขอคำแนะนำด้วย?

พอเกิดกิเลสขึ้นมานี่นะ เรารู้สึกถึงความบีบคั้นของกิเลส ตรงนั้นเป็นสติ แต่ถ้าหากว่ามีความรับรู้ว่ากิเลสเกิดขึ้นจะหนักจะเบาแค่ไหนก็ตาม แล้วยังพุ่งตามแรงผลักดันของกิเลสนี่เรียกว่าตัวสติที่เกิดขึ้นนี่ สักแต่เกิดขึ้นเพื่อรับรู้ว่ากิเลสมันมีน้ำหนักแค่ไหน มันมีดีกรีแค่ไหน แต่สติยังไม่มีกำลังมากพอที่จะทำให้เกิดการหยุดยั้ง ไม่เกิดตัวที่จะไปเอาชนะกิเลส ถ้าหากว่าเรามองเป็นสติเราต้องมองเป็นสติ ๒ แบบ

สติชั้นที่ ๑ แบบที่หนึ่งนะ คือ สติแบบห้ามใจ อย่างถ้าหากว่า เราสมาทานศีลไว้ คือถือปฏิบัติ คิดตั้งใจว่าจะรักษาศีล เรียกว่าสมาทานศีล แล้วพอมีเรื่องยั่วยุ อย่างเช่น เรื่องยั่วยุให้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ฆ่ายุง บี้มด หรือว่าแมลงอะไรต่างๆแล้วเรานึกขึ้นได้ ว่าตั้งใจไว้ว่าจะไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แล้วความตั้งใจนั้นก็จะมาเตือนให้เกิดการยับยั้งชั่งใจไม่ลงมือทำ ทั้งๆที่โดนยั่วยุให้ทำ และก็มีสิทธิ์ที่จะทำได้ด้วย และอยู่ในอำนาจที่จะทำได้ด้วย นี่เรียกว่าสติมันเกิดขึ้นทันการณ์ สติมีกำลังมากกว่าความอยากจะฆ่าสัตว์ตัดชีวิต สตินั้นก็ทำให้เกิดบุญกุศล แทนที่จะเกิดบาปขึ้นมา มันเปลี่ยนเป็นบุญกุศลแทนขึ้นมา

จำไว้เลยว่า หากถ้าตั้งใจจะทำบาปแล้วเกิดสติ สามารถระงับยับยั้งการทำบาปนั้นได้ มันจะพลิกกลายเป็นบุญ กลายเป็นกุศลขึ้นมาทันที อย่างที่ในคัมภีร์ว่าไว้นะว่า ถ้าหากว่ารู้เท่าทันอาการของอกุศล สิ่งที่มันจะเกิดขึ้นแทนที่คือมหากุศล ถ้าหากว่าเรามองพิจารณาอย่างนี้นะว่า สติในชั้นที่จะห้ามใจมีส่วนสำคัญไม่ใช่ไม่มีส่วนสำคัญ เราก็จะเห็นค่าของการรักษาศีล ถ้าหากว่าใครรักษาศีลมาดี ก็จะมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้มีสติที่มีกำลังแก่กล้า เกินกิเลสที่มันจะมาทำให้จิตใจของเรามันเป๋ไป มันมีความอยากพุ่งทะยานไปตามแรงกิเลสได้มากขึ้นเรื่อยๆ พูดได้ง่ายๆคือยิ่งใช้ชีวิตมากอยู่บนเส้นทางของผู้ที่รักษาศีล ก็จะมีสติ จะยิ่งมีกำลังที่จะในการหักห้ามกิเลสมากขึ้นเท่านั้น

ทีนี้ถ้ามาถามว่า เอาล่ะ เราเจริญสติ เจริญสตินี่ที่จะรับรู้ตามจริงว่าเกิดภาวะอะไรขึ้นในขอบเขตของกายใจ อย่างนี้แบบนี้นะมันเป็นสติแบบที่ ๒ คือ สติรู้เท่าทันว่าภาวะอะไรเกิดขึ้น ส่วนจะยับยั้งชั่งใจได้หรือเปล่า มันขึ้นกับองค์ประกอบอีกหลายๆอย่างนะว่าเราฝึกมาแบบไหน บางสำนักก็อาจจะให้รู้เฉยๆ

ซึ่งรู้เฉยๆนี่นะ สำหรับมือใหม่ที่อาจจะยังไม่เคยเคร่งครัดในการรักษาศีล หรือไม่เคยฝึกห้ามใจมาก่อน ถ้าไปหากรู้เฉยๆอย่างเดียวมันก็จะรู้เฉยๆจริงๆ คือไม่เกิดอะไรขึ้น ตัวปัญญาจะมันเกิดขึ้นนิดหน่อยว่าตัวโทสะ ลักษณะของโทสะมันหน้าตาเป็นแบบนี้ แต่จะให้เห็นความไม่เที่ยงของโทสะ เห็นความไม่เที่ยงของความร้อนขึ้นมาทันทีทันใด มันไม่ใช่นะ มันต้องฝึกกันเป็นปีๆหรืออย่างน้อยก็ต้องหลายเดือน หรือถ้าหากว่าคนมีเมตตาอยู่เป็นทุนมากหน่อยก็อาจจะต้องใช้เวลาหลายวัน ถึงจะเข้าใจได้ว่าอ้อโทสะเกิดขึ้น ความหงุดหงิดเกิดขึ้น สติเกิดทัน เราก็จะสามารถเห็นโทสะนั้นแสดงความไม่เที่ยงออกมาได้

แต่ไม่ใช่ว่ารู้เท่านั้นแล้วจะมีผลในการยับยั้งชั่งใจทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่เรามีโทสะขึ้นมาแรงๆหรือเป็นคนเจ้าโทสะอยู่เป็นทุน กำลังของโทสะนี่ ที่มันพุ่งออกไปมากๆมันขับดันให้ปากขยับงับๆหรือขยับมือไม้ให้ร่ายรำกระบวนยุทธ์ เตรียมพร้อมที่จะต่อกร หรือว่าเข้าสู่สมรภูมิ มันเป็นเรื่องของอำนาจความเคยชิน ใครสั่งสมความเคยชินที่จะตอบสนองต่อโทสะไว้อย่างไร โดยมากก็จะหลงที่จะหลุดเข้าไปสู่ห้วงของความมอดไหม้ตามไฟโทสะแบบนั้น ด้วยพฤติกรรมแบบเดิมๆที่สั่งสมความเคยชินมา ตัวสติที่เพิ่งมาฝึก ที่เพิ่งมารู้เพิ่งมาเห็นตัวอาการของโทสะ มันยังช่วยอะไรไม่ได้

ทางที่ดีที่สุดคือเราต้องสำรวจตัวเองไว้ว่า เราอยู่ในขั้นไหน ถ้าหากว่าโทสะมันแรงขนาดที่จะทำผิดศีลได้ เช่น เรื่องของโทสะจะเกี่ยวข้องโดยมากกับเรื่องของโทสะจะเกี่ยวกับการผิดศีลข้อ ๑ และ ศีลข้อ ๔ ศีลข้อ ๑ คือฆ่าสัตว์ตัดชีวิตหรือทำร้ายร่างกายกันด้วยกำลังกาย ส่วนศีลข้อ ๔ ก็คือทำร้ายกันด้วยคำพูด ทำร้ายกันด้วยการด่าทอ คำพูด เสียดแทงด้วยคำหยาบ หรือว่าการใส่ไคล้ด้วยการนินทาว่าร้าย

ถ้าหากว่าเราสำรวจพบว่ายังมีพฤติกรรมทางกายและทางวาจาในแบบที่จะละเมิดศีล หรือว่าหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดศีลได้ต้องตั้งใจไว้ล่วงหน้าเลย คือไม่ใช่ดูอย่างเดียว แต่ต้องดูด้วย เห็นทันด้วย และก็ห้ามใจตัวเองด้วย การห้ามใจนั่นแหละคือพฤติกรรมของผู้รักษาศีลเมื่อเราฝึกที่จะรู้เท่าทันและห้ามใจได้แล้วมีกำลังมากพอแล้วจะรู้

รู้ได้อย่างไร? รู้ได้ด้วยการที่เห็นชัดเลยว่า พอเกิดโทสะขึ้นมามันมีอาการที่เหมือนไม่อยากจะด่าไม่อยากจะทำร้ายใครขึ้นมาเอง พูดง่ายๆคือจิตใจเริ่มมีเป็นเมตตา เริ่มมีปกติเป็นเมตตาขึ้นมา ตรงที่มีปกติเป็นเมตตาขึ้นมานั่นแหละ ถึงจะสมควรเจริญสติ แบบรู้อย่างเดียว แค่รู้ไป รู้ว่า มันเกิดขึ้น เพื่อที่จะเห็นว่ามันดับไปตอนไหน ถ้าหากว่าไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นตอนไหนไม่มีทางเห็นเลยว่ามันดับไปเมื่อไร และถ้าหากว่าไม่รู้ไม่เห็นว่ามันเกิดขึ้นเมื่อไร ดับเมื่อไร ไม่รู้ว่าตั้งอยู่เมื่อไรหายไปเมื่อไร ปัญญาแบบพุทธไม่มีทางเกิดขึ้นเลย ไอ้ที่จะรู้สึกว่าความโกรธสักแต่เป็นภาวะ สักแต่เป็นความร้อนไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เราเขา ไม่มีทางเลยที่จะเกิดขึ้น

มีวิธีเดียวที่เราจะเห็นโทสะสักแต่เป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตนได้ก็คือ มีสติเห็นความไม่เที่ยงของมัน เห็นความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของเรา และเมื่อเห็นว่ามันไม่เที่ยงเห็นว่ามันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนบ่อยๆเข้า ในที่สุดเราจะรู้สึกว่าโกรธเมื่อไรเดี๋ยวมันหายไปให้ดูเมื่อนั้น อาการทางปากกับอาการทางกายมันจะสงบระงับ มันจะไม่มีแรงดันออกมาทางปากไม่มีแรงดันออกมาทางกาย เราจะรู้สึกได้เลยและพอเปรียบเทียบได้มันก็จะเห็นมองย้อนไปเห็นว่า ที่ผ่านๆมาที่เราอดไม่ได้ที่จะด่า ที่เราอดไม่ได้ที่จะทำร้ายใครด้วยร่างกาย ก็เพราะว่ามีแรงดันซึ่งยังไม่มีสติมาเอาชนะได้ แรงดันนั้นคือแรงดันของกิเลส

นี่มันจะเห็นไปเป็นชั้นๆเห็นเลยว่ากิเลสเราหนาแค่ไหน กิเลสเราแรงแค่ไหน แล้วมันลดระดับลงแล้วหรือยัง ถ้าหากว่าเราเห็นไปเรื่อยๆนะว่า ยิ่งทำ ยิ่งทำถูกวิธี เริ่มจากห้ามใจให้เป็นเสียก่อน แล้วก็ไปรู้ให้ถูก มีสติให้ทัน กิเลสมันจะลดระดับลงอย่างเห็นได้ชัด แรงดันของกิเลสมันจะทำอะไรเราไม่ได้ มันจะบงการให้เราขยับปากตามแรงดันของโทสะไม่ได้ มันจะบงการให้เราร่ายรำมือรำไม้ไปด้วยแรงดันของโทสะก็ไม่ได้อีกเช่นกัน ใจเราจะมีความชอบใจ เกิดฉันทะ มีความพึงพอใจ ที่จะเจริญสติทั้งในที่จะแบบห้ามกิเลสและก็ในแบบรู้กิเลส รู้เท่าทันกิเลสมากขึ้นเรื่อยๆตามวันเวลาที่ผ่านไป

ส่วนคำถามที่ว่าถ้าไม่ยอมทำตามกิเลส มันจะก็จะพลิกขึ้นมาเป็นโทสะขึ้นมาแทนเต็มๆนั้น จริงๆแล้วนี่มันเป็นเรื่องปกติที่เราคาดหมายได้นะ คือพอมีกิเลส นึกออกไหม จะมันมีแรงดันใช่ไหม หากเราไปขวางมันทั้งๆที่เรายังไม่มีกำลังมากพอก็จะมันก็เกิดความขัดแย้งและมันก็เกิดความอึดอัด และความขัดแย้งทางใจกับความอึดอัดทางกายมันเป็นเชื้อฟืนเพลิงอย่างดีให้โทสะลุกโพลงขึ้นมา ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมถึงเกิดโทสะขึ้นมา

ต่อเมื่อเรามีความเป็นคนมีจิตใจเยือกเย็น พร้อมที่จะแผ่เมตตาเป็นปกติอยู่แล้วนี่ เราจะเห็นเลยว่าความขัดแย้งหรือว่าความอึดอัดทางกายทางใจ มันลดลงแบบฮวบฮาบหรือบางทีไม่มีความขัดแย้งเลย มีแต่ความรู้สึกว่า เออดี ไม่ต้องโกรธ เออดี ไม่ต้องเกลียด เออดี ไม่ต้องมาทำร้ายใครด้วยกายหรือว่าวาจา กายของเรามีความสงบระงับ วาจาของเรามีความสงบระงับ มีความเย็น มีความสะอาด มีความใส เราอยู่กับอะไรที่มันดี อยู่กับโลกที่มีความสว่าง

มองย้อนกลับไปมันจะเห็นเลยว่าเดิมอยู่ในโลกที่มันเต็มไปด้วยความวุ่นวาย เต็มไปด้วยฟ้าผ่า เต็มไปด้วยไฟไหม้ป่า และบางทีนะเต็มไปด้วยไฟไหม้ฟาง เริ่มจากไฟไหม้ฟางขึ้นมาและเดี๋ยวมันก็หายไป หรือไม่ไฟไหม้ฟางขึ้นมามันกลายเป็นลามทุ่ง ลามเข้าไปถึงป่า ไหม้ทั้งป่า แบบนั้นนี่มันไม่มีความสุข อยู่กับกลิ่นควันไฟอยู่ตลอดเวลา คนที่มีโทสะมันเหมือนกับคนที่อยู่กับกลิ่นควันไฟตลอดเวลานั่นแหละ มันมีแต่ความรู้สึกว่าตัวเราพร้อมที่จะรุ่มร้อน พร้อมที่จะก่อพฤติกรรมอะไรที่มันให้ความรู้สึกเหม็นเหมือนควันไฟ



๒) หลังจากที่ได้ศึกษาธรรมะ ฝึกเจริญสติ ฝึกรู้จิตว่าอะไรมากระทบ รู้ว่าทุกอย่างไม่เที่ยง แต่พอเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองหลายครั้ง ประกอบกับบ้านเมืองเปลี่ยนไปมาก มีการคอร์รัปชันกันมากมายเหลือเกิน ตัวเองไม่ได้มีผลกระทบอะไรมากเลย แต่สงสารคนรากหญ้าที่เขาลำบากมากมาย โจรก็ชุกชุมกว่ายุงเสียอีก ระหว่างการนิ่งเฉยไม่ทำอะไรเลยกับการแสดงความคิดเห็นว่าอะไรถูกอะไรผิด เราควรทำอย่างไรกับสถานการณ์แบบนี้? รู้สึกว่าเวรกรรมตามทันช้าจัง

ข้อแรกนะ ที่บอกว่าบ้านเมืองเปลี่ยนไปมาก คอร์รัปชันมากมายเหลือเกินนั้นนี่ไม่จริงนะ เพราะบ้านเมืองไม่เคยเปลี่ยนไปเลยมา ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาสมัยการเปลี่ยนระบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย หวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้น ประชาชนปกครองกันเองด้วยความเป็นธรรม ไม่มีใครเป็นเผด็จการ มันไม่ใช่เลย มันเหมือนกันมาตลอด

ทุกสิ่งทุกอย่างยังเหมือนเดิม ตั้งแต่เริ่มต้นระบอบประชาธิปไตย คือไม่ได้มีความยุติธรรมอย่างที่แท้จริง คือไม่ได้มีใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ถือกำเนิดเกิดมาเพื่อที่จะทำเพื่อประชาชาชน แต่ทุกคนเกิดมาเพื่อที่จะทำให้กับตัวเองและพวกพ้องกันทั้งสิ้น และก็การคอร์รัปชันที่เราเห็นเป็นเรื่องปกติมากขึ้น ก็เพราะว่าเขามีการเปิดเผยและหรือว่ามีการเปิดโปงกันมากขึ้น แต่ถ้าเรารู้ความจริงว่าแท้ๆแล้วอันที่จริงมันเป็นแบบนี้มาตลอด ไม่ได้มีอะไรมากขึ้นหรือน้อยลง ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของแต่ละคน ขึ้นอยู่กับความทนทานและมีความสามารถในการต่อต้านเงินร้อยล้านพันล้านของแต่ละคน

ยิ่งสมัยนี้นี่นะ ประเภทที่จะว่ารู้สึกอาย รู้สึกว่าไม่อยากดูเงาตัวเองในกระจกเวลาไปรับทรัพย์ใครเขามา รับสินบนมาเป็นสิบล้าน ร้อยล้านบาท เพื่อทำผิดอะไรระดับชาตินี่นะ มันไม่มีหรอกและไม่มีแบบนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่เพียงแต่ว่าปริมาณมันจะมากแค่ไหนหรือเราจะรู้เห็นสักเท่าไร เราเคยคาดหวังกับใครไว้แล้วเขาทำให้เราผิดหวังอย่างไร อันนี้มันก็ขึ้นอยู่กับดีกรีของการนำเสนอข่าว หรือว่าความสามารถที่เราจะติดตามข่าวได้

และคำถามที่บอกว่าสงสารคนรากหญ้าลำบากมากมายนั้น คนรากหญ้าก็ลำบากชั่วนาตาปีนั่นแหละ ถ้าหากเราจะช่วยคนรากหญ้าจริงๆเราต้องช่วยแบบที่ว่าไม่พึ่งไม่คาดหวังส่วนกลางให้มาก เราอยากจะเห็นคนรากหญ้าเจริญขึ้น ต้องเห็นด้วยตาตนเองและทำด้วยมือตนเอง คือเราเลือกไปเลยว่าจะให้คนกลุ่มไหนโชคดีด้วยมือเรา และอยากจะเห็นคนกลุ่มไหนที่มีพัฒนาการ มีความสามารถช่วยเหลือตนเองได้ กับตาของเราเอง เราต้องเลือกเลยไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็กอนาถา หรือว่าจะเป็นหมู่บ้านที่เขารับเข้าไปเป็นกลุ่มอาสาพัฒนาชนบทอะไรก็แล้วแต่

คือมันต้องเลือกเป็นกลุ่มที่เราต้องเลือก ไม่ใช่ว่าเราจะคาดหวังว่าทุกอย่างจะต้องดีขึ้นด้วยฝีมือของส่วนกลางเพราะว่าถ้ามองตามหลักของกรรมวิบากนั้นนี่ คนที่เคยขี้เหนียวมามาก หรือไปโกงเขาไว้มาก มันมีชะตากรรมที่จะต้องอัตคัดขัดสน หรือว่าลำบากกันทั้งชีวิตจริงๆมันไม่ใช่ว่าจะมีเทวดาที่ไหนสามารถช่วยให้คนทั้งโลกได้รอดพ้นจากความยากจน โลกมีคนยากจนลำบากมาชั่วนาตาปี ไม่ว่ากี่กัปกี่กัลป์เป็นอย่างนี้เหมือนกันหมด มันเหมือนยอดพีระมิด คนที่สบายคนที่มีความสุขอย่างเราๆถือว่าอยู่แถวๆยอดพีระมิดแล้ว คนที่เขาเป็นฐานพีระมิดจริงๆมีไม่รู้กี่พันล้านอยู่ตรงฐานพีระมิด

และที่บอกว่าเรานิ่งเฉยไม่ทำอะไรเลยกับการแสดงความเห็นว่าอะไรถูกอะไรผิด ถ้าเราหมายถึงการแสดงความเห็นทางอินเตอร์เน็ต ทำได้ ทำไปเลย มันเป็นสิ่งที่ดีด้วยในระบอบประชาธิปไตย อะไรถูกอะไรผิดเราไม่ควรนิ่งดูดาย แต่สิ่งที่ต้องระวัง มาจากการแสดงความเห็นคือความรู้สึกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย มีความรู้สึกสะใจที่ได้ด่า หรือว่ามีความรู้สึกมีใครมาเชียร์ที่เราเหน็บแนมเก่งประชดเก่ง หรือว่าทำให้อีกฝ่ายสู้ไม่ได้ หรือว่าเถียงไม่ออก

มันต้องเฝ้าระวังจิตใจว่า เราจะหวังอะไรในการแสดงความเห็น ถ้าหวังว่าจะให้อะไรๆมันดีขึ้น เราต้องคิดไว้ก่อนเลยว่า ด้วยการด่าจะไม่มีทางที่อะไรมันจะดีขึ้น ในทางการเมืองนะ ในทางบทบาททางสังคม บทบาททางการปกครอง คนที่ทำให้บ้านเมืองเจริญขึ้นหรือว่าการปกครองดีขึ้นต้องเป็นคนที่ตั้งใจดีจริงๆและก็มีความสามารถที่จะพูดให้คนเกิดความรู้สึกใฝ่ดีขึ้นมาได้ นอกจากนั้นต้องมีพรรคพวกที่จะให้การสนับสนุนซึ่งก็ต้องยอมรับว่าหากันมันยากโดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยเฉพาะปัจจุบันที่เรื่องเงินต้องมาก่อน

พูดกันไปเถอะ ด่ากันไปเถอะ มันเอาชนะกำลังของความจริงได้ไหม ความจริงที่ว่าเขาเอาเงินกันก่อน เขาไม่เอาหรอกความดี เขาไม่เอาหรอกชาติหน้าจะเกิดมาแล้วหล่อ สวย รวยอะไรอย่างไร ยิ่งถูกเงินครอบงำมากนี่นะจำไว้เลย จิตใจมันจะยิ่งถูกปรุงแต่งให้หลงไปเข้าใจว่า สิ่งที่ตัวเองทำอยู่มันชอบธรรม สิ่งที่ตัวเองทำอยู่มันถูกต้องอยู่แล้ว จะเชื่อหรือไม่เชื่อเรื่องชาติหน้าก็ตามอันนี้ไม่เกี่ยว ขอโกงก่อน โกงแล้วไม่น่าจะมีผลกับชาติหน้าอะไรหรอก

ผมเคยเจอคนที่ฉลาดที่สุดในประเทศมาหลายคน ที่มีบทบาททางการบ้านการเมืองนี่ ส่วนใหญ่เขาไม่เชื่อหรอกเรื่องชาตินี้ชาติหน้า หรือว่าบุญกรรมอะไร อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าอำนาจเป็นใหญ่ในโลก คือเคยมีคนเคยทูลถามว่าอะไรเป็นใหญ่ในโลก พระพุทธเจ้าตรัสตอบตามตรง ท่านไม่ได้ตอบว่าความดี สิ่งที่เป็นใหญ่ในโลกคืออำนาจ และทุกวันนี้อะไรคือสิ่งที่เป็นฐานของอำนาจ คือเงิน เงินเพียงอย่างเดียวเลย

ถ้าจะให้เซฟก็คือเราอยู่ในบ้านในเมืองเราเป็นประชาชนที่ดี แล้วก็ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง หากเห็นอะไรไม่ถูกไม่ควร ตอนนี้มีช่องทางที่จะแสดงความคิดเห็น หรือแสดงพลัง แม้กระทั่งจะจับกลุ่มกันก็ตามเพื่อที่จะเรียกร้องอะไรก็ตาม เป็นเรื่องที่ดีของความเป็นพลเมืองดี ของความเป็นประชาชนในชาติ

แต่เราต้องคำนึงมากๆเลยว่าพูดอะไรไปแล้ว ทำอะไรไปแล้ว มันได้ผลอะไร คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าแค่พูดไปแล้วมันก็น่าจะมีอะไรดีขึ้น หรือว่าเราได้ทำอะไร เราได้มีส่วนที่จะช่วยให้อะไรๆมันดีขึ้นแล้ว แต่ขอให้ดูผลที่ออกมาจริงๆว่าเรากลายมาเป็นหนึ่งในคนที่ทำให้เกิดข้อขัดแย้งไม่รู้จบหรือเปล่า เรามีส่วนในการไปกระตุ้นให้เขาเกิดโทสะ ให้เขายิ่งเกิดความรู้สึกเกลียดหรือว่าเห็นมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายสนับสนุนหรือโจมตีรัฐบาล นี่รัฐบาลของเรา นั่นรัฐบาลของเธออะไรแบบนี้ มันเป็นวังวนของความเดือดร้อนร่วมกัน ไม่ใช่การได้ทางออกร่วมกันนะครับ



๓) การถวายสิ่งของเครื่องใช้ให้พระภิกษุสงฆ์นั้น ถ้าไม่ได้ถวายโดยตรง สามารถส่งให้ทางไปรษณีย์ เช่น ส่งหนังสือหรือซีดีให้พระสงฆ์ เป็นต้น ถือว่าบุญนั้นสำเร็จตั้งแต่ช่วงตั้งใจโดยไม่ต้องประเคนใช่หรือไม่?

เดี๋ยวพระท่านก็มีคนประเคนให้เองสำหรับของที่ญาติโยมส่งมาให้ไม่ต้องห่วงครับ



๔) การที่ผมให้ทานกับเด็กขอทาน โดยที่มีความอยู่คิดในใจเสมอมาว่า เป็นการส่งเสริมให้คนลักพาตัวเด็กมาเป็นขอทาน ผมสมควรที่จะให้ทานในเวลานั้นหรือไม่?

ไม่สมควรเพราะว่าตอนนั้นจิตเป็นอกุศลเรียบร้อยแล้ว

ผมพูดเสมอเลยว่ากรรมเริ่มต้นขึ้นด้วยการรับรู้ว่าอะไรเป็นอะไร อย่างถ้าหากว่าเรานึกว่าเป็นจุดเล็กๆอยู่ในเงามืดสลัวๆและเอานิ้วไปบี้เล่น อ้าวแล้วตายกลายเป็นยุง ยุงตายสนิทนี่ แบบนี้ไม่ถือว่าเป็นเราฆ่า เพราะเราไม่ได้ใช้กำลังใจในการฆ่าเลยแม้แต่น้อย เพราะเรานึกว่าเป็นจุด อย่างนี้นะ หรือถ้าตรงกันข้ามมียุงอยู่เห็นชัดๆคือเรารู้ว่านั่นเป็นยุง มันเป็นสิ่งมีชีวิตแต่เราแกล้งคิดว่า มันเป็นแค่จุดๆหนึ่งมันไม่มีความหมาย ตบเพียะไป การแกล้งคิดนั้นก็ไม่ได้ช่วยให้พ้นจากปาณาติบาตไปได้

กรณีอันนี้ก็เช่นกันถ้าหากว่าเรามีความรับรู้คิดตั้งแต่ต้นว่า เด็กนี่ถูกลักพาตัวมาหรือเปล่า สงสัยอย่างนี้แล้วเรายังขืนไปให้ อย่างนี้การให้นั้นนี้จึงมีมลทินเรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าหากว่าเราเห็นๆอยู่เออว่าหน้าตาเหมือนกันเลยคนอุ้มกับคนที่มาด้วยกันเด็กหน้าตาเหมือนกัน แม้ว่าคือเค้าจะมีด้วยเจตนาอะไรก็ตามแต่เด็กมันอยู่กับคนๆนั้นจริงๆถ้าเราไม่ให้ตังค์เขาเด็กก็ไม่ได้กินข้าวจริงๆคือเราจะไปคิดซับซ้อนไม่ได้ว่านี่เป็นการส่งเสริมให้เด็กถูกนำมาเป็นตัวประกันในการขอทานมากขึ้นเรื่อยๆหรือเปล่า เพราะมันเป็นแบบนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ไม่ว่าจะย้อนไปนานแค่ไหน เขาเอาลูกเอาหลานหรือเอาเด็กมาขอทานกันแบบนี้เพื่อเรียกความสงสารขอความเห็นใจ

เอางี้ก็แล้วกัน ถ้าครั้งไหนเราไม่สบายใจจริงๆและรู้สึกว่าเด็กดูเหมือนกับเป็นผู้ดีมีสกุลรุนชาติผิดปกติ เราแจ้งให้หน่วยงานที่เขาเรารับผิดชอบมาสำรวจสอดส่องดู เราเข้าไปคุยๆกับเขาเสียหน่อยว่าลูกได้มาอย่างไร สงสัยเด็กมีบุญมาเกิดนะนี่ แต่ทำไมไม่รู้จะต้องมาอยู่อะไรแบบนี้ เราลองเลียบๆเคียงๆ ถ้าหากว่าเราอยากจะทำบุญจริงๆกับเด็กจริงๆก็แจ้งให้หน่วยงานให้เขาทราบไปเลย มันก็จะได้เปลี่ยนจากว่า แทนที่เราจะต้องมาสงสัยว่าควรจะให้ทานหรือไม่ให้ทานแก่คนๆนี้ ก็เปลี่ยนเป็นว่าช่วยเด็ก ช่วยเหลือเด็กให้พ้นจากความทุกข์ทรมานไปเลย อย่างนี้มันจะได้เป็นบุญ เป็นการช่วยเหลือ เป็นการให้ทานที่แท้จริง

แต่ถ้าหากว่าเรามีแค่ความรู้สึกสงสารอยากให้อยากช่วย ต่อให้เป็นเด็กมานี่นะ แต่เด็กอย่างไรก็แล้วแต่ ให้เราคิดไว้ก่อนว่าพ่อแม่ของเด็กยากจนและลูกจำเป็นต้องออกมาช่วยเหลือ ก็อย่าคิดมาก ให้ไปเลย แล้วก็ให้ไปด้วยความรู้สึกว่านี่เราช่วยด้วยการรับรู้ตั้งต้นว่าเด็กน่าสงสาร เราอยากช่วยเด็ก

ผมก็เคยเห็นเด็กที่ไหน แต่มันไม่รู้จะช่วยอย่างไร คือคิดอยากช่วยมากๆไม่ใช่แค่ช่วยให้ตังค์ คือคิดแต่อยากเปลี่ยนชีวิตเขาเลย ผมสงสาร เป็นคนที่คิดสงสารเด็กๆมากๆตั้งแต่ไหนแต่ไร เวลาเห็นเด็กลำบากหรือว่าจะต้องมานั่งขอทานทั้งๆที่หน้าตาน่ารัก หรือว่าต้องมาขายพวงมาลัยเสี่ยงชีวิตกันตามสี่แยก โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆที่เห็นว่าบอบบาง แต่ก็ไม่รู้จะช่วยอย่างไร คือมันไม่ใช่ขอบเขตที่เราจะไปช่วยเหลืออะไรได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะช่วยได้เฉพาะหน้า คือเขาขออะไรเราให้สิ่งนั้น



« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น