สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันศุกร์ที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง เพื่อที่จะทักทายและไถ่ถามเข้ามาในรายการนะครับ ให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/HowfarBooks คืนนี้ก็ไม่ขึ้นอัตโนมัติตามเคย แต่ผมก็ได้ตั้งสเตตัสใหม่แล้วนะครับ เดี๋ยวผมคงต้องเข้าไปดูว่า มันมีข้อผิดพลาดในการทำงานเกี่ยวกับแอปที่เชื่อมโยงกับเฟสบุ๊ค ระหว่างเฟสบุ๊คกับ Spreaker.com อย่างไรนะครับ เอาเป็นว่าถ้าหากเห็นสเตตัสปัจจุบันนะครับ ก็คงได้ยินเสียงนี้กันแล้ว วิธีก็ง่ายๆเลย คือคลิกตามลิงก์ที่ผมได้ให้ไว้นะครับ แล้วก็อาจจะต้องคลิกอีกทีหนึ่ง เป็นปุ่มเพลย์นะ ที่เห็นคำว่า ‘live’ อยู่ แต่ถ้าหากว่าได้ยินเสียงนี้กันแล้ว ก็คงไม่มีปัญหาแล้วล่ะ
๑) ในการสมาธิผมนั่งนับลมหายใจ ก็นับได้เป็นร้อยครั้ง แต่ปัญหาคือ ผมฟุ้ง ฟุ้งมาก แต่ก็ไม่ได้เครียด นั่งแบบเพลินๆ จะแก้ปัญหาอย่างไรดี?
เข้าใจไว้อย่างนี้นะ ถ้าหากว่าเรากำลังอยู่ในช่วงของการเริ่มต้นนั่งสมาธิ แล้วมีความฟุ้งขึ้นมา นั่นไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นเรื่องปกติ ถ้าใครเริ่มนั่งสมาธิแล้วไม่มีความฟุ้งเลย ผมว่าก็เป็นความผิดปกติชนิดหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะเป็นความผิดปกติด้านดีก็ตามแต่ นั่นถึงจะเรียกว่าเป็นความผิดปกติ แต่ถ้าหากว่าเริ่มนั่งสมาธิแล้วก็ฟุ้งเนี่ย อันนี้ถือเป็นเรื่องปกติของทุกคน อย่างนี้ดีกว่านะ คิดอย่างนี้ วิธีที่จะต้อนรับขับสู้ กับความฟุ้งซ่านที่มีเข้ามาอยู่เรื่อยๆ ในช่วงเริ่มนั่งสมาธิก็คือ เห็นความฟุ้งซ่าน โดยความเป็นของไม่เที่ยง อย่าตั้งใจว่า นั่งลงแล้วหลับตา แล้วเราจะมีความสงบทันที ความฟุ้งซ่านไม่หายไปนะ มันจะอยู่อย่างนั้นแหละ แต่ว่าก็จะมีช่วง มีจังหวะเว้นวรรค ให้เราเห็นความไม่เที่ยงของความฟุ้งซ่าน นี่คือข้อแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างลืมตากับหลับตานะ พอลืมตาเนี่ย จริงๆแล้ว มันก็มีช่วงของความฟุ้งซ่าน มากบ้าง น้อยบ้าง แต่ว่าเราจะไม่ค่อยเห็น เพราะว่าสายตาของเรากับหูของเราเนี่ย ไปรับเอาภาพ เอาเสียงต่างๆมา ทำให้เกิดความรู้สึกว่า ไม่ได้โฟกัสอยู่กับการเห็นความฟุ้งซ่าน แต่เมื่อหลับตาลง แล้วอยู่ในห้องที่สงบเงียบ ตรงนั้นแหละ ความฟุ้งซ่านที่เท่าเดิมนะ มันจะปรากฏชัดขึ้นมา เพราะว่าไม่มีอะไรมาแย่งความสนใจไป ไม่มีภาพ ไม่มีเสียง มาแย่งความสนใจไป เราก็เลยเห็นความฟุ้งซ่านบ่อยกว่าปกติ อันนี้ประโยชน์ของความฟุ้งซ่านในการนั่งสมาธิก็คือ เราสามารถเห็นอะไรอย่างหนึ่ง กำลังแสดงความไม่เที่ยงได้อยู่ตลอดเวลา นี่คือประโยชน์จริง ถ้าหากว่าไม่มีอะไรแสดงความเป็นอนิจจังให้เราดูแล้วเนี่ย สมาธินั้นจะเป็นการนั่งสมาธิแบบทื่อๆนะ ไม่ได้อะไรไปเท่าไหร่ แต่การมีอนิจจังแสดงให้เห็นอยู่ตลอดเวลา มีอนิจจังแสดงให้เห็นอยู่เรื่อยๆเนี่ย มันทำให้ได้ปัญญา มันทำให้ได้ความจริง มันทำให้ได้ความรู้ว่า ไอ้สิ่งที่นึกว่าเป็นตัวเรา สิ่งที่นึกว่าเป็นความคิดของเรา ที่แท้ มันเป็นภาวะความไม่เที่ยงอย่างหนึ่ง เป็นหนึ่งในภาวะที่แสดงความไม่เที่ยงอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นครั้งต่อไป เวลานั่งลงหลับตา เพื่อที่จะทำสมาธิ อย่าคาดหมาย อย่าตั้งใจว่า เราจะเอาความสงบ เราจะเอาความไม่ฟุ้งซ่าน แต่ขอให้คาดหมายว่า เราจะมานั่งดูความไม่เที่ยงของความฟุ้งซ่าน ระลอกลมหายใจนี้ มันฟุ้งซ่านจัดนะ ลองดูซิ เปรียบเทียบดูว่า ลมหายใจต่อไป ความฟุ้งซ่านมันจะยังได้นะดับเท่าเดิมหรือเปล่า หรือว่าลดระดับลง หรือว่าทวีตัวเพิ่มขึ้นนะ ถ้าหากว่าเราตั้งเข็มทิศไว้อย่างนี้ ใจมันจะมีความพอใจยินดี เมื่อสามารถเห็นความไม่เที่ยงของความฟุ้งซ่าน ในแต่ระลอกของลมหายใจได้นะ แต่ถ้าเราไม่ได้ตั้งทิศทางไว้อย่างนี้ เราไปตั้งเป้าหมายไว้ว่า นั่งลงจะเอาความสงบเลย แล้วมันไม่ได้ขึ้นมา ไม่ได้อย่างใจหวัง มันก็ผิดหวัง พอผิดหวัง มันก็เกิดความกระสับกระส่าย แล้วก็ดูถูกตัวเองว่า ไม่เอาไหน ทำสมาธิไม่ได้เรื่อง แต่ถ้าหากว่าเรากะไว้เลย ตั้งใจไว้เลยว่า นั่งสมาธิคราวนี้ เราจะไม่มาเอาความสงบ แต่มาเอาความรู้แจ้งเห็นจริง ว่าความฟุ้งซ่านเนี่ย มันแสดงความไม่เที่ยงให้ดูอย่างไรนะ นี่เราจะได้สิ่งที่ต้องการ แล้วคนเราพอได้สิ่งที่ต้องการ มันจะเกิดความพอใจในตนเองขึ้นมา มันจะเกิดความรู้สึกพึงพอใจที่จะกลับมานั่งสมาธิอีก นั่งแล้วรู้สึกว่าได้อะไรไป นั่งแล้วรู้สึกว่าเกิดปัญญา เกิดความฉลาดทางจิตขึ้น แล้วความฉลาดทางจิต หรือว่าปัญญาที่มันเกิดขึ้นนั่นเอง จะทำให้เราเกิดความรู้สึกว่า เออ ทั้งๆที่ความฟุ้งซ่านยังอยู่ แต่ทำไมจิตใจมันสงบเยือกเย็นลง คือความฟุ้งซ่านไม่ได้หายไปไหน ยังอยู่ในหัวนะ มันมาแล้วก็ไป มาแล้วก็ไป มากบ้าง น้อยบ้าง หนาแน่นบ้าง เบาบางบ้าง แต่ใจเรามีความสงบ ไม่กระสับกระส่าย นั่น ตรงนั้นเพราะอะไร เพราะว่าเราได้เห็นความจริง ความจริงที่แทบจะเป็นความจริงขั้นสูงสุดเลยที่เดียว นั่นคืออยากเมื่อไหร่ กระวนกระวายเป็นทุกข์เมื่อนั้น แม้กระทั่งอยากได้ความสงบ ก็เป็นต้นเหตุของความกระวนกระวาย เป็นทุกข์ทางใจ ต่อเมื่อเราสามารถที่จะระงับความอยาก ทั้งอยากคิดที่จะกระเจิงไปแบบโลกๆ แล้วก็อยากในแบบที่จะเอาความสงบ ทั้งๆที่มันสงบไม่ได้ เลิกอยากทั้งหมด ไม่ว่าจะอยากดีหรืออยากร้าย ไม่ว่าอยากที่จะเอาโน่นเอานี่ หรือว่าอยากจะได้สมาธิ อยากจะได้ฌาน อยากจะได้มรรคผล เราไม่อยากเลย เมื่อไม่อยากเลย ก็ไม่มีต้นเหตุแห่งทุกข์เลย เราจะพบความจริงตรงนี้ พบความจริงที่ปรากฏการณ์ทางจิตเลยนะ ไม่ใช่คำเล่าลือ ไม่ใช่การมาคุยกันเล่นๆ ความสงบทางจิตเนี่ย มันจะเป็นความรู้สึกว่า จิตใจไม่ไหวติง แม้กระทั่งมีความฟุ้งซ่านผุดขึ้น ก็เหมือนกับฝุ่นทรายที่ซัดมา แล้วก็ลอยลมไป หายไป โดยที่เราไม่มีความรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจแม้แต่น้อย มันจะเป็นรสชาติแปลกใหม่ในการนั่งสมาธิ สมาธิที่เกิดขึ้น จะเป็นสมาธิที่ยืนอยู่บนฐานของปัญญาแบบพุทธ หรือที่เรียกกันว่า พุทธิปัญญา ขอให้มองอย่างนี้นะ
สรุปก็คือ ตั้งเป้าหมายไว้ ว่าเราไม่ได้จะมาเอาความสงบ แต่เราจะมาเอาความรู้แจ้งเห็นจริง เพื่อให้ความรู้แจ้งเห็นจริงนั่นล่ะ มาระงับซึ่งความอยาก ซึ่งความทะยานแล่นไปทั้งปวง พอความอยาก ความทะยานแล่นไปทั้งปวง มันสงบระงับลงได้ นั่นแหละ ความสงบทางจิตไม่ต้องถามหาเลย มันมาเองนะครับ มันอยู่ตรงนั้นแหละ
๒) หลังจากออกจากสมาธิระยะหนึ่ง จะมีปัญหาคือซึมๆ แล้วพอเวลาคนรู้จักมาทัก ก็ต้องคิดอยู่นานกว่าจะจำได้ ยิ่งถ้าเป็นคนที่ไม่ค่อยจะเจอหน้ากันบ่อย ก็จะจำไม่ได้เลย ควรจะแก้ไขอย่างไรดี?
อันนี้แสดงให้เห็นว่า สมาธิในแบบของคุณ เป็นสมาธิในแบบที่นะ มันลืมหมดทุกอย่าง ไม่มีสติ ไม่มีความตื่นรู้อยู่นะครับ พูดง่ายๆว่า การทำสมาธิของคุณเนี่ย ทำให้จิตจมลงไปในภวังค์ มากกว่าที่จะอยู่ในสภาพตื่น อยู่ในสภาพรู้ เพราะถ้าหากว่าสมาธิของคุณ เป็นไปในแบบที่จะทำให้เกิดความตื่น ความรู้เนี่ยนะ พอถอนออกจากสมาธิแล้วจะเกิดความรู้สึกว่า ตัวอยู่ตรงไหน รู้สึกอยู่ตรงนั้น หายใจขึ้นมาเมื่อไหร่ รู้สึกที่หายใจขึ้นมาเมื่อนั้น เป็นสุขขึ้นมาเมื่อไหร่ รู้สึกอยู่ถึงความสุขขึ้นมาเมื่อนั้น แม้แต่กระทั่งว่า จิตใจจะมีความฟุ้งซ่าน กระสับกระส่ายขึ้นมาสักนิดๆหน่อยๆ ก็จะไหวทัน ก่อนที่มันจะฟุ้งซ่านเตลิดเปิดเปิงไปกันใหญ่กว่านั้น นี่คือรางวัลของการทำสมาธิแบบต้นๆนะ แต่ถ้าหากว่ามันเป็นตรงกันข้าม ออกจากสมาธิแล้วเหมือนกับจะเหม่อลอย ซึมๆ แล้วก็ไม่สามารถจดจำอะไรได้ แม้กระทั่งความจำเก่าๆ มันก็เลือนๆไป อย่างนี้แสดงว่า สมาธิในแบบของคุณเนี่ย ซึ่งไม่ได้บอก ไม่ได้ระบุนะว่าทำมาแบบไหน เราไม่ต้องไปสนใจก็แล้วกันว่า แบบไหน ของใคร อย่างไร ขอให้มองอย่างนี้ก็แล้วกันว่า ที่คุณทำมา มันเป็นไปเพื่อกดจิตให้เกิดอาการซึม แล้วก็เลือน ไม่ใช่กระตุ้นจิตให้เกิดการตื่น แล้วก็มีความคมชัดนะ จุดมุ่งหมายของการทำสมาธิแบบพุทธเนี่ยคือว่า ต้องตื่น ต้องมีความคมชัด จดจำอะไรได้แม่นนะ เห็นอะไร รู้อะไร ก็เหมือนกับมีโฟกัสชัดเจนไปหมด ไม่ต้องเพ่งเลยนะ ไม่ต้องตั้งใจมากเลยนะ แค่เหมือนกับมีอาการชำเลือง เบนตาไปนิดนึงเนี่ย เราก็สามารถเห็นอะไรได้ชัดๆ แล้วก็อุปมาอุปไมยแบบนั้นแหละว่า จิตเนี่ย แค่เบนเข้าไปแตะอะไรนิดเดียวเนี่ย ไอ้สิ่งนั้นมันก็ปรากฏชัด ในห้วงมโนทวารทันทีนะ สำหรับผู้ที่มีฐานสมาธิตั้งมั่น มีความคมชัด มีสติคมคายดีแล้ว
เอาล่ะ วิธีแก้เนี่ยคือ เราต้องแก้ที่ต้นเหตุ เราจะเคยทำสมาธิมาอย่างไร ขอให้บอกตัวเองไว้ว่า นั่นเป็นแบบที่มันใช้ไม่ได้ เพื่อที่จะประกันความผิดพลาดในครั้งต่อไป ผมอยากแนะนำให้ทดลองเจริญสติ ในขณะลืมตานะ หายใจรู้อยู่ ทั้งลืมตานั่นแหละ หายใจรู้ว่าเข้า หายใจรู้ว่าออก หายใจรู้ว่ายาว หายใจรู้ว่าสั้น อย่างใดอย่างหนึ่งมันต้องปรากฏชัด ถ้าหากว่าปรากฏไม่ชัด ตอบตัวเองไม่ถูก หรือว่ารู้แบบครึ่งๆกลางๆ ก็ต้องบอกกับตัวเองว่า อย่างนี้ยังใช้ไม่ได้ เป็นตัวอย่างของการระลึกรู้ขณะลืมตานะ ว่าโฟกัสยังไม่ชัดเจน มันจะได้รู้ทั้งๆที่ไม่หลับ รู้ทั้งๆที่ยังไม่หลง บอกตัวเองให้ถูกว่า เออนี่ คราวต่อไปจะลองสังเกตดูว่า รู้ยังไงมันจะชัดขึ้น ในขณะเดียวกันต้องระวังด้วยนะ พอบอกตัวเองว่าจะรู้ให้ชัด ไม่ได้หมายความว่า จะไปทุ่มแรงลงไปหนักๆ หรือเพ่ง เหมือนกับจะเพ่งจ้อง ไอ้สิ่งที่อยู่ไกลตาเนี่ยให้เห็นชัดๆ ไม่ใช่อาการแบบนั้นนะ แต่เป็นอาการที่เหมือนกับ เรามีความสามารถที่จะระลึกรู้ได้เอง ในความโปร่งว่าง เบาสบาย ลองนึกถึงตอนที่เรายืนอยู่บนที่สูงๆ เรามีความสุขกับอากาศที่มันเบาสบาย ปลอดโปร่ง เราไม่ต้องเรียกหาความสุข ความสุขมันมาเอง แล้วความสุขนั่นเนี่ย จะทำให้เราเกิดความรู้สึกว่า กายอยู่ตรงไหน มันก็ชัดอยู่ตรงนั้น ความสุขอยู่ตรงไหน มันชัดเด่นอยู่นั้น ไม่ต้องไปพยายามควานหา ในขณะเดียวกัน เราจะไม่ปล่อยจิต ปล่อยใจให้เลื่อนลอยไป ไม่ใช่ว่าจะโยนจิตขึ้นไปที่ตรงไหนก็ไม่รู้ ไม่มีฐาน ไม่มีที่ยืน พระพุทธเจ้าให้ฐาน ให้ที่ยืน ที่ตั้งของสติที่ชัดเจนที่สุดก็คือ ลมหายใจ ไม่มีอะไรในกาย ในใจที่ชัดเจน และสามารถเป็นที่ตั้ง ที่ยืน ให้กับสติได้เท่าลมหายใจอีกแล้ว ผมลองพิจารณาดูเป็นสิบๆปี จากที่ผมเริ่มสนใจทั้งทำสมาธิ ทั้งทำวิปัสสนาเนี่ยแหละ ตั้งแต่ยังไม่รู้ ยังไม่เข้าใจว่า อะไรคือสมาธิ อะไรคือวิปัสสนา อะไรคือผลที่ได้จากการทำสมาธิอย่างถูกต้อง อะไรคือผลที่ได้จากการทำวิปัสสนาอย่างตรงทาง ตอนนั้นยังไม่รู้อะไรเลยเนี่ยนะ ก็เกิดความสงสัยว่า ทำไมลมหายใจถึงสำคัญนัก ถึงมีค่านัก พระพุทธเจ้าจึงคะยั้นคะยอ คะยั้นคะยอมากๆเลย แทบทุกสูตรเลย มีเรื่องเกี่ยวกับการสังเกตลมหายใจ ปะปนอยู่ด้วยตลอดเวลา จนกระทั่งมาถึงบางอ้อ ก็ตอนที่ทดลองทำโน่น ทำนี่ อีเหละเขะขะมา แบบจับต้นชนปลายไม่ค่อยติดเนี่ยหลายๆปี แล้วก็สังเกตจากคนอื่นด้วย ที่ทำอย่างโน่น ทำอย่างนี่มาเนี่ย สรุปแล้วมันไม่มีอะไรเป็นที่ตั้งให้จิตได้ตลอดเวลา เท่ากับลมหายใจ ไม่ว่าจะหลับตา หรือว่าลืมตานะ ไม่มีอะไรชัดเจนได้เท่ากับลมหายใจอีกแล้ว ถ้าหากว่าเรายอมเสียเวลาซักปีนึง มะงุมมะงาหรากับการสังเกตลมหายใจ และปฏิกิริยาทางใจ ความรู้สึกนึกคิดในระหว่างที่เราหายใจ ทั้งขณะลืมตา ทั้งขณะหลับตา อยู่ในชีวิตประจำวันก็ตาม หรือว่าอยู่หน้าหิ้งพระก็ตาม เราจะค่อยๆมองเห็น ชีวิตเนี่ยถูกแบ่งเป็นท่อนๆ แต่ละท่อนเนี่ย มีกรอบ มีระยะจำกัดอยู่ด้วยลมหายใจแต่ละครั้ง แต่ละครั้งเนี่ย นี่เราสามารถนิยามอาการของจิตได้เลยว่า มันเบลออยู่ หรือว่ามันชัดอยู่ มันมีความสุข หรือว่ามีความทุกข์อยู่ มันมีความชัดเจน หรือว่ามีความเบลอ เห็นเป็นลมหายใจแต่ละขณะ แล้วพอสังเกตออกนะ แต่ละลมหายใจเนี่ย อาการของจิตเป็นอย่างนั่นเป็นอย่างนี้ เราจะพบเลยว่าต้นเหตุของอาการหลงลืมบ่อย หลงลืมง่ายๆ มาจากอาการที่จิตชอบเหม่อออกไป ไม่สนใจกับอะไรจริงจัง จนกระทั่งเกิดเป็นนิสัยทางจิต อะไรมากระทบเนี่ย รับไว้แค่ครึ่งๆกลางๆ หรือไม่รับเลย จะมีแค่เรื่อง สองเรื่อง ในร้อยเรื่อง เป็น ๑ ใน ๑๐๐ เรื่องที่จิตจะโฟกัสแล้วก็จดจำได้ สาเหตุมันมีอยู่ง่ายๆตื้นๆแค่นี้ ถ้าเจริญวิปัสสนาจริงๆ มีความต่อเนื่องจริงๆ เอาลมหายใจเป็นหลักตั้งจริงๆ จะเห็นความจริงตรงนี้ครับ แล้วเราก็จะมองย้อนกลับมานะว่า ไอ้ที่นั่งทำสมาธิอยู่ในช่วงเริ่มต้น แล้วเราไปโทษมันว่า เป็นต้นเหตุให้เราหลงลืมอะไรได้ง่ายๆเนี่ย ก็เพราะว่าจิตของเราไม่สนใจ ขาดความสนใจ ไม่มีแนวทางชัดเจนที่จะสังเกต ที่จะโฟกัส จะเอาอะไรเป็นตัวตั้งของสติ จะเอาอะไรเป็นตัวยืนของสมาธิ มันไม่มีความชัดเจน พอไม่มีความชัดเจนก็ปล่อยเบลอไปเรื่อย ไม่มีความแน่นอน พอปล่อยเบลอมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเราเคยชินที่จะจมอยู่กับสมาธิแบบเบลอๆเนี่ยนะ ออกมามันก็จำอะไรไม่ได้เป็นธรรมดา ขี้หลงขี้ลืมเป็นธรรมดา บางคนเนี่ยเที่ยวไปโพนทะนาว่า เนี่ย นั่งสมาธิแล้วลืมง่าย นั่งสมาธิแล้วความทรงจำลดลง ประสิทธิภาพการทำงานของจิตลดลงนะ เพราะว่านั่งไม่ถูก แล้วก็นั่งแล้วไม่มีจุดสังเกตที่แน่นอนนะครับ
เอาล่ะ ก็ถ้าหากว่าจะเอาตามแนวทาง ที่พระพุทธเจ้าให้สังเกตลมหายใจ โดยความเป็นของไม่เที่ยง แล้วก็เพื่อที่จะให้ลมหายใจ นำเข้ามาเห็นความสุข ความทุกข์ และปฏิกิริยาทางใจทั้งหลายทั้งปวงจริงๆเนี่ย ก็ลองฟังไฟล์เสียงที่ผมให้ไว้ดูก็แล้วกัน http://soundcloud.com/dungtrin ผมให้ลิงก์ไว้นะครับ
๓) ครูบาอาจารย์ท่านสอนว่าให้หัดดูกาย แต่ว่าเวลาผมดูกายจิตมันจะ เข้าใจว่า สะกดคำว่า เลื้อย นะครับ จิตมันจะเลื้อยลงช่องเดิม คือไปทำที่ผล ไม่ใช่เหตุ คือหมายความว่าไปจำผลลัพธ์ดีๆมา แล้วก็พยายามเอามาก๊อบปี้ในครั้งที่จะทำใหม่ ซึ่งแบบนั้นผมทราบดีครับว่า มันไม่ถูกต้อง แต่ถ้าทำที่เหตุ บางทีจิตก็ไม่แยกกับกาย ผมควรจะทำอย่างไรดี ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ดูกาย?
ผู้ถามไปตั้งเป้าหมายไว้ผิดนะว่า เราจะเจริญสติให้มันมีการแยกกาย แยกจิต คือผลที่เป็นการแยกกาย แยกจิต เห็นชัดว่า เออ กายกับจิต ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน อันนั้นเนี่ยนะ มันเป็นเรื่องดี ถ้าหากว่าเป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น แต่ถ้าหากว่าเราตั้งเป้าไว้ในแต่ละครั้ง ในขณะที่จิตมันยังไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ค่อยมีคุณภาพ ไม่ค่อยมีความสามารถ ที่จะแยกรูป แยกนามได้เนี่ยนะ เราไปตั้งเป้าไว้ตั้งแต่ตรงนั้นเนี่ย ผิด แต่ที่ถูกก็คือว่า เอาตามที่พระพุทธเจ้าท่านประทานแนวทางไว้ก็คือว่า ทำได้เท่าที่ทำ ไม่ใช่ทำเท่าที่คิดว่าน่าจะทำ มันคนละอันกัน มันคนละเรื่องกันเลย มันคนละทิศทางกันเลยนะ ถ้าทำได้เท่าที่จะทำเนี่ย มันทำกี่ครั้งก็ทำได้ อย่างเช่นที่ท่านบอกว่า หายใจเข้าก็รู้ว่าหายใจเข้า หายใจออกก็รู้ว่าหายใจออก ถ้าเราจับหลักแม่นๆตรงนี้ไว้ได้นะ แล้วเริ่มจากตรงนี้ทุกครั้ง มันก็ได้ทำทุกครั้ง แล้วก็ได้ทำอย่างถูกต้อง ไม่ผิดพลาดด้วย ไม่ใช่ว่า ได้ทำแบบที่เราคิดว่าน่าจะทำ คนส่วนใหญ่เนี่ยนะ จะเคยแยกรูป แยกนามได้หรือเปล่าก็ไม่ทราบ หรือว่าอาจจะเคยแยกมาได้แล้วก็ดีเนี่ย แต่ถ้ามันยังไม่พร้อมจะแยก แล้วไปพยายามแยก อันนั้นน่ะก็คือ การทำตัว ทำจิตเป็นเครื่องซีร็อก เอาของเก่ามาซีร็อก พยายามให้เกิดของใหม่ขึ้นมา ซึ่งมันไม่เกิดหรอก เพราะว่าสภาวธรรมเนี่ย มันก๊อบปี้กันไม่ได้ มันพยายามซีร็อกกันไม่ได้ ถ้าเวลานั้นเราไม่พร้อมที่จะดูความเป็นกาย เป็นใจ จริงๆเนี่ยนะ แล้วก็ดูเท่าที่จะดูได้ คือถามตัวเองหายใจเข้าอยู่ หรือหายใจออกอยู่นะ แล้วพอเราแน่ใจว่าสามารถเห็นได้เรื่อยๆว่า นี่หายใจเข้าอยู่ นี่หายใจออกอยู่ เดี๋ยวก็ยาว เดี๋ยวก็สั้นเนี่ย ไปสักพักหนึ่งนะ ตรงนั้นแหละครับ ไม่ต้องถามเลยนะว่า ต้องทำอย่างไรถึงจะแยกกาย แยกจิตได้ จิตมันจะมีความสามารถที่จะทำตัวเป็นผู้รู้ ผู้ดู มีอะไรปรากฏเด่นอยู่ ก็รู้ ก็ดู เท่าที่จะมีให้ดูได้แค่นั้น พอเราพอใจในสิ่งที่ทำได้ในปัจจุบันนะ มันจะหลงทางยากขึ้น มันจะไม่มีอาการที่ว่าพยายามเกินตัว หรือว่าอยากได้เกินงามนะครับ
๔) เวลาท้อจะให้กำลังใจตัวเองอย่างไรดีครับ?
สารพัดวิธีที่จะให้กำลังใจตัวเองได้ เวลาที่ยัง ถ้าเราท้อมากๆเนี่ยนะ ไปอ่านคำคมตามเว็บที่เขารวบรวม ไม่ว่าจะของในประเทศหรือว่าต่างประเทศ ก็มีกำลังใจขึ้นมาได้จริงๆเหมือนกันนะ ถ้าหากว่าเป็นคำคมๆสั้นๆ บางทีมันลากให้จิตของเราออกจากที่สลัว ที่มืด ออกมาสู่ที่สว่างได้ ที่มันมีความชัดเจนได้ แทนที่จะหมกมุ่นครุ่นคิด อยู่กับอะไรที่มันไม่สามารถจะคิดได้ออกเนี่ย ก็กลายมาเป็นคิดออกบอกถูกว่า เออ ไม่รู้จะกลุ้มไปทำไม ไม่รู้ว่าจะท้อไปทำไม ไม่รู้ว่าจะเฉื่อยชาไปทำไม มันมีอะไรดีๆให้คิดได้อีกเยอะนะ ก็จากการที่เราถูกคำพูดคมๆ คำพูดดีๆเนี่ยลากจูงไป อันนี้ก็ง่ายที่สุด แต่ถ้าหากว่า อยากจะให้กำลังใจตัวเองได้ตลอดเวลานะ ต้องทำบุญในพุทธศาสนาให้เป็น การทำบุญในพุทธศาสนา ไม่ใช่การไปให้ทานที่วัดเสมอไป ไม่ใช่การไปสถานสงเคราะห์เด็กและคนชราเสมอไป แต่ว่าการทำบุญในพุทธศาสนานะ ยังมีเรื่องของการสวดมนต์ง่ายๆเลย ไม่ต้องลงทุนแม้แต่บาทเดียว ไปนั่งคุกเข่าหน้าพระปฏิมา ดูว่าความสว่างอยู่ตรงหน้า แล้วเราเปล่งเสียงออกไป แก้วเสียงที่เปล่งออกจากปาก อย่างเต็มปากเต็มคำ ด้วยเจตนาจะถวายแก้วเสียงเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา แค่นี้มันทำให้เกิดความชุ่มชื่นได้แล้วนะ ถ้ายังทำสมาธิไม่เป็นนะ ลองสวดมนต์แบบเปล่งเสียงเต็มปากเต็มคำดู ไม่ใช่แหกปากดังๆนะ เอาแค่ว่า เปล่งเสียงเต็มปากเต็มคำ แล้วรู้สึกถึงพลังแก้วเสียง ที่มันออกมาอย่างไม่กระมิดกระเมี้ยน แค่นี้มันก็ทำให้เกิดกำลังขึ้นมาได้แล้ว เพราะว่าจิตเป็นกุศล เพราะเวลาที่เราเปล่งแก้วเสียงออกมาเป็นพุทธบูชาเนี่ย มันมีความสว่าง มันมีความอบอุ่น แล้วถ้าหากว่าเราสวดมากๆรอบ เราจะรู้สึกถึงความอบอุ่น รู้สึกถึงความสว่าง ที่ทวีตัวมากขึ้นทุกที นอกจากนั้นเรายังทำได้อีกสารพัดวิธีเลย แค่เจริญสติ ดูว่าความท้อ มันเป็นแค่ความอึดอัดใจ มันเหมือนกับมีอะไรจุกๆอยู่ข้างใน มันเหมือนกับมีก้อนๆนะ ที่มันมีลักษณะตัน ลักษณะแข็ง ทำให้เราเกิดความรู้สึกเป็นทุกข์ เกิดความรู้สึกระคาย เกิดความรู้สึกกระวนกระวายเร่าร้อน อย่างนี้เมื่อเห็นลักษณะของตัวความท้อได้ชัด มันก็จะเกิดความรู้ลักษณะว่า ความท้อมันเป็นอย่างนี้ หายใจดูสักครั้งสองครั้ง แล้วกลับมาสำรวจ สังเกตดูอีกครั้งหนึ่งนะ จะพบว่าอาการท้อเนี่ย ถ้ามันไม่เบาตัวลง ก็ทวีตัวมากขึ้น ไม่ว่าอย่างใดอย่างหนึ่ง พอเห็นความไม่เที่ยงของอาการท้อถอยได้ เราจะรู้สึกว่า เออ มันไม่ใช่เกิดกำลังใจนะ แต่มันเกิดความรู้แจ้งขึ้นมาว่า อาการท้อเนี่ย มันก็แค่วิธีที่จิตเขาหลงขาดสติไป ไม่มีอะไรทำ แล้วก็หมกมุ่นอยู่กับไอ้วังวนแบบเดิมๆ ความจำแบบเก่าๆ ที่มันชวนให้เกิดอาการอยากจะถลาลงต่ำ แค่นั้นเอง ไม่มีอะไรเลยนะครับ เดี๋ยวมันก็ขึ้นสูงขึ้นมาเอง
เอาล่ะครับ คืนนี้ต้องกล่าวราตรีสวัสดิ์ ขอให้เจริญในธรรมด้วยกันทุกท่านนะครับ
« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น