วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๘ / วันที่ ๗ ก.พ. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันอังคารที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ก็เป็นอีกค่ำคืนนึงนะครับที่ผมไม่ได้ออนแอร์สด แต่จะมาตอบคำถามที่ได้รับมากที่สุดคำถามหนึ่งคือ ‘ทำยังไงจะกำจัดความคิดแย่ๆทิ้งไปได้?’



รับมือความคิดแย่ๆ

  •  ทำอย่างไรจะกำจัดความคิดแย่ๆในหัวทิ้งไปได้?
  •  ความคิดไม่ดีมาได้อย่างไร?
  •  คิดแค่ไหนถึงเรียกว่าเป็นบุญเป็นบาปติดตัวไปแล้ว?
  •  อาหารหล่อเลี้ยงของความคิดแย่ๆคืออะไร?
  •  หลักการหรือวิธีรับมือกับความคิดแย่ๆเฉพาะหน้าคืออย่างไร?


ทำอย่างไรจะกำจัดความคิดแย่ๆในหัวทิ้งไปได้?

คนยุคเราจะชอบคิดไม่ดีกันบ่อยๆ โดยมันจะกลายเป็นคลื่นรบกวนจิตใจ ให้เกิดความรู้สึกแย่กับตัวเอง หรืออย่างน้อยก็รำคาญคลื่นความคิดที่ว่านี้ ซึ่งแม้แต่คนที่ได้ชื่อว่าตัดสินใจจะเป็นคนเลวนะครับ ยังรำคาญเลย ไม่ใช่ว่าต้องเป็นคนดีถึงจะรำคาญ

เพื่อจะ ‘รับมือ’ กับความคิดไม่ดีอย่างถูกต้อง ก่อนอื่นคุณต้องไม่คิด ‘กำจัด’ มันทิ้ง เพราะความคิดเป็นนามธรรม จับต้องไม่ได้ และมันไม่เลือกเวลามาหาเรา เหมือนศัตรูที่ไม่บอกล่วงหน้าว่าจะเข้าโจมตีเมื่อไหร่ หรือปรากฏตัวในรูปแบบไหน การพยายามต่อสู้กับมัน ก็เหมือนกับการพยายามสู้กับสิ่งที่ไม่มีตัวตน หรือนินจาล่องหนดีๆนี่เองนะครับ รบไปก็แพ้เปล่า

มาตรการรับมือที่ถูกต้องนะครับ เราจะอาศัยหลักการบางอย่างที่ทำให้ความคิดที่เลวร้ายทั้งหลายเนี่ยมันแพ้ภัยตัวเอง สาบสูญไปเอง โดยที่เราไม่ต้องออกแรงพยายามทำลายล้างมัน และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือไม่ไปเผลอสร้างมันขึ้นมา หรือป้อนอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตมันให้ยืดอายุออกไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ก่อนอื่น เราต้องตั้งโจทย์เป็นข้อๆ ทั้งเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ครอบคลุมนะครับ ตลอดจนรู้ขั้นตอนการรับมือเฉพาะหน้าอย่างไม่ผิดพลาดนะครับ

โจทย์ข้อแรกที่ต้องรู้ให้ได้ก็คือ...



ความคิดไม่ดีมาได้อย่างไร?

ไม่มีอะไรเกิดขึ้นโดยบังเอิญนะครับ ตามหลักของ ‘ขันธ์ ๕’ ในพุทธศาสนาชี้ว่า เรามีหู มีตา รับภาพกับเสียง ภาพเสียงเข้ามากระทบหูตาให้เกิดความรู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ จากนั้นจึงค่อยเกิดความจำตามมา แล้วก่อแนวโน้มที่จะคิดดีหรือคิดร้าย

นั่นหมายความว่า ถ้าสุขทุกข์มีพลังหนักแน่น ความจำก็ฝังแน่น และโอกาสคิดดีร้ายก็แรงตาม

ความคิดไม่ดีเป็นฝ่ายลบ ฝ่ายร้าย เพราะฉะนั้นก็ต้องสันนิษฐานว่า สิ่งที่เรารับเข้ามาผ่านหูตาหรือการกระทบกระทั่งส่วนอื่นๆนั้นเป็นของไม่ดี ไม่น่าชอบใจนะครับ ถึงเป็นต้นเหตุของความรู้สึกที่มันไม่ดีขึ้นมาได้ สัมผัสเนี่ยนะครับที่เข้ามากระทบเราเนี่ย พอปะทะกับเรา แล้วจึงเกิดความรู้สึกเป็นทุกข์มาก เมื่อทุกข์มากก็ฝังอยู่ในความทรงจำแน่น แล้วก็เกิดความคิดร้ายๆเป็นผลสืบเนื่องกันมา

ตัวอย่างการกระทบหูตาที่ชัดเจนนะครับ ก็เช่นมีคนมาด่าเราตรงๆ หรือเราอาจจะไปดูหนัง ฟังเพลง หรือไม่ก็คบกับคนพาลสันดานหยาบ กระทั่งใจเราเนี่ยมันสั่งสมความรู้สึกเป็นทุกข์เข้ามาบ่อยๆ ความจำจึงผุดขึ้นบ่อยตามนะครับ ที่มันแย่ๆเป็นความจำแย่ๆ อาจจะเป็นคำหยาบ หรืออาจจะเป็นไอ้ความคิดที่มันไปเพ่งโทษคนอื่นนะครับ เพ่งโทษตามคนอื่นที่เค้ามาไกด์เราให้มองตามแนวทางที่มันมืดมน มืดบอด หรือว่ามันเลวร้ายต่างๆนะครับ

หรืออีกทางนึงนะครับ เราอาจจะเคยทำให้ใครเจ็บใจ มองใครไว้ไม่ดี จนสะท้อนให้เกิดความรู้สึกอึดอัด คือพอไปมองเค้าไม่ดีเนี่ย มันสะท้อนกลับมาเป็นความรู้สึกอึดอัดในใจเราเอง พอเกิดความรู้สึกอึดอันนั่นน่ะเป็นทุกข์แล้ว ยิ่งเป็นทุกข์รุนแรงกับตัวเองเท่าไหร่ มันก็จะยิ่งเกิดความจำแย่ๆฝังแน่นตามเข้ามาด้วย แล้ววันดีคืนดีมันก็ผุดขึ้นมาในหัวเราเป็นคำหยาบ หรือคำด่า หรือคำที่ไม่เป็นมงคลใดๆขึ้นมาได้นะครับ คือไปด่าคนอื่นเค้าไว้ หรือไปทำให้คนอื่นเค้ารู้สึกแย่ไว้ แค่รู้สึกแย่เนี่ยนะมันก็กลายเป็นอะไรที่เสียดแทงใจเราเองแล้วก็ผลิตคำพูดไม่ดีขึ้นมาในหัวเราได้

สรุปแล้วก็คือ ที่มาที่ไปของความคิดไม่ดีหรือว่าคำหยาบในหัวนะครับ มันมีที่มาที่ไป ไม่ใช่อยู่ดีๆเกิดขึ้นเองหรือว่ามีใครแกล้งนะครับ

โจทย์ข้อที่สองที่ต้องรู้ก็คือ...



คิดแค่ไหนถึงเรียกว่าเป็นบุญเป็นบาปติดตัวไปแล้ว?

ความคิดนี่นะครับ ถ้ายังไม่เติบกล้าพอ ใจก็ยังไม่เปื้อนบาป ยังไม่มีบาปติดตัวไปให้ต้องชดใช้หรอก ความรู้ข้อนี้นะครับจะช่วยให้หลายคนสบายใจขึ้นมาก เพราะส่วนใหญ่อยู่ในระดับผุดความจำขึ้นมาลอยๆ ยังไม่ได้จงใจคิด กรรมยังไม่ครบวงจรนะครับ

หลายคนไม่สบายใจที่ตัวเองคิดแย่ๆคิดไม่ดีเนี่ย ก็เพราะว่ากลัวบาปกลัวกรรมมันมันจะติดตัวไปนั่นเอง ถ้าหากว่ารู้แล้วว่าระดับความคิดไหนที่มันยังไม่ได้เกิดเป็นกรรมเป็นบาป ก็จะได้เกิดความสบายใจขึ้นมาแทน

ที่คิดไม่ดีแล้วเป็นบาป ตัดสินกันที่มีความ ‘ยินดี’ ในความคิดนั้นเป็นอันดับแรก อันดับสองคือมีความ ‘หนักแน่นยั่งยืนที่จะยินดี’ ในความคิดนั้น และอันดับสุดท้ายคือ ‘ยินดีที่จะพูดและทำตาม’ ความคิดนั้น

หมายความว่าแค่คิดเฉยๆ ยังไม่ได้บอกว่าคุณเป็นยังไง น่าทรมานใจกับความเป็นคนแบบนั้นแล้วหรือยัง

คุณต้องวนเวียนคิดอยู่นานพอนะครับที่จิตจะยึดความคิดนั้นว่าเป็นคุณจริงๆ ถ้าเริ่มคิดร้ายขึ้นมา แล้วรู้สึกไม่ยินดี ไม่อยากให้อยู่ในหัวของเรา อันนั้นไม่ถือว่าเป็นความคิดของเรา ยิ่งถ้าตั้งใจเด็ดขาดว่าจะไม่พูดแล้วก็ไม่ทำตามความคิดนั้นเป็นอันขาด ก็ยิ่งชี้ชัดนะครับว่า อำนาจความคิดไม่สามารถครอบงำคุณได้ คุณไม่มีทางเป็นไปตามอำนาจความคิดที่พยายามครอบคุณแน่ๆ สบายใจได้เลยนะครับ คุณยังไม่ได้ทำบาปหรอก

โจทย์ข้อที่สามคือ…



อาหารหล่อเลี้ยงของความคิดแย่ๆคืออะไร?

ทุกสิ่งที่มันมีตัวตนอยู่ได้เนี่ย ก็ต้องอาศัยอาหารหล่อเลี้ยงนะครับ ไม่งั้นมันไม่มีทางที่จะมีตัวมีตนอยู่ได้ ความคิดเลวๆนั้นก็มีอาหารหล่อเลี้ยงเหมือนกันนะครับ ไม่แตกต่างกับสิ่งอื่นๆ

ความคิดแย่ๆมี ‘อาหารหล่อเลี้ยง’ อยู่ ๒ อย่างก็คือ

๑) มีใจ ‘ยินดี’ ไปกับมัน ตกลงใจใช้ชีวิตตามความคิดนั้นๆ
๒) มีใจ ‘ต่อต้าน’ มากเกินไปจนเป็นทุกข์ ความทุกข์นั่นแหละคืออาหารล่อเลี้ยงความคิดที่ไม่ดีอย่างหนึ่งนะครับ อย่างที่บอกแล้วว่าความทุกข์ที่แรงนั่นแหละเป็นตัวตอกย้ำความจำให้มันลึกลงไปในใจ ไม่ใช่ถอนมันออกมาจากใจนะครับ

โจทย์ข้อสุดท้ายคือ…



หลักการหรือวิธีรับมือกับความคิดแย่ๆเฉพาะหน้าคืออย่างไร?

คุณต้อง ‘รับมือ’ กับความคิดแย่ๆด้วย ‘สติ’

และความหมายแท้ๆของสติก็คือ การระลึกได้ตรงตามจริงว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในขณะนั้น ไม่ใช่มันเกิดขึ้นก็ไปพยายามฝืนปฏิเสธ แกล้งหลอกตัวเองว่ามันไม่ได้เกิดขึ้น หรือมันดับไปเดี๋ยวนี้ไม่ได้ ก็ไปพยายามทำให้มันดับนะครับ มันเป็นความพยายามที่เกินความสามารถ เกินตัว เกินจริงนะครับ แบบนั้นเนี่ยสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการเหนื่อยเปล่า ทุกข์มากขึ้นไปอีก

ถ้าไม่ต้อนรับ ไม่ต่อต้าน แล้วจะให้ทำอย่างไร? ก็ให้ยอมรับตามจริงครับ ยอมรับตามสภาพที่มันเกิด ไม่ไปต่อต้าน แล้วก็ไม่ไปพยายามทำลาย

การไม่พลอยยินดีไปกับมัน ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ไปยินร้ายอะไรมากมายนะครับ สักแต่ยอมรับไปตามจริงนั่นแหละครับที่เรียกว่ามีสติแล้ว เพราะรู้แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นจริงๆในขณะนั้นไง

เมื่อมีสติ ก็มีความสว่างนะครับ เมื่อมีความสว่างมา ความมืดก็หายไป หรือค่อยๆเบาบาง เจือจางลงไปทุกที หมายความว่าพอเกิดความคิดแย่ๆเสียดแทงจิตใจปั๊บ คุณปลงใจยอมรับโดยดุษณีว่ามันเกิดขึ้น อย่าไปปฏิเสธว่ามันไม่ได้เกิดขึ้น คุณจะเห็นถนัดด้วยสติในขณะที่ยอมรับนั่นแหละว่ามันรู้สึกแย่ขนาดไหน ทรมานใจเพียงใด และก็เวลาต่อมาคุณจะมีความสามารถที่จะดำรงสติอยู่ได้แล้วก็เห็นว่ามันแผลงฤทธิ์ไม่นานนะครับ เดี๋ยวมันก็ค่อยๆอ่อนกำลังลงไป โดยที่คุณยังไม่ได้ไปออกแรงผลักไสอะไรแม้แต่น้อยนะครับ

ด้วยความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการเห็นว่ามันมาเองได้ เดี๋ยวมันก็ไปเองได้อย่างนี้เองนะครับ พอบ่อยเข้า ใจคุณจะจำว่ามันไม่ใช่ตัวคุณ และคุณจะไม่ยินดี ไม่ยินร้ายกับมันออกมาจากตรงกลางใจเลยนะครับ

ขอเพียงคุณฝึกรับมือกับความคิดแย่ๆเฉพาะหน้าได้บ่อยๆ ในที่สุดก็จะกลายเป็นมีสติในระยะยาว แล้วก็กลายเป็นความสว่างรุ่งเรืองในระยะยาวตามไปด้วย อันนี้ดูเหมือนง่ายนะครับ แต่ได้ผลจริงๆครับ ถ้าทำทุกครั้งนะครับ


ราตรีสวัสดิ์แล้วก็ฝันดีไปกับความเข้าใจที่ถูกต้องนะครับ


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น