สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันพุธที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์เวลาสามทุ่มตรง
วันนี้ก็ต้องขออภัยครับ ขัดข้องทางเทคนิคนะ มีปัญหากับทางเซิร์ฟเวอร์นิดหน่อย เข้าช้าไปประมาณ ๑๐ นาที ตอนนี้คิดว่าคงดำเนินรายการได้ตามปกตินะครับ เพื่อที่จะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการ ให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/HowfarBooks
วันนี้ขอประชาสัมพันธ์สปอนเซอร์ของรายการนิดนึง สำนักพิมพ์ฮาวฟาร์นะครับ เพิ่งได้ออกหนังสือใหม่เล่มล่าสุดนะครับ เป็นผลงานที่ผมเคยเขียนไว้แล้วเมื่อ ๖ ปีก่อน คือ ‘มีชีวิตที่คิดไม่ถึง’ นะครับ ก็เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่เคยออกไว้นานแล้ว ตอนนี้มาทำเป็นฉบับพิเศษที่มีวางจำหน่ายในร้านบุ๊คสไมล์ (BookSmile) และเซเว่นอีเลฟเว่น (7-Eleven) เท่านั้นนะครับ ในราคา ๕๙ บาท ทั้งปกและก็รูปเล่มทำใหม่หมดนะ เนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นโครงเดิมนะครับ แต่ว่าขัดเกลาใหม่ให้อ่านง่ายขึ้น ตอนนี้ก็หาได้แล้วใน ร้านบุ๊คสไมล์และเซเว่นอีเลฟเว่นทุกสาขาทั่วประเทศนะครับ
๑) การสวดคาถาเสริมทรัพย์ คาถามหาลาภ หรือการอธิษฐาน ขอให้มีเงินไหลนองทองไหลมา โดยไม่ได้ทำบุญเป็นประจำ จะทำให้มีทรัพย์มีลาภขึ้นมาหรือไม่? แล้วทรัพย์หรือลาภที่เราได้มานั้นมาจากไหนคะ? เป็นสิ่งที่เราจะได้รับอยู่แล้วในอนาคต แต่เราสวดเพื่อเร่งให้มาเร็วขึ้นหรือเปล่า? หรือทรัพย์กับลาภนั้นมาจากการหยิบยืมสิ่งศักดิ์สิทธิ์?
เรื่องการสวดมนต์ แล้วดูดทรัพย์เนี่ยนะ เอาผมตอบในสองแง่มุมอย่างนี้ก่อนแล้วกัน ในแง่ที่เป็นไปได้ และในแง่ที่เป็นไปไม่ได้นะครับ ในแง่ที่เป็นไปไม่ได้ก่อนนะ ถ้าเราพิจารณาตามหลักกรรม วิบากนะครับ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ถ้าหากว่าให้ทานไว้ หรือรักษาศีลไว้นะครับ ในอดีต กรรมดังกล่าวย่อมวางแผนอนาคต ซึ่งก็คือชาตินี้ให้เรานะครับ ว่าเราจะเป็นผู้มีอันจะกิน เราจะเป็นผู้มีอันจะกินนะ เราจะมีความมั่งคั่ง แล้วก็เกิดในตระกูลที่ดี เกิดในตระกูลที่ไม่ขัดสน ไม่อัตคัดนะครับ ถ้าเอาตามความเชื่อเรื่องของกรรมวิบาก เราต้องมองไว้อย่างนี้ แล้วการให้นี่ไม่ใช่การให้ในแบบที่ว่าครั้งสองครั้ง แต่ต้องให้เป็นประจำให้ด้วยความสม่ำเสมอ หรือถ้าหากวัดกันที่ใจนะ ดูโดยภาพรวมเนี่ย ชาติก่อนต้องมีน้ำใจ แล้วก็มีความใสสะอาดนะครับ น้ำใจคือ มีจาคะ เป็นผู้มีการทำทานไว้ตลอด แล้วก็ไม่บกพร่อง เป็นการทำทานที่ต่อเนี่องทั้งชีวิตนะครับ แล้วก็ไม่เป็นผู้ที่ฉ้อฉล ไม่เป็นผู้ที่ผิดศีลข้อสอง ‘อทินนาทาน’ นะครับ ก็จะเป็นผู้ที่ไม่มีความบกพร่องในเรื่องของทรัพย์สิน อันนี้เป็นเรื่องของหลักกรรมวิบาก
แต่ถ้าหากนะ เราจะมาคิดว่าสวดมนต์บทใดบทหนี่ง ขอพรจากเทวดา หรือขอให้มีการเร่งรัด เอาทรัพย์สินเงินทองในอนาคตมาให้ อันนี้เราต้อง เราต้องมองอย่างนี้ก่อนนะว่า บทสวดนั้นต้องมีการเชื่อมต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ และสิ่งศักดิ์ต้องมีอิทธิฤทธิ์มากพอ ที่จะบันดาลทรัพย์สินเงินทองขึ้นมาให้ได้จริง ซึ่งได้หรือไม่ได้เนี่ย พุทธศาสนาของเราไม่รองรับ ไม่รับรองนะ ถ้าหากจะเชื่อในแนวทางที่ว่า สวดมนต์แล้วเป็นเหตุให้เกิดทรัพย์ ได้ทรัพย์มาโดยที่ไม่เคยทำกรรมอะไร อันสอดคล้องไว้ก่อนเลย พระพุทธศาสนาของเราไม่รับรองนะครับ จะขอพูดเป็นกลางๆไว้อย่างนี้ ทั้งในแง่ที่เป็นไปได้และในแง่ที่เป็นไปไม่ได้
ถ้าเป็นไปได้พูดง่ายๆ ก็คือว่าจะต้องมีอิทธิฤทธิ์ หรืออิทธิพลจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เจ้าของคาถาเกี่ยวข้องเชื่อมโยงด้วย แล้วก็ท่านจะเอาอะไรเป็นข้อแลกเปลี่ยน หรือว่าจะมีเงื่อนไขอะไรเป็นพิเศษ ที่ลึกลับ ที่มันเหนือธรรมชาติ กฎแห่งกรรมวิบาก อันนั้นเรานั้นต้องเสี่ยงที่จะไปแลกเอาเองครับ เราจะไม่สามารถคาดคะเนได้เลยว่า สิ่งที่ท่านต้องการเป็นข้อแลกเปลี่ยนนั้นคืออะไร
ที่ผมเห็นก็คือ คนที่สวดมนต์คาถามหาลาภ หรือว่าคาถาดูดทรัพย์ คาถาเสริมทรัพย์อะไรทั้งหลาย ก็ยังจนอยู่เหมือนเดิมนะ แล้วก็ยังหยิบยืมยังเป็นหนี้เป็นสิน ยังหน้าดำคร่ำเครียดนะ แล้วก็ไม่ค่อยจะ คือไม่ค่อยจะขวนขวายเอาทางตรง มักจะเอาทางลัดกันเสมอ มีนะ อันนี้เล่าให้ฟังแบบแฟร์ๆนะ เคยเห็นที่ว่าสวดมนต์บางบท แล้วถูกหวยเห็นเลขนะครับ พูดง่ายๆว่าฝันแม่น แล้วก็นะจะเข้าใจว่า การสวดมนต์เป็นเหตุให้ฝันเห็นเลข จริงๆแล้วการสวดมนต์บางบทนะ หรือว่าการทำสมาธิสำหรับบางคนนะ ที่จิตแรงๆ หรือว่ามีความผูกพันกับตัวเลขมากๆเนี่ย มันก็เป็นไปได้อยู่นะ ที่จะเกิดการเห็นเลข ซึ่งมันเป็นความสามารถของจิตเฉพาะตน เป็นเรื่องของจิตของคนๆนั้น มันไม่ใช่เรื่องครอบจักรวาล ถ้าหากว่ากฎแห่งการสวดขอเลข เป็นสากลและก็เป็นเรื่องจริง มันจะต้องเกิดขึ้นกับทุกคน แต่นี่เกิดขึ้นกับเฉพาะบางคนที่เขามีแนวโน้ม ที่จิตมีความผูกพันอยู่กับตัวเลขอยู่แล้ว แล้วก็พอจะมีบุญเก่าอะไรบ้าง ที่จะให้ได้ลาภก้อนเล็ก ก้อนใหญ่ ส่วนใหญ่นะที่ถูกหวยเนี่ยก็แค่สองตัว หรืออย่างมากก็สามตัว มันไม่ใช่ลาภก้อนใหญ่อะไร มันไม่เหมือนกับการบันดาลของวิบากกรรม ที่มันเหมาะสม ที่มันจะให้เรายกชีวิต เปลี่ยนระดับชีวิตไป เรื่องของดวง เรื่องของการดูดทรัพย์เนี่ยนะ อยากจะฝากไว้ว่า เราเข้าไปข้องเกี่ยวกับความงมงายได้ง่ายๆ แล้วก็จิตเนี่ยมันใกล้เคียงกับความเป็นอบายมุขได้ทีเดียวนะครับ คือจิตของนักพนัน จิตของผู้ที่มีความโลภอยากจะได้เงินเร็วๆ อยากจะลงทุนน้อยๆ แต่ได้ก้อนกำไรใหญ่ๆ จิตแบบนั้นเนี่ย ที่แน่ๆเลยก็คือมีความร้อน แล้วก็มีความโลภมากนะ ที่จะได้มาแบบไม่สมเหตุสมผล มีแนวโน้มทีเดียวล่ะ ที่จะจมลงไปสู่ความงมงาย แล้วก็ไปตกลงไปสู่การวอนขอ ที่มันไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองมีสิทธิ์นะครับ
๒) เป็นทุกข์กับนิสัยช่างคิดมากและแคร์คนอื่นมากไป อยากให้คนอื่นเลิกทำไม่ดีกับเรา ทั้งๆที่เป็นไปไม่ได้ พยายามจะช่างมัน แต่ใจไม่ยอม มันอยากขังตัวเองไว้กับภาวะปรุงแต่ง ที่ทำให้ทุกข์ราวกับเห็นการปรุงแต่งนั้น เป็นเพื่อนรักที่เข้าใจความทุกข์ของมัน แล้วใจก็ดิ้นรนเป็นทุกข์อยู่ในการปรุงแต่งนั้นเอง คำถามก็คือมีทางเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนปัจจัยภายนอกบ้างไหม? แล้วก็จะเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไร ถ้ามันไม่ยอมรู้ทุกข์อย่างนี้?
เอาเป็นว่านะ สรุปก็คือว่าเรามีนิสัยคิดมาก แล้วก็แคร์คนอื่นมากไป ใจไม่ยอมแล้วก็มีอาการที่เหมือนกับ พูดง่ายๆอยู่กับอาการคิดมากไม่เลิกนะครับ อาการคิดมากไม่เลิกเนี่ย ส่วนใหญ่นะครับ มันก็เป็นความเคยชิน มันเป็นการสั่งสมนะครับ ที่เรายอมรับให้มันเกิดขึ้นนะ เรายอมให้มันมีความสำคัญ มีอิทธิพลเหนือจิตใจของเรา ขอให้สังเกตดูคนที่คิดมากเนี่ยนะ วันๆเนี่ยก็คือ จะวน เหมือนใจเนี่ย จะวนเข้าไปสู่อาการคิดมากนั้น โดยไม่อาจบังคับหรือควบคุมนะ ถ้าหากว่าเรามองเห็นพฤติกรรมของจิตว่า มันไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ คือถ้ามันเป็นตัวเรา เราต้องสามารถบังคับได้ แต่นี่มันไม่ใช่ตัวเรา มันมีอิทธิพลเหนือตัวเรา มันมีความสามารถที่จะย้อนกลับมาได้ตลอดเวลา เรื่องที่จะชวนให้คิดมาก สังเกตบ่อยๆ คือไม่ใช่ไปต่อต้านมัน หรือพยายามจะระงับมันนะอันนี้เป็นยุทธวิธี ถ้าหากว่าเราไปพยายามต่อต้านมัน แสดงว่าเรายอมรับ ว่ามันเป็นตัวของเรา คือเราพยายามสั่งให้ตัวเองเลิกคิด ถ้าเลิกคิดได้แปลว่า ไอ้ความคิดนั่นเป็นตัวเรา แต่ถ้าหากว่าเราสังเกต ว่ามันเป็นแค่พฤติกรรมทางใจ มันเป็นแค่ความเคยชินทางใจ ที่จะย้อนกลับไปคิดมาก คิดซ้ำ คิดซาก แล้วอาการทางใจนั้นไม่มีความเป็นเรา ที่เราจะไปควบคุมอะไรมันได้ ดูมัน สมมุติว่ามันมาวันละ ๑๐ ครั้ง มาวันละ ๒๐ครั้ง นับไปเลยก็ได้นะ เอากระดาษมาจด มาติ๊กไป ว่าวันนี้คิดมากเรื่องเดิม เรื่องคนนั้นที่เราแคร์ คนๆนึงนะที่เราแคร์ ติ๊กไปเลย พอคิดครั้งนึงคิดมากครั้งหนึ่ง ติ๊กไป เอาจดใส่กระดาษ หรือว่าจดใส่มือถือก็ได้นะ ขอให้เกิดการรับรู้ก็แล้วกัน ว่ามันเกิดขึ้นวันละกี่ครั้ง ทุกครั้งที่มันเกิดขึ้นนะ ไม่ต้องไปห้าม ไม่ต้องไปเข้าข้างตัวเองว่า นี่เป็นสิ่งที่เราจะไปควบคุมมันได้อย่างไรนะครับ แต่ให้มองตามจริงเลยว่า มันย้อนกลับมาได้คิดกี่ครั้ง แล้วทุกครั้งที่มันย้อนกลับมา เรามีสติระลึกนะ ว่านี่มันกลับมาอีกแล้ว แค่นั้นนะ แค่ระลึกว่าเนี่ย เราจะติ๊ก ว่ามันกลับมาอีกแล้ว ไม่ไปทำอะไรกับมันอย่างอื่น ในที่สุดแล้วเมื่อใจยอมรับ ว่ามันเป็นแค่พฤติกรรมทางใจ เป็นแค่ความเคยชินทางใจ ที่มันจะกลับไปคิดมาก ที่มันจะย้อนกลับไปไม่เลิกนะครับ มันก็จะฉลาดขี้น จิตจะมีความรู้สึกว่า ‘เออ นี่ไม่ใช่ตัวเรา’ คุณอาจจะต้องเห็นไปสักประมาณ ๑๐ หรือ ๒๐ ครั้ง หรือ ๓๐ ครั้ง หรือบางทีเป็น ๑๐๐ ครั้ง ในช่วงเวลาวันหรือสองวัน
สาระสำคัญก็คือ เมื่อพยายามมองให้เห็นอย่างนี้ เห็นความจริงว่า มันย้อนกลับมาเอง เป็นพฤติกรรมของใจ เป็นความเคยชินของใจที่ไม่เกี่ยวกับเรา ไม่ใช่เราเชื้อเชิญมันมา ใจมันจะฉลาด และเมื่อใจฉลาด เห็นว่านั่นเป็นแค่พฤติกรรมความเคยชินของใจ มันถอนออกมาจากอาการนั้น โดยที่คุณไม่ต้องพยายาม มันจะค่อยๆรู้สึกว่า เออ มันจะมากี่สิบกี่ร้อยก็ตาม เราแค่รู้ เราแค่ตระหนัก ว่าสักแต่เป็นอาการของใจ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่เรื่องน่ากลุ้มใจของเรานะ ตัวนี้แหละ ที่มันจะทำให้จิตค่อยๆถอนออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ ลองดูนะ คือถ้าฟังดูเนี่ยมันอาจจะไม่ค่อยเข้าใจ ว่าจะถอนออกมาได้ยังไง แต่ถ้าคุณฝึกจริงๆเนี่ย เราฝึกเป็นรูปธรรมเลยนะ คือคิดครั้งนึง ติ๊ก ติ๊กไปเลย แล้วไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น ไม่ต้องพิจารณา ไม่ต้องไปพยายามที่จะแก้ไข หรือว่าระงับยับยั้งความคิดอะไรทั้งสิ้นนะ แค่มีความรู้สึกขึ้นมาในแต่ละครั้งจริงๆ ว่ามันมาเองนะ ติ๊กไป ติ๊กไป ๑๐ ครั้ง ๒๐ ครั้ง ๓๐ ครั้ง หรือ ๑๐๐ ครั้ง คุณจะพบความจริงนะ ว่าใจมันฉลาดขึ้นได้ ขอให้ลองทำดูอันนี้ไม่ใช่คำแนะนำ ที่จะทำให้คุณเข้าใจเดี๋ยวนี้ แต่เอาไปลองปฏิบัติ เพื่อที่จะให้เกิดผลจริง ในเวลาที่จิตมันฉลาดแล้วนะครับ
คำถามยาวๆ ขอซ้ำอีกทีนะครับ เคยบอกไว้ว่า ถ้าเป็นคำถามยาวมากๆจะกินเวลาในการอ่านมาก แล้วผมเองจะหลงประเด็นว่า คุณต้องการถามอะไรนะครับ สำหรับคำถามที่ยาวนี้ เดี๋ยวผมขอข้ามไปก่อนก็ละกัน เพราะยาวจริงๆ แล้วก็เป็นการเล่า คือขอว่าถ้าจะเล่านะครับ จับประเด็นมานิดนึงว่า ต้องการเล่าเค้าของคำถามเกี่ยวกับเรื่องอะไร แล้วจากนั้น สรุปลงเป็นข้อๆเป็นประเด็นว่า ต้องการทราบอะไร เพราะถ้ายาวมากๆ บางทีผมอ่านแล้วก็ลืมประเด็นครับ ขออภัยด้วยจริงๆ คงต้องข้ามไปก่อนสำหรับคำถามนี้นะครับ
๓) ตามดู ตามรู้จนเคร่งเครียด รู้แต่ก็ยังเพ่งอยู่ รู้สึกว่าบังคับไม่ได้ แต่พอหลงโลกขึ้นมาก็รู้ แต่ก็ยังหลงอยู่ แล้วพักนึงก็กลับไปเพ่งไว้อีก รู้สึกว่าบังคับไม่ได้อีก แสดงว่าอนุสัยเป็นคนชอบเพ่ง เคร่งเครียดหรือเปล่า?
โดยหลักการนะครับ ถ้าหากว่าเราจะมีความรับรู้เข้ามาในอาการของใจ ถ้าหากว่าไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ว่าจะรู้อะไรเนี่ยนะ บางทีมันก็ทำให้เคร่งเครียดได้นะ หรือว่าถ้าเราสร้างความเคยชิน ที่จะตั้งใจรับรู้มากเกินเหตุ ไอ้ความเคยชินที่จะตั้งใจมากเกินไปนั้น ก็จะติดเป็นนิสัย ขอให้มองอย่างนี้ก็แล้วกันนะ คือมันไม่เกี่ยว คำว่า ‘อนุสัย’ เนี่ย มันเป็นกิเลสที่ฝังอยู่ในกมลสันดานของสัตว์โลกนะครับ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นเรื่องที่มันลึกซึ้งมากๆ แต่อันนี้ลักษณะของการตามรู้ใจ ตามรู้แบบนี้ เรียกว่าเป็นนิสัยทางใจ เป็นนิสัยทางจิต ที่เราพึ่งเริ่มสะสมมานะครับ จากการที่ฝึกเจริญสติ ในแบบที่เรามีความถนัดนะ ความถนัดของแต่ละคนเนี่ยนะ บอกว่าจะดูลมหายใจ หรือว่าดูจิต ดูส่วนใดส่วนหนึ่งของความเป็นเราก็ตามนะครับ มันไม่ใช่สิ่งที่จะบอกว่า เราเป็นคนชอบเพ่ง เคร่งเครียดหรือเปล่า แต่ว่าเป็นเหมือนกับ สิ่งที่หลายๆคนมักจะต้องผ่านนะ มักจะต้องพบกับอุปสรรคแบบนี้นะครับ อุปสรรคทางใจที่มันไม่พอดี น้อยเกินไปหรือมากเกินไปเนี่ย พระพุทธเจ้าท่านก็เคยตรัสไว้ อย่างเวลาที่ท่านพูดถึงเรื่องฉันทะสมาธิ หรือว่าวิริยะสมาธิ ท่านก็บอกว่า ถ้าหากว่าเราจะดูนะว่า สมาธิของเราเนี่ยไม่ย่อหย่อนเกินไป แล้วก็ไม่เพ่ง เคร่งเครียดเกินไปนะครับ คือไม่ตึงเกินไป ในสำนวนของท่านคือ ไม่ตึงเกินไป คำว่าไม่ย่อหย่อนก็หมายถึงว่า เหม่อลอยนะ แล้วก็ปล่อยให้ใจเนี่ย มันเตลิดเปิดเปิง แต่ถ้าหากว่าพูดถึงเรื่องของการเพ่งเคร่งเครียดนะครับ ท่านก็จะมุ่งเอาเรื่องความฟุ้งซ่าน ความอยากมากเกินไป อาการเร่งร้อนมากเกินไป อยากจะภาวนาให้ได้ดีมากเกินไป เนี่ยระหว่างสุดโต่งสองขั้วนี้ ท่านให้สังเกตว่า เป็นเหตุรบกวน ไม่ให้เกิดสมาธิที่มันถูกต้อง ทั้งสิ้นนะครับ เราต้องอยู่ระหว่างกลาง เราต้องมีศิลปะ ท่านไม่ได้ตรัสเลยว่า การทำสมาธิหรือการเจริญสติเป็นเรื่องง่าย ตรงข้ามนะ นี่ตรงนี้ท่านเคยตรัสไว้อยู่ก่อนแล้วนะ ในเรื่องของอิทธิบาท ๔ การเจริญอิทธิบาทนะ ถ้าหากว่า เราเห็นว่าตอนนี้ มันมีความเหม่อมากเกินไป เราก็พิจารณาว่า อย่างนี้มันย่อหย่อนนะครับ แต่ถ้าหากว่ามันมีอาการเพ่งนัก มันมีอาการพิจารณา มันมีอาการเคร่งเครียดนัก เราก็ให้รู้ตัวว่า อย่างนี้มันเกินไปแล้ว ตึงไปแล้ว พิจารณาบ่อยๆว่า ในขณะหนึ่งๆ ที่เรากำลังพยายามเจริญสตินั้น เป็นไปด้วยความย่อหย่อน หรือว่าเป็นไปด้วยอาการตึงมากเกิน แล้วในที่สุด เมื่อสามารถรู้ได้ว่า อาการย่อหย่อนมันมีอาการเหม่อลอย มันมีอาการที่จิตไม่โฟกัส แล้วก็ไม่สามารถรับรู้อะไรมากเกินไปนะ คือไปข้างนอกมากเกินไป ลอยเป็นลูกโป่งมากเกินไป กับอีกทางหนึ่งคือ มันมีความเคร่งเครียดมากเกิน มันมีอาการเพ่งพิจารณา มันมีอาการรู้สึกเหมือนกับเราจะเร่งๆ หรือมีอาการกระวนกระวายอยู่ในหัวหรืออยู่ในใจ แบบนี้นะในที่สุดมันจะมาที่ตรงกลาง มันจะมีครับ มันจะมีอยู่ ตรงที่เรารู้สึกขึ้นมาเอง อยู่ในระหว่างของการย่อหย่อนกับการตึงเกิน ตึงเครียดเกินเนี่ยนะ มันจะมีความรู้สึกสบายๆ ในอาการสบายนั้นมีความรับรู้อยู่ ไม่ได้เผลอไม่ได้เหม่อไปไหน ไม่ได้ล่องลอยไปไหน ไม่ได้เป็นลูกโป่งที่มันจะไปไกล แต่มันจะอยู่กับเนื้อกับตัว แต่ในขณะเดียวกันไม่รู้สึกอึดอัด มีความรู้สึกสบายๆ แล้วก็รับทราบอยู่ว่า ในขณะนี้ภาวะของกาย ภาวะของใจมันเป็นอย่างไรอยู่ พร้อมที่จะให้เห็นว่า ภาวะนั้นๆแสดงความไม่เที่ยงได้
สิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านยกเป็นอุปกรณ์เครื่องฝึกมากที่สุด มากครั้งที่สุดเลยก็คือ ลมหายใจ ถ้าหากเราเอาไว้เป็นตัวตั้งนะ ดูว่าในขณะนี้ ขณะที่เรารู้สึกถึงลมหายใจ มีอาการแน่นหน้าอกขึ้นมาหรือเปล่า มีอาการเกร็ง มีอาการฝืนหรือเปล่า นั่นแสดงว่า จิตมีอาการยึดมั่นถือมั่นมากเกินไป
มีอาการฟุ้งซ่านเข้ามา ในอารมณ์ที่เป็นสมาธิมากเกินไปแล้ว แต่ถ้าหากว่า เราตั้งไว้ในใจ ตั้งเกณฑ์ไว้ว่า เราจะระลึกรู้ลมหายใจ แล้วเราไม่เกิดความรับรู้ถึงลมหายใจขึ้นเลย นั่นแปลว่าใจกำลังเหม่อลอยเกิน นี่ตรงนี้นะ มันมีเกณฑ์ มันมีมาตรวัดที่ชัดเจนว่า เรากำลังจะพยายามรู้อะไร ให้มันพอดี ให้มันไม่เหม่อ ให้มันไม่ตึงเครียด ไม่เพ่งบังคับนะครับ
การที่เราจะอาศัยเทคนิครู้ลมหายใจ โดยไม่เหม่อ แล้วก็ไม่เพ่งได้เนี่ย
เริ่มๆเนี่ยนะ ผมอยากจะแนะนำอย่างนี้ มันใช้เวลาแค่วัน หรือสองวัน หรือไม่กี่วันหรอก ไม่ต้องนั่งทำสมาธิแบบหลับตาก็ได้ แต่ว่าอาศัยการที่เราสามารถระลึกขึ้นมา อยู่ระหว่างวันธรรมดานี่แหละ เมื่อไหร่นึกขึ้นมาได้ว่า เราน่าจะรู้ลมหายใจ ให้ลากลมหายใจเข้ามายาวๆ แล้วก็ระบายลมหายใจออกไปสบายๆนะ รู้แค่ครั้งเดียว อย่ารู้ให้ต่อเนื่อง เราไม่ได้จะฝึกทำสมาธิ แต่เราเอาเบสิกก่อน เอาความเคยชินที่จะระลึกรู้ลมหายใจอย่างไม่เพ่งเกินไป แล้วก็ไม่เหม่อ ทุกคนจะมีความสามารถที่จะรู้ลมหายใจเข้าแล้วก็ออกได้กันทั้งนั้น ถ้าครั้งเดียวนะ เอาแค่ครั้งเดียว ไม่เคร่งไม่เครียด แล้วก็ไม่เหม่อลอยไปซะก่อน คุณจะพบว่าถ้าระลึกหลายครั้งเข้านะ สมมุติว่าครั้งนึงเห็นแล้วเนี่ย เข้ายาวแล้วก็ออก เว้นไปอีกเป็นสิบนาทีเลยนะครับ แต่ช่วงสิบนาทีนั้น คุณไม่มีอาการเพ่ง ไม่มีอาการเคร่งเครียด ไม่มีอาการกระวนกระวายถึงลมหายใจ แล้วก็อาจจะไปคิดเรื่องงาน ไปทำเรื่องเล่นอะไรต่างๆ แล้วอีกสิบนาทีค่อยระลึกได้ว่า เออ น่าจะนึกถึงลมหายใจอีกสักครั้งหนึ่ง แล้วลากใหม่ ลากเข้ามาแล้วปล่อยออกไป อย่างนี้จะสลัดไอ้นิสัยความเคยชิน แบบที่เราสั่งสมมาเป็นเพ่งมากเกินไป หรือเหม่อมากเกินไป แต่เปลี่ยนเป็นความเคยชินที่จะระลึกรู้เป็นช่วงๆ โดยไม่มีอาการตั้งใจมากเกินไป และถ้าสร้างความเคยชินนี้ได้ สมมุติว่าวันหนึ่งได้สัก ๑๐ ครั้ง วันต่อมาคุณจะพบว่า ตัวเองทำได้ ๒๐ ครั้ง โดยไม่บังคับไม่ฝืน แล้วก็เป็นไปเองตามธรรมชาติ หนึ่งอาทิตย์คุณจะพบว่า คุณเหมือนกับมีความผูกพัน กับลมหายใจเองแล้วนะครับ จิตไม่ได้ทำอะไรเลยนะ แต่มีความระลึกรู้ลมหายใจเข้าออกได้เรื่อยๆ โดยที่ไม่ต้องมาฝืน ไม่ต้องมีความบังคับ ควบคุมใดๆทั้งสิ้นนะ ก็อันนี้เป็นเทคนิควิธีที่ผมใช้เอง แล้วก็ได้ผลนะครับ ในช่วงเริ่มๆเนี่ย ผมก็มีอาการแบบทุกคนนั่นแหละ เวลาที่จะทำสมาธิ เวลาที่จะเจริญสตินี่มันตั้งใจมากเกินไป หรือไม่ก็หลุดหายไปเลย แต่พอเอามาทำแบบประมาณว่า ระลึกขึ้นมาได้เมื่อไหร่ค่อยเอาตามนั้น ไม่ได้หลับตา ไม่ได้ทำอะไรให้มันเกิดขึ้นเป็นพิเศษ เอาลมหายใจที่มันธรรมดาๆอย่างเนี่ยเดี๋ยวก็เข้า เดี๋ยวก็ออกเนี่ยนะ พอมันมีความคุ้นเคยแล้ว มันดีจริงๆนะ สามารถที่จะลงนั่งสมาธิได้ยาว เนื่องจากกำจัดนิสัยเสียๆทางใจ ที่จะเพ่งมากเกินไป หรือที่จะเหม่อลอยมากเกินไปออกไปนะครับ
เอาล่ะครับ เดี๋ยววันนี้ผมอยากขอให้ฟังสปอตโฆษณา ‘มีชีวิตที่คิดไม่ถึง’ เป็นการทิ้งท้ายนะครับ ก็ขอราตรีสวัสดิ์ ณ ที่นี้นะครับ ขอให้เจริญในธรรมด้วยกันทุกท่าน
« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น