« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ
สวัสดีครับทุกท่าน วันจันทร์ที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา วันนี้พิเศษหน่อยตรงที่ผมไม่ได้ออนแอร์สดเหมือนทุกครั้ง ทั้งนี้ก็เพื่อตอบคำถามที่เกิดขึ้นบ่อยในใจคนที่ต้องการเข้าใจเรื่อง ‘การปรุงแต่งของจิต’
‘การปรุงแต่งของจิต’
สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มสนใจการเจริญสติใหม่ๆ จะไม่ค่อยเข้าใจว่า เค้าเริ่มดูกันอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อพูดถึง ‘ความปรุงแต่งทางใจ’ ส่วนใหญ่จะนึกถึงอะไรที่ยาก และน่าเบื่อ
วันนี้เราจะมองกันแบบนักเจริญสติในเมือง ที่คลุกคลีอยู่กับภาพ เสียง ที่มีสีสันเร้าใจอยู่ตลอดเวลา แล้วจะพบว่าการเจริญสติให้เห็นความปรุงแต่งของจิต ไม่ใช่เรื่องไกลตัว
หลายคนบ่นว่า ติดเพลง คล้อยตามเพลง หรืออินไปกับเพลงมากๆ ก็ นั่นแหละครับ ที่เรียกว่าใจเราถูกปรุงแต่งไปตามเพลงแล้ว ถ้าหากเรา ‘รู้วิธี’ ที่จะ ‘เห็น’ ความปรุงแต่งทางใจขณะอินไปกับเพลง ก็เรียกว่ายังมีความสุขแบบโลกๆ แต่ในขณะเดียวกันก็เริ่มก้าวเข้าสู่พรมแดนของการเจริญสติบ้างแล้ว สามารถถอดถอน ‘อาการจมลงไป’ ตามอารมณ์เพลงมากเกินไปได้บ้าง
ลองมาใช้เสียงเพลงบรรเลงที่ไม่มีเนื้อร้อง ซึ่งผมเปิดให้ฟังมาหลายคืน เพื่อเป็นการสาธิตว่า ‘ความปรุงแต่ง’ ตาม ‘ทำนอง’ เพลง โดยปราศจากเนื้อร้องนั้นเป็นอย่างไร
เพลงที่คุณได้ยินเป็นทำนองเพลงที่ฟังใสซื่อน่ารัก ชวนให้อยากยิ้มมุมปากหน่อยๆ อันนี้เพราะเสียงเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น ที่ประกอบกันเป็นทำนองสดใส สร้างอารมณ์สดใสขึ้นมา ‘ตัวอารมณ์สดใส’ นั่นแหละที่ทำให้เราบอกว่าเสียงแบบนี้น่ารัก ฟังแล้วนึกอยากยิ้ม
ทีนี้ผมจะไม่ให้ฟังแต่ทำนอง แต่บอกชื่อเพลงด้วย เพลงนี้ชื่อ ‘ความอบอุ่นกลางสายฝน’ ถ้าคุณนึกถึงชื่อนี้ แล้วฟังเพลงใหม่ ลองดูนะครับว่า จะมี ‘อาการปรุงแต่งทางใจ’ แบบใดเกิดขึ้น?
(...เสียงเพลงบรรเลง...)
หลายคนอาจจินตนาการตาม เช่น เสียงกีตาร์ เหมือนเสียงสายฝนสาดโปรย และสำหรับบางคน เสียงเพลงอาจเตือนให้จำได้ถึงช่วงขณะที่อบอุ่นในท่ามกลางความเย็นฉ่ำวันฝนตก หรือถ้าเคยเกิดความอบอุ่นกลางสายฝนมาก่อน จะกับแฟน กับพ่อแม่พี่น้อง เพื่อนพ้องที่คุ้นเคย หรือกระทั่งเคยดูหนังน่าประทับใจที่ฝังอยู่ในความทรงจำก็ตาม ใจคุณจะเหมือน ‘ถูกดึงดูด’ เข้าไปล็อกติดอยู่กับจินตภาพที่สวยงาม ตามอารมณ์เพลงทันที
ตอนฟังเพลงนี่นะครับ ถ้าใจไม่โฟกัสไปกับเสียงเพลงจริงจัง จิตจะค่อยๆออกอาการ ‘เหม่อลอย’ หรือ ‘ฟุ้งซ่าน’ เสียงจะไม่เข้ามากระทบหู หรือเสียงกระทบหู แต่จินตภาพไม่เกิด อันนี้ก็เรียกว่า ใจปรุงแต่งไปตาม ‘คลื่นความฟุ้งซ่าน’ ที่ ‘แทรก’ ขึ้นมาระหว่างการฟังเพลง
แต่ถ้าระหว่างการฟังเพลง หรือหลังฟังเพลงจบแล้ว เรายังมีความรู้สึกอ้อยอิ่ง ติดอยู่ในใจ ก็แปลว่าใจของเรา ถูกเพลงปรุงแต่งเต็มขั้น อย่างที่เรียกกันทั่วไปว่า ‘อิน’ กันนั่นแหละ
เราสามารถเห็นความแตกต่างที่ตรงนี้ ดนตรีที่ปราศจาก ‘เสียงร้อง’ ปราศจาก ‘ภาษา’ มาปรุงแต่งใจให้เล็งไปแคบๆตามเนื้อร้องนั้น บางคนนึกถึงหนุ่มหล่อ หรือสาวสวยที่เพิ่งตกหลุมรัก บางคนนึกถึงนิยายที่พึ่งอ่าน บางคนนึกถึงภาพยนตร์ที่พึ่งดู บางคนนึกถึงสถานที่ท่องเที่ยวไกลๆที่อยากไปให้ถึง ซึ่งก็สุดแล้วแต่ว่า ‘อารมณ์เพลง’ จะมาตรงกับ ‘อารมณ์ทางใจ’ ของใครท่าไหน
แต่ถ้ามีการ ‘กำกับคำ’ เข้ามาว่า ‘อารมณ์เพลงนี้’ สื่ออะไร ก็จะ ‘เกิดการบังคับ’ ให้มีจินตภาพขึ้นมาตามคำ
เช่น ขณะที่คนแต่งแต่งเพลงนี้ ทำนองลอยมาตามลมฝนหอมเย็น ที่โชยมาทางประตูหน้าต่าง ความฉ่ำชื่นของอากาศ ทำให้นึกถึงความฉ่ำชื่นที่เป็นท่วงทำนองประมาณเดียวกัน
ไม่ว่า ‘ใจ’ ของคุณ จะล็อกติดกับอารมณ์แบบไหน หรือกระทั่งไม่รู้สึกอะไรเลย เหล่านั้นแหละ เรียกว่า ‘การปรุงแต่งทางจิต’
ความรู้สึก ‘ยินดี’ หรือ ‘ไม่ยินดี’ เกิดก่อน แล้วจากนั้นค่อย ‘กระตุ้น’ ให้เกิด ‘ความทรงจำ’ แบบไหน จากนั้นถ้าความทรงจำมีพลังแรงพอ ใจของคุณจะ ‘ค่อยๆด่ำดื่ม’ หรือ ‘ปักแน่วลงไปมากขึ้นเรื่อยๆ’ แม้กระทั่งเพลงจบ ใจก็ไม่ถอนจากความรู้สึกอ้อยอิ่งนั้น แต่คนส่วนใหญ่จะไม่รู้สึกรู้สากับเพลงบรรเลง ที่ปรุงแต่งจินตนาการอย่างเป็นอิสระประเภทนี้นัก เพราะมักชอบแบบที่มีเนื้อร้องมาไกด์เลย ไกด์ให้เห็นๆเลยว่า จะให้เราเห็นภาพทางใจอย่างไร ยังไง จะให้เศร้าขนาดไหน หรือจะปลุกเร้าให้เกิดความด่าคน หรืออยากให้อภัยคนยังไง
ทั้งหมดนี้ ก็สะท้อนให้เห็นนะครับว่า ‘ภาษา’ เป็นสิ่งที่ครอบงำใจมนุษย์ เมื่อเราเห็นว่า แท้จริงแล้วมีแต่จะว่า ‘ครอบได้’ หรือ ‘ครอบไม่ได้’
ถ้าครอบได้ ก็ทำให้เราติดอยู่ในอารมณ์นั้นนาน ถอนยาก
แต่ถ้าครอบไม่ได้ ก็ทำให้เราติดอยู่ในอารมณ์นั้นเดี๋ยวเดียว หรือไม่ติดเลย
การมอง ‘เห็น’ เข้ามาในสภาพทางใจ ‘ที่เกิดขึ้นจริง’ ขณะฟังเพลงดังกล่าวนี้นะครับ จะเป็นจุดเริ่มต้นให้ค่อยๆมองอย่างเข้าใจว่า ที่เราถอนใจจากใครบางคนไม่ได้ ก็เพราะในหัวของเรา มี ‘คำ’ คำหนึ่งหรือหลายๆคำ คอยชักใยอยู่เบื้องหลังให้นึกถึงเหตุการณ์ในความทรงจำดีหรือว่าร้าย เมื่อนึกออก และสิ่งที่นึกนั้นมีพลังแรงพอ จิตก็จะถูกดูดติดไปไหนไม่รอด ต่อเมื่อเราเกิด ‘สติ’ เห็น ‘ความอ้อยอิ่ง’ หรือ ‘อาการถอนใจไม่หลุด’ ใจก็เหมือนว่าง วาง ไม่วอกแวก ไม่วุ่นวาย ไม่เห็นว่าภาวะความไม่เที่ยงที่ล่วงลับไปแล้วจะน่าติดใจตรงไหน
นี่แหละครับ การเจริญสติเห็นความปรุงแต่ง คุณสามารถฟังเพลงแล้วจะพบการปรุงแต่งทางใจได้เสมอ เป็นยึดมากหรือยึดน้อย สำคัญคือไม่ว่าจะยึดระดับไหน ในที่สุดสิ่งที่ยึด ตลอดจนอาการทางใจที่ยึดก็ต้องสาบสูญ คลี่คลายกลายเป็นอื่นเสมอ ลองสังเกตดูนะครับ
« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น