วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๕๖ / วันที่ ๒๘ พ.ค. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันจันทร์ที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง เพื่อจะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการนะครับ ให้เข้าไปที่เฟสบุ๊ค
http://www.facebook.com/HowfarBooks



๑) กระแสเมตตาเป็นอย่างไร? เคยนั่งนิ่งๆดูกายดูใจทำงานไป สักพักมีความรู้สึกเย็นกลางใจคล้ายน้ำแข็ง เย็นชุ่มชื่นใจเหมือนใจได้ดื่มน้ำเย็น มีความสุขอยากแผ่ออก แต่ความรู้สึกนี้มันเล็กๆไม่ได้ใหญ่โตอะไร ไม่ได้จงใจให้มันเกิดขึ้น ไม่แน่ใจว่าลักษณะนี้คือกระแสเมตตาหรือเปล่า?

คำตอบคือ ในคัมภีร์พระไตรปิฎกมีอยู่จุดนึงเป็นส่วนของพระอภิธรรม ท่านกล่าวว่า ถ้าเราเจริญสติปัฏฐานไปเรื่อยๆใจมันจะรินเมตตาออกมาเอง เพราะว่ายิ่งว่างจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีความสุข และก็อยากแผ่ความสุขนั้นออกไปให้กับผู้อื่นมากขึ้นเท่านั้น

ส่วนที่ถามว่ากระแสความรู้สึกเมตตานี่มันเริ่มต้นขึ้นเมื่อไหร่ มันมีคีย์เวิร์ดอยู่คำหนึ่งในคำถามแล้ว คือ เหมือนได้ดื่มน้ำเย็น มีความสุข แล้วก็อยากแผ่ออก คำว่าอยากแผ่ออกนี่มันมี ๒ กรณี คือ จิตอยากแผ่รัศมีออกไป เพราะกระแสความสุขไม่ใช่กระแสปิดแคบ ไม่ใช่เอาเข้าตัว แต่เป็นกระแสแผ่ออก ซึ่งตามหลักของพระพุทธศาสนา ผู้ที่ให้ทานมากๆก็จะมีกระแสแผ่ออกเหมือนกัน คือมันสละออก สละความเห็นแก่ตัว สละความมืด สละความแคบ สละความทึบทึมที่จิตใจมีอยู่ดั้งเดิม

กิเลสนี่มันจะพยายามรักษาความคับแคบไว้ แต่ถ้าเราพยายามที่จะฝึกให้ทาน มันก็จะมีอาการสละออก ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันกับจิตที่แผ่ออกนั่นแหละ จิตแผ่ผายออกเมื่อรู้จักสละออก จิตมีความเป็นกุศล มีความกว้าง มีความคลี่คลายแผ่ผายออกไป นี่เป็นลักษณะธรรมดาธรรมชาติของจิตนะครับ ถ้าหากว่ามีความสุขแล้วรู้สึกอยากแผ่ออก ตรงนี้ก็เหมือนกับอยากจะเผื่อแผ่ความสุขออกไปกว้างๆไม่ได้อยากเก็บไว้กับตัวคนเดียว มีลักษณะมีทิศทางเดียวกันกับเมตตา

ทีนี้ เราจะรู้ได้ว่าตรงนั้นเป็นเมตตาจริงๆหรือเปล่า มันดูตอนทำสมาธิอย่างเดียวไม่ได้ เพราะว่าไม่มีเครื่องวัด ไม่มีเครื่องชี้ที่ชัดเจน แต่ถ้าหากออกจากสมาธิ อยู่ในชีวิตประจำวันธรรมดาแล้วเรามีความรู้สึกว่า กระแสความรู้สึกแผ่ออกแบบนั้นยังคงอยู่ และยังมีทิศทางที่จะอยากให้ อยากสละให้กับผู้อื่น อยากพูดให้คนอื่นมีความสุข อยากทำให้คนอื่นมีความสุข ตรงนั้นมันชี้ได้อย่างหนึ่งว่า ใจเรามีความสุขจริง และอยากให้ความสุขกับคนอื่นอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการพูดจา ผ่านพฤติกรรมที่เราแสดงออกต่อโลก ที่เราโต้ตอบกับโลก พูดง่ายๆคือ เราจะดูใจที่เป็นเมตตาตอนนั่งสมาธิอย่างเดียวมันไม่พอ ต้องพิสูจน์ด้วยการดูใจตัวเองว่ามีความคงเส้นคงวาไหมในระหว่างใช้ชีวิตประจำวัน

ถ้าหากว่าคนที่เขาดีกับเราเข้ามาหา แล้วเรามีความรู้สึกว่า เออ! เรามีความสุขจังเลยและอยากจะให้ความสุขที่มีอยู่กับเขาไป อันนั้นเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ เป็นเรื่องปกติที่ใครๆเขาก็เป็นกัน แต่คนใจดีมีเมตตาจริงๆนี่ ต้องประมาณว่า คนไม่ได้ทำอะไรดีๆให้กับเรา เดินเข้ามาหาเรา เราก็มีความรู้สึกว่า อยากพูดให้เขารู้สึกดี อยากทำให้เขารู้สึกดี อยากให้เขามีความสุข อยากให้ชีวิตเขาดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ลักษณะนั้นเป็นลักษณะของคนที่มีความสุขจริง และอยากจะให้ความสุขตัวเองมันเผื่อแผ่ออกไปถึงคนอื่น

และยิ่งกว่านั้่น ยังพิสูจน์ได้ชัดเจนถึงขั้นที่จิตมีความตั้งมั่นอยู่ในเมตตาจริงๆนี่ต้องถึงขั้นคนที่มันเลวกับเรา คนที่มันทำร้ายเรา คนที่มันทำให้เราเจ็บใจ คนที่มันทำให้เรามีความเสียหาย เวลาเรานึกถึงเขา ใจมันก็ไม่มีอาการหดแคบเข้ามา ไม่มีอาการรุ่มร้อนกระวนกระวายขึ้นมา แต่ยังเย็นพอ ตรงเย็นพอนี่ล่ะ มันมีความสุขจริงๆมันมีความสุขขนาดที่ว่าไฟอะไรก็ไม่สามารถที่จะคืบคลานเข้ามาหา เข้ามาเผาไหม้จิตใจของเราได้ และเราสามารถที่จะเอาความเย็นที่ยังคงมีอยู่ ทั้งๆที่มันมีเรื่องที่น่าโกรธมากระทบนี่ เราสามารถเอาความเย็นตรงนั้นกระจายไปให้เขาได้อีก คนที่ควรจะเป็นศัตรู คนที่เราควรจะถือเป็นที่ตั้งของความเกลียด แต่กลับกลายเป็นว่า เขากลายเป็นที่ตั้งของเป้าหมาย อยากกระจายความเย็นจากอกเราไปหาอกเขา นี่แหละตรงนี้เป็นเมตตาของแท้ เป็นเมตตาขนานใหญ่ ชนิดที่ว่าถ้าตายเมื่อไหร่ไปพรหมโลกเมื่อนั้น เป็นเมตตาที่ยิ่งใหญ่จริงๆ อันนี้ก็บอกวิธีพิสูจน์นะครับ

ที่ถามว่าไม่แน่ใจว่าคือกระแสเมตตาหรือเปล่า ก็ขอให้ดูในชีวิตประจำวัน อย่าดูเฉพาะตอนที่กำลังนั่งสมาธิ บางคนนี่มีนะ ตอนนั่งสมาธินี่แผ่เมตตาดี๊ดีเลย มีความสุขมาก โอ๊ย ใจดี อยากจะโปรดโลก อยากจะโปรดสัตว์ แต่พอออกจากสมาธิมา เจอสัตว์เข้าจริงๆมาทำร้าย จะเป็นยุง จะเป็นมนุษย์ที่มีพฤติกรรมไม่ค่อยจะเหมือนมนุษย์เท่าไหร่ พอเข้ามากระทบกระแทกแล้วนี่ลืมความอยากที่จะทำให้สัตว์โลกมีความสุข มีแต่ความอยากที่จะให้สัตว์โลกมีความทุกข์ อยากที่จะให้สัตว์โลกเจ็บปวดทรมานไปแทน



๒) เวลาหมาแมวมันมองเห็นรูป มันเห็นรูปอย่างเดียวเลยใช่หรือไม่? แล้วมันรู้จักสมมุติบัญญัติด้วยหรือเปล่า?

คำตอบคือ สัตว์ที่ไม่มีปัญญาประกอบนี่ ไม่มีทางที่จะเห็นเป็นรูปปรมัตถ์ได้เลยอย่างเด็ดขาด มันมีโมหะห่อหุ้มอยู่ อย่างไรๆมันก็ต้องคิดเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง มันยึดว่าอันนี้คือมนุษย์ อันนี้คือพวกมันเป็นหมา อันนี้คืออีกพวกนึงเป็นแมว อันนั้นคืออีกพวกนึงเป็นไก่ มันจำได้นะ มันมีอายตนะคือตา เวลาที่รูปทรงของอัตภาพหนึ่งๆเข้ามากระทบตามัน มันจำได้ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตจำพวกไหน ถ้าเป็นสิ่งมีชีวิตชั้นสูงที่เป็นนายมันได้ก็มีแต่มนุษย์นี่แหละ

จริงๆแล้วถ้าไปศึกษาดูในอินเตอร์เน็ต จะพบว่าวิธีที่หมาเห็นมันไม่เหมือนกับที่เราเห็น อันนี้เป็นวิทยาศาสตร์เลย คือองค์ประกอบโครงสร้างของประสาทตาไม่เหมือนกันกับของเรา สิ่งที่มองเห็นนี่ บางอย่างมันเห็นมากกว่าเรา บางอย่างมันเห็นน้อยกว่าเรา ผมจำรายละเอียดไม่ค่อยได้ ลองไปเสิร์ชดูก็แล้วกัน

แต่โดยสรุปนะครับ คือ ไม่ใช่ว่าประสาทตานี่มันจะเห็นอะไรได้แค่ไหน มากน้อยกว่ากันเพียงใด แต่มันขึ้นอยู่กับว่าใจที่รับรู้สิ่งที่เห็นน่ะ มันไปปรุงแต่งด้วยอาการของโมหะ หรือด้วยอาการของปัญญา ถ้าหากเป็นสัตว์ทั่วไป ไม่ว่าจะไล่ตั้งแต่สัตว์นรกขึ้นมาจนถึงพระพรหมเลย ล้วนแล้วแต่มีโมหะครอบงำอยู่ ถ้าสัตว์นรกก็มีโมหะชนิดหนาแน่นสุดขีดเลย มีแต่ความเร่าร้อน มีแต่ความรู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกแผดเผาอยู่ ส่วนเทวดาพระพรหม ถ้าหากว่ามีความปรุงแต่งที่ละเอียดขึ้นเป็นปีติเป็นสุข ก็จะมีความรู้สึกว่า ความเย็นมีปีติมีสุขอันเป็นทิพย์นั้นน่ะคือตัวเรา

แต่ถ้าหากว่ามนุษย์ผู้ใดหรือเทวดาตนใด พระพรหมตนใด สามารถที่จะเข้ามารู้เข้ามาดูภายในโครงสร้างของชีวิต อันประกอบด้วยส่วนของรูปกายและรูปจิต ถ้าหากว่ามองเห็นทั้งรูปกายและรูปจิตโดยความเป็นของไม่เที่ยงไม่ใช่ตัวตน กระทั่งเกิดปัญญาประกอบอยู่กับจิต ปัญญาเกิดความรู้ว่าทั้ังกายทั้งจิตเป็นแค่ภาวะประชุมประกอบกันชั่วคราว ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ตรงนี้เท่านั้นแหละ เวลาที่รูปเข้ามากระทบตา ใจมันถึงจะมีอาการปรุงแต่งไปในทางความเป็นปัญญา เห็นว่ารูปสักแต่เป็นรูป สีสักแต่เป็นสี ทรงสักแต่เป็นทรง แต่ไม่มีตัวตนอยู่ในรูปทรงสีที่ได้เห็น

แล้วใจต้องมีความตั้งมั่น คือมิใช่เห็นประเดี๋ยวประด๋าวนะ คือใจต้องมีความตั้งมั่น เห็นว่าก่อนเกิดรูปก็มีความรู้อยู่ที่ใดที่หนึ่ง อย่างเช่น อิริยาบถปัจจุบันว่ามันสักแต่เป็นรูป พอมีรูปภายนอกเข้ามากระทบตา ใจก็ปรุงแต่งไปว่า เออ! นั่นรูปภายนอก สิ่งที่เกิดเป็นความชอบความชัง เป็นปฏิกิริยาที่มันโต้ตอบออกไป ก็สักเป็นของปรุงแต่งชั่วคราว มีปัญญาที่มันเกิดประกอบแบบนี้ได้นี่ ต้องอยู่บนจิตที่มีความตั้งมั่นเป็นสมาธิเท่านั้น ไม่ใช่ว่ากำลังคิดๆนึกๆอยู่นะครับ



๓) ถ้าเรารู้สึกว่ากิเลสน่าจะหมดไปเป็นอย่างๆแล้ว แต่ยังไม่เกิดมรรคไม่เกิดผลซักทีจะทำอย่างไร? ควรปฏิบัติอย่างไรเพื่อให้มันเข้มข้นขึ้น และช่วยให้ถึงความตั้งมั่นและล้างผลาญกิเลสขั้นต้นได้?

คำตอบคือ การที่ได้เห็นรูปสักแต่เป็นรูป เห็นนามสักแต่เป็นนาม ไม่มีตัวตน และเพื่อที่จะเข้าถึงพระโสดาบันได้นั้น เวลาคนไปถามพระพุทธเจ้า ไม่ว่าใครจะไปถามท่าน ก่อนถึงมรรคผลหรือกระทั่งว่าถึงมรรคผลขั้นต้นเป็นพระโสดาบันแล้ว พระพุทธเจ้าท่านก็จะตอบเป็นคำตอบเดียวกันเลย เวลาที่ใครไปถามว่าทำสมถะหรือทำวิปัสสนาดี ท่านตอบว่า ทำควบคู่กันไปทั้งสมถะและวิปัสสนา คือมีความสงบใจ สงบจากกิเลสชั่วคราว เพื่อให้จิตมีความตั้งมั่นมากพอที่จะเห็นตามจริง และหลังจากนั้น เมื่อจิตมีความพร้อมที่จะเห็นตามจริง ก็เอาไปรู้เอาไปดูว่าภาวะปัจจุบันนี่ ตรงไหนที่มันมีความเที่ยง ตรงไหนที่มันน่าให้ชี้ว่าเป็นตัวเป็นตนนะครับ

ถ้าหากว่าเราตามรู้เราตามดูแต่สิ่งที่มันไม่เที่ยง ตามรู้ตามดูแต่สิ่งที่มันไม่ใช่ตัวตน ในที่สุดจิตก็จะมีความสามารถเป็นเครื่องประหารอุปาทานที่ยึดมั่นถือมั่นมานานว่ากายว่าใจนี้มันเป็นตัวเป็นตน เราก็จะสามารถสลัดอุปาทานนี้ทิ้งไปได้

แต่ถ้าตราบใดยังไม่ถึงตรงนั้น อย่าไปเร่งเด็ดขาด อย่าไปคิดว่า ทำอะไรเพิ่มขึ้นไปเป็นพิเศษแล้ว จะเป็นเหตุให้เกิดมรรคเกิดผลขึ้นมาทันใจ มันไม่มีอะไรแบบนั้น มีแต่ว่าเราใช้ชีวิตทั้งชีวิตนี่แหละ ชีวิตนับตั้งแต่วินาทีนี้ไปจนกระทั่งสิ้นชีวิต ไปเพื่อที่จะเห็นว่าชีวิตมันสักแต่เป็นชีวิต ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน สักแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปด้วยเหตุปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งมันมาประชุมประกอบกันชั่วคราว นะครับ

ถ้าหากว่าเราทำใจไว้ได้จริงๆว่า จะใช้ชีวิตที่เหลือนี่แหละเพื่อที่จะรู้ เพื่อที่จะดูความจริงอันไม่เที่ยง ความจริงอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนในกายใจ อันนั้นเรียกว่ากำลังทำสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว แต่ถ้าหากว่า นึกอยากที่จะได้มรรคผล แล้วนึกสำคัญไปว่าจะมีอุบายใดอุบายหนึ่งมาทำให้เราบรรลุมรรคผลได้อย่างรวดเร็ว อันนั้นมันผิดทันที

มีแต่พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่สามารถจะรู้ฐานะของใคร ว่าด้วยกรรมอันใดที่ทำมาในอดีต และด้วยอุบายอันใดที่พระองค์จะมอบให้ จึงสามารถทำให้คนๆนั้นบรรลุมรรคผลได้อย่างฉับพลัน และไม่ใช่ว่าพระพุทธองค์จะสามารถช่วยใครให้บรรลุมรรคผลแบบฉับพลันได้ทุกคนนะ ไม่ใช่ บุคคลผู้นั้นจะต้องมีความปรารถนาในทางใดทางหนึ่งไว้ก่อน หรือทำบุญอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นพิเศษมาเพื่อที่จะบรรลุมรรคผลได้ง่าย ด้วยการพบพระพุทธเจ้า อยู่ต่อเบื้องพระพักตร์ แล้วถึงจะมีสิทธิ์ปิ๊งขึ้นมาได้แบบเร็วๆ นอกนั้นจะต้องทำกันแบบค่อยๆเป็นค่อยๆไปกันทั้งนั้น

ผมยกตัวอย่างให้ง่ายๆนะครับ อย่างพระราหุล พระโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะก่อนที่ท่านจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คนคาดหมายว่าพระพุทธเจ้าน่าจะเมตตาสั่งสอนพระราหุลให้ได้บรรลุมรรคผลเร็วกว่าใคร น่าจะคุมกันตลอด ๒๔ ชั่วโมง แต่จริงๆไม่ใช่เลย พระพุทธเจ้าท่านให้ธรรมสติปัฏฐานเพื่อเป็นแบบอย่างเลยว่า นี่ลูกของท่านเอง ท่านสอนแบบนี้ ท่านสอนให้ทำเอง สอนให้ค่อยๆเป็นค่อยๆไป ไม่มีอุบายลัดใดๆเลย

ในพระไตรปิฎกไม่มีสอนเลย ว่าให้พิจารณาอย่างนั้นให้พิจารณาอย่างนี้ แล้วจะได้เห็นธรรมรวดเร็ว ไม่มีเลย มีแต่ว่าพระสารีบุตรท่านสอนพระราหุลว่า ให้ดูลมหายใจ ทีนี้พระราหุลท่านไม่แน่ใจว่าดูลมหายใจอย่างเดียวหรือ พระพุทธเจ้าท่านก็มาเสริมให้ในภายหลัง ลับหลังพระสารีบุตรไปแล้ว บอกว่าดูเวทนาด้วย ดูสัญญาด้วย ดูสังขารด้วย ดูวิญญาณด้วย คือท่านเห็นว่า ที่พระสารีบุตรให้เป็นการบ้านนี่ มันง่ายสำหรับมือใหม่ แต่ว่าพระองค์เห็นว่าพระราหุลสามารถรู้ได้หมด ก็เลยบอกว่าให้ดูให้ครบทุกขันธ์เลย ทั้งขันธ์อันได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์นะครับ

นี่ก็เป็นหลักฐานชี้ว่า เวลาพระพุทธเจ้าสอนคนที่ท่านน่าจะมีเมตตาให้มากที่สุด ท่านสอนให้ค่อยๆเป็นค่อยๆไป ไม่ได้สอนให้ใช้อุบายลัดใดๆทั้งสิ้น



๔) ถ้าเราถูกกระทำ เราจำเป็นต้องยอมทุกกรณีเพื่อจะได้ไม่มีการจองเวรกันไหม? ถ้าเขาทำอะไรมา เราควรจะแรงใส่กลับไปไหม? พระพุทธศาสนาสอนให้ทำแบบไหน?

คำตอบคือ ถ้าหากว่าเราพูดถึงเรื่องทางโลกนี่ อย่าดูดาย อย่านิ่งเฉย แม้แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่นิ่งเฉยกับภิกษุที่ทำผิดนะ ท่านลงโทษนะ ท่านเอาผิดนะ และบางทีตรัสตำหนิเอาแรงๆด้วยซ้ำต่อหน้าธารกำนัลเลย พระพุทธศาสนาไม่ได้บอกว่าการให้อภัยหมายถึงการไม่ทำอะไรเลยกับคนที่ทำผิด การให้อภัยคือการดูดาย ไม่ต้องไปเอาโทษเอาผิดอะไรกับใครทั้งสิ้น ไม่ใช่ นั่นไม่ใช่พระพุทธศาสนา คำว่าอภัยหมายถึงใจเราไม่ผูกโกรธ ใจเราไม่เอาเรื่องเอาราวที่จะไปฟาดฟันจะไปเบียดเบียนให้เขาเกิดความทุกข์ทรมานใจ แต่โดยพฤติกรรมทางกายถ้าผิดต้องว่าตามผิด

อย่างที่ถามมาว่าถ้าเขาทำอะไรมา เราควรจะแรงใส่กลับไปไหม พระพุทธศาสนาสอนให้ทำแบบไหน คำตอบคือ เราสามารถที่จะโต้ตอบได้ แต่ขั้นต้นให้ความโกรธน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

วิธีที่จะทำให้เราโต้ตอบด้วยความโกรธน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้สำหรับมือใหม่ฝึกหัดละความโกรธ คืออย่าพึ่งโต้ตอบในขณะที่กำลังรู้ตัวว่ากำลังอารมณ์แรง ให้เฉยๆเย็นๆไว้ก่อน คือมันไม่จำเป็นหรอก ไม่มีในทุกสถานการณ์หรอกที่ต้องโต้ตอบทันที น้อยครั้งที่เราต้องโต้ตอบเดี๋ยวนั้นไม่งั้นจะเกิดความเสียหาย ส่วนใหญ่แล้วเรารอซัก ๕ นาที ๑๐ นาทีก่อนก็ได้ แล้วค่อยเข้าไปพูด

มีวิธีพูดมากมายหลายร้อยวิธีที่จะทำให้คนเกิดความสำนึกได้ ถ้าหากว่าเราตั้งไว้ในใจ กำหนดไว้ในใจว่า สิ่งที่เราต้องการคือทำให้เขาทำตัวดีขึ้น ประพฤติตัวดีขึ้นหรือเกิดความสำนึกผิด เพื่อให้เกิดการแก้ไขปรับปรุงให้มันดีขึ้น เราต้องถามตัวเองว่า เราจะพูดอย่างไร เพื่อให้ได้สิ่งนั้น ถ้ารู้จักถามตัวเองรู้จักฝึกตัวเอง ใจมันจะเริ่มเย็นลงมา แล้วก็มีความคิดความอ่านในการแก้ปัญหา ในการตอบโต้มากขึ้น

บางทีถ้าหากคุณสัมผัสได้ รู้สึกได้ว่าเขาสำนึกผิดอยู่แล้ว บางทีไม่ต้องพูดเลยก็ได้ คือคิดเป็นกรณีนะครับ ถ้าสมมุติว่ายังไม่สำนึกผิดอันนี้จำเป็นต้องว่า จำเป็นต้องติ จำเป็นต้องเตือนกัน แต่ถ้าหากคุณรู้สึกว่าเขาสำนึกผิดอยู่แล้ว แค่พูดคำเดียวพอว่า คราวหน้าอย่าให้เป็นแบบนั้นอีกนะ แค่นั้นมันก็เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกันได้แล้วแล้วก็ไม่มีใครเจ็บช้ำน้ำใจ ครั้งหน้าครั้งต่อไปก็ไม่มีเหตุการณ์เสียหายแบบนั้นเกิดขึ้นอีก

ตรงข้ามหากเขาสำนึกผิดอยู่แล้ว หรือคุณเตือนแล้วเขารู้สึกผิดอยู่แล้ว คุณยิ่งไปตอกย้ำหรือไปว่าใส่หนักเข้าไปใหญ่นี่ ความสำนึกผิดของคนอาจกลับเปลี่ยน กลายเป็นความรู้สึกอยากเข้าข้างตัวเองขึ้นมาแทน นี่ตรงนี้เป็นหลักธรรมชาติของจิตเลยตามหลักจิตวิทยาเลยนะครับ แต่ถ้าหากว่าคนมันว่าซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่สะเทือน อันนี้ก็ต้องถึงขั้นลงโทษ ซึ่งจะลงโทษตามกฎของบริษัทหรือบ้านเมืองก็ว่ากันเป็นกรณีไป ไม่ใช่ว่าปล่อยให้คนที่ทำผิดทำเลวได้ใจ โดยเฉพาะคนที่มารังแกเรา ถ้ามารังแกเรา เราก็ต้องป้องกันตัว ต้องหาทางยับยั้งเขาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จะวิธีพูดหรือวิธีทำก็ตามนะครับ

แม้แต่พระพุทธเจ้าท่านก็บัญญัติวินัยไว้ หลังจากมีคดีพระภิกษุณีท่านโดนข่มขืนโดยคนรู้จักเก่าที่เคยชอบเคยหลงท่าน พระอุบลวรรณาเถรี ซึ่งหลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น พระพุทธเจ้าท่านก็จัดประชุมสงฆ์เลย ว่าภิกษุณีต้องอยู่ในเขตหรืออาวาสที่มีภิกษุอาศัยอยู่เท่านั้น นั่นหมายความว่าอะไร หมายความว่า ผู้ชายต้องมีหน้าที่ปกป้องผู้หญิง นี่ขนาดในพระพุทธศาสนานะครับ ถ้าใครจะมาทำร้ายผู้หญิง ผู้ชายต้องเป็นฝ่ายปกป้องนะครับ นี่ท่านบัญญัติวินัยข้อนี้ไว้ เพื่อบอกเป็นกลายๆเลยว่า ป้องกันตัวได้เวลาจะมีคนมาทำร้าย ไม่ใช่ว่างอมืองอเท้าอยู่เฉยๆ



๕) หลายๆครั้งดูเหมือนตามจิตไม่ทัน มันรู้เองเข้าใจเอง ต้องมาตามทราบภาวะนั้นทางการบรรยายธรรมหรือข้อมูลทางอื่น เหมือนของเก่าในตัวมันเยอะอย่างไรอย่างนั้นเลย

คำตอบคือ ผมเข้าใจว่าในตอนที่เกิดเหตุ ณ จุดเกิดเหตุสติตามไม่ทัน แต่มารู้เองเข้าใจเองทีหลัง อันนั้นเป็นเรื่องดีนะครับ เพราะว่าโดยตามธรรมดาแล้ว มันไม่มีใครหรอกที่สติจะตามทันในช่วงเริ่มต้น ส่วนใหญ่ก็อย่างนี้กันทั้งนั้นแหละ คือ มารู้เอาทีหลัง มารู้ตัวเอาตอนที่มันเกิดเหตุไปแล้ว หรือว่ามาคิดได้ มานึกออก หลังจากที่ได้อ่านธรรมะหรือได้ฟังธรรม บางคนนะฟังธรรมมาแล้วๆเล่าๆมาไม่รู้กี่ปี มันไม่เข้าใจว่าจุดนี้หมายความว่าอะไร ท่านหมายถึงอะไร แต่พอมีประสบการณ์ จิตมันเกิดความรู้ขึ้นมา มันต้องค่อยๆเป็นค่อยๆไป มันต้องเป็นไปในลักษณะที่ว่า ยิ่งก้าวออกไปยิ่งเข้าใกล้เป้าหมายมากขึ้น มันยิ่งเห็นอะไรชัดมากขึ้น ผ่านเส้นทาง ผ่านประสบการณ์ ผ่านสิ่งที่อยู่ข้างทาง จะเป็นดอกไม้ต้นหญ้าอะไรต่างๆนานา มันมีความเข้าใจในเส้นทางมากขึ้นหลังจากที่เดินไปเรื่อยๆ

ขออย่างเดียว มีความช่างสังเกต มีความรู้ มีความดูอยู่ ไม่สักแต่ทำไปเรื่อยๆและคิดว่าแค่นี้พอแล้ว ดีอยู่แล้ว ส่วนใหญ่นี่ คนที่คิดว่าแค่นี้ดีแล้ว แค่นี้พอแล้ว ก็จะทำแบบซ้ำๆเหมือนคนย่ำอยู่กับที่ แต่ถ้าหากค่อยๆพิจารณาว่ามีอะไรที่เรายังไม่ได้ทำอีก มีอะไรที่เรายังไม่ได้จัดการ เพื่อที่จะให้กิเลสข้อนั้นข้อนี้มันลดน้อยถอยลง อย่างนี้เรียกว่าก้าวเดินไปเรื่อยๆก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆดีแล้วนะครับ



๖) อยากเอาดีทั้งทางโลกและทางธรรมควรทำอย่างไร? อ่านหนังสือฮาวทู (How To) มาเยอะ แต่พอมาศึกษาธรรมะแล้วเริ่มสับสน เหมือนกับหาจุดร่วมด้วยกันไม่ได้

คำตอบคือ การที่เราเป็นฆราวาสอยู่แล้วอยากจะเจริญสตินี่ เขาเรียกว่าเหยียบเรือสองแคมอยู่แล้ว เพราะว่าหน้าที่เจริญสตินี่ ดูๆไปเหมือนเป็นหน้าที่ของภิกษุอย่างเดียว ไม่ได้เป็นหน้าที่ของฆราวาส พระพุทธเจ้าท่านไม่เคยสอนสติปัฏฐานให้ฆราวาสเป็นเรื่องเป็นราวเลย ในพระไตรปิฎก สติปัฏฐานนี่ท่านจะสอนแต่เฉพาะภิกษุ เหมือนกับจะแยกให้เห็นเลยว่า ฆราวาสอยู่ส่วนฆราวาสทำมาหากินไป แล้วก็เลี้ยงพระ ส่วนพระก็ไม่ต้องทำมาหากิน ไม่ต้องแข่งขันอะไรใดๆทั้งสิ้น ทำมรรคผลนิพพานให้แจ้งอย่างเดียวด้วยการเข้ามารู้เข้ามาดูภายในกายและใจของตัวเอง อย่าไปยุ่งเรื่องของชาวบ้าน อย่าไปแข่งกับชาวบ้าน ตรงนี้พระพุทธเจ้าท่านแบ่งแยกไว้ชัดเจน

แต่ในขณะเดียวกันเราก็จะเห็นเป็นหลักฐานว่า แม้ฆราวาสหรือชาวบ้าน พระพุทธเจ้าก็สอนธรรมะขั้นสูง จนกระทั่งชาวบ้านหลายต่อหลายคนบรรลุธรรมขั้นสูงกันไป บางคนเป็นถึงพระอนาคามี เกือบจะเป็นพระอรหันต์อยู่แล้ว แสดงว่าท่านก็ไม่ได้ละเลยหรือเห็นฆราวาสไม่มีความสามารถ ท่านก็โปรด แต่โปรดเป็นคนๆไป

ทีนี้เราต้องทำความเข้าใจอย่างนี้ก่อน โดยทั่วไปชาวบ้านที่อยู่ในโลกอยากเจริญสติ เจริญได้น่ะดี ดีมากๆเลย แต่อย่าคาดหวังอะไรมากมาย คือขอให้ทำไปเรื่อยๆขยันให้มันจริง ทำให้มันจริง แล้วมันจะพัฒนาก้าวหน้าขึ้นไปเอง ในขณะเดียวกัน เราไม่ได้ทอดทิ้ง เราไม่ได้ดูดายเรื่องหรือภาระทางโลก เรายังทำเต็มที่ เรายังเสพสุขอยู่ด้วยซ้ำ พระสารีบุตรท่านก็บอกว่า เสพสุขทางโลกน่ะได้ โลกียสุขน่ะเสพไป แต่ขอให้มีสติรู้ว่ายังมีความสุขอื่นเหนือกว่านี้

วิธีเดียวที่จะรู้ได้ว่าความสุขอื่นที่เหนือกว่าความสุขแบบโลกๆได้ก็คือ เราต้องเจริญสติให้เป็น หรืออย่างน้อยที่สุดต้องฟังธรรม รับรู้ว่า สิ่งที่เหนือกว่ากามสุขคือวิมุตติสุข ถ้าหากว่าเรารู้อย่างนี้แล้ว ถือว่าเป็นฆราวาสชั้นเยี่ยมอยู่โดยตัวเองแล้ว ไม่ต้องไปแข่งกับตัวเองให้มากขึ้น ไม่ต้องไปขัดแย้งกับตัวเอง อะไรที่เราติดใจแบบโลกๆก็ทำไปเถอะ ติดใจไปเถอะ เสพไปเถอะความสุขนั้น แต่ว่าเราค่อยๆทำ ค่อยๆเจริญสติแบบค่อยเป็นค่อยไป

ถ้ายังเจริญสติไม่ได้ ลองหัดให้ทานดู ถ้าหากว่าหัดให้ทานได้แล้ว เขยิบขึ้นมารักษาศีลให้ได้ทุกข้อ จากรักษาศีล มีความรู้สึกว่าใจมีเมตตามีน้ำใจและใสสะอาดด้วยศีลด้วยสัตย์ จากนั้นค่อยมาทำสมาธิแล้วฝึกเจริญสติดู จะรู้สึกว่าแม้แต่เป็นฆราวาสก็สามารถบรรลุธรรมได้ เป็นพระโสดาบันได้เหมือนกัน


เอาละครับ คืนนี้คงมีเวลาเพียงเท่านี้ราตรีสวัสดิ์ ขอให้เจริญในธรรมทุกท่านครับ


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น