สวัสดีครับ วันนี้วันศุกร์ที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง
คืนนี้ก็ต้องขออภัยนะครับที่ล่าช้าไปประมาณ ๑๐ นาที ขัดข้องทางเทคนิคนิดหน่อย ไม่อยากให้ดำเนินรายการไปแล้วมีปัญหา เลยไปแก้ให้เสร็จเสียก่อน เพื่อจะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการนะครับ ให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/HowfarBooks เพื่อไม่ให้เนิ่นช้า เรามาเริ่มที่คำถามแรกกันเลยนะครับ
๑) บางคนชอบเข้าวัดทำบุญ แต่กลับไม่เคยให้เงินพ่อแม่ พ่อแม่เคยขอแต่ทำเฉย หรือบางคนชอบออกไปเที่ยวต่างจังหวัด หรือไปกินอาหารนอกบ้าน แต่กลับทิ้งพ่อแม่ไว้ที่บ้านอยู่บ่อยๆ พ่อแม่เองก็คอยทำงานบ้านให้สารพัด จะมีวิธีเตือนอย่างไร? รบกวนแนะนำด้วย หรือจะแสดงว่า พ่อแม่ช่วยทำงานให้ทุกอย่าง โดยที่คนๆนั้นไม่ต้องเหนื่อย มันแปลว่าคนๆนั้นเป็นเทวดานางฟ้ามาเกิดหรือเปล่า?
เอาตรงนี้ก่อนก็แล้วกัน อาจจะเป็นเทวดานางฟ้ามาเกิดก็ได้ แต่ใช้ให้พ่อแม่ทำงานแล้วไม่เลี้ยงดูตอบแทนเนี่ย เป็นต้นเหตุที่ไม่ดีนัก ไม่ใช่ต้นเหตุของเทวดา ไม่ใช่ต้นเหตุของนางฟ้าแน่นอน คือจะเคยเป็นอะไรมาก่อนเนี่ย มันพูดกันไม่รู้จบนะ เพราะว่ามองไม่เห็น มันระลึกไม่ได้ จำไม่ได้ ลืมกันไปหมดแล้วว่าเคยเป็นอะไรกันมา แต่ที่แน่ๆตอนนี้เห็นว่ากำลังทำเหตุอะไรอยู่ ศาสนาพุทธบอกอยู่เสมอนะ ถ้าหากว่าเป็นผู้ไม่มีความกตัญญู เป็นผู้ไม่ทำให้พ่อแม่มีความสุขตามอัตภาพ เป็นผู้ที่พ่อแม่ขอแล้วไม่ให้ ทั้งๆที่ให้ได้เนี่ย มันเป็นหนทางที่ไม่ใช่ขึ้นสูง จะบอกเขายังไง? ถ้าหากว่าเขาไม่เชื่อเรื่องภพชาติ เชื่อเรื่องการทำบุญแต่ไม่เชื่อเรื่องภพชาติ มันก็ขัดกันอยู่แหละ ก็อาจจะเปรยๆให้เขาฟัง หรือว่าถ้าหากว่าเป็นพี่เป็นน้องกัน เป็นญาติกันแล้วเตือนกันไม่ค่อยจะได้ มันค่อนข้างจะยากเนี่ยนะ เราก็อาจจะหาพระที่น่านับถือ แล้วท่านเทศน์เกี่ยวกับเรื่องความกตัญญูกับบุพการีมาเปิดให้ฟังบ่อยๆ แกล้งเปิดแบบลอยลมนะ อย่าจงใจ อย่าทำให้เขารู้สึกว่า เราจงใจมากเกินไป เหมือนกับเราตั้งใจฟังอยู่ แต่ว่ามันลอยลมไปเอง โดยเฉพาะท่อนที่ครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ว่า ถ้าหากอกตัญญูกับพ่อแม่ ไม่รู้คุณพ่อแม่ อย่างหลวงพ่อพุธเนี่ย ท่านจะมีกัณฑ์เทศน์เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ค่อนข้างบ่อย อย่างเช่นที่ว่า ท่านเคยยกตัวอย่างไว้ อย่างถ้าจะใส่บาตรพระแล้วพ่อแม่มาขอกินก่อน ถ้าลูกไม่ให้กลัวพ่อแม่จะบาป ลูกเองนั่นแหละบาป เพราะว่าของจะถวายพระเนี่ย ซื้อให้เมื่อไรก็ได้ แต่ว่าของที่พ่อแม่อยากกินเนี่ย ไม่รู้ว่าเราจะมีจังหวะประจวบเหมาะแบบนั้นอีกเมื่อไร หลวงพ่อพุธท่านบอกอย่างนี้เลยนะ บอกว่าให้คิดว่าใส่บาตรพระเหมือนกัน พระอรหันต์ในบ้าน จริงๆแล้วคำว่าพระอรหันต์ในบ้าน ไม่ใช่คำของพระพุทธเจ้านะ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า พ่อแม่ที่ดีเป็นเหมือนพรหมของบุตร คือหมายความว่าเมตตาไม่มีประมาณ เมตตาโดยไม่มีข้อจำกัด กรุณาโดยไม่มีข้อจำกัด และลูกได้ดีเนี่ยมีแต่ความยินดีปลาบปลื้ม ถ้าหากว่าลูกจะไม่ตอบแทนเลย พ่อแม่ก็ไม่ว่าอะไร ถ้าเป็นพ่อแม่ที่ดีนะ ตรงนั้นนะมันไม่มีใครมาทำให้เราเท่ากับพ่อแม่แบบนั้นแหละ อดตาหลับขับตานอนเลี้ยงมาตั้งแต่เด็ก ยากลำบากมากกว่าจะโตขึ้นมาเนี่ย แต่ละวันๆเนี่ย มันเหนื่อยแสนสาหัส ถ้าเป็นพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกมานะ แต่ธรรมชาติเขาปกปิดไว้ไม่ให้เห็น แล้วก็ไม่ทำให้คิดว่าเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องตอบแทน มันบีบให้เรานึกว่า พ่อแม่มีหน้าที่ต้องเลี้ยงเราอย่างเดียว ต้องให้เราอย่างเดียว แล้วก็ไม่เกิดความรู้สึกว่า ตัวเองจะต้องทำอะไรให้พ่อแม่ เนี่ยตรงนี้กลายไปเป็นว่า ถ้าเพื่อนให้เงินเนี่ย สำนึกบุญคุณของเพื่อนเหลือเกิน หรือว่าครูสอนอะไรดีๆมาบูชาท่านมาก หรือแม้กระทั่งเห็นพระเห็นเจ้าไปได้ความสุขมาจากท่าน มีความรู้สึก มันเป็นบุญล้นพ้นเหลือเกิน จริงๆแล้วเนี่ยนะ เคยมีคนพูดไว้บอกว่า ต่อให้ใครเอาเงินมาฟาดหัวเราสักพันล้าน มันก็ไม่มีประโยชน์ เท่ากับที่พ่อแม่ให้เลือดเนื้อเรา มารับเงินพันล้านนั้น ตัวเราเนี่ย เลือดเนื้อของเราที่ใช้นั่งฟังวิทยุอยู่ตอนนี้ ได้มาจากไหน ถ้าหากว่าไม่ใช่พ่อไม่ใช่แม่ จิตวิญญาณของเรา จะได้พบแสงสว่างของพุทธศาสนา ได้มีโอกาสพัฒนาจิตวิญญาณ ให้มีความสูงส่งต่อๆไปได้อย่างไร ถ้าหากว่าพ่อแม่ไม่ได้ให้มาเกิดในโลกที่มีพุทธศาสนาอุบัติแบบนี้ ตรงนี้แหละ ถ้าเราลองเอากัณฑ์เทศน์ของหลวงพ่อพุธที่เกี่ยวกับพ่อแม่ การทำบุญกับพ่อแม่ก่อนทำบุญกับพระ ไปให้เขาฟังก็แล้วกัน มันก็น่าจะได้ผลบ้างนะครับ
๒) ขอสอบถามเกี่ยวกับการนั่งสมาธิ ผมไม่เข้าใจสภาวะที่เรียก วิมุตติ ว่าจะคล้ายแบบไหน?
เอาตรงนี้ก่อน วิมุตติคือการหลุดพ้น มันมี ‘ตทังควิมุตติ’ คือวิมุตติชั่วคราว หลุดพ้นชั่วคราว แล้วก็หลุดพ้นแบบถาวร หลุดพ้นแบบเด็ดขาด แตกต่างกันอย่างไร? แตกต่างกันตรงที่ ถ้าหากว่าเป็นการหลุดพ้นชั่วคราวเนี่ย มันเหมือนกับกิเลสจะเกาะจิตไม่ติด เหมือนกับจิตของเราเนี่ยเป็นพื้นลื่น หรือกลายเป็นอากาศโปร่งว่างที่วัตถุจะตั้งอยู่ไม่ได้ อะไรจะมาจับ มาข้องเกี่ยวไม่ได้ ยกตัวอย่างง่ายๆเช่น ถ้าหากว่าเราสามารถที่จะสวดมนต์ได้หลายๆจบ แล้วจิตไม่ข้องเกี่ยวกับความนึกคิด ในทางด้านโลภะ ในทางด้านราคะ ในทางด้านที่มันจะทำให้เกิดโทสะความขัดเคือง หรือว่าพอสวดมนต์เสร็จ พิจารณาว่าจิตมันมีความสบาย จิตมันมีความสุขแบบนี้เนี่ย เดี๋ยวหนึ่ง เดี๋ยวมันก็ต้องกลายเป็นอื่น มันกลายเป็นความรู้สึกทึบๆขึ้นมา กลายเป็นความฟุ้งๆขึ้นมา แล้วอาการที่มีความสำคัญมั่นหมายว่าจิตเป็นตัวเรา เป็นตัวเป็นตนมันหายไป มันกลายเป็นความรู้สึกว่าจิตไม่ใช่เรา ตรงนี้ก็เรียกว่าเป็น ‘ตทังควิมุตติ’ คือจิตเป็นอิสระจากกิเลส เป็นอิสระจากอุปาทานขึ้นมาชั่วคราว ถ้าหากว่าไปเปรียบเทียบกับวิมุตติแบบที่เป็น ‘สมุจเฉทประหาร’ คือกิเลสมันขาดไปโดยเด็ดขาด อุปาทานขาดไปเด็ดขาด ถูกทำลายเด็ดขาดแบบพระอรหันต์ ท่านจะมีสำนึก มีความรู้สึกอะไรแบบที่เรารู้สึกได้นี่แหละ ยังเป็นสุขเป็นทุกข์ได้ทางกายนะ แต่ท่านจะไม่มีความทุกข์ทางใจอีกแล้ว ใจจะหลุดอย่างสิ้นเชิงจากความเกาะเกี่ยว หรือว่าอุปาทานว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นตัวเป็นตน นี่เรียกว่าเป็นวิมุตติแบบถาวรนะครับ อย่าไปสงสัยว่า มันคล้ายแบบไหน เอาเป็นว่าพระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า ถ้าจะอนุมาน คือประมาณเอาว่านิพพานเป็นอย่างไร ขอให้ดูตอนที่จิตมีปัญญา มีสติ ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ ตัวนี่แหละ คือพูดเนี่ยมันง่าย แต่เอาเข้าจริงบางทีมันอาจจะเข้าใจยากนิดหนึ่ง ขอให้นึกถึงตอนที่เรากำลังมีความชื่นใจอย่างที่สุด ไม่คิดเลยถึงเกี่ยวกับเรื่องทางเพศ ไม่คิดเลยเกี่ยวกับเรื่องที่น่าขัดเคือง ไม่คิดเลยเกี่ยวกับเรื่องสำคัญตัวแบบผิดๆ แล้วจิตมีความปลอดโปร่ง มีความรู้สึกอยากที่จะทิ้งความสำคัญผิดทั้งหลายออกไป มีแต่ความแผ่ไปไม่มีประมาณของความสุข นั่นแหละตรงนั้นเป็นความสุขแบบวิมุตติชั่วคราว เป็น ‘ตทังควิมุตติ’ นะครับ
อันนี้โดยการตั้งคำถามมาเนี่ย ไปสมมติเหมือนสภาวะการนอนหลับแต่มีสติรู้หรือเปล่า? ถ้ายังมีสติรับรู้ก็จะเห็นการเกิดดับอยู่หรือ? ถ้าอยู่ในอารมณ์ที่เป็นอุเบกขา พระอาจารย์บางท่านก็บอกว่าอุเบกขาต้องวาง แล้วต้องใช้ปัญญาอย่างไร? ในการวางอุเบกขาครับ ถ้าวางอุเบกขาได้จะเรียกว่าเป็นสภาวะวิมุตติหรือไม่? เอาตรงนี้นะ คือถ้าหากว่าเป็นอุเบกขาเนี่ย อุเบกขาต้องประกอบด้วยปัญญาด้วย ไม่ใช่ว่าอุเบกขาแบบเฉย แบบเหมือนกับที่เราเห็นแมว ก็สามารถจะวางอุเบกขาได้ เราเอาอาหารมาล่อ แล้วมันอุเบกขา หันหน้าไปทางอื่นอะไรแบบนี้ อย่างนี้ไม่ใช่อุเบกขาที่ประกอบด้วยปัญญา ถ้าอุเบกขาที่ประกอบด้วยปัญญาเนี่ย มันต้องตั้งต้นด้วยความมีสัมมาทิฏฐิ คือเล็งไว้ก่อนว่ากายใจเนี่ยไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน แล้วเอาสติเข้าไปตามดูจริงๆว่า ลมหายใจในแต่ละขณะ เดี๋ยวก็เข้า เดี๋ยวก็ออก เดี๋ยวก็ยาว เดี๋ยวก็สั้น จนกระทั่งจิตเห็นความไม่เที่ยง แล้วถอยออกมาเป็นผู้รู้ ผู้ดูจริงๆ ตัวนี้มันจะเริ่มเป็นอุเบกขาขึ้นมา อุเบกขาที่ประกอบด้วยปัญญา ปัญญาคืออะไร? ปัญญาคือเห็นว่าที่มันเข้า ที่มันออกอยู่ ล้วนแล้วแต่แสดงความไม่เที่ยง ไม่ใช่แสดงความเที่ยง ล้วนแล้วแต่แสดงความไม่ใช่ตัวตน หาใช่แสดงความเป็นตัวเป็นตนของใครไม่ ถ้าหากว่าเรามีความรู้สึกว่า ใจเป็นอิสระชั่วคราว ว่าสิ่งที่มันกำลังเกิดดับๆไม่ใช่ตัวตนของเรา ท่านเรียกว่าเป็น ‘ตทังควิมุตติ’ ถ้าหากว่ามีความตั้งมั่นขึ้นมาระดับหนึ่ง หมายความว่า ยกตัวอย่างที่เข้าใจง่ายก็คือ เราเห็นลมหายใจ สักแต่เป็นธาตุลมเข้าออก เข้าออกอยู่เป็นชั่วโมง ไม่รู้สึกเลยว่าลมหายใจเป็นตัวเป็นตน มีแต่การแสดงความไม่เที่ยง เป็นหลักฐานของความไม่เที่ยง ไม่ใช่หลักฐานของความเที่ยง อย่างนี้ชั่วโมงนั้นก็เรียกว่า มีจิตตั้งมั่นอยู่ในความเป็นอุเบกขา ตั้งมั่นอย่างมีปัญญา ปัญญารู้ว่าลมหายใจสักแต่เป็นธาตุลม ไม่ใช่เป็นบุคคล ไม่ใช่เป็นเราเขา ไม่มีเพศ ไม่มีความน่ารัก ไม่มีความน่าเกลียด ไม่มีความขี้เหร่ ไม่มีความล้ำเลิศอะไรทั้งสิ้น มีแต่ลักษณะความไม่เที่ยงที่กำลังปรากฏต่อใจ แบบไม่ต้องสงสัยเลย ไม่ต้องให้พระพุทธเจ้ามาตรัส ไม่ต้องให้ใครมายืนยันว่า อันนี้เป็นตัวเป็นตนของใครหรือเปล่า เราสามารถรู้ด้วยจิตแบบนั้นเลยว่า มันไม่เที่ยงจริงๆ ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เราเขาจริงๆ สักแต่เป็นธาตุลม แล้วจากนั้นมาพิจารณาดูอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากสภาวะของจิตที่ตั้งมั่น หรือว่าตัวความสงบของจิตเอง มันก็มีความไม่ตั้งมั่น อันนั้นแหละ ถ้าหากว่ารู้อยู่เห็นอยู่ ด้วยความวางใจเฉย ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นเราเป็นเขา ไม่ได้ดีใจลิงโลดว่า เออ นี่ฉันทำได้ นี่ตัวนี้ที่เรียกว่าอุเบกขา อันเกิดจากการที่เราเห็นความไม่เที่ยง แล้วก็ไม่ใช่ตัวตนนะครับ วิมุตติที่เกิดขึ้น มันก็เป็นวิมุตติชั่วคราวอีกเหมือนกัน แต่ว่าเป็นวิมุตติที่ยืนพื้นอยู่ด้วยลักษณะของจิตที่ตั้งมั่น เป็นสมาธิใกล้เคียงกับการได้พบนิพพาน พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ที่มีสมาธิเป็นสัมมาสมาธิ แม้แต่ชั่วขณะจิตเดียว ก็ได้ชื่อว่าอยู่ใกล้นิพพาน สมาธิในที่นี้บอกย้ำไว้นะว่าเป็นสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิคืออะไร? สมาธิที่เกิดขึ้นจากการจุดชนวนด้วยสัมมาทิฏฐิ คือต้องมีความเห็นที่ถูกก่อน ตั้งความเห็น ตั้งมุมมองเกี่ยวกับกายใจนี้ ไว้อย่างถูกต้องเสียก่อนว่า มันไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน แล้วมีสติตามเข้าไปเห็นเป็นขณะๆว่า ไม่เที่ยงจริงๆด้วย ไม่ใช่ตัวตนจริงๆด้วย แล้วเกิดความตั้งมั่นขึ้นมา นั่นแหละที่เรียกว่าสัมมาสมาธิ แล้วสัมมาสมาธินั่นแหละ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นเหตุให้ถึงนิพพานได้ แล้วก็แม้แต่จะมีสัมมาสมาธิเพียงแค่ขณะจิตเดียว ก็ได้ชื่อว่าอยู่ไม่ห่างนิพพานเลย นี่คือคำตรัสของพระพุทธเจ้านะครับ
๓) อาการของคนที่ติดอ่านและฟังธรรมะ ฝึกเจริญสติและฝึกสมาธิตามไปด้วยตลอดเวลา ไม่หิว ไม่ง่วง ดื่มแต่น้ำ จะกินข้าวก็แค่คำสองคำ บางวันแทบจะไม่กินเลย ตื่นมาก็ฟังคำสอน เจริญสติ มีสมาธิจดจ่ออยู่กับคำสอน เป็นแบบนี้เกือบ ๒ อาทิตย์
ตรงนี้ เดี๋ยวพูดเป็นเรื่องๆก่อน ตรงที่บอกว่าติดใจเห็นการฟังธรรมะ การอ่านธรรมะ หรือว่าการเจริญสติเหมือนขนม ทำได้ไม่อิ่ม ไม่เบื่อ แล้วก็มีความรู้สึกว่าของหยาบๆ ที่จะต้องกินเข้าไป มันต้องการน้อยลง อันนี้เขาเรียกว่าเป็นอาการของปีติ ปีติมันสามารถหล่อเลี้ยงให้ร่างกาย มีความสดชื่นได้ มีกำลังวังชา ถ้าเปรียบเทียบอย่างสมัยก่อนเนี่ย พระเจ้าพิมพิสารติดคุกอยู่ ไม่ได้กินข้าวไม่ได้กินน้ำ แต่ท่านเดินจงกรมเอา แล้วเกิดปีติ การมีปีติเนี่ยก็สามารถยังชีพของท่านให้อยู่ได้เป็นอาทิตย์ๆ โดยไม่ต้องแตะต้องอาหารเลย ฟังดูอาจจะเหลือเชื่อ แต่ว่าสมัยนี้ก็ยังมีการพิสูจน์กัน พวกโยคี พวกฤๅษีที่นั่งสมาธิได้นานๆเนี่ยนะ อยู่ได้โดยไม่ต้องแตะต้องข้าวปลาอาหาร หรือว่าน้ำได้เป็นเดือนๆเลย โดยที่ไม่ตาย หรือแม้แต่มีคำอธิบายว่า อย่างมนุษย์กับเทวดาจะต้องบริโภคอาหาร มนุษย์บริโภคอาหารหยาบ แล้วก็เทวดาบริโภคอาหารทิพย์ แต่พระพรหมไม่ต้องบริโภคอาหารใดๆ โภชนาใดๆ เพราะว่าท่านบริโภคปีติอันเป็นทิพย์ แค่ปีติอันเป็นทิพย์อย่างเดียว หล่อเลี้ยงกายทิพย์แห่งความเป็นพรหมของท่านไว้ได้ ตอนที่เราเกิดปีติมากๆ ตอนที่เรามีความชุ่มชื่นใจมากๆนะ ร่างกายมันหลั่งสารอะไรออกมาเยอะแยะเลย ที่มันดีๆ เป็นไปในทางที่จะทำให้สังขารกาย มันมีความผ่องใส มันมีความสดชื่น ความสดชื่น ความผ่องใสนั่นแหละ เป็นอาหารชนิดหนึ่งของชีวิต สังเกตดูเถอะบางคนกิน กิน กิน แต่ว่าหน้าตาหมองคล้ำลงทุกที เพราะว่าจิตใจมันบีบคั้นตัวเอง บีบหัวใจให้จะวายอยู่รอมร่อ นาทีใดนาทีหนึ่งก็ไม่รู้ กินมากไม่ได้แปลว่าจะอยู่อีกนาน อาจจะใกล้จะหัวใจวายตายอยู่แล้วก็ได้ แต่บางคนกินน้อยทำงานหนัก แต่ว่ามีสีหน้าสดชื่น นั่นก็เพราะว่าสิ่งที่ทำมันเป็นกุศล ขึ้นต้นด้วยกุศลภายในเนี่ยออกมา ลักษณะของชีวิตมันก็มีความสุขสว่าง มันก็มีความเบิกบาน ความสุขสว่าง ความเบิกบานนั่นแหละ สัญลักษณ์ที่แท้จริงของชีวิต เอาตรงนี้ก่อน ที่ว่าเราสามารถที่จะไม่อยากกิน ไม่อยากนอนมาก ก็เพราะว่ามีปีตินั่นเอง คำอธิบายง่ายๆคือมีปีติแบบเย็น แบบซาบซ่าน แบบที่มันเป็นสุขที่จะทำให้ร่างกายมีความแข็งแรง มีความสดชื่นนะ
คำถามต่อมาก็คือ จากเมื่อก่อนเรารู้สึกว่า มันต้องฝืนบางข้อเช่น การตบยุง แต่พออยู่ในช่วงนั้น คือหมายถึงว่าช่วงที่มีความสุขเนี่ยนะ เราทำได้โดยไม่รู้สึกว่า ต้องไปฝืนข้อไหนเลย จนกระทั่งถึงช่วงนี้ แต่มันก็มีข้อเสียตรงว่า เราละเรื่องทางโลก ไม่อยากรับรู้ ไม่สนใจใครเลย ทำทุกอย่างตามหน้าที่ พอเสร็จก็จะมามีอาการจดจ่ออยู่กับการเจริญสติ และฟังธรรมะ จนรู้สึกอยากจะไปบวชชีเลยค่ะ อาการแบบนี้เรียกว่าหลงไหมคะ เพราะมันสุขและเย็น แตกต่างจากสุขทางโลกเลยค่ะ จริงๆปกติก็อ่านและฟังธรรมะ แต่ไม่ขนาดนี้เลย
นี่แหละเส้นทางของคนที่จะไปถึงดวงดาวทางธรรมะได้เนี่ยนะ ก็จะออกแนวแบบนี้แหละ คือปฏิบัติแล้วมันมีความสุข คือไม่ใช่แค่อยากหนีโลก แล้วก็อยากจะไปอยู่อีกโลกหนึ่ง อยากจะหนีจากโลกอันสับสนวุ่นวายของฆราวาส ไปอยู่อีกโลกหนึ่งที่เราคิดว่าน่าจะมีความสุขของบรรพชิต ถ้าคิดแค่นั้นว่า เดี๋ยวสลัดเสื้อกระโปรงออกไป แล้วไปนุ่งขาวห่มขาวไปเป็นชีแล้วจะมีความสุขทันที นั่นเป็นความเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวงเลย เป็นสิ่งที่ผมไม่เคยสนับสนุนใครให้เข้าใจแบบนั้นเลย มันจะมีสักหนึ่งในหมื่นมั้ง หนึ่งในแสนที่โชคดีจริงๆ ชีวิตทางโลกเป็นทุกข์อยู่ แล้วปลีกตัวออกไป บังเอิญไปเจอวัดดี ไปเจอแม่ชีดี ไปเจอกลุ่มของธรรมะของจริง ก็ได้ดิบได้ดีมีความสุขทางธรรมะไป แต่ส่วนใหญ่จะไม่ใช่อย่างนั้น ออกจากความวุ่นวายแบบหนึ่ง ไปสู่ความวุ่นวายอีกแบบหนึ่งต่างหาก ทางโลกแบ่งก๊กแบ่งเหล่าอย่างไร ทางธรรมที่ยังไม่ใช่ธรรมของแท้ ก็แบ่งก๊กแบ่งเหล่าอย่างนั้น หรือว่าเราเคยมีความวุ่นวายใจกับตัวเองอย่างไร พอนุ่งขาวห่มขาว ความวุ่นวายใจนั้นมันก็ไม่ได้หายไปไหน มันยังถูกกักขังไว้ กับจะยิ่งวุ่นวายหนักขึ้นไปอีกด้วยซ้ำ แต่ถ้าหากว่าอยู่ทางโลกเรามีพื้นฐาน เรามีปัจจัยที่เป็นทุนของความสว่างอยู่อย่างนี้ มีความสามารถที่จะทำสมาธิ แล้วมีความสุขอยู่จริงๆ เรามีความสุขอยู่กับอะไร จดจ่ออยู่กับอะไรได้มาก ก็แสดงว่าเรามีความสามารถที่จะเป็นตัวจริงในเรื่องนั้น อันนี้เป็นคีย์สำคัญเลย ไม่ว่าจะวงการไหน หมกมุ่นอยู่กับอะไร คร่ำหวอดอยู่กับอะไร แล้วก็มีใจจดจ่ออยู่กับอะไรมากๆ ตรงนั้นแหละคือ สนามที่เราจะลงไปแล้วกลายเป็นตัวจริง ไม่ใช่ตัวปลอมหรือว่าตัวสำรองมาแทนใคร มาชั่วประเดี๋ยวประด๋าวแล้วก็ต้องถูกเขี่ยออกไป มันจะไม่ใช่แบบนั้นนะ ถ้าหากว่าเราแน่ใจด้วยการที่ว่า เรามีความสุขอย่างนี้ไปเลย ไม่ต้องข้องเกี่ยวกับอะไรอย่างอื่น ทำงานทำไปเลยมันไม่ใช่ความผิดอะไร ไม่ใช่ว่าเดี๋ยวเราสักแต่ทำไปทางกายภายนอก แล้วมันจะมีความผิดติดตัว มันไม่ใช่หรอก ก็นี่แหละคือชีวิตของผู้ที่จะประสบความสำเร็จทางธรรม ให้กายภายนอกมันเคลื่อนไหวเป็นตุ๊กตุ่นตุ๊กตา เหมือนกับทำตามหน้าที่ไป หาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตอบแทนพ่อแม่ไป แต่ว่าใจของเราซึ่งไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใคร มาทำความเจริญรุ่งเรืองให้กับตัวเองแบบเต็มที่เลย น่าสนับสนุนจริงๆ ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นการหลงหรือว่าติดอะไรมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราเห็นความคืบหน้าไม่มีที่สิ้นสุดไปเรื่อยๆนะครับ
๔) ผู้ที่ทำอาชีพค้าขายสุราจะได้รับวิบากกรรมในด้านใด? อย่างไรบ้าง? และจะมีอกุศลวิบากที่ส่งผลเฉพาะต่อการปฏิบัติธรรม หรือเข้าถึงธรรมอย่างไรบ้าง?
อันดับแรกเลยก็อยากจะบอกว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าเป็นมิจฉาวณิชชาหรือว่าการค้าขายที่ผิดที่ไม่ดี ก็มีสุรารวมอยู่ในนั้นอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการขายเนื้อ เป็นการค้ามนุษย์ เป็นการขายยาพิษ เป็นการขายสุรา เป็นการขายอาวุธ เหล่านี้พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นมิจฉาวณิชชาทั้งสิ้น มิจฉาวณิชชาคือ พูดง่ายๆว่าค้าขายไปแล้ว มันได้กำไรทางโลกแต่ขาดทุนทางธรรม คิดง่ายๆเลย ทีนี้ผมก็อยากจะให้มองอย่างนี้ด้วยว่า การขายเหล้ามันมีหลายระดับ บางคนเนี่ยตั้งใจเปิดร้านเหล้าเลย ชัดๆเลย ไม่ใช่แค่ให้คนมีการกินเหล้าย้อมใจ แต่เอาผู้หญิง เอาบรรยากาศมาย้อมใจให้มึนเมา มัวเมา ลุ่มหลงไปในทางที่ต่ำ ในทางที่มืดชัดๆด้วย แต่บางคนก็เปิดร้านเล็กๆ เป็นร้านชำแล้วขายเหล้าด้วย ตัวการคัดกรองเหล้าเข้ามาเป็นสินค้าเนี่ย ใจมันก็ค่อนข้างจะยึดพอสมควรว่า ร้านเราขายเหล้า ร้านเราทำกำไรด้วยการขายเหล้า อันนี้ก็เป็นอีกระดับหนึ่งนะ คือเบาลงมากว่าการที่ไปสร้างบรรยากาศย้อมใจเหมือนข้อแรก แต่ว่ามันก็ยังหนักอยู่ เพราะว่าจิตมันยังเล็งไปที่เหล้าอยู่ เห็นเหล้าเป็นสินค้าเด่นๆชัดๆอยู่ และเป็นตัวทำกำไรอยู่ ยกขึ้นมาอีกระดับหนึ่งอย่างพวกโรงแรม หรือว่าสถานบริการที่มีความหลากหลายอย่างเนี่ย เขาก็ให้การขายเหล้าเป็นแค่ส่วนหนึ่ง ใจมันจะไม่เข้าไปเกาะอยู่มากกับกิจการค้าเหล้า คือจะดูแลให้สถานพัก สถานบริการ มันเป็นไปตามธรรมชาติของสถานที่ประเภทนั้นๆ มากกว่าที่จะคิดว่าจะให้ของๆเรามันเป็นร้านขายเหล้า นี่ก็จะเบาลงมาอีกระดับหนึ่ง ผมอยากจะบอกว่าคือ ขายเหล้าเนี่ยยังไม่ได้ตัดสินว่าจะไปดีหรือไปไม่ดี มันขึ้นอยู่กับว่าเราเน้นแค่ไหนกับการขายเหล้า อีกอย่างหนึ่งคือ เราขายเหล้ามีการชักชวนหรือเปล่า มีการโน้มน้าวหรือเปล่าด้วย ถ้ามีการโน้มน้าวอย่างเช่นทุกวันนี้ ก็จะเห็นขบวนการเชียร์เบียร์ คนไม่อยากกินก็ไปทำให้เขาอยากกินขึ้นมา ด้วยการเอาขาอ่อนไปล่อ หรือว่าไปทำตาหวานๆแล้วก็กินไหมคะ ถ้าไม่กินก็ทำคล้ายๆปากเบะนิดนึง ไม่กินเหรออะไรแบบนั้น ก็เป็นอะไรที่อยากจะให้เข้าใจว่า มันมีระดับของการขายเหล้าแตกต่างกัน แล้วทีนี้เรามาเล็งว่า ผลกับผู้ที่กินเหล้าคืออะไร? พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้ากินเหล้ามากๆ ระดับที่เป็นขี้เมานะ คือแอลกอฮอล์เข้าไปในสายเลือด ขนาดว่าได้กลิ่นแอลกอฮอล์มาจากลมหายใจเลย ระดับนั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่า คงไม่พ้นนรก เพราะว่าจิตใจมันถูกย้อมให้ลงสู่ที่ต่ำ คนที่เป็นขี้เมาดูง่ายๆเลย พูดจามันออกทางต่ำหมดแหละ มันไม่ค่อยจะพูดจากันเรื่องสูงๆหรอก พูดกันเรื่องต่ำๆ แล้วก็ด่ากันหยาบๆคายๆ แล้วก็มีชัดเจนเลยคือว่า โมโหร้าย โมโหอาละวาดอะไรแบบนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า โทษสถานเบาของการเคยเป็นนักเลงสุรา ร่ำสุราไว้มากๆ โทษสถานเบาก็คือว่า ถ้ากลับมาเกิดในมนุษยโลกอีกครั้งจะเป็นบ้า คือจิตใจจะฟุ้งซ่านจัดมาก คิดอะไรมันเหมือนกับคิดไม่ออกบอกไม่ถูก พูดง่ายๆว่า โง่เพราะพิษสุราข้ามชาติ นี่ตรงนี้นะเป็นสิ่งที่นักเลงสุราเขาจะได้รับกัน แล้วคิดดูก็แล้วกันว่า คนที่ยุยงส่งเสริม หรือว่าเอาสุรามาทำให้เขาต้องเป็นบ้า มันจะเป็นอย่างไร มันก็ออกแนวเดียวกันแหละ วันหนึ่งมันก็ต้องมีคนมายุให้เราเป็นบ้า วันหนึ่งมันก็ต้องมีคนมายุให้เราทำลายสติตัวเอง จะโดยทางใดทางหนึ่งก็ตาม วันหนึ่งก็คงมามีใครทำให้เราลุ่มหลงมัวเมา มันมาด้วยกันเลยเห็นไหม คือเหล้ามันทำให้สติขาด แล้วก็ทำให้เกิดความมัวเมา ทำให้เกิดความมัวหมอง แล้วไอ้อะไรที่มันเป็นเครื่องประกอบของความมัวเมา ความมัวหมอง ไม่ว่าจะเป็นขาอ่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทะเลาะวิวาท มองหน้ากันนิดเดียวในร้านเหล้าสามารถฆ่ากันได้ จิ้มกันได้ ทั้งหลายทั้งปวงแล้วก็คือว่า อะไรที่มันเกี่ยวข้องกับทางต่ำ มันก็ดึงลงต่ำได้หมดแหละ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะทำหนักทำเบาแค่ไหน
เอาล่ะครับคืนนี้ราตรีสวัสดิ์ครับ ขอให้เจริญในธรรมทุกท่านครับ
« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น