วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๔๔ / วันที่ ๓๐ เม.ย. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันจันทร์ที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๕
นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง เพื่อจะทักทาย ไถ่ถามเข้ามาในรายการนะครับ
ให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/HowfarBooks



๑) การได้พบครูดีหรือการได้ทำบุญกับพระอรหันต์โดยบังเอิญ ถือเป็นการบังเอิญโชคดี หรือเป็นเพราะกรรมดีที่เคยทำมาแต่หนหลังมีส่วนช่วย

อันนี้พระพุทธเจ้าก็เคยตรัสไว้นะครับ การที่เราได้ครูดีไม่ใช่เรื่องบังเอิญนะ ต้องเคยมีการยอมรับนับถือ แล้วก็มีศรัทธาในสายทางแบบนั้นๆมาก่อน หรือไม่ก็เคยมีความผูกพันกับครูดีที่ว่านี้มาก่อนนะครับ เอ่อ การผูกสัมพันธ์ การผูกพันกับครูดีเนี่ย หลักการก็คือว่า ท่านสั่งสอนอะไรมา เราพิจารณาโดยดีแล้วก็เชื่อตามนะ หัวอ่อนให้กับความดีนะ หัวแข็งให้กับความชั่ว แล้วก็จะ เอ่อ ไอ้ตัวที่จะเป็นเครื่องวัดว่าเราเจริญรอยตามครูแบบไหนนะ ก็คือเราฟังคำสอนแล้ว เอ่อ เรายอมรับนับถือในตัวท่านแล้วเนี่ย เราปฏิบัติตามท่านแค่ไหน คือบางคนบอกว่า เอ่อ ฉันเป็นลูกศิษย์คนโน้นคนนี้นะ แต่ไม่ปฏิบัติตามเลยเนี่ยนะ คืออยากได้ชื่อแค่ว่าเป็นลูกศิษย์ของครูดัง หรือว่าไปคุยกันจะได้ไม่ตกเทรนด์นะ กับเพื่อนๆบอกว่า ฉันก็ฟังอยู่เหมือนกัน ฉันก็อ่านอยู่เหมือนกัน หรือว่าฉันเคยไปพบท่านมาแล้ว อะไรต่างๆเนี่ยนะ เป็นเหมือนกับแฟชั่น ไม่ใช่เป็นลักษณะของการนับถือด้วยใจจริงๆนะ ข่าวมาแบบไหนก็เฮเข้าไปตามนั้นนะ ข่าวมาทางลบก็เฮไปทางลบไปตามเค้า อะไรต่างๆอย่างนี้เนี่ยนะ ไม่เรียกว่านับถือนะ ไม่เรียกว่าเป็นเชื้อสายของครูบาอาจารย์ที่เราเอามาอวดอ้าง แต่ว่าจะต้องมีความศรัทธา มีความเคารพรัก แล้วก็ปฏิบัติตามนะ แก่นคำสอนของแต่ละท่าน คือไม่ใช่ว่าบอกเคารพพระพุทธเจ้าแล้วเนี่ยนะ จะนับถือพระสงฆ์องค์เจ้ารูปไหนก็ได้นะ เพราะพระสงฆ์แต่ละรูปเนี่ย ก็มีแนวการสอนแตกต่างกันแล้วก็จริตนิสัยที่เคยให้วาสนากันมาก็แตกต่างกันนะครับ หรือแม้กระทั่งว่าลัทธินิกาย หรือว่าความเชื่อที่ตรง หรือไม่ตรงกับคำสอนของพระพุทธเจ้านะ มีความเห็นแตกแยกกันไปต่างๆนานา ต่างๆที่ สุดแท้แต่ว่าจะเป็นไปในทิศทางไหนนะ ไอ้ตรงที่เราจะผูกอยู่กับครูบาอาจารย์ท่านไหนนะ ก็คือนะ ตัดสินตรงที่ว่า เราปฏิบัติตามแบบอย่างที่ดีของท่านองค์ไหนนะ แล้วก็ส่วนที่ว่าจะเป็นเชื้อสาย เป็นสานุศิษย์ของพระพุทธเจ้าเนี่ย อันนี้ก็คือ ต้องวัดกันที่ศรัทธาโดยรวมเลยว่า เรานับถือศาสนาอะไร ถ้าหากว่านับถือศาสนาพุทธจริงๆหมายความว่า เราเชื่อในเรื่องของผลของกรรมในการกระทำนะ กรรมและวิบาก ตลอดจนมีความรู้มีความเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าสอนอะไรนะ อันเป็นที่สุดของพระพุทธศาสนา ต้องตอบให้ถูกนะว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่สอนเรื่องของทุกข์และการดับทุกข์ ถ้าตอบตรงนี้ไม่ได้นี่ก็ โอกาสที่จะอวดอ้างว่า เป็นชาวพุทธนี่ค่อนข้างจะรางเลือนนะ การที่เราจะได้ไปพบพระอรหันต์ก็ตรงนี้เหมือนกัน ถ้าหากว่าดูตามที่ในพระคัมภีร์บอกไว้นะ ก็คือว่าเราจะทำบุญมาตามลำดับขั้น อย่างถ้าหากว่ามีความประพฤติดีนะ มีความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา ก็มีโอกาสที่จะไปนับถือ หรือว่าไปใคร่ในธรรม ธรรมะอันเกี่ยวข้องกับกรรมและวิบากนะถ้าหากว่าพุทธศาสนาไม่อุบัติ ก็อาจจะมีศาสนาอื่นที่สอนเรื่องกรรมวิบากได้ หรือว่าฤๅษีชีไพรที่ท่านมีอภิญญา ๕ นะ แล้วก็สามารถระลึกชาติได้ สามารถเห็นการจุติ และอุบัติของสัตว์ต่างๆในภพภูมิทั้ง ๓ ก็อาจจะมาสั่งสอนเรื่องของกรรมวิบาก แล้วก็เรียนรู้เรื่องกรรมวิบากในขณะที่ไม่มีพุทธศาสนาได้ แล้วทีนี้พอเริ่มสะสมบุญในเรื่องของการเชื่อ แล้วก็การเลื่อมใสในเรื่องกรรมวิบากนะ ตลอดจนการพยายามพิสูจน์ด้วยตัวเอง แล้วก็จะได้มีโอกาสพบพุทธศาสนา มีโอกาสพบพุทธศาสนา ก็จะเป็นปัจจัยหนุนให้ได้ทำบุญกับพระดี พระปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ แล้วถ้าหากว่าทำบุญกับพระปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบแล้วนะ ก็มีโอกาส มีเป็นปัจจัยเกื้อหนุน ให้ได้พบกับพระโสดาบันหรือว่าทำบุญกับพระโสดาบัน แล้วปัจจัยนั่นก็จะเป็นปัจจัยให้ได้พบและทำบุญกับพระสกทาคามี พบและทำบุญกับพระอนาคามี จนกระทั่งนะ ได้มีโอกาสพบและทำบุญกับพระอรหันต์นะครับ อันนี้ก็มาว่า ว่าตามตำรานะ นี่พูดตามตำรานะว่ามีปัจจัยเป็นขั้นๆไป แล้วการพบพระอรหันต์เนี่ย ขอให้สังเกตนะคือ บางคนเนี่ยเอาแค่อย่างนี้ก่อนก็แล้วกัน ตอนนี้เราไม่รู้จะชี้ว่าใครเป็นพระอริยบุคคล ใครเป็นพระอรหันต์ ไม่สามารถที่จะเอาเครื่องยืนยันที่ชัดเจนมาบอกกล่าวกันได้ เนื่องจากว่าพระพุทธเจ้าท่านสิ้นแล้วนะ ผู้ที่เราจะเชื่อได้เพียงพระองค์เดียวเนี่ย ไม่อยู่แล้วนะที่จะยืนยัน เราเอาแค่ตรงนี้ก็แล้วกันว่า ใครมีโอกาสที่จะอยู่ใกล้ แล้วก็ได้ทำบุญกับพระที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ รักษาศีล รักษาวินัยยิ่งชีพ เอาแค่นี้ก่อน คือถ้าเอาแค่นี้ได้นะ รู้ว่าท่านรักษาศีลดี รักษาวินัยดี แล้วก็ปฏิบัติถูก ปฏิบัติตรงนะ แล้วก็มาสั่งสอนมาเทศนากับญาติโยมตรงตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ เรารู้ด้วยการสอบทานนะ เปรียบเทียบกับพระไตรปิฎก อย่างนี้เนี่ยเรียกว่ามีบุญมากๆแล้วนะ ไม่ต้องเอาถึงขั้นที่ว่า เราจะได้ไปทำบุญกับพระอรหันต์หรือว่าพระอริยเจ้ารูปไหนนะ ตรงนั้นนะเราไม่สามารถรู้ได้ด้วยตนเอง ถ้าหากว่าเรายังไม่ใช่ระดับเดียวกันกับท่าน เอาเป็นว่าถ้าหากเรามีโอกาส ที่จะทำบุญกับพระปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ วันนึงเราต้องมีโอกาสที่จะทำบุญกับพระอรหันต์ แล้ววันนึงนะ เราจะต้องมีโอกาสได้ทำกับพระปัจเจก แล้วก็พระพุทธเจ้าอย่างแน่นอนนะครับ ก็เป็นเรื่องของปัจจัยที่ไล่กันมาเป็นขั้นๆตามตำรานะ อันนี้พูดตามตำรา



๒) ทำไมบางคนมีอิทธิพลทำให้เวลาเราอยู่ใกล้แล้วรู้สึกถึงพลังและความสดใส ต้องมีจิตเป็นยังไงถึงเป็นแบบนี้ได้คะ?

ความสดใสหรือว่าพลังเนี่ยก็มาได้หลายทาง อย่างบางคนเนี่ยนะ ดูมีความกระตือรือร้นมาก ก็เหมือนกับว่าพลังในตัวล้นหลามนะ พวกนี้ก็ขยัน แล้วความขยันมาจากไหน ก็ต้องมีความพอใจ มีฉันทะในงานนะถึงได้ขยัน และพอขยันมันก็มีจิตใจฝักใฝ่จดจ่อ ไม่ฟุ้งซ่านไปในเรื่องอื่นง่ายนัก ไม่วอกแวกไปในเรื่องที่จะดึงให้เป๋ออกนอกทางนะ จากนั้นก็เป็น กลายเป็นคนที่นะลองผิดลองถูกในงานที่ตัวเองรัก จนกระทั่งเกิดวิสัยทัศน์ มีความเก่ง มีความแตกต่างจากคนอื่น อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นการสะสมพลังนะ พลังแห่งฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา หรืออิทธิบาท ๔ เนี่ยนะจนกระทั่งเราเห็นปุ๊บ เรารู้สึกว่า อยู่ใกล้แล้ว อยากกระตือรือร้น อยากทำงานในแบบที่เค้าทำแบบนั้นบ้าง นี่ก็เรียกว่าเป็นพลังที่เห็นได้ง่ายๆนะ สำหรับคนทำงาน หรืออย่างพลังอีกแบบหนึ่ง ถ้าเราเคยได้มีโอกาสพบปะ หรือว่าได้ไปกราบนะ พระที่ท่านมีความสำรวมนะ มีความสำรวมระวังอย่างดี ในเรื่องของ การกิริยา อาการต่างๆ การพูด การจา การขยับไหวร่างกาย มีสตินะ แล้วก็เป็นพระที่ได้ปฏิบัติธรรมอย่างดี มีสมาธิ มีความผ่องใส เราก็จะสามารถรู้สึกถึงพลังอีกแบบหนึ่ง ท่านมีความขวนขวายมีความกระตือรือร้น มีความขยันขันแข็งในเรื่องของการดูกาย ดูใจ แล้วก็ในเรื่องของการอยู่กับอารมณ์อันไม่เป็นโทษนะ จนกระทั่งเกิดสมาธิอีกแบบหนึ่ง เป็นพลังอีกแบบหนึ่ง คือพออยู่ใกล้ท่านแล้ว เราจะเกิดความรู้สึกว่า พลังแบบนั้นเหนี่ยวนำให้เราเกิดความอยากจะสงบ อยากจะนิ่ง อยากจะสำรวมตามท่าน อยากจะมีกาย วาจา และใจที่ประณีต ที่มีความสว่าง ที่มีความสงบ ความเย็นนะ นี่ก็อันนี้ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆว่านะ เอ่อ พลังเนี่ยมีหลายแบบ พลังในแบบที่ก่อให้เกิดกระแสความตื่นตัว ตื่นเต้น หรือว่ากระตือรือร้นอยากทำงาน หรืออีกแบบหนึ่งก่อให้เกิดความสงบ ระงับนะ จากความกระวนกระวาย ความฟุ้งซ่าน มันเป็นคนละประเภทกัน แต่ก็ต้องอาศัยอิทธิบาท ๔ เหมือนกัน พูดง่ายๆว่า ถ้าหากว่ามีความชอบใจในงานอย่างใดอย่างหนึ่ง จะทางโลกทางธรรมก็ตาม แล้วมีความขยันหมั่นเพียรในสิ่งที่ตัวเองรัก ในงานที่ตัวเองชอบ จนกระทั่งจิตใจเนี่ยจดจ่อ เกิดความตั้งมั่นแล้วก็มีวิสัยทัศน์ มีความรู้ความฉลาด มีความรอบรู้นะ ที่จะดำเนินชีวิตอยู่บนพื้นฐานของการทำงานที่ตัวเองรักแล้วนะ ในที่สุดมันก็เกิดเป็นความมีพลัง ส่วนที่ว่าจะสดใส ไม่สดใส ขึ้นอยู่กับนะ ความแตกต่างทางการคิด การพูด การทำ อย่างบางคนเนี่ยคิดในแบบที่มันมองบวกมากๆนะ พอบวกมากๆจิตใจมันแจ่มใสใช่มั้ย คำว่าแจ่มใส มันก็เหมือนกับพระอาทิตย์ขึ้นในใจของตัวเอง แล้วพอพระอาทิตย์ขึ้นในใจของตัวเอง มีความเบิกบาน มันอยากเผื่อแผ่ความเบิกบาน มันอยากกระจายความสดใสนี่ออกไปนะ แล้วความสดใสแบบนี้เนี่ย ก็ทำให้คนอื่นเกิดความรู้สึกสดใส หรือว่าตาตื่นตาม นี่อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับวิธีที่แต่ละคนจะคิดนะ ส่วนใหญ่แล้ว ถ้าคำจำกัดความของความสดใสในใจคนเนี่ย มาจากนิยามง่ายๆเลยคือ เป็นคนมองโลกในแง่ดี แล้วก็เป็นคนที่คิด พูด ทำ ออกมาจากพื้นฐานจิตใจที่มองเห็นแต่อะไรดีๆ ไม่มองเห็นอะไรในด้านร้ายนะ ส่วน เอ่อ คนที่จะ ส่วนการที่เราจะเป็นคนแบบนั้นได้เนี่ยนะ ก็คือส่วนใหญ่แล้วนะ ถ้าเราไม่เหมือนไม่เหมือนเค้า เราก็ต้องได้แรงบันดาลใจมาจากเค้าก่อน คือเหมือนกับเราหัดเรียนดนตรีหรือว่าหัดเล่นกีฬาอย่างเนี่ย เค้าบอกว่า ถ้าหัดกับครูที่มีความเก่งกาจ มีความสามารถสูงๆเนี่ยนะ เราจะจดจำแม้กระทั่งวิธีขยับตัว วิธีที่ครูมองนะ มองดูอุปกรณ์เล่นนะ หรือว่าวิธีที่ลงมือบรรเลงนะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเพลง หรือว่ากีฬานะ แล้วเราจะเกิดความจดจำท่าทางอิริยาบถ หรือว่าแม้กระทั่งกระแสทางใจที่ออกมาจากครูบาอาจารย์นะที่เก่ง มีความเก่งกาจ มีความเก่งกล้าสามารถในด้านนั้นๆเนี่ย เอ่อ ถ้าเราสามารถที่จะเลียนแบบท่านโดยไม่รู้ตัวนะ คือจิตของเราเนี่ย พอมีความผูกพันมีความเคารพนับถือท่าน แล้วก็อยู่ใกล้ชิดท่านเนี่ย มันก็เหมือนกับเป็นการจูนจิตของเราเนี่ย ให้ใกล้เคียงกับความเป็นคนเก่งนะ ไม่ว่าจะการขยับ ไม่ว่าจะการพูดการจา ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึก กระทั่งความรู้สึกนึกคิดเนี่ย บางทีเราจะลอกเลียนท่านนะ แล้วพอท่านสอนอะไรมาเราเชื่อทุกอย่าง ปฏิบัติตามทุกอย่าง มันก็เก่งตามท่านได้ อันนี้แหละ นี่มันเป็นตัวอย่างว่า ถ้าหากเรามีแรงบันดาลใจที่แรงพอนะฮะ แล้วก็สามารถที่จะไป เอ่อ ฟังแนวทางดำเนินชีวิต หรือว่าไปมีความขวนขวายในแบบที่ท่านสอน อย่างนี้เนี่ยนะ ก็จะเป็นเหตุให้เรามีจิตที่สดใส เหมือนคนๆนั้นได้นะครับ



๓) ระหว่างผู้ที่มีศีลบริสุทธิ์กับศีลด่างพร้อยนี่ต่างกันมากมั้ย สำหรับตัวเองข้อ ๑ และข้อ ๔ ทำยากที่สุดเลย บางทีหลีกเลี่ยงไม่ได้? ข้อ ๑ กับข้อ ๔ นี่ก็คือสงสัยจะตบยุงแล้วก็โกหกนะ ถ้าเดาไม่ผิด เพราะว่าข้อ ๑ นี่คือปาณาติบาต ข้อ ๔ ก็คือมุสาวาทนะครับ บอกว่าข้อ ๑ กับข้อ ๔ นี้ สำหรับผู้ถามท่านนี้ทำยากที่สุดเลย บางทีหลีกเลี่ยงไม่ได้ หนูเคยอ่านคำตอบมาหลายที่แล้วค่ะ ว่าถ้าเราไม่มีเจตนาก็ถือว่ายังไม่ขาด แต่หนูสงสัยว่าแล้วจะมีมั้ยคะในโลกนี้ที่มีคนที่มีศีลบริสุทธิ์หมดจด?

ศีลบริสุทธิ์กับศีลด่างพร้อยเนี่ย เอาเป็นเปรียบเทียบแบบสุดโต่งก่อนก็แล้วกัน คนที่รักษาศีลได้บริสุทธิ์หมายความว่า เป็นคนที่มีความตั้งใจไว้ล่วงหน้าว่า เจอสิ่งยั่วยุขนาดไหน ก็จะไม่ละเมิดศีล ไม่ประพฤติธรรมอันเป็นมลทินนะ ไม่ก่อบาปก่อกรรมด้วยการเบียดเบียนชีวิตอื่น ด้วยการฆ่า ด้วยการขโมย ด้วยการผิดลูกผิดเมีย ด้วยการไปโกหกมดเท็จเค้า แล้วก็ตลอดจนกระทั่ง ไม่เบียดเบียนตัวเองก่อนด้วยการกินเหล้า เพื่อที่จะมีโอกาสไปเบียดเบียนคนอื่นในภายหลัง เมื่อสติถูกบั่นทอน อย่างนี้นะถ้าหากว่าเราตั้งใจไว้ล่วงหน้า ยังไงๆนะ เราจะยอมตายดีกว่าขายศีลนะ อย่างนี้เรียกว่าเป็นคนที่มีความเด็ดเดี่ยว มีความตั้งมั่นอยู่ในสิ่งที่ถูกต้อง นึกออกมั้ย พอเราตั้งใจมั่นคงอยู่กับความถูกต้อง เส้นทางที่มันมีความสว่างเนี่ย เราก็จะอยู่ในโลกที่ไม่มีความเบียดเบียน คือมันคู่ควรกับการไปอยู่ในโลกที่ไม่มีการเบียดเบียนกัน ส่วนคนที่ไม่สนใจเรื่องศีลเลย อยากทำอะไรก็ทำนะ เป็นคนที่มีโอกาสถูกกิเลสชักชวนให้เข้าสู่ทางอันดำมืด ได้ตลอดเวลา ได้ทุกสถานการณ์ อย่างนี้นะ เห็นชัดๆที่มันจะต่างกันเลยนะ ก็คือว่านะ คนที่รักษาศีล ตั้งใจรักษาศีลเนี่ย คือชีวิตเค้าจะลำบากแค่ไหนไม่รู้นะ แต่ว่าจิตใจเค้าจะสบาย เค้าจะมีความโปร่งโล่ง มีความไม่เดือดเนื้อร้อนใจ อันนี้เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าเน้นย้ำเลย คือคนบางทีไม่เชื่อเรื่องว่าตายไปแล้วไปไหนนะ รักษาศีลจะได้เสวยผลที่สวรรค์ชั้นไหนอะไรยังไงเนี่ย มันต้องรอกันบางทีหลายสิบปี กว่าจะรู้ว่าจริงหรือไม่จริงนะ แต่ไอ้ที่คดโกงกันวันนี้แล้วรวยวันนี้เลยเนี่ย อันนี้มันเห็นชัด มันก็เลยเหมือนกับว่า เอาไอ้ที่เห็นได้ง่ายๆก่อนแล้วกัน ไอ้ที่มีหลักฐานก่อนก็แล้วกันนะ ไม่ต้องถือหรอกศีลนะ ทีนี้ถ้าเราพิจารณาตรง เอ่อ ไม่ใช่หลักฐานภายนอกอย่างเดียวว่าโกงแล้วรวย หรือว่าซื่อแล้วจนอะไรต่างๆนะ มาพิสูจน์หลักฐานทางใจกัน ถึงจะมีชีวิตยากแค้นยังไง แต่ถ้าหากว่าเราระลึกขึ้นมาว่า เราไม่ใช่ผู้ที่เบียดเบียนคนอื่น เราเป็นผู้ที่มีจิตตั้งมั่นแล้วนะในการรักษาศีล อย่างนี้มีความสบายใจทันทีตลอด ๒๔ ชั่วโมง คือระลึกขึ้นมาเมื่อไหร่ มันสบายใจขึ้นมาเมื่อนั้น เนี่ยหลักการง่ายๆเลย เวลาที่ครูบาอาจารย์ท่านจะสอนทำสมาธิเนี่ยนะ ให้สำรวจศีล วันนี้ศีลเราบกพร่องมั้ย พอมีความรู้สึกขึ้นมาเท่านั้นแหละ เออ วันนี้เรารักษาศีลได้ดี มีสิ่งยั่วยุ มีเครื่องล่อใจอะไรแค่ไหน ก็ยังมีความสามารถจะควบคุมตัวเองนะ ห้ามปาก ห้ามการกระทำทางมือไม้ได้ ใจมันจะคิดยังไงช่างมัน แต่ห้ามปากกับห้ามมือไม้ไว้ได้ ไม่ผิดศีล ไม่มีการด่างพร้อย มันเกิดความรู้สึกชื่นใจขึ้นมาทันที ไอ้ความชื่นใจนั่นแหละ จะทำให้เกิดความพร้อม จะนั่งสมาธิต่อ นี่แสดงว่ามีผลกับจิตใจอย่างใหญ่หลวงเลย คนที่เลือกที่จะรักษาศีลเนี่ยนะ มีความพร้อมจะนั่งสมาธิได้ ส่วนคนที่นะไม่สนใจรักษาศีล สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือนะ ถึงมีความสะใจ ถึงมีความสนุกในวันนี้ที่ได้ละเมิดศีลนะ ที่ได้เป็นจุดเด่น โก้เก๋ในวงเพื่อนฝูงนะ ไม่น้อยหน้าใครเค้า ที่เค้าก็กินเหล้าเมายาหยำเปเหมือนกันนะ เที่ยวผู้หญิงเหมือนกัน หมายถึงว่าเที่ยวไปมีอะไรกับลูกเมียคนอื่น โดยที่เค้าไม่อนุญาตอะไรแบบเนี่ยนะ อย่างนี้คือถึงแม้ว่าสนุกทางกาย แต่ระลึกขึ้นมาแล้วมันสะดุ้ง มันสะดุ้งใจอยู่ว่า เออ เรากำลังทำอะไรอยู่หนอ ถูกหรือผิดกันแน่นะ ทำไมถ้าหากว่าตอนลืมตาตื่นอยู่ทำเรื่องสนุกๆแล้ว เวลาหลับทีไรมันเกิดความรู้สึกวุ่นวายใจ มันเกิดฝันร้าย มันเกิดความรู้สึกเหมือนนอนไม่เต็มอิ่ม เหมือนกับมีความว้าวุ่น จะต้องมีอะไรสักอย่างเร่งให้ไปทำเรื่องผิดๆซ้ำแล้วซ้ำเล่านะ ทำไมมันไม่ได้หยุด ได้หย่อนซะที เกิดความสะดุ้งใจขึ้นมาทั้งชีวิต นั่นแหละ ถ้าใครถามขึ้นมาเนี่ยว่าคุณทำผิดอะไรหรือเปล่า มันสะดุ้งใจขึ้นมา มีใครถามว่าคุณเชื่อเรื่องนรกสวรรค์หรือเปล่า มันสะดุ้งใจขึ้นมา บอกปากแข็งนะ บอกว่าไม่เชื่อ โอ้ย !มันเรื่องเหลวไหลไร้สาระ สมัยนี้ใครถือศีลก็บ้าแล้วนะ มันจะปากแข็งไปเถียงเค้าแบบนี้เนี่ย แต่ว่าใจเนี่ย ใจจริงๆเนี่ยนะ มันสะดุ้งอยู่ มันมีความหวั่นไหวอยู่ข้างใน เชื่อเถอะ ไม่ว่าใครนะ ต่อให้เป็นนักเลงอันธพาล ตีหัวหมา ด่าแม่เจ๊กอะไรมานานแค่ไหนเนี่ย ก็มีความหวั่นไหวอยู่ ยกเว้นแต่พวกที่บาปหนา พอกหนาจริงๆแล้วไม่คิดถึงเรื่องนรกสวรรค์อะไรอีกเลยนะ ก็อย่างพวกที่ทำอนันตริยกรรมมา หรือว่าเป็นโจรตลอดชีวิตนะ เบียดเบียนผู้อื่นตลอดชีวิต โดยไม่สนใจว่าใครเค้าจะเดือดร้อนอะไรยังไง จนกระทั่งนะจิตใจเนี่ย มันด้านชากับความรู้สึกถึงบาปบุญคุณโทษ ไอ้แบบนี้ก็จะเป็น ยกเว้นไว้อีกกรณีหนึ่ง นอกนั้นเนี่ย มันมีความสะดุ้งกลัวกับไอ้สิ่งที่ตัวเองทำบาปทำกรรมลงไปกันทั้งนั้นแหละ นี่คือความแตกต่างอย่างที่สุดนะ ถามว่ามีใครบ้างมั้ยที่ไม่เคยผิดศีลเลย มันไม่มีหรอกนะ อย่างพระอานนท์ท่านก็เคยบอก บอกว่า ไม่ว่าตัวท่านเองนะ มองไปอดีตชาติหรือว่ามองใครนะ สัตว์ไหนๆที่อยู่ในโลกเนี่ยนะ ลงมาในโลกนี้แล้วเกิดเป็นมนุษย์แล้ว มันได้หลงผิดกันหมดแหละ ท่านใช้สำนวนท่านก็คือว่า พวกเรานะมีตัวอันชุ่มบาป คือมันเหมือนนะ บาปเนี่ยเป็นหนองน้ำ และผู้คนเนี่ยก็เอาตัวจุ่มลงไป จุ่มมิดหัวเลย ไม่ต้องไปหาหรอก ไอ้คนที่ไม่เคยทำบาปทำกรรมนะ ชาตินี้อาจจะดีเพราะว่า แรงผลักดันจากชาติก่อน ยังให้ผลในทางที่เหมือนกับเกิดมาเจอชีวิตที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ว่าชาติก่อนๆหน้านั้นน่ะ มันไม่มีใครหรอก ที่ไม่เคยลงนรก ไม่มีใครหรอก ที่ไม่เคยไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน ไม่มีใครหรอก ที่ไม่เคยไปเป็นเปรต ทั้งนี้ก็เพราะว่านะ ได้พลาดทำกรรมนะ ทำบาป ก่อบาป ในเรื่องของ โดยเฉพาะในเรื่องของการผิดศีลเนี่ยมาด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นนะ ทำด้วยความไม่รู้ว่าเสร็จแล้วมันจะเกิดผลอย่างไร จะต้องไปเป็นสัตว์นรก จะต้องไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือว่าจะต้องไปเป็นเปรตยังไง ถ้าหากว่าธรรมชาติใจดีเปิดเผยให้รู้นะ ว่าผิดศีลแล้วจะได้รับผลยังไง จะต้องถูกลงโทษลงทัณฑ์ยังไง จะไม่มีใครในโลกนี้เลยที่ทำผิดศีล ไม่มีแม้เลยคนเดียว แต่นี่เพราะไม่รู้ เพราะอวิชชาปกปิดอยู่นะ สัตว์ทั้งหลายจึงประพฤติผิดศีลกันเป็นอาจิณนะ เพื่อที่เราจะเป็นผู้ที่เลือกทางใหม่ได้ ก็มีทางเดียวคือ จะต้องมีแรงบันดาลใจ จะต้องมีคำสอนของพระพุทธเจ้านะ เป็นหลักให้เกิดความรู้ แนวทางว่าสมควรทำอย่างไร แล้วก็มีความตั้งใจนะ ความตั้งใจนี่ก็เรียกว่าการสมาทานนะ ตั้งใจถือปฏิบัติ ตั้งใจว่าจะผิดข้อไหน ถ้าต้องทำผิดข้อไหนเป็นประจำเนี่ย เราเอาข้อนั้นก่อนเลย คือถ้าไม่สามารถละขาด อย่างน้อยที่สุดก็ขอให้เพลาๆลงบ้างนะ ไอ้เรื่องตบยุงเนี่ย อย่างสมมติว่าตบทุกครั้ง รำคาญปุ๊ปตบปั๊ปนะ ๑๐ ครั้งเนี่ย ก็ลดหย่อนลงมา เหลือสัก ๕ ครั้งก็แล้วกัน และจากนั้นเนี่ย ๕ ครั้งก็ตั้งใจแค่เขี่ยๆเอานะ ค่อยๆลด ค่อยๆถอย จากถอยจิต ถอยกาย ออกมาจากการกระทำ จากการยึดมั่นในเรื่องของการละเมิดโดยไม่บันยะบันยังนะ เปลี่ยนเป็นว่ามีความยับยั้งชั่งใจบ้าง มีเบรกบ้าง มีการใส่เบรกบ้าง นั่นแหละ ตรงนั้นแหละ หลังจากที่รู้สึกว่า เออ มันมีการใส่เบรกบ้างเนี่ยนะ จิตมันจะแตกต่างไป คือ สำนึกหรือว่าความรู้สึกผิด หรือว่าความรู้สึกสะดุ้งบาป สะดุ้งกลัวกับบาปกรรมเนี่ย มันจะค่อยๆมากขึ้นๆจนกระทั่งถึงวันนึง เรารู้สึกว่าไอ้ที่แต่ก่อนมันไม่รู้สึกสะดุ้งกลัว ทำได้โดยไม่ยั้งคิดเนี่ย เพราะอำนาจความเคยชินอย่างเดียว อำนาจความเคยชินพอพอกหนาแล้วเนี่ย มันเอาชนะความสะดุ้งกลัวได้ แต่พอเราสะสมอำนาจความเคยชินแบบใหม่ในอีกขั้วหนึ่ง จากทำแบบไม่ต้องคิด กลายเป็นทำแบบยั้งคิดบ้าง แล้วก็ตั้งใจไม่ทำเลย คิดที่จะไม่ทำเลยเนี่ย พอจิตใจมันเริ่มเข้าข้างศีล มันเริ่มเข้าฝ่ายศีลนะ ศีลจะทำให้จิตใจของเราสะอาด ศีลจะมีอำนาจปรุงแต่งให้จิตของเราเนี่ยนะ เกิดความโล่ง เกิดความสบาย แล้วก็เกิดความเห็นชีวิตเป็นอีกแบบหนึ่งนะ ชีวิตไม่ควรเบียดเบียนชีวิต ชีวิตเค้าก็มีความรู้สึกรู้สา มีความทุกข์ มีความกระวนกระวาย มีความกลัวตายได้เหมือนเรานะ ถ้าหากว่า เราสามารถรู้สึกถึงความเป็นชีวิตเราชีวิตเค้าได้นะ มันจะมีความสะดุ้งกลัว กับการไปทำลายชีวิตเค้า นี่ตรงนี้ไงมันเป็นจุดเริ่มต้นของการถือศีลที่ดีนะ แล้วจากนั้นเรามาลองตั้งใจว่า เออ วันนี้จะงดเว้น เอาเฉพาะวันนี้วันเดียวนะ สมมติเป็นวันพระก็แล้วกัน เอาวันพระเป็นตัวตั้งเนี่ย ตั้งใจที่จะไม่โกหก ไม่มุสานะ เอ่อ ถึงจำเป็นแค่ไหน เราก็จะพยายามอย่างที่สุดที่จะเลี่ยงการโกหก โกหกแบบตรงๆ อาจจะเหมือนกับชักแม่น้ำทั้งห้า หรือว่าเล่าไม่ครบอะไรก็ว่าไป แต่ว่าจะต้องไม่มีการโกหก พอมีความสามารถที่จะทำตามความตั้งใจได้มากๆเราจะพบว่า เรื่องที่มาบีบคั้นให้ต้องโกหกเนี่ย มันจะค่อยๆน้อยลง คือมันจะไม่หมดไปซะทีเดียวนะ แต่ว่าจะมีเรื่องที่ต้องทำให้กระอักกระอ่วนใจน้อยลงไปเรื่อยๆแล้วใจของเราก็จะมีความรู้สึกมากขึ้นเรื่อยๆว่า ต้องเสียศักดิ์ศรีขนาดนี้ทีเดียวเหรอนะ ยอมได้เงิน ยอมขายศีล เพื่อที่จะแลกกับเงินแค่ไม่กี่ร้อย ไม่กี่พันหรือไม่กี่หมื่น และค่าของเงินมันจะแพงขึ้นเรื่อยๆนะ ที่มันจะซื้อเราไม่ให้โกหกได้เนี่ย มันจะเพิ่มขึ้นเป็นแสนเป็นล้าน แล้วจนกระทั่งที่สุด ถึงที่สุดของการถือศีลสำเร็จก็คือว่าจะเอาเงินมากองแค่ไหน เราก็จะไม่ขายศีลเป็นอันขาดนะ แต่ถ้าไม่มีการเริ่มต้นมันก็ไม่มีการต่อยอดนะ ถ้าไม่มีฐานมันก็ไม่มีทางที่จะถึงยอด เพราะฉะนั้นต้องเริ่มครับ จากแรงบันดาลใจ แล้วก็เริ่มจากการตั้งใจเล็กๆน้อยๆเนี่ยแหละ เอาเรื่องเล็กๆน้อยๆให้ได้ก่อน แล้วจะค่อยๆไต่ระดับขึ้นไปเองนะ ถึงระดับที่เรารู้สึกว่าชีวิตของเราโล่งแล้ว สบาย ปลอดภัยแล้วนะครับ


สำหรับคืนนี้ ต้องกล่าวราตรีสวัสดิ์กันที่ตรงนี้ครับ ขอให้เจริญในธรรมทุกท่านๆครับ


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น