วันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๙๗ / วันที่ ๓๑ ส.ค. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

๑) ขอถามเรื่องดูจิตนะคะ ไม่ค่อยแน่ใจคำว่า รู้ เท่าไร ขอถามสองข้อค่ะ ยกตัวอย่างเช่น เดินไประหว่างทางเจอผู้ชายคนหนึ่ง แล้วคิดในใจว่า เป็นเกย์หรือเปล่า แล้วต่อมาก็มีเสียงพูดขึ้นในใจว่า คิดอกุศลอีกแล้วนะ ข้อแรกอยากถามว่า การพูดขึ้นมาในใจว่า คิดอกุศลนี่ มันเป็นอาการรู้แล้วใช่หรือไม่ หรืออาการรู้นี้ นิ่ง ไม่พูดอะไรในใจเลย ช่วยอธิบายทีค่ะ? ข้อที่สอง การเติมคำว่า อีกแล้วนะ เป็นการแทรกแซงจิตหรือเปล่า เหมือนเราตอกย้ำความผิดของตัวเองว่า ทำผิดซ้ำซากน่ะค่ะ?

เราพูดแยกเป็นสองประเด็นนะครับ ประเด็นของการมีสติ กับประเด็นของการรู้ในแบบที่จะเจริญสติ แล้วเกิดการเห็นรูปเห็นนาม เพราะว่ามันไม่เหมือนกันนะ ตัวสติ ‘สติ’ ในความหมายที่เป็นสติแบบสามัญ กับ ‘การรู้’ หรือเติมเข้าไปอีกคำหนึ่งก็ได้ เป็นคำว่า ‘สัมมาสติ’ มันจะได้แยกออกชัดเจน

ตัวสติธรรมดานี่ ใครๆก็มีได้ อย่างเช่นที่ว่า เราสามารถเตือนตัวเองได้ การสามารถเตือนตัวเองได้เป็นคุณสมบัติของคนที่จะเจริญก้าวหน้าในชีวิต ส่วนการที่มีสัมมาสติ การสามารถรู้กายรู้ใจโดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นของไม่ใช่ตัวตนได้ อันนั้นไม่ใช่ชีวิตจะแค่เจริญรุ่งเรือง แต่ว่าชีวิตจะสามารถพ้นทุกข์ได้ นี่คือหลักการของพุทธนะ มีสติแบบธรรมดา แบบกัลยาณชน ก็สามารถที่จะเปลี่ยนผิดให้เป็นถูก เปลี่ยนถูกอยู่แล้วให้ถูกยิ่งขึ้น ดียิ่งขึ้น ส่วนการมีสัมมาสติ มันสามารถเปลี่ยนทุกข์ให้กลายเป็นสุข เปลี่ยนคนคิดมาก ให้กลายเป็นคนไม่คิด หรือว่าคิดน้อย หรือเปลี่ยนกัลยาณชนที่เป็นปุถุชนนี่ ให้กลายเป็นอริยบุคคลได้ นี่คือข้อแตกต่างระหว่าง สติธรรมดา กับ สัมมาสติ

ทีนี้คำว่าสติธรรมดานี่ มันเกิดขึ้นตอนไหน อย่างเราคิดในใจว่า เอ๊ะ เป็นเกย์หรือเปล่านี่ คนนี้ ตัวนี้เขาเรียกว่าเป็นความคิด ซึ่งมันเกิดขึ้นแบบช่วยไม่ได้ ยังไงมันก็ต้องเกิด ไปห้ามใจตัวเองไม่ให้คิด ไปห้ามใจไม่ให้มีปฏิกิริยา หลังจากตาไปเห็นรูป คือ พูดง่ายๆว่า เอาตาไปดู เอาหูไปฟัง แล้วเกิดความรู้สึกอย่างไร นั่นแหละเรียกว่าเป็นปฏิกิริยาทางใจมันไม่สามารถที่จะห้ามได้ สั่งสมนิสัยทางการคิดมาอย่างไร หรือสั่งสมความเคยชินที่จะตั้งข้อสงสัยมาอย่างไร มันก็เกิดขึ้นอย่างนั้น แล้วบางคน คือ รูปร่างหน้าตา หรือว่ากิริยาท่าทีนี่ มันชวนให้สงสัย มันก็อดไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้หญิงจะเป็นคนที่ละเอียดอ่อน จะเป็นคนที่มีความไวกับสัมผัสรู้สึกที่เข้ามากระทบ

อันนี้เขาบอกว่า ผู้หญิงนี่นะ ไม่ใช่แค่เป็นเรื่องของนิสัยอย่างเดียวนะ มันเป็นเรื่องของเคมีในสมองด้วยที่ว่ามันจะมีตัวกระตุ้นให้เกิดความไวสัมผัส ไวกับสิ่งรอบข้าง ช่างสงสัย ช่างคิด แล้วก็บางทีเก็บเรื่องเล็กเรื่องน้อยมาคิดมากนี่ นักวิทยาศาสตร์เขาบอกว่าเป็นเรื่องที่ตัวร่างกายเองมีส่วนสนับสนุน มีส่วนส่งเสริมอยู่ด้วย อันนี้ก็เลยสรุปว่า ตอนที่เราตั้งคำถามขึ้นมาในใจ เป็นแค่ปฏิกิริยาทางใจ ส่วนการมีเสียงพูดขึ้นมาในใจว่า คิดอกุศลอีกแล้ว อย่างนี้เรียกว่าเป็นสติธรรมดา สติในแบบกัลยาณชน สติในแบบที่เราจะเปลี่ยนความคิดที่มันพาให้จิตใจหม่นหมอง หรือเป็นไปในทางอกุศล เป็นไปในทางเม้าท์แตก เป็นไปในทางที่จะเอาไปติฉินนินทาชาวบ้านหรือว่าเอาไปจับกลุ่มคุยกันแบบเพ้อเจ้อ มันก็หายไป ตัวกุศลที่เกิดขึ้น เตือนตัวเองว่า นี่กำลังคิดในทางที่เป็นความเสื่อม ตัวนี้ทำให้ชีวิตเจริญรุ่งเรืองออกมาจากภายใน อย่างนี้เรียกว่าเป็นสติแบบธรรมดา

พอผมเปลี่ยนคำนี่ จากคำว่า รู้ เป็น คำว่า สติ มันฟังง่ายขึ้นใช่ไหม ตัวสตินี่ ใครๆก็รู้ว่าคือการระลึกขึ้นมาได้ คือการที่มีความรู้สึกตัวขึ้นมาว่า เออ อันนี้ทำอะไรอยู่ ผิดหรือถูกนะครับ อันนี้ใครๆก็สามารถเข้าใจกันได้ ไม่ว่าจะอยู่ศาสนาไหน ทีนี้ ที่ว่ามันจะมีคำเสริมขึ้นมาแค่ไหนก็ตาม บอกว่า อีกแล้วนะ หรือว่า คิดอกุศลอีกแล้วนะ ไม่ว่าจะคำเดียว หรือหลายคำ มันเป็นสติล้วนๆเลย มันไม่ใช่สัมมาสติ

ตัว ‘สัมมาสติ’ คืออะไร ตัวสัมมาสติคือการที่ เราระลึกขึ้นมาได้ว่านี่คิดอกุศล เสร็จแล้วตัวเห็นว่า หน้าตาลักษณะของอกุศลจิตเป็นอย่างไร มันมีลักษณะเสียดแทง มันมีลักษณะเหมือนกับว่า จิตใจของเราแต่เดิมนี่ ไม่ได้หม่นหมอง แล้วมันมีความหมกมุ่นหม่นหมองขึ้นมา หม่นหมองในลักษณะที่ไปสนใจในเรื่องไม่ดีของคนอื่น แล้วเกิดความมัวๆขึ้นมา สามารถเห็นลักษณะนั้นได้ และที่สำคัญมันอยู่ตรงนี้นะ เมื่อเกิดสติรู้ว่า มีความมัว มีความหมองขึ้นมาที่ในจิต ในจิตของเราไม่ปกติเหมือนเมื่อครู่นี้แล้ว เราสามารถเห็นในเวลาต่อมาได้ว่า อาการมัวนั้นเปลี่ยนไป กลายเป็นใสขึ้น คีย์เวิร์ดมันอยู่ตรงนี้ ‘เมื่อเราสามารถเห็นลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งของร่างกาย หรือว่าจิตใจ แล้วเห็นลักษณะนั้นๆมีความเปลี่ยนแปลงไป นี่เรียกว่าสัมมาสติ’

การจะมีสัมมาสติได้ อยู่ๆมันไม่สามารถที่จะทำให้มันมีขึ้นมา ประการแรกเราต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องเสียก่อน มีความเห็นชอบ มีสัมมาทิฏฐิเสียก่อนว่าร่างกายและจิตใจนี้ เป็นเพียงเครื่องล่อให้เกิดอุปทานไปว่า นี่คือเรา เรามีอยู่ในรูป รูปเป็นของๆเรา เราเป็นเจ้าของรูป แล้วก็ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายทั้งปวงเป็นตัวเรา เราเป็นตัวความรู้สึกนึกคิด พอเปลี่ยนความเข้าใจให้ถูกต้องว่า อะไรๆมันไม่เที่ยง ไม่ว่าจะเป็นกาย ไม่ว่าจะเป็นจิต เพราะว่าทั้งหลายทั้งปวงเป็นเพียงการประชุมประกอบกันชั่วคราว ไม่มีตัวเขาไม่มีตัวใคร ไม่มีตัวเรา ไม่มีบุคคล ไม่มีชายไม่มีหญิง ที่มันมีความถาวรเป็นอมตะ มันมีแต่ลักษณะสภาพที่ประชุมประกอบกันชั่วคราว พอมีความเข้าใจอย่างถูกต้องอย่างนี้แล้ว ก็เกิดความเพียรพยายามที่จะตามดูตามรู้ให้เห็นจริง อย่างเช่น ในอาการนี้นะ ถ้าหากว่าเรารู้ตัวขึ้นมาว่าคิดอกุศลแล้ว แล้วสามารถที่จะรู้สึกได้ว่าลักษณะของอกุศลนั้นเป็นอย่างไร มีความรู้สึกเสียดแทง มีความรู้สึกหม่นๆ มีความรู้สึกเหมือนกับหมกมุ่น ไปหมกมุ่นเรื่องของคนอื่น แล้วอาการนั้นๆนี่แสดงความเสื่อม แสดงความคลายให้เรารู้สึก ตัวนี้แหละนะถ้าทำครั้งเดียวเรียกว่า เป็นการฝึกสติ ที่จะทำให้เกิดสัมมาสติ แต่ถ้าทำหลายๆครั้งจนมีความเพียร มีความเพียรชอบ จนกระทั่งมันเกิดความเป็นนิสัย เป็นความเคยชินที่จะเห็นความไม่เที่ยงของลักษณะที่มันปรากฏอยู่ในกาย ปรากฏอยู่ในใจของเรานี้ อย่างนี้แหละถึงจะเรียกสัมมาสติ

ตัวสัมมาสติหน้าตาเป็นอย่างไร มันจะเหมือนมีอาการรู้อยู่เอง รู้เป็นปกติ รู้เรื่อยๆ รู้โดยที่ไม่มีอาการไปเค้น อาการไปบังคับ หรือว่าอาการที่มันจะต้องไปฝืน มันรู้ขึ้นมาเอง มันรู้ มันเคยชินที่จะรู้ว่าอะไรๆในขอบเขตของกายของใจนี้ สักแต่เป็นภาวะให้ดู มันเกิดขึ้นแป๊บนึงแล้วมันก็หายไป ไม่ใช่ตัวตนนี่แหละ เรียกว่า สัมมาสติ ตัวสัมมาสติ นี่ ที่ท่านเรียกกันว่า รู้ เพราะว่าอาการมันเหมือน รู้ อยู่จริงๆ รู้ มีแต่ รู้อย่างเดียว รู้แบบเพียวๆ รู้แบบไม่มีความรู้สึกในตัวตนเจืออยู่ ท่านนิยมเรียกกันว่า รู้ นะ



๒) อยากได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติค่ะ เคยไปตามสำนักต่างๆบ้าง ก็มีพื้นฐานในการดู จะเป็นอานาปานสติ จะเป็นพองยุบอะไรต่างๆไม่เคยน้อมนำมาใช้ในชีวิตประจำวันเลย ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ได้หัดดูจิตควบคู่กับการทำตามแบบแผน รู้สึกว่ามาถูกทาง สามารถทำให้ต่อเนื่องได้ในชีวิตประจำวัน เห็นอารมณ์บ้าง แต่พบปัญหาในการที่จะทำให้มันต่อเนื่องไปตลอดตั้งแต่ตื่น ยันหลับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ฟุ้งซ่านก็เยอะ อยากได้คำแนะนำเพื่อให้เกิดการพัฒนาได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้?

ท่องไว้เลยนะ อันดับแรก ท่องให้ขึ้นใจเลยนะ อย่าคาดหวังว่าจะทำให้มันต่อเนื่องจากตื่นยันหลับ จำไว้ดีๆเลยนะ ถ้าใครสอนให้ตั้งใจ มีสติต่อเนื่องตั้งแต่ตื่นยันหลับ ก่อนอื่นให้รู้ว่าเขาสอนผิดแล้ว หรือว่าเขาเองทำไม่ได้แต่มาบอกคนอื่นนะ เพื่อที่จะให้เกิดการเข้าใจว่าเขาทำได้ มันไม่มี การจะมีสติอยู่ตลอดเวลาที่เรียกว่า เป็นอัตโนมัตินี่นะ เป็นเรื่องของผู้ที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับอยู่กับเรื่องแบบโลกๆนะ ต้องปลีกตัวไป แล้วก็แก่กล้าพอสมควรแล้ว ได้ฌาน ได้อะไรกัน จนกระทั่งที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เป็นสัมมาสติ เป็นสัมมาสมาธิ มีองค์ของมรรค มรรคที่มีองค์แปดครบบริบูรณ์ อย่างนั้นมีสิทธิที่จะรู้ทั้งวันได้ แล้วก็ต้องเป็นช่วงที่ท่านปลีกวิเวก ท่านอยู่ตัวคนเดียว หรือไม่ก็ยุ่งเกี่ยวกับคนอื่นน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นอกนั้นนี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อยู่ในเมือง ฆราวาสที่ปฏิบัติธรรม การจะไปตั้งความหวังกับตัวเอง ไปคาดคั้นให้ตัวเองมีสติระลึกได้ตั้งแต่ตื่นยันหลับนี่ มันพลาดตั้งแต่เริ่มต้นเลย พลาดตั้งแต่ขั้นแรกที่ออกก้าวเดินเลย

เพราะอะไร เพราะว่าการไปคาดคั้นตัวเองแบบนั้นนี่ มันทำให้วิธีที่เราจะเจริญสติอยู่บนเส้นทางของการบังคับควบคุม แล้วก็สำคัญผิดว่า สติเป็นสิ่งที่เราจะไปบังคับให้มันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา พอเข้าใจผิดอย่างนี้มันก็เลยมีอาการที่จิตนี่ ตั้งค่าอยู่ในอาการแข็งๆ ตั้งอกตั้งใจ ตั้งหน้าตั้งตา ดูอะไรก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าจะดู การที่ตั้งอกตั้งใจดู โดยไม่รู้ว่าจะดูอะไรดี ขอให้มันมีสติอยู่ตลอดเวลา ขอให้มันมีความรู้สึกตัวอยู่ชัดๆนะ ตั้งแต่ ตื่นยันหลับนี่ มันเข้าโหมดโหมดหนึ่ง โหมดสั่งตัวเอง โหมดสะกดจิตตัวเอง ให้แข็ง ให้ทื่อ ให้มีโฟกัสที่ปราศจากสิ่งโฟกัส เหมือนกับเราบอกตัวเองว่าให้มีสตินะ ให้มีสตินะ เสร็จแล้ว ลืม ว่าตรงหน้ามีอะไรให้ดู มีอะไรให้ทำความรับรู้ มันมีแต่คำสั่งในหัว มีสตินะ มีสตินะ มีสตินะ คล้ายๆผีดิบ ที่ถูกสั่งให้มีสติ แต่มีสติรู้อะไรก็ไม่ทราบ อันนี้ผมเลยบอกไว้เป็นขั้นแรกว่า ห้ามบอกตัวเอง ห้ามสั่งตัวเองเด็ดขาด ว่าต้องมีสติเรื่อยๆ

ประการที่สองเพื่อที่จะให้เราสามารถมีความรู้ มีสติ ที่เป็นสติจริงๆเราต้องทำความเข้าใจว่า ภายในขอบเขตกายใจนี้ ไม่ได้มีสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ปรากฏเด่นให้ดูได้ตลอดเวลา แต่เราต้องทำความเข้าใจว่า ภาวะทั้งหลายภายในขอบเขตกายแล้วก็ใจนี้ มันสลับกัน ตามเหตุปัจจัย ตามโอกาสต่างๆจะปรากฏเด่นให้เราสามารถที่จะเห็นความไม่เที่ยงของมัน อย่างที่บอกว่า ฝึกอานาปานสติมา ขอให้ทราบว่าเป็นแค่การไปจ้องลมหายใจเอาเฉยๆว่านี่มันเข้าอยู่ นี่มันออกอยู่นะ ไปบังคับให้ลมหายใจ ให้มันเข้ามันออกตามอำเภอใจของเรา แล้วก็ไปพยายามสั่งให้ตัวเองมีสติจากการรู้สึกถึงลมหายใจเหล่านั้น

ถ้าเป็นอานาปานสติจริงๆอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส ถ้าเราเข้าใจเกี่ยวกับคำว่าอานาปานสติจริงๆ มันคลุมหมดเลย ทั้งการดูว่า กำลังหายใจเข้า หรือว่าหายใจออกอยู่ แล้วก็สังเกตด้วยว่าที่หายใจเข้า หายใจออกนั้นมันไม่เท่ากัน เดี๋ยวมันก็ยาว เดี๋ยวมันก็สั้น จากนั้นต้องสังเกตด้วยว่า พอรู้สึกถึงความไม่เที่ยงของลมหายใจ จิตจะแยกออกไปเป็นผู้ดู ผู้รู้ มันจะมีความรู้สึกขึ้นมา มันจะมีความนิ่ง มันจะมีความสงบ มันจะมีความสบาย พอที่จะเห็นว่าลมหายใจมันไม่เที่ยง และพอสามารถเห็นลมหายใจไม่เที่ยงได้นี่ มันก็จะรู้สึกต่อไปว่า อะไรๆที่มันกำลังปรากฏให้รู้สึกอยู่เป็นขณะๆ ไม่ว่าจะเป็นปีติ ไม่ว่าจะเป็นสุข หรือไม่ว่าจะเป็นความห่อเหี่ยว จะเป็นความฟุ้งซ่าน จะเป็นความรู้สึกอยากพูด เป็นความรู้สึกอยากเงียบ ทั้งหลายทั้งปวงนี่ มันไม่ต่างจากลมหายใจ

เราฝึกอานาปานสติ ถ้าถูกตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสนะ มันจะเห็นเลยว่า อะไรๆที่ปรากฏอยู่ในแต่ละลมหายใจนี่ มันไม่มีความสม่ำเสมอ จากลมหายใจหนึ่ง สู่ลมหายใจอีกลมหนึ่งนี่ มันไม่เหมือนกัน แล้วความไม่เหมือนกันนี่ที่เราเห็นอยู่เรื่อยๆเท่าที่จะระลึกได้ มันจะนำไปสู่ภาวะของปัญญา ปัญญาแบบพุทธ ปัญญาแบบเห็นว่าที่กำลังปรากฏอยู่เป็นปกตินี้แหละ สักแต่เป็นภาวะที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของได้ ไม่มีใครควบคุมได้นะ

สรุปก็คือว่า ภายในขอบเขตกายใจนี่ ดูให้ดีว่ามันมีทั้งภาวะความเป็นกาย มีทั้งภาวะความรู้สึกอึดอัด หรือสบาย แล้วก็มีภาวะของใจที่สงบบ้าง ฟุ้งซ่านบ้างปรากฏอยู่ตลอดเวลาให้เห็น แต่ว่ามันจะสลับกันเด่น ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย ถ้าหากว่าไม่มีอะไรเด่นให้ดู ให้ดูลมหายใจว่ามันเข้าหรือออกอยู่ หลังจากนั้นมันมีความสุข หรือความทุกข์จากการดูลมหายใจ ก็ให้เห็นไปว่า ความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์นั้น ไม่มีความสม่ำเสมอในแต่ละลมหายใจ แม้แต่ภาวะของใจที่ฟุ้งซ่าน หรือเป็นสมาธิ มีความสงบ หรือมีความซัดส่ายก็ไม่เที่ยงในแต่ละลมหายใจ ดูอย่างนี้นะ ขึ้นอยู่กับว่าเรากำลังเห็นอะไร เรากำลังสามารถจะรู้อะไร ให้ดูสิ่งนั้นโดยความเป็นของไม่เที่ยงไป และไม่ต้องไปคาดคั้นว่าจะต้องดูให้ได้ตลอดเวลานะ อยู่ว่างๆขึ้นมา นึกได้ เออ ตอนนี้ลมหายใจเป็นอย่างไรอยู่ นั่นแหละ ตรงนั้น เป็นการสร้างความเคยชินที่จะรู้สึกตัวอย่างเป็นธรรมชาติขึ้นมาแล้ว ถ้าหากว่าเราถามตัวเองอยู่บ่อยๆทั้งวัน ใจเราจะสบาย ไม่มีอาการคาดคั้น ไม่มีอาการบังคับควบคุม และความรู้สึกตัวที่เกิดขึ้น จะเป็นความรู้สึกที่เป็นอัตโนมัติ ไม่ใช่ความรู้สึกอันเกิดจากการข่มขู่บังคับตัวเอง



๓) ภาวนามยปัญญา ทำไมถึงเป็นบุญอันยิ่งใหญ่แก่ผู้ภาวนา บุญที่ว่านี้มีลักษณะอย่างไรคะ และถ้าเรามีคนบอกว่า ภาวนาไปเรื่อยๆจะเกิดปัญญา แล้วปัญญาที่ว่านี้มีลักษณะอย่างไร ต้องใช้เวลานานแค่ไหนคะจึงจะเกิดปัญญาได้ และคนที่ภาวนาทุกคนจะเกิดปัญญาทั้งหมดไหม

ผมขอยกพุทธพจน์มา มีอยู่คำหนึ่ง พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า คนมีอายุร้อยปี พูดง่ายๆว่าอยู่มาร้อยปีนี่ มีประโยชน์ไม่สู้เท่าคนที่มีชีวิตเพียงวันเดียว แล้วรู้ว่ากายใจนี่ ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน นี่เพราะอะไร เพราะว่าการสามารถรู้สึกถึงความเป็นกาย รู้สึกถึงความเป็นใจโดยความไม่เที่ยง โดยความไม่ใช่เป็นตัวตน มันจะพาให้ออกจากความทุกข์ หรือว่าการเวียนว่ายตายเกิดที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่เสียได้ พระพุทธเจ้าท่านถือมากที่สุดเลยนะ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ถืออย่างนี้เลยว่า มีจุดยืนอย่างนี้ว่า ถ้ายังเวียนว่ายตายเกิดโดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่ นึกว่ากายใจนี้เป็นตัวเป็นตน เกิดใหม่ลืมหมด แล้วก็มายึดใหม่ว่ากายนี้ใจนี้ ที่มันอยู่ๆเห็นออกมาแต่อ้อนแต่ออก เป็นตัวของเรา เป็นตนของเรา ตัวนี้แหละ พุทธศาสนาถือว่าเป็นภัยอันใหญ่หลวง เป็นความผิดมหันต์ สำคัญที่สุด ถ้าหากว่าเมื่อไร ชาติไหน สามารถรู้เสียได้ว่ากายนี้ใจนี้เป็นเพียงเครื่องล่อ ให้เกิดอุปาทานไป กระตุ้นให้เกิดความสำคัญผิด นึกว่าการยึดมั่นถือมั่นเป็นของดี การมีตัวมีตน เป็นของวิเศษ เป็นของที่น่าหวงไว้ ตัวนี้นี่ เป็นโทษ เป็นภัยอย่างมหันต์ ถ้าหากว่าเราสามารถเห็นเสียได้นี่ ก็เท่ากับถอดโทษ ถอดภัยออกไป นี่มันถึงได้เป็นบุญใหญ่ บุญในความหมาย ในคำจำกัดความว่า จะสร้างความสุข ความเจริญในระยะยาวให้กับเรา ไม่มีอะไรที่จะเหนือไปกว่า การที่ได้รู้ว่า กายนี้ ใจนี้ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เป็นการรู้ด้วยสัมมาสติ ไม่ใช่รู้ด้วยอาการคิดๆเอา หรือว่าฟังใครเขามา

บุญมีอยู่ ๓ ระดับ คือ ทาน ศีล แล้วก็ภาวนา บุญในการคิดให้ คิดช่วยคนอื่นนี่ จะทำให้เราอยู่ดีมีสุข จะทำให้เรามีคนรักมาก แต่ถ้าหากว่า เรารักษาศีลได้สะอาด ก็จะเป็นผู้ไม่มีภัย ไม่มีเวร ไม่มีการเบียดเบียน จะอยู่ห่างจากโลกของความเดือดร้อนวุ่นวายนะครับ ส่วนบุญอันเกิดจากการภาวนาที่มันมากกว่าบุญสองระดับข้างต้นที่กล่าวมา ก็เพราะว่าจะทำให้เรามีเป้าหมายปลายทางชัดเจนในการเวียนว่ายตายเกิดนี่นะ เราจะไป ไม่ใช่สู่สุคติภพ แต่ว่าไปสู่ การพ้นจากภพ จากภูมิ จากการเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่รู้อิโหน่อิเหน่เสียได้ นี่ถึงเรียกว่าเป็นบุญใหญ่สูงสุด

การภาวนาไปเรื่อยๆที่จะเกิดปัญญา ที่เกิดปัญญานี่มันเกิดตรงที่ใจของเรามีความเป็นปกติ เห็นว่า ตัวนี้ใจนี้กายนี้ มันไม่ใช่อะไรเลยที่เรานึกว่าเป็นมาตลอด นึกว่ามีอัตตาอยู่ นึกว่ามีสมบัติของๆเราอยู่ เราสามารถควบคุมได้ มันไม่ใช่เลย มันพลิกไปหมด พลิกแบบชนิดที่เหมือนกับอยู่ๆ เรายืนอยู่ด้วยความมั่นใจว่ามีพื้น มีฐาน อยู่ๆพื้นมันทะลุหายไป ตกลงเราไม่มีอะไรเลยที่เป็นของเราอย่างแท้จริงนะ มันจะเกิดอิสระทางใจ อิสระแบบที่เพิ่งรู้ตัวว่า ถูกพันธนาการอย่างเหนียวแน่นมาตลอด ด้วยอุปาทาน มันกลายเป็นปัญญาที่ได้มีความแจ่มกระจ่าง สว่าง ที่จะทำให้เกิดความสุขแบบที่ไม่กลับ ไม่เปลี่ยนอีก

ตัวปัญญานี่ ดูง่ายๆก็แล้วกัน พูดคำเดียวก็คือ จิตมีความเป็นอิสระจากทุกข์ ถ้าหากว่าจิตยังไม่สามารถเป็นอิสระจากทุกข์ ต่อให้ไอคิวสูงแค่ไหน พุทธศาสนาถือว่ายังโง่อยู่ ยังมีโมหะ ปกคลุมจิตอยู่ ส่วนที่ถามว่า จะต้องใช้เวลาแค่ไหนถึงจะเกิดปัญญา บางคนใช้เวลาแค่อึดใจเดียวครับ พบพระพุทธเจ้า แล้วก็เป็นคนที่มีทาน มีศีลดีอยู่แล้ว มีโครงสร้างของปัญญาพร้อมอยู่แล้ว พอพระพุทธเจ้าท่านตรัส ให้เข้ามา ดูสิ ลมหายใจแต่ละลมหายใจ แต่ละระลอก มันมีไหมที่มันเที่ยง มันมีไหมที่จะอยู่กับเราตลอดไป หรือว่า ความสุขความสบายใจ แม้แต่ความอึดอัดที่มันกำลังกัดอกอยู่ เกาะอกอยู่ ดูเถอะ มีระลอกไหนของความสุข ความทุกข์ ที่มันจะครอบงำเราไปได้ตลอดไป ไม่มี แม้กระทั่งความทรงจำที่เราหวงนัก หวงหนา บอกว่านี่เป็นความทรงจำของฉัน ก็ไม่มีความทรงจำชุดไหน ที่มันอยู่กับเราไปได้ ท่องเลขไม่เท่าไร จำได้แป๊บเดียวลืมแล้ว หรือแม้แต่หน้าคน หรือแม้แต่ชื่อคน ห่างกันไปไม่นาน มันก็ลืม ต่อให้เป็นคนเคยรัก เป็นคนเคยชอบ ไม่ได้เจอกันยี่สิบ สามสิบปี ลืม นะ ลืมความรู้สึกนั้นไป ลืมความรู้สึกรัก แล้วก็นึกไม่ออกว่าเคยรักได้อย่างไร หรือแม้กระทั่ง เจตนาจะดี จะชั่ว ในอดีตเคยเป็นคนแบบหนึ่ง เวลาผ่านไป โตขึ้น มันกลายเป็นตรงกันข้าม คนที่เราเคยเป็น คนที่เราเคยตั้งใจจะเป็น

พอเห็นอย่างนี้นะ แม้แต่การรับรู้ เดี๋ยวก็กระโดดจากการรับรู้ทางตา ไปเป็นทางหู ทางหูไปเป็นทางจมูก ทางจมูกไปเป็นทางกาย ทางกายไปเป็นทางใจ นะ นี่มันสลับสับเปลี่ยน ไม่มีอะไรที่มันแสดงความเป็นตัวเราสักอย่างเดียว นี่พอฟังพระพุทธองค์ท่านตรัสถึงความจริงที่มันเห็นอยู่ต่อหน้าต่อตา มาตลอดชีวิตแบบนี้นี่ คนบางคนสามารถบรรลุธรรมได้ทันที ไม่ใช่แค่เกิดปัญญาธรรมดานะ แต่ถ้าหากว่าเรายังมีโครงสร้างพื้นฐานของจิตใจที่ยึดมั่น ถือมั่นเหนียวแน่น และยังติดอยู่กับบาป อยู่กับกรรม ชอบที่จะประกอบอกุศลมากๆ ชอบโกหก ชอบฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ขอบทำร้ายจิตใจคนอื่นแบบนี้นี่ มันไม่สามารถที่จะไปรู้ ไปเห็นอะไรตามจริงได้



« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น