สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันพุธที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และ ศุกร์ เวลา สามทุ่มตรง เพื่อที่จะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการนะครับ ก็เข้ามาที่ http://www.facebook.com/dungtrin แล้วก็ตั้งคำถามในสเตตัสปัจจุบันของ Spreaker.com ที่ตั้งมานะครับ เป็นการตั้งสเตตัสจาก Spreaker.com นะครับ เวลาสามทุ่มตรง ถ้าหากว่าเห็นคำว่า ‘Come and listen to me LIVE on Spreaker’ ก็นั่นแหละเป็นสเตตัสนั้นนะครับ
๑) คนที่มีบุญเรื่องความรักเนี่ย เขาทำบุญมาอย่างไรคะ พอดีเคยได้ยินมาว่า มีคนทำบุญเรื่องความรักมาดีมากๆ ซึ่งก็เพิ่งรู้ว่ามีอยู่จริงๆ แล้วบุญประเภทนี้มันส่งผลอย่างไรบ้างกับเจ้าของบุญ มันใช่ว่า พอรักใครก็จะมีความรักที่สุขสมหวังไปซะทุกทีรึเปล่า?
คนมีบุญเกี่ยวกับเรื่องความรักจริงเนี่ยนะ ไม่ใช่มีบุญแบบเปรอะนะ แต่จะเป็นบุญชนิดที่เจาะจง เรื่องความรักระหว่างชายหญิงจะเป็นเรื่องเจาะจง ถ้าหากว่าผูกบุญกันมานะ แล้วมีวาสนาได้พบกันในชาติปัจจุบัน ก็จะมีความรักที่ค่อนข้างจะ เหมือนกับอย่างที่เขาว่ากันว่า โรยอยู่ด้วยกลีบกุหลาบนะ เส้นทางเนี่ยจะราบรื่น แล้วก็มีความสุข มีความหวานชื่น ตั้งแต่เริ่มต้นไปเลยนะ ใครต่อใครเห็นแล้วก็ แหม คู่นี้เนี่ย รู้สึกดีจัง เห็นคู่นี้ไปด้วยกัน ไปไหนด้วยกันแล้วพลอยมีความรู้สึกตามไปด้วย ไม่มีใครอยากจะมาแย่งชิง ไม่มีใครอยากจะอิจฉาริษยา อะไรแบบนั้น เนี่ยเป็นเรื่องที่ว่า ถ้าทำบุญมาด้วยกันจริงๆเนี่ยนะ ลักษณะของบุญจะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะมนุษย์หรือเทวดา พลอยเอออวย เหมือนกับพลอยชื่นมื่นไปด้วย
ทีนี้ถ้าถามว่า ทำบุญเรื่องความรักมาดีมากๆเนี่ย เขาทำกันอย่างไร ก่อนอื่น เราพูดในมุมกว้างก่อนก็แล้วกันว่า คนที่เกิดมาเนี่ยนะ มีแต่ใครต่อใครรักใคร่ แล้วก็เหมือนกับให้ความรัก ไม่ใช่ความรักในแบบที่จะต้องเป็นแบบเชิงชู้สาวอย่างเดียวนะ แต่ให้ความรัก ความเมตตา ความอยากจะอุดหนุน อุปถัมภ์ค้ำชู หรือว่าอยากจะทำอะไรให้อย่างนี้เนี่ยนะ คนประเภทนี้จะเคยช่วยเหลือคนอื่นไว้มาก อยากให้คนอื่นมีความสุขไว้มาก คือไม่ใช่อยากแต่ปาก ไม่ใช่นักท่อง สัพเพ สัตตา อเวราโหนตุนะ แล้วไม่ทำอะไรเลย ไม่ใช่อย่างนั้นนะ แต่เป็นคนที่มีจิตใจประมาณว่า เห็นใครตกทุกข์ได้ยากจะทนอยู่ไม่ไหว จะต้องปรี่เข้าไปช่วยนะ หรือว่าไอ้ที่เป็นภาระรับผิดชอบ ภาระรับผิดชอบของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ไม่ว่าจะเป็นพี่น้อง ไม่ว่าจะเป็นคนสนิทหรือว่าเป็นลูกหลาน ถ้าหากว่าตัวเองจะต้องดูแลเอาใจใส่แล้วเนี่ย ถึงเวลาที่สมควรจะต้องดูแลเอาใจใส่แล้ว ก็จะทำเต็มที่ ไม่มีการเกี่ยงงอน ไม่มีการปล่อยทิ้งปล่อยขว้างอะไรแบบนั้น แล้วก็นอกจากนั้นที่สำคัญเลยก็คือ คำพูด จะเลือกคำพูดที่ไม่ทำให้ใครเจ็บใจ มีแต่คำพูดที่จะทำให้ใครต่อใครเกิดความรื่นเริง เกิดความเอ็นดูรักใคร่ แล้วก็ประสานสามัคคีระหว่างหมู่เหล่า ไอ้ตรงนี้สำคัญเลย คือถ้าหากว่าเป็นพวกชอบนินทา พวกพอตกกลางวันขึ้นมา ไปพักจากการงาน แล้วไปนั่งสุมหัวนินทากันเนี่ย เลิกหวังได้เลย เกิดชาติหน้าที่จะมามีคนรักใคร่ หรือว่าอยากจะมาพูดดี ไม่อยากจะนินทาลับหลัง อะไรแบบนี้เนี่ยนะ เลิกหวังไปได้เลย เพราะว่าจะเข้ากลุ่ม เข้าเหล่าคนธรรมดา ที่ยังไงก็จะต้องโดนหมั่นไส้บ้าง โดนเกลียดขี้หน้าบ้าง หรือว่าพอเดินลับหลังนิดเดียว มีเสียงตามมา โดยที่ได้ยินบ้างไม่ได้ยินบ้าง อะไรแบบนี้ อันนี้ก็เรื่องธรรมดาชาวโลกเขา ถ้าหากว่าคนที่มีบุญ ที่จะทำให้คนอื่น มีความเมตตามีความรักมากๆ ส่วนใหญ่แล้วเนี่ยนะ สำคัญเลยตรงนี้ก็คือว่า จะพูดถึงคนอื่น พยายามพูดถึงคนอื่นในด้านดี แล้วก็ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ จะไม่พูดถึงเขาในแง่เสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จู่ๆจุดชนวนขึ้นมา จุดประเด็นขึ้นมาเป็นฆ้องที่ดังเองเนี่ย จะไม่มี
อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรมะของบัณฑิต ก็คือว่า ถ้าจะต้องกล่าวติเตียน หรือว่ามีการจะต้องพูดถึงข้อเสียหายของผู้อื่นเนี่ย ก็จะพูดแบบรวบรัด แต่ถ้าจะพูดถึงข้อดี จะพูดถึงข้อที่น่านิยมชมชื่นของใคร ก็จะพูดเต็มที่ ลักษณะของคนที่จะเป็นที่รัก ลักษณะการทำ ลักษณะการพูด ถ้าหากว่ามันดีแล้ว อันนั้นก็เป็นประกันได้ระดับหนึ่ง ยังไงๆเนี่ยจะเป็นที่รักแน่ แต่ที่จะประกันได้ยิ่งกว่านั้น ก็คือว่า จะต้องเป็นคนมีความคิดในเชิงเมตตาจริงๆด้วย พูดง่ายๆว่ามีใจจริง ที่จะคิดในทางดีกับคนอื่น อย่างที่เขาเรียกว่าเป็นนักแผ่เมตตานั่นแหละ นักแผ่เมตตาที่แท้จริง ไม่ใช่คนที่เล่นสมาธิ หรือสวดมนต์ แล้วก็มานั่งสัพเพ สัตตา อเวราโหนตุนะ พวกนั้นบางที ส่วนใหญ่ผมว่าเกินครึ่ง ตีให้เจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์เลย เป็นพวกที่ไม่ได้มีเมตตาจริง คือเมตตาหลังสวดมนต์เนี่ยนะ ไม่ใช่เมตตาจริง เมตตาจริงเนี่ย เอาแค่ว่า พยายามที่จะมองคนอื่นในด้านดี มองในทางที่จะทำให้มีไมตรีจิตต่อกัน ซึ่งเห็นไหมมันทำยากนะ มันไม่ใช่มาทำกันหลังสวดมนต์นะ แต่ต้องทำกันทั้งวัน ต้องมองใครต่อใคร ด้วยความไม่รังเกียจเดียดฉันท์ ไม่มองแบบแบ่งเขา แบ่งเรา แบ่งวรรณะ แบ่งชนชั้น คือเมตตาเสมอกันในฐานะเพื่อนร่วมโลก ปฏิบัติตนต่อกันเนี่ยเหมาะสมต่อฐานะ คือ ถ้าคนใช้ก็คนใช้ ถ้าหากว่าเป็นคนที่เป็นเจ้านาย เราก็ปฏิบัติแบบลูกน้องที่มีต่อเจ้านาย แต่ว่าจิตใจมีเมตตาเสมอกัน คือปรารถนาให้การปรากฏตัวของเรา คำพูดของเรา หรือแม้แต่กระแสจากจิตใจของเราเนี่ย ทำให้ผู้อื่นมีความรู้สึกดี มีความรู้สึกเป็นสุข ถ้าเรายิ่งมีความสุขได้จริงๆ แล้วสามารถเผื่อแผ่ความสุข ไปให้คนใกล้ตัว คนรอบตัว หรือคนไกลตัวก็ตาม อย่างนี้เรียก มีเมตตาจริง ถ้าหากว่า มีเมตตาออกมาจากระดับของจิตใจ มีความคิดอยากจะให้ใครต่อใครมีความสุขจริงๆ เกิดชาติหน้าฉันใดนะ กระแสความรักจะพุ่งเข้าหาอย่างท่วมท้นเลย ค่าที่เคยให้ความสุขกับคนอื่นไว้มาก ค่าที่เคยอยากจะทำให้คนอื่นเขาได้ดิบได้ดี ไม่พูดถึงใครในทางที่เขาจะต้องเสียหาย ไม่ทำกับใคร ในทางที่จะเบียดเบียนให้เขาเกิดความเดือดเนื้อร้อนใจ อย่างนี้เกิดมาเนี่ย มันจะมีคนรักเลย อันนี้ว่ากันถึงความรักในวงกว้าง ซึ่งมีความหมายต่อยอด ไปถึงขั้นของความรักในชายหญิงด้วย
เพราะถ้าหากว่า เราไม่มีรัศมีความรัก ในแบบที่คนจะมาชื่นชมนิยมตัวตน พูดง่ายๆว่า มาจากข้างใน ถ้าเขาไม่ได้ชอบเราออกมาจากข้างใน อย่างมากที่สุด ก็จะมีเสน่ห์ที่ภายนอก ที่ดึงดูดในเรื่องทางเพศ ที่ดึงดูดในเรื่องของอยากจะกรี๊ด อยากจะแห่แหน อะไรแบบนั้น ซึ่งถ้ามารู้จักตัวจริงๆ ไอ้กระแสความเป็นเราจริงๆ มันไม่ใช่อะไรที่มันน่ากรี๊ด เขาก็จะกรี๊ดอีกแบบหนึ่ง คือ กรี๊ดใส่ ไม่ใช่กรี๊ดเรียก แต่กรี๊ดไล่ ถ้าหากว่ามองดูในความเป็นจริง คนส่วนใหญ่จะมองอย่างนี้นะ พวกดารา พวกนักร้องอะไรอย่างนี้เนี่ย ที่มีคนไปกรี๊ดกันเยอะๆ จะมองว่าอย่างนั้นทำบุญมาเรื่องความรักดี แต่จริงๆไม่ใช่นะ คือบางคนเนี่ย ในแง่ของความรักจริงๆ ที่มีกับคนรอบตัว ที่มีกับคนที่จะมาเป็นคู่ชีวิตเนี่ย ไม่ดีเอาซะเลย มีคนรักทั่วประเทศ ซึ่งเป็นคนที่ไกลตัว ไม่ใช่คนที่จะมีอิทธิพลจริงๆกับชีวิต ไอ้คนที่ใกล้ตัวซึ่งมีอิทธิพลจริงๆกับชีวิต กลับทำให้รู้สึกแย่ เพราะว่าเราไปทำให้เขารู้สึกแย่ก่อน คือไม่สามารถรักษาน้ำใจคนใกล้ตัวเอาไว้ได้ อย่างนี้ไม่เรียกว่ามีบุญทางด้านความรัก คนมีบุญทางด้านความรักเนี่ย จำไว้เลยนะ ดูจากความรักที่อยู่รอบตัว ที่อยู่ใกล้ตัว อย่าไปดูความรักที่อยู่ไกลตัว อย่าไปดูความรักที่มีใครต่อใครมามอบดอกไม้ให้ มีใครต่อใครมาแสดงความชื่นชม อะไรแบบนั้นไม่ใช่ของจริง เป็นของหลอกตา ของจริงๆที่มันจะรู้ได้ด้วยใจ มันต้องคนใกล้ตัว ถ้ารักษาของคนใกล้ตัวเอาไว้ไม่ได้ นั่นถือว่าอาภัพรัก แล้วคนนะ ถ้าบอกว่า ฉันจะดีกับคู่ชีวิตของฉันเท่านั้น สามีหรือภรรยาของฉันเท่านั้น นอกนั้นฉันไม่สน ประเภทนี้มันเห็นแก่ตัว ไม่สามารถรักษาภรรยาหรือว่าสามีไว้ได้จริงหรอก คือมันอาจจะอยู่ทู่ซี้กันไป ทนๆกันไป จริงๆแล้วเนี่ย คนเห็นแก่ตัวนะ จำไว้เลยนะ ถ้าไม่มีน้ำใจ มันไม่สามารถรักษาความรักไว้ได้ ถึงแม้ว่าจะหน่วงเหนี่ยวคนรักไว้ได้ แต่จะไม่มีทางรักษาความรักไว้ได้เลย
สรุปแล้วนะ ตัวบุญที่จะทำให้เป็นที่รัก ก็คือ มีกาย วาจา และใจ ในทางที่เป็นเมตตา ไม่เบียดเบียนใครต่อใครเขานะครับ ที่จะสุขสมหวังไปทุกเรื่องเนี่ย มันไม่มีหรอก ไอ้ความรักแบบนั้นเนี่ยนะ ส่วนใหญ่แล้ว ก็จะต้องเจอกับเนื้อคู่ คำว่าเนื้อคู่ โดยความหมายของพุทธศาสนาก็คือว่า เป็นผู้มีการทำบุญมาด้วยกันแต่เก่าก่อน แล้วก็มาเกื้อกูลกันในปัจจุบัน โดยมีบารมีคือ ศรัทธา ศีล จาคะ และ ปัญญา เสมอกัน อันนี้ผมพูดบ่อยๆ ถ้ามองในแง่ที่ว่าเราเคยทำในเรื่องของศรัทธา ศีล จาคะ กับปัญญา มากับใครบ้าง มันเยอะ แต่ว่าคนที่เจอกันในปัจจุบัน แล้วทำกันมามากที่สุดนั่นแหละ อันนั้นแหละจะชนะ แล้วก็จะสามารถอยู่ด้วยกันตลอดรอดฝั่งได้นะ ถ้าหากว่าคนที่เคยทำมาด้วยกันแล้วจริงๆ มีบารมีเสมอกันทั้ง ๔ ประการนี้แล้วเนี่ย ส่วนใหญ่จิตมันจะจูนตรงกันได้ง่าย แล้วก็มีใจที่จะชักชวนให้เติมบารมี ทั้งทางศรัทธา ศีล จาคะ และ ปัญญา ต่อๆไปด้วย ศรัทธา เอาง่ายๆก็คือ ศรัทธาในสิ่งดีงามเดียวกัน เหมือนไปทางเดียวกัน กำหนดทิศทางไปทางเดียวกัน ศีลก็คือความสะอาดของใจ ถ้าหากว่าคนชอบสะอาดเนี่ย มันก็คงต้องรักคนสะอาดด้วยกัน ไม่ชอบคนสกปรก ถ้าพูดถึงจาคะก็คือ ความมีน้ำใจ มีน้ำใจต่อกันและกัน และก็มีน้ำใจต่อคนอื่นรอบข้างนะครับ ถ้าพูดถึงปัญญา ก็หมายถึงการที่คุยกันรู้เรื่อง สามารถที่จะปรับทุกข์กันได้ ไม่ต้องมาอธิบายกันมาก พูดคำนึงต้องอธิบายสิบคำอะไรแบบนั้น ถ้าแบบที่ว่าคุยกันไม่รู้เรื่องเนี่ย ไม่สามารถที่จะอยู่ด้วยกันได้นานหรอก เอาแค่การคุยยังคุยไม่รู้เรื่องแล้วเนี่ย เรื่องอื่นก็คงไม่ไหวเหมือนกัน
๒) ตอนเด็กๆหนูเป็นเด็กที่เอาแต่ใจกับพ่อแม่พี่น้องมาก คือ ถ้าไม่ได้ดั่งใจก็จะอาละวาด อาจเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ค่ะ แต่พอเริ่มโตๆขึ้น หนูกลับมีจิตสำนึกที่ดีขึ้น เปลี่ยนตนเองอย่างเห็นได้ชัด ถามว่าการเปลี่ยนตนเอง เลิกเอาแต่ใจ คิดดี พูดดี ทำดี กตัญญูต่อพ่อแม่ให้มากที่สุดนี้ จะเปลี่ยนกรรมหนักให้เป็นเบาได้ไหม? และที่ปัจจุบัน หนูเจอวิบากจากคำพูด หรือทำอะไรมักไม่ค่อยได้ดั่งใจใครบางคนเนี่ย เป็นเพราะผลกรรมจากตนเด็กๆหรือเปล่า จะแก้กรรมอย่างไร จะพ้นวิบากได้อย่างไร ในชาตินี้มั้ย?
ที่ทำกับพ่อแม่ไว้เนี่ยนะ ถ้าพูดถึงเนี่ย ก็มันมีสองส่วน คือเป็นวิบากเก่าของพ่อแม่ คือได้ลูกยังไงเนี่ย ก็จะได้เห็นการกระทำของตัวเองชัดๆล่ะ ว่าเคยทำกับพ่อแม่ตัวเองไว้ยังไง หรือว่าเคยทำไว้กับคนอื่นไว้อย่างไร
มันจะเห็นชัดตอนที่ลูกกำลังดิบๆเนี่ย ลูกกำลังไม่รู้เรื่องรู้ราวเนี่ย ค่อนข้างชัด แต่ในส่วนของเราเอง เราก็ถือว่าทำกรรมใหม่ไปเหมือนกัน เพราะธรรมชาตินี่ใจร้ายนะ คือให้เด็กเกิดมา มีแต่จะเรียกร้องอะไรเข้าตัว
มีแต่จะใช้สัญชาตญาณนะ ที่จะบีบบังคับให้คนอื่น มาเอาใจตัวเอง มาให้อะไรต่อมิอะไรกับตัวเอง โดยไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น ว่ามันถูกผิด หรือว่าใครจะเดือดร้อนอย่างไร ทีนี้ไอ้อารมณ์แบบดิบๆนั้นเนี่ย จะประกอบด้วยเจตนาอย่างหนักแน่น ที่จะทำความเดือดร้อนให้ใครหรือเปล่าเนี่ย มันเริ่มตอนรู้ความ มันเริ่มตอนประมาณสัก เอ่อ มันไม่แน่นะ บางคนก็ ห้าขวบ บางคนก็ เจ็ดขวบ อะไรแบบนี้ แต่ถ้าต่ำลงไปกว่านั้น ก็ส่วนใหญ่จะทำแบบเอ๋อๆ คือมีความตั้งใจ แต่ไม่ได้เป็นความตั้งใจอย่างหนักแน่น มีลักษณะจะเอาอย่าง เอาตามใจ ตามสัญชาติญาณมากกว่าที่จะเจตนาแบบรู้คิด หรือว่ามีลักษณะจิตสำนึกเต็มที่แล้ว ลักษณะของกรรมที่มันเกิดขึ้น ก็เลยไม่ชัดเจนเท่าตอนรู้ความนะครับ แต่อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับคนนะ บางคนนี่ สามขวบ ก็คือมีจิตสำนึกเต็มแล้วนะ บางคนนี่สมัยพุทธกาลนี่ เจ็ดขวบนี่ ท่านบรรลุอรหันต์กันแล้วนะ ไม่ใช่จะต้องรอให้โตกันซะก่อนนะครับ ถ้ามองในเรื่องของว่า จิตสำนึกมาเต็มเมื่อไหร่ ไอ้ลักษณะอาละวาด ไอ้ลักษณะที่เราจะจงใจ เจาะจงทำให้พ่อแม่เดือดร้อน เพื่อให้ตามใจเราเนี่ย มันก็วัดกันตอนนั้นแหละ ถ้ามองในเรื่องของกรรม กรรมมันก็มีทั้งกรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน ที่เรียกว่า ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม อะไรแบบนี้ และก็กรรมที่จะให้ผลในชาติต่อๆไป อันนี้ไม่สามารถที่จะชี้ตายตัวว่า กรรมที่ทำตอนไหนจะให้ผลในปัจจุบัน กรรมที่ทำตอนไหนจะให้ผลในชาติอื่นๆ แต่จะมีจุดสังเกตอยู่จุดหนึ่งก็คือ ถ้าหากว่ากรรมใดนะ เราทำอย่างต่อเนื่องโดยที่ไม่สำนึกผิดเลย โดยเฉพาะเรื่องบาป เรื่องกรรม เรื่องทำความเดือดร้อนให้คนอื่นเนี่ย ถ้าหากว่าบุญเก่าเราไม่มีหนุนอยู่มาก ภายในสองสามปีเนี่ย มันจะออกอาการที่ว่าคิดฟุ้งซ่านมาก แล้วก็จะออกอาการเรื่องที่ว่า มันมีความคล้ำหมองทางใบหน้า ถ้าหากว่าคนมีบุญเก่ามาเนี่ย ปกติเดิมทีจะหน้าตาสว่าง เสียงจะใส พอทำบาป ทำกรรมต่อเนื่องไปสักพักนึงเนี่ย บาปเขาจะเริ่มแสดงตัว ด้วยการเปลี่ยนสีหน้า สีตาให้หมองคล้ำลง น้ำเสียงที่สดใส มันจะดูหม่นมัว ดูขุ่น ไม่น่าฟัง อะไรแบบนี้เนี่ย อย่างนี้เขาเรียกว่า เป็นการสะท้อนของผลกรรม ที่เราจะเห็นได้ในปัจจุบันเลย เพราะอย่างบางคนเนี่ยนะ ตั้งแต่เกิดจนตายเนี่ย หน้าตาดี สุ้มเสียงดีตลอด แต่หลายๆคนขอให้สังเกตเถอะ ช่วงต้นชีวิตเนี่ย บางคนเลย ผมเห็นนะ ตาใส สวยมากๆเลยนะ แต่เนื่องจากต้องไปอยู่ในโลกที่ ต้องเห็นพฤติกรรมเลวร้ายของคนเยอะทุกวัน แล้วก็ผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำอีก ประกอบกับตัวเองก็ต้องพูดจาหยาบคาย ต้องอะไร พอห้าปีหกปีผ่านไป จากคนตาสวยที่สุดในประเทศไทยคนหนึ่ง กลายเป็นคนตาด้านไป กลายเป็นคนมีสีหน้าคล้ำหมองไป อย่างนี้ก็มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ นะครับ ก็คงจะเห็นตัวอย่างจากคนรอบข้างกันมาล่ะนะ ถ้าหากว่าจะบอกว่า เอ้ย มันเป็นไปตามวัย มันไม่ใช่นะ เพราะว่าอีกหลายๆคน เขาก็ยังมีหน้าตาสดใสขึ้นทุกทีได้ อันนี้มันเป็นไปตามกรรมใหม่
การที่เราเคยทำกับพ่อแม่เนี่ย ถ้าหากว่าไม่ได้ต่อเนื่อง ไม่ได้เป็นไปด้วยจิตเจตนา ไม่ได้เป็นไปด้วยอาการรู้ความ หรือมุ่งมั่นจะเอาอย่างนั้น ส่วนใหญ่ก็จะได้ผลช้า ไม่ได้ได้ผลทันทีทันใด แต่ก็มีเหมือนกัน ประเภทที่ว่าอาละวาดหนัก ทำลายข้าวของพ่อแม่ ทำให้พ่อแม่เดือดร้อนอย่างสาหัสเนี่ยนะ อย่างนี้โตขึ้นก็เจอ แต่มักจะเจอในสภาพที่ มันรู้ได้ มันนึกออก อย่างเช่น ไปโดนขูดขีดรถ หรือว่ารถอุตส่าห์ซื้อมาสวยๆ ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเองคันแรก ยังไม่ทันถอดป้ายแดงทิ้งเนี่ย มีใครมาชน มีใครมาทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งถ้าหากว่ามองด้วยสายตาธรรมดาเนี่ย มันจะไม่สามารถแยกได้ว่า อันนี้เป็นของเก่าหรือของใหม่
แต่ผู้มีอภิญญา พวกท่านก็จะทราบนะครับ ทีนี้ถ้าหากผู้ถามมองว่า เราจะตอบแทนบุญคุณท่านด้วยอาการอย่างไร ถึงจะเป็นการลบล้างความผิดได้ ก็คิดง่ายๆเลยก็คือ เราจะใช้ชีวิตที่เหลือทั้งชีวิตนั่นแหละ มาทำให้ของเก่าเนี่ย มันกลายเป็นหมันไป คือเมื่อไหร่ที่เราทำให้พวกท่านมีความสุข เมื่อไหร่ที่เราเอาธรรมะไปเผื่อแผ่พวกท่าน ให้ท่านมีใจชื่นบาน มีความรู้สึกเป็นสุขอยู่กับธรรมมะ มีความรู้สึกว่า อยากทำบุญสุนทาน อยากรักษาศีล จนกระทั่งใจของเราเองเนี่ย ลืมไปสนิทว่า เรื่องเก่าๆแต่หนหลังเนี่ย มันให้ความรู้สึกแย่อย่างไร ตรงนั้นแหละพ้นแล้ว คือใจเราเนี่ยนะ มันเป็นมาตรวัดที่ดีเหมือนกันนะ เหมือนกับกินมากๆ ก็จะอิ่ม กินน้อยๆ ก็จะยังหิวอยู่ ถ้าหากว่าเราให้ความสุขกับพวกท่านไปมากระดับหนึ่ง แต่ยังจำได้ ยังเกิดความรู้สึกวิตกว่า เอ๊ะ ในอดีตเราเคยทำไม่ดีกับท่านไว้มาก จะทำยังไงดี จะแก้ยังไงดี นั่นแสดงว่าใจยังไม่อิ่ม ยังไม่มีความสุขมากพอ ก็เติมเข้าไปอีก ไม่ต้องถามกันล่ะว่า จะด้วยวิธีใด เอาเป็นว่า ทั้งทางโลก ทั้งทางธรรม เอาทุกทาง เอาทั้งทางที่จะทำให้ท่านหัวเราะได้ ยิ้มออก และก็เอาทั้งที่ใจท่านเนี่ย จะมีความสว่างได้ เบิกบานได้ จนกระทั่งเรารู้สึกว่า เออ นี่มันสมน้ำสมเนื้อแล้ว มันกลบกลืน มันทำให้ความรู้สึกแย่เก่าๆ ที่เราเคยทำผิดกับพวกท่านมาเนี่ย มันหายไปจากใจเราได้ ตัวนี้แหละที่มันวัดได้ว่า มันปลอดภัยจากของเดิมแล้วนะ ไม่ว่าใคร อันนี้พูดครอบคลุมเลยนะ ไม่ว่าใครจะเคยทำอะไรไม่ดีกับใครไว้ แล้วรู้สึกผิดนะ รู้สึกทรมานใจ รู้สึกอยากทำอะไรสักอย่าง อย่าทำแค่อย่างเดียว แต่ทำหลายๆอย่าง จนกว่าใจจะรู้สึกอิ่ม ใจจะรู้สึกเต็ม อันนั้นแหละ ถึงจะเลิกแล้วต่อกันได้ ถ้าหากว่าจะยังมีเศษกรรมอะไรอยู่ เหลือตกค้างเนี่ย มันก็จะไม่หนักหนาแล้ว
๓) ในการฝึกอานาปานสติเบื้องต้นนั้น จำเป็นต้องมีคำบริกรรมมั้ย? ถ้าไม่มีแต่กำหนดรู้ลมเข้าออก แต่ไม่บริกรรม จะก้าวหน้ามั้ย?
หลักการที่พระพุทธเจ้าให้ไว้ในสติปัฏฐาน ๔ ท่านไม่ได้บอกให้บริกรรม แต่ว่าคนส่วนใหญ่ก็จะบริกรรมกัน ซึ่งก็ไม่เสียหายนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเรายังมีความฟุ้งซ่านอยู่มาก การใช้คำบริกรรมเนี่ย ก็เปลี่ยนจากวิธีคิดแบบสุ่มเป็นความคิดที่แน่นอนนะ อย่างเช่น เดิมทีมันจะกระโดดไป เดี๋ยวก็คิดเรื่องแฟน คิดเรื่องเรียน คิดเรื่องทำงาน คิดเรื่องศัตรู คิดเรื่องโน้น คิดเรื่องนี้ มันไม่สามารถที่จะพยากรณ์ได้ว่า นาทีไหนเราจะคิดดีหรือคิดร้าย แต่ถ้าหากว่ามาบริกรรมว่า พุทโธ พุทโธ พุทโธ เนี่ย มันสามารถที่จะใช้คำบริกรรม ในการพยากรณ์ได้เลยว่า นาทีนี้ถึงนาทีโน้น จากนาทีที่ ๑ ถึงนาทีที่ ๑๐ จะไม่คิดเรื่องอื่น จะคิดถึงคำว่า พุทโธ อย่างเดียว อันนี้เป็นการจัดระเบียบความคิด ให้มันเป็นระบบขึ้นมานะ ถ้าหากว่าเรามีความสม่ำเสมอ มีความแน่นอนที่จะทำอยู่เรื่อยๆ ในที่สุดระบบความคิดของเราเนี่ย ก็จะถูกจัดระเบียบใหม่นะ แทนที่จะคิดกระโดดไปกระโดดมาแบบสุ่ม มันกลายเป็นความมีระเบียบขึ้นมา แล้วการที่เราเอามากำกับลมหายใจ ก็ไม่ใช่ความเสียหายนะ มันสามารถที่จะเห็นลมหายใจไปด้วยได้ แล้วก็รู้สึกถึงคำว่า ‘พุท’ รู้สึกถึงคำว่า ‘โธ’ ไปด้วย ถ้าหากว่าพุทโธเนี่ย มีกำกับลมหายใจอยู่เรื่อยๆแล้ว ใจเราจะผูกอยู่กับทั้งลมหายใจและพุทโธ ไม่ฟุ้งซ่านซัดส่ายไป
ทีนี้ หลังจากนั้นแหละ เราต้องทำความเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ผูกใจไว้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อที่จะให้มันหยุดนิ่งอย่างเดียว แต่เราดูลมหายใจ เราสังเกตลมหายใจไปเนี่ย เพื่อที่จะให้เห็นว่าลมหายใจมันไม่เที่ยง กำลังแสดงความไม่เที่ยงอยู่ตลอดเวลา ตรงนี้สำคัญมาก ถ้าหากว่า เรามีความเข้าใจอันเป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว การสังเกตลมนั้น มันจะค่อยๆเปลี่ยนไป จากความหวังว่า จะเอาใจมาฝากไว้กับลมเข้าออกอย่างเดียวเนี่ย เป็นอาการที่มีความหวัง ตั้งความหวังไว้ว่า เราจะเห็นลมหายใจเนี่ย สักแต่เป็นธาตุลม พัดเข้า พัดออกไม่เที่ยง แล้วก็มีความไม่แน่นอน เดี๋ยวก็ยาว เดี๋ยวก็สั้น ถ้าหากว่าไม่มีความเข้าใจอันเป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นพื้นฐานอย่างนี้แล้ว สมาธิของเราจะเป็นเพียงสมาธิธรรมดา เป็นสมถะ เป็นการผูกใจให้นิ่งอยู่เฉยๆ ไม่ได้มีปัญญาประกอบอยู่ด้วย แต่ถ้าหากว่า การสังเกตของเราเกิดขึ้นเป็นประจำ อยู่เป็นเดือนอยู่เป็นปี จนกระทั่งเกิดความคุ้นว่า เออ เดี๋ยวมันก็ต้องเข้า เดี๋ยวมันก็ต้องออกจริงๆ แล้วไม่มีบุคคล ไม่มีชาย ไม่มีหญิง อยู่ในลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ตรงนี้นะไปถึงที่สุดตรงนึงแล้วเนี่ย มันจะเป็นสมาธิ โดยที่ไม่ต้องมีคำบริกรรมอะไรทั้งสิ้น มีแต่ความเห็นอย่างเดียวว่า ลมหายใจที่มันเข้ามา แล้วออกไปเนี่ย มันแสดงตัวเองอยู่ชัดๆเลยว่า ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของที่จะน่ายึดมั่น ถือมั่น แล้วถ้าได้ตัวอย่างจากการเห็นลมหายใจไม่เที่ยง ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนแล้วเนี่ย ทุกอย่างที่นอกเหนือไปจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นจิตที่เป็นความฟุ้งซ่าน หรือว่าจิตที่เป็นสมาธินะ หรือแม้กระทั่งของนอกกาย ไม่ว่าจะเป็นข้าวของทรัพย์สิน หรือว่าบุคคลที่อยู่รอบข้าง เหล่านั้นเนี่ย มันผ่านมาแล้วผ่านไป ไม่ต่างจากลมหายใจ เพียงแต่จังหวะการผ่านมา แล้วผ่านไป มันอาจมีความเนิ่นช้าแตกต่างกัน แต่โดยสาระแล้ว ไม่แตกต่างกับลมหายใจที่เข้ามา และจะต้องออกไปเป็นธรรมดา
เอาล่ะครับ คืนนี้ ก็ขอราตรีสวัสดิ์ ณ ที่ตรงนี้ แล้วก็ขอให้เจริญในธรรมด้วยกันทุกท่านนะครับ
« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น