วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๙ / วันที่ ๘ ก.พ. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันพุธที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง และเพื่อจะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการนะครับให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/HowfarBooks

คืนนี้เน็ตที่บ้านผมติดๆดับๆก่อนเข้ารายการนี้ก็มีอาการอยู่เหมือนกันนะครับ เพราะฉะนั้นถ้าหากออนแอร์อยู่แล้วเสียงหายยาว ก็ต้องขออภัยล่วงหน้า

ช่วงนี้นะครับ ดูเหมือนข่าวคราวไม่สู้ดีมีมาให้กังวลอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางความคิด หรือภัยทางธรรมชาติที่มาเร็วสำหรับบางท้องที่ ก็อยากให้ทุกท่านนะครับ นึกถึงวิธีรับมือกับความกังวลไปก่อนเหตุ หรือความเครียดไปเกินการณ์ ด้วยการฝึกเจริญสติเป็นปกติครับ



๑) กรณีถูกคบแบบกั๊กๆ ไม่ใช่แฟน เป็นเวลาหลายปี ทั้งๆที่รู้ว่า เคยเดินทาง คงจะหมายถึงเคยมีกรรมสัมพันธ์ด้วยกันมาก่อนนะครับ ก็มีเหตุจากที่ไปทำเขาเอาไว้ก่อนใช่ไหม มีทางแก้อย่างไร? เวลารู้ว่าเขาไป โพสต์ชมคนโน้น คนนี้ หรือไปบอกใครว่าไม่มีแฟน หรือแนะนำว่าเราเป็นแค่พี่น้อง มันเจ็บในอกขึ้นมา เหมือนเขาหาคนที่ใช่ คนอื่นอยู่ตลอด เหมือนคุยไปเรื่อยๆ ทั้งๆที่รู้ว่า อยู่กับเราเขาก็ทำตัวเป็นเจ้าของ แต่เหมือนเป็นเงาในชีวิตเขา ไม่มีทางเป็นตัวจริง?

อันนี้รูปแบบความสัมพันธ์ก็คือ ไม่ใช่แฟนแต่เกินเพื่อนนะ ซึ่งสมัยนี้นิยมกันมากเลย มันไม่ทราบว่าเริ่มมาเมื่อไหร่ ปีไหนนะครับ แต่ว่าเป็นยุคของ จะเรียกว่าอะไรดี การที่เราไปเจอใครที่เราอยากจะปักใจกับเขา แล้วก็รู้สึกว่าเราทุ่มเท เราจริงใจ เราให้ความจริงจังนะครับ คิดถึงอนาคตยาวๆ คิดถึงความสุข ความสมบูรณ์ในชีวิตคู่ ก็สื่อนะครับว่า เรา ตัวเรานี่เป็นฝ่ายหลงเขามาก ติดใจเขามาก หรือว่ามีความหวังกับเขามาก

แต่การที่เขาทำตัวแบบหนึ่ง ที่จะว่าใช่ ก็ไม่เต็มปาก จะว่าไม่ใช่ มันก็ไม่เชิงนี่นะ ก็แสดงว่า ใจของเขาไม่ได้เล็งอยู่ที่เราเต็มที่ ยังไม่ได้ติดใจเราเต็มที่ อันนี้ต้องยอมรับตามจริงให้ได้ก่อน อย่าไปคิดเรื่องกรรมเก่า หรือว่าเคยไปทำอะไรมานะ มองตรงนี้ให้ออกก่อนว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเขานี่เราเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เขาเป็นฝ่ายได้เปรียบ

การที่เราจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบใครถ้าพูดในแง่ของกรรมสัมพันธ์นี่นะ มันเคยทำกันมาไว้จริงๆว่า เขาเคยให้เรามากกว่าที่เราให้เขา นี่ยังไม่ได้พูดในแง่เรื่องความเป็นคนรัก หรือว่าเป็นเพื่อนเป็นอะไรทั้งสิ้นนะ พูดถึงเรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบนี่ พูดง่ายๆคือเขาเคยให้เรามามากกว่าที่เราเคยให้เขา เขาเคยทำให้เรามีความรู้สึกดี อาจจะมีความรู้สึกซาบซึ้งในบุญคุณ หรือว่าอาจจะมีความรู้สึกเหมือนกับพิศวาส เสน่หา หรืออะไรนี่นะ เขาให้อะไรบางอย่างมามากกว่าที่เราให้เขา เราจึงตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ หรือเป็นเบี้ยล่างเขาเมื่อกรรมเผล็ดผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของความรู้สึกนี่นะ มันชัดๆเลย

บางคนขอให้สังเกตเถอะ พูดเรื่องไกลจากความรักไปมันอาจจะทำให้เห็นได้ชัดหน่อย อย่างบางทีเราคบกับใครแบบเพื่อน แต่จะมีความรู้สึกอยู่ว่าไม่เท่ากัน มันเหมือนกับว่าเราจะต้องเป็นฝ่ายไปพึ่งพาเขา หรือว่าเราจะต้องเป็นฝ่ายให้เขามาดูแล หรือให้เขามาเทคแคร์เรามากกว่า หรือว่า เราเป็นฝ่ายที่จะต้องเรียกร้องความเห็นใจจากเขา มากกว่าที่เขาจะมาเอาอะไรจากเรานะ

ความรู้สึกที่ว่าเขาจะต้องเป็นฝ่ายที่ให้เรามากกว่านี่ ตรงนั้นมันเรียบร้อยแล้ว ไปจัดการกับความรู้สึกในใจของเราเรียบร้อยแล้วว่า เขาเหนือกว่า หรือว่าเขามีอิทธิพลกับเรา มากกว่าที่เราจะมีอิทธิพลกับเขา อันนี้เป็นสิ่งที่เห็นง่ายๆในชาติปัจจุบันเลย

นี่ก็เช่นกัน คือถ้าหากว่าเราเป็นผู้ชายนะครับ แล้วเราไม่สามารถที่จะให้ความรู้สึกว่า เราเหนือกว่าเขาได้ หรือว่าเราได้เปรียบเขา เรามีมือที่เหนือกว่าที่จะยื่นให้เขา ซึ่งเป็นมือที่อยู่ข้างล่างแล้วก็รอรับ ถ้าหากว่าเราให้ความรู้สึกอย่างนั้นกับเขาไม่ได้ เขาจะไม่รู้สึกว่าเกิดความรู้สึกชัดเจนกับเราขึ้นมานะ นี่คือพูดเรื่องธรรมชาติของความรู้สึกกันก่อนเลย อย่าเพิ่งไปพูดเรื่องกรรม เรื่องวิบากอะไรกัน

ถ้าหากว่าเราจะเป็นความอบอุ่นใจให้เขา และทำให้เขารู้สึกว่าเราใช่จริงๆ หยุดอยู่ที่เราคนสุดท้ายจริงๆนี่ ประการแรกเลยคือ เราต้องไม่เรียกร้อง ไม่พยายามที่จะไปจี้เขา หรือว่าแสดงให้เขาเห็นว่าเราเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ถ้าหากว่าเราเป็นฝ่ายด้อยกว่าเมื่อไหร่ในความรู้สึกเขานี่ เขาจะรู้สึกว่าเราจะยังไม่ใช่ทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากว่าเราเป็นผู้ชาย นะครับ เราเป็นเพศชายนี่ พูดกันง่ายๆให้เข้าใจกันชัดๆนะ ในเวลาที่จำกัดแบบนี้

การที่เขาจะกั๊กหรือไม่กั๊กอะไรนี่ ขอให้มองแบบนี้ก่อน มองแบบแฟร์ๆ ผมไม่ได้พูดรายละเอียดนะว่าใครถูกใครผิด แต่มองแบบแฟร์ๆอย่างนี้ก่อนว่า การที่เขาจะกั๊กหรือไม่กั๊กนี่ มันเป็นสิทธิ์ของคนที่ยังไม่ได้แต่งงานกัน แต่การที่เขามาทำตัวเป็นเจ้าเข้าเจ้าของในแบบที่ว่า อยู่กันสองคนแล้วรู้กันว่า ห้ามเธอไปทำอะไรนอกลู่นอกทางจากที่ฉันกะเกณฑ์ไว้นะ อย่างนี้นี่นะ มันเป็นเรื่องที่ไม่สมดุลกัน มันเป็นเรื่องที่ทำให้เรารู้ว่าเราตกอยู่ในฐานะของเบี้ยล่าง เพราะฉะนั้นก็มีวิธีที่จะจัดการกับความรู้สึกของตัวเองนะครับ ก็คือ อย่าไปคาดหวังมาก ถ้าหากไปคาดหวังมากนี่นะ แล้วเราพยายามไปเรียกร้องมาก อย่างไรเราก็ต้องเสียเปรียบอยู่วันยังค่ำแล้วความรู้สึกของเขาก็จะไม่มีวันที่จะเท่าเรา หรือเห็นเราเหนือกว่าอย่างเด็ดขาด

อันนี้ขอตอบเป็นหลักการไว้ก่อนก็แล้วกัน เรื่องของกรรมวิบากนี่ ก็คิดง่ายๆว่า เขาคงเคยให้อะไรเรามามากกว่า หรือเขาอาจเคยทำอะไรมามากกว่าเรา ที่อย่างน้อย ณ เวลาเจอกัน มันทำให้เขามีเสน่ห์ หรือว่ามีความน่าติดใจ มากกว่าที่เขาจะมาติดใจเรานะครับ มองอย่างนี้ก่อนก็แล้วกัน



๒) อยากสอบถามเรื่องกรรมเก่าจะส่งผลให้เกิดการป่วยไหม มีหนทางใดบ้างที่จะทำให้อาการนั้นทุเลาเบาบางลง?

พระพุทธเจ้าตรัสว่าสาเหตุของการเจ็บไข้ได้ป่วยมีอยู่ ๔ ประการ อันนี้ท่านตรัสไว้กับพระนะครับ แต่ก็น่าจะมาประยุกต์ได้ในกรณีทั่วไป ท่านตรัสว่า ที่ป่วยมีสาเหตุอยู่ ๔ ประการด้วยกัน

๑) เรื่องของดิน ฟ้า อากาศ เรื่องของอุตุฯ พูดง่ายๆว่า จะเป็นเรื่องของเชื้อโรค เรื่องของลมฝน จะเป็นอากาศหนาวมากเกินไป อะไรต่างๆนานานี่ มันทำให้เจ็บป่วยขึ้นมาได้ โดยไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องปัจจัยอื่น

๒) ใช้กำลังงานมากเกินไป พูดง่ายๆคือ ทำให้เครื่องมันร้อน ร่างกายมันร้อนเกินเหตุนะครับ ก็เกิดอาการที่มันโอเวอร์ฮีต ร่อแร่ๆ เหมือนกับเป็นไข้ หรือว่าเป็นอะไรที่มันเกี่ยวข้องกับความร้อนได้ ความร้อนจากภายในคือ คนโบราณเรียกว่า ธาตุไฟกำเริบ นะครับ

๓) ไม่ออกกำลังกาย ไม่ออกกายบริหาร อันนี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ตั้งแต่กว่าสองพันปีที่แล้ว เอามาใช้ได้เลยนะ ถ้าหากว่าเราคิดว่าเราเป็นคนเจ็บป่วยออดๆแอดๆ ถามตัวเองดูว่า มีการออกกำลังกายให้ร่างกายมันมีภูมิต้านทาน มีภูมิคุ้มกัน มีความแข็งแรงออกมาจากภายในไหม ถ้าหากว่า ยังไม่ได้ออกกำลังกายนะครับ ขอให้พิจารณาดูว่าอันนี้เป็นต้นเหตุเหมือนกัน ของสาเหตุของการเจ็บไข้ได้ป่วย

๔) พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นไปได้ที่จะป่วยจากกรรม การที่เราจะมองออกนะว่า โรคนี้เป็นโรคเวรโรคกรรมนี่ ดูง่ายๆเลยคือไม่สามารถรักษาได้หาย ไม่สามารถที่จะไปค้นหาสาเหตุว่ามันมาจากไหน เป็นโรคที่แปลกกว่าใครเขา หรือว่าไปหาหมอกี่เจ้าๆ เขาก็ตรวจดูบอกว่าไม่มีอะไร มันน่าจะเป็นอาการแพ้อย่างนู้น แพ้อย่างนี้ หรือว่าเป็นอาการทางใจของเราเอง แต่เราเองก็บอกว่า อาการทางใจของเราไม่มี แพ้บางจุดนี่ มันมีด้วยเหรออาการทางใจนี่ ที่จะไปจี้กันเป็นจุดๆให้เกิดอาการแพ้ขึ้นมา

นี่แหละ ตรงนี้นี่แหละนะครับ ที่วิทยาศาสตร์อธิบายไม่ได้พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เป็นไปได้ที่กรรมจะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้นมา สาเหตุสี่ประการตรงนี้ ถ้าเราจะพิจารณาว่าโรคนั้นเป็นโรคเวรโรคกรรมนะ ทำอย่างไรถึงจะทำให้ทุเลาลง ส่วนใหญ่ ไม่ใช่ทั้งหมดนะ โรคเวรโรคกรรมจะเกิดมาจากการเบียดเบียนคนอื่นให้ได้รับความเดือดร้อน ทางกาย ทางใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากเดือดร้อนถึงขึ้นที่จะต้องล้มหมอนนอนเสื่อ หรือว่า จะต้องพิกลพิการ อะไรแบบนั้นนี่นะ เวลาที่ย้อนกลับมาเผล็ดผลนี่จะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยแบบที่เราไม่สามารถอธิบายได้ว่ามันมาได้อย่างไรนะ แล้วก็รักษาก็ไม่หาย

ทางที่จะทำให้ทุเลาลงตามหลักของพุทธศาสนาก็คือ ไปปล่อยสัตว์ ปล่อยสัตว์ให้มาก ปล่อยในที่นี้ไม่ใช่เอาไปปล่อยตัวสองตัว แต่หมายความว่าให้ใจเรา มีอาการผูกติดกับชีวิตทานนะ ให้ชีวิตเป็นทาน ให้ชีวิตเป็นทานหมายความว่าอย่างไร หมายความว่า เขากำลังจะถูกฆ่าอยู่แล้ว หรือว่าเขากำลังจะถูกจองจำให้หมดอิสรภาพ เราไปช่วยทำให้ชีวิตของเขานี่มันยืดต่ออกไป หรือทำให้ชีวิตของเขาได้รับอิสรภาพ อะไรแบบนี้มันจะได้ผลแรง เพราะว่าพลังของชีวิตที่มันยืดออกไป หรือว่าที่มันเป็นอิสระต่อไปได้นี่ จะย้อนกลับมาช่วยให้อาการเจ็บป่วยที่เกิดจากกรรมข้อปานาติบาต มันมีอาการทุเลาลงได้

ถ้าหากว่าเราทำบ่อย เราทำจริงนะ แล้วทำมากเป็นเวลาต่อเนื่องนานพอ บางคนนี่ ทำหลายๆปีเลยนะ มันเห็นผลได้ชัดนะครับว่า อาการที่แปลกๆ อาการที่หาสาเหตุไม่ได้ มันบรรเทาเบาบางลง มันรู้สึกดีขึ้น คือความรู้สึกนี่เป็นตัวชี้อย่างหนึ่งนะว่า กรรมของเราเบาบางลงหรือยัง ถ้าหากว่าความรู้สึกของเราคล้ายๆกับปลอดโปร่ง หรือคล้ายๆกับอาการทางกายมันรายงานว่าทุกอย่างดีขึ้น ทุกอย่างมันสบายขึ้น ณ ตรงนั้นนะครับ มันเริ่มที่จะเห็นผลแล้ว ถ้าไม่ทดลองบางทีมันจะมองไม่เห็นว่า ความรู้สึกที่ว่าเป็นอย่างไร

คนที่ทดลอง แล้วก็ตั้งใจทำจริงๆนี่นะ มันจะประจักษ์กับตัวเองเป็น ปัจจัตตัง รู้ได้ด้วยตน เห็นได้ด้วยตน รู้สึกได้ด้วยตน นอกจากเรื่องของการให้ชีวิตเป็นทานแล้ว อีกอันหนึ่งก็คือ การตั้งใจที่จะรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ ไม่แม้แต่จะตบยุง ไม่แม้แต่จะบี้มด การที่เราตั้งใจแบบนี้ปุ๊บ เดี๋ยวมันจะมีบททดสอบมาเยอะแยะเลย เพื่อที่จะดูว่าเราเอาจริงหรือเปล่า หรือว่าเราตั้งใจทำจริงหรือเปล่า หรือคิดในอีกแง่หนึ่งก็คือ พอเราตั้งใจปุ๊บ ธรรมชาติเขาส่ง… เรียกว่าอะไรดี การทำบัตรผ่านว่า จะให้เราเข้าสู่เขตอีกเขตหนึ่ง เขตของการปลอดจากความเบียดเบียน เขตของการปลอดโปร่งจากความเดือดเนื้อร้อนใจจากการทำปานาติบาต

ถ้าหากว่าเราทำบัตรผ่านได้ผ่านฉลุยนะครับ ส่วนใหญ่มันจะมาในรูปที่ว่าที่เคยถูกเบียดเบียนด้วยสัตว์เล็กสัตว์น้อย มันจะน้อยลง คือยังมีอยู่แต่ว่านานๆที และแต่ละครั้งมันไม่ทำให้เกิดอาการอะไรมากมาย ไม่ได้ทำให้เราเดือดเนื้อร้อนใจถึงขั้นที่จะต้องไปเอาชีวิตกันเหมือนที่ผ่านๆมานะครับ



๓) พ่อหนูใกล้เสียแล้วด้วยโรคมะเร็ง แต่หนูอยากให้พ่อไปสบาย จะมีวิธีไหนหรือเปล่าที่พอจะพูดให้พ่อฟังให้สบายใจได้?

เอาสูตรสำเร็จของพระพุทธเจ้าเลยก็แล้วกัน ท่านให้เข้าไปถาม เพื่อที่จะให้คนไข้ คนป่วยที่ใกล้จะต้องจากไปได้เกิดความสบายใจ ได้เกิดการถอนจากอาการยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง

คำว่าทำให้ถอนจากอาการยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง คือทิศทาง แต่วิธีการของแต่ละคน ก็อาจแตกต่างกันไปแล้วแต่รายละเอียด ซึ่งเรารู้จักคุณพ่อมาว่าคุณพ่อยังห่วงอะไรบ้าง คุณพ่อยังมีความยึดมั่น ถือมั่นอะไรมากบ้าง คุณพ่อยังคิดไม่ดีในเรื่องอะไรติดค้างอยู่บ้าง ถ้าหากว่าเรารู้แล้วเราก็ค่อยๆ พูดทีละเปลาะๆ ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านให้แนวทางไว้คร่าวๆอย่างนี้

อาจเริ่มต้นถามว่า ยังห่วงอะไรอยู่บ้าง ถ้าบอกว่า ยังห่วงลูก ยังห่วงหลาน เราก็บอกท่านว่า เดี๋ยวลูกเดี๋ยวหลานก็ตายตามไปเหมือนกัน ไม่มีใครอยู่ตลอดนะ ไม่มีใครที่จะน่าห่วงอยู่ในโลกนี้ไปอีกหลายๆร้อยปี ทุกคนจะต้องสิ้นภาวะความน่าห่วงในโลกนี้ไปตามกรรมของแต่ละคน หรือถ้าหากว่า ท่านยังห่วงสมบัติ ท่านยังห่วงเรื่องของความได้เปรียบเสียเปรียบ ผลประโยชน์อะไรต่างๆ เราก็พูดให้ฟังว่า เหล่านั้นก็ไม่มีใครที่จะสามารถครอบครองได้ตลอดไปเช่นกัน ในที่สุด ต่อให้ครอบครองได้อีกเป็นร้อยๆพันๆปี สิ่งของเหล่านั้นมันก็หมดค่าไปแล้ว

ถ้าหากว่าเราเห็นนะครับว่าท่านสามารถที่จะละ หรือว่าถอนจากความยึดมั่นถือมั่น อะไรที่มันหยาบๆได้แล้ว เราก็ถือโอกาสพูดถึงที่คนตายอยากรู้มากที่สุดเลยก็คือ ตายแล้วจะไปไหน ตายแล้วจะเป็นอย่างไร ขอให้เชื่อเถอะว่า มนุษย์ทุกคนนะ ต่อให้ปากแข็ง ต่อให้พูดกี่ครั้งกี่หนก็แล้วแต่ว่า ฉันไม่เชื่อว่าชีวิตหน้ามี ฉันไม่เชื่อเรื่อง นรก สวรรค์ แต่พอใกล้ตายนะ มันไม่เหมือนตอนกำลังมีชีวิตนะ มันคนละเรื่องเลยนะ ความรู้สึกมันจะอยากรู้ขึ้นมาว่า ตายแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ให้เราถือโอกาสตรงนั้นพูด พูดในแบบที่พระพุทธเจ้าให้พูด อันนี้ถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นคนไกด์นะครับ

ท่านบอกให้ระลึกถึงบุญ ระลึกถึงกุศลที่เคยทำมา แล้วก็บอกว่า บุญกุศลที่ทำให้ใจสบาย ที่ทำให้ใจสว่างนั่นแหละ เป็นเหตุให้เข้าถึงความสบายที่มันยิ่งกว่าในโลกมนุษย์นี้ ได้แก่ ความเป็นทิพย์ของสวรรค์ เราก็พูดให้ท่านฟังว่า สวรรค์มีชั้นไหนบ้าง สวรรค์มีชั้นที่หนึ่ง ชั้นที่สอง ชั้นที่สาม จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมานรดี ปรนิมิตวสวัตตี ลองไปค้นหา ลองไปศึกษาดูว่า สวรรค์แต่ละชั้น ท่านบรรยายสรรพคุณไว้อย่างไร เพื่อที่จะให้คนที่ใกล้จะต้องจากโลกนี้ไป ได้ระลึก ได้เอาจิตไปผูกอยู่กับสิ่งที่มันน่าสบายใจกว่าสิ่งที่กำลังจะต้องจากไป โลกที่กำลังจะต้องจากไป

นอกจากเราจะบรรยายสรรพคุณสวรรค์ วิมานอะไรต่างๆนะ สิ่งสำคัญก็คือเราต้องพูดถึงต้นเหตุให้สามารถเข้าถึงได้ ต้นเหตุนั้นก็คือ ก่อนอื่นเลย ละความพอใจในโลกนี้เสีย แล้วก็มีความพอใจ ทำความพอใจในบุญ ในกุศลที่เคยทำมา ความพอใจในบุญ ในกุศลที่เคยทำมานี่แหละ จะเป็นตัวปรุงแต่งจิตให้เกิดความสว่างไสว ปรุงแต่งจิตให้เกิดความเบิกบาน สำราญ แล้วก็มีความพร้อมที่จะจากไปด้วยความสงบ ไม่ทุรนทุรายนะครับ พูดกับท่านนี่

อันนี้เป็นแค่หลักการคร่าวๆ แต่ว่าเวลาคุณพูดจริงๆคุณต้องสังเกตอาการของท่านเองด้วย แล้วตัวคุณเองจะต้องมีธรรมะ ทั้งในแง่ของความรู้ และในแง่ของความเย็น นอกจากคุณจะบรรยายเรื่องของสวรรค์ ให้ท่านฟังได้แล้ว ใจของคุณจะต้องมีความเย็นให้ท่านรู้สึก มันเหมือนกับเปิดแอร์ แล้วก็เปิดเพลงให้ฟัง แอร์ก็คือใจของเรา กระแสทางใจของเราที่มันมีความอ่อนโยน มันมีความเยือกเย็น ส่วนเสียงเพลงก็คือ เสียงของธรรมะที่เราอ่าน หรือว่าเราพูดให้ท่านฟัง อาจจะเอาคำพูดของพระอาจารย์ที่ไหนที่เราเคารพมาพูดให้ท่านฟังก็ได้ หรือว่าเอาซีดีเสียงของท่าน มาเปิดให้คุณพ่อฟังก็ได้นะ ขอให้ท่านได้ฟังอะไรดีๆ นึกภาพตามได้ถึงสิ่งดีๆก็แล้วกันนะครับ

สำคัญอย่างหนึ่งก็คือจะต้องไม่แสดงความเศร้าโศกเสียใจให้ท่านเห็น เพราะอาการเศร้าโศกเสียใจจะเป็นพันธะ เป็นแรงยึดให้ท่านเกิดความรู้สึกอาลัยอาวรณ์ ถ้าเกิดความรู้สึกอาลัยอาวรณ์ปุ๊บ บางทีพูดมาตั้งยืดยาวนะ เสียเปล่าเลยนะครับ คือไม่มีประโยชน์เลย เนื่องจากว่าอาการทางใจของคนใกล้ตาย สิ่งสำคัญที่สุดคือ ‘อาการปล่อย’ คืออาการทิ้ง คืออาการลอยตัวเหนือจากภาวะที่มันเป็นภาระเก่าๆ หรือว่าความรุ่มร้อนเก่าๆ แม้กระทั่งลูกเมีย แม้กระทั่งบุคคลอันเป็นที่รัก ก็อย่าให้ท่านยึด แต่ให้ท่านยึดเอาความดีความงาม ให้ท่านนึกออกว่า ท่านเคยทำอะไรดีๆมาไว้บ้าง ถ้าหากว่าท่านนึกออกมากเท่าใด นั่นก็ยิ่งประกันว่าท่านจะไปได้สบายมากขึ้นเท่านั้นนะครับ



๔) เครียดกับบริษัทที่มีปัญหาการเงินว่าจะจ่ายเงินเดือนพนักงานครบ แต่ละเดือนพนักงานแทบกินแกลบ ทำให้บรรยากาศในบริษัทไม่ค่อยดี ควรยอมรับในวิบากนี้ต่อไปใช่ไหม?

พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า การอยู่ที่ไหนบางทีเราก็ต้องเลือกว่าเป็นที่ที่ทำให้เราอยู่รอดได้หรือเปล่านะครับ ไม่ใช่ว่าเราจะเลือกอยู่กับเจ้านายที่จะเอาเปรียบลูกจ้างหรือว่าจะมา พูดง่ายๆว่า ผลักภาระให้เราอะไรแบบนั้นนะ มันมีเรื่องของการทำงานที่ว่า เราต้องเอาตัวของเราเองให้รอดได้ก่อน ไม่ใช่ว่า เราไปคำนึงถึงว่านี่เป็นวิบากที่เราต้องชดใช้หรืออย่างไร ถ้าหากว่ามันเป็นวิบากจริงๆนี่นะ มันจะบีบในลักษณะที่เราไม่มีทางเลือก

คำว่าวิบากนี่นะ เวลาให้ผลจำไว้เลยนะ วิบากจะมี ๒ ระดับง่ายๆให้เข้าใจนะคือ

๑) ระดับที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยง อย่างไรก็ต้องเกิดขึ้น

๒) วิบากที่มันยังแก้ไขได้ ยังผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ ส่วนใหญ่วิบากที่มาเล่นงานมนุษย์ ในขณะที่เราเกิดเป็นมนุษย์นี่ มันจะมีบุญอยู่นะ เวลาที่มันมาเล่นงาน มันมักจะมาในแบบที่ทำให้เรานี่ต้องหาทางเลือกอื่น หาตัวเลือกอื่น ไม่ใช่ว่าบีบให้เราจำนน

กรณีของวิบากที่บีบให้เราจำนน มี ไม่ใช่ว่าไม่มี แต่น้อย อย่างเช่นกรณีนี้ ถ้าหากว่าพิจารณาว่าเราต้องไปอยู่ในบริษัทที่กำลังจะเจ๊ง หรือว่ากำลังชักหน้าไม่ถึงหลัง หรือว่า ผู้บริหารไม่สามารถหมุนเงินได้ทัน มีตัวเลือกคือ ความสามารถของเรานี่ยังมีใครที่เขาต้องการอีกได้บ้าง แล้วเราสามารถที่จะเฟดออกไปได้เร็วแค่ไหนนะ ถ้าหากว่าเรามีความสามารถเป็นที่ยอมรับ และสามารถที่จะเข้างานใหม่ได้ทันที อันนั้นเรียกว่าเรามีตัวเลือกเหลืออยู่ ไม่ใช่เราจะต้องถูกวิบากเก่านี่บีบบังคับให้มารับเงินเดือนได้บ้าง ไม่ได้บ้างอะไรแบบนี้นะครับ



๕) การตักบาตร ถ้าแม่เป็นคนจัดการเตรียมของ ตลอดจนจัดแจงทุกอย่างเสร็จสรรพ ส่วนเราแค่รอตักบาตรอย่างเดียว เราจะได้บุญไหม? แต่แม่คงได้รับไปเต็มๆ

อันนี้ก็เป็นคำถามที่มีมาบ่อยอีกเหมือนกันนะครับ การที่เราจะวัดว่าเราได้บุญหรือไม่ได้บุญแค่ไหน มีตัวแปรมากมาย ตัวแปรที่สำคัญที่สุดก็คือการที่เราได้ของมาด้วยความชอบธรรม และเราให้ไปด้วยใจที่มีความเลื่อมใสในการให้ มีความปลาบปลื้ม มีความอิ่มใจในการให้ นั่นแหละตัวบุญล่ะ ตัวบุญจะปรุงแต่งให้จิตของเรามีความสว่าง มีความเอิบอิ่ม มีความชื่นบาน มีความรู้สึกเป็นสุขอย่างใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรารู้สึกว่าใครได้ประโยชน์จากสิ่งที่เราให้ไป อันนั้นถ้าหากว่าเรารู้สึกว่าใครได้ประโยชน์จากสิ่งที่เราให้ไปแล้ว เกิดความรู้สึกปีติปราโมทย์มีความปรีดาขึ้นมานั่นแหละ เป็นตัววัดเลย เป็นตัวชี้เลยว่าเราให้ด้วยความคิดอนุเคราะห์ มันได้บุญเต็มๆอยู่แล้วนะ

แต่ว่าตัวแปรนี่จะหนักแน่นแค่ไหนมันขึ้นกับว่าเราเป็นแม่แรง หัวเรี่ยวหัวแรงริเริ่มในการจัดทำแค่ไหน ลงมือทำเองแค่ไหน ให้ด้วยมือหรือเปล่า หรือว่าไหว้วานให้คนอื่นเอาไปให้แทน เหล่านี้เป็นตัวแปรที่ทำให้น้ำหนักของบุญ หรือว่าความหนักแน่นของบุญนี่ เวลาที่เผล็ดผลมันเต็มที่หรือไม่เต็มที่นะครับ อย่างกรณีนี้ ถ้าเราทำด้วยใจที่มันเป็นกุศลจริงๆ มีความรู้สึกเป็นสุขจริงๆ เราก็ได้เต็มที่ในแง่ของการเป็นมือที่ให้ เป็นมือที่นำของไปใส่บาตรพระ เราเห็นพระแล้ว เราชื่นใจแล้ว เรารู้สึกว่าเราได้ทำให้ท่านได้มีโอกาสสืบทอดพุทธศาสนาต่อไปแล้ว นั่นแหละ ตรงนั้นแหละ เต็มที่ของเราแต่ว่าอาจไม่หนักแน่นเท่าคุณแม่เท่านั้นเองนะครับ


เอาล่ะครับ คิดว่าคืนนี้น่าจะต้องกล่าวล่ำลากันที่ตรงนี้ ไว้ดูกันว่าถ้าพรุ่งนี้ไม่ติดอะไร ก็คงจะมาพบกันอีกครับ คืนนี้ราตรีสวัสดิ์ครับ


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น